ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล จนถึงจุดที่ประชากรกว่า 90% ทั่วโลกสามารถเข้าถึงพื้นที่สัญญาณโทรศัพท์ได้ [1] ข่าวร้ายก็คือ สถิตินี้ไม่ได้หมายความว่าความแรงของสัญญาณจะดีขึ้นตามไปด้วย ผู้ใช้ส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาไม่สามารถเพิ่มความแรงของสัญญาณมือถือได้ด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่ถูกต้องเสมอไป บทความต่อไปนี้จะมาอธิบายถึงวิธีการที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแรงสัญญาณ โดยไม่ต้องนั่งรอปาฏิหาริย์ให้มีเสาสัญญาณใหม่ผุดขึ้นมา

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เปลี่ยนตำแหน่งเพื่อเพิ่มความแรงสัญญาณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากต้องการเพิ่มความแรงของสัญญาณที่ได้รับ คุณจะต้องขึ้นไปอยู่ที่สูงเพื่อไม่ให้มีสิ่งกีดขวางสัญญาณ หรือจัดการย้ายสิ่งกีดขวางออกไปให้หมด มีผู้เรียกวิธีการนี้ว่า วิถีแห่ง “ไลอ้อน คิง” เพราะคุณจะต้องยกมือถือขึ้นกลางอากาศเหมือนที่ราฟิกิยกทารกน้อยซิมบ้าขึ้นนั่นเอง ส่วนในกรณีที่คุณอยู่บริเวณตีนเขา อาจจะลองปีนขึ้นเขาก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะสัญญาณอาจแรงขึ้นในพื้นที่ที่สูงขึ้นไป
    • โทรศัพท์แต่ละรุ่นผลิตมาแตกต่างกันไป บางเครื่องยังใช้การได้เป็นอย่างดีทั้งที่มีสัญญาณน้อย ในขณะที่บางเครื่องห่วยสุดๆ ลองสอบถามจากคนรอบตัวดูสิว่ารุ่นไหนเหมาะสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายที่คุณใช้
    • ค้นหาที่ตั้งของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ จะได้หันมือถือไปในทิศทางที่ใกล้กับที่ตั้งมากขึ้น รวมถึงลดโอกาสที่จะมีสิ่งกีดขวางระหว่างสัญญาณและมือถือของคุณ
  2. อย่าเสียเวลาพยายามต่อสายจากมุมอับในตึกหรือชั้นใต้ดินเลยจะดีกว่า เพราะตึกอาคาร รวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้คุณรับสัญญาณได้ไม่พอ ในกรณีที่มีปัญหาในการรับสัญญาณขณะที่อยู่บนท้องถนน ให้ลองเดินไปยังสี่แยกที่ใกล้ที่สุด เพราะบริเวณนั้นอาจมีสัญญาณแรงกว่า
    • คลื่นวิทยุระบบเซลลูลาร์ไม่สามารถแทรกผ่านพื้นผิวโลกได้ดีนัก คุณจึงมักไม่มีสัญญาณเมื่ออยู่ชั้นใต้ดิน
    • นอกจากนี้ อาจลองดาวน์โหลดโปรแกรมแสดงแผนที่สัญญาณลงบนสมาร์ทโฟน ซึ่งโดยทั่วไปจะทำงานโดยการแสดงทิศทางของเสาสัญญาณที่ใกล้ที่สุด อีกทั้งยังสามารถค้นหาตำแหน่งของพื้นที่สัญญาณที่ดีกว่าได้ดีสุดๆ อีกด้วย
  3. เนื่องจากโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้เป็นรูปแบบดิจิตอล จึงยิ่งอ่อนไหวกับปัจจัยด้านสัญญาณที่ชัดเจน ให้จำไว้ว่า “สัญญาณที่แรงที่สุด” จะอยู่ในระยะเส้นสายตา แม้จะมองเห็นเสาสัญญาณไม่ได้จริงๆ แต่ให้ลองพิจารณาดูสิว่า เส้นทางที่โล่งที่สุดที่นำคุณไปยังพื้นที่เปิดคือทิศทางใด
    • นอกจากนี้ ให้จำไว้ว่าสัญญาณเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนได้ ความแรงของสัญญาณที่ได้รับจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งกีดขวางเส้นทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่สัญญาณตกกระทบและทำให้เกิดการสะท้อนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การอยู่ในทุ่งโล่งจึงไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีสัญญาณเสมอไป เช่น ในกรณีที่คุณอยู่ใต้เงามืดของหอเก็บน้ำ
    • ยิ่งไปกว่านั้น ให้จำไว้ด้วยว่าเสาสัญญาณแต่ละเสาไม่ได้ให้สัญญาณของผู้ให้บริการเครือข่ายทุกราย
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ลงมือแก้ปัญหาด้วยวิธีการแสนง่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถือโทรศัพท์ให้ห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นๆ ที่อาจรบกวนการรับสัญญาณ. ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป iPad ไมโครเวฟ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ รวมถึงปิด WiFi และ Bluetooth ให้หมด แล้วดูว่าวิธีนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตัวค้นหาสัญญาณบนมือถือได้หรือไม่
    • ถ้าทำได้ ให้ปิดอุปกรณ์อื่นๆ ให้หมด แต่ถ้ายังไม่ได้ผลล่ะก็ อาจจะลองปิดมือถือสักครู่แล้วเปิดใหม่อีกครั้ง เพราะบางครั้งการรีบูทเครื่องเพียงเล็กน้อยก็สามารถจัดการทุกปัญหาได้แล้ว
  2. รู้หรือไม่ว่า โทรศัพท์มือถือใช้แบตเตอรี่ในขณะที่ต่อสายโทรออกมากกว่าเมื่ออยู่ในโหมดสแตนด์บายค่อนข้างมากทีเดียว ในหลายๆ ครั้ง แม้จะมีแบตเตอรี่มากพอสำหรับโทรออก แต่ก็อาจไม่พอสำหรับค้นหาสัญญาณ ดังนั้น ถ้าหากพบปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณ อาจจะลองตรวจดูแบตเตอรี่และชาร์จเพิ่มก็ได้เช่นเดียวกัน
  3. สายอากาศของโทรศัพท์มือถือได้รับการออกแบบมาให้กระจายสัญญาณออกในแนวตั้งฉากกับแกนตามยาวของสายอากาศ โดยปกติ การถือโทรศัพท์ตั้งขึ้นมักจะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าคุณถือโทรศัพท์ด้วยวิธีการแปลกๆ เช่น จับตรงด้านข้างหรือคว่ำลง จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสายอากาศ นอกจากนี้ การถือโทรศัพท์ตั้งขึ้นยังเป็นเครื่องการันตีได้ว่าโทรศัพท์ของคุณจะสามารถ “มองเห็น” สัญญาณคลื่นพาห์ได้
    • ในโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ สายอากาศจะอยู่บริเวณด้านใต้ของมือถือ ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณบนมือถือรุ่นใหม่ๆ การคว่ำมือถือลงอาจจะช่วยกระตุ้นสัญญาณได้
    • ในโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า สายอากาศมักติดตั้งอยู่ด้านหลังตรงส่วนบนของมือถือ (ใกล้กับกล้อง)
  4. กดโทรออกในขณะที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนมือถือตามปกติ หากมือถือของคุณรองรับเทคโนโลยี UMA คุณจะสามารถใช้ Wi-Fi เป็นสัญญาณโทรศัพท์ได้เมื่อไม่สามารถรับสัญญาณ GSM หรืออยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณอ่อน นอกจากนี้ ยังมีแอปสำหรับใช้โทรออกผ่านสัญญาณ Wi-Fi เช่น Viber ซึ่งสามารถหาดาวน์โหลดได้ฟรี
    • อุปกรณ์หรือคลื่นพาห์บางชนิดไม่รองรับการโทรแบบ UMA ในขณะที่โทรศัพท์ Blackberry, Android รวมถึงโทรศัพท์อื่นๆ อีก 2-3 ชนิดรองรับการทำงานของ UMA ซึ่งมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แม้เครือข่าย 4G และ 3G จะได้รับออกแบบมาให้ถ่ายโอนข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือได้ในปริมาณมาก แต่การถ่ายโอนจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อระยะห่างระหว่างเสาส่งสัญญาณและโทรศัพท์อยู่ภายในช่วงที่กำหนดทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้น ยิ่งคุณอยู่ห่างจากเสาสัญญาณมากเท่าไร สัญญาณก็จะยิ่งอ่อนลง แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องโทรหรือส่งข้อความจริงๆ ล่ะก็ อาจจะลองพิจารณาการเปลี่ยนมาใช้เครือข่าย 2G แทน เพราะถึงแม้เครือข่าย 2G จะถ่ายโอนข้อมูลได้ไม่เท่าเครือข่ายรุ่นใหม่ๆ แต่ในทางกลับกัน สัญญาณที่ได้รับมักจะมีคุณภาพดีในพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่สัญญาณ 3G/4G ไปไม่ถึง
    • ลองจินตนาการถึงพื้นที่ระหว่างบ้านจัดสรรที่แออัดหรือพื้นที่ปิดต่างๆ เนื่องจากสัญญาณ 2G มีอัตราการรับส่งข้อมูลต่ำ จึงสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้ ข้อเสียอย่างเดียวคือสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ได้จะไม่เร็วเท่าระบบใหม่ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณก็สามารถใช้ 2G ในการโทรหรือส่งข้อความได้อย่างไร้ที่ติ
    • เท่านั้นยังไม่พอ การใช้ 2G ยังทำให้แบตเตอรี่ลดลงช้ากว่า เพราะเครือข่าย 2G ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากมาย โดยคุณสามารถศึกษาวิธีการเปิดเครือข่าย 2G บนมือถือได้จากคู่มือ
  2. เครื่องเร่งสัญญาณรูปโฉมใหม่กำลังจะถือกำเนิดขึ้น โดยเจ้าเครื่องเร่งสัญญาณรูปแบบใหม่นี้จะใช้หน่วยประมวลผลแบบเบสแบนด์ โพรเซสเซอร์ (baseband processor) เพื่อจัดการทำความสะอาดสัญญาณก่อนที่จะแพร่สัญญาณอีกครั้ง (และนี่คือที่มาของคำว่า “อัจฉริยะ” จากชื่อเครื่องเร่งสัญญาณอัจฉริยะ) โดยส่วนใหญ่เครื่องเร่งสัญญาณอัจฉริยะจะมีอัตราการขยายถึง 100 dB (เมื่อเทียบกับเครื่องเร่งสัญญาณอนาล็อกที่มีเพียง 63-70 dB) ซึ่งต่างกัน 1,000-2,500 เท่าเลยทีเดียว
    • แม้เครื่องเร่งสัญญาณรูปแบบใหม่บางตัวจะมีราคาสูงกว่าเครื่องเร่งสัญญาณอนาล็อกแบบเดิม แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นระบบ “ปลั๊ก แอนด์ เพลย์” (Plug and Play) ตัวจริง เพราะเพียงแค่เสียบสายเชื่อมต่อก็สามารถใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องติดตั้งเสาอากาศภายนอกให้ซับซ้อนวุ่นวาย (โดยปกติ ตัวเสาอากาศจะติดตั้งมาในกล่องเครื่องเร่งสัญญาณแล้ว) และเพราะเป็นระบบปลั๊ก แอนด์ เพลย์อย่างแท้จริง จึงสามารถใช้งานกับคลื่นพาห์ได้เกือบทุกชนิด โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเติมแถมยังใช้งานได้จริง แต่โดยส่วนใหญ่ เครื่องเร่งสัญญาณอัจฉริยะตัวหนึ่งจะใช้งานได้กับคลื่นพาห์เฉพาะชนิดเท่านั้น (จึงต้องหาเครื่องที่ใช้ได้กับคลื่นพาห์ของคุณ)
  3. ติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณระบบเซลลูลาร์ (cellular repeater). ถ้าคุณมีปัญหากับมือถือเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น ที่บ้านหรือที่ทำงาน อาจจะลองติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณระบบเซลลูลาร์ เจ้าเครื่องขยายสัญญาณมือถือนี้จะใช้เสาอากาศในการเลือกสัญญาณมือถือความแรงต่ำขึ้นมา จากนั้นจึงทำการเร่งและกระจายสัญญาณออกไปทั่วทั้งพื้นที่สัญญาณ ซึ่งโดยปกติ พื้นที่ที่ติดตั้งเสาสัญญาณจะต้องมีสัญญาณอย่างน้อย 2 ขีด (มักเป็นบริเวณนอกอาคารหรือบนหลังคา) แต่ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณมือถือ รวมถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่และความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลได้ดีทีเดียว
    • การใช้เครื่องขยายสัญญาณบางชนิดอาจต้องมีความรู้ทางเทคนิคเล็กน้อย เช่น ความถี่ของคลื่นพาห์ที่คุณใช้ แถมยังใช้ได้กับผู้ให้บริการเครือข่ายเดียวเท่านั้น แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณคลื่นพาห์ทั้งหมดได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคมากมาย นั่นก็คือการเลือกใช้เครื่องขยายสัญญาณมือถือแบบ 2 ย่านความถี่
  4. ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ 2-3 รายมีการผลิตเสาอากาศให้เป็นแบบ “อัตราขยายสูง” เพื่อให้เหมาะกับหูโทรศัพท์ และเสาอากาศชนิดนี้ก็สามารถเปลี่ยนได้ที่จุดขาย หรือจะเปลี่ยนเองที่บ้านก็ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มสัญญาณได้ไม่มากนัก (หรืออาจไม่ได้เลย) แต่สำหรับการนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณ เสาอากาศเหล่านี้ถือว่ามีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆ แถมสัญญาณที่ได้ยังไม่จำกัดอยู่แต่ในพื้นที่เดียว
  5. ค่ายโทรศัพท์ส่วนใหญ่จะทำงานแยกจากกันโดยสิ้นเชิง โดยใช้คลื่นความถี่ของตัวเอง และยังสร้างเสาสัญญาณโทรศัพท์เป็นของตัวเอง ดังนั้น ถ้าหากใช้เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งแล้วพบว่าสัญญาณไม่ดี คุณอาจปรับปรุงสัญญาณให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนเครือข่ายซะเลย โดยในปัจจุบัน เครือข่ายโทรศัพท์ส่วนใหญ่อนุญาตให้คุณย้ายเบอร์ไปยังค่ายใหม่ได้เมื่อต้องการเปลี่ยนผู้ให้บริการ
    • นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายบางรายยังมีข้อเสนอดีๆ ในกรณีที่คุณเป็นลูกค้ารายใหม่ เพราะบริษัทใหญ่ๆ เริ่มไม่ค่อยมีลูกค้าหน้าใหม่เข้ามา จึงต้องหันมามองหาลูกค้าจากคู่แข่ง ลองค้นหาข้อมูลดูสิว่าผู้ให้บริการรายใดเหมาะกับพื้นที่ที่คุณอาศัยอยู่มากที่สุดและใครให้ข้อเสนอดีที่สุด
  6. วิธีการนี้อาจต้องใช้เวลา แต่รู้หรือไม่ว่า ในพื้นที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ไม่เพียงพอ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถสร้างสถานีฐานเล็กๆ ในพื้นที่ของตนเพื่อสร้างคลื่นพาห์สำหรับปล่อยสัญญาณ Wireless นอกจากนี้ คุณยังสามารถลงทะเบียนอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่ 3 ที่มีระบบ “Wireless Revenue” เพื่อให้คุณมีคุณสมบัติครบถ้วน หลังจากนั้น เมื่อมีใครในพื้นที่สนใจหาจุดส่งคลื่นพาห์ พวกเขาจะเลือกจากรายชื่อจุดส่งที่มีคุณรวมอยู่ด้วย และแน่นอนว่าคุณจะได้รับสัญญาณดีที่สุด
    • พวกเขาอาจเสียค่าโทรศัพท์ให้คุณอีกด้วย ไม่สนใจคงไม่ได้แล้วล่ะ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าวิธีการอื่นๆ ทั้งหมดไม่ได้ผล คงต้องเปลี่ยนผู้ให้บริการเครือข่ายเท่านั้น
  • หากต้องการเพิ่มความแรงของสัญญาณมือถือภายในรถ ต้องอาศัยเครื่องเร่งสัญญาณมือถือชนิด 12 โวลต์ หรืออะแดปเตอร์ช่องจุดบุหรี่รถยนต์
  • อากาศที่แห้ง มีความชื้นสูง หรือสายฟ้าล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สัญญาณมือถือลดลงได้ และถ้าสภาพอากาศค่อนข้างแห้ง ทางเลือกเดียวของคุณอาจจะเป็นการเต้นรำขอฝน
  • เมื่อมือถือค้นหาแหล่งสัญญาณที่ดีไม่พบ มันจะทำการค้นหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้พลังงานมากพอสมควร และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่มือถือลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อสัญญาณไม่ดี ผู้ที่เคยลืมปิดมือถือเมื่ออยู่บนเครื่องบินจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณมีเครื่องขยายสัญญาณโทรศัพท์อยู่ภายในตึก คุณจะสังเกตได้ว่าแบตเตอรี่ของคุณดูเหมือนไม่มีวันหมดเลยทีเดียว เพราะมันไม่ต้องออกแรงเสาะหาสัญญาณ เนื่องจากมีแหล่งสัญญาณที่ดีที่สุดให้ใช้งานอยู่เสมอนั่นเอง
โฆษณา

คำเตือน

  • พยายามหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการใดก็ตามที่ต้องอาศัยแผ่นแปะราคา 100-200 บาท (หรือราคาต่ำประมาณนี้) ที่ใช้แปะลงบนหรือในมือถือ เพราะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์และไม่ช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณโทรศัพท์แต่อย่างใด หลายๆ คนมักเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า อุปกรณ์เร่งความเร็วมือถือจากภายใน แต่ความจริง เจ้าสิ่งนี้เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 41,251 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา