ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ในความสัมพันธ์บางครั้งคุณเองก็อยากได้ความสงบทางใจบ้าง ชีวิตคู่อาจก่อให้เกิดความเครียด และบางครั้งการเมินเฉยใส่นิสัยแย่ๆ หรืออารมณ์แย่ๆ ก็เป็นทางออกที่ดีกว่า ซึ่งก็มีเทคนิคหลายอย่างที่คุณสามารถทำได้เพื่อเมินเฉยใส่สามีในเวลาที่จำเป็น อย่างไรก็ตามให้นึกไว้อย่างนึงว่า การทำตัวเย็นชาใส่สามีนานๆ อาจส่งผลเสียต่อชีวิตคู่ได้ ถ้าปัญหาที่ซ่อนอยู่ยังดำเนินต่อไปและกวนใจคุณ ให้หาวิธีพูดคุยกันถึงปัญหานี้แทนที่จะทำเป็นไม่สนใจ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เมินเฉยใส่สามีในทางที่ดี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าสามีกำลังโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี บางครั้งก็ปล่อยเขาอยู่คนเดียวจะดีกว่า เพราะการพูดคุยด้วยเหตุผลกับคนที่กำลังโกรธอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในสถานการณ์แบบนี้การเมินเฉยใส่สามีจนกว่าเขาจะสงบสติอารมณ์ได้ก็เป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม
    • บ่อยครั้งที่อารมณ์ที่ไม่ดีมักทำให้เราอยากหาเรื่องทะเลาะ เช่น ถ้าสามีของคุณเพิ่งเจอเรื่องแย่ๆ ที่ทำงาน เขาก็อาจจะตอบโต้ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของคุณรุนแรงเกินไป ถ้าคุณรู้ว่าสามีอารมณ์ไม่ดี ก็อย่าไปคิดมากถ้าเขาเผลอตะคอกใส่คุณ [1]
    • ถ้าสามีกำลังโกรธและพยายามหาเรื่องทะเลาะ การตอบโต้ที่ดีที่สุดก็คือการไม่สนใจฟัง คุณอาจรู้สึกเหมือนเป็นคนขี้แพ้ที่เมินเฉยใส่คำยั่วยุ แต่จริงๆ แล้วมันให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะคนที่กำลังโกรธจะไม่ยอมฟังตรรกะหรือเหตุผลใดๆ และจะไม่ยอมอ่อนข้อให้แม้ว่าคุณจะพยายามขอโทษหรือแก้ตัวแล้วก็ตาม ถ้าสามีพยายามล่อให้คุณเข้ามาร่วมวงทะเลาะด้วย ก็แค่ตอบสั้นๆ กลับไป เช่น "ค่ะ" หรือ "โอเค" จนกว่าเขาจะยอมแพ้แล้วเลิกยุ่งกับคุณไปเอง [2]
    • วิธีนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในระยะยาว ในช่วงที่เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น การเมินเฉยใส่ความโกรธของสามีอาจเป็นวิธีการรับมือที่ดี แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณควรต้องทำเป็นประจำ บางครั้งคนเราก็ทำพลาดแล้วมาลงกับคนรักเวลาที่เราผ่านวันแย่ๆ หรืออารมณ์ไม่ดี แต่ถ้ามันเกิดขึ้นเป็นประจำ มันก็อาจจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ ก็ได้ ถ้าสามีของคุณเป็นคนโมโหง่ายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คุณควรจับเข่าคุยเรื่องพฤติกรรมของเขาอย่างจริงจัง
  2. ถ้าคุณกับสามีทะเลาะกันจนดึกดื่น บางครั้งการเข้านอนไปทั้งที่ยังโกรธก็อาจจะดีกว่า พยายามไม่สนใจความรู้สึกแย่ๆ ที่มีต่อสามีแล้วหลับตานอน ถ้าคุณยังรู้สึกหงุดหงิดในตอนเช้า ก็ให้คุยกันตอนที่คุณทั้งคู่อารมณ์เย็นขึ้นแล้ว
    • ถ้ามันดึกมากแล้วและคุณกับสามีก็ยังทะเลาะกันอยู่ บอกเขาว่าคุณจะเข้านอนแล้ว พยายามอย่าไปสนใจสิ่งที่เขาทำให้คุณหงุดหงิดหรือไม่พอใจ คุณอาจจะใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น ยืดกล้ามเนื้อนิ้วเท้า หายใจลึกๆ และนับเลข วิธีนี้จะช่วยให้ใจของคุณไม่ไปจดจ่ออยู่กับสถานการณ์และผล็อยหลับอย่างรวดเร็ว
    • ถ้าคุณทะเลาะกันตอนดึก คุณมักจะพูดในสิ่งที่คุณไม่ได้ตั้งใจออกไป สมองของคุณทำงานได้ไม่ดีนักเวลาที่คุณเหนื่อย ซึ่งทำให้คุณอธิบายความคับข้องใจให้สามีฟังได้ยาก นอกจากนี้ช่วงดึกก็มักเป็นช่วงที่คุณหงุดหงิดง่ายด้วย แต่ช่วงเช้าคุณจะมีทัศนคติที่เป็นบวกมากขึ้นและพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาและคืนดีกันมากขึ้น [3]
  3. ทุกคนล้วนมีนิสัยที่ไม่ดี บ่อยครั้งที่คนเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองมีพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่นรำคาญ ถ้าสามีของคุณมีนิสัยหรือแนวโน้มบางอย่างที่ทำให้คุณรำคาญ การไม่ใส่ใจก็อาจจะดีกว่าพยายามที่จะเปลี่ยนนิสัยเขา
    • แย่หน่อยที่นิสัยที่ไม่ดีบางอย่างก็ไม่สามารถเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ สามีของคุณอาจจะลืมเอาขวดน้ำส้มที่กินหมดแล้วไปทิ้งเป็นประจำแม้ว่าคุณจะเตือนเขาตั้งไม่รู้กี่หนแล้ว ในกรณีนี้การกำหนดให้ตัวเองเป็นคนทำหน้าที่นี้เองก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด การยอมรับนิสัยแย่ๆ ของสามีจะทำให้คุณไม่สนใจมันได้ง่ายขึ้น [4]
    • นอกจากนี้คุณก็อาจจะพอใจกับชัยชนะครึ่งๆ กลางๆ ในบางสถานการณ์ด้วยก็ได้ เช่น สามีของคุณอาจจะไม่เคยจำได้เลยว่าต้องเอาผ้าเช็ดตัวที่สกปรกแล้วมาไว้ในตะกร้าผ้าหลังอาบน้ำเสร็จ แต่อย่างน้อยเขาก็เลิกกองไว้ที่พื้นในห้องนอนแล้ว [5]
    • แยกตัวเองออกจากพฤติกรรมของเขาที่ทำให้คุณรำคาญ อย่าเก็บไปคิดมาก นิสัยแย่ๆ อย่างการเปิดไฟทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่เป็นแค่นิสัยที่ไม่ดีของเขาเอง แต่ไม่เกี่ยวกับว่าเขาเห็นคุณค่าหรือให้เกียรติคุณมากน้อยแค่ไหน
  4. ถ้าคุณไม่สามารถเมินเฉยใส่สามีได้ ให้หาอะไรทำ บางครั้งวิธีการรับมือที่ดีที่สุดก็คือการเบี่ยงเบนความสนใจ อ่านหนังสือ ออกไปขี่จักรยาน ทำงานอดิเรกใหม่ๆ ทำความสะอาดบ้าน มีหลายอย่างที่คุณสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ตัวเองนึกถึงสามีสัก 2-3 ชั่วโมง วิธีนี้ช่วยให้คุณเมินเฉยใส่เขาได้ คุณพร้อมเมื่อไหร่ ก็ค่อยเข้าไปคุยถึงปัญหาหรือสถานการณ์นี้ด้วยกัน
  5. ถ้าคุณอยากจะเมินเฉยใส่สามีสักนิดนึง คุณก็ไม่จำเป็นต้องฟึดฟัดออกมาก็ได้ วิธีเมินเฉยใส่ใครบางคนแบบสุภาพมีอยู่มากมาย และถือเป็นการรับมือกับความตึงเครียดในชีวิตคู่แบบมีวุฒิภาวะมากขึ้นด้วย
    • เวลาที่สามีเดินเข้ามาในห้อง ให้แสดงออกว่าคุณรับรู้ว่าเขาอยู่ในห้องแบบค่อนข้างเป็นทางการ แม้ว่าตามปกติแล้วคุณจะทำตัวสบายๆ เวลาอยู่บ้าน แต่ถ้าคุณกำลังเมินเฉยใส่สามีให้ทำตัวสุภาพเหมือนเวลาที่คุณสุภาพกับใครสักคนในงานปาร์ตี้ พยักหน้าเวลาที่เขาพูด ยิ้มตามมารยาท แต่อย่าคุยเล่นหรือคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว [6]
    • นอกจากนี้ก็พยายามเลี่ยงไม่อยู่ห้องเดียวกับสามี เช่น คุณอาจจะย้ายไปอยู่ในห้องนอนถ้าสามีอยู่ในห้องนั่งเล่น ซึ่งคุณสามารถทำให้เขารู้ได้ด้วยการขอตัวแบบสั้นๆ และเป็นทางการ เช่น พูดว่า "ขอตัวขึ้นไปข้างบนก่อนนะคะ"
  6. ถ้าคุณไม่มีอารมณ์จะพูดกับสามี ให้สื่อสารทางอ้อม เพราะการเงียบใส่เป็นการทำร้ายจิตใจกันมากเกินไป และไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ [7] ถ้าคุณไม่พอใจสามีและอยากเมินเฉยใส่เขา ให้หาทางสื่อสารเพื่อที่เขาจะได้ไม่งง เช่น คุณอาจจะส่งข้อความหรือเขียนโน้ตไว้ให้เขาโดยที่ไม่ต้องพูดกับเขาจริงๆ
    • คุณควรบอกสามีไปตามตรงว่าคุณไม่พอใจเรื่องอะไรและต้องการพื้นที่ส่วนตัวสัก 2-3 วัน ถ้าคุณโกรธมากจนไม่อยากพูดเรื่องนี้ ให้เขียนจดหมายหรือส่งอีเมลอธิบายสิ่งที่คุณต้องการให้เขารับรู้ อย่าเมินเฉยใส่เขาโดยไม่บอกกล่าวกันก่อน
  7. วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งในการเมินเฉยใส่ใครบางคนโดยที่ไม่ต้องเงียบใส่เขาไปเลย คุณสามารถเมินเฉยใส่สามีได้ด้วยการตอบเขาห้วนๆ คุณอาจจะตอบเขาไปว่า "อืม" และ "โอเค" การสื่อสารสั้นๆ แบบนี้แทบไม่เปิดโอกาสให้คุณได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวเลย ซึ่งเป็นการสื่อสารให้สามีรู้ว่า คุณไม่มีอารมณ์จะคุยกับเขาในตอนนี้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

พูดคุยถึงปัญหาที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณรู้สึกอยากเมินเฉยใส่สามี คุณต้องทบทวนความอยากนั้นของตัวเอง ในความสัมพันธ์มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์แย่ๆ อยู่คนเดียว เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะเอาอารมณ์แย่ๆ หรือความทุกข์ของตัวเองมาลงกับสามีโดยไม่ตั้งใจ ลองหาเวลาพิจารณาดูว่าคุณรู้สึกหงุดหงิดเพราะอะไร
    • มีอะไรในชีวิตคู่ที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม คุณใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่า บางครั้งคุณก็ละเลยสามีใช่ไหม มีวิธีที่คุณจะอยู่กับพฤติกรรมที่น่ารำคาญด้วยอารมณ์ขันที่ดีได้หรือเปล่า [8]
    • มีปัญหาที่ลึกลงไปแล้วมันกวนใจคุณอยู่หรือเปล่า ถ้าคุณเครียดหรือไม่มีความสุขกับอะไรสักอย่าง แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับชีวิตคู่เลย แต่มันก็จะแสดงออกมาแบบที่คุณไม่ทันรู้ตัว เช่น ถ้าคุณไม่มีความสุขกับการทำงาน คุณก็อาจจะหงุดหงิดง่ายขึ้น คุณอาจจะไม่อยากฟังเวลาที่สามีเล่าเรื่องระหว่างทางที่เขาไปฟิตเนส ถ้ามีบางสิ่งในชีวิตที่กวนใจคุณ ให้เล่าความกังวลให้สามีฟัง จากนั้นก็พยายามเปลี่ยนสถานการณ์ที่คุณเจอเพื่อที่คุณจะได้เป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น
  2. อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาของฝั่งคุณอย่างเดียวก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองอยากเมินเฉยใส่สามีเป็นประจำ ชีวิตคู่ของคุณก็อาจจะเสี่ยงต่อการล้มเหลว [9] สามีของคุณอาจจะพูดอะไรในแบบที่คุณไม่ชอบ คุณอาจจะรู้สึกว่าคุณสองคนไม่มีเวลาให้กันอีกต่อไปแล้ว คุณอาจจะไม่สุขสมทางเพศในบางแง่มุม ถ้าคุณคิดว่ามันมีปัญหาที่คุณสองคนควรร่วมมือแก้ไขด้วยกัน คุณก็ต้องพูดคุยกันเรื่องนี้ การเมินเฉยใส่สามีไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
  3. การพูดคุยถึงปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตคู่เป็นสิ่งที่สร้างความตึงเครียดได้ไม่น้อย แต่คุณสามารถลดทอนความเครียดลงไปได้บ้างด้วยการวางแผนว่าคุณจะคุยกันเมื่อไหร่และที่ไหน
    • เลือกสถานที่ที่ไม่มีสิ่งรบกวน เช่น อย่าคุยกันเรื่องชีวิตคู่ในร้านอาหารที่มีคนเต็มไปหมด แต่ให้ตกลงนั่งคุยกันในห้องนั่งเล่นโดยที่ไม่เปิดทีวี
    • หลีกเลี่ยงข้อกำจัดเรื่องเวลาที่มาจากภายนอก เช่น ถ้าคุณมีประชุมผู้ปกครองตอน 7 โมง อย่าวางแผนคุยเรื่องชีวิตคู่กันตอน 6 โมง แต่ให้เลือกวันธรรมดาหรือคืนวันเสาร์อาทิตย์ที่คุณทั้งคู่ไม่มีแผนจะทำอะไรหรือไม่มีเรื่องข้างนอกที่ต้องไปทำ
  4. ใช้คำพูดที่ขึ้นต้นด้วย "ฉัน" เวลาที่มีอะไรกวนใจคุณ. เวลาที่พูดคุยกันถึงสิ่งที่กวนใจคุณ คุณต้องใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย "ฉัน" ประโยคแบบนี้ออกมาแบบมาเพื่อเน้นไปที่ความรู้สึกของคุณและลดทอนการตัดสินหรือการกล่าวโทษตามความเป็นจริง
    • ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน" ควรจะเน้นไปที่ความรู้สึกที่คุณมีต่อสถานการณ์เป็นหลัก คุณต้องรับผิดชอบความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งจะเป็นลดทอนการตัดสินด้วย คุณไม่ได้พูดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตคู่ตามเนื้อผ้า แต่คุณแค่แสดงความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์เท่านั้น
    • ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน" ประกอบด้วย 3 ส่วน เริ่มจากการพูดว่า "ฉันรู้สึก" จากนั้นก็ใส่อารมณ์ของตัวเอง และอธิบายว่าทำไมคุณถึงรู้สึกแบบนั้น
    • เวลาที่พูดคุยกันเรื่องชีวิตคู่ อย่าพูดว่า "มันไม่ยุติธรรมเลยเวลาที่คุณตะคอกใส่ฉันหลังจากคุณเจอเรื่องแย่ๆ ที่ทำงาน" แต่ให้เรียบเรียงประโยคใหม่ด้วยการใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน" ลองพูดว่า "ฉันเสียใจเวลาที่คุณเจอเรื่องแย่ๆ ที่ทำงานแล้วก็มาลงกับฉัน เพราะว่าฉันไม่อยากอยู่ในความสัมพันธ์ที่ฉันถูกตะคอกเป็นเรื่องปกติ"
  5. บางครั้งก็อาจจะต้องใช้เวลาสัก 2-3 วันกว่าคุณจะใจเย็นลงหลังจากทะเลาะกัน คุณอาจจะเมินเฉยใส่สามีในแง่ของคำพูดเพราะคุณสองคนคุยกันน้อยลง แต่คุณก็ควรชดเชยการไม่สื่อสารด้วยการสร้างความอุ่นใจในรูปแบบที่ไม่ใช่คำพูด แสดงความรักทางกายกับสามีให้มากขึ้น กอดและจูบเขาก่อนออกจากบ้าน จับมือเขาหรือวางมือลงบนเข่าของเขาเวลาที่คุณนั่งด้วยกัน พยายามทำให้เขารู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์แม้ว่าคุณสองคนจะไม่พอใจกันอยู่ก็ตาม [10]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เลี่ยงหลุมพราง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองต้องเมินเฉยใส่สามี มันคือสัญญาณที่บอกว่าความสัมพันธ์ของคุณมีปัญหา แม้ว่าการเมินเฉยหรือมองข้ามข้อบกพร่องบางอย่างจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความสัมพันธ์มันก็มีแง่มุมที่เป็นลบที่คุณต้องคุยกัน
    • ถ้าสามีของคุณมีปัญหาเรื่องอารมณ์โกรธ คุณต้องคุยกันแน่นอน อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการเมินเฉยใส่อารมณ์โกรธในขณะนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าสามีตะคอกใส่คุณเวลาที่เขาโกรธจนเป็นนิสัย คุณต้องจับเข่าคุยกันแล้ว [11]
    • การเสพติดเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ ถ้าสามีของคุณติดยาเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์ คุณควรคุยกับเขาเรื่องเข้ารับการบำบัด อย่าเมินเฉยต่อปัญหาไปเสียดื้อๆ [12]
    • เรื่องนอกใจก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรละเลยเช่นเดียวกัน ยกเว้นว่าคุณตกลงกันว่าจะมีความสัมพันธ์แบบเปิด ถ้าคุณสงสัยว่าสามีของคุณไม่ซื่อสัตย์ ให้พูดคุยกับเขาตรงๆ [13]
  2. การไม่เห็นคุณค่าของคนรักอาจทำให้ความสัมพันธ์เสียหายอย่างร้ายแรงได้ [14] ถึงแม้ว่าคุณจะหงุดหงิดสามี ก็ให้พยายามเห็นคุณค่าในความดีของสิ่งที่เขาทำ
    • แม้แต่การกระทำเล็กๆ น้อยๆ เช่น การไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเอาขยะไปทิ้ง ก็สมควรได้รับคำ "ขอบคุณ" และรอยจูบ คนส่วนใหญ่จะมีความสุขมากเวลาที่ใครสักคนแสดงความขอบคุณหรือความรักต่อเขา
    • คุณมักจะลืมขอบคุณอีกฝ่ายหลังจากใช้ชีวิตด้วยกันมานานแล้ว พยายามเตือนตัวเองอยู่เป็นระยะว่า คุณจะทำอย่างไรถ้าสามีเป็นคนแปลกหน้า คุณคงไม่ลังเลที่จะพูดคำว่า "ขอบคุณ" เวลาที่คนแปลกหน้าเปิดประตูให้หรือลุกให้นั่งบนรถเมล์ เพราะฉะนั้นอย่าลืมขอบคุณสามีด้วย [15]
  3. การเงียบใส่คือการเมินเฉยใส่คนที่คุณไม่พอใจเพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งมันเป็นพิษต่อชีวิตคู่ที่ดี และเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาแบบดื้อเงียบที่มีแต่จะนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดและความสับสน คุณไม่ควรเงียบใส่สามีเด็ดขาดเพราะมันถือเป็นการบงการรูปแบบหนึ่ง ถ้าคุณต้องการพื้นที่ส่วนตัวสัก 2-3 วัน ก็บอกให้สามีรู้ว่าทำไมคุณถึงโกรธ และทำไมคุณถึงพูดน้อยกว่าปกติ [16]
  4. จำไว้ว่าการเมินเฉยใส่ใครสักคนเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก หลายคนรู้สึกว่าการถูกเมินเฉยใส่แย่กว่าการถูกตะคอกหรือเผชิญหน้ากันตรงๆ เสียอีก ถ้าคุณต้องการพื้นที่สักระยะ คุณก็สามารถทำได้ และคุณก็สามารถเมินเฉยใส่พฤติกรรมหรือนิสัยบางอย่างได้ด้วย แต่การเมินเฉยใส่สามีไปเลยนั้นจะทำให้เขาเจ็บปวดและสับสน อย่าเลิกคุยกับสามีนานเกิน 2-3 วัน นอกจากนี้ก็บอกให้เขารู้ล่วงหน้าถ้าคุณต้องการเวลาหรือพื้นที่ส่วนตัว วิธีนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ [17]
  5. การเมินเฉยใส่สามีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาในชีวิตสมรส ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองอยากเมินเฉยใส่สามีบ่อยๆ ให้พูดคุยกับเขาเรื่องการไปพบนักบำบัดคู่สมรสที่ได้รับการรับรอง นักบำบัดที่ดีจะมีเคล็ดลับและเทคนิคที่ช่วยให้คุณสองคนสามารถรักษาชีวิตคู่ให้กลับไปดีได้เหมือนเดิม คุณสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับนักบำบัดคู่สมรสได้ในอินเทอร์เน็ต หรือจะให้นักจิตบำบัดหรือแพทย์คนปัจจุบันแนะนำนักบำบัดคู่สมรสให้คุณก็ได้
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 9,535 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา