ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร ภูมิหลังเป็นอย่างไร หรือมีฝีมือและความโดดเด่นในด้านใดก็ตาม คุณก็ไม่มีทางจะอายุมาก หรือดูดีและมีความฉลาดเกินกว่าที่จะหนีการถูกปฏิเสธพ้น ทางเดียวที่จะป้องกันการถูกปฏิเสธได้ก็คือ การไม่ลงมือทำสิ่งใด และไม่หันหน้าเข้าหาใครเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คุณย่อมต้องเคยถูกปฏิเสธบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในเรื่องความรัก การศึกษา งาน กีฬา และธุรกิจ แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มันทำลายชีวิตคุณจนย่อยยับ อย่างไรก็ดี การก้าวข้ามความเจ็บปวดเมื่อถูกปฏิเสธ หาใช่การเสแสร้ง หรือการบ่ายเบี่ยงว่ามันไม่มีผลกระทบต่อคุณไม่ –– คุณแค่ต้องรับมือกับมันอย่างถูกวิธีและเดินหน้าต่อไปเท่านั้นเอง

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ก้าวข้ามความเจ็บปวดในช่วงแรก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเมื่อถูกปฏิเสธนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของการเป็นมนุษย์ ทั้งด้วยสาเหตุทางอารมณ์และทางกายภาพ ผลการศึกษาพบว่า การถูกปฏิเสธแบบไม่ทันตั้งตัวก่อให้เกิดผลกระทบทางกาย: ความเจ็บปวดทางอารมณ์จะไปกระตุ้นนิวรอน (Neuron) ในสมองของคุณได้ดุจเดียวกับความเจ็บปวดทางร่างกาย [1] ที่จริงแล้ว การถูกปฏิเสธสามารถทำให้คุณรู้สึกเหมือน “อกหัก” ได้จริงๆ เนื่องจากมันไปกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเธติก ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ [2]
    • การถูกปฏิเสธในความรักความสัมพันธ์ เช่น การเลิกรากันแบบเลวร้าย สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาในสมอง ดุจเดียวกับคนที่ต้องเลิกยาเสพติดแบบหักดิบ [3]
    • ผลการศึกษาพบว่า คนที่มีอาการซึมเศร้าอยู่แล้ว อาจจะมีอาการหนักกว่าคนทั่วไปเมื่อถูกปฏิเสธ เนื่องจากผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า ร่างกายจะไม่หลั่งสารโอปิออยด์ (Opioid) ออกมา อันเป็นสารที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด นั่นทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวดมากกว่า และยาวนานกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า [4]
  2. การถูกปฏิเสธทำให้เราเจ็บปวดได้จริงๆ ทั้งทางอารมณ์และร่างกาย ดังนั้น การพยายามบ่ายเบี่ยงหรือลดทอนความเจ็บปวดด้วยหลอกตัวเองว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” เช่น เวลาที่คุณสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้สภาพจิตใจคุณแย่ลงในระยะยาว [5] คุณจำเป็นต้องยอมรับว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องปกติ และก้าวเดินต่อไป
    • มันเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไปเสียแล้ว กับการที่พร่ำบอกให้เรา “เข้มแข็งไว้” หรือ “เชิดหน้าเข้าไว้” ดั่งกับว่าการยอมรับและแสดงออกซึ่งความเจ็บปวด จะเป็นการทำให้คุณต่ำต้อยกว่าคนอื่น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ทั้งนี้ คนที่กดข่มอารมณ์ตัวเองเอาไว้แทนที่จะซึมซับมันเข้าไป มักแก้ปัญหาได้ไม่ดี และมักจะดึงดูดสถานการณ์แบบเดิมๆ ที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดเข้ามาในชีวิตซ้ำอีก
  3. การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาจะช่วยให้คุณยอมรับว่า ตนเองกำลังก้าวผ่านความเจ็บปวด [6] การถูกปฏิเสธสามารถก่อให้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง รวมถึงรู้สึกสูญเสียหรือถูกทอดทิ้งด้วย อีกทั้งคุณยังต้องรับมือกับความเศร้าเสียใจ ในการที่สูญเสียสิ่งที่ตนเองคาดหวังไว้อย่างน่าเสียดาย [7] ดังนั้น อย่ามองข้ามหรือกดข่มความรู้สึกตัวเองไว้
    • ร้องไห้ออกมาเลยถ้าคุณกำลังอยากทำ เพราะมันจะช่วยบรรเทาความกลุ้มใจ ความกังวล และความหงุดหงิดลงได้ แถมยังลดระดับความเครียดของร่างกายลงด้วย ดังนั้น เอาเลย ผู้ชาย (และผู้หญิง) อกสามศอก ก็ร้องไห้ได้ทั้งนั้นแหละ [8]
    • พยายามอย่ากรีดร้อง โวยวาย หรือทำลายข้าวของ ผลการศึกษาพบว่า การระบายออกด้วยการใช้ความรุนแรงต่อสิ่งของต่างๆ เช่น การชกหมอน จะยิ่งทำให้ความโกรธของคุณเพิ่มขึ้น [9] มันจะเป็นการดีกว่าหากคุณเขียนระบายอารมณ์ออกมา ด้วยการขุดสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธจริงๆ ออกมา [10]
    • การระบายความรู้สึกด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ ผ่านงานศิลปะ ดนตรี หรือบทกวีบทกลอน ก็ช่วยได้มากทีเดียว อย่างไรก็ดี พยายามอย่ายุ่งเกี่ยวกับงานที่กระตุ้นอารมณ์เศร้าหรือโกรธแบบสุดโต่ง เพราะมันจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิม [11]
  4. มันจะช่วยได้มาก หากคุณทบทวนหาสาเหตุว่า “ทำไม” คุณถึงรู้สึกแย่เวลาที่ถูกปฏิเสธ คุณผิดหวังที่คนอื่นได้รับเลือกเข้าทีมกีฬาแทนคุณใช่ไหม? คุณเจ็บปวดเพราะว่าคนที่คุณแอบชอบ ไม่ได้ชอบคุณตอบหรือเปล่า? คุณรู้สึกไร้ค่าใช่ไหม เวลาที่คุณไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์งาน? การใคร่ครวญหาสาเหตุ จะช่วยให้คุณหาทางรับมือการถูกปฏิเสธได้ตรงจุด [12]
    • ใช้โอกาสนี้ในการค้นหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ แต่ขอให้รู้ว่า นี่ไม่ใช่การซ้ำเติมตัวเอง มันเป็นแค่การวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงทางเลือกในการตอบสนองครั้งต่อๆ ไป เช่น คุณอาจสามารถหลีกเลี่ยงพวกคนที่หลงตัวเอง ไม่ให้มาสร้างความเสียใจให้คุณได้อีก หรือคุณอาจพยายามฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถป้องกันเหตุการณ์เดิม ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก แทนที่จะมัวหมกมุ่นอยู่กับการถูกปฏิเสธ
  5. มันง่ายที่คุณจะรู้สึกอยากดิ่งเหวลงไปในอารมณ์อันดำมืด หลังจากถูกปฏิเสธมา โดยเฉพาะในเรื่องความรักความสัมพันธ์ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยายามอยู่กับความจริงให้มากที่สุด ในขณะที่กำลังทบทวนความคิดและความรู้สึกตัวเอง
    • ตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกตัวเองว่า “ผู้หญิงที่ฉันจีบ ปฏิเสธฉันเพราะฉันอ้วนและหน้าตาอุบาทว์” พยายามจำกัดอยู่เฉพาะข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่คุณรู้ นั่นคือ “ผู้หญิงที่ฉันจีบ ปฏิเสธฉัน” แค่นั้นพอ คุณก็ยังถูกปฏิเสธและกำลังเจ็บปวดอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่วิธีคิดแบบหลัง มันเป็นการป้องกันไม่ให้คุณตำหนิหรือทำให้ตัวเองละอายใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี
    • การถูกปฏิเสธสามารถทำให้ไอคิวคุณต่ำลงชั่วขณะ [13] ดังนั้นหากคุณรู้สึกว่าคิดทบทวนความรู้สึกไม่ค่อยได้ ก็อย่าเสียใจไป คุณกำลังอยู่ในภาวะจำเป็น
  6. การถูกปฏิเสธมันเจ็บปวดเสียจนหลายๆ คนต้องระบายออกหรือโมโหใส่คนอื่น ซึ่งปฏิกิริยาเช่นนี้ มักเกิดขึ้นเพื่อต้องการทำให้ตัวเองฮึกเหิม และทำให้คนอื่นหันมาสนใจความเจ็บปวดของตน แต่ยิ่งคุณมีพฤติกรรมดังกล่าว ผู้คนก็จะยิ่งปฏิเสธและโดดเดี่ยวคุณมากขึ้นไปอีก ดังนั้น แม้ว่าคุณจะรู้สึกอยากทำพฤติกรรมเช่นนั้น ก็พยายามยับยั้งใจไว้ [14]
  7. เชื่อหรือไม่ว่า ผลการศึกษาพบว่า ความเจ็บปวดทางอารมณ์มักเกิดขึ้นควบคู่กับอาการเจ็บปวดทางกายด้วย ด้วยเหตุนี้ การทานยาแก้ปวดที่ขายตามร้านยาทั่วไปอย่างเช่น ไทลินอล (Tylenol) และแอดวิล (Advil) ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นเวลาติดต่อกันสามสัปดาห์ ก็สามารถช่วยให้อาการควันหลง จากความเจ็บปวดเมื่อถูกปฏิเสธ จางหายไปได้เร็วขึ้นในระดับหนึ่ง [15]
    • ทานเฉพาะยาที่ขายตามร้านยาอย่างถูกต้องเท่านั้น และอย่าทานมากกว่าปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน คุณกำลังบรรเทาความเจ็บปวด ไม่ได้หาเรื่องติดยา
  8. ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าพยายามบรรเทาความเจ็บปวดด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดใดๆ [16] การออกกำลังต่างหาก ที่จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารโอปิออยด์ ซึ่งช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ดังนั้น เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าถูกความเจ็บปวดรุมเร้าจนแทบจะระเบิดออกมา ก็หาเวลาออกไปเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในรูปแบบใดก็ได้ที่คุณชอบ [17]
    • หากคุณรู้สึกโกรธเมื่อถูกปฏิเสธมา พยายามหาช่องทางระบายออกด้วยกิจกรรมทางกายภาพ ที่ช่วยให้คุณได้ปลดปล่อยพลังงานมากๆ เช่น วิ่ง มวยไทย เทควันโด หรือคาราเต้
  9. ความรู้สึกถูกตัดหางปล่อยวัด เป็นผลข้างเคียงหลักๆ ของการถูกปฏิเสธ ดังนั้น พยายามเข้าหาคนที่รักและให้กำลังใจคุณ ผลการวิจัยพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและสนุกสนาน ท่ามกลางคนที่คุณอยู่ด้วยแล้วมีความสุข สามารถช่วยให้ระบบฟื้นตัวของร่างกายคุณ ทำงานได้ดีขึ้น ประสบการณ์ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงและครอบครัวของคุณ จะช่วยให้คุณเอาชนะความเจ็บปวดได้ [18]
  10. พาตัวเองออกมาจากวังวนความคิดอันเจ็บปวด และพยายามขลุกอยู่กับกิจกรรมที่ช่วยให้คุณรู้สึกดี เช่น ดูรายการทีวีขำๆ คลิปวีดิโอล้อเลียนฮาๆ หรือไปดูหนังตลกสักเรื่องที่โรงหนังก็ได้ ถึงแม้ว่าการหาความสุขหรือสนุกสนานใส่ตัวเช่นนี้ จะไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจคุณในบัดดล แต่มันก็ช่วยเพิ่มอารมณ์บวกให้กับคุณได้ [19]
    • การหัวเราะเป็นยาชั้นดีเมื่อคุณถูกปฏิเสธมา เพราะมันจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟีน ซึ่งทำให้คุณรู้สึกดีและมีความสุขกายสบายใจ แถมยังช่วยเพิ่มความอดทนต่อความเจ็บปวดทางกายได้ด้วย! [20]
  11. อาจจะเป็นเพื่อนสนิทของคุณ ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้แต่นักบำบัดสักคน เล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น และบอกไปว่าคุณรู้สึกอย่างไร พวกเขาอาจจะแบ่งปันประสบการณ์การถูกปฏิเสธของตัวเองบ้าง แถมยังอาจมีวิธีรับมือส่วนตัวมาแนะนำคุณด้วย ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ [21]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เอาชนะการถูกปฏิเสธ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การถูกปฏิเสธสามารถทำลายความนับถือตัวเองของคุณได้ ส่งผลให้คุณตำหนิตัวเองในความผิดพลาดนั้น และทำให้คุณเชื่อว่าตนเองไม่มีทางประสบความสำเร็จหรือมีความสุขได้ การฝึกความกรุณาต่อตนเอง จะช่วยให้คุณยอมรับความผิดพลาดและล้มเหลวของตนเองว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แทนที่จะมัวหมกมุ่นกับมัน [22] ซึ่งการเมตตาต่อตนเองนั้น มี 3 องค์ประกอบหลักๆ ด้วยกัน: [23]
    • เมตตาตัวเอง การเมตตาตัวเอง หมายถึง การมอบความอ่อนโยนและความเข้าใจให้แก่ตนเอง เหมือนดั่งเวลาที่คุณกำลังปลอบใจคนที่คุณรัก ไม่ได้หมายถึงการหาข้อแก้ตัวหรือเมินเฉยต่อปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพียงแค่ยอมรับว่าตัวคุณเองไม่ได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งสุดท้ายแล้ว มันยังช่วยให้คุณเกิดความรักและเมตตาต่อผู้อื่นด้วย
    • มนุษย์ปุถุชน การยอมรับในความเป็นปุถุชนของตัวเอง จะช่วยให้คุณตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ประสบการณ์ในทางลบ รวมถึงการถูกปฏิเสธนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต และอาจไม่ได้เกิดจากตัวคุณเองฝ่ายเดียว ความเข้าใจในจุดนี้จะช่วยให้คุณก้าวผ่านการถูกปฏิเสธได้ด้วยดี เพราะตอนนี้คุณรู้แล้วว่า ใครๆ ก็ย่อมเคยถูกปฏิเสธเหมือนกัน
    • การมีสติ หรือการฝึกเจริญสตินั้น คือการฝึกยอมรับและรับรู้ประสบการณ์ใดๆ อย่างที่มันเป็น โดยไม่ตัดสินมัน การเจริญสติด้วยการทำสมาธิและวิปัสสนา จะช่วยให้คุณจัดการกับอารมณ์ในทางลบได้โดยไม่จมปลักอยู่กับมันมากนัก
  2. การถูกปฏิเสธมักทำให้เราสรุปเอาเองอย่างเลวร้ายที่สุด ถึงประเด็นที่เรากลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง นั่นก็คือ ประเด็นที่ว่าเราเป็นคนอ่อนหัด ไม่มีอะไรดี รวมถึงไม่มีใครรักและไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ การฝึกมองไม่ให้เป็นเรื่องส่วนตัวนั้น จะช่วยให้คุณรู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าวในแง่บวก และยังช่วยให้เจ็บปวดทางอารมณ์น้อยลงด้วย [24]
    • อย่า “ตีโพยตีพาย” การตีโพยตีพาย หมายถึงการเสียใจหรือแสดงปฏิกิริยาเกินเหตุ เมื่อคุณทำอะไรพลาดหรือล้มเหลว ในขณะที่ลืมมองหาด้านบวกของตัวเองไปเสีย เช่น หากคุณถูกปฏิเสธเมื่อสมัครงาน มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะตกงานตลอดไป หรือต้องไปนอนใต้สะพานลอยที่ไหนสักแห่ง หากผลงานใดๆ ของคุณถูกวิจารณ์ในทางลบ มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำให้ดีขึ้นไม่ได้ในครั้งถัดไป การตีโพยตีพายจะสกัดกั้นความเป็นไปได้ที่คุณจะเรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์เชิงลบ โดยเฉพาะจากการถูกปฏิเสธ
  3. การถูกปฏิเสธมักเล่นงานคุณจนสะบักสะบอมและทำให้คุณพร่ำตำหนิตัวเองไม่หยุดหย่อน หากคุณไม่ควบคุมมัน การที่จะเอาชนะแนวโน้มในการมองแต่ข้อเสียของตนเอง คุณจำเป็นต้องลิสต์รายการคุณสมบัติด้านบวกของตัวเองออกมาดู ผลการศึกษาพบว่า เมื่อคุณตั้งใจย้ำเตือนตนเองว่าคุณมีค่าและน่ารักเพียงใด คุณไม่เพียงจะเอาชนะการถูกปฏิเสธได้เท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มคุ้มกันให้ตัวเองหากถูกปฏิเสธครั้งต่อไปด้วย [25]
  4. มันเป็นเพียงการผิดความคาดหวัง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่สบอารมณ์นัก แต่มันก็เป็นโอกาสในการปรับแก้แนวทางบางอย่าง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความเป็นไปได้มากขึ้น แน่นอนว่า มันทำให้คุณเจ็บปวด แต่การถูกปฏิเสธก็ยังทำให้คุณเข้มแข็ง และรู้จักทุ่มเทอย่างตรงจุดมากขึ้นในอนาคต [26]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังประสบภาวะถูกบอกเลิก คนที่บอกเลิกคุณคงเล็งเห็นแล้วว่า ในอนาคตคุณทั้งคู่คงไปกันไม่รอดแน่ ดังนั้น แม้ว่าการถูกบอกเลิกจะเจ็บปวดเพียงใด แต่มันก็ยังดีกว่าฝืนใจคบกันไป และมัวไปทุ่มเทให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว และไม่แน่ว่าจะไปกันรอดได้หรือไม่ในอนาคต
  5. คำพูดดังกล่าวมีมานมนาน เพราะมันเป็นสัจธรรม เวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจของคุณได้ เพราะมันจะช่วยให้คุณดึงตัวเองออกมาจากสถานการณ์ และมีโอกาสในพัฒนาตนเอง ซึ่งส่งผลให้คุณเห็นประสบการณ์ดังกล่าวในมุมมองใหม่ แน่นอนว่า ระหว่างที่แผลยังสดอยู่นั้น คุณย่อมเจ็บปวด แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะเข้าใจเองว่า สิ่งที่เสียไปแล้วย่อมควรปล่อยให้มันเป็นไปเช่นนั้น [27]
  6. การเรียนรู้บางสิ่งที่คุณปรารถนาจะทำมาตลอด จะช่วยให้คุณกลับมารู้สึกถึงความสำเร็จของตัวเองได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยเรียกความมั่นใจในตัวเองของคุณคืนมาด้วย การไปเรียนดนตรี ทำกับข้าว หรือเรียนภาษาใหม่ๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น
    • คุณอาจลองไปเข้าคอร์สฝึกยืนกรานตัวเอง บางครั้งการถูกปฏิเสธ อาจมีสาเหตุมาจากการที่คุณไม่แสดงจุดยืนในแง่ของความต้องการ และความปรารถนาของตนเองให้ชัดเจน ซึ่งคุณจะได้พบว่า การฝึกยืนกรานในความต้องการของตนเอง จะช่วยลดโอกาสที่คุณจะถูกปฏิเสธลงได้ [28]
    • จะมีบางเวลาที่คุณรู้สึกสงสัยในตัวเองว่าจะทำสิ่งใหม่ๆ ได้ทำสำเร็จหรือไม่ คุณควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้หนักหนาเกินไป หากคุณคิดจะยกเครื่องชีวิตตัวเองใหม่ในหลายๆ ด้าน ก็ย่อมที่จะรู้สึกเหมือนเด็กเพิ่งหัดเดินบ้าง และอาจจะรู้สึกว่าตัวเองบกพร่องในบางเรื่องด้วย ดังนั้น พยายามกัดฟันสู้ต่อไป และตระหนักไว้ว่า “ความใฝ่รู้” เป็นคุณลักษณะด้านบวกที่น่าชมเชย เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณพร้อมจะเรียนรู้และมองโลกด้วยทัศนคติแบบใหม่
  7. “การซื้อของเพื่อบำบัดจิตใจ” สามารถส่งผลในทางบวกได้จริงๆ ผลการวิจัยพบว่า เมื่อคุณไปช้อปปิ้ง คุณมักจะมีภาพในใจวาดไว้ว่า คุณจะนำสินค้าอะไรมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตใหม่ของคุณ การซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ หรือตัดผมทรงใหม่ จะช่วยให้คุณมั่นใจมากขึ้น [29]
    • ระวังอย่าใช้การจับจ่าย เป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเจ็บปวด มันทำได้แค่เบี่ยงเบนความสนใจชั่วคราวเท่านั้น พยายามอย่าใช้จ่ายเกินตัว ไม่งั้นจะยิ่งเครียดมากกว่าเดิม อย่างไรก็ดี การให้รางวัลตัวเองสักอย่างสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และจะช่วยให้คุณรู้สึกดี มีกำลังใจในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เข้มแข็งไว้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณถูกปฏิเสธจากความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว เช่น ถูกบอกเลิกหรือถูกปฏิเสธการสมัครเข้าร่วมทีมกีฬา คุณอาจจะมองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่า คุณเป็นคนที่ต่ำต้อย อย่างไรก็ตาม การรู้จักผ่อนคลายและตระหนักว่า ในโลกนี้ย่อมมีคนที่ไม่เหมาะสมกับคุณอยู่ด้วย จะช่วยให้คุณสามารถยอมรับและก้าวต่อไปได้ง่ายขึ้น จำไว้ว่า ยิ่งคุณรักตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องขึ้นกับใครหน้าไหนทั้งนั้น [30]
  2. คุณอาจพาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์ที่อาจถูกปฏิเสธได้ ขอเพียงอย่าให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมันรุนแรงนัก วิธีการนี้จะช่วยให้คุณได้ตระหนักว่า การถูกปฏิเสธมักไม่ได้เกี่ยวอะไรเป็นการส่วนตัวกับคุณเลย [31]
    • ตัวอย่างเช่น ลองไปร้องขออะไรบางอย่างที่คุณรู้ว่ามีโอกาสถูกปฏิเสธค่อนข้างมาก (แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรสำหรับคุณ) ก็จะช่วยให้คุณฝึกรับมือการถูกปฏิเสธได้ดีขึ้น
  3. คนที่ถูกปฏิเสธมา อาจจะหวาดผวาและไม่กล้าเสี่ยงในเรื่องนั้นๆ หรือมีความสัมพันธ์กับใครอีก เพราะพวกเขาปล่อยให้ความกลัว มาบดบังความคิดของตัวเอง มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะพยายามคิดบวกและมีความหวัง หลังจากเพิ่งถูกปฏิเสธมา [32]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพูดคุยกับเพื่อน และถูกปฏิเสธเรื่องบางอย่าง คุณอาจ “ปลีกตัว” ออกจากการสนทนานั้น เพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งแม้ว่าจะช่วยทำให้คุณรู้สึกโล่งอกในช่วงแรก แต่มันจะทำให้คุณแปลกแยกจากผู้อื่นและยิ่งทำให้ความรู้สึกถูกปฏิเสธแย่ลงกว่าเดิม [33]
    • จำไว้ว่า: การไม่เสี่ยงอะไรเลย ก็เท่ากับถูกปฏิเสธเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วล่ะ
  4. คาดหมายความสำเร็จ (แต่หากไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร). การมีทัศนคติเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ แม้กระทั่งหลังจากที่คุณเพิ่งถูกปฏิเสธมา ผลการวิจัยพบว่า ไม่ว่าคุณจะเชื่อว่าตนเองจะสำเร็จหรือล้มเหลว มันก็ย่อมส่งผลต่อความทุ่มเทในการทำสิ่งนั้นให้ลุล่วง ซึ่งก็จะกระทบต่อประสิทธิภาพของคุณไปโดยปริยาย การเชื่อว่าคุณจะทำสำเร็จ จะช่วยให้คุณทุ่มเทพยายามมากขึ้น [34]
    • อย่างไรก็ตาม มันสำคัญมากที่จะตระหนักว่า การเชื่อมั่นว่าคุณจะทำสำเร็จ ไม่ได้มีส่วนกำหนดความสำเร็จดังกล่าว มันแค่มีผลต่อความทุ่มเทของคุณว่า จะมากหรือน้อยเท่านั้น มันยังคงเป็นไปได้ (ในบางครั้ง เป็นไปได้มากเสียด้วย) ที่คุณจะล้มเหลว ทั้งๆ ที่คุณเชื่อมั่นและพยายามลงมือทำอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
    • การตระหนักว่า คุณทำได้แค่ควบคุมการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่ผลลัพธ์ จะช่วยป้องกันไม่ให้คุณมองการถูกปฏิเสธ เป็นเรื่องส่วนตัว [35] เข้าใจเสียว่า การถูกปฏิเสธเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่คุณก็จะยังพยายามเต็มที่โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์
  5. เวลาที่คุณรู้สึกเจ็บปวดและผิดหวังจากการถูกปฏิเสธ สิ่งสุดท้ายที่อาจอยากจะทำ คือ การให้อภัยคนที่ทำร้ายคุณ อย่างไรก็ดี การพยายามเข้าใจคนๆ นั้น อาจจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ ลองพยายามคิดว่าทำไมเขาหรือเธอถึงปฏิเสธคุณ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คุณจะพบว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากคุณเลย [36]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณอาจจำคำพูดของไมเคิล จอร์แดน ที่เคยกล่าวไว้ดังนี้ : ““ผมชู้ตลูกพลาดมากกว่า 9,000 ครั้ง ในตลอดช่วงระยะเวลาการเล่นบาสเก็ตบอลอาชีพ เล่นแพ้อีกเกือบ 300 นัด และมีอยู่ 26 ครั้งที่มีโอกาสชู้ตลูกตัดสิน แต่ดันทำพลาด ผมพลาดแล้วพลาดอีกมาตลอดชีวิตผม และนั่นคือสาเหตุที่ผมประสบความสำเร็จ” [37]
  • บางครั้ง การปฏิเสธอาจไม่ได้เกิดจากความเท่าเทียมกัน เช่น กรณีที่คุณเชื่อว่า คุณถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน ด้วยสาเหตุด้านการเหยียดเชื้อชาติ คุณก็สามารถอาศัยช่องทางกฎหมายในการจัดการเรื่องดังกล่าวได้
  • ผลการวิจัยพบว่า หากคุณคิดบวกและเข้าหาผู้คน โดยหวังว่าจะได้รับการยอมรับ คุณก็มักจะได้รับผลเช่นนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสถูกปฏิเสธ เพียงแต่ทัศนคติของคุณมันส่งผลต่อวิธีที่คนอื่นปฏิบัติต่อคุณด้วย [38]
โฆษณา

คำเตือน

  • พยายามจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก อย่าจมอยู่กับมัน การหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ด้านลบ รังแต่จะสกัดกั้นคุณจากการฟื้นตัว
  • อย่าคล้อยตามอารมณ์โกรธหรือแนวโน้มในการใช้ความรุนแรง ต่อให้คุณเจ็บปวดมากมายเพียงใดก็ตาม การระบายใส่ผู้อื่นอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกคุณได้ชั่วครู่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันมีแต่จะทำให้คุณกับคนๆ นั้นเจ็บปวดมากขึ้น
โฆษณา
  1. http://www.prevention.com/mind-body/emotional-health/healthiest-ways-express-anger
  2. http://www.apa.org/helpcenter/recognize-anger.aspx
  3. http://teenshealth.org/teen/your_mind/emotions/rejection.html#
  4. https://www.psychologytoday.com/blog/the-squeaky-wheel/201307/10-surprising-facts-about-rejection
  5. http://www.apa.org/monitor/2012/04/rejection.aspx
  6. http://www.prevention.com/mind-body/emotional-health/tips-handling-rejection
  7. http://www.mayoclinic.org/healthy-living/end-of-life/in-depth/grief/art-20047261?pg=2
  8. http://www.apa.org/monitor/2012/04/rejection.aspx
  9. http://www.apa.org/monitor/2012/04/rejection.aspx
  10. https://www.psychologytoday.com/blog/the-squeaky-wheel/201307/10-surprising-facts-about-rejection
  11. http://www.nytimes.com/2011/09/14/science/14laughter.html?_r=0
  12. http://www.oprah.com/inspiration/Dr-Phil-How-to-Get-Over-Rejection
  13. https://www.psychologytoday.com/blog/the-squeaky-wheel/201307/10-surprising-facts-about-rejection
  14. http://www.self-compassion.org/what-is-self-compassion/the-three-elements-of-self-compassion.html
  15. http://psychcentral.com/blog/archives/2013/02/19/7-tips-to-avoid-personalizing-rejection/
  16. http://www.huffingtonpost.com/2014/03/13/rejection-coping-methods-research_n_4919538.html
  17. https://www.psychologytoday.com/blog/thriving101/201012/rejection-losers-guide
  18. https://www.psychologytoday.com/blog/the-squeaky-wheel/201307/10-surprising-facts-about-rejection
  19. http://www.education.udel.edu/wp-content/uploads/2013/01/SociallyRejected.pdf
  20. http://business.time.com/2013/04/16/is-retail-therapy-for-real-5-ways-shopping-is-actually-good-for-you/
  21. http://www.oprah.com/inspiration/Dr-Phil-How-to-Get-Over-Rejection
  22. http://psychcentral.com/blog/archives/2013/02/19/7-tips-to-avoid-personalizing-rejection/
  23. http://psychcentral.com/blog/archives/2013/02/19/7-tips-to-avoid-personalizing-rejection/
  24. http://www.huffingtonpost.com/2014/03/13/rejection-coping-methods-research_n_4919538.html
  25. https://www.psychologytoday.com/blog/thriving101/201012/rejection-losers-guide
  26. https://www.psychologytoday.com/blog/fighting-fear/201308/how-cope-rejection
  27. http://teenshealth.org/teen/your_mind/emotions/rejection.html#
  28. http://www.washingtonpost.com/business/capitalbusiness/career-coach-dealing-with-rejection-and-setbacks/2012/05/04/gIQAfS3J6T_story.html
  29. http://www.huffingtonpost.com/2014/03/13/rejection-coping-methods-research_n_4919538.html

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 25,660 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา