ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ย่อหน้าสรุปเป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณจะได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน เป้าหมายของคุณคือเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเขาเข้าใจข้อโต้แย้งและหลักฐานที่มาสนับสนุนของคุณ บทสรุปที่ดีควรขมวดความคิดทุกอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยการยกตัวอย่าง กล่าวประเด็นหลักซ้ำ และแก้ไขงานอย่างระมัดระวัง มีหลายขั้นตอนที่คุณสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้คุณเขียนบทสรุปของงานเขียนใดๆ ก็ตามได้อย่างประสบความสำเร็จ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เรียบเรียงย่อหน้าสรุปอย่างประณีต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของบทสรุปที่มีประสิทธิภาพคือประโยคใจความหลักที่เรียบเรียงเป็นอย่างดี ก่อนที่คุณจะร่างย่อหน้าสุดท้าย คุณต้องแน่ใจว่าข้อโต้แย้งของคุณสอดคล้องกันและผ่านการขัดเกลามาแล้ว ค่อยๆ ใช้เวลาแก้ไขและเกลาประโยคใจความหลักของคุณก่อน [1]
    • คุณต้องแน่ใจว่าใจความหลักของคุณไม่กว้างจนเกินไป เช่น อย่าบอกแค่ว่า "งานเขียนชิ้นนี้เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต"
    • แต่ให้เขียนอย่างชัดเจนและเจาะจงแทน เช่น คุณอาจจะเขียนว่า "การประหารชีวิตถือว่าขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จากข้อมูลเชิงสถิติของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า 141 ประเทศ หรือ 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติแล้ว คงเหลือเพียง 57 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่"
    • พยายามอ่านประโยคใจความหลักออกเสียง มันสมเหตุสมผลหรือเปล่า อ่านแล้วไหลลื่นมั้ย
  2. บทสรุปของคุณควรกล่าวถึงประเด็นหลักซ้ำ ส่วนหลักของบทสรุปที่ดีคือการกล่าวข้อโต้แย้งซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ค่อยๆ เรียบเรียงข้อโต้แย้งของคุณอีกครั้งในบทสรุป [2]
    • อย่าแค่ลอกแล้วนำประโยคใจความหลักมาแปะไว้ในบทสรุป แต่ให้เขียนโดยใช้คำต่างกัน
    • เช่น ประโยคใจความหลักของคุณอาจจะเป็น "ในสมัยรัชกาลที่ 5 นโยบายการคานอำนาจในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ถูกนำมาใช้โดยวิธีการต่างๆ เช่น การนำที่ปรึกษาชาวตะวันตกมาช่วยสร้างความทันสมัยให้แก่ประเทศไทย โดยที่ปรึกษาเหล่านี้มาจากประเทศต่างๆ หลายประเทศเพื่อให้มาทำหน้าที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ที่ปรึกษาจากประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ในฐานะที่จะมีอิทธิพลอย่างล้นเหลือ" คุณจะต้องพูดประเด็นนี้ซ้ำโดยใช้คำพูดใหม่
    • ลองพูดว่า "จากวิธีการคานอำนาจประเทศตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นนโยบายหลักที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกในยุคนั้น"
  3. บทสรุปของคุณควรเตือนใจให้ผู้อ่านรู้ว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ค่อยๆ บอกพวกเขาอย่างระมัดระวังว่าทำไมข้อโต้แย้งของคุณจึงหนักแน่น การใช้ตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงเป็นการทำให้ข้อโต้แย้งที่คุณพยายามเรียบเรียงออกมาฟังดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น [3]
    • คุณอาจจะลองใช้คำพูดของคนอื่น เพราะคุณต้องเน้นความสำคัญของบทความที่คุณเพิ่งเขียนขึ้นมา
    • คำพูดของผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้ประเด็นของคุณหนักแน่นขึ้น คุณสามารถเกริ่นนำคำพูดผู้เชี่ยวชาญได้ว่า "อย่างที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาชีววิทยาได้เตือนเราไว้ว่า..."
    • นอกจากนี้คุณอาจจะใส่เรื่องราวที่มีประโยชน์ลงไปในบทสรุปของคุณด้วย เช่น ถ้าคุณกำลังเขียนเรื่องความทุกข์ยากของหมีขั้วโลก คุณก็อาจจะเล่าเรื่องหมีขั้วโลกตอนที่นำมาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่
  4. งานเขียนของคุณควรมีเค้าโครงที่อธิบายองค์ประกอบหลักของข้อโต้แย้งได้อย่างชัดเจน เช่น งานเขียนเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลาของคุณอาจจะกล่าวถึงสาเหตุและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง โดยที่คุณต้องแน่ใจว่าบทสรุปของคุณย้ำให้ผู้อ่านนึกถึงแต่ละส่วนในงานเขียนของคุณ [4]
    • พยายามสังเคราะห์ข้อมูล หมายความว่าให้วิเคราะห์เกินกว่าแค่สรุปประเด็นของคุณเฉยๆ
    • บทสรุปไม่ใช่แค่ที่สำหรับสรุปประเด็นเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกัน บอกผู้อ่านของคุณว่าประเด็นต่างๆ เชื่อมโยงกันอย่างไร
    • เช่น คุณอาจจะชี้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและการเมือง และทั้งสองอย่างนี้ก็มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
  5. บทสรุปของคุณเป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณจะได้สร้างความประทับใจอย่างแรงกล้าให้กับผู้อ่าน คุณต้องจึงใส่องค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมดลงไปในบทสรุป คุณจะต้องอ่านทวนอย่างละเอียดหลังจากเขียนร่างบทสรุปเสร็จแล้ว [5]
    • คุณต้องกล่าวข้อโต้แย้งของคุณอย่างชัดเจน เพราะผู้อ่านไม่ควรสับสนในประเด็นของคุณ
    • ทบทวนประเด็นหลักของคุณ คุณได้ใส่ทุกประเด็นหลักลงไปในบทสรุปแล้วหรือยัง
    • บทสรุปของคุณได้อธิบายหรือเปล่าว่าทำไมหัวข้อของคุณถึงสำคัญ จำไว้ว่านี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่คุณจะได้โน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อว่างานวิจัยของคุณสำคัญ
    • พูดถึงความสำคัญอย่างชัดเจน คุณอาจจะกล่าวว่า "งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างวรรณกรรมในศตวรรษที่ 19 กับนักสตรีนิยมในปัจจุบัน"
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เริ่มเขียนย่อหน้าสรุป

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณต้องให้ผู้อ่านรู้ว่าพวกเขาอ่านมาถึงตอนท้ายของงานเขียนแล้ว การใช้คำและเนื้อหาในย่อหน้าสรุปควรแสดงถึงจุดสิ้นสุดอย่างชัดเจน คุณสามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงจุดสิ้นสุดได้ด้วย 2-3 วิธีต่อไปนี้ [6]
    • ลองเชื่อมย่อหน้าสุดท้ายกับย่อหน้าแรกเข้าด้วยกัน เช่น ถ้าบทนำคุณพูดเรื่องสุนัขชื่อขาว ก็ให้จบงานเขียนด้วยการพูดถึงขาวอีกครั้ง
    • การเชื่อมย่อหน้าแรกกับย่อหน้าสุดท้ายเข้าด้วยกันเป็นวิธีจบชิ้นงานที่ดี เพราะมัน "แสดงถึงจุดสิ้นสุด" ของหัวข้อ
    • นอกจากนี้คุณยังสามารถจบเรียงความของคุณด้วยคำพูดหรือข้อเท็จจริงที่คุณอ้างก่อนหน้านี้ก็ได้ วิธีนี้จะเป็นการสร้างจุดสิ้นสุดที่ดีให้แก่ผู้อ่าน
  2. บทสรุปไม่ใช่แค่ที่ที่คุณจะเน้นย้ำประเด็นที่คุณพูดไปแล้ว แต่คุณควรใช้บทสรุปเป็นพื้นที่เสนอแนะ "ขั้นตอนต่อไป" ที่สำคัญด้วย คุณสามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าควรทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา การพูดถึงขั้นตอนถัดไปทำให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนว่าคุณกำลังสรุปเรียงความของคุณ [7]
    • ถ้าคุณเขียนงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคอ้วนในประเทศไทย บทสรุปของคุณจะเป็นที่ที่เหมาะแก่การเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก
    • เช่น คุณอาจจะพูดว่า "แน่นอนว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเน้นกิจกรรมทางร่างกายตั้งแต่เด็กมากกว่านี้" หรือคุณอาจจะบอกว่า "ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เราได้เรียนรู้วิธีการรักษาผลข้างเคียงที่ไม่ดีของโรคอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
    • นอกจากนี้คุณอาจจะใช้บทสรุปชี้แนะประเด็นที่ใหญ่กว่า เช่น งานเขียนของคุณเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาอาจจะเชื่อมโยงไปถึงประเด็นที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาในบางประเด็น
  3. ไม่ว่าคุณจะเริ่มบทสรุปด้วยวิธีไหนก็ตาม คุณควรเน้นไปที่การเลือกใช้คำ แสดงประเด็นของคุณอย่างชัดเจนและกระชับ คุณต้องแสดงข้อโต้แย้งของคุณให้ชัดเจนและตรงประเด็น ไม่จำเป็นต้องพยายามใช้คำใหญ่หรือร้อยแก้วสละสลวยในบทสรุปของคุณ [8]
    • พยายามอย่าเริ่มบทสรุปด้วยประโยคยาวๆ เพราะคุณต้องดึงความสนใจของผู้อ่านและรักษาความสนใจนั้นไว้
    • ไม่จำเป็นต้องพูดว่า "และดังนั้น ตามที่เราได้แสดงให้เห็นอย่างถ่องแท้ผ่านการใช้หลักฐานที่ซับซ้อนแล้วนั้น..." แต่ให้พูดแค่ว่า "มันชัดเจนอยู่แล้วว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยน"
    • ลองเขียนประโยคแรกของบทสรุปด้วยคำเพียงพยางค์เดียว วิธีนี้จะเพิ่มการเร้าอารมณ์ในงานเขียนของคุณ
  4. บริบทเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจข้อโต้แย้งของคุณอย่างสมบูรณ์ คุณอาจจะแสดงประเด็นของคุณได้ชัดเจนแล้ว แต่คุณต้องทำมากกว่านั้น บริบทจะเป็นตัวบอกผู้อ่านว่าทำไมหัวข้อและข้อโต้แย้งของคุณถึงสำคัญ [9]
    • การบอกความสำคัญของข้อโต้แย้งอย่างชัดเจนเป็นวิธีที่ดีในการเริ่มบทสรุป ผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่คุณพยายามจะสื่อได้อย่างตรงจุด
    • คุณอาจจะบอกว่า "งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญเพราะมันสามารถช่วยชีวิตสัตว์หลายชีวิตด้วยกัน" คำพูดนี้เป็นคำพูดบอกเล่าที่ตรงไปตรงมา
    • บริบทช่วยคุณอธิบายได้ว่าทำไมหัวข้อนี้ถึงสำคัญ เช่น บทสรุปของคุณอาจจะเริ่มด้วยประโยคอย่างเช่น "ขณะที่บทความชิ้นนี้กำลังเขียนขึ้น วัยรุ่นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนในประเทศไทยกำลังถูกคุมขัง"
  5. คนอ่านน่าจะรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาอ่านถึงตอนท้ายของบทความแล้ว เพราะโดยทั่วไปมักจะเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าไม่มีหน้าต่อไปให้อ่าน เพราะฉะนั้นอย่าไปรู้สึกว่าต้องบอกให้ชัดเจน [10]
    • อย่าพูดว่า "โดยสรุป" เพราะมีวิธีเริ่มบทสรุปอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า
    • ลองพูดว่า "ตามที่งานวิจัยได้แสดงให้เห็น" นอกจากนี้คุณอาจจะเกริ่นนำประเด็นสุดท้ายของคุณด้วยการพูดแค่ว่า "สุดท้ายแล้ว..."
    • นอกจากนี้คุณยังสามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าพวกเขาอ่านมาถึงบทสรุปแล้วด้วยการพูดว่า "หากจะทวนอีกครั้ง..." หรือ "เราจะเห็นได้ว่า..."
    • หรือคุณอาจจะเขียนว่า "ชัดเจนแล้วว่า..." ลองเขียนหลายๆ แบบเพื่อดูว่าอันไหนเหมาะกับงานเขียนของคุณมากที่สุด
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ขัดเกลางานเขียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ประโยคเชื่อมเป็นประโยคที่เชื่อมส่วนต่างๆ ในงานเขียนของคุณ งานเขียนของคุณควรมีประโยคเชื่อมระหว่างบทนำ ย่อหน้าเนื้อความแต่ละย่อหน้า และบทสรุป เวลาที่แก้ไขงาน คุณต้องแน่ใจว่าคุณเขียนประโยคเชื่อมต่างๆ ออกมาได้ดี [11]
    • มีหลายคำที่คุณสามารถนำมาใช้เพื่อบ่งบอกว่าคุณกำลังจะเข้าสู่ส่วนถัดไปของงานเขียน คุณต้องให้ผู้อ่านรู้ว่าตอนไหนที่คุณเขียนถึงบทสรุปแล้ว
    • นอกจากจะพูดว่า "โดยสรุป..." แล้ว คุณยังสามารถใช้คำพูดอื่นได้ด้วย เช่น คุณอาจจะพูดว่า "สุดท้ายนี้..." หรือ "ตามที่งานเขียนได้ชี้ให้เห็น..."
    • คุณต้องมีการเชื่อมระหว่างประเด็นหลักแต่ละประเด็น คุณอาจจะใช้คำอย่างเช่น "เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว" "ถัดไปคือ" หรือ "วิธีการที่ต่างออกไปนี้คือ" เพื่อบอกให้รู้ว่าคุณกำลังจะเปลี่ยนประเด็น
  2. คุณใช้ความพยายามอย่างมากในการเขียนบทสรุปและงานเขียนทั้งชิ้น เพราะฉะนั้นคุณคงไม่อยากให้ความพยายามต้องสูญเปล่าเพราะการแก้ไขงานแบบชุ่ยๆ ค่อยๆ แก้ไขงานเขียนของคุณอย่างละเอียดก่อนส่ง [12]
    • มองหาข้อผิดพลาดเรื่องการสะกดและหลักภาษา ใช้เครื่องมือตรวจการสะกดช่วย
    • แก้ไขเนื้อหา อ่านแต่ละประโยคในงานเขียนของคุณเพื่อให้แน่ใจว่ามันสมเหตุสมผลและช่วยสื่อสิ่งที่คุณต้องการจะพูดออกมาได้
    • อย่ากลัวที่จะตัดออก ถ้าคุณเจอย่อหน้าที่ไม่สอดคล้องกับข้อโต้แย้งของคุณ ให้ตัดออกไปเลย
    • อ่านออกเสียง วิธีนี้เป็นวิธีหาข้อผิดพลาดที่คุณไม่ได้สังเกตตอนอ่าน [13]
  3. บางครั้งการอ่านงานเขียนของตัวเองอย่างเป็นกลางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขอให้ใครสักคนอ่านงานเขียนให้คุณ จะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือคนในครอบครัวก็ได้ที่เต็มใจจะแสดงความคิดเห็นต่องานเขียนของคุณ [14]
    • เปิดใจรับคำติเพื่อก่อ อย่าเก็บมาคิดเล็กคิดน้อยถ้าเพื่อนให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์
    • อธิบายคำสั่งของงานเขียน คุณอาจจะบอกว่า "งานเขียนชิ้นนี้เกี่ยวกับการประเมินระบบโรงเรียนรัฐในกรุงเทพฯ เธอว่าประเด็นของฉันชัดเจนหรือยัง"
    • ขอให้คนที่อ่านงานให้คุณดูตรงบทสรุปให้ละเอียดเป็นพิเศษ พวกเขาอาจจะเจอข้อผิดพลาดที่คุณไม่เห็นก็ได้
  4. พอคุณแก้ไขงานเขียนแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะตรวจทานงานเขียนเป็นครั้งสุดท้าย คุณต้องค่อยๆ ใช้เวลาเพื่อดูว่าคุณทำตามข้อกำหนดครบแล้ว เช่น ถ้าเกณฑ์การเขียนบอกว่าควรเขียน 5-7 หน้า ก็ต้องแน่ใจว่าความยาวของงานเขียนอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด [15]
    • ปรับรูปแบบงานเขียนตามที่กำหนด ถ้าคำสั่งบอกว่าให้เขียนด้วยตัวอักษร Angsana New 16 คุณก็ต้องแน่ใจว่าคุณใช้ฟอนต์ตามที่กำหนด
    • ส่งงานตามที่กำหนด ถ้าครูบอกว่าให้ส่งทั้งในรูปแบบสำเนาอิเล็กทรอนิกส์และแบบพิมพ์ลงในกระดาษ ก็ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ยืดหยุ่น ข้อโต้แย้งของคุณอาจจะเปลี่ยนไปขณะที่คุณเขียน อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนบทสรุปของตัวเอง
  • เผื่อเวลาสำหรับเขียนไว้เยอะๆ อย่าพยายามเขียนบทสรุป 1 วันก่อนกำหนดส่ง
  • แก้ไขงานอย่างระมัดระวัง
  • ย่อหน้าสรุปของคุณต้องเชื่อมโยงกลับไปที่บทนำ แต่อย่าพูดประโยคนั้นซ้ำโดยใช้คำพูดเดียวกับเป๊ะๆ กล่าวถึงแนวคิดที่คุณต้องการจะกล่าวซ้ำอีกครั้งด้วยการใช้คำพูดแบบอื่น
  • ถ้าคุณเริ่มย่อหน้าเกริ่นนำด้วยคำพูดของนักเขียน พยายามใส่คำพูดอีกอันหนึ่งของนักเขียนคนเดียวกันในบทสรุป
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,803 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา