ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เรียงความเล่าเรื่องคือการถ่ายทอดเรื่องราวที่ทำให้คุณได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ เรื่องราวของคุณจะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริงก็ได้แล้วแต่คำสั่งของชิ้นงาน แรกๆ การเริ่มลงมือเขียนเรียงความเล่าเรื่องอาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่คุณสามารถทำให้มันง่ายขึ้นได้ด้วยจำกัดหัวข้อให้แคบลงและเริ่มวางแผนเรื่องราว เท่านี้คุณก็สามารถเขียนบทนำของเรียงความได้อย่างง่ายดาย

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เลือกหัวข้อสำหรับเรียงความเล่าเรื่อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อ่านคำสั่งเพื่อดูว่าหัวข้อและความคาดหวังคืออะไร. คุณควรอ่านคำสั่งให้ละเอียดมากกว่า 1 รอบเพื่อให้รู้ว่าคุณต้องเขียนอะไรกันแน่ ดูด้วยว่ามีหัวข้อหรือคำถามที่คุณต้องตอบไหม นอกจากนี้ก็ให้ทบทวนข้อกำหนดที่ระบุเอาไว้ด้วยเพื่อให้ได้คะแนนครบถ้วน [1]
    • ถ้าอาจารย์ให้เกณฑ์การให้คะแนนมาด้วย ให้อ่านอย่างละเอียดเพื่อดูว่าอาจารย์คาดหวังอะไรเพื่อแลกกับคะแนนเต็ม แล้วคุณค่อยนำเรียงความมาเทียบกับเกณฑ์การให้คะแนนอีกครั้งในภายหลังก่อนส่งงาน
    • ถ้าคุณมีคำถามเกี่ยวกับชิ้นงาน ให้ถามอาจารย์ให้เข้าใจก่อน
  2. ก่อนอื่นปล่อยให้ความคิดของคุณแล่นเข้ามาในหัวอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องพยายามจำกัดหัวข้อให้แคบลง เลือกว่าคุณอยากจะเขียนบรรยายเรื่องของตัวเองหรือแต่งขึ้น เมื่อคุณได้รายการหัวข้อมากลุ่มหนึ่งแล้ว ให้คุณเลือกหัวข้อที่เหมาะกับคุณ เช่น คุณอาจจะเขียนเล่าเรื่องการไปค้างบ้านเพื่อนครั้งแรก วันที่คุณนำลูกหมาตัวแรกกลับมาบ้าน หรือจะเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่พยายามจะก่อไฟสำหรับตั้งแคมป์ก็ได้ ตัวอย่างวิธีระดมความคิดได้แก่: [2]
    • เขียนรายการความคิดแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาเมื่อคุณเห็นหัวข้อที่กำหนดให้หรือคำถาม
    • เขียนแผนผังความคิด เพื่อจัดระเบียบความคิด
    • เริ่มเขียนเรื่องราวแบบอิสระ เขียนอะไรก็ได้ที่ผุดขึ้นมาในหัวโดยไม่ต้องห่วงเรื่องหลักภาษาหรือว่ามันสมเหตุสมผลไหม
    • เขียนโครงร่าง เพื่อช่วยลำดับความคิด
  3. เลือกเหตุการณ์สำคัญมาหนึ่งเหตุการณ์เพื่อใส่รายละเอียดลงไปในเนื้อเรื่อง. ทบทวนรายการความคิดเพื่อหาเหตุการณ์ที่ตรงกับคำสั่งของชิ้นงาน จากนั้นก็จำกัดหัวข้อให้แคบลงเหลือแค่เหตุการณ์เฉพาะเหตุการณ์เดียวเพื่อให้สามารถเขียนจบภายในเรียงความชิ้นเดียวได้ [3]
    • อย่าพยายามใส่เรื่องราวต่างๆ มากเกินไปในเรียงความ 1 ชิ้น เพราะคนอ่านจะสับสน
    • เช่น สมมุติหัวข้อกำหนดไว้ว่า “เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความยากลำบากที่สอนให้คุณไม่ย่อท้อ” คุณอาจจะอยากเขียนเรื่องการเอาชนะอาการบาดเจ็บ ในการจำกัดเรื่องให้แคบลงนั้น คุณอาจจะเน้นเรื่องที่คุณออกกำลังแขนข้างที่ได้รับบาดเจ็บเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุ และความยากลำบากที่คุณต้องเผชิญ
  4. เชื่อมโยงแนวคิดของเรื่องราวกลับไปที่หัวข้อที่กำหนด และคิดดูว่าเรื่องราวนั้นทำให้คุณรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ให้คิดดูว่า คุณอยากให้คนอ่านรู้สึกอย่างไรหลังจากได้อ่านเรียงความของคุณ หาแก่นเรื่องหลักหรือสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อจากคำตอบของคำถามเหล่านี้ [4]
    • เช่น แก่นเรื่องของเรื่องราวเกี่ยวกับการฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บอาจเป็นการเอาชนะความยากลำบากหรือการไม่ย่อท้อต่อเป้าหมาย คุณอาจจะอยากให้คนอ่านรู้สึกมีแรงใจและความหวังหลังจากได้อ่านเรื่องราวของคุณ และเพื่อให้คนอ่านเกิดความรู้สึกนี้ คุณก็ต้องเน้นเรื่องราวความสำเร็จตลอดกระบวนการฟื้นตัว และปิดท้ายเรื่องราวด้วยความคิดเชิงบวก
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

วางแผนเรื่องราว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เริ่มจากตัวละครหลักก่อน เขียนชื่อ อายุ และคำอธิบายลงไป จากนั้นก็ระบุแรงจูงใจ ความปรารถนา และความสัมพันธ์ของตัวละครกับผู้อื่น หลังจากที่คุณสร้างรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับตัวละครหลักแล้ว ให้เขียนรายการตัวละครรองที่คุณจะใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องไว้สั้นๆ รวมถึงรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับตัวละครเหล่านั้นด้วย [5]
    • แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะเป็นคุณเอง คุณก็ยังต้องทำตามขั้นตอนนี้ให้เสร็จอยู่ดี คุณสามารถเลือกได้ว่าคุณอยากจะใส่รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเองลงไปมากแค่ไหน แต่การเขียนคำอธิบาย ความสนใจ และความปรารถนาของตัวเองในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้นก็ช่วยคุณได้ โดยเฉพาะถ้าเวลาผ่านมานานมากแล้ว
    • คำอธิบายตัวละครหลักอาจเป็นแบบนี้ : “แคต อายุ 12 ปี นักกีฬาบาสเกตบอลที่บาดเจ็บ เธออยากหายจากอาการบาดเจ็บเพื่อกลับไปเล่นบาสเกตบอล เธอเป็นคนไข้ของอานนท์ นักกายภาพบำบัดที่ช่วยให้เธอฟื้นตัว”
    • คำอธิบายตัวละครรองอาจจะเป็นแบบนี้ : “ดร.เลอสรรรค์เป็นหมอวัยกลางคนที่ใจดีและดูอบอุ่น เป็นคนรักษาแคตในห้องฉุกเฉิน”
  2. ระบุสถานที่ต่างๆ ที่มีเรื่องราวของคุณเกิดขึ้น รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นด้วย เขียนทุกฉากที่คุณจะใส่ลงไปในเนื้อเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดเท่ากันหมด จากนั้นจดคำบ่งชี้ที่คุณเชื่อมโยงกับสถานที่ต่างๆ ในเนื้อเรื่องมาสัก 2-3 คำ [6]
    • เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับการเอาชนะอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาอาจจะมีฉากท้องเรื่อง 2-3 ฉาก เช่น สนามบาสเกตบอล รถพยาบาล โรงพยาบาล และคลินิกกายภาพบำบัด แม้ว่าคุณจะให้ผู้อ่านเห็นฉากท้องเรื่องแต่ละฉาก แต่ส่วนใหญ่แล้วรายละเอียดที่คุณเขียนลงไปจะเป็นฉากท้องเรื่องหลัก
    • คุณอาจจะเขียนรายการคำบ่งชี้เกี่ยวกับสนามบาสเกตบอลดังต่อไปนี้ : “พื้นดังเอี๊ยดอ๊าด” “ฝูงชนโห่ร้อง” “ไฟเหนือศีรษะเจิดจ้า” “สีประจำทีมบนอัฒจันทร์” “กลิ่นเหงื่อไคลและเครื่องดื่มเกลือแร่” และ “เสื้อกีฬาชุ่มเหนียวแนบหลังของฉัน”
    • เรื่องราวของคุณอาจประกอบด้วยฉากท้องเรื่องหลายๆ ฉาก แต่คุณไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดเท่ากันทุกฉาก เช่น ในฉากคุณอาจจะอยู่ในรถพยาบาลสักครู่ คุณไม่จำเป็นต้องอธิบายรถพยาบาลแบบละเอียดละออ แต่คุณอาจจะเล่า "ความรู้สึกเหน็บหนาวและโดดเดี่ยวในรถพยาบาลปราศจากเชื้อ" ให้คนอ่านได้รู้
  3. วางพล็อตเรื่องออกเป็นต้นเรื่อง กลางเรื่อง และตอนจบ. เรียงความเล่าเรื่องมักเป็นไปตามหลักการเขียนโครงเรื่องหลัก เริ่มเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครและฉากท้องเรื่อง ตามด้วยเหตุการณ์ที่ดึงความสนใจของผู้อ่านให้เข้าสู่เหตุการณ์ในเรื่อง จากนั้นก็นำเสนอปมของเรื่องและจุดสำคัญสูงสุดของเรื่อง สุดท้ายก็อธิบายการคลี่คลายเรื่องและสิ่งที่ผู้อ่านควรได้จากเรื่องนี้ [7]
    • เช่น คุณอาจจะแนะนำนักกีฬาบาสเกตบอลรุ่นเยาว์ที่กำลังจะลงเล่นในการแข่งขันครั้งสำคัญ เหตุการณ์เปิดเรื่องก็อาจจะเป็นอาการบาดเจ็บของเธอ จากนั้นปมเรื่องก็อาจจะเป็นความพยายามของนักกีฬาบาสเกตบอลที่จะเข้ารับการกายภาพบำบัดให้ครบถ้วนและกลับไปแข่งอีกครั้ง จุดสำคัญสูงสุดของเรื่องก็อาจจะเป็นวันที่มีการแข่งคัดตัวเพื่อเข้าทีม และคุณอาจจะคลี่คลายเรื่องด้วยการให้เธอเห็นชื่อของเธอในรายชื่อผู้เล่นในทีม ซึ่งเป็นจุดที่เธอตระหนักได้ว่า เธอสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคได้
    • คุณอาจใช้หลักสามเหลี่ยมของเฟรย์ทากหรือผังกราฟิกในการวางแผนเรียงความ สามเหลี่ยมของเฟรย์ทากจะเป็นสามเหลี่ยมที่มีเส้นยาวอยู่ด้านซ้ายและเส้นสั้นอยู่ด้านขวา มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยวางแผนต้นเรื่อง (บทเปิดเรื่อง) เหตุการณ์ที่เริ่มเหตุการณ์ในเรื่อง การขมวดปม จุดสำคัญสูงสุดของเรื่อง การแก้ปม และการคลี่คลายเรื่อง
    • คุณสามารถค้นหาแม่แบบสามเหลี่ยมของเฟรย์ทากหรือผังกราฟิกสำหรับการเขียนเรียงความเล่าเรื่องได้ในอินเทอร์เน็ต [8]
  4. เขียนจุดสำคัญสูงสุดของเรื่องอย่างละเอียดหรือคร่าวๆ. จุดสำคัญสูงสุดของเรื่องคือจุดที่เรื่องราวดำเนินมาจนถึงขีดสุด ต้นเรื่องและกลางเรื่องส่วนใหญ่เขียนไว้เพื่อให้เรื่องดำเนินมาถึงจุดนี้ จากนั้นตอนจบก็จะคลี่คลายปมขัดแย้งที่นำมาสู่จุดสูงสุดของเรื่อง [9]
    • ประเภทของปมขัดแย้งที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับตนเอง บางเรื่องก็อาจมีปมขัดแย้งมากกว่า 1 ประเภท
    • ในเรื่องราวของนักกีฬารุ่นเยาว์ที่ได้รับบาดเจ็บ ปมขัดแย้งของเธอก็อาจจะเป็นคนกับตนเอง เพราะเธอต้องข้ามผ่านความเจ็บปวดและข้อจำกัดของตัวเองให้ได้
  5. เลือกมุมมองการเล่าเรื่อง เช่น บุรุษที่ 1 หรือ 3. มุมมองของเรื่องจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่าเรื่อง ถ้าคุณเล่าเรื่องของตัวเอง มุมมองของเรื่องก็จะต้องเป็นบุรุษที่ 1 เสมอ เช่นเดียวกันว่าคุณอาจจะใช้มุมมองบุรุษที่ 1 ถ้าคุณเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวละคร และใช้มุมมองบุรุษที่ 3 ถ้าคุณเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวละครหรือตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณเอง [10]
    • ส่วนใหญ่เรื่องเล่าส่วนบุคคลจะใช้มุมมองบุรุษที่ 1 ว่า “ฉัน” เช่น “ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาฉันอยู่กับคุณตา ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายนอกเหนือจากการตกปลา”
    • ถ้าคุณเล่าเรื่องแต่ง คุณก็อาจจะใช้มุมมองบุรุษที่ 3 ใช้ชื่อตัวละครและสรรพนามที่เหมาะสม เช่น “เขา” หรือ “เธอ” เช่น “มะเหมี่ยวคว้าล็อกเกตขึ้นมาแล้วเปิดดู”
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เขียนบทนำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขึ้นต้นเรียงความด้วยสิ่งที่ดึงดูดใจผู้อ่าน. เปิดเรื่องด้วย 1-2 ประโยคแรกที่ดึงความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งคุณจะต้องเรียบเรียงประโยคที่นำผู้อ่านเข้าสู่หัวข้อและบอกว่าคุณจะเล่าอะไรบ้าง ตัวอย่างเทคนิคดึงดูดใจผู้อ่านก็เช่น : [11]
    • ขึ้นต้นเรียงความด้วยคำถามเชิงวาทศิลป์ เช่น “คุณเคยสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไปไหม”
    • ยกคำพูดอ้างอิงที่เข้ากับเรียงความ คุณอาจจะเขียนว่า “โรซา โกเมซกล่าวว่า “คุณไม่รู้หรอกว่าคุณเข้มแข็งแค่ไหนจนกว่าอุปสรรคจะทำให้คุณแตกสลาย”
    • ใส่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง เช่น “เด็กราว 70% จะเลิกเล่นกีฬาเมื่ออายุ 13 ปี และฉันเองก็เกือบเป็นหนึ่งในนั้น”
    • ใช้เรื่องเล่าสั้นๆ ที่เชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องใหญ่ ในเรียงความเกี่ยวกับการเอาชนะอาการบาดเจ็บ คุณอาจจะเล่าเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเล่นกีฬาก่อนที่จะได้รับบาดเจ็บ
    • ขึ้นต้นด้วยประโยคสุดระทึก คุณอาจจะเขียนว่า “ทันทีที่พวกเขานำตัวฉันขึ้นรถพยาบาล ฉันก็รู้เลยว่าฉันอาจจะไม่ได้กลับไปเล่นกีฬาอีกแล้ว”
  2. คนอ่านต้องเห็นภาพชัดเจนว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับใคร บอกชื่อและบรรยายตัวละครหลักของเรื่องสั้นๆ คุณไม่จำเป็นต้องเล่าทุกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครทั้งหมดในบทนำ แต่คนอ่านควรจะเห็นภาพกว้างๆ ว่าเขาเป็นใคร [12]
    • สมมุติว่าตัวละครหลักคือคุณ คุณก็อาจจะเขียนว่า “ด้วยความที่ฉันเป็นเด็กอายุ 12 ปีรูปร่างสูงโปร่ง ฉันจึงเอาชนะเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในสนามได้ไม่ยาก” วิธีนี้จะทำให้คนอ่านเห็นภาพว่า คุณรูปร่างหน้าตาประมาณไหน รู้ว่าคุณสนใจและมีความสามารถด้านกีฬา
    • ถ้าคุณเล่าเรื่องแต่ง คุณอาจจะแนะนำตัวละครแบบนี้ : “ขณะที่เธอเดินไปยังโพเดียมในการแข่งขันโต้วาทีของโรงเรียน ลลิลรวบรวมความมั่นใจจากลิปบาล์มคริสเตียน ดิออร์ลงมาจนถึงรองเท้าผ้าใบไนกี้มือสองที่เธอซื้อมาจากร้านค้าออนไลน์” วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้คนอ่านเห็นภาพลลิลแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าเธอลงทุนกับเสื้อผ้าหน้าผม และการที่เธอซื้อรองเท้าผ้าใบมือสองก็อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ครอบครัวของเธอไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่เธอแสดงออกมา
  3. ฉากท้องเรื่องได้แก่ช่วงเวลาและสถานที่ในเนื้อเรื่อง ระบุว่าเรื่องราวเกิดขึ้นที่ไหน นอกจากนี้ก็ให้เขียนรายละเอียดทางประสาทสัมผัสลงไปด้วยเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสัมผัสสถานที่นั้นได้จริงๆ [13]
    • คุณอาจจะเขียนว่า “ฉันเรียนอยู่ชั้นม.1 และฉันรู้ว่าฉันต้องเป็นตัวแทนโรงเรียนเท่านั้น โค้ชโรงเรียนมัธยมปลายถึงจะสนใจ”
    • รายละเอียดด้านประสาทสัมผัสจะไปกระตุ้นการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส กลิ่น และรสชาติ เช่น “รองเท้าของฉันดังเอี๊ยดอ๊าดทั่วทั้งสนามขณะที่ฉันเลี้ยงลูกบาสไปที่เส้นประตู ห่วงสีแดงอยู่ใกล้แค่เอื้อม เหงื่อไคลทำให้ลูกบาสที่ปลายนิ้วลื่น รสเค็มของเหงื่อเคลือบริมฝีปากฉัน”
  4. เขียนภาพรวมของเรื่องและแก่นเรื่องไว้ในประโยคสุดท้าย. นอกจากนี้คุณก็อาจจะฉายภาพเหตุการณ์ในเรื่องก่อน แล้วแต่ว่าวิธีไหนเหมาะกับเรื่องเล่าของคุณมากที่สุด ส่วนนี้อาจทำหน้าที่เป็นเหมือนประโยคใจความหลักของเรียงความเล่าเรื่อง เพราะมันบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าจะเจอกับอะไรโดยที่ไม่เผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง [14]
    • เช่น คุณอาจจะเขียนว่า “ฉันไม่เคยคิดเลยว่าการเดิมข้ามสนามครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายของฉันในฤดูกาล แต่การฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บสอนฉันว่า ฉันเป็นคนเข้มแข็งและสามารถเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันตั้งใจจะทำได้”
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เรียงความเล่าเรื่องจะเป็นการเล่าเรื่องเสมอ เพราะฉะนั้นเรียงความของคุณต้องมีพล็อตเรื่องที่ชัดเจน
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าหยิบยืมความคิดของคนอื่นมาเขียนเนื้อเรื่องของตัวเองหรือคัดลอกงานเขียนของคนอื่น เพราะถือเป็นการขโมยความคิดผู้อื่นและอาจถูกลงโทษทางวิชาการอย่างร้ายแรง เช่น ไม่ได้หน่วยกิตในวิชานั้น
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,672 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา