ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การทำบัญชี ซึ่งก็คือการบันทึกธุรกรรมทางการเงินอย่างละเอียด เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจใหญ่มักจะมีแผนกบัญชีที่ค่อนข้างใหญ่และมีพนักงานหลายคน (รวมถึงการทำงานร่วมกับบริษัทตรวจสอบบัญชีต่างหาก) แต่ธุรกิจเล็กๆ อาจจะจ้างสมุห์บัญชีแค่คนเดียว ในธุรกิจที่ทำคนเดียว เจ้าของธุรกิจอาจจะต้องจัดการบัญชีเองโดยที่ไม่มีสมุห์บัญชีคอยช่วย แต่ไม่ว่าคุณจะกำลังจัดการการเงินของตัวเองหรือสนใจหางานตำแหน่งพนักงานบัญชีในธุรกิจของคนอื่น การเรียนรู้การทำบัญชีขั้นพื้นฐานจะช่วยให้คุณเริ่มต้นงานสายนี้ได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

พัฒนาทักษะการทำบัญชีให้ดียิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจความต่างระหว่างการลงบัญชีกับการทำบัญชี. การลงบัญชีและการทำบัญชีเป็นคำที่มักใช้แทนกันบ่อยครั้ง แต่ทักษะและความรับผิดชอบที่ต้องใช้ในแต่ละงานนั้นค่อนข้างจะต่างกัน โดยทั่วไปสมุห์บัญชีจะมีหน้าที่บันทึกการขายและบันทึกลงในสมุดโดยตรง พวกเขาจะทำงานวันต่อวันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจดบันทึกเงินแต่ละบาทที่บริษัทได้มาและจ่ายไป แต่นักบัญชีจะจัดทำและวิเคราะห์งบการเงิน และยังตรวจสอบสมุดบัญชีเพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องและมีการรายงานที่เหมาะสมด้วย
    • สมุห์บัญชีกับนักบัญชีอาจจะทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการแก่ธุรกิจอย่างครบวงจร
    • ในหลายกรณี ความแตกต่างระหว่างสองตำแหน่งนี้อาจดูที่วุฒิการศึกษา ประกาศนียบัตร หรือแล้วแต่บริษัทจะกำหนด [1]
  2. หัด ใช้ Spreadsheet ให้คล่อง. Microsoft Excel หรือซอฟต์แวร์ Spreadsheet มีประโยชน์กับนักบัญชีเป็นอย่างมาก เพราะมันช่วยให้เขาสามารถติดตามตัวเลขในแผนภูมิหรือคำนวณเพื่อสร้าง Spreadsheet การเงินได้ แม้ว่าคุณจะมีความรู้เรื่อง การบัญชีขั้นต้น อยู่แล้ว คุณก็สามารถปัดฝุ่นความรู้และเรียน การบัญชีขั้นกลาง หรือทักษะ การบัญชีขั้นสูง ได้เสมอเพื่อเรียนรู้การทำ Spreadsheet แผนภูมิ และกราฟ
  3. ไปที่ห้องสมุดประชาชนเพื่อหาหนังสือเกี่ยวกับการบัญชี หรือซื้อตามคำแนะนำของพนักงานร้านหนังสือที่คุณชอบ มองหาหนังสือการบัญชีขั้นต้นที่เขียนโดยนักเขียนที่มีประสบการณ์ด้านการบัญชี เพราะหนังสือเหล่านี้มักจะมีข้อมูลที่ผ่านการค้นคว้ามาแล้ว
    • หลักการบัญชีเบื้องต้น โดย นิตยา งามแดน หนังสือเล่มนี้ใช้เป็นตำราวิชาการ ประกอบการเรียนการสอนในวิชาหลักการบัญชีเบื้องต้น ตามหลักสูตรสำหรับนิสิตปริญญาตรี สาขาการบัญชีบริหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจหลักการพื้นฐานของการรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ โดยเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่แนวคิดทางการบัญชี รูปแบบและวิธีการนำเสนองบการเงิน รวมทั้งวิธีการบันทึกบัญชีสำหรับธุรกิจต่างๆ ตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพบัญชี [2]
    • การบัญชีขั้นต้น ฉบับอ่านเข้าใจง่าย โดย อำนาจ รัตนสุวรรณ และคณะ หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 9 บท ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชี งบการเงิน การบันทึกรายการค้าในบัญชี รายการปรับปรุงและการจัดทำงบการเงิน วงจรการบัญชี การบัญชีสำหรับกิจการที่ซื้อขายสินค้า การบัญชีสำหรับกิจการที่ผลิตสินค้า ระบบบัญชี ระบบสารสนเทศทางการบัญชี
    • สร้างและวิเคราะห์งบการเงิน ด้วย Excel ฉบับมืออาชีพ โดย ชนาภา หันจางสิทธิ์ หนังสือเล่มนี้แนะนำเกี่ยวกับการใช้สูตร ฟังก์ชันใน Excel และเทคนิคการจัดการกับข้อมูล วิเคราะห์งบการเงิน งบกำไรขาดทุน งบดุล วิเคราะห์เงินทุนหมุนเวียน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินและอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานความรู้ในการทำธุรกิจ และลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีตัวอย่างและกรณีศึกษาประกอบในแต่ละบท เข้าใจง่าย นำไปใช้ได้ทันที
  4. คุณสามารถลงเรียนวิชาบัญชีได้ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้านหากมีการเปิดหลักสูตรอบรมให้บุคคลภายนอก หรือคุณอาจจะเรียนคอร์สออนไลน์ได้ฟรีโดยติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook ของ SPACE by Chulalongkorn Business School ลงเรียนคอร์สออนไลน์แบบมีค่าใช้จ่ายกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [1] หรือลงเรียนในรูปแบบออนไลน์อื่นๆ เพื่อหาคอร์สเรียนฟรีที่สอนโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาบัญชี
    • แต่เมื่อเรียนจบคอร์สแล้วก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะเป็นนักบัญชีที่เก่งเสมอไป
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

ฝึกทำบัญชีขั้นพื้นฐาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. นักบัญชีอาจทำบัญชีสองด้านหรือมากกว่าสำหรับแต่ละธุรกรรมที่บริษัทบันทึกไว้ ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของบัญชีใดบัญชีหนึ่งหรือมากกว่า และเป็นการลดลงในจำนวนเท่ากันในอีกหนึ่งบัญชีหรือมากกว่า เช่น เงินที่จ่ายค่าสินค้าด้วยเครดิตก่อนหน้านี้จะทำให้เกิดการเพิ่มในบัญชีเงินสดและเกิดการลดในลูกหนี้การค้า (เงินที่ลูกค้าติดค้างกับบริษัทเนื่องจากซื้อสินค้าผ่านเครดิตแต่ยังไม่ได้จ่าย) ซึ่งบัญชีแต่ละด้านจะมีปริมาณเท่ากัน (ปริมาณของการขาย) [3]
  2. เมื่อมีการทำบัญชีคู่ ก็จะเป็นการบันทึกในรูปแบบของเดบิตและเครดิต ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าบัญชีนั้นๆ เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการทำธุรกรรม การใช้ทั้งสองอย่างนี้จะค่อนข้างง่ายหากคุณจำสองสิ่งนี้ได้
    • เดบิตจะเป็นการบันทึกที่อยู่ทางด้านซ้ายของบัญชีตัว T และเครดิตจะบันทึกอยู่ด้านขวา ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกบัญชีตัว T แบบมาตรฐานที่เป็นการบันทึกธุรกรรมตรงด้านใดด้านหนึ่งของแนวตั้งตัว "T"
    • สินทรัพย์=หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ นี่เป็นสมการบัญชี จำสิ่งนี้ให้ขึ้นใจ เพราะมันทำหน้าที่เป็นเหมือนแนวทางที่ช่วยแยกระหว่างเดบิตกับเครดิต ด้านซ้ายของ "=" เดบิตจะเพิ่มยอดและเครดิตจะลดยอด ส่วนด้านขวาจะตรงกันข้าม
    • หมายความว่าเมื่อบัญชีสินทรัพย์ เช่น เงินสด ถูกหัก บัญชีสินทรัพย์ก็จะเพิ่มขึ้น แต่บัญชีหนี้สิน เช่น เจ้าหนี้การค้า ถูกหักลบ บัญชีหนี้สินก็จะลดลง [4]
    • ฝึกคำนวณโดยการหาว่าคุณจะบันทึกธุรกรรมทั่วไปต่างๆ อย่างไร เช่น การจ่ายค่าไฟหรือการรับเงินสดจากลูกค้า
  3. บัญชีคู่จะบันทึกอยู่ในบัญชีแยกประเภททั่วไป การบันทึกแต่ละรายการ (เดบิตและเครดิตต่างๆ ในธุรกรรม) ก็จะลงในบัญชีที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในสมุดบัญชีแยกประเภท เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการชำระเงินสด ก็จะต้องบันทึกลงในบัญชีเงินสดและในอีกบัญชีหนึ่งที่แยกจากช่องที่อยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายค้างจ่าย วิธีนี้จะง่ายมากหากคุณใช้โปรแกรมบัญชีช่วย แต่ก็สามารถลงบันทึกด้วยมือได้ค่อนข้างง่ายเช่นกัน [5]
  4. รายการเงินสดเป็นการค้าประเภทที่เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าซื้อหมากฝรั่ง 1 ห่อจากร้านค้าแล้วคุณได้รับเงินค่าสินค้าโดยทันที และให้หมากฝรั่งเป็นการแลกเปลี่ยน ในขณะที่รายการคงค้างให้มองว่าเป็นเครดิต ใบแจ้งหนี้ และบิล แทนที่จะมองว่าเป็นการชำระเงินโดยตรงทันทีที่มีการค้าขาย เช่นเดียวกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อย่างค่าความนิยม [6]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

รู้จักงบการเงิน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. งบการเงินสะท้อนสถานะทางการเงินในปัจจุบันของธุรกิจและการดำเนินงานด้านการเงินในรอบงวดบัญชีสุดท้าย งบการเงินใช้ข้อมูลที่อยู่ในสมุดบัญชีแยกประเภททั่วไป ในช่วงท้ายของงวดบัญชี แต่ละบัญชีจะถูกนำมารวมกันเพื่อทำงบทดลอง เดบิตและเครดิตทั้งหมดในบัญชีจะต้องเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากัน นักบัญชีจะต้องกลับไปตรวจสอบยอดดุลของแต่ละบัญชีอีกครั้งและปรับแก้หรือแก้ไขหากจำเป็น
    • เมื่อมีการปรับแก้บัญชีจนถูกต้องแล้ว นักบัญชีจึงจะสามารถเขียนสรุปข้อมูลลงในช่องที่อยู่ในบัญชีเพื่อนำไปใส่ในงบการเงินได้ [7]
    • ระหว่างศึกษางบการเงิน พยายามสร้างงบการเงินเองให้ได้และต้องบอกได้ว่า ตัวเลขทั้งหมดที่อยู่ในงบการเงินนั้นๆ หมายถึงอะไร
  2. งบกำไรขาดทุนเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดของการทำบัญชี ซึ่งจะบันทึกอัตราส่วนกำไรของบริษัทในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 1 ปี งบกำไรขาดทุนจะถูกกำหนดด้วย 2 ปัจจัยคือ รายได้ของบริษัทและค่าใช้จ่ายของบริษัท [8]
    • รายได้คือกระแสเงินสดเข้าที่แลกกับสินค้าและบริการที่บริษัทได้ตลอดช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเงินที่บริษัทได้รับจริงๆ ตลอดช่วงระยะเวลานั้นก็ได้ รายได้อาจรวมทั้งการค้าเงินสดกับเงินคงค้าง ถ้าเงินคงค้างรวมอยู่ในงบกำไรขาดทุนด้วย รายได้ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนนั้นๆ ก็จะต้องรวมใบแจ้งหนี้และบิลที่ส่งไปยังลูกค้าในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เงินจำนวนนั้นจนกว่าจะถึงช่วงงบกำไรขาดทุนงวดถัดไปก็ตาม ดังนั้นงบกำไรขาดทุนจึงมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรในช่วงเวลาที่บันทึกไว้มากน้อยแค่ไหน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจำนวนเงินที่บริษัทหาได้ในช่วงเวลานั้นๆ เสมอไป [9]
    • ค่าใช้จ่ายคือการใช้เงินของบริษัท ไม่ว่าจะเนื่องจากค่าวัสดุและวัตถุดิบต่างๆ หรือค่าแรง/ค่าจ้าง เช่นเดียวกับรายได้ ค่าใช้จ่ายจะรายงานตามช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตอนที่บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายนั้นจริงๆ [10]
    • หลักการจับคู่ค่าใช้จ่ายกับรายได้ในการทำบัญชีคือ บริษัทต้องจับคู่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและรายได้เข้าด้วยกันเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำได้เพื่อให้ได้ความสามารถในการทำกำไรในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จการจับคู่ควรจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นความสัมพันธ์แบบเหตุและผลไม่มากก็น้อย เช่นยอดขายที่เพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มรายได้ของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจด้วย เช่น ความจำเป็นในการซื้อวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเพื่อสำรองไว้ใช้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับค่าคอมมิชชันถ้ามี [11]
  3. ไม่เหมือนกับงบกำไรขาดทุนที่จะคำนวณในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยหลักแล้วงบดุลอาจมองว่าเป็นเหมือนการแสดงภาพของธุรกิจ ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่วงเวลานั้นๆ [12] งบดุลประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ สินทรัพย์ของธุรกิจ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือผลประโยชน์ร่วมหรือส่วนของเจ้าของในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง [13] หากมองสมการยอดดุลในแง่ของสินทรัพย์ของบริษัทที่มีค่าเท่ากับหนี้สินของบริษัทบวกกับส่วนของเจ้าของ/ส่วนของผู้ถือผลประโยชน์ร่วมก็อาจจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น พูดอีกอย่างก็คือสิ่งที่คุณมีจะถูกกำหนดโดยจำนวนที่คุณเป็นหนี้บวกด้วยสิ่งที่คุณกำลังถืออยู่ในตอนนี้ [14]
    • สินทรัพย์คือสิ่งที่บริษัทครอบครอง มันอาจจะง่ายขึ้นหากมองว่าสินทรัพย์เป็นทรัพยากรทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ที่ตัว ได้แก่ พาหนะ เงินสด วัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่บริษัทครอบครองอยู่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง [15] สินทรัพย์อาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ (โรงงาน อุปกรณ์) และจับต้องไม่ได้ (สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยม)
    • หนี้สินคือจำนวนใดๆ ก็ตามที่บริษัทเป็นหนี้ผู้อื่นอยู่ในช่วงเวลาที่มีการจัดทำงบดุล หนี้สินอาจรวมทั้งเงินกู้ที่ต้องจ่ายคืน เงินที่ติดหนี้การซื้อวัตถุดิบที่จ่ายด้วยเครดิต และค่าจ้างที่ติดหนี้พนักงานที่ยังไม่ได้จ่าย [16]
    • ทุนคือค่าความต่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน ทุนบางครั้งอาจมองว่าเป็น "มูลค่าตามบัญชี" ของบริษัทหรือธุรกิจ [17] ถ้าบริษัทเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทุนก็อาจจะเป็นของผู้ถือผลประโยชน์ร่วม แต่ถ้าบริษัทเป็นของคนๆ เดียว ทุนก็คือส่วนของเจ้าของ [18]
  4. โดยสาระสำคัญแล้ว งบกระแสเงินสดจะระบุว่าบริษัทหาเงินสดได้เท่าไหร่และใช้ไปเท่าไหร่ รวมถึงการลงทุนและกิจกรรมด้านการเงินของบริษัทด้วยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งด้วย งบกระแสเงินสดส่วนใหญ่จะมาจากงบดุลของบริษัทและงบกำไรขาดทุนในช่วงเวลาเดียวกัน [19]
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

เรียนรู้หลักการทำบัญชี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลักการพื้นฐานที่แนะแนวทางการทำบัญชีจะอยู่บนพื้นฐานของข้อปฏิบัติการและหลักการที่ออกแบบมาเพื่อรับรองความโปร่งใสและความซื่อตรงของการดำเนินการธุรกิจทั้งหมด
    • หลักความเป็นหน่วยงานคือข้อกำหนดที่ว่า นักบัญชีที่ทำงานให้กับกิจการเจ้าของคนเดียว (ธุรกิจที่มีคนๆ เดียวเป็นเจ้าของ) จะต้องลงบัญชีแยกประเภทสำหรับการธุรกรรมทางธุรกิจที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายหรือธุรกรรมส่วนตัวของเจ้าของ [20]
    • หลักการใช้หน่วยเงินตราคือข้อตกลงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกวัดด้วยมาตราเงินบาท ดังนั้นก็จะมีแต่กิจกรรมที่มีการแปรค่าเงินเป็นค่าเงินบาทเท่านั้นที่จะถูกบันทึก [21]
    • หลักงวดเวลาคือข้อตกลงที่ว่า ธุรกรรมทางธุรกิจทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในงวดเวลาใดเวลาหนึ่ง และจะมีการบันทึกงวดเวลาเหล่านั้นอย่างถูกต้อง โดยที่ช่วงเวลาเหล่านี้มักจะค่อนข้างสั้น เช่น อย่างน้อยที่สุดก็ตอนที่มีการทำรายงานประจำปี แม้ว่าหลายบริษัทมักจะจัดทำรายงานเป็นรายสัปดาห์มากกว่าก็ตาม และในรายงานก็ต้องระบุด้วยว่างวดเวลานั้นเริ่มและสิ้นสุดตอนไหน พูดอีกอย่างก็คือ แค่ใส่วันที่ลงไปในรายงานนั้นไม่เพียงพอ นักบัญชีต้องชี้แจงในรายงานด้วยว่ารายงานนี้เป็นการบันทึกในช่วง 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ไตรมาส หรือ 1 ปี [22]
    • หลักราคาทุนหมายถึง จำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปในช่วงเวลาของธุรกรรมโดยไม่คำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อร่วมด้วย [23]
    • หลักการเปิดเผยข้อมูลกำหนดให้นักบัญชีต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องให้กับฝ่ายที่ถือผลประโยชน์ร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนและผู้ให้กู้ ข้อมูลนี้ต้องปรากฏในเนื้อหาของงบการเงิน หรือในหมายเหตุตอนท้ายก็ได้ [24]
    • หลักการดำรงอยู่สันนิษฐานว่าบริษัทจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตที่คาดการณ์ได้ และกำหนดให้นักบัญชีต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอนาคตที่ไม่แน่ชัดหรือการล้มเหลวที่แน่นอนของบริษัท พูดอีกอย่างก็คือถ้านักบัญชีเชื่อว่าบริษัทจะล้มละลายภายในช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ในอนาคต เขามีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนและฝ่ายถือผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ ทราบ [25]
    • หลักการจับคู่รายได้และค่าใช้จ่ายระบุว่า จะต้องมีการจับคู่ค่าใช้จ่ายกับรายได้ในรายงานการเงินทุกฉบับ [26]
    • หลักการเกิดขึ้นของรายได้คือข้อตกลงที่ว่า รายได้จะถูกบันทึกในตอนที่ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่เมื่อมีการจ่ายเงินให้ธุรกิจ [27]
    • สาระสำคัญคือแนวทางที่ให้อำนาจแก่นักบัญชีในระดับหนึ่ง คือให้นักบัญชีใช้ดุลพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อพิจารณาว่าเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งสำคัญมากพอที่จะต้องลงรายงานหรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความนักบัญชีจะรายงานไม่ถูกต้องก็ได้ แต่เป็นการให้อำนาจแก่นักบัญชี เช่น ในการปัดค่าเงินบาทเป็นเลขกลมๆ ที่ใกล้เคียงที่สุดในงบการเงินของธุรกิจ [28]
    • หลักความระมัดระวังคือหลักการที่แนะนำว่า นักบัญชีอาจรายงานความเสียหายแก่ธุรกิจ (อันที่จริงมันก็เป็นหน้าที่ที่นักบัญชีจะต้องรายงานความเสียหายดังกล่าวอยู่แล้ว) แต่เขาอาจจะไม่ต้องรายงานกำไรที่อาจเป็นไปได้ว่าเป็นกำไรแท้จริง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้นักลงทุนมีภาพสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทที่ไม่ถูกต้อง [29]
  2. ปฏิบัติตามกฎและมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย. มาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (TFRS) ได้ออกกฎและมาตรฐานที่ครอบคลุมเพื่อวัตถุประสงค์สูงสุดคือเพื่อให้ฝ่ายที่ถือผลประโยชน์ร่วมได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้และถูกต้อง และนักบัญชีก็ปฏิบัติงานตามหลักจริยธรรมและรายงานอย่างซื่อตรง คำอธิบายกรอบแนวคิดโดยละเอียดของ TFRS สามารถเข้าดูเพิ่มเติมได้ที่ ในเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี
  3. มาตรฐานนี้เป็นความคาดหวังที่นักบัญชีมีต่อนักบัญชีคนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยแนะแนวทางอุตสาหกรรม มาตรฐานเหล่านี้ได้แก่
    • หลักการเที่ยงตรง ตรวจสอบได้ และตรงตามความเป็นจริงกำหนดให้นักบัญชีต้องรายงานตัวเลขในแบบที่นักบัญชีคนอื่นๆ ย่อมเห็นพ้องด้วย ซึ่งเป็นทั้งจรรยาบรรณของนักบัญชีและเพื่อให้แน่ใจว่าธุรกรรมในอนาคตจะยุติธรรมและซื่อตรง [30]
    • ความสม่ำเสมอกำหนดให้นักบัญชีมีความสม่ำเสมอในการใช้หลักปฏิบัติและการดำเนินการต่างๆ ในงบการเงิน เช่น ถ้าบริษัทเปลี่ยนข้อสมมุติฐานกระแสเงินสด นักบัญชีของบริษัทก็จะต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย [31]
    • หลักการเปรียบเทียบได้กำหนดให้นักบัญชีจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง เช่น หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป (GAAP) เพื่อให้แน่ใจว่ารายงานการเงินของบริษัทหนึ่งจะต้องเปรียบเทียบกับรายงานการเงินของอีกบริษัทหนึ่งได้โดยง่าย [32]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • รู้ไว้ว่าการจะได้เป็น CPA (ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต) นั้น คุณจะต้องผ่านการศึกษาขั้นสูงในระดับมหาวิทยาลัยสาขาบัญชีและผ่านการเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และคุณก็จะต้องสอบ CPA และสอบจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพให้ผ่านด้วย [33]
โฆษณา
  1. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/2
  2. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/2
  3. https://www.sba.gov/sites/default/files/Introduction%20to%20Accounting_Transcript_0.pdf
  4. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/3
  5. https://www.sba.gov/sites/default/files/Introduction%20to%20Accounting_Transcript_0.pdf
  6. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/3
  7. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/4
  8. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/4
  9. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/4
  10. http://www.accountingcoach.com/accounting-basics/explanation/5
  11. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  12. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  13. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  14. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  15. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  16. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  17. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  18. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  19. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  20. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation
  21. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation/2
  22. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation/2
  23. http://www.accountingcoach.com/accounting-principles/explanation/2
  24. http://www.calcpa.org/cpa-career-center/cpa-requirements

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 52,458 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา