PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

คุณอยากรู้หรือเปล่าว่าตัวเองจะเรียนภาษาอื่นได้เร็วมากแค่ไหน หากคุณไม่ได้ลงเรียนคอร์สแพงๆ หรือลงทุนซื้อซอฟต์แวร์เรียนภาษามาใช้? แน่นอนว่าคงไม่มีความลับหรือทางลัดใดแน่ๆ เพราะสิ่งสำคัญที่คุณต้องทำก็คือ ทุ่มเทกับภาษานั้น หมั่นเรียนรู้ฝึกฝน และไม่กลัวว่าตัวเองจะสร้างข้อผิดพลาด ฉะนั้น ให้คุณเริ่มทำตามตั้งแต่วิธีการที่ 1 ที่อยู่ด้านล่างนี้เลย คุณจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ทำตัวเองให้ซึมซับกับภาษานั้น

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เห็นได้ชัดว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ก็คือการพูดมันออกมานั่นเอง ซึ่งเรามักจะเห็นกันว่าคนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลามากมายหมดไปกับการเรียนหลักไวยากรณ์ และท่องจำคำศัพท์เป็นร้อยๆ คำ แทนที่จะออกไปข้างนอกแล้วนำสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง เพราะจริงๆ แล้ว การพูดคุยกับคนจริงๆ จะช่วยทำให้คุณมีแรงกระตุ้นในการเรียนรู้ภาษานั้นมากขึ้น ซึ่งมากกว่าที่คุณจะได้จากการนั่งจ้องอยู่กับหน้าหนังสือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
    • พยายามหาเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่พูดภาษาเดียวกับที่คุณต้องการจะเรียนรู้ และเต็มใจที่จะสละเวลาเล็กน้อยมาช่วยฝึกภาษาให้คุณ หรือไม่คุณก็อาจจะลองลงประกาศในฟอรั่มหรือหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในท้องถิ่นเพื่อหาใครสักคนที่จะมาเป็นติวเตอร์ให้กับคุณ หรือพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนภาษากับคุณได้
    • หากคุณไม่สามารถหาใครใกล้ๆ ตัวที่พูดภาษานั้นได้เลย ให้ลองติดต่อกับใครสักคนผ่านทาง Skype ก็ได้ เพราะว่าก็คงมีหลายคนในต่างประเทศที่เต็มใจจะสละเวลาครึ่งชั่วโมงของตัวเองมาฝึกพูดในภาษาไทยแทนการพูดในภาษาแม่ของพวกเขาอยู่แล้วล่ะ นอกจากนี้ Hellotalk ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าใช้เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนภาษากัน
  2. คนส่วนใหญ่ชอบบ่นกันว่าตัวเองเรียนภาษามา “5ปีแล้ว” แต่ก็ยังสื่อสารได้ไม่คล่องสักที หารู้ไม่ ว่าที่พวกเขาอ้างว่าเรียนมา 5 ปีนั้น บางทีอาจจะหมายถึงการที่พวกเขาใช้เวลาเรียนภาษาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้ ฉะนั้น เรามาทำให้สิ่งนี้ชัดเจนกันดีกว่า หากคุณอยากจะเรียนภาษาใหม่ให้ได้เร็วๆ ซึ่งอาจจะหมายถึง ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์หรือไม่กี่เดือน คุณก็จะต้องทุ่มเทไปกับการเรียนภาษานั้นให้ได้สัก 2-3 ชั่วโมงในทุกๆ วัน
    • การเรียนรู้ภาษานั้นขึ้นอยู่กับการทบทวนซ้ำๆ ซึ่งก็หมายถึงการซึมซับบางสิ่งบางอย่างเข้าไปในสมองซ้ำหลายๆ รอบจนกว่าคุณจะจดจำมันได้ หากคุณเว้นช่วงนานเกินไป แนวโน้มที่คุณจะลืมในสิ่งที่ตัวเองเรียนไว้ในครั้งล่าสุดก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย และนั่นก็จะทำให้คุณเสียเวลาที่มีค่าของตัวเองไปกับการย้อนกลับไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองเคยเรียนมาแล้ว
    • ฉะนั้น คุณสามารถจัดการกับเวลาที่คุณอาจจะเสียไปได้ ด้วยการเรียนรู้ให้ได้ทุกวัน จำไว้ว่า สำหรับการเรียนภาษานั้น ไม่มีคำว่าทางลัดหรือปาฏิหาริย์อย่างแน่นอน คุณแค่ต้องทุ่มเทไปกับมันก็แค่นั้นเอง
  3. การพกดิกชันนารีเอาไว้จะช่วยประหยัดเวลาและอำนวยความสะดวกให้คุณได้เยอะ ฉะนั้น ให้คุณลงทุนซื้อเอาไว้ให้เร็วที่สุดเลย!
    • อาจจะเป็นดิกชันนารีที่เป็นเล่มๆ หรือแอปพลิเคชั่นในมือถือก็ได้ ขอแค่เป็นอะไรก็ได้ที่จะทำให้คุณสามารถเปิดดูได้ทันทีที่คุณต้องการคำศัพท์คำใหม่
    • การพกดิกชันนารีไว้กับตัวจะช่วยให้คุณหาคำศัพท์ที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็วทันใจ และนี่จะเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณกำลังสนทนากับเจ้าของภาษานั้น และไม่อยากจะทำลายความลื่นไหลของบทสนทนาด้วยการที่ตัวเองไม่รู้ในคำศัพท์บางคำ นอกจากนี้ การค้นหาคำศัพท์และพยายามใช้คำๆ นั้นในประโยคที่ตัวเองพูดในทันที ยังจะช่วยทำให้คุณจดจำคำนั้นได้ดีอีกด้วย
    • คุณสามารถเปิดดิกชันนารีดูในช่วงไหนของวันก็ได้ อาจจะเป็นช่วงที่คุณกำลังต่อแถวในร้านสะดวกซื้อ หรือเวลาที่คุณพักดื่มกาแฟในช่วงที่ทำงาน หรืออาจจะเป็นช่วงที่คุณนั่งรถอยู่ในการจราจรที่ติดขัดก็ได้ วิธีนี้น่าจะทำให้คุณได้รู้คำศัพท์ใหม่ๆ ในแต่ละวันได้มากกว่า 20 หรือ 30 คำเลยล่ะ!
  4. การซึมซับตัวเองกับภาษาที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่ก็เหมือนกับการที่คุณใช้ภาษาแม่ของตัวเองทำกิจวัตรต่างๆ ในแบบปกติที่คุณเคยทำนั่นแหละ แต่ว่าคราวนี้ให้เปลี่ยนไปใช้ภาษาใหม่ที่คุณเลือกเรียนแทน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการอ่าน การเขียน หรือการฟัง
    • สิ่งที่ง่ายที่สุดที่คุณน่าจะทำได้ก็คือ การดูรายการทีวีหรือดูหนังในภาษาที่คุณต้องการจะเรียนรู้ โดยให้พยายามดูแบบไม่เปิดซับไตเติ้ล เพราะถ้าคุณเปิด นั่นอาจจะทำให้คุณพึ่งพาอยู่แต่กับซับไตเติ้ลก็ได้ ซึ่งถ้าหากคุณอยากจะดูอะไรเข้าใจง่าย ก็ให้คุณลองดูทีวีโชว์หรือดูหนังที่คุณพอจะรู้เค้าโครงเรื่องอยู่แล้ว เช่น การ์ตูนสำหรับเด็กหรือหนังฝรั่งที่คุณเคยดูก็ได้ แต่ว่าให้คุณดูแบบเวอร์ชั่นพากย์เสียงในภาษาที่คุณกำลังเรียนอยู่ การที่คุณรู้เค้าโครงของเรื่องจะช่วยทำให้คุณแปลความหมายของคำหรือวลีต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
    • คุณควรจะพยายามอ่านและเขียนในภาษาใหม่ของคุณด้วย โดยให้คุณหาหนังสือพิมพ์หรือนิตยาสารมาและอ่านให้ได้ 1 บทความต่อวัน หากมีคำศัพท์ไหนที่คุณไม่รู้จัก ให้คุณเปิดหาในดิกชันนารี นอกจากนี้ คุณควรจะลองเขียนอะไรง่ายๆ ในภาษาใหม่ที่คุณกำลังเรียนด้วย เช่น ลองเขียนโปสการ์ดแบบหลอกๆ หรือเขียนลิสต์รายการสิ่งของที่ตัวเองจะต้องซื้อ
    • ดาวน์โหลด podcast หรือเปิดวิทยุที่เป็นภาษาที่คุณกำลังเรียนอยู่ เพราะนี่จะเป็นวิธีดีๆ ที่จะทำให้คุณซึมซับกับภาษานั้นได้ถึงแม้ว่าคุณจะกำลังยุ่งอยู่กับการทำกิจวัตรอื่นๆ อยู่ก็ตาม และนี่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณได้ฝึกฟังจับใจความเท่านั้น แต่ว่ายังช่วยให้คุณได้ฟังการออกเสียงที่ถูกต้องของคำและวลีต่างๆ ด้วย
    • เปลี่ยนการตั้งค่าภาษาในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่คุณมี เพื่อที่คุณจะได้รู้จักคำที่คุณรู้ในภาษาไทยอยู่ แต่ว่ายังไม่รู้ในภาษาที่คุณกำลังเรียนได้
    • ฟังเพลงที่เป็นภาษานั้น พยายามเรียนรู้จากเนื้อเพลง แล้วให้ดูว่าความหมายของเพลงนั้นสื่อถึงอะไร ด้วยวิธีนี้ ถ้าเกิดว่าคุณฟังเพลงนั้นซ้ำอีกครั้ง คุณก็จะสามารถบอกได้ว่าในเนื้อเพลงนั้นต้องการจะสื่อถึงอะไร
  5. คุณจะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาของตัวเองได้อย่างแน่นอน หากคุณได้ไปและใช้เวลาบางส่วนในประเทศที่พูดภาษานั้น
    • พยายามผลักดันให้ตัวเองมีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่คุณถามทาง หรือตอนที่คุณกำลังกรอกใบทำรายการในร้านค้า หรือว่าจะพูดทักทายเฉยๆ ก็ได้ วิธีนี้จะทำให้คุณได้เห็นคุณค่าในตัวของภาษาและได้รับการชื่นชมจากความพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาจากตัวเจ้าของภาษาเอง
    • ไม่สำคัญว่าทักษะการพูดขั้นพื้นฐานของคุณจะเป็นอย่างไร ขอแค่คุณพยายามพูดออกมาให้ได้มากที่สุดก็พอ แล้วคุณจะรับรู้ได้ถึงพัฒนาการของตัวเอง ทั้งในด้านการใช้คำศัพท์ ไวยากรณ์ และการออกเสียง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

โฟกัสกับสิ่งที่สำคัญที่สุด

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรียนรู้คำทักทายสักสองสามคำในภาษานั้นก่อนที่จะเริ่มต้นเรียนรู้ตัวอักษร. ด้วยวิธีนี้ เวลาที่คุณจะเริ่มเรียนรู้ตัวอักษรในภาษานั้น คุณจะได้มีคำศัพท์พื้นฐานติดตัวเอาไว้บ้าง ตัวอย่างเช่น สวัสดี ลาก่อน คุณเป็นอย่างไรบ้าง? คุณชื่ออะไร? ฉันชื่อ____ รวมถึงคำอื่นๆ อีก
  2. เรียนรู้ชุดตัวอักษรของภาษาที่คุณกำลังเรียนอยู่ ถ้าเกิดว่าจำเป็น. การเรียนรู้ชุดตัวอักษรของภาษานั้นจะทำให้การเรียนภาษาของคุณง่ายขึ้นกว่าเดิม และคุณก็จะสามารถอ่านและออกเสียงคำต่างๆ ได้อย่างถูกต้องด้วย ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คุณจดจำคำพวกนั้นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ แทนที่คุณจะมัวมองหาแต่การถอดคำด้วยอักษรโรมันหรืออักษรไทย คุณควรจะฝึกอ่านออกเสียงคำเหล่านั้นให้ได้จริงๆ ด้วย
  3. การเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานนั้นอาจเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้ในเวลาที่ตัวเองกำลังเรียนรู้ภาษาใหม่ และถึงแม้ว่าคุณจะเข้าใจได้ไม่หมดทั้งประโยค แต่ความสามารถในการเลือกคีย์เวิร์ดจะช่วยทำให้คุณเข้าใจความหมายรวมๆ ของคำพูดหรือข้อความนั้นได้
    • ให้คุณเน้นไปที่คำศัพท์ 100 คำที่ใช้กันในทั่วไป เพราะการรวมรวมคำศัพท์ที่ใช้กันมากที่สุดในภาษานั้นมา 100 คำ ถือว่าเป็นวิธีการเริ่มต้นที่ชาญฉลาด ซึ่งจากจุดนั้น คุณสามารถเพิ่มไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 1,000 คำได้ ซึ่งจริงๆ ก็ได้มีการประเมินมาแล้วด้วยว่าการที่เราเรียนรู้คำศัพท์ทั่วไป 1000 คำในภาษาใดภาษาหนึ่งได้ นั่นจะช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจได้มากถึง 70% ของข้อความต่างๆ ที่ตัวเองเจอเชียวล่ะ
    • ให้เน้นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณมากที่สุด เช่น ถ้าคุณเรียนภาษาเพราะเหตุผลด้านธุรกิจ ก็ให้คุณเน้นที่คำศัพท์ทางธุรกิจ อย่ามัวไปเสียเวลาเรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวกับสายพันธุ์ปลา (ยกเว้นว่าถ้าคุณกำลังจะเดินทางไปดำน้ำดูปะการัง คุณอาจจะต้องจำคำศัพท์เหล่านั้นจริงๆ ก็ได้!)
    • นอกจากนี้ คุณควรจะเรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณโดยเฉพาะเอาไว้ด้วย เพื่อที่คุณจะได้สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและประวัติของตัวคุณให้กับผู้คนที่คุณพบเจอได้
  4. ให้เริ่มต้นจากการนับ 1-10 เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการจดจำในช่วงแรกๆ ของการเรียนรู้ โดยในแต่ละวัน ให้คุณนับเพิ่มขึ้นไปทีละ 10 จำนวน และทำให้ได้ทุกวันจนกว่าคุณจะพอใจกับจำนวนสูงสุดที่ตัวเองสามารถนับได้ หรือถ้าหากคุณต้องการอะไรที่ท้าทายสักหน่อย คุณอาจจะลองจำเลข 1-100 ให้ได้หมดภายในวันเดียวก็ได้
  5. เหตุผลที่คนส่วนใหญ่จำสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเป็นปีๆ ในคาบวิชาภาษาต่างประเทศที่โรงเรียนไม่ได้นั้น ก็เพราะว่าหลักสูตรของโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะชอบเน้นที่การเรียนเรื่องหลักไวยากรณ์มากกว่า และมีเวลาเพียงน้อยนิดให้นักเรียนฝึกพูด ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้เรียนรู้ได้ช้ามาก ฉะนั้น หากคุณอยากจะเรียนภาษาอื่นให้ได้เร็วๆ คุณก็ควรเรียนรู้วิธีการสนทนาก่อน เรื่องไวยากรณ์ค่อยตามมาทีหลังก็ได้
    • แน่นอนว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไวยากรณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เพราะคุณต้องเรียนรู้ทั้งวิธีการผันคำกริยาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงต้องเรียนรู้วิธีการเรียงลำดับคำในประโยคแบบถูกต้องด้วย
    • ประเด็นสำคัญก็คือ คุณไม่ควรจะใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการท่องจำตารางคำกริยา หรือมัวแต่กังวลว่าสถานการณ์ไหนควรจะต้องใช้คำบุพบทแบบไหน จำไว้ว่า คุณจะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้เองเมื่อคุณฝึกใช้ไปเรื่อยๆ
  6. การออกเสียงคืออีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรจะใส่ใจเช่นเดียวกัน เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากคุณจำคำและวลีเป็นร้อยๆ ได้ แต่ว่าออกเสียงแบบผิดๆ จนคนฟังไม่เข้าใจ ดังนั้น การเรียนรู้คำศัพท์ไปพร้อมกับการออกเสียงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
    • การออกเสียงอาจจะเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ยาก หากคุณอ่านแค่ในหนังสือเพียงอย่างเดียว การแชทพูดคุยกับเจ้าของภาษา (หรือการใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ตอบโต้อัตโนมัติและแอปพลิเคชั่น) จึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ฉะนั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ พูดคำๆ นั้นออกมาดังๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงที่ถูกต้อง
    • หากคุณใช้วิธีฝึกฝนกับคนในชีวิตจริง ให้คุณดูให้ดีด้วยว่าคนๆ นั้นไม่ขี้เกรงใจเกินไป จนไม่กล้าที่จะทักท้วงคุณเวลาที่คุณออกเสียงแบบผิดๆ ไม่อย่างนั้น คุณอาจจะไม่มีวันได้รู้ถึงการออกเสียงที่ถูกต้องเลยก็ได้ จำไว้ว่า การออกเสียงอาจจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการพูดภาษานั้นได้ดีกับการพูดภาษานั้นได้คล่องก็ได้
  7. เมื่อใดก็ตามที่คุณกำลังเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ คุณต้องไม่กลัวข้อผิดพลาด เพราะไม่อย่างนั้น ทักษะของคุณอาจจะไม่พัฒนาไปได้ไกลเท่าที่ควร
    • จำไว้ว่า ตัวเราเองคงต้องเจอกับความน่าอายในบางสถานการณ์อยู่แล้ว แต่มันจะเป็นอะไรไปล่ะ? เพราะยังไงเจ้าของภาษาก็คงจะหัวเราะคุณแบบเอ็นดูและชื่นชมในความพยายามของคุณ และเต็มใจที่จะช่วยคุณอยู่ดี
    • นอกจากนี้ ให้คุณจำไว้อีกว่า คุณไม่ได้ทำเพื่อมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบ แต่คุณมุ่งเน้นที่เรื่องพัฒนาการของตัวเองมากกว่า ซึ่งการสร้างข้อผิดพลาดบางอย่าง (และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น) จะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาของคุณได้
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นเรียนภาษา

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. Anki คือซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่นยอดนิยมที่ช่วยให้คุณจดจำคำศัพท์และวลีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ flashcard โดยคุณสามารถอัปโหลดสำรับการ์ดคำศัพท์เฉพาะที่คุณต้องการจะเรียนรู้ หรือจะดาวน์โหลดจากสำรับการ์ดที่มีคนแชร์เอาไว้แล้วเริ่มต้นจากตรงนั้นก็ได้
  2. Duolingo คือ เครื่องมือเรียนรู้ภาษาแบบฟรีๆ ที่มีทั้งแบบออนไลน์ บน Android และบน iOS ซึ่งแทนที่จะเน้นที่การท่องจำ Duolingo จะทำให้ผู้ใช้งานได้อ่านและพูดภาษาใหม่ออกมาด้วยการดู ฟัง และจดจำเอาไว้ในใจ โดยผู้ใช้งานจะได้แต้มทุกครั้งที่เล่นจนจบบทเรียน ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ Duolingo เป็นเครื่องมือเรียนรู้ภาษาที่สนุกเหมือนกับเกมเกมหนึ่ง
  3. Memrise เป็นโปรแกรมที่มีรูปแบบคล้ายๆ กับ flashcard ที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้จดจำคำศัพท์และวลีต่างๆ ด้วยการใช้เทคนิคการจำ ใช้รูปภาพ และใช้เทคนิคที่มีประโยชน์อื่นๆ อีก ซึ่ง Memrise จะเป็นที่ที่ผู้ใช้งานได้แข่งขันกับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ด้วยการแข่งกันเรียนภาษาตามขั้นต่างๆ ที่มีไว้ให้ ทำให้การเรียนภาษาในนี้เป็นเรื่องสนุก และเป็นการเรียนรู้แบบสบายๆ
  4. Babbel ถือว่าเป็นเครื่องมือเรียนรู้ภาษาที่สนุกแถมยังมีฟังก์ชั่นตอบโต้กับผู้ใช้งานด้วย ซึ่งจะมีให้เล่นทั้งแบบออนไลน์และแอปพลิเคชั่นในมือถือ โดย Babbel จะเป็นตัวที่ช่วยผู้ใช้งานพัฒนาคลังคำศัพท์ ทักษะการใช้ไวยากรณ์ และการออกเสียงของตัวเอง นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยบอกจุดที่เป็นปัญหาของตัวคุณ และนำเสนอแบบฝึกหัดที่ตรงตามเป้าหมายโดยอ้างอิงจากความจำเป็นของตัวคุณได้อีกด้วย
    โฆษณา


เคล็ดลับ

  • เขียนคำศัพท์ลงบนป้ายสติ๊กเกอร์ แล้วเอาไปติดให้ทั่วบ้าน วิธีนี้จะทำให้คุณเรียนรู้คำศัพท์เหล่านั้นได้ด้วยการเชื่อมโยงด้วยภาพ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
  • อย่ากดดันตัวเองมากไปว่าจะต้องพูดให้ได้เร็วๆ หรือพูดได้แบบถูกต้องตั้งแต่ช่วงแรกที่เพิ่งจะเรียนรู้ภาษานั้น เพราะมันยากมากที่คุณทำแบบนั้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องมีความอดทน
  • จำไว้เสมอว่า อย่ายอมแพ้!
  • พยายามเปิดรับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษานั้นเข้ามาให้ได้มากที่สุด (ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ หรือการคุยกันแบบตัวต่อตัว) ทำให้ได้ทุกวันและอย่างสม่ำเสมอด้วย
  • เขียนคำศัพท์ต่างๆ ในภาษานั้นพร้อมกับความหมาย และเก็บเอาไว้ใกล้ๆ ตัว เพื่อที่คุณจะได้จดจำคำศัพท์เหล่านั้นได้ง่ายๆ
  • วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาก็คือ การซึมซับตัวเองกับภาษานั้น ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจจะไม่สามารถจะยกเลิกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อย้ายไปยังประเทศใหม่ที่พูดภาษานั้นได้ในทันที แต่ก็ยังมีเว็บไซต์อีกมากมายที่จะทำให้คุณได้พูดคุยกับเจ้าของภาษาเพื่อฝึกภาษาของตัวเอง
  • Google แปลภาษา คือเครื่องมือดีๆ ที่จะช่วยคุณในเรื่องการออกเสียงได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การแปลภาษาของเครื่องมือนี้อาจจะไม่ถูกต้อง 100% เสมอไป
  • ให้เริ่มต้นจากการเรียนรู้คำศัพท์ 10 คำ (คำกริยาหรือคำคุณศัพท์) ให้ได้ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ฟังดูอาจจะดูเหมือนยาก แต่ว่าจริงๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย เพราะในแต่ละวันคุณก็แค่ต้องเรียนรู้คำศัพท์เพียงไม่กี่คำเอง ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งคุณที่ช่วยพัฒนาคลังคำศัพท์ในหัวคุณได้ และยิ่งคุณรู้คำศัพท์เยอะมากเท่าไร คุณก็จะสามารถสร้างประโยคได้มากขึ้นเท่านั้น
  • ทันทีที่คุณเข้าใจคำศัพท์พื้นฐานต่างๆ แล้ว ให้คุณดูหนังสักเรื่องหนึ่งที่คุณชอบและตัวเองเคยดูมาแล้ว แต่ให้ดูเวอร์ชั่นเสียงพากย์ในภาษาใหม่ที่คุณกำลังเรียนอยู่ และใช้ซับไตเติ้ลที่เป็นภาษานั้นด้วย แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าวิธีนี้ยากไป ให้คุณเปลี่ยนอันใดอันหนึ่งเป็นภาษาแม่ของคุณก่อนก็ได้
  • ลองอ่านหนังสือตลกในภาษานั้นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่มีภาพพร้อมกับมุกตลก อย่างเข่น อนิเมะ คอมมิค นิตยาสาร หนังสือเรื่องตลก หรืออะไรก็ได้ที่คุณคิดว่าน่าสนใจสำหรับตัวคุณ วิธีนี้จะทำให้คุณมีแรงจูงใจในการอ่าน/ค้นคว้าจนกว่าตัวเองจะเข้าใจในสิ่งที่อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมุกตลกต่างๆ นอกจากนี้ คุณอาจจะลองอ่านหนังสือเด็กด้วยก็ได้ เพราะว่าถ้าเป็นหนังสือเด็กคุณน่าจะพอรู้เค้าโครงเรื่องอยู่แล้ว และนั่นจะทำให้คำศัพท์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่ายมากขึ้น
  • อีกเทคนิคหนึ่งก็คือให้ใช้การฟังเพลง โดยให้คุณลองหาเพลงที่คุณชอบมาและฟังเพลงนั้นซ้ำไปมาเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะเข้าใจสิ่งที่นักร้องร้องออกมาเอง และหลังจากนั้นคุณอาจจะเปลี่ยนไปฟังจับใจความจากบทสัมภาษณ์ต่อก็ได้
  • หลายคนให้ความเห็นว่าเพลงสามารถช่วยในการเรียนรู้ภาษาได้ ดังนั้น ให้คุณลองฟังเพลงที่เป็นภาษานั้นดู แล้วพยายามแปลความหมายของคำพูดต่างๆ ในเนื้อเพลงนั้นให้ได้
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,791 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา