ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เมื่อเล็บเท้าหลุด เราก็คงอยากให้มันงอกกลับมาเร็วที่สุด ซึ่งแม้จะมีวิธีการต่างๆ มากมายที่ช่วยเร่งให้เล็บงอกได้เร็ว แต่ก็มีวิธีง่ายๆ อยู่ 2-3 วิธีที่คุณสามารถทำได้เพื่อให้เล็บกลับมางอกอีกครั้ง ระหว่างที่รอเล็บงอก คุณต้องดูแลเนื้อใต้เล็บที่โผล่ออกมาให้ดีด้วยการรักษาความสะอาดและเติมความชุ่มชื้น หรือคุณอาจจะแช่เล็บลงในน้ำเกลือเพื่อรักษาผิวหนังบริเวณนั้นให้ชุ่มชื้นและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บอกว่าอาหารเสริมไบโอตินและวิตามินอื่นๆ บางชนิดสามารถกระตุ้น (หรือรักษาสภาพ) การเจริญเติบโตของผมและ เล็บ ได้ เพราะฉะนั้นลองปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยเร่งให้เล็บงอกไวๆ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ปกป้องและทำความสะอาดเล็บที่หลุดหรือบาดเจ็บ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าเล็บบางส่วนหลุดออกมา ให้ใช้กรรไกรตัดเล็บค่อยๆ ตัดส่วนที่หลุดออกมาและเล็มมุมแหลมๆ ออก วิธีนี้จะช่วยไม่ให้ส่วนที่หลุดออกมาไปเกี่ยวสิ่งของซึ่งอาจทำให้ยิ่งเจ็บและเกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม [1]
    • หลังจากเล็มเล็บแล้ว ให้แช่ในน้ำเย็นประมาณ 20 นาที ใช้ผ้าขนหนูสะอาดค่อยๆ ซับบริเวณนั้นให้แห้งและทาปิโตรเลียมเจลลีลงไปเล็กน้อย จากนั้นใช้ผ้าพันแผลพันรอบเล็บที่บาดเจ็บไว้ชั้นหนึ่ง [2]

    คำเตือน : ถ้าเล็บของคุณบาดเจ็บรุนแรงหรือหลุดออกมาเองไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม ให้ไปพบแพทย์ แพทย์จะสามารถประเมินปัญหาและรักษาได้อย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม

  2. ถ้าแพทย์ถอดเล็บออก ให้ดูแลตัวเองที่บ้านตามแพทย์สั่ง. ถ้าแพทย์ผ่าเล็บเท้าออกให้ แพทย์อาจจะให้คำแนะนำสำหรับการดูแลเล็บเท้าหลังการผ่าตัดโดยเฉพาะ ขอเอกสารการดูแลตัวเองที่คุณสามารถนำกลับบ้านได้ และอย่ากลัวที่จะถามหากคุณไม่เข้าใจคำสั่งของแพทย์
    • เช่น แพทย์อาจจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าพันแผลและวิธีสังเกตเนื้อใต้เล็บว่าติดเชื้อหรือไม่
    • นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะให้ใบสั่งยาหรือแนะนำที่ช่วยบรรเทาอาการปวดจากการถอดเล็บด้วย
  3. ยกนิ้วเท้าให้สูงในช่วง 3 วันแรกหลังจากเล็บหลุด. หลังจากเล็บหลุด เนื้อใต้เล็บที่ได้รับบาดเจ็บน่าจะบวมและอักเสบ ให้คุณวางเท้าสูงๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วง 2-3 วันแรกหลังจากบาดเจ็บเพื่อบรรเทาอาการในข้างต้นและเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น พยายามให้นิ้วเท้าอยู่สูงกว่าหัวใจ
    • เช่น คุณอาจจะนอนบนโซฟาโดยเอาเท้าพาดบนแขน หรือนอนบนเตียงโดยวางเท้าไว้บนหมอน 2-3 ใบ
    • พักนิ้วเท้าให้ได้มากที่สุด หากทำได้ให้เลี่ยงการเดินหรือวางน้ำหนักลงบนนิ้วเท้า
  4. อย่าให้นิ้วเท้าเปียกในช่วง 1-2 วันแรกหลังจากเล็บหลุด. ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกหลังจากเล็บหลุด พยายามให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าต้องอาบน้ำให้นำถุงพลาสติกครอบเท้าเพื่อไม่ให้นิ้วโดนน้ำ
    • ข้อนี้สำคัญมากหากเนื้อใต้เล็บที่บาดเจ็บต้องเย็บแผลด้วย
    • ถ้านิ้วเท้ามีผ้าพันแผลพันอยู่ เมื่อมันเปียกก็ต้องเปลี่ยน
  5. หลังจากนั้น 2 วันให้ใช้น้ำสะอาดล้างนิ้วเท้าที่บาดเจ็บ. หลังจากที่นิ้วเท้าได้พักและรักษาตัวเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงแล้ว คุณก็สามารถใช้น้ำอุ่นที่สะอาดล้างบริเวณนั้นได้เลย ทำความสะอาดผิวบริเวณนั้นอย่างเบามือวันละ 2 ครั้ง [3] วิธีนี้จะช่วยชำระล้างแบคทีเรีย สิ่งสกปรก และใยจากผ้าหรือผ้าพันแผล
    • คุณสามารถใช้สบู่อ่อนๆ ทำความสะอาดบริเวณนั้นได้ แต่ระวังอย่าใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสีอย่างเข้มข้นเพราะอาจทำให้แผลแห้งและระคายเคือง
  6. ทาปิโตรเลียมเจลลีเล็กน้อยเพื่อปกป้องและทำให้เนื้อใต้เล็บชุ่มชื้น. ปิโตรเลียมเจลลีช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นด้วยการทำให้แผลชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้ตกสะเก็ด [4] ทาปิโตรเลียมเจลลีบางๆ ลงบนเนื้อใต้เล็บอย่างเบามือก่อนใช้ผ้าพันแผลพันรอบเล็บที่บาดเจ็บ
    • แพทย์อาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะชนิดทาลงบนเนื้อใต้เล็บที่บาดเจ็บ [5]
  7. พันผ้าพันแผลเพื่อปกป้องเล็บระหว่างที่กำลังงอก. ถ้าผิวหนังใต้เล็บโผล่ออกมา ให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดไม่ติดแผล ผ้าพันแผลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและอาจป้องกันไม่ให้ผิวหนังตรงเนื้อใต้เล็บที่บอบบางเสียดสีกับถุงเท้าและรองเท้าจนเจ็บ [6]
    • เปลี่ยนผ้าพันแผลทุกวันหรือทุกครั้งที่เปียกหรือสกปรก และทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าพันแผล ให้ทำความสะอาดนิ้วเท้าและทาปิโตรเลียมเจลลีซ้ำทุกครั้ง
    • พันผ้าพันแผลจนกว่าเล็บใหม่จะงอกและยาวจนปิดเนื้อใต้เล็บได้เกือบหมด
    • ในช่วงที่เพิ่งบาดเจ็บใหม่ๆ อย่าใช้ผ้าพันแผลชนิดติดยึดหรือผ้าพันแผลที่มีเส้นใยที่อาจติดอยู่กับแผลได้ (เช่น ผ้าก๊อซ) ผ้าพันแผลชนิดไหมถือเป็นตัวเลือกที่ดีและสามารถสวมถุงนิ้วทับเพื่อไม่ให้ผ้าหลุดได้ [7]
  8. ใส่รองเท้าที่ขนาดพอดีกับเท้าเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม. ถ้าคุณใส่รองเท้าที่เล็กมากๆ (โดยเฉพาะรองเท้าส้นสูง) เล็บเท้าของคุณก็จะฟกช้ำได้ง่ายและทำให้แผลตรงเนื้อใต้นิ้วเท้าที่บาดเจ็บแย่ลง เพราะนิ้วเท้าของคุณจะแทบไม่มีพื้นที่ให้ขยับเลยเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เล็บยิ่งงอกใหม่ได้ช้า [8]
    • และอย่าหยุดกะทันหัน เช่น เมื่อวิ่งเสร็จให้เดินไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ตัวคุณพุ่งไปข้างหน้า และไม่ให้นิ้วเท้าโดนหัวรองเท้า
    • ใส่ถุงเท้าที่ระบายอากาศแทนถุงน่อง
    • แพทย์อาจแนะนำให้คุณใส่รองเท้าออร์โทพีดิกส์สักระยะเพื่อปกป้องนิ้วเท้าและให้แผลหาย
  9. อดทน ระหว่างรอเล็บงอก. คุณอาจสามารถเร่งให้เล็บงอกเร็วขึ้นได้บ้างด้วยการแช่น้ำเกลือและทาวิตามิน แต่คุณก็ยังต้องรอให้เล็บฟื้นตัวได้เองด้วย ซึ่งปกติจะใช้เวลา 12-18 เดือนกว่าเล็บเท้าที่หลุดไปจะงอกใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลหากดูเหมือนว่าเล็บจะงอกช้า
    • ระหว่างที่เล็บของคุณงอกขึ้นมาใหม่ อย่าไปจับหรือตัด คุณอาจจะคันไม้คันมืออยากดึงเศษเล็บที่ไม่จำเป็นออก แต่คุณไม่ควรไปยุ่งกับมันนอกจากว่าจมูกเล็บลอกหรือเป็น เล็บขบ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

แช่น้ำเกลือและทาวิตามินเพื่อให้เล็บงอกเร็ว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แช่เล็บเท้าในน้ำเกลืออุ่นวันละ 2-3 ครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ. การแช่น้ำเกลือสามารถช่วยทำความสะอาดนิ้วเท้า ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ละลายเกลือ 1 ช้อนชา (ประมาณ 5 กรัม) กับน้ำอุ่น 4 ถ้วย (1 ลิตร) ในกะละมังใบใหญ่หรืออ่างอาบน้ำตื้นๆ แช่เท้าในน้ำเกลือ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง [9]
    • การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีที่สุดในช่วง 2-3 วันแรกหลังจากที่เล็บเท้าหลุด คุณอาจต้องรอ 24-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บก่อนจึงจะสามารถแช่เท้าได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้นให้ขอคำแนะนำจากแพทย์
    • หรือคุณอาจจะแช่เท้าในน้ำเกลือยิบซอมโดยการผสมเกลือยิบซอม 2 ช้อนชา (10 กรัม) กับน้ำอุ่น 2 ลิตร [10]
  2. ทาครีมวิตามินอีลงบนเล็บเพื่อให้เล็บงอกเร็ว. งานวิจัยพบว่าวิตามินอีสำหรับทาเฉพาะที่ช่วยบำรุงเล็บและช่วยให้เล็บงอกเร็วขึ้น [11] เมื่อเล็บใหม่เริ่มงอกออกมาแล้ว ให้ทาน้ำมันหรือครีมวิตามินอีบางๆ ลงบนบริเวณที่เป็นแผลทุกวัน [12]
    • ถ้าคุณใช้น้ำมันวิตามินแทนที่จะเป็นครีมหรือยาทาเฉพาะที่ คุณอาจจะผสมน้ำมันกับปิโตรเลียมเจลลีหรือมอยซ์เจอไรเซอร์สูตรอ่อนโยนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ระคายเคืองและช่วยให้บริเวณนั้นชุ่มชื้น
    • ใส่รองเท้าเปิดหัว (หรือไม่ใส่รองเท้า) 1 ชั่วโมงหลังทาวิตามินอีหรือจนกว่าน้ำมันจะซึมลงไปในผิว คุณจะยิ่งเห็นผลลัพธ์เร็วขึ้นหากคุณปล่อยให้ผิวได้มีเวลาซึมซับความชุ่มชื้น
  3. ผมและเล็บอาจยาวเร็วขึ้นเมื่อคุณรับประทานไบโอตินเป็นอาหารเสริม และจริงๆ แล้วการที่เล็บอ่อนแอและยาวช้ามักจะมาจากการขาดไบโอติน [13] ลองปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารเสริมไบโอตินเพื่อช่วยให้เล็บที่งอกใหม่ของคุณแข็งแรงและมีสุขภาพดี
    • ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมใหม่ๆ ทุกครั้ง และแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณรับประทานอาหารเสริมหรือยาอื่นๆ อยู่

    เคล็ดลับ : แม้ว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าไบโอตินสามารถเร่งการเจริญเติบโตของเล็บได้จริงหรือไม่ แต่ก็มีแนวโน้มที่มันจะทำให้เล็บของคุณแข็งแรงขึ้นและป้องกันไม่ให้เล็บเปราะได้ [14]

  4. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนสูงเพื่อเสริมการเจริญเติบโตของเล็บ. แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยให้เล็บงอกใหม่ได้เร็วกว่าเดิมมากนัก แต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยให้เล็บของคุณแข็งแรงและมีสุขภาพดี พยายามรับประทานอาหารต่อไปนี้ให้มากๆ เพื่อช่วยให้เล็บที่หลุดไปกลับมางอกใหม่ :
    • อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ปลากระป๋องที่มีก้าง (เช่น ปลาซาร์ดีน) ถั่วและถั่วเลนทิล อัลมอนด์ และผักใบเขียว [15]
    • แหล่งโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อกไก่ ปลา ถั่วเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากนม
  5. บางครั้งการที่เลือดบริเวณเท้าไหลเวียนไม่ดีก็อาจทำให้เล็บที่งอกออกมาไม่แข็งแรงและฉีกง่าย คุณอาจจะลองไปนวดหรือใช้มือหรือลูกกลิ้งนวดเท้านวดเท้าด้วยตัวเองที่บ้าน [16]
    • การนวดเท้าช่วยได้มากหากคุณมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานที่ทำให้เลือดตรงเท้าหมุนเวียนได้ไม่ดี
  6. รักษาภาวะทางสุขภาพที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเล็บ. หากคุณมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้เล็บของคุณงอกช้า ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคเหล่านี้อย่างถูกต้อง โรคที่อาจทำให้เล็บเปราะหรือบาดเจ็บมีหลายโรคด้วยกัน ได้แก่ :
    • โรคเบาหวาน
    • โรคสะเก็ดเงิน
    • เชื้อราที่เล็บเท้า
    • อาการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าซ้ำๆ (เช่น จากการวิ่งหรือการเล่นกีฬา)
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ปกติแล้วเล็บเท้าที่หลุดไปจะกลับมางอกใหม่ในที่สุด แต่หลังจากงอกออกมาใหม่เล็บของคุณอาจจะดูไม่เหมือนเดิม เช่น อาจดูหนากว่าเดิมหรือรูปร่างไม่เหมือนเดิม หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเล็บที่งอกขึ้นใหม่ ให้ปรึกษาแพทย์
โฆษณา

คำเตือน

  • คุณต้องพบแพทย์ทันทีหากสังเกตเห็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีรอยแดง บวม หรือปวดตรงเนื้อใต้เล็บมากขึ้น มีเลือดออกมาใหม่หรือมีของเหลวไหลออกจากแผล มีรอยแดงเป็นเส้นๆ จากเล็บเท้าที่บาดเจ็บ มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวม
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 99,166 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา