PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ในโลกนี้ไม่มีใคร "ความจำแย่" จะมีก็แต่คนที่สูญเสียความทรงจำด้วยสาเหตุทางการแพทย์ ที่จริงแล้ว เราทุกคนสามารถที่จะฝึกฝนความจำให้ดีขึ้นได้ด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่การกินผลบลูเบอร์รีเยอะๆ ไปจนถึงการใช้เทคนิคช่วยจำ ทั้งนี้ หากคุณมีความหวัง เชื่อมั่น และหมั่นฝึกฝน คุณก็จะสามารถพัฒนาความจำให้ดีขึ้น โดยคุณอาจนำทักษะดังกล่าวไปใช้จำว่า เก็บกุญแจบ้านไว้ที่ไหน หรือนำไปท่องหนังสือสอบ แม้กระทั่งเข้าแข่งขันทดสอบความจำชิงแชมป์โลก ก็ยังได้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

ใช้เทคนิคช่วยจำ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเชื่อมโยงความจำก็คือการใช้ภาพบางอย่างเพื่อเชื่อมโยงไปยังรายละเอียดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือภาพอื่นๆ หากคุณมักลืมประวัติศาสตร์ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการบุกยึดอ่าวหมู (Bay of Pigs Invasion) ก็แค่จำภาพประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (JFK) กำลังดำน้ำพร้อมกับมีหมูรายล้อมอยู่ ซึ่งอาจดูเหมือนตลก แต่มันจะช่วยให้คุณนึกออกทันที เวลาที่เจอข้อสอบคำถามดังกล่าว [1]
    • สมองของคุณจะจดจำข้อมูลให้แม่นยำได้ ด้วยการสร้างภาพในหัวสักอย่าง ซึ่งพอนึกถึงมันปุ๊บ รายละเอียดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาพนั้น จะหลั่งไหลพรั่งพรูออกมาทันที เช่น คุณผู้หญิงที่ชอบพกกระเป๋าหลายใบ หากคุณชอบลืมว่าเก็บกุญแจรถไว้ในใบไหน ก็ลองหมั่นนึกภาพว่า กระเป๋าใบนั้นมีล้อรถงอกออกมาแล้ววิ่งฉิวออกไป ฝึกการจินตนาการภาพแปลกๆ เช่นนี้เพียงไม่นาน ทุกครั้งที่คุณจะหยิบกุญแจรถ ก็จะนึกถึงเจ้ากระเป๋าใบดังกล่าวโดยอัตโนมัติ
    • ยิ่งภาพมีความเป็นเอกลักษณ์และแปลกมากเท่าไร สมองคุณก็จะจำได้ดียิ่งขึ้น [2]
  2. สมมุติว่า คุณต้องกรอกเลขประจำตัวนักเรียน หรือเลขประจำตัวพนักงานบ่อยๆ ด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่คุณก็จำไม่ได้เสียที คุณก็แค่แตกย่อยตัวเลขออกเป็นกลุ่มๆ เช่น ตัวเลข 12-7575-23 คุณก็หาความหมายมาเติมให้ตัวเลขแต่และกลุ่ม สมมุติว่า 12 เป็นเลขที่บ้านคุณ และ 75 เป็นอายุของคุณยาย ส่วน 23 เป็นหมายเลขข้างหลังเสื้อนักกีฬาคนโปรดของคุณ เช่น ไมเคิล จอร์แดน คุณก็อาจใช้จินตภาพดังนี้ช่วยจำตัวเลขทั้งหมด:
    • นึกภาพบ้านของคุณ โดยมีคุณยาย สอง คนยืนอยู่ด้านขวาของบ้าน และถัดจากคุณยายคือไมเคิล จอร์แดน ตามลำดับ แค่นี้คุณก็จะได้ตัวเลขทั้งหมด คือ 12 (บ้าน) 7575 (ยายสองคน) 23 (ไมเคิล จอร์แดน) โดยจำภาพแค่ภาพเดียว
  3. เทคนิคดังกล่าวคือ การจัดกลุ่มสิ่งที่คุณต้องการจะจำ โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่กระจัดกระจายกัน เช่น รายการสิ่งที่ต้องซื้อเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคุณจะจำได้ง่ายขึ้น โดยจัดกลุ่มแบ่งตามประเภทเป็น ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม ขนม ฯลฯ หรือคุณอาจแบ่งตามตัวอักษรนำหน้า เช่น หากต้องซื้อกาแฟ ไข่ ขนมปัง เบคอน คุณก็จำแค่ 1ก, 2ข, 1บ ซึ่งเชื่อเถอะว่าแค่คุณคิดถึงตัวเลขและตัวย่อ สมองคุณก็จะนึกออกเองว่าตัวอักษรแต่ละตัวแทนรายการสินค้าใด ซึ่งจะช่วยให้คุณจ่ายตลาดได้เร็วขึ้น [3]
    • หากคุณจำเป็นต้องซื้อผัก 4 ชนิด ก็จะยิ่งจำง่ายเข้าไปใหญ่ เมื่อใช้เทคนิคดังกล่าว
    • เทคนิคจับแยกเป็นวิธีการเดียวกัน กับการที่เรามักขีดคั่นหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้จำง่าย คุณว่าแบบไหนจำง่ายกว่ากันล่ะระหว่าง 832657782 กับ 083-265-7782
    • คุณอาจคิดว่าไม่มีทางจำเลขพวกนี้ 17761812184818651898 แต่หากคุณลองแบ่งสี่ และเติมความหมายเลขทั้ง 5 กลุ่มเป็นปีคริสตศักราช จากนั้น ก็ลองกูเกิ้ลดูว่าในตัวเลขแต่ละปีนั้น มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งในกรณีนี้ คุณก็อาจจะจดจำให้เป็นเหตุการณ์หรือชื่อสงครามทั้งหมด มาร้อยเรียงกันคือ สงครามประกาศอิสรภาพ – สงครามปี 1812 – สงครามเม็กซิกัน อเมริกัน – สงครามกลางเมือง – สงครามสแปนิช อเมริกัน
  4. โดยคุณอาจจะใช้คำตามแบบของคุณเอง ไม่ต้องสนใจว่ามันจะถูกไวยากรณ์หรือไม่ หรือฟังดูตลกเพียงใด เพราะจุดประสงค์คือ คุณจำได้ก็พอแล้ว เช่น หากจะจำว่าเดือนไหนมี 30 หรือ 31 วัน ก็แต่งกลอนแบบง่ายๆ เช่น "สามสิบลงท้ายด้วยยน เดือนไหนคมก็มีสามเอ็ด" นอกจากนี้ คุณอาจดูตัวอย่างต่อไปนี้เพิ่มเติม: [4]
    • ลองกูเกิ้ลหาเพลงของอัสนี – วสันต์ ชื่อเพลง “กรุงเทพมหานคร” มาฟังกันดู เพราะนั่นเป็นเพลงที่ช่วยให้คนทั้งประเทศ สามารถจำชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพมหานคร ด้วยการนำชื่อดั้งเดิมมาใส่ทำนอง และแบ่งวรรคแบบใหม่ เพื่อให้เราจำได้อย่างคล้องจองลงตัว: กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรา- ยุธยามหาดิลก – ภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ – อุดมราชนิเวศน์ - มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
    • เพลงกล่อมเด็กอันเป็นที่นิยมไปทั่วโลกอย่างเพลง ทวิงเกิล ทวิงเกิล ลิตเติ้ล สตาร์ (Twinkle, Twinkle, Little Star) ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ ซึ่งได้ผลดีทีเดียวล่ะ
  5. การใช้อักษรย่อช่วยจำ มีประโยชน์และเป็นวิธีที่สร้างสรรค์มากวิธีหนึ่ง คล้ายๆ กับวิธีที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการทำแผนธุรกิจโดยใช้หลัก SWOT (Strength-Weakness-Opportunity-Threat) โดยหากคุณต้องการจดจำสิ่งของที่ต้องซื้อ คุณก็สามารถกำหนดตัวย่อให้เป็นคำอะไรก็ได้ เช่น ไข่ มาม่า และนมสด คุณก็เอาตัวย่อมาเรียงสลับกันนิดหน่อยเป็น ข.น.ม. หรือขนมนั่นเอง และเรายังมีตัวอย่างอีกมากมาย:
    • HOMES. คำว่าโฮมส์ เป็นคำที่คนอเมริกันใช้จำชื่อแม่น้ำหลักทั้ง 5 สายคือ: Huron, Ontario, Michigan, Erie และ Superior.
    • อุอีบูอาทักหอปะพา คำดังกล่าวอาจฟังดูแปลก แต่มันเป็นเทคนิคที่คนไทยเราในสมัยก่อน ใช้จดจำทิศทั้ง 8 ของไทย ได้แก่ อุดร อีสาน บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ปัจฉิม และพายัพ
    • นอกจากนี้ ยังมีคำที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอย่าง คตินักปราชญ์ “สุจิปุลิ” ซึ่งย่อมาจาก สุตะ จินตะ ปุจฉา และลิขิต (ฟัง คิด ถาม เขียน) นั่นเอง
  6. การสร้างประโยคจะคล้ายคลึงกับการใช้ตัวย่อ ต่างกันตรงที่เราจะเอาอักษรแรกมาเปลี่ยนเป็นคำใหม่ และเมื่อนำแต่ละคำมาเรียบเรียง ก็จะเป็นประโยคๆ หนึ่ง ให้จำได้ง่ายๆ เช่น เวลาที่ชาวตะวันตกเขาจะจำชื่อดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวง ซึ่งก็คือ Mercury, Venus, Earth, Mars, Jupiter, Saturn, Uranus และ Neptune พวกเขาก็มักจะจำว่าเป็นประโยคว่า "My very eager mother just sent us noodles." หรือ “คุณแม่ผู้ทุ่มเทของฉัน เพิ่งส่งบะหมี่มาให้” มาดูตัวอย่างกันอีกสักนิด: [5]
    • Every Good Boy Does Fine (เด็กดีทุกคนทำได้ดี) ประโยคนี้ ฝรั่งเขาเอาไว้จำตัวโน้ตบนบรรทัด 5 เส้น ซึ่งก็คือ EGBDF นั่นเอง
    • ส่วนของไทยเรา ก็มีตัวอย่างการสร้างประโยค ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า เช่นประโยคที่ว่า “ชิดชัยมิลังเล เพียงพบอนงค์” ซึ่งใช้จำจังหวัดทางภาคเหนือของไทยทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ และน่าน
    • นอกจากนี้ ยังมีการจำหมวดอักษรในภาษาไทยเรา เช่นที่เราได้ยินกันบ่อยที่สุด คือ อักษรกลาง ด้วยประโยคที่ว่า “ไก่จิกเด็ก(ฎ)ตาย(ฏ)บนปากโอ่ง”
    • ส่วนอักษรหมวดที่เหลือ ซึ่งอาจได้ยินกันไม่บ่อยนัก คือ อักษรสูง “ผีฝากถุง(ฐ)ข้าว(ฃ)สาร(ษ ศ)ให้ฉัน” และอักษรต่ำคู่ “พ่อ(ภ)ค้า(ฅ ฆ)ฟัน ทอง(ธ ฐ ฒ)ซื้อช้าง(ฌ)ฮ่อ และสุดท้ายคือ อักษรต่ำเดียว “งูใหญ่นอนอยู่ ณ วัดโมรีโลก(ฬ)” เป็นต้น
  7. เทคนิคนี้เป็นวิธีที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยใช้สถานที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลในความทรงจำ โดยเริ่มจากการจินตภาพสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่คุณรู้สึกคุ้นเคย ให้แจ่มชัดอยู่ในใจ จากนั้น หากคุณต้องการจดจำสิ่งใด ก็ให้นึกภาพว่า มีสิ่งของเหล่านั้นอยู่ตามจุดต่างๆ ในสถานที่ดังกล่าว [6]
    • สมมุติว่า คุณต้องจำหมวดอักษรสูง กลาง และต่ำ ในคราวเดียวกัน หากคุณต้องการให้ง่ายขึ้นไปอีก คุณก็สามารถใช้วิธีโลซายนี้ ด้วยการจินตภาพเป็นภาพวัดเอาไว้ในใจ โดยสมมุติเอาว่าเป็น วัดโมรีโลกฯ โดยมีงูใหญ่นอนอยู่ และมีผีฝากถุงข้าวสารกำลังยื่นให้คุณ ส่วนอีกมุมหนึ่ง ก็มีภาพไก่กำลังจิกเด็กตายบนปากโอ่ง ซึ่งภาพทั้งหมดนี้อาจดูเหลวไหล แต่จุดประสงค์ก็เพื่อจดจำข้อมูลจำนวนมาก ด้วยการนึกภาพเพียงภาพเดียวเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ ตามแบบของตัวเอง
    • บางครั้งเวลาที่คุณจัดเรียงข้อมูลบางอย่าง โดยเอ่ยว่า “ลำดับหนึ่ง” และ “ลำดับสอง” ไปตามลำดับนั้น ก็เป็นวิธีการที่มีรากฐานคล้ายคลึงกับเทคนิคโลซายนี้เหมือนกัน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

ใช้สติเข้าช่วย

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณเอาแต่บอกตัวเองว่าเป็นคนความจำไม่ดี หรือจำอะไรไม่ค่อยได้เลย ก็ขอให้บอกตัวเองใหม่ว่า คุณมีความจำดีและแถมยังพัฒนาได้อีกเรื่อยๆ และให้รางวัลตัวเองบ้าง ในเวลาที่คุณรู้สึกว่าทำได้สำเร็จ เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อไป
  2. การ "ลับสมอง" เป็นประจำ จะช่วยให้สมองของคุณเติบโต และเร่งการแผ่ขยายของเซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งส่งผลต่อการมีความจำดีนั่นเอง ดังนั้น การลับสมองอย่างเช่น เรียนรู้ภาษาที่สาม หรือหัดเล่นเครื่องดนตรีใหม่ๆ แม้กระทั่งการเล่นเกมทั่วๆ ไป ก็ยังสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพของสมอง และทำให้มันตื่นตัวอยู่เสมอ
    • คุณควรมีเกมอย่าง ครอสเวิร์ด ซูโดกุ หรือเกมที่ต้องใช้ความคิดอื่นๆ ติดบ้านเอาไว้ลับสมองกันเป็นประจำ เพราะมันเล่นได้ทุกเพศทุกวัย
    • พยายามทดลองสิ่งใหม่ๆ บ้าง โดยหัดเล่นพวกบอร์ดเกมทั่วๆ ไป เช่น หมากรุก หรืออะไรก็ได้ที่เล่นได้สะดวก ซึ่งมันจะช่วยบริหารสมองได้ดีทีเดียว
    • สมองส่วนใหญ่ของคุณจะถูกกระตุ้น ทุกครั้งที่คุณกำลังเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ส่วนการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ก็ยิ่งดี เพราะมันต้องใข้ทั้งการรับและส่งข้อมูลภายในสมอง ซึ่งถือเป็นเสมือนการลับสมองมากกว่าเดิมเสียอีก
  3. ความทรงจำเป็นสิ่งที่เปราะบางในระยะสั้น ซึ่งสิ่งรบกวนใจเพียงนิดเดียว ก็สามารถทำให้คุณลืมเรื่องที่กำลังจะจำได้แล้ว กุญแจสำคัญในการจำให้ได้ก่อนที่จะลืมก็คือ พยายามใช้เวลาเท่าที่จำเป็น ในการจดจำสิ่งเหล่านั้น โดยหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนใจสักพัก
  4. บ่อยครั้งที่เราลืมเพียงเพราะเราไม่ใส่ใจเท่าที่ควร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับมีความจำแย่แต่อย่างใด เช่น เวลาที่เราพบเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งเรามักจะจำชื่อเสียงเรียงนามของแต่ละคนไม่ได้ โดยเฉพาะในแว้บแรกที่พบหน้ากันอีกครั้ง แต่พอลองรวบรวมสติขึ้นมา ก็กลับนึกขึ้นได้ ซึ่งมันบ่งบอกว่าคุณควรใส่ใจกับการจำให้มากกว่าเดิมเท่านั้นเอง
    • วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณรู้จักช่างสังเกตมากขึ้น ก็คือการหารูปภาพอะไรสักอย่างมาดู สัก 2-3 วินาที จากนั้น ให้ปิดคว่ำมันไว้ และเขียนรายละเอียดทั้งหมดที่คุณพอจะจำได้ลงไปบนกระดาษ โดยพยายามหลับตาและนึกภาพให้ถึงที่สุด โดยคุณควรลองสลับรูปภาพและฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่นานนัก คุณก็จะเริ่มจำได้มากขึ้น แม้ได้เห็นรูปเพียงแค่แวบเดียวก็ตาม
  5. ยิ่งใช้ประสาทสัมผัสมากเท่าไร คุณก็ยิ่งสามารถกระตุ้นสมองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณดึงข้อมูลความจำออกมาได้มากขึ้น ทุกครั้งที่พยายามนึกถึงสิ่งๆ นั้น
    • เขียนมันออกมา เพราะการเขียนจะช่วยให้คุณกระตุ้นสมองไปในตัว ทำให้จำได้แม่นยำขึ้น แต่ทั้งนี้ การพิมพ์ดีดหรือแป้นคีย์บอร์ด จะส่งผลน้อยกว่า
    • เวลาที่เขียนรายละเอียดต่างๆ คุณอาจลองเขียนด้วยลายมือแปลกๆ จากนั้น จึงนำมาอ่านทวน ซึ่งยิ่งตัวอักษรอ่านยากมากเท่าไร สมองคุณก็จะพยายามจำมากขึ้นเท่านั้น
    • ซักซ้อมการจำรายละเอียดต่างๆ ด้วยการบอกรายละเอียดเหล่านั้นกับตัวเองหรือใครสักคน ซึ่งจะเป็นการเอาประสาทด้านการได้ยินเข้าไปร่วมจดจำด้วยอีกแรง ยิ่งหากคุณจำเป็นต้องพูดหรืออธิบายให้ใครสักฟัง สมองคุณก็จะยิ่งจำรายละเอียดเหล่านั้นได้แม่นยำขึ้น
  6. โดยการลองเปลี่ยนตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ให้ไม่เหมือนเดิม เช่น หากคุณกลัวลืมที่จะต้องทานยาทุกเช้า ก็ลองหาอุปกรณ์บางอย่าง เช่น แก้วกาแฟที่คุณใช้ดื่มทุกเช้า มาวางไว้ข้างถุงยาดังกล่าว โดยหลังจากทานยาเรียบร้อยแล้ว จึงจะนำแก้วดังกล่าวไปไว้ที่ประจำของคุณเหมือนเดิม ดังนั้น หากเช้าวันไหนคุณไม่เห็นแก้วกาแฟดังกล่าว ก็จะเอะใจได้ว่ายังไม่ได้ทานยา [7]
    • หากคุณไม่อยากพลาดวันเกิดคนรัก เมื่อถึงช่วงใกล้ๆ วันเกิดดังกล่าวแล้ว คุณก็อาจจะสวมนาฬิกาสลับกับข้างที่คุณสวมประจำ ซึ่งเมื่อคุณยกแขนผิดข้าง เวลาที่จะดูนาฬิกา คุณก็จะนึกได้ว่าต้องรีบหาซื้อของขวัญไว้แล้ว
    • คุณควรจะนึกถึงรายละเอียดที่คุณต้องการจำ ในทุกครั้งที่คุณเคลื่อนไหวอุปกรณ์ช่วย มิฉะนั้น วิธีดังกล่าวอาจไม่ได้ผล นั่นคือ คุณอาจจะไม่เอะใจอะไร
  7. แฟลชการ์ดเป็นการ์ดสี่เหลี่ยมที่คุณสามารถแปะคำถามไว้ด้านหนึ่ง และมีคำตอบแปะไว้อีกด้าน อันจะเป็นประโยชน์มาก หากคุณต้องจำเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาการเรียน แต่ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้ในการจำเรื่องอื่นๆ ได้ โดยเอารูปภาพแปะไว้ด้านหนึ่ง และเอาข้อมูลที่ต้องการเชื่อมโยงกับรูปภาพนั้น แปะไว้อีกด้าน ทั้งนี้ เมื่อคุณใช้แฟลชการ์ดทดสอบความจำตัวเองในแต่ละเรื่อง หากคุณจำใบไหนได้แล้ว ก็ให้วางแยกไว้ต่างหาก เพื่อที่จะมาทดสอบตัวเองอีกครั้งภายหลัง
    • แยกใบที่จำได้ไว้ด้านหนึ่ง และแยกใบที่คุณยังต้องฝึกจำไว้อีกด้านหนึ่ง จากนั้นก็พยายามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจำได้ครบทุกใบ ซึ่งคุณอาจจะพักเบรกได้ตามความเหมาะสม
    • เว้นช่วงสักสองสามวัน จากนั้นลองไปเล่นแฟลชการ์ดเพื่อทดสอบตัวเองดูอีกครั้งว่า ยังจำได้อยู่หรือไม่
  8. หากคุณมาเร่งอ่านเพื่อจะเข้าสอบแบบกะทันหัน โดยพยายามยัดแบบฝึกหัดเก็งข้อสอบเข้าไปมากๆ ก็อาจพอทำได้ในกรณีที่มีการสอบวันรุ่งขึ้น แต่หากไกลกว่านั้น มีโอกาสสูงมากที่คุณจะลืมเมื่อถึงเวลาสอบ ดังนั้น คุณควรเผื่อเวลาให้สมองบ้าง ด้วยการอ่านหรือจำล่วงหน้าตามความเหมาะสม อันจะทำให้จำได้ในระยะยาวกว่า
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

ล่อหลอกความจำ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณมักลืมว่าได้ทานยาตอนเช้าไปหรือยัง ในครั้งต่อไปคุณอาจพูดออกมาดังๆ หลังทานยาว่า “ฉันกินยาไปแล้ว!” เพื่ออัดความจำดังกล่าวเข้าไปในสมอง การพูดดังๆ เช่นนี้ จะช่วยให้คุณจำได้ว่าคุณทานยาไปแล้ว
    • วิธีนี้สามารถใช้ในกรณีที่คุณต้องการจะจดจำชื่อของใครบางคน ที่เพิ่งพบกันให้ได้ด้วย โดยคุณอาจพูดชื่อเขาหรือเธอออกมาแบบเนียนๆ เช่น “สวัสดีครับ คุณต่าย ยินดีที่ได้รู้จัก”
    • นอกจากนี้ ยังใช้ในกรณีต้องการจำสถานที่หรือเวลานัดหมายได้อีก โดยคุณสามารถทวนรายละเอียดทันทีที่นัดกัน เช่น “วงเวียนใหญ่ ตอนทุ่มนึงนะ โอเคตามนั้น”
  2. หากคุณต้องจำเรื่องอะไรใหม่ๆ พยายามหายใจเข้าช้าๆ และลึกกว่าปกติ เพื่อปรับการทำงานของสมองให้มีวงจรไฟฟ้าแบบคลื่นเธต้า ซึ่งเป็นคลื่นแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในสมอง เวลาที่ใครบางคนกำลังถูกสะกดจิตให้หลับ
    • เพื่อกระตุ้นให้เกิดคลื่นเธต้า เปลี่ยนมาหายใจให้ลึกลงไปถึงบริเวณท้องน้อย หรือที่เรียกว่าการหายใจจากช่องท้องนั่นเอง และควรตั้งใจหายใจให้ช้าลงด้วย
    • หลังจากผ่านไปสักพัก คุณจะรู้สึกสงบลง เนื่องจากคลื่นเธต้าไหลผ่านไปทั่วสมอง และเป็นภาวะที่จะช่วยให้คุณพร้อมจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้ดีขึ้น
  3. ใช้เทคนิคที่ได้รับความนิยม ซึ่งคัดมาจากหนังสือคู่มือของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (FDR) ในการจำชื่อบุคคล นั่นคือ เมื่อใครกำลังแนะนำตัว คุณก็นึกภาพชื่อของคนๆ นั้น แปะอยู่บนหน้าผากพวกเขา ซึ่งจะช่วยให้นึกชื่อออกทันทีเมื่อเห็นหน้าเขาหรือเธอ
  4. ผลการวิจัยพบว่า การบีบลูกบอลคลายเครียดลูกเล็กๆ หรือแค่เพียงกำมือให้แน่นเฉยๆ เวลากำลังจำเรื่องอะไร จะช่วยให้คุณจดจำได้ดียิ่งขึ้น [8]
    • ก่อนจะจดจำอะไร บีบลูกบอลดังกล่าวด้วยมือข้างที่คุณใช้บ่อยกว่า เช่น หากคุณถนัดขวา ก็บีบด้วยมือข้างขวา
    • เมื่อต้องการนึกเรื่องดังกล่าว ก็บีบลูกบอลคลายเครียดด้วยมือด้านตรงข้าม ประมาณ 45 วินาที ซึ่งวิธีง่ายๆ นี้ ก็พอจะช่วยให้คุณจดจำเรื่องต่างๆ ได้
  5. วิธีธรรมดาๆ นี้จะช่วยกระตุ้นสมอง และทำให้คุณจดจ่อมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณต้องจำอะไรเป็นเวลามากกว่า 30 นาที
    • ผลการศึกษาบางแห่งพบว่า ความจำด้านจักษุและโสตประสาท จะดีขึ้นเมื่อคนเราเคี้ยวหมากฝรั่ง โดยจะช่วยให้เราจดจ่อมากขึ้น
    • เมื่อคุณต้องการจำอะไรเป็นเวลาน้อยกว่า 30 นาที การเคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ใช่ตัวช่วยที่เหมาะสม
  6. ผลการศึกษาพบว่า การกรอกลูกตาไปมาซ้ายขวาๆ แค่ 30 วินาทีต่อวัน จะเป็นการช่วยเชื่อมการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก และทำให้ความจำคุณทำงานดีขึ้น ลองทำตอนที่คุณตื่นนอนดูก็ได้ [9]
  7. ผลการศึกษาพบว่า การดมกลิ่นโรสแมรี่ จะช่วยให้คุณนึกอะไรออกง่ายขึ้น คุณสามารถนำช่อโรสแมรี่มาประดับใกล้ๆ หรือดมน้ำมันหอมกลิ่นโรสแมรี่ เพียงวันละครั้งก็ได้ ทั้งนี้ ชาวกรีกโบราณมักนำดอกโรสแมรี่มาทัดหูเอาไว้ เวลาที่มีการสอบ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำ [10]
  8. เริ่มด้วยการจำรายชื่อสิบคำนี้ มันง่ายมาก เพราะแต่ละคำเป็นคำที่สัมผัสกับอันดับตัวเลขในรายชื่อ เวลาที่คุณต้องจำสิ่งต่างๆ ให้ใช้รูปแบบสัมผัสคล้องจองแบบนี้ เช่น ถ้าต้องทำความสะอาดแว่นตา คำเอกพจน์ของแว่นตา (glasses) คือ 'glass' ก็จำไปเช่นนี้ ถ้านี่เป็นสิ่งแรกในรายชื่อของคุณ ให้นึกภาพปืน (gun) ซึ่งคล้องจองกับ one กำลังยิงกระจก (glass) อยู่ โดยการเชื่อมโยงเช่นนี้จะทำให้ภาพกิจกรรมที่ต้องทำดั้งเดิมผุดขึ้นมาในหัว รายชื่อก็ว่ากันตามด้านล่างนี้เลย:
    • Gun
    • Shoe
    • Flea
    • Door
    • Dive
    • Sticks
    • Heaven
    • Date
    • Blind
    • Pen
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ปรับปรุงวิถีชีวิต

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. พยายามวางสิ่งที่คุณต้องหยิบใช้บ่อยๆ เช่น กุญแจ หรือแว่นตา ไว้ในที่เดียวกันทุกครั้ง และใช้สมุดจดหรือออร์กาไนเซอร์ในอุปกรณ์สื่อสาร ช่วยเตือนการนัดหมาย กำหนดชำระหนี้ รวมถึงงานอื่นๆ และจดหมายเลขโทรศัพท์กับที่อยู่เอาไว้ในสมุดบันทึก หรือในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ การจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้คุณมีพลังจดจ่อเรื่องอื่นมากขึ้น และเสียเวลาจำเรื่องในชีวิตประจำวันน้อยลง
    • ต่อให้การจัดการบริหารชีวิตประจำวัน ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้น แต่ก็ย่อมเป็นผลดีในด้านอื่นๆ (เช่น คุณจะได้ไม่ต้องเสียเวลาตามหากุญแจอีกต่อไป)
  2. พยายามมีสติกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ดีกว่าทำหลายอย่างพร้อมกัน. การทำหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนกับจะช่วยให้คุณได้ผลงานออกมาเร็วขึ้น แต่ผลการศึกษาพบว่า การทำเช่นนั้นกลับยิ่งทำให้สมองทำงานช้าลง ซึ่งการจดจ่อในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จะช่วยให้คุณจดจ่อมากกว่า ซึ่งส่งผลดีต่อความจำและยังทำให้สมองทำงานเร็วขึ้น
    • การจดจำบางอย่างเข้าไปในสมอง ปกติแล้วจะใช้เวลาอย่างน้อย 8 วินาที ซึ่งหากคุณทำหลายอย่างพร้อมกัน รายละเอียดมันมักจะหลุดลอยไปก่อนจะครบ 8 วินาที นั่นคือสาเหตุที่คุณมีแนวโน้มจะลืมรายละเอียดดังกล่าว
    • การฝึกเจริญสติ คุณแค่ต้องหัดมีสมาธิและจดจ่อในสิ่งที่ทำครั้งละเรื่องเท่านั้น หากคุณต้องการจะจำข้อมูลรายละเอียดเรื่องใด ก็พยายามใช้เวลาอย่างน้อย 8 วินาทีในการจดจำเรื่องนั้น
  3. การแอโรบิกทุกวันจะช่วยเสริมสร้างระบบไหลเวียนเลือดลมทั่วร่างกาย รวมถึงสมองด้วย และยังป้องกันการสูญเสียความจำที่มักเกิดขึ้นในวัยชรา นอกจากนี้ การออกกำลังยังช่วยให้ผ่อนคลายและตื่นตัว ซึ่งช่วยให้คุณจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เนื่องจากมีจินตภาพที่แจ่มชัดขึ้น
    • การเดินแค่ 30 นาทีต่อวัน ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่สุดยอดแล้ว
    • เซลล์ประสาทจะสร้างนิวโรโทรปิค (Neurotropic) ขึ้นมา ระหว่างที่เราออกกำลังกาย อันเป็นโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง
    • การออกกำลังยังช่วยให้เลือดสูบฉีดไปสู่สมองดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้นด้วย
    • มีผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งแบบพอเหมาะและแบบโหมหนัก จะช่วยเพิ่มศูนย์กลางความจำในสมองให้มากขึ้นประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่หากไม่หมั่นออกกำลังกาย สมองส่วนดังกล่าวจะคงที่หรืออาจมีประสิทธิภาพลดลงด้วย
  4. ความเครียดเรื้อรังมีผลกระทบทางกายภาพต่อสมอง และทำให้จำเรื่องต่างๆ ได้ยากขึ้น หลังจากเครียดเป็นเวลานานๆ สมองจะได้รับผลกระทบและเสื่อมลง ถึงแม้ว่าความเครียดอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เราสามารถควบคุมมันได้ เพราะหากปล่อยให้เครียดแม้เพียงชั่วคราว ก็ยังสามารถทำให้สมองจดจ่อและสังเกตการณ์ได้ยากขึ้น ซึ่งในกรณีที่เครียดเรื้อรัง สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หรือส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ก็จะได้รับความเสียหาย
    • พยายามผ่อนคลาย และยืดเส้นยืดสาย หรือฝึกโยคะ และไปปรึกษาแพทย์ทันทีที่คุณมีอาการเครียดเรื้อรังและรุนแรง
    • ทำสมาธิอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน จะช่วยให้คุณมีจังหวะการหายใจช้าลง และช่วยผ่อนคลาย ทำให้คุณโฟกัสได้ดีขึ้น
    • ลดการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน ซึ่งมีผลทำให้คุณเครียดและวิตกกังวลได้ง่าย
    • ลองนวดตัวเอง หรือให้คนรอบข้างนวดให้ จะช่วยให้ร่างกายคุณผ่อนคลาย
    • ลดความเครียดด้วยการไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ให้มากขึ้น การเข้าสังคมและพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น จะช่วยพัฒนาความจำของคุณ
    • ความเครียดและวิตกกังวลยังส่งผลให้คุณจดจำและจดจ่อได้ยากขึ้น ดังนั้น หากคุณเป็นโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้
  5. [11] การหัวเราะจะช่วยให้สมองหลายๆ ส่วน ผ่อนคลาย รวมถึงส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำด้วย
    • การหัวเราะจะมีผลดีมากยิ่งขึ้น หากมีผู้อื่นร่วมด้วย ผลการศึกษาพบว่า การสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่กับสัตว์เลี้ยง จะช่วยลดอัตราความจำเสื่อมเมื่อถึงวัยชรา
  6. มีสมุนไพรสกัดมากมายในท้องตลาด ที่อวดอ้างว่าช่วยในการเสริมสร้างความจำ แต่ยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันในเรื่องดังกล่าวเลยสักชิ้นเดียว แต่แน่นอนว่า อาหารที่อุดมโภชนาการย่อมส่งผลดีต่อสมอง และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น บร็อคโคลี่ บลูเบอร์รี่ และผักโขม และกรดไขมันโอเมก้า-3 ก็มีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง [12]
    • เสริมอาหารให้สมองของคุณด้วยแร่ธาตุไธอามีน ไนอาซิน และวิตามินบี 6
    • อาหารอื่นๆ ที่ดีต่อสมอง ก็อย่างเช่น ชาเขียว กะหรี่ ขึ้นฉ่าย บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก วอลนัท ปู ถั่วลูกไก่ เนื้อแดง บลูเบอร์รี่ และไขมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (เช่น เนยออร์แกนิค น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว ถั่ว อะโวคาโด ปลาแซลมอน และปลาอื่นๆ ที่อุดมด้วยไขมัน) อาหารที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยปกป้องสมอง และเสริมสร้างเซลล์ประสาท
    • เพิ่มขนาดการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า-3 แต่ลดขนาดบริโภคอาหารที่มีไขมันโอเมก้า-6 ลง ทั้งนี้ ไขมันโอเมก้า-3 มีอยู่มากในปลาแซลมอน รวมถึงสัตว์จากแหล่งเดียวกัน ในขณะที่ไขมันโอเมก้า-6 ส่วนใหญ่จะพบน้ำมันพืชแปรรูปต่างๆ
    • คุณควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตประเภทเมล็ดต่างๆ เพราะอาหารดังกล่าวอาจมีผลเสียต่อสมองของคุณ นอกจากนี้ พวกอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและให้กำลังงานสูง ก็เชื่อกันว่ามีผลเสียต่อความจำระยะยาวเช่นกัน
    • ไวน์แดงสามารถช่วยในเรื่องความจำ หากดื่มแต่พอประมาณ โดยผู้หญิงไม่ควรเกินหนึ่งแก้ว และผู้ชายไม่ควรเกินสองแก้วต่อวัน มิฉะนั้น ให้ส่งผลเสียต่อความทรงจำ การดื่มแต่เพียงน้อย สารเรสเวอราทรอล ฟลาโวนอยด์ (resveratrol flavonoid) ที่อยู่ในไวน์ จะเพิ่มการสูบฉีดเลือดและออกซิเจนในสมอง ทั้งนี้ น้ำองุ่น น้ำแครนเบอร์รี่ เบอร์รี่สด และถั่วลิสง ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน
    • การทานอาหารแต่เพียงน้อย โดยแบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ แทนที่จะทานหนักๆ 3 มื้อ มีผลช่วยในการพัฒนาการทำงานของสมองส่วนความจำ ด้วยการลดระดับน้ำตาลในเลือดอันส่งผลเสียต่อสมอง
  7. พยายามเพิ่มปริมาณวิตามินดี ในการบริโภคอาหาร. มีผลการศึกษาพบว่า หากร่างกายได้รับวิตามินดีน้อยไป จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิด [13] หากตัวรับวิตามินดีในสมองได้รับการกระตุ้น เซลล์ประสาทในสมองจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งระบบเผาผลาญวิตามินดีในร่างกาย จะอยู่ในบริเวณสมองส่วนที่เสริมสร้างความทรงจำใหม่ๆ
    • การตากแดดมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง แต่การได้รับแสงแดดอย่างพอเหมาะ จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีตามธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตในผู้ใหญ่
    • การทานวิตามินดี 3 เสริมในแต่ละวัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีอย่างพอเพียง
  8. การนอนหลับจะช่วยเสริมสร้างภาวะยืดหยุ่นของสมอง หรือศักยภาพในการเติบโตของสมองนั่นเอง ซึ่งทำให้สมองส่วนควบคุมพฤติกรรมและความจำทำงานได้ดีขึ้น ระยะเวลาในการนอนของคนเราจะส่งผลต่อความสามารถในการนึกรายละเอียดต่างๆ ที่สมองเพิ่งได้รับรู้ ผลการศึกษาจาก Harvard Medical School ระบุว่า เราควรนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อผลดีต่อความจำระยะสั้นและความจำระยะยาวที่เกี่ยวเนื่องกัน
    • พยายามนอนหลับประมาณ 7-10 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะที่สุด สำหรับผู้ใหญ่ คือ 8 ชั่วโมง
    • พยายามเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน จะช่วยให้คุณรู้สึกได้พักผ่อนเต็มที่
    • ใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงบนเตียง เพื่ออ่านหนังสือหรือผ่อนคลายก่อนเข้านอน ปิดโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสิ่งเร้าอื่นๆ อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน
    • การงีบหลับระหว่างวัน จะช่วยให้คุณสดชื่นและเสริมประสิทธิภาพการจำได้
    • สมองของคุณจะทำการบีบอัดข้อมูลต่างๆ ลงไปเป็นความทรงจำระยะยาว ในระหว่างที่คุณกำลังหลับ ซึ่งหากคุณไม่ยอมหลับยอมนอน กระบวนการดังกล่าวก็เกิดขึ้นไม่ได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เวลาเรียนหรือติวหนังสือ พยายามพักเบรกบ่อยๆ จากนั้น ยืดเส้นยืดสาย เช่น เดินขึ้นลงบันไดสักสองสามรอบ ประมาณสิบนาทีจึงค่อยกลับไปต่อ
  • เกมส์บางประเภทช่วยเสริมสร้างความจำ คุณควรหามาเล่นบ้าง จะช่วยได้มากทีเดียว
  • พยายามฝึกจำเพลงหรือกลอนโปรด จนกว่าคุณจะจำและท่องได้อย่างชำนาญ และหากคุณชอบแต่งเพลงหรือกลอน ก็อาจจะใช้ทักษะดังกล่าวในการช่วยจำด้วยการแต่งเพลงหรือบทกลอนเกี่ยวกับมัน
  • พยายามจดงานหรือเหตุการณ์ที่คุณต้องการจำลงไปทันที แต่หากคุณไม่มีอะไรที่ใช้จดได้ ก้สามารถใช้วิธีตั้งนาฬิกาให้เวลาไม่ตรง ซึ่งเมื่อคุณมาเห็นภายหลัง คุณก็จะเอะใจ และนึกถึงเรื่องที่คุณจำเป็นต้องทำขึ้นมาได้เอง ทั้งนี้ คุณอาจจะใช้วิธีสวมนาฬิกากลับด้าน ก็ได้เหมือนกัน
  • คุณอาจฝากข้อความทางโทรศัพท์ถึงตัวเอง เพื่อเตือนเกี่ยวกับงานสำคัญที่คุณ “ต้องทำ”
  • เอาปากกาดำทำจุดไว้ที่ปลายฝ่ามือ หรือบริเวณใกล้ๆ ข้อมือคุณ เพื่อช่วยในการจำเรื่องที่คุณต้องทำในวันนั้น หรือวันถัดไป เมื่อคุณเห็นจุดดำดังกล่าว ก็จะนึกขึ้นได้เอง
  • เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในบันทึกส่วนตัวทุกวัน อย่าให้ขาด เพื่อให้มั่นใจว่า คุณไม่พลาดแม้แต่เรื่องเล็กน้อยของชีวิต
  • พยายามฝึกจำลำดับของไพ่ในสำรับ ซึ่งถึงแม้จะดูไร้วัตถุประสงค์ แต่มันเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้คุณค้นพบวิธีการจำที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
  • พยายามนึกให้ออกด้วยตัวเองว่า อ่านหนังสือหรือไฟล์เอกสารถงหน้าไหนแล้ว แทนที่จะใช้แต่บุ๊คมาร์คหรือที่คั่นหนังสือ
  • ฝึกจินตภาพสิ่งที่คุณต้องทำ ให้เห็นเป็นภาพเดียวกับสิ่งที่คุณเห็นอยู่ทุกวัน เช่น หากคุณต้องให้สุนัขของคุณทานยา ก็สามารถใช้การจินตภาพว่า สุนัขของคุณอยู่ในตู้เย็น ทุกครั้งที่คุณเดินผ่านหรือเปิดตู้เย็น จะช่วยให้คุณคำนึงถึงสุนัขของคุณอยู่เสมอ
โฆษณา

คำเตือน

  • พยายามจัดการปัญหาต่างๆ ในชีวิตให้เรียบร้อย เพราะการมีจิตใจสงบ เป็นรากฐานที่ดีของความจำที่ดี
  • หากคุณรู้สึกว่า ความจำของตัวเองเสื่อมอย่างรุนแรงหรือกะทันหัน ควรไปปรึกษาแพทย์ด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะความจำเสื่อม
  • พยายามใช้ความรอบคอบในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ช่วยเสริมสร้างความจำ โดยการค้นหาข้อมูลให้ละเอียด และตัดสินใจให้ดีว่า แบบไหนได้ผลและเหมาะกับคุณที่สุด จำไว้ว่า การเสริมสร้างความจำที่ดีที่สุด จำเป็นต้องใช้เวลาและการฝึกฝน หากผลิตภัณฑ์ใดอวดอ้างว่าเห็นผลในทันที พยายามระวังเอาไว้ก่อน เพราะอาจจะเป็นการหลอกลวง
  • ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบางประเภทที่อ้างสรรพคุณเสริมสร้างความจำ อาจจะได้ผลจริง แต่ก็ยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ และแม้ส่วนใหญ่จะไม่มีผลข้างเคียง แต่บางผลิตภัณฑ์ก็อาจมีผลข้างเคียง แถมยังอาจไม่ได้มีส่วนผสมตามที่ระบุไว้ด้วย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 25,259 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา