ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

สึนามิคือคลื่นทำลายล้างแสนอันตรายที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือเหตุผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเล ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คลื่นสึนามิได้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง คุณจะต้องเตรียมพร้อม ระแวดระวัง และสงบสติอารมณ์ให้มั่น เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากสึนามิ บทความนี้จะบอกขั้นตอนการเอาชีวิตรอดจากสึนามิให้คุณได้รู้ ขอให้คุณตั้งใจทำความเข้าใจและทำตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

เตรียมตัวล่วงหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจความเป็นไปได้ที่จะมีอันตรายเกิดขึ้นในอนาคต. คุณควรรู้ว่าสถานที่ที่คุณอาศัยอยู่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิหรือไม่ สึนามิอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของคุณได้ หากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้:
    • บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงานของคุณอยู่ในเขตชายฝั่งใกล้กับทะเล
    • ความสูงของตัวบ้าน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงานอยู่ในระดับน้ำทะเล เตี้ยมาก หรือสูงขึ้นจากพื้นดินไม่มากนัก หากคุณไม่รู้ระดับความสูงของบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน ก็ให้หาข้อมูลเสีย หน่วยงานท้องถิ่นบางหน่วยจะเตือนภัยโดยพิจารณาระดับความสูงของอาคาร
    • มีป้ายเตือนว่าพื้นที่นี้มีโอกาสที่จะเกิดสึนามิได้
    • หน่วยงานท้องถิ่นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิ
    • แนวป้องกันชายฝั่งตามธรรมชาติอย่างเนินทรายกั้นน้ำถูกเอาออก เพราะมีการก่อสร้าง
  2. โปรดระวังหากเขตชายฝั่งของคุณเคยเกิดสึนามิมาแล้วในอดีต. ค้นหาข้อมูลหรือถามข้อมูลจากสำนักงานการปกครองท้องถิ่น สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินส่วนกลาง (FEMA) ก็มีเว็บไซต์ให้คุณหาข้อมูลความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมบนอินเตอร์เน็ตได้ [1]
    • สึนามิส่วนใหญ่จะเกิดในแนว "วงแหวนไฟ" ซึ่งเป็นรอยต่อของเปลือกโลกในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อาจเกิดแผ่นดินไหวได้ [2] ชิลี ตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์เป็นพื้นที่เสี่ยงที่สุด
  3. หากมีสึนามิ (หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ) เกิดขึ้น คุณก็จะต้องมีของใช้สำหรับเอาชีวิตรอดที่หยิบได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยได้มากหากคุณเตรียมถุงยังชีพและอุปกรณ์เอาชีวิตรอดเอาไว้แล้ว
    • เตรียม ถุงยังชีพ อาหาร น้ำ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ของเหล่านี้คือของใช้พื้นฐานที่จำเป็น เก็บถุงยังชีพไว้ในที่ที่ทุกคนรู้และสามารถหยิบได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณอาจจะเก็บชุดกันฝนหรือเสื้อกันหนาวสำหรับแต่ละคนไว้ข้างๆ ถุงยังชีพด้วยก็ได้
    • เตรียม อุปกรณ์เอาชีวิตรอดส่วนบุคคล สำหรับทุกคนในครอบครัว และอุปกรณ์เอาชีวิตรอดส่วนรวมที่มีของใช้จำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงยาที่จำเป็นสำหรับสมาชิกแต่ละคนด้วย อย่าลืมของใช้จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วยล่ะ
  4. คุณควรเตรียมแผนอพยพไว้ล่วงหน้าก่อนจะเกิดเหตุให้ใช้ โดยเริ่มพิจารณาจากครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน และชุมชน หากจำเป็นก็ควรเริ่มเตรียมแผนอพยพสำหรับชุมชนด้วย หากชุมชนของคุณยังไม่เคยมีการเตรียมการมาก่อน ก็ให้เริ่มต้นเตรียมแผนด้วยตนเอง แล้วจึงร่วมวางแผนกับหน่วยงานท้องถิ่นและผู้อาศัยอยู่ในชุมชน หากไม่มีแผนอพยพและระบบเตือนภัยท้องถิ่น คุณ ครอบครัว และคนในชุมชนทั้งหมดก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อเกิดและหลังเกิดสึนามิ ด้านล่างนี้คือวิธีการเตรียมแผนอพยพที่ดี:
    • ปรึกษากับครอบครัวและเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับแผนการอพยพ ตัวอย่างเช่น คุณจะไปรวมตัวกันที่ไหนเมื่อเกิดสึนามิ [3]
    • ฝึกการอพยพเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกในชุมชนทุกคนเข้าใจว่าตัวเองต้องทำอะไรและไปที่ไหนเมื่อมีการใช้แผนอพยพ
    • เตรียมแผนสำหรับการอพยพสมาชิกทุกคนในชุมชน รวมถึงแผนการช่วยเหลือคนพิการหรือคนป่วยด้วย
    • สมาชิกทุกคนจะต้องเข้าใจความหมายของสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า ทำแผ่นพับหรือจัดการบรรยายเพื่อสร้างความเข้าใจให้ทุกคนตระหนัก
    • เตรียมเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยไว้หลายเส้นทาง เพราะมีความเป็นไปได้ที่แผ่นดินไหวจะทำลายถนนและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ จนปิดเส้นทางอพยพบางเส้น
    • พิจารณาว่าควรมี ที่หลบภัย แบบไหนในเขตอพยพ แล้วต้องสร้างที่หลบภัยเตรียมไว้ล่วงหน้าหรือไม่?
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

สังเกตสัญญาณของการเกิดสึนามิ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณอาศัยอยู่ในเขตชายฝั่ง การเกิดแผ่นดินไหวก็เป็นสัญญาณให้คุณตื่นตัวและอพยพทันที
  2. ระวังเวลาที่ระดับน้ำแถวชายฝั่งขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว. หากระดับน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว (ถอยออกจากฝั่ง) จนเผยให้เห็นผืนทรายโล่ง มันเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่บอกว่าจะเกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่งในเร็วๆ นี้
  3. สังเกตสัตว์ที่หนีออกจากพื้นที่หรือมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม เช่น พยายามเข้ามาหลบภัยในบ้านมนุษย์ หรือรวมกลุ่มกันแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน [4]
  4. สังเกตการเตือนภัยจากชุมชนและหน่วยงานปกครอง. หากมีการประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานท้องถิ่น คุณก็ควรสนใจฟัง คุณควรรู้ล่วงหน้าว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะประกาศเตือนภัยผ่านทางไหน เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดหรือละเลยคำเตือนเมื่อมีการประกาศ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการเตือนภัยให้ครอบครัว เพื่อน เพื่อนบ้าน และคนในชุมชนรู้ หากหน่วยงานท้องถิ่นมีแผ่นพับ เว็บไซต์ หรือแหล่งข้อมูลอื่น ก็ให้ขอสำเนาเพื่อนำไปแจกจ่าย หรือร้องขอให้หน่วยงานท้องถิ่นทำหน้าที่ประกาศเตือนภัย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

อพยพเมื่อเกิดสึนามิ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากเกิดสึนามิขึ้น ให้ ทิ้งสมบัติไป รักษาชีวิตไว้ การพยายามขนสมบัติส่วนตัวไปด้วยอาจทำให้คุณอพยพช้าและเสียเวลาอันมีค่าไป หยิบถุงยังชีพกับอะไรก็ได้ที่ให้ความอบอุ่นแก่คุณได้ รวมตัวกับสมาชิกในครอบครัว และอพยพทันที ผู้ที่รอดชีวิตจากสึนามิจะอพยพอย่างรวดเร็ว และมักจะไม่ห่วงเก็บสมบัติส่วนตัว
  2. สิ่งที่คุณควรทำเป็นอันดับแรกหากเป็นไปได้ คือการอพยพไปให้ ไกล จากชายฝั่ง ทะเลสาบน้ำเค็ม และแหล่งน้ำอื่นๆ มุ่งไปยังที่สูงซึ่งอาจจะเป็นหุบเขาหรือภูเขา อย่าหยุดจนกว่าคุณจะอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร และอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 100 ฟุต (30 เมตร) [5]
    • เตรียมแผนสำรองเผื่อเกิดกรณีที่ถนนถูกสึนามิซัด [6] หากคุณวางแผนจะใช้ถนนไปถึงที่หมาย ก็ควรคิดให้รอบคอบ การเกิดสึนามิที่รุนแรงอาจจะทำให้ถนนหายไปได้ ทั้งจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หรือจากการซัดของตัวคลื่นสึนามิเอง คิดให้ดีว่าคุณควรอพยพโดยใช้เส้นทางไหน และควรพกเข็มทิศไว้ในชุดอุปกรณ์เอาชีวิตรอดด้วย
  3. หากคุณไม่สามารถอพยพเข้าฝั่งเพราะเส้นทางถูกปิด ให้ปีนขึ้นที่สูงแทน แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาจจะพังลงได้ แต่ถ้านี่เป็นทางเลือกเดียวของคุณ ก็ให้เลือกอาคารสูงที่ดูแข็งแรงและทนทาน ขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ คุณจะขึ้นไปถึงหลังคาเลยก็ได้ [7]
  4. วิธีนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากเส้นทางอพยพถูกปิด และคุณไม่สามารถอพยพเข้าฝั่งหรือขึ้นอาคารสูงได้ ให้หาและปีนขึ้นต้นไม้ที่สูงและดูมั่นคงแทน อย่างไรก็ตาม การปีนขึ้นต้นไม้ก็มีความเสี่ยงที่ต้นไม้อาจจะถูกถอนรากถอนโคนเมื่อโดนคลื่นสึนามิซัด ดังนั้นวิธีนี้จึงควรใช้ก็ต่อเมื่อคุณไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เท่านั้น ยิ่งต้นไม้แข็งแรงเท่าไร สูงเท่าไร และมีกิ่งก้านที่มั่นคงเท่าไร (คุณจะต้องอยู่บนนั้นหลายชั่วโมง) โอกาสรอดของคุณก็จะสูงขึ้นเท่านั้น [8]
  5. หากคุณไม่สามารถอพยพได้ และโดนคลื่นสึนามิซัด คุณก็ยังพอมีทางรอดชีวิตได้อยู่
    • คว้าอะไรก็ได้ที่ลอยน้ำได้ ใช้ของที่ลอยน้ำได้แทนแพเพื่อไม่ให้คุณจม เช่น ขอนไม้ ประตู อุปกรณ์ตกปลา และสิ่งของอื่นๆ ที่อาจจะลอยไปตามน้ำกับคุณ [9]
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

เอาชีวิตรอดจากภัยที่เกิดหลังสึนามิ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สึนามิจะมาในรูปแบบของคลื่น จะมีคลื่นหลายลูกซัดเข้ามามากมายเป็นชั่วโมง และคลื่นลูกที่ตามมาทีหลังก็อาจจะใหญ่กว่าคลื่นลูกล่าสุด [10]
  2. คอยฟังรายงานสถานการณ์ปัจจุบันจากวิทยุ อย่าเชื่อสิ่งที่เล่ากันปากต่อปาก การรออยู่กับที่ดีกว่าการกลับไปเร็วและโดนคลื่นลูกใหม่ซัด
  3. รอจนกว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะประกาศว่า "ปลอดภัย. " เมื่อมีการประกาศแล้วคุณจึงกลับบ้านได้ คุณควรรู้ล่วงหน้าว่าหน่วยงานท้องถิ่นจะประกาศผ่านทางไหน ถนนอาจจะโดนคลื่นสึนามิซัดจนเสียหายอย่างหนัก คุณอาจจะต้องใช้เส้นทางอื่น [11] แผนอพยพฉุกเฉินที่ดีควรจะคาดการณ์ถึงเรื่องนี้และมีเส้นทางหรือสถานที่รวมตัวสำรองด้วย
  4. รู้ว่าการเอาชีวิตรอดจะยังไม่จบ หลัง สึนามิผ่านไป. เมื่อสึนามิผ่านไปแล้ว ก็จะเหลือแต่ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนที่เสียหาย อาจจะมีศพของผู้เสียชีวิต แหล่งน้ำสะอาดอาจถูกทำลายหรือถูกขวางกั้นทางน้ำ อาจไม่มีอาหารเหลืออยู่ อาจเกิดโรคแพร่ระบาด ความเครียดจากเหตุภัยพิบัติ ความเศร้าโศก ความอดอยาก และอาการบาดเจ็บ ซึ่งอาจจะทำให้ช่วงเวลาหลังเกิดสึนามิมีความเสี่ยงพอๆ กับช่วงที่เกิดสึนามิได้เลย แผนฉุกเฉินควรจะคาดการณ์ถึงผลที่ตามมาหลังเกิดภัยพิบัติด้วย และคุณควรจะมีแผนใช้ปกป้องตัวเอง ครอบครัว และคนในชุมชนด้วย
  5. หากหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีแผนฟื้นฟู ก็ควรเรียกร้องให้มีหรือรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อสร้างแผนฟื้นฟูหลังภัยสึนามิ แผนการที่ช่วยให้อยู่รอดหลังเกิดสึนามิอาจมีดังนี้:
    • จัดหาน้ำสะอาดเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำขวดหรือน้ำกรอง และควรมีน้ำสำหรับใช้ยามฉุกเฉินเก็บไว้ในชุมชนด้วย
    • เปิดบ้านและอาคารที่ไม่เสียหายให้คนเข้าไปอยู่ ช่วยเหลือคนเจ็บและคนป่วย โดยให้ที่พักพิงแก่พวกเขา [12]
    • ควรมีเครื่องปั่นไฟที่ให้พลังงานมากพอที่จะปรุงอาหาร รักษาความสะอาดและสุขอนามัย รักษาคนป่วย และสร้างบริการขนส่งได้
    • จัดที่พักพิงชั่วคราวและแจกจ่ายอาหาร
    • รักษาคนป่วยและคนเจ็บให้เร็วที่สุด
    • ดับเพลิงไหม้และแก๊สรั่ว
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • สอนให้ลูกรู้วิธีการอพยพ และพยายามรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันไว้ สอนให้ลูกเข้าใจวิธีการอพยพพื้นฐาน เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ว่าควรไปรวมตัวที่ไหน หากพวกคุณเกิดพลัดหลงกัน เพราะคุณอาจจะไม่สามารถปกป้องลูกคุณได้ หากคลื่นน้ำซัดเข้ามาอย่างแรง ดังนั้นจงสอนให้ลูกรู้วิธีการเอาตัวรอดเมื่อพลัดหลงกันล่วงหน้า
  • ขณะที่คุณกำลังรีบออกห่างจากทะเล ให้เตือนผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตะโกนประโยคสั้นๆ ได้ใจความอย่าง "สึนามิ! รีบขึ้นที่สูงเร็ว!" แต่อย่าหยุดวิ่ง เมื่อน้ำทะเลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว คุณก็อาจมีเวลาหนีแค่สองนาทีก่อนที่สึนามิจะมาถึง
  • เมื่อไรก็ตามที่คุณได้ยินประกาศเตือนภัยสึนามิจากทางการ อย่าละเลยหรือมัวรีรอ ให้เตรียมตัวอพยพออกจากพื้นที่ และขึ้นที่สูงในทันที อย่ามัวแต่ยึดติดกับสิ่งของ คุณควรรีบเตรียมตัวและหนีจากสึนามิให้ไว คุณจะตายหากท้าทายอำนาจของธรรมชาติและฝ่าน้ำเข้าไปเก็บสมบัติส่วนตัว
  • ทางที่ดีที่สุดคุณควรหาบ้านที่ไกลจากชายฝั่งหรือบ้านที่อยู่บนที่สูง และหลบอยู่ในนั้นก่อนจะเกิดสึนามิ
  • หากมีการตรวจพบสึนามิจากระยะไกล เมืองใหญ่ๆ จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนสึนามิจะมาถึง ดังนั้นจงอย่าละเลยคำเตือน!
  • เมื่อได้ยินประกาศเตือนว่าสึนามิกำลังมา ให้คว้าชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินและขับรถออกห่างจากฝั่งเข้าเมือง พักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะมีประกาศจากหน่วยงานว่า "ปลอดภัย"
  • หากคุณถูกคลื่นสึนามิซัด ให้พยายามว่ายน้ำหรือจับยึดอะไรไว้
  • หากคุณอยู่ที่ชายหาดและเห็นระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกต ให้อพยพทันที นี่ไม่ใช่คำเชิญให้คุณเข้าไปสำรวจ แต่เป็นสัญญาณบอกให้ วิ่ง ไปทิศตรงข้าม
  • ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วจะกลับมาในรูปแบบของคลื่นซัดในเวลาไม่นาน
  • สอนให้เด็กรู้จักสังเกตสัญญาณของการเกิดสึนามิ เคยมีเด็กสิบขวบชื่อ Tilly Smith ช่วยชีวิตครอบครัวและคนอื่นๆ ด้วยการเตือนถึงการมาของสึนามิในปี ค.ศ. 2004 เพราะเธอจำสิ่งที่ครูสอนในคาบวิชาภูมิศาสตร์ได้ [13]
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่ารอประกาศเตือนภัยอย่างเดียว ถ้าคุณคิดว่าสึนามิกำลังมา ก็ให้อพยพทันที
  • ฟังคำแนะนำจากตำรวจเมื่อสึนามิกำลังมา หน่วยงานจะแนะนำวิธีการเอาตัวรอดผ่านวิทยุ ดังนั้นคุณควรตั้งใจฟังให้ดี
  • สาเหตุหลักของการเสียชีวิตระหว่างที่เกิดสึนามิคือการจมน้ำ สาเหตุรองลงมาคือถูกน้ำซัดกระแทกกับซากปรักหักพัง
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • อาหาร
  • น้ำสะอาด
  • อุปกรณ์ปฐมพยาบาลหนึ่งชุด - ต่อหนึ่งครอบครัวหรือหนึ่งกลุ่ม
  • เสื้อผ้าที่แห้งและอุ่น ชุดกันน้ำหรือเสื้อกันฝนอย่างละหนึ่งชุด - ต่อคน
  • ยารักษาโรคประจำตัวสำหรับคนที่ต้องการ เช่น ยารักษาโรคหอบหืด ยารักษาโรคหัวใจ
  • ไฟฉายและถ่านหนึ่งชุด - ต่อหนึ่งครอบครัวหรือหนึ่งกลุ่ม
  • อาหารและน้ำสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน
  • เสื้อผ้าสักสองชุด - ต่อคน
  • แม่เหล็กหนึ่งคู่ - ต่อหนึ่งครอบครัวหรือหนึ่งกลุ่ม
  • วิทยุแบบใช้แบตเตอรี่หรือแบบปั่นไฟหนึ่งเครื่อง - ต่อหนึ่งครอบครัวหรือหนึ่งกลุ่ม
  • หมอน (แบบเป่าลม) หนึ่งใบ – ต่อคน
  • โทรศัพท์มือถือ
  • ผ้าห่ม
  • มีดอเนกประสงค์
  • เงินฉุกเฉิน
  • สำเนาเอกสารสำคัญ เช่น ใบแจ้งเกิด พินัยกรรม บัตรประชาชน

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 33,548 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา