ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

หนูตะเภา (Guinea pigs) นั้นเป็นสัตว์สังคม ตามธรรมชาติอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ถึงจะกลายเป็นหนูบ้าน ก็ยังชอบคบหาสมาคมกับสัตว์ตัวอื่น เพราะฉะนั้นถ้าคุณหาหนูตะเภามาเลี้ยงอีกตัว ก็จะทำให้ชีวิตหนูตัวเดิมของคุณนั้นดี๊ดี แต่หนูตะเภานั้นก็หวงถิ่นอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกการเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาหนูปรับตัวหน่อย อ่านบทความนี้เลย จะได้รู้ขั้นตอนที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงในการเตรียมตัวและแนะนำหนูตะเภาให้รู้จักกัน [1]

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เพศของหนูเป็นเรื่องสำคัญ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เพศของหนูตะเภาถือเป็นเรื่องสำคัญเวลาจะแนะนำให้รู้จักกัน เพราะฉะนั้นคุณต้องรู้ก่อนว่าตัวไหนเพศอะไร ปกติพนักงานขายตามร้านก็ใช่ว่าจะดูออกเสมอไป ยิ่งถ้าคุณซื้อตามร้านแบบรวมสัตว์เลี้ยงหลายชนิด ยิ่งมีโอกาสพลาดเข้าไปใหญ่ [2]
    • ให้คุณสำรวจเพศหนูตะเภาบนพื้นหรือโต๊ะเตี้ยๆ เพราะถ้าหนูดิ้นหลุดจะได้ไม่ตกพื้นแล้วเจ็บ อุ้มหนูตะเภาไว้แบบเบามือ แต่ก็ต้องแน่นพอโดยเฉพาะรอบอกและไหล่ แยกขาหลังออกจากกันแล้วสำรวจเพศเลย [3]
    • ถ้าเป็นตัวผู้ รูก้นกับตรงนั้นจะห่างกันมากกว่าตัวเมีย [4]
    • ตรงนั้นของตัวผู้จะหน้าตาเหมือนจุดกลมๆ แต่ถ้าเป็นตัวเมียจะเป็นรอยผ่าเล็กๆ เหมือนตัว Y [5]
    • ตรงนั้นของตัวผู้จะป่องออกมานิดๆ แต่ถ้าเป็นตัวเมียจะแบนแต๊ดแต๋ [6]
  2. คำว่า "จับคู่ผิดชีวิตเปลี่ยน" นี่ใช้กับหนูตะเภาได้เสมอ
    • ลูกหนูตะเภาเพศเดียวกัน อยู่ด้วยกันแล้วแจ๋วแบบสุดๆ ไปเลย โดยจะเริ่มจากการเป็นผ้าขาวแล้วเติบโตมีพัฒนาการไปพร้อมกัน [7]
    • ถ้าคุณมีหนูตะเภาที่โตกว่า แล้วพาลูกหนูเพศเดียวกันมาเพิ่มก็ยังโอเค เพราะตัวที่โตกว่าจะไม่รู้สึกว่าน้องจิ๋วมาคุกคาม เลยไม่หวงถิ่น [8]
    • ให้ทำหมันตัวผู้ก่อนพาไปรู้จักกับตัวเมียจะดีที่สุด แต่ทำหมันหรือไม่ทำหมันก็ห้ามใส่ตัวผู้เกิน 1 ตัวไว้กับตัวเมียเด็ดขาด รับรองว่าเลือดตกยางออก แย่งตัวเมียกันแน่ [9]
    • หนูตะเภาตัวเมียที่โตเต็มวัยจะเข้ากันง่ายกว่าหนูตะเภาตัวผู้ด้วยกัน [10]
  3. ถ้ามีหนูตะเภาตัวผู้แบบโตเต็มวัย 2 ตัว ต้องกรงใหญ่หน่อย. ก็หนูตะเภาตัวผู้น่ะหวงถิ่นซะขนาดนั้น แต่ถ้าอยากให้เจอกันจริงๆ ก็ต้องระวังไว้ให้มากๆ
    • อยากให้หนูตะเภาตัวผู้อยู่กันแบบสันติสุข ต้องอาศัยกรงที่โอ่อ่ากว้างขวาง มีที่อยู่ที่กินที่ซ่อนแยกกันชัดเจน ทุกอย่างในกรงต้องหาร 2 อย่างบ้านสำหรับหลบมุมก็ต้องมีทางออก 2 ทาง ตัวใดตัวหนึ่งจะได้ไม่ต้อนหรือขวางทางอีกตัว [11]
  4. ถ้าคุณเลี้ยงตัวผู้ไว้แล้ว 2 ตัว หนูตะเภาตัวใหม่ควรเป็นตัวผู้ ไม่ใช่ตัวเมีย. [12]
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

แนะนำหนูให้รู้จักกัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หนูตัวใหม่ต้องถูกกักโรคไว้ 2 - 3 อาทิตย์ ห้ามให้หนูสัมผัสกันจนกว่าจะครบตามกำหนด
    • อยู่ๆ ก็เอาหนูตัวใหม่ไปยัดใส่กรง จะทำให้เครียดเอา เพราะจริงๆ แล้วต้องปล่อยให้หนูปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ซะก่อน ส่วนหนูเก่าก็จะเกิดหวงถิ่นขึ้นมาได้
    • นอกจากเรื่องอารมณ์แล้ว ยังต้องกังวลเรื่องอาการเจ็บป่วยด้วย ถ้าหนูป่วยขึ้นมาตัวหนึ่งก็จะแพร่กระจายได้ทั้งร้าน แถมเชื้ออาจอยู่ได้นานอีกต่างหาก คุณต้องกักโรคให้รู้แน่ก่อนว่าหนูตัวใหม่นั้นไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แล้วค่อยแนะนำให้รู้จักกับหนูตัวเก่าของคุณ [13]
    • แยกหนูตัวละกรง แต่เอากรงวางชิดติดกัน ประมาณว่าหนูมองไม่เห็นกันแต่ได้กลิ่นและได้ยินเสียงอีกตัว [14]
  2. พอหมดระยะกักโรค 1 - 3 อาทิตย์แล้ว ก็ถึงเวลาแนะนำตัวกัน แต่ห้ามเอาหนูใหม่ไปหย่อนใส่กรงตัวเก่าเด็ดขาด ให้เอาออกจากกรงทั้งคู่แล้วมาวางที่ใดที่หนึ่ง หนูทั้ง 2 ตัวจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกรุกล้ำอาณาเขต
    • หาพื้นที่ใหม่ที่หนูทั้ง 2 ตัวไม่เคยไปมาก่อน แต่ต้องเป็นที่ที่เงียบสงบห่างไกลผู้คน หนูทั้ง 2 ตัวจะได้รู้สึกปลอดภัย ตัวเลือกที่น่าสนใจก็คือบนพื้นห้องเล็กๆ ที่ปิดประตูอยู่ อย่างห้องน้ำไงล่ะ [15]
    • เอาผัก ขนม และหญ้าแห้งกองไว้ตรงกลางห้อง จะได้เบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้หนูตีกันซะก่อนได้ทำความรู้จัก [16]
    • ถ้าเห็นท่าไม่ดี หนูเริ่มกร่างใส่กัน ให้คุณเอาผ้าเช็ดตัวเก่าที่เตรียมไว้ล่วงหน้า มาคลุมแยกหนูออกจากกัน โดยที่คุณไม่ถูกกัดหรือข่วนซะก่อน [17]
    • ถ้าทุกอย่างไปได้สวย และหนู 2 ตัวอยู่ร่วมกันได้เกิน 2 ชั่วโมง ก็พาไปทำความรู้จักกันต่อในกรงเดียวกันได้เลย แต่คุณต้องทำความสะอาดกรงทุกซอกทุกมุม และเปลี่ยนการจัดเรียงของเล่นต่างๆ เรียบร้อย จะได้ดูเหมือนกรงใหม่เอี่ยม
  3. พอหนูทำความรู้จักกันแล้ว ก็ให้ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ เวลาเอาหนูใส่กรงเดียวกันจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น
    • ปรับเปลี่ยนภายในกรง หนูตะเภานั้นหวงถิ่นอย่าบอกใคร เพราะฉะนั้นกรงของคุณต้องใหญ่พอ แทบจะเป็นกฎเลยว่ากรงสำหรับหนูตะเภา 2 ตัว ต้องใหญ่ประมาณ 7.5 - 10.5 ตารางฟุต กว้างกว่านี้ได้ยิ่งดี แต่ถ้าคุณจะหากรงสำหรับหนูตะเภา 3 ตัวขึ้นไป ก็ต้องเลือกที่ใหญ่ 13 ตารางฟุตขึ้นไป [18]
    • ล้างแล้วจัดกรงซะใหม่ จะได้ไม่มีกลิ่นเก่า คล้ายกับว่าเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับหนูทั้ง 2 ตัว [19]
    • เอาหญ้าแห้งจากกรงเก่ามาถูที่หนูตะเภาตัวใหม่เบาๆ จะได้กลิ่นเหมือนหนูตัวอื่นที่คุณมี [20]
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเข้าไปแทรก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ช่วง 2 - 3 อาทิตย์แรกที่หนูตะเภาต้องอยู่ร่วมกันอาจมีขลุกขลักบ้าง เพราะงั้นคุณต้องเตรียมรับมือเผื่อหนูทะเลาะกันไว้บ้าง ต้องรู้ว่าแบบไหนคือท่าทีก้าวร้าว หนูทำท่ายังไงคุณถึงควรเข้าไปแทรกในทันที
    • ถ้ามีขึ้นขี่อีกตัวหรือกระโดดข้ามกัน แป๊บเดียวเดี๋ยวมีทะเลาะ โดยเฉพาะถ้ามีตัวไหนไม่ยอมหรือตอบโต้ ให้คุณสังเกตพฤติกรรมนี้ไว้ แต่อย่าเพิ่งเข้าไปยุ่งจนกว่าหนูจะสู้กันขึ้นมาจริงๆ [21]
    • ร้องเสียงแหลม วิ่งไล่กัน หรือกัดฟันกึกๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติใน 2 - 3 อาทิตย์แรก บางทีถ้ารำคาญหนูตะเภาอาจมีขบกันเบาๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นในการกำหนดอาณาเขตของกันและกัน คุณควรเข้าไปจับแยกเฉพาะตอนที่หนูตะเภากัดกันแรงจนเลือดซิบเท่านั้น [22]
    • ถ้ามีตัวไหนเอาแต่กัดฟันดังกึกๆ ไม่ยอมหยุด นี่เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่อาจลุกลามร้ายแรงได้ ให้คุณคอยจับตามองแต่อย่าไปยุ่งจนกว่าจะมีตัวไหนเลือดตกยางออก [23]
    • ขนตั้งชัน โดยเฉพาะแถวๆ คอ รวมถึงกระทืบเท้า คือสัญญาณบอกว่าหนูตะเภาพร้อมรบ เรื่องแบบนี้ก็มีบ้างเป็นปกติ แต่ต้องคอยจับตาดูใกล้ชิด อย่าเพิ่งจับแยกจนกว่าจะเลือดตกยางออกเช่นกัน [24]
  2. การวิ่งไล่หรือขึ้นขี่กันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายังไม่รุนแรงถึงขั้นได้แผล ก็ปล่อยไว้แบบนั้นแหละ [25]
  3. ใช่ว่าท่าทางต่างๆ จะเป็นสัญญาณไม่ดีไปหมด มีบางพฤติกรรมที่แสนจะธรรมดา โดยเฉพาะช่วงแรกๆ คุณต้องจับท่าทางได้ จะได้ไม่เข้าไปยุ่งโดยไม่จำเป็น
    • การดมก้นและเอาจมูกดุนเป็นวิธีทักทายกันของหนูตะเภา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การคุกคามแต่อย่างใด หนูตะเภาอาจจะอยากกำหนดอาณาเขต ก็เลยเอาก้นถูพื้นไปทั่ว หรือเงยหน้าทำเหนือกว่าเป็นบางครั้ง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ใน 2 - 3 อาทิตย์แรก [26]
    • บางทีหนูตะเภาก็ทำพฤติกรรมที่เรียกว่า rumblestrutting หรือก็คือเดินผ่านตัวอื่นแล้วส่ายก้นไปมา ขนฟู และทำเสียงขู่ต่ำๆ เป็นการกร่างว่าตัวเองเหนือกว่า แต่ถ้าไม่ได้ตามมาด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว ก็ถือเป็นเรื่องปกติในการจัดลำดับชนชั้นระหว่างกัน [27]
  4. ถ้าการต่อสู้เริ่มนองเลือด คุณต้องจับแยกทันที แต่ต้องด้วยวิธีที่ปลอดภัยทั้งกับคุณและหนูตะเภา
    • ลงมือไวเท่าความคิด เพราะหนูตะเภาฟันคม ถ้าเอาจริงเมื่อไหร่ก็อันตรายน่าดู ถ้าคุณเห็นหนูตะเภาสู้กันรุนแรงให้รีบเข้าไปแยก ถ้าไม่ดูให้ดีละก็ หนูตะเภาอาจทำร้ายอีกตัวถึงขั้นบาดเจ็บหรือพิการถาวรได้เลย [28]
    • อย่าจับหนูแยกมือเปล่า เพราะหนูตะเภาที่กำลังเดือดจัดอาจทำคุณเจ็บหนักถึงขั้นต้องไปหาหมอได้ ทางที่ดีให้เอาผ้าเช็ดตัวหรือผ้าขี้ริ้วเก่าๆ คลุมตัวหนู ไม่ก็ใส่ถุงมือหนาๆ ก่อน [29]
    • พอหนูสู้กันค่อยจับแยกไว้ตัวละกรง แต่อยู่ในห้องเดียวกัน จะได้ยังเห็นหน้า ได้กลิ่น ได้ยินเสียง และพูดคุยกันได้อยู่ ระหว่างนี้คุณต้องยังใส่ถุงมือหรือใช้ผ้าเช็ดตัวอยู่ ถึงจะเลิกตีกันมา 2 - 3 ชั่วโมงแล้วก็เถอะ เพราะหนูอาจยังดื้อหรือก้าวร้าวต่ออีกสักพักหลังสู้กันเสร็จ [30]
    • เอาหนูมาคืนดีกันอีกครั้งแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำซ้ำขั้นตอนเดิม คือจับมาวางในพื้นที่ส่วนกลางโดยมีขนมหรืออาหารล่อไว้ แต่ก็ต้องดูว่าหนูสู้กันหนักขนาดไหน คุณอาจต้องรอนานเป็นชั่วโมงๆ หรือ 2 - 3 วันเลยก็ได้ อย่าลืมป้องกันตัวคุณเองไว้เสมอเผื่อหนูจะตีกันขึ้นมาอีก [31]
  5. หนูตะเภาบางตัวถึงคุณทำตามขั้นตอนเคร่งครัดแค่ไหนก็ใช่ว่าจะยอมรับเพื่อนใหม่ง่ายๆ คุณก็ต้องเผื่อใจรับกรณีนี้ไว้ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นได้บ้างเวลาแนะนำหนูตัวใหม่-เก่าให้รู้จักกัน
    • อย่ารีบโทษตัวเอง มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แถมหนูตะเภาแต่ละตัวก็มีนิสัยต่างกันไปเหมือนคนนั่นแหละ บางตัวก็รักสันโดษหน่อยเลยค่อนข้างก้าวร้าว ไม่ค่อยเปิดใจรับเพื่อนใหม่ง่ายๆ ถึงคุณจะทำถูกวิธีแล้วบางทีก็เข้ากันไม่ได้เลยจริงๆ [32]
    • ถ้าหนูเจอกันครั้งแรกแล้วตีกันจนน่ากลัว ให้คุณไว้ค่อยแนะนำใหม่ตามขั้นตอนที่เราว่ามา เริ่มตั้งแต่กักโรคเลยก็ดี จะได้ให้เวลาหนูสงบใจ ลืมที่เคยบาดหมางกัน
    • ถ้าหนูตะเภา 2 ตัวท่าทางจะญาติดีกันไม่ได้จริงๆ ก็เลี้ยงแยกกรงเถอะ แต่ยังให้ได้กลิ่น มองเห็นหน้า และได้ยินเสียงกันอยู่ แค่ไม่ได้แตะต้องสัมผัสกัน อย่างน้อยหนูก็ยังได้สมาคมกับเพื่อนใหม่ โดยที่ไม่ต้องเครียดว่าใครจะมาล้ำเส้น [33]

เคล็ดลับ

  • ถึงจะเอาหนูตะเภาตัวผู้ไปทำหมันก็ไม่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป เป็นวิธีที่ค่อนข้างเสี่ยงและไม่แนะนำ เว้นแต่คุณจะแนะนำหนูตัวผู้กับหนูตัวเมีย
  • ถ้ายังเล็ก หนูตะเภาจะเข้ากันได้ง่ายกว่าเยอะ เพราะงั้นให้ลองหาลูกหนูตะเภาเพศเดียวกันมาเป็นเพื่อนกันกับหนูตัวเก่าของคุณ
  • ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกเลี้ยงหนูตะเภา 2 ตัวที่เลี้ยงมาด้วยกันแต่เล็ก ยังไงก็เข้ากันได้อยู่แล้ว
  • ชามอาหารต้องแยกกัน ส่วนบ้านไว้ให้หลบหรือมุมสงบในกรงก็ต้องแยกกันอยู่คนละมุมของกรงด้วย

คำเตือน

  • หนูตะเภาตัวเล็กจิ๊ดเดียวแต่แข็งแรงชะมัด เพราะงั้นเวลาหนูมีเรื่องกันอยู่ ให้เข้าหาแล้วจับแยกอย่างระมัดระวังไม่ให้คุณเป็นฝ่ายเจ็บตัวซะเอง
  • บางทีหนูตะเภาก็โหดใส่อีกตัวซะจริง หรือสู้กันถึงขั้นบาดเจ็บพิการถาวร เพราะงั้นถ้าคุณเห็นท่าไม่ดี เริ่มเลือดตกยางออก ให้รีบเข้าไปจับแยกโดยเร็ว
  • ห้ามพาหนูตัวผู้ที่ยังไม่ได้ทำหมันไปเจอกับหนูตัวเมีย บอกเลยหนูตะเภาน่ะผสมพันธุ์กันเป็นว่าเล่น เดี๋ยวตัวเมียจะเครียดเอา แถมเวลาท้องยังอันตรายได้ง่ายๆ บ่อยไปที่หนูตะเภาตัวเมียที่ท้องต้องทนทรมานและตายอย่างช้าๆ น่ากลัวใช่ไหมล่ะ

สิ่งของที่ใช้

  • กรง (2 กรง)
  • อาหาร
  • ขนม
  • ผัก
  • ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าขี้ริ้วเก่าๆ
  • ถุงมือหนาๆ

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 9,818 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม