ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกถือเป็นอาการน่าเป็นห่วง เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคปอด (หรือโรคหัวใจ) แต่ส่วนใหญ่อาการเจ็บแน่นบริเวณลำตัวช่วงบน มักเกิดจากโรคที่ไม่ค่อยอันตราย เช่น อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน และกล้ามเนื้อฉีก จริงๆ แล้วคุณแยกอาการปวดเพราะโรคปอดกับอาการปวดเพราะกล้ามเนื้อฉีกได้ไม่ยาก ถ้ารู้จักอาการโดยทั่วไปของแต่ละโรค ถ้าสงสัยไม่แน่ใจเรื่องอาการเจ็บแน่นหน้าอกของตัวเอง โดยเฉพาะถ้าอาการหนักขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดัน คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน ควรนัดตรวจร่างกายแล้วเข้ารับการรักษากับคุณหมอต่อไป

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

รู้จักอาการที่แตกต่างกัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ช่วงเวลาที่แสดงอาการปวดกล้ามเนื้อ จะต่างกับเจ็บแน่นหน้าอกเพราะโรคปอด ถ้ากล้ามเนื้อฉีกปานกลางถึงรุนแรง มักจะเจ็บทันที แต่ถ้ากล้ามเนื้อฉีกเล็กน้อย อาจใช้เวลาเป็นวันหรือนานกว่านั้น ที่ปวดกล้ามเนื้อมักเป็นเพราะใช้งานมากไป หรือเพราะแรงกระแทก/อุบัติเหตุ สรุปแล้วมักเกิดจากสาเหตุที่ชัดเจน [1] ปกติอาการเจ็บปอดจะบอกไม่ได้ว่าเกิดตอนไหน เพราะอะไร เพราะจะเจ็บตลอด
    • อุบัติเหตุรถยนต์ ลื่นล้มกระแทก บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา (เช่น ฟุตบอล รักบี้ และฮอกกี้น้ำแข็ง) และยกเวทหนักเกินไปตอนเข้าฟิตเนส มักเป็นสาเหตุทำคุณปวดแบบเฉียบพลัน
    • มะเร็งปอด อาการติดเชื้อ และอักเสบ จะค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ (ใช้เวลาเป็นวันหรือเป็นเดือน) และจะมีหลายอาการที่เกี่ยวข้อง อย่างภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax) ก็เป็นความผิดปกติของปอดที่อาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ เกิดขึ้นเพราะอาการบาดเจ็ล กิจกรรมที่ใช้แรงเยอะๆ หอบหืด ปอดบวม หรือมะเร็ง มีทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปและเฉียบพลัน
  2. โรคและอาการผิดปกติของปอดส่วนใหญ่ที่ทำให้เจ็บแน่นหน้าอกก็เช่น มะเร็งปอด ปอดติดเชื้อ (ปอดบวมเพราะแบคทีเรียหรือไวรัส และหลอดลมอักเสบ (bronchitis)) โรคลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดในปอด (pulmonary embolism) เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) ภาวะปอดแตก (punctured lung) และความดันหลอดเลือดปอดสูง (pulmonary hypertension) [2] โรคและอาการแทบทั้งหมดที่ว่ามา จะมีอาการไอและ/หรือหายใจเสียงหวีดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้อฉีกบริเวณหน้าอกหรือลำตัว จะไม่ทำให้ไอ แต่อาจจะเจ็บแน่นเวลาหายใจลึกๆ ถ้าเป็นกล้ามเนื้อติดซี่โครง
    • ไอเป็นเลือดคืออาการทั่วไปของมะเร็งปอด ปอดบวมระยะลุกลาม (ระยะสุดท้าย) และภาวะปอดแตกเพราะการกระทบกระเทือน แนะนำให้ไปหาหมอทันที ถ้าเสมหะหรือเสลดมีเลือดปน
    • กล้ามเนื้อแถวซี่โครงก็เช่น กล้ามเนื้อยึดระหว่างซี่โครง (intercostals), กล้ามเนื้อข้างลำตัว (obliques), กล้ามเนื้อหน้าท้อง (abdominals) และกล้ามเนื้อต้นคอ (scalene muscles) [3] กล้ามเนื้อพวกนี้จะขยับเวลาหายใจ ถ้าฉีกขึ้นมาก็จะทำให้เจ็บเวลาหายใจลึกๆ แต่ไม่ทำให้ไอ
  3. กล้ามเนื้อฉีกที่หน้าอกหรือลำตัวช่วงบน มักเป็นเพราะออกกำลังกายในฟิตเนสหรือเล่นกีฬา อาการปวดกล้ามเนื้อฉีกจะทึบๆ ยึดๆ แข็งๆ มักมีอาการแค่ด้านเดียวของลำตัว (unilateral) และหาจุดที่ปวดง่าย ถ้าเอามือจับๆ กดๆ ใกล้พอ [4] เพราะงั้นให้ลองกดตามหน้าอก ว่าตรงไหนที่รู้สึกเจ็บหรือปวด เวลาบาดเจ็บ กล้ามเนื้อมักหดเกร็ง จับแล้วจะเหมือนยางยืดตึงๆ ถ้าหาจุดที่เจ็บเจอ แสดงว่าเกิดจากกล้ามเนื้อฉีก ไม่ใช่โรคปอด เพราะโรคปอดส่วนใหญ่จะปวดแผ่ออกไป (มักจะปวดแปลบ) แค่กดจับบริเวณหน้าอก หาไม่เจอแน่นอน
    • ลองจับๆ แถวชายโครง เพราะกล้ามเนื้อแถวนั้นมักฉีกหรือบาดเจ็บได้ง่ายจากการบิดหมุนหรือเอี้ยวตัวมากเกินไป ถ้ามีอาการเจ็บปวดรุนแรงแถมกระดูกสันอก (sternum) แสดงว่ากระดูกอ่อนที่ซี่โครงฉีกขาด ไม่ใช่กล้ามเนื้อฉีกธรรมดา
    • ถ้ากล้ามเนื้อฉีก คุณจะเจ็บเฉพาะตอนขยับเขยื้อนหรือหายใจลึกๆ แต่ถ้าสาเหตุคือโรคปอด (โดยเฉพาะปอดติดเชื้อหรือมะเร็งปอด) จะปวดตลอด
    • กล้ามเนื้อที่อยู่เหนือปอดพอดีก็เช่น กล้ามเนื้อรูปสามเหลี่ยม (pectorals) ทั้งกลุ่มใหญ่และย่อย เป็นกล้ามเนื้อที่ฉีกได้จากการวิดพื้น โหนบาร์ หรือเล่นท่า "pec deck" ฝึกกล้ามเนื้ออกในฟิตเนส
  4. ลองถอดเสื้อผ้าและชุดชั้นในแล้วสังเกตดูดีๆ ว่าบริเวณหน้าอก/ลำตัวมีรอยช้ำหรือแดงไหม ถ้ากล้ามเนื้อฉีกปานกลางถึงรุนแรง เส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนจะฉีกขาดด้วย ทำให้เลือดออกไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบ [5] จะทำให้มีจ้ำช้ำสีม่วงเข้มหรือแดง นานๆ ไปจะซีดจางลงจนกลายเป็นสีออกเหลือง บางทีก็มีรอยแดงที่ลำตัว เกิดจากแรงกระแทกตอนเล่นกีฬาหรือหกล้ม แต่ถ้าเป็นอาการหรือโรคปอด จะไม่มีรอยช้ำเป็นจ้ำให้เห็น เว้นแต่ปอดแตกเพราะซี่โครงหักรุนแรง
    • กล้ามเนื้อฉีกเล็กน้อยจะไม่ค่อยมีจ้ำช้ำหรือแดง แต่จะมีบวมเฉพาะที่บ้าง
    • นอกจากรอยช้ำแล้ว กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บบางทีก็กระตุกหรือสั่นนาน 2 - 3 ชั่วโมง (หรือเป็นวันๆ) ช่วงกำลังฟื้นตัว "fasciculations" หรือกล้ามเนื้อสั่นกระตุกแบบนี้ ยิ่งชัดเจนว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้อฉีก ไม่ใช่โรคปอด
  5. สาเหตุยอดนิยมของโรคปอด คือจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogenic microorganisms) เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต หรือสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง (เช่น แร่ใยหิน, เส้นใยคมๆ, ฝุ่นผง และสารก่อภูมิแพ้) ดังนั้นนอกจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกและอาการไอ อุณหภูมิร่างกายก็มักสูงขึ้น (มีไข้) ด้วยเวลาเป็นโรคปอด แต่ถ้าเป็นกล้ามเนื้อฉีก จะแทบไม่มีผลต่ออุณหภูมิแกนกลางลำตัวเลย เว้นแต่อาการรุนแรงจนเกิดภาวะหายใจเกินหรือโรคหอบจากอารมณ์ (hyperventilation) ดังนั้นให้ลองวัดไข้ดูด้วยเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล โดยอมไว้ใต้ลิ้น ส่วนใหญ่อุณหภูมิที่ได้จากการวัดไข้ใต้ลิ้นจะอยู่ที่ 36.8°C หรือ 98.2°F [6]
    • จริงๆ มีไข้ต่ำๆ ก็ดี เพราะแปลว่าร่างกายพยายามรักษาอาการติดเชื้อด้วยตัวเอง
    • แต่ถ้าไข้สูง (39°C หรือ 103°F ขึ้นไปในผู้ใหญ่) อาจเป็นอันตรายได้ ต้องเฝ้าระวังให้ดี
    • โรคปอดเรื้อรังในระยะยาว (เช่น มะเร็งปอด, โรคปอดอุดกั้น หรือวัณโรค) มักทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นแค่เล็กน้อย
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

หาหมอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีแยกอาการปวดกล้ามเนื้อฉีกกับเจ็บแน่นหน้าอกเพราะโรคปอดได้ดีและชัดเจนที่สุด ก็คือไปตรวจร่างกายกับคุณหมอประจำตัว ปกติกล้ามเนื้อฉีกส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 2 - 3 วัน (หรือหลายอาทิตย์ถ้ารุนแรง) เพราะงั้นถ้าเจ็บหน้าอก/ลำตัวนานเกินระยะเวลาที่บอก หรืออาการหนักกว่าเดิม ควรนัดหมอตรวจร่างกายจะดีที่สุด คุณหมอจะเช็คประวัติการตรวจรักษา ตรวจร่างกาย และฟังเสียงปอดตอนคุณหายใจ ถ้าหายใจมีเสียง (เสียงแซมหายใจหรือหายใจหวีด) ก็เป็นสัญญาณชัดเจนว่ามีบางอย่างอุดกั้นหลอดลมอยู่ (ของเหลวหรือเศษอะไรบางอย่าง) หรือเกิดอาการตีบตัน (เพราะบวมหรืออักเสบ) [7]
    • นอกจากไอเป็นเลือดและเจ็บแน่นหน้าอกตอนหายใจเข้าลึกๆ แล้ว อาการอื่นๆ ของโรคมะเร็งปอดก็เช่น เสียงแหบ ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดฮวบฮาบ และเฉื่อยชา [8]
    • คุณหมออาจขอตรวจสารคัดหลั่งด้วย (เสมหะ/น้ำลาย/เลือด) แล้วลองเอาไปเพาะเชื้อดู เพื่อเช็คว่าใช่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเปล่า (หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเอกซเรย์ หรือตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัย
  2. พอคุณหมอเช็คแล้วว่าไม่ได้กล้ามเนื้อฉีก แต่น่าจะเป็นปอดติดเชื้อ ก็จะส่งคุณไปเอกซเรย์หน้าอก เอกซเรย์แล้วจะเห็นเลยว่าซี่โครงหัก ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) มีเนื้องอกในปอด เนื้อเยื่อปอดเสียหายจากการสูบบุหรี่ มีสารก่อความระคายเคืองจากสภาพแวดล้อม ถุงลมโป่งพอง โรค cystic fibrosis หรือเคยเป็นวัณโรคมาก่อน [9]
    • ถ้าเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม ก็เอกซเรย์เจอแทบ 100% แต่ถ้าเป็นระยะเริ่มต้น อาจมีเล็ดลอดไปได้บ้าง
    • เอกซเรย์หน้าอกแล้วสามารถตรวจพบสัญญาณบอกภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart disease) ได้ด้วย
    • แต่เอกซเรย์หน้าอกแล้วจะไม่เจอกล้ามเนื้อฉีกบริเวณหน้าอกหรือลำตัวท่อนบน ถ้าคุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะกล้ามเนื้อหรือเอ็นฉีก ก็จะส่งไปทำอัลตราซาวด์, MRI หรือ CT scan แทน
    • CT scan จะสร้างภาพตัดขวางของหน้าอกขึ้นมา ช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น ในกรณีที่ตรวจร่างกายและเอกซเรย์หน้าอกแล้วไม่ชัดเจนพอ
  3. บางทีคุณหมอก็เห็นควรให้เจาะเลือดไปตรวจด้วย เพราะปอดติดเชื้อเฉียบพลัน (หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม) จะไปกระตุ้นให้ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวพุ่งสูง เพราะระบบภูมิคุ้มกันต้องใช้กำจัดจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogens) เช่น แบคทีเรียและไวรัส [10] ตรวจเลือดแล้วจะเช็คปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดได้ ซึ่งเป็นวิธีวัดการทำงานของปอดทางอ้อม
    • แต่การตรวจเลือดจะฟันธงเรื่องกล้ามเนื้อฉีกไม่ได้ ถึงจะอาการรุนแรงก็เถอะ
    • การตรวจเลือดบอกระดับ oxygenation หรือการเติมออกซิเจนเข้ากระแสเลือด ไม่ได้เช่นกัน
    • การทดสอบ sedimentation rate หรืออัตราการตกตะกอน จะช่วยเช็คได้ว่าร่างกายตึงเครียด และมีอาการอักเสบเรื้อรังหรือเปล่า
    • การตรวจเลือดใช้วินิจฉัยมะเร็งปอดได้ไม่ได้ชัดเจนนัก ถ้าเอกซเรย์และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจะเห็นผลกว่า
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • อาการเจ็บปวด ตามมาด้วยไอเป็นเลือด มีเสมหะ หรือมูกสีแปลกๆ ไอมีเสมหะ และไอเรื้อรัง เป็นสัญญาณบอกโรคปอด
  • ที่ปอดระคายเคืองอาจเพราะหายใจเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ควัน หรือโรคที่ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบเกิดการระคายเคือง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy)
  • สาเหตุเกี่ยวกับการหายใจที่ทำให้เจ็บแน่นหน้าอกได้ก็เช่น หอบหืด การสูบบุหรี่ และโรคหอบจากอารมณ์ (hyperventilation)
  • อาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเจ็บปอด เป็นอาการหลักของโรคปอดบวม โดยเป็นได้ต่อเนื่องหลายอาทิตย์หลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อ
  • โรคหอบจากอารมณ์มักเกิดขึ้นจากความวิตกกังวล อาการแพนิค หรือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 8,801 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา