PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ถ้ามีสมาธิจดจ่อมากขึ้น การเป็นนักเรียนหรือพนักงานดีเด่นจะไปไหนเสีย แถมยังทำให้ชีวิตดี๊ดี มีความสุขและเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ถ้าอยากมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องต่างๆ ให้ได้นานขึ้น ก็ต้องรู้จักเพิกเฉยต่อสิ่งเร้าต่างๆ และวางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือทำจริง ถ้าอยากหนักแน่นและแม่นยำให้ได้เหมือนจับวางละก็ บทความวิกิฮาวนี้จะแนะนำวิธีการให้คุณเอง!

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

ฝึกสมาธิ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. แรกเริ่ม แต่ละคนก็มี "ความสามารถในการจดจ่อ" มากน้อยแตกต่างกันไป แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะของแบบนี้มันฝึกกันได้ ถ้าอยากจดจ่อให้ได้นานขึ้น ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน เช่น ลองทำงานเดียวให้ได้นาน 30 นาที พอเวลาผ่านไป ลองดูว่าคุณจดจ่อได้นานแค่ไหนก่อนสมาธิแตก จะ 5 นาทีหรือ 30 นาทีก็แล้วแต่
    • ถ้าฝึกแบบนี้ซ้ำเรื่อยๆ จะเห็นเลยว่าคุณมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องเดียวได้นานขึ้นจนน่าตกใจ ขอให้จดจ่ออยู่อย่างนั้นจนกว่าไม่ไหวจริงๆ แล้วค่อยฝึกใหม่ให้ได้นานกว่าเดิมในวันถัดมา
  2. นั่งสมาธิ . นอกจากเป็นวิธีผ่อนคลายชั้นยอดแล้ว การนั่งสมาธิให้ได้ 10 - 20 นาทีต่อวัน ยังช่วยทำให้คุณมีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นานขึ้นด้วย การนั่งสมาธิมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดความคิดฟุ่งซ่าน จดจ่ออยู่กับร่างกายและลมหายใจ คุณใช้ทักษะนี้มาช่วยไม่ให้วอกแวกตามสิ่งเร้า มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าได้ จะนั่งสมาธิตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือตอนค่ำก่อนเข้านอนก็ได้ กระทั่งระหว่างวัน
    • หามุมสงบไร้เสียงรบกวน
    • นั่งขัดสมาธิให้สบาย อาจจะนั่งบนเบาะรอง จากนั้นประสานมือบนตัก หรือวางมือแต่ละข้างบนเข่า
    • ผ่อนคลายร่างกายทีละจุดจนครบทุกส่วน
  3. เพราะช่วยฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี ลองอ่านเรื่องอะไรก็ได้ต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลา 30 นาที แล้วค่อยขยับขยายต่อไปเป็น 1 ชั่วโมง กระทั่ง 2 ชั่วโมง พักเบรคได้ช่วงสั้นๆ การที่คุณจดจ่ออยู่กับเรื่องที่อ่านได้ ไม่ว่าจะเป็นนิยายโรแมนซ์หรือชีวประวัติคนสำคัญก็ตาม จะช่วยพัฒนาให้คุณมีสมาธิในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
    • ระหว่างอ่านให้ตั้งคำถามทุก 2 - 3 หน้า จะได้แน่ใจว่าคุณเข้าใจเรื่องที่อ่านดีแล้ว ว่าได้จดจ่อใช้สมองไปกับสิ่งนั้นจริงๆ
    • อ่านหนังสือตอนเช้าช่วยกระตุ้นให้สมองตื่นตัว ส่วนอ่านหนังสือก่อนนอนก็ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างวัน
    • ตั้งเป้าอ่านหนังสือให้ได้วันละ 30 นาที และดูทีวีให้น้อยลงไปในเวลาที่เท่ากัน อุตส่าห์ฝึกสมาธิจากการอ่าน อย่าปล่อยให้โฆษณาทีวีมาทำคุณสมาธิสั้น
    • กำจัดสิ่งรบกวนตอนอ่านหนังสือ มือถือต้องเปิดโหมด silent และบอกคนในบ้านว่าอย่าเพิ่งรบกวน นอกจากได้ฝึกสมาธิให้จดจ่อกับกิจกรรมเดียวแล้ว ยังทำให้ "อิน" กับเรื่องราวในง่ายขึ้นด้วย
  4. หลายคนมองว่าคนที่ทำอะไรพร้อมกันหลายๆ อย่างได้ดูเก่งกาจน่าชื่นชม แต่จริงๆ แล้วเกิดมาฆ่าสมาธิชัดๆ เวลาคุณ multi-task จะรู้สึกว่าทำงานได้เยอะขึ้น แต่บอกเลยว่าไม่ได้ทำเต็มที่สักอย่าง เพราะต้องกระจายความสนใจไปหลายๆ จุด
    • พยายามทำงานให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป บอกเลยว่านอกจากปิดจ๊อบเร็วขึ้นแล้ว ยังงานดีงานละเอียด
    • หนึ่งในการ multi-task ที่ผิดมหันต์ คือการสะสางงานไปและแชทกับเพื่อนในเวลาเดียวกัน เพราะทำให้คุณทำงานช้าลงกว่าครึ่งเลยทีเดียว
    • ถ้าคุณทำงานที่บ้าน ต้องอดใจอย่าเพิ่งลุกไปทำงานบ้าน ถึงจะบอกว่าล้างจานนิดเดียว แต่ก็ทำสมาธิแตกซ่าน เสียระบบการทำงานหมด
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เคยไหม นั่งทำงานมัน "ทั้งวัน" แต่ดันไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย? ถ้ารีบพยักหน้าบอกว่าใช่ ให้รีบย้อนกลับไปพินิจพิจารณาว่าเราทำพลาดไปตรงไหน อย่าเพิ่งลงมือทำงานใหม่ด้วยสเต็ปเดิม ก่อนเริ่มงาน ควรไล่มาให้หมด ว่าอะไรที่ทำแล้ว "ได้ผล" และ "ไม่ได้ผล" ตอนทำงานหรือท่องหนังสือ จะได้เอามาปรับปรุง
    • เคยไหม ที่ต้องท่องหนังสือ แต่ดันชวนเพื่อนเม้าท์แตกเรื่องดราม่าดาราจนเย็น? ถ้าเคย คราวหน้าแนะนำให้ขังตัวเองอ่านหนังสือคนเดียวจะดีกว่า
    • อยากเร่งงานให้ได้เลิกเร็วๆ แต่รู้ตัวอีกทีก็อาสาช่วยงานคนอื่นเขาไปทั่วจนสุดท้ายก็ต้องช่วยยามปิดออฟฟิศ แบบนี้ต้องทำตัวเป็นจิตอาสาน้อยลง เคยได้ยินไหม? "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"
    • อุตส่าห์ตื่นแต่เช้าเพราะมีการบ้าน สุดท้ายนั่งไถ Facebook แล้วแชทกับเพื่อนตั้งแต่ 6 โมงเช้ายัน 6 โมงเย็น คราวหน้ารีบทำการบ้านครึ่งเช้า แล้วค่อย สนุกสนานเฮฮาช่วงบ่ายๆ เย็นๆ
    • ก่อนเริ่มวันทำงาน ให้จดออกมาว่าอะไรมักเป็นอุปสรรคถ่วงความเจริญของคุณ จะได้หมายหัวถูก
  2. ไม่ว่าจะกำลังไปห้องสมุดคณะ หรือตรงดิ่งไปทำงาน 8 ชั่วโมงรวดในออฟฟิศตามเคย จุดสำคัญอยู่ที่การดูแลตัวเองก่อนเริ่มวัน อย่างที่เขาว่ากัน "เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง"
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน ร่างกายจะได้สดชื่นตื่นตัว ไม่เหนื่อยและเฉื่อยชา
    • กินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ เพราะเป็นมื้อสำคัญที่สุดของวัน ต้องกินมากพอจะมีพลังทำงาน แต่อย่าเยอะไปจนหนังท้องตึงหนังตาหย่อนแทน ให้กินคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ อย่าง ข้าวโอ๊ตหรือซีเรียลโฮลวีท ถ้าโปรตีนก็ต้องเป็นไข่ หรือเนื้อไก่ไม่ติดหนัง เสริมด้วยผักผลไม้ให้สดชื่นได้วิตามิน
    • หาเวลาออกกำลังกาย แค่เดิน เต้นแอโรบิกเบาๆ หรือซิทอัพ และบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องสัก 15 - 20 นาทีก็พอให้เลือดลมสูบฉีดแบบไม่เหนื่อยเกินไป
    • เพลาๆ คาเฟอีน ถึงกาแฟจะช่วยให้ตาสว่าง แต่อย่าดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน ไม่งั้นช่วงเที่ยงๆ เหนื่อยและเนือยแน่ หรือเปลี่ยนไปดื่มชาคาเฟอีนต่ำ โหดกว่านั้นก็คือหักดิบไปเลย เพื่ออนาคตที่สดใส
  3. ถึงส่วนใหญ่คุณจะไม่ค่อยมีสิทธิ์เลือกว่าจะเริ่มและเลิกงานตอนไหน (โดยเฉพาะพนักงานบริษัท) แต่ถ้าพอยืดหยุ่นได้บ้าง ให้เริ่มงานตอนที่คุณเฟรช ตื่นตัวที่สุด รวมถึงเลือกสถานที่ที่เอื้ออำนวย
    • เวลา "งานเดิน" ของแต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนทำงานตอนเช้าหลังตื่นนอนทันทีแล้วลื่นไหล แต่บางคนก็ขอเตรียมตัวก่อน สายๆ เดี๋ยวมาเต็ม ให้ค้นหาเวลาที่ใช่สำหรับคุณ ให้ร่างกายร้องว่า "ลุยกันเลย!" ไม่ใช่ประท้วงว่า "งีบเหอะ"
    • สถานที่ทำงานก็สำคัญ บางคนชอบทำงานที่บ้าน เพราะรู้สึกปลอดภัยสบายใจ ยังไงก็ได้ แต่บางคนอยู่บ้านแล้วหลับ ต้องบรรยากาศพลุกพล่านเล็กๆ อย่างตามร้านกาแฟ ไม่ก็ห้องสมุด
  4. ถ้าอยากมีสมาธิจดจ่อให้ได้งาน ก็ต้องเตรียมตัวและเสบียงให้พร้อมก่อนลุย ไม่งั้นเกิดร่างกายประท้วงแล้วจะเสียเวลา
    • เตรียมของว่างที่มีประโยชน์ อย่างถั่วต่างๆ แอปเปิ้ล กล้วย กระทั่งเบบี้แครอท จะได้ไม่ต้องออกไป 7-11 หรือตู้กดน้ำกดขนม
    • ดื่มน้ำอย่าให้ขาด ไม่ว่าจะไปไหนขอให้พกขวดน้ำติดตัวตลอด ร่างกายจะได้สดชื่น ไม่ขาดน้ำ
    • เตรียมเสื้อหนาว ถ้าต้องอยู่ในห้องแอร์แล้วรู้ตัวว่าขี้หนาว ต้องเตรียมเสื้อหรือผ้าคลุมไหล่ไปให้พร้อม ไม่งั้นเสียสมาธิ หรือเสียเวลาเดินเข้าเดินออกห้องแน่นอน
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

จัดระเบียบชีวิต

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าไม่อยากวอกแวก ต้องทำ to-do list ประจำวัน จะได้เห็นภาพชัดเจน ว่าวันนั้นต้องทำอะไรบ้าง แถมติ๊กออกได้เวลาทำเสร็จแล้ว ยิ่งติ๊กออกก็ยิ่งดีใจว่างานใกล้หมด แทนที่จะนั่งทำงานไปเรื่อยเปื่อย เท่ากับมีเป้าหมายจับต้องได้ขึ้นมา แถมได้ภูมิใจเหมือนเล่นเกมจบไปทีละด่าน [1]
    • เขียนมาอย่างน้อย 3 อย่างที่ต้องทำให้เสร็จในวันนั้น 3 อย่างที่ต้องทำให้เสร็จในวันพรุ่งนี้ และ 3 อย่างที่ต้องทำให้เสร็จภายในอาทิตย์นั้น แล้วตะลุยทำรายการของวันนี้ก่อน คุณจะยิ่งฮึกเหิมถ้าเหลือเวลาไปทำภารกิจของวันอื่นๆ ด้วย
    • ให้รางวัลตัวเองเป็นการพักเบรค โดยพักสั้นๆ ทุกครั้งที่ทำภารกิจเสร็จไป 1 รายการ
    • พวกภารกิจยิบย่อย รีบกวาดให้เกลี้ยงแต่แรก เช่น ซื้อของเข้าบ้าน รายการในลิสต์จะได้น้อยลง เหลือแต่เรื่องสำคัญๆ ห้ามขี้เกียจ คิดว่างานเล็กๆ ง่ายๆ ค่อยทำเด็ดขาด!
  2. ตอนเช้าให้เริ่มลุยจากงานยากๆ หรือที่ต้องคิดสร้างสรรค์ เพราะตอนนั้นจะยังสมองปลอดโปร่ง พลังงานเหลือเฟือ ส่วนเรื่องที่ง่ายกว่า อย่างจัดตารางนัด จัดเก็บเอกสารเก่า หรือจัดโต๊ะทำงาน ให้เก็บไว้ทำช่วงบ่ายตอนที่เหนื่อยเหลือเกิน [2]
    • อย่าเก็บงานโหดหินไว้สุดท้ายของวัน เพราะอาจทำเอาถอดใจ พอกหางหมูไปรวมกับตารางวันพรุ่งนี้แทน
  3. สถานที่สะอาดและเป็นระเบียบ จะทำให้จดจ่อได้ง่ายกว่า เพราะรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนเลยหยิบจับใช้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานที่ออฟฟิศ โต๊ะอ่านหนังสือที่ห้องสมุด เป้ใส่หนังสือเรียน หรือที่ไหนก็ตาม พอข้าวของเครื่องใช้เป็นระเบียบทำให้ไม่ต้องเสียเวลาหาของที่ต้องใช้ เอาไปเวลาไปคิดสร้างสรรค์งานดีกว่า
    • เก็บให้หมด อะไรที่ยังไม่ได้ใช้ทำงาน อย่างถ้าโต๊ะที่ออฟฟิศ อนุโลมให้มีรูปครอบครัวได้ 2 - 3 ใบ นอกนั้นควรเป็นของที่ต้องใช้จริงๆ เช่น กระดาษ แม็กซ์ หรือปากกา
    • ถ้าไม่ได้ใช้มือถือทำงาน ก็เก็บไปก่อน ทำงานไปได้ 1 - 2 ชั่วโมงแล้วค่อยเช็คความเป็นไป ระหว่างนั้นเก็บล็อคไว้ในลิ้นชักเลย ไม่งั้นเผลอเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบมาสไลด์หน้าจอ
    • ระบบไฟล์ต้องเป๊ะ คุณจะทำงานไวขึ้นอีกเยอะ ถ้ารู้แน่ว่าเอกสารแต่ละฉบับอยู่ที่ไหน
  4. นี่แหละสำคัญถ้าอยากทำอะไรให้มีสมาธิ เวลาเริ่มวันทำงาน ตอนเขียน to-do list ให้กำหนดระยะเวลาที่คิดจะใช้ในแต่ละภารกิจด้วย จะได้มีตารางเวลาชัดเจน ให้ทำอะไรที่เปลืองเวลาก่อน ถ้าเก็บไว้ทีหลังเดี๋ยวจะลน
    • แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่กำหนดไว้ 20 นาทีทั้งที่งานนั้นควรทำเป็นชั่วโมง แบบนี้พอทำไม่ทันตามเวลา ก็จิตตกเองเปล่าๆ
    • ถ้าทำเสร็จก่อนเวลา ให้พักเบรคได้เลย จะได้มีกำลังใจสะสางงานอื่นต่อไป
  5. การพักเบรคก็สำคัญพอๆ กับการทำงาน ถ้าตั้งหน้าตั้งตาทำงานเต็มที่ช่วงหนึ่งแล้วแทรกด้วยการพักเบรคสั้นๆ เป็นระยะ จะช่วยให้คุณมีสมาธิจดจ่อได้นานและทำงานมีประสิทธิภาพกว่า "พยายาม" ทำงานตลอดทั้งวัน [3]
    • ทำงานครบ 1 ชั่วโมง ให้พักอย่างน้อย 10 - 20 นาที จะโทรหาใคร ตอบอีเมล หรือออกไปพักกินกาแฟก็แล้วแต่
    • มองพักเบรคเป็นรางวัล จะได้ดึงดูดใจให้ทำงานเสร็จเร็วๆ ถ้าคุณคิดว่า "ทำรายงานนี้เสร็จเมื่อไหร่จะไปกินสมูธตี้แก้วยักษ์เลย" ก็จะทำให้มีเป้าหมายให้ไล่ตาม ดีกว่าทำไปเรื่อยเปื่อย
    • ยืดเส้นยืดสายนิดหน่อยตอนช่วงพัก เช่น ไปเดินเล่น 15 นาที หรือเดินขึ้นบันได 5 ช่วงแล้วกลับลงมา เลือดลมจะได้ไหลเวียนดี แถมทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
    • ออกไปกินลมชมวิว อย่าจุกอยู่ในออฟฟิศหรือในบ้านทั้งวัน ออกไปเดินรับอากาศบริสุทธิ์บ้าง ตอนเช้าอากาศดีจะตายไป แถมแสงแดดอ่อนๆ ยังดีต่อร่างกาย คุณจะสดชื่นแจ่มใส อยากกลับไปทำงาน
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ไม่วอกแวก

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในเน็ตมีเรื่องน่าสนใจและข้อมูลดีๆ เยอะแยะไปหมด แต่พอถึงเวลาที่คุณต้องเป็นฝ่ายสร้างสรรค์ผลงาน โลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนหลุมดำดูดเวลาดีๆ นี่เอง ถ้าอยากทำงานเสร็จเร็วๆ ก็ต้องงดโซเชียล หรือหยุดแชทชั่วคราว ส่วนอีเมลนั้นเช็คแค่ 2 - 3 ครั้งต่อวันก็พอ
    • ถ้าเจอบทความน่าสนใจ ให้อดใจรอไปอ่านตอนพักเบรค อย่าเพิ่งตบะแตก
    • อย่าส่งอีเมลเรื่องส่วนตัวระหว่างทำงาน เพราะทำคุณวอกแวกได้ง่ายมาก ดีไม่ดีจะลามไปโซเชียลอื่นๆ
    • ถ้าไม่ต้องใช้เน็ตทำงาน ให้ตัดสัญญาณไปเลยชั่วคราว ไว้อีก 1 - 2 ชั่วโมงค่อยกลับมาต่อเน็ต
    • แรกๆ อาจมีหลุดบ้าง ต้องฝึกวินัยกันไป ถ้าเผลอเช็ค Facebook กับอีเมลทุก 15 นาที ให้เปลี่ยนไปเช็คทุก 30 นาทีแทน แล้วขยับขยายไปเช็คแค่ 2 - 3 ครั้งต่อวัน จนงดใช้ Facebook ระหว่างวันทำงานได้ในที่สุด
    • แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เน็ตประกอบการทำงาน ก็อย่าเปิดเกิน 5 tab ในหน้าต่างเดียว จดจ่ออ่านไปให้เสร็จทีละข้อมูล ถ้าเปิดหน้าเว็บไว้เต็มไปหมด จะกลายเป็นโหมด multi-task อย่างที่เราไม่แนะนำ
  2. "คน" ก็เป็นอีกปัจจัยทำคุณวอกแวก ไม่ว่าจะทำงานออฟฟิศหรือท่องหนังสือในห้องสมุดก็ตาม แต่อย่าให้ใครมาขัดขวางความเจริญของคุณ เราเข้าใจว่าทำงานเบื่อๆ ก็อยากเม้าท์มอยเป็นธรรมดา แต่จะทำให้งานเสร็จช้าขึ้นอีกนี่สิ ทีนี้ก็ยาวเลยกว่าจะได้เม้าท์มอยจริงๆ จังๆ สมใจ [4]
    • บอกให้คนรอบตัวรู้ ว่าคุณต้องทำงานนี้ให้เสร็จจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในบ้านหรือคนที่ทำงานก็ตาม ถ้าขอร้องดีๆ เหตุผลน่าฟัง เขาต้องเข้าใจแน่นอน
    • อย่าอ่าน SMS หรือรับโทรศัพท์เรื่องส่วนตัว เว้นแต่เป็นเรื่องสำคัญ บอกพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนๆ ไปเลย ว่าห้ามติดต่อคุณในเวลางาน เว้นแต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ
    • ถ้าติวหนังสือกันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม อย่าปล่อยให้ใครวอกแวก อาจจะตบมือเรียกสติเวลาใครใจลอยหรือหันไปเม้าท์มอยกัน จะได้กลับมาช่วยกันทำงาน
  3. ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ต่อให้พลุกพล่านแค่ไหน ถ้าใจนิ่งก็ไม่มีปัญหา
    • ถ้าคุณต้องทำงานในที่สาธารณะเสียงจ้อกแจ้กจอแจ ให้ลงทุนซื้อเฮดโฟนแบบ noise-cancelling (ตัดเสียงรบกวน) หรือเปิดเพลงบรรเลงกลบเรียกสมาธิ
    • ถ้านั่งข้างคนช่างจ้อหรือคุยโทรศัพท์ ให้ขยับห่างออกมา ถึงจะอุตส่าห์ได้มุมเหมาะๆ แล้วก็เถอะ
    • ถ้าแถวนั้นมีคนเปิดทีวีไว้ อย่าสนใจ อนุโลมให้ดูได้หลังทำงานไป 1 ชั่วโมง ไม่งั้นโดนสะกดจิตแน่
  4. ถ้าไม่อยากวอกแวกและตั้งใจให้ได้มากกว่านี้ ก็ต้องหาแรงบันดาลใจโดนๆ ไล่เรียงเหตุผลมา ว่าอะไรทำให้อยากทำงานนี้จนเสร็จ พอเหนื่อยหรือเริ่มจะถอดใจเมื่อไหร่ให้อ่านเตือนตัวเอง จะได้ไม่ลืมความสำคัญของงาน และไม่ปล่อยอะไรมาดึงความสนใจ
    • ทำไมงานที่ทำอยู่ถึงสำคัญ? ถ้าคุณเป็นครู ตรวจข้อสอบเด็กอยู่ ก็เหมือนชี้ชะตานักเรียนเลยทีเดียว แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้าคุมโครงการใหญ่ ให้รู้ไว้ว่างานนี้จะต่อชีวิตให้บริษัทของคุณ
    • คุณจะได้อะไรจากงานนี้? ถ้าตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบ ก็จะได้เกรดดี GPA เด่น แต่ถ้าปิดการขายกับลูกค้ารายใหญ่ได้ ตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงกว่าก็อยู่ไม่ไกล
    • คิดถึงเส้นชัยเข้าไว้ ทำงานเสร็จเมื่อไหร่ มีอะไรสนุกๆ รออยู่บ้าง? เช่น คอร์สฟิตเนสกับเทรนเนอร์หล่อล่ำ นัดกินไอศครีมกับเพื่อนสาว หรือมื้อโรแมนติกใต้แสงเทียนกับคนรู้ใจ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ฝึกให้ตัวเองจดจ่ออยู่กับกิจกรรมไหนนานๆ ก็ได้ผล อย่าทำกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดจนเสียสมาธิ เช่น แชทกับเพื่อน หรือเล่นเกม พวกนี้ทำให้สมองคุณจดจ่อได้แค่ครู่สั้นๆ เท่านั้น นานเข้าเลยกลายเป็นคนสมาธิสั้นไป อันนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองเลย
  • ทำใจให้สบาย อย่าคิดมากหรือเครียดเรื่องอะไรหรือใครจนเกินเหตุ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น แค่วิ่งจ็อกกิ้งสัก 20 นาทีก็ช่วยได้แล้ว ไม่เสียเวลามากหรอก
  • เสียงเพลงก็ช่วยให้มีสมาธิได้ แต่ระวังอินกับทำนองหรือเนื้อเพลงจนลืมทำงานล่ะ
  • เพราะงั้นให้เลือกเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อจะดีกว่า จะได้ไม่จดจ่ออยู่กับความหมาย
โฆษณา

คำเตือน

  • บางทีที่ไม่ค่อยมีสมาธิ อาจไม่ใช่เพราะขาดแรงจูงใจหรือ ขี้เกียจ โรคบางโรค อย่าง ADHD (สมาธิสั้น) ก็ทำให้ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรนานๆ ได้ ถ้าคุณพยายามสุดตัวแล้ว แต่ยังวอกแวกตลอด ลองไปตรวจรักษาให้ถูกต้องดีกว่า
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 28,713 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา