PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

แม้แต่นักแสดงที่มั่นใจที่สุดก็อาจเผชิญความประหม่าบนเวทีได้ ความประหม่าหรืออาการตื่นเวทีเป็นอาการทั่วไปที่ทุกคนต้องเคยประสบ ไม่เว้นแม้แต่นักแสดงบรอดเวย์ หรือพรีเซนเตอร์มืออาชีพ เมื่อคุณเริ่มคุณตื่นเวที คุณจะเริ่มรู้สึกกังวล มือไม้สั่น หรือกระทั่งอ่อนระทวยไปทั้งตัวเมื่อคิดว่าตัวเองต้องขึ้นแสดงต่อหน้าคนดู แต่ไม่ต้องกังวล คุณสามารถเอาชนะอาการตื่นเวทีได้ โดยการฝึกให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย และใช้เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ บางประการ หากคุณอยากรู้วิธีเอาชนะอาการตื่นเวที ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ดูได้เลย ก่อนจะเริ่ม ขอให้รู้ว่าการมีใครสักคนแสดงร่วมกับคุณจะช่วยได้มากทีเดียว และการมีเพื่อนสนิทหลายๆ คนอยู่ในกลุ่มคนดูก็ช่วยลดความประหม่าได้เช่นกัน

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

เอาชนะอาการตื่นเวทีในวันแสดง

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในการเอาชนะอาการตื่นเวทีนั้น คุณอาจลองใช้วิธีการบางอย่างเพื่อให้ร่างกายของคุณผ่อนคลายก่อนขึ้นเวที การคลายอาการเกร็งกล้ามเนื้อในร่างกายจะช่วยให้เสียงพูดของคุณมั่นคง และช่วยผ่อนคลายจิตใจได้ ซ้อมบทพูดของคุณให้มาก และถ้าคุณลืมบทบนเวที อย่าตกใจ! ทำให้ดูเหมือนเป็นการแสดง ต่อไปนี้คือวิธีการผ่อนคลายร่างกายที่คุณทำได้ก่อนขึ้นแสดง [1]
    • ครางฮึมฮัมในคอเบาๆ เพื่อให้เสียงของคุณมั่นคงต่อเนื่อง
    • กินกล้วยก่อนขึ้นแสดง กล้วยจะช่วยลดความรู้สึกท้องโหวงๆ หรืออาการคลื่นเหียนวิงเวียน ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คุณอิ่มเกินไปด้วย
    • เคี้ยวหมากฝรั่ง การเคี้ยวหมากฝรั่งสักหน่อยจะช่วยลดอาการเกร็งของกราม แต่อย่าเคี้ยวนานเกินไป และอย่าเคี้ยวขณะท้องว่าง ไม่อย่างนั้นระบบย่อยอาหารของคุณจะรวนไปเล็กน้อย
    • ยืดกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อแขน ขา หลัง และไหล่ของคุณก็เป็นวิธีที่เดียวในการลดอาการเกร็งของร่างกาย
  2. ใช้เวลา 15-20 นาทีนั่งสมาธิในตอนเช้าวันแสดง หรือชั่วโมงก่อนขึ้นแสดง หาที่เงียบๆ ที่คุณสามารถนั่งบนพื้นได้สบายๆ หลับตาลงแล้วกำหนดสมาธิไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ให้ร่างกายทุกส่วนผ่อนคลาย
    • นั่งขัดสมาธิ วางมือทั้งสองไว้บนตัก
    • กำหนดจิตให้เป็นสมาธิ กระทั่งคุณไม่ได้คิดเรื่องอะไรอื่นอีก โดยเฉพาะเรื่องการแสดง ให้ตั้งมั่นกำหนดสมาธิไปที่การผ่อนคลายอวัยวะที่ละส่วนๆ
  3. ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนดื่มกาแฟจัดเป็นปกติอยู่แล้ว อย่าดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนในวันแสดงเป็นอันขาด คุณอาจคิดว่าคาเฟอีนจะช่วยให้คุณกระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่ที่จริงแล้วสารคาเฟอีนจะทำให้คุณรู้สึกกระสับกระส่าย กระวนกระวายยิ่งขึ้นไปอีก
  4. ให้ลองตั้งกติกากับตัวเองว่า คุณจะยอมให้ตัวเองประหม่ากังวลได้เป็นเวลาเท่านั้น เท่านี้ แต่เมื่อถึงเวลา ความกังวลทั้งหมดจะต้องหายไป เช่น ถ้าคุณตั้งเวลา “หยุดกังวล” ไว้ตอนบ่ายสามโมง ตั้งแต่บ่ายสามโมงเป็นต้นไป คุณจะต้องโยนความประหม่าทั้งหมดทิ้งไปได้แล้ว การตั้งเป้าหมายและพยายามทำตามเป้าหมายนั้น จะช่วยเพิ่มแนวโน้มที่คุณจะกำจัดความกังวลออกไปได้
  5. การออกกำลังจะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา หาเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงออกกำลังกายในวันแสดง หรืออย่างน้อยก็อาจเดินเล่นสักครึ่งชั่วโมง การออกกำลังจะทำให้ร่างกายพร้อมแสดงอย่างเต็มที่
  6. ดูรายการตลกในตอนเช้า เปิดคลิปตลกคลิปโปรดของคุณใน Youtube ดู หรืออาจออกไปเที่ยวกับเพื่อนที่ตลกที่สุดในกลุ่มของคุณในตอนบ่าย การหัวเราะจะช่วยให้คุณผ่อนคลาย และทำให้จิตใจปรอดโปร่งจากความประหม่า
  7. เดินทางไปสถานที่แสดงก่อนที่จะมีคนดูเข้ามา คุณจะรู้สึกมั่นใจกว่ามากหากสถานที่ค่อยๆ เต็มหลังจากที่คุณมาถึงแล้ว ไม่ใช่แน่นขนัดตั้งแต่ก่อนคุณจะมาถึง การไปถึงที่ให้เร็วจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจไม่เร่งร้อน และช่วยให้คลายกังวลได้
  8. นักแสดงบางคนชอบที่จะลงไปนั่งในหมู่คนดูและคุยกับผู้ชมเพื่อให้รู้สึกสบายใจขึ้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณเห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ชมก็เป็นคนธรรมดาเช่นคุณ และช่วยให้คุณรู้ว่าคุณจะต้องแสดงอย่างไร ให้ใครดู คุณอาจเข้าไปนั่งในหมู่ผู้ชมระหว่างที่คนกำลังทยอยเข้ามาโดยไม่ต้องบอกใครว่าคุณเป็นนักแสดง แต่หากคุณแต่งองค์ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็แน่ละว่าลืมวิธีไปได้เลย
  9. จินตนาการว่าคนพิเศษของคุณนั่งอยู่ในหมู่ผู้ชม. การจินตนาการว่าผู้ชมทุกคนใส่แต่ชั้นในอาจช่วยให้ตื่นเต้นน้อยลงได้อยู่บ้าง แต่ภาพในหัวของคุณนั้นคงประหลาดเอาการทีเดียว แทนที่จะทำอย่างนั้น ลองคิดว่าที่นั่งทุกที่มีคนพิเศษของคุณนั่งอยู่เต็มไปหมด นึกถึงคนๆ นั้น คนที่รักคุณ คอยฟังคุณในทุกเรื่อง และสนับสนุนคุณอยู่เสมอไม่ว่าคุณจะพูดหรือทำอะไร คนที่จะหัวเราะในจังหวะที่ควรหัวเราะ คนที่ให้กำลังใจคุณ และจะปรบมือดังสนั่นในตอนที่คุณแสดงจบแล้ว
  10. การดื่มน้ำผลไม้เปรี้ยวๆ สักครึ่งชั่วโมงก่อนการแสดงจะทำให้ความดันเลือดของคุณลดลง และทำให้คุณคลายความกังวลลงได้ด้วย [2]
  11. การได้เอ่ยคำที่คุณโปรดปรานและคุ้นเคยจะช่วยให้คุณจิตใจสงบ และควบคุมตัวเองได้มากขึ้น เมื่อคุณรู้สึกผ่อนคลายหลังจากได้ร้องเพลงหรือท่องกลอนที่คุณชอบแล้ว คุณก็จะพูดบทของตัวเองได้ง่ายขึ้นและมั่นใจยิ่งขึ้นด้วย
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

เอาชนะความประหม่าขณะพูดพรีเซนต์

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. สิ่งนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่แท้จริงแล้ว เหตุผลอย่างหนึ่งที่คุณรู้สึกประหม่า ก็เป็นเพราะคุณกลัวว่าคนอื่นๆ จะคิดว่าคุณน่าเบื่อนั่นเอง คุณอาจจะกลัวตัวเองดูน่าเบื่อเพราะสิ่งที่คุณจะพูดนั้นน่าเบื่อเหลือเกิน แต่ถึงแม้หัวข้อที่คุณต้องพรีเซ้นต์นั้นจะจืดชืดน่าเบื่อที่สุดในโลก ก็ให้ลองคิดวิธีการนำเสนอที่ทำให้หัวข้อนั้นเข้าถึงง่ายและน่าสนใจมากขึ้น คุณจะประหม่าน้อยลงถ้าคุณรู้แน่ว่าเนื้อหาที่คุณจะนำเสนอนั้นน่าสนใจ [3]
    • ถ้าสถานการณ์อำนวย สร้างเสียงหัวเราะสักเล็กน้อย หยอดมุกตลกสักหน่อยเพื่อให้คุณคลายความตึงเครียด และทำให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย
  2. ในตอนที่คุณทำพรีเซนต์เทชั่นและซ้อมนำเสนอ ให้ลองพิจารณาความต้องการ ความรู้ และความคาดหวังของผู้ฟัง ถ้าคุณจะต้องพูดกับกลุ่มผู้ฟังอายุน้อย ปรับเนื้อหา น้ำเสียง และคำพูดของคุณให้ฟังง่ายขึ้นตามจำเป็น ถ้าผู้ฟังมีอายุและค่อนข้างนิ่งขรึม ให้นำเสนออย่างเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น คุณจะประหม่าน้อยลงถ้าคุณรู้แน่ว่าคุณสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังของคุณได้
  3. อย่าก้าวขึ้นเวทีพร้อมมุกตลกแห้งๆ ว่าคุณรู้สึกประหม่าแค่ไหน แค่คุณก้าวขึ้นไปบนเวที ผู้ฟังทุกคนก็ย่อมคิดแล้วว่าคุณนั้นมั่นใจเต็มเปี่ยม การยอมรับว่าคุณประหม่าอาจจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นบ้าง แต่ผู้ฟังจะทั้งหมดศรัทธาและหมดความสนใจในตัวคุณไปทันที
  4. ถ่ายวีดีโอขณะคุณกำลังพรีเซนต์ ลองถ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะเปิดวีดีโอของตัวเองดูแล้วรำพึงในใจว่า “โห พรีเซนต์อะไรเจ๋งชะมัด!” ถ้าคุณไม่ชอบตัวเองในวีดีโอ คุณก็ย่อมไม่ชอบตัวเองตอนพรีเซนต์สดด้วยเหมือนกัน คอยถ่ายและปรับแก้ไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะพอใจ เมื่อถึงเวลาต้องขึ้นเวที ให้นึกอยู่เสมอว่าตัวคุณเองในวีดีโอดูดีแค่ไหน และบอกตัวเองว่าคุณทำได้ดียิ่งกว่านั้นอีก
  5. คุณอาจกำจัดความกังวลในตัวคุณให้หมดไป พร้อมกันนั้นก็เข้าถึงผู้ฟังได้ ด้วยการก้าวไปมาบนเวที หากคุณเคลื่อนไหวอย่างมีพลังและแสดงท่วงท่าเพื่อขับเน้นสิ่งที่คุณพูด แค่การเคลื่อนไหวอย่างเดียวก็อาจจะช่วยให้คุณเอาชนะความประหม่าได้ แต่อย่าทำท่าลุกลี้ลุกลน เช่นแกว่งแขน ม้วนผม หรือเล่นไมโครโฟน หรือบทพูดในมือไปเรื่อยเปื่อย
    • อาการลุกลี้ลุกลนมีแต่จะทำให้อาการเกร็งและเครียดเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้ฟังรู้ว่าคุณกำลังอึดอัด
  6. อาการตื่นเวทีของผู้ที่ต้องพูดต่อหน้าสาธารณะส่วนใหญ่นั้น มักปรากฏในรูปการพูดเร็วเกินไป คุณอาจพูดเร็วเพราะคุณประหม่าและอยากให้สุนทรพจน์หรือการนำเสนอจบไปเร็วๆ แต่การพูดเร็วจะยิ่งทำให้คุณสื่อสารความคิดของคุณลำบากขึ้น และเข้าถึงผู้ฟังได้น้อยลง คนที่พูดเร็วเกินไปส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว ดังนั้นให้หยุดพักสักหน่อยก่อนนะขึ้นหัวข้อใหม่ ให้ผู้ฟังได้มีเวลาแสดงปฏิกริยาต่อประโยคสำคัญๆ ของคุณ
    • การพูดให้ช้ายังช่วยลดความเสี่ยงในการพูดตะกุกตะกัก และการพูดผิด
    • จับเวลาการพรีเซนต์ของคุณล่วงหน้า ซ้อมให้คุ้นกับจังหวะการพูดที่เหมาะสมเพื่อการนำเสนอของคุณจะได้จบตรงเวลา หานาฬิกาข้อมือไว้ใกล้ๆ ตัวสักเรือน และคอยชำเลืองมองเวลาเป็นพักๆ เพื่อดูว่าคุณใช้เวลาไปมากน้อยแค่ไหน
  7. หากคุณต้องการแก้อาการตื่นเวทีของคุณอย่างจริงจัง คุณอาจลองถามผู้ฟังดูว่าคุณนำเสนอเป็นอย่างไรบ้างโดยการถามความเห็นหลังพูดจบ แจกแบบสอบถาม หรือขอให้เพื่อนร่วมชั้นที่ฟังอยู่แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา การรู้จุดแข็งของตัวเองจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของคุณ ในขณะที่การรู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาอะไรบ้างก็จะช่วยให้คุณมั่นใจมากขึ้นในครั้งหน้าที่คุณต้องขึ้นเวที [4]
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

กลยุทธ์ทั่วไปในการเอาชนะอาการตื่นเวที

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. แม้มือคุณจะเปียกแฉะด้วยเหงื่อ และหัวใจของคุณเต้นถี่ราวกับจะระเบิด แต่จงทำราวกับว่าคุณเป็นคนที่เยือกเย็นที่สุดในจักรวาล เดินเหินให้สง่า ระบายยิ้มกว้างบนใบหน้า และอย่าบอกใครว่าคุณประหม่าแค่ไหน รักษาอาการให้สงบนิ่งตอนขึ้นเวที แล้วคุณก็จะเริ่มมั่นในขึ้นมาจริงๆ
    • มองตรงไปข้างหน้า อย่าก้มหน้ามองพื้น
    • อย่ายืนตัวงอเป็นกุ้ง
  2. คิดพิธีกรรมรับประกันความสำเร็จของคุณในวันแสดง เช่น คิดกับตัวเองว่า “ถ้าตอนเช้าวันแสดงวิ่งได้สักห้ากิโลเมตรจะโชคดี” หรืออาจเป็น “ถ้ากินมื้อสุดท้ายเหมือนๆ กันก่อนวันแสดง” หรือแม้แต่ “ถ้าร้องเพลงนี้ในห้องน้ำ” หรือ “ถ้าใส่ถุงเท้าคู่นี้” แล้วการแสดงจะดำเนินไปโดยไม่มีข้อผิดพลาด คิดอะไรขึ้นมาก็ได้เพื่อให้คุณเชื่อมั่นและพร้อมมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ
    • การหาเครื่องรางนำโชคสักอย่างก็เป็นการสร้างพิธีกรรมทีดีอย่างหนึ่ง เครื่องรางนั้นอาจเป็นอัญมณีชิ้นสำคัญของคุณ หรือตุ๊กตาปอนๆ ที่ให้กำลังใจคุณอยู่ในห้องแต่งตัวก็ได้
  3. นึกแต่เรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่นว่าการพรีเซนต์หรือการแสดงของคุณจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แทนที่จะคิดว่าจะมีเรื่องร้ายๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง หากมีความคิดแง่ลบโผล่ขึ้นมาในหัวหนึ่งอย่าง ให้กลบมันด้วยความคิดแง่บวกห้าอย่าง คุณอาจหาการ์ดเล็กๆ ที่มีข้อความให้กำลังใจ หรือไม่คุณอาจหาวิธีอะไรก็ได้ให้ตัวเองคิดแต่เรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแสดง และเลี่ยงไม่คิดวนเวียนอยู่กับความกลัวและความกังวลที่คุณรู้สึก
  4. หากคุณมีเพื่อนที่เป็นนักแสดงหรือพรีเซนเตอร์ชั้นเซียน ลองขอคำปรึกษาจากเพื่อนของคุณดู คุณอาจได้เคล็ดลับใหม่ และอาจรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อได้รู้ว่า ใครๆ ก็มีอาการตื่นเวทีกันทั้งนั้น ไม่ว่าคนๆ นั้นจะดูมั่นใจแค่ไหนก็ตามบนเวที
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

เอาชนะความประหม่าในการแสดงละครเวที

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนจะขึ้นเวที ลองนึกภาพตัวเองตีบทเสียแตกกระจุย จินตนาการคนดูยืนขึ้นปรบมือกึกก้อง นึกภาพตัวคุณเองยิ้มให้คนดูแต่ละคน และนึกถึงเสียงของเพื่อนนักแสดงและผู้กำกับที่ชมเชยว่าคุณแสดงได้ไร้ที่ติขนาดไหน เมื่อคุณเลิกคิดว่าการแสดงอาจจะออกมาเลวร้ายอย่างไรบ้าง แล้วคิดว่าผลลัพธ์จะต้องออกมาดีเลิศอย่างไม่ต้องสงสัย ความเป็นไปได้ที่การแสดงของคุณจะประสบความสำเร็จก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ลองนึกภาพดูว่าถ้ามองจากสายตาคนดูแล้ว ตัวคุณเองจะยอดเยี่ยมแค่ไหนบนเวที
    • เริ่มให้เร็ว มองภาพแห่งความสำเร็จในอนาคตตั้งแต่วินาทีแรกที่คุณได้บท จินตนาการณ์ความสำเร็จของตัวเองให้เป็นนิสัย
    • เมื่อวันแสดงใกล้เข้ามา คุณอาจนึกภาพความสำเร็จให้ชัดยิ่งขึ้น โดยนึกภาพตัวคุณเองแสดงได้อย่างไม่มีที่ติทุกคืนก่อนนอน และทุกเช้าเมื่อตื่น
  2. ซ้อมจนกว่าคุณจะจำทุกอย่างได้ จำคำที่นักแสดงคนก่อนหน้าคุณพูด คุณจะได้รู้คิวว่าคุณจะต้องเริ่มพูดเมื่อไหร่ ซ้อมให้ครอบครัว เพื่อน ตุ๊กตายัดนุ่น หรือกระทั่งเก้าอี้เปล่าๆ ดู เพื่อว่าคุณจะได้คุ้นกับการแสดงต่อหน้าผู้คน [5]
    • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนกลัวการแสดงก็คือกลัวลืมบท และกลัวต้องยืนเก้อไม่รู้จะทำอย่างไรดี ดังนั้น วิธีแก้อาการลืมบทที่ดีที่สุดก็คือการทำความคุ้นเคยกับบทให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    • การซ้อมต่อหน้าคนอื่นจะทำให้คุณตระหนักอยู่เสมอว่าคุณไม่ได้จะพูดบทให้ตัวเองฟังคนเดียว คุณอาจจำบทได้ขึ้นใจตอนที่อยู่คนเดียวในห้อง แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ชม คุณอาจลืมเกลี้ยงเลยก็ได้
  3. หากคุณอยากจะเอาชนะอาการตื่นเวทีได้อย่างสมบูรณ์ คุณต้องพยายามเข้าถึงการกระทำ ความคิด และความกังวลของตัวละครที่คุณแสดง ยิ่งคุณสวมบทบาทเป็นตัวละครได้เนียนสนิทเท่าไหร่ คุณก็จะลืมความกังวลของตัวเองไปได้มากเท่านั้น ลองจินตนาการว่าคุณเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ไม่ใช่นักแสดงหวาดๆ คนหนึ่งที่แค่พยายามจะเล่นเป็นตัวละครนั้น
  4. สร้างความมั่นใจโดยการซ้อมบทหน้ากระจก คุณอาจอัดวีดีโอไว้ดูว่าคุณแสดงได้ดีแค่ไหน และมีข้อบกพร่องอะไรต้องพัฒนาบ้าง ถ้าคุณคอยอัดวีดีโอและทบทวนตัวเองจนกระทั่งคุณรู้ตัวเองว่าเอาอยู่ คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จบนเวทีมากทีเดียว
    • การได้ดูตัวเองแสดงยังช่วยให้คุณเอาชนะความกลัวอันเกิดจากความไม่รู้ด้วย เมื่อคุณรู้แน่ว่าคุณดูเป็นอย่างไรขณะแสดง คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่ออยู่บนเวที
    • สังเกตกริยาของตัวเอง คอยดูว่าคุณขยับมือไม้อย่างไรบ้างขณะพูด
      • หมายเหตุ : วิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน คนบางคนอาจรู้สึกประหม่ามากขึ้น และคอยกังวลกับทุกความเคลื่อนไหวของตัวเอง ถ้าคุณดูตัวเองแสดงแล้วรู้สึกประหม่ามากขึ้น ก็ให้เลี่ยงวิธีนี้จะดีกว่า
  5. การด้นสดเป็นทักษะที่นักแสดงทุกคนควรฝึกให้เชี่ยวชาญ ความสามารถในการด้นสดจะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ผิดพลาดบนเวทีได้ นักแสดงหลายคนมัวกังวลว่าจะลืมบท หรือสับสนกับบทของตัวเองจนลืมคิดไปว่านักแสดงคนอื่นก็มีโอกาสทำพลาดได้เหมือนกัน หากคุณด้นสดได้ ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายกับการแสดงแบบคลอไปตามสถานการณ์ และพร้อมจะรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นบนเวที
    • การด้นสดจะทำให้คุณเห็นว่า คุณไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในการแสดงได้ นักแสดงไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ไร้ที่ติ หากแต่ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทุกรูปแบบ
    • อย่าแสดงอาการตกใจหรือเคว้งเมื่อมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จำไว้ว่าคนดูไม่ได้ถือบทอยู่ในมือ จึงไม่รู้หรอกว่ามีเหตุผิดพลาดเกิดขึ้นบนเวที เว้นแต่ว่าคุณจะแสดงอาการอย่างชัดเจนเท่านั้น
  6. การเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอก่อนและขณะทำการแสดงจะช่วยลดความตึงเครียดและดึงให้ผู้ชมไม่ละความสนใจจากตัวคุณ แน่นอนว่าคุณควรจะเคลื่อนไหวตามบทบาทของตัวละครเท่านั้น แต่ในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งนั้น ให้คุณขยับไปอย่างเต็มที่ เพื่อว่าร่างกายของคุณจะตื่นตัวและผ่อนคลายมากขึ้น
  7. เมื่อก้าวขึ้นเวทีแล้ว ให้คุณโฟกัสอยู่กับถ้อยคำ ท่าทาง และสีหน้าของคุณ อย่าเสียเวลาคิดถึงคำถามจุกจิก แค่ปล่อยตัวเองให้สนุกกับการแสดง และสวมบทบาทให้แนบเนียน ไม่ว่าคุณจะร้อง เต้น หรือพูดบทก็ตาม ถ้าคุณปิดตัวเองจากปัจจัยภายนอกได้ และสวมบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ ผู้ชมก็ย่อมเห็นถึงศักยภาพของคุณแน่นอน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • หากคุณเต้นพลาด ขอเพียงอย่าหยุด ก็จะไม่มีใครรู้แน่นอน เต้นต่อไปแล้วคนดูจะคิดว่าข้อผิดพลาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เมื่อพูดบทผิดก็เช่นกัน ผู้ชมไม่มีทางรู้บทของคุณ ดังนั้นอย่ากังวลถ้าคุณพูดข้ามไปวรรคเดียว และต้องด้นสด ขอแค่เล่นต่อไปเรื่อยๆ ก็พอ
  • ถ้าคุณลืมคำในบทพูด พูดต่อไป อย่าหยุด พยายามใช้คำอื่นที่ไม่มีในบท ถ้าคนที่แสดงร่วมฉากกับคุณทำพลาด “อย่าแสดงอาการ” ให้ทำเมินข้อผิดพลาดนั้น หรือถ้าข้อผิดพลาดนั้นใหญ่เกินกว่าจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ได้ ด้นสดเอาจากข้อผิดพลาดนั้น ความสามารถในการด้นสดนั้นเป็นเครื่องหมายของนักแสดงที่เก่งจริง
  • ถ้าคุณรู้สึกประหม่าเมื่อต้องสบตากับคนดู ให้เลี่ยงไปมองกำแพงหรือดวงไฟขณะแสดงอยู่แทน
  • นักแสดงที่เก่งกาจที่สุดบางคนก็มีอาการตื่นเวที ไม่ได้มีคุณตื่นเวทีอยู่คนเดียว แค่ทำใจยอมรับ และเมื่อคุณเริ่มอินกับบทบาท คุณก็จะลืมไปเองว่าคุณอยู่บนเวที
  • จำไว้ว่าผู้ชมไม่กินคุณหรอก! ผ่อนคลายแล้วสนุกกับการแสดงจะดีกว่า ในการแสดง คุณต้องสวมบท “เป็น” ตัวละครอย่างจริงจัง แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็ยังสนุกกับมันได้
  • ทำเหมือนว่าคุณกำลังซ้อมอยู่ที่บ้านหรืออยู่กับเพื่อน
  • ขั้นแรกฝึกต่อหน้าครอบครัว จากนั้นจึงฝึกกับเพื่อน ไม่นานคุณจะขึ้นเวทีพร้อมเสียงปรบมือแน่นอน!
  • บางครั้งก็ความกังวลก็มีผลดี หากคุณวิตกว่าคุณจะต้องทำพลาดบนเวทีแน่ๆ คุณก็จะระวังมากขึ้น คนที่มั่นใจมากเกินไปย่อมมีโอกาสทำพลาดได้มากที่สุด
  • จำไว้ว่าความกลัวและความตื่นตัวนั้นคือสิ่งเดียวกัน หากคุณลองปรับทัศนคติ แทนที่คุณจะกลัว คุณอาจรู้สึกตื่นเต้นแทนก็ได้
  • ลองฝึกกับคนกลุ่มเล็กๆ แล้วค่อยขยายไปกลุ่มใหญ่ขึ้น
  • ลองจินตนาการว่าคนดูไม่ฉลาดเท่าคุณ (ถ้าทำได้) นึกภาพคนดูใส่ชุดประหลาดๆ อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น หรือไม่อย่างนั้น คุณอาจจ้องกำแพงด้านหลังคนดูไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะสบายใจ หรือพร้อมจะขึ้นเวที
  • บางครั้ง การให้กำลังใจตัวเองว่าคุณต้องแสดงได้ดีกว่าคนอื่นอย่างแน่นอนก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ ทำ “พิธีกรรมก่อนขึ้นแสดง” ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คุณเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่อย่าถึงขั้นทำวางโต ความเย่อหยิ่งไม่ได้ช่วยให้การแสดงของคุณดีขึ้น
  • ปกติแล้วในขณะที่คุณอยู่บนเวที มักจะมีไฟสปอตไลท์ดวงใหญ่ส่องมาที่คุณ แสงจากสปอตไลท์จะทำให้คุณไม่สามารถมองเห็นผู้ชมได้ถนัดนัก คุณอาจลองโฟกัสไปที่ดวงไฟ (แต่อย่าจ้องนานจนตาบอด) ถ้าคุณกลัวผู้ชม แต่อย่าจ้องมองไปข้างหน้าอย่างว่างเปล่า และอย่ามองจุดเดียวตลอดเวลา นอกจากนี้ ถ้าคุณแสดงในโรงละคร ไฟบริเวณที่นั่งผู้ชมจะถูกหรี่ลง ทำให้พื้นที่ที่ผู้ชมนั่งอยู่นั้นจะกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่ามืดๆ ขนาดมหึมา
  • ถ้าการแสดงครั้งแรกของคุณเป็นไปด้วยดี อาการตื่นเวทีของคุณอาจลดลงไปบ้าง (หรือหายไปเลย) ในการแสดงครั้งถัดไป
  • ถ้าคุณแสดงเละเทะเหรอ แล้วไง! เดี๋ยวคุณก็จะหัวเราะกับความผิดพลาดทีหลังเอง
  • หากคุณลองซ้อมให้ครอบครัวดู ก่อนที่จะขึ้นเวทีจริง ก็จะช่วยได้มากทีเดียว
  • ถ้าคุณกำลังร้องเพลงต่อหน้าคนดู หรือเพื่อน หรือครอบครัว หรือใครก็ตาม แล้วเกิดลืมเนื้อหรือร้องข้ามคำหรือประโยคไป ให้ร้องต่อไป เพราะถ้าคุณไม่หยุด ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าคุณร้องพลาด
  • แสดงเหมือนคุณอยู่คนเดียวลำพัง ไม่มีใครดูอยู่ สร้างรัศมีความสนใจขึ้นรอบตัวคุณ และอย่าสนใจสิ่งที่อยู่ภายนอก
โฆษณา

คำเตือน

  • เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนขึ้นแสดง!
  • อย่ากินมากเกินไปก่อนขึ้นเวที ไม่อย่างนั้นคุณจะรู้สึกคลื่นไส้เข้าจริงๆ การกินเยอะเกินจะดูดพลังงานของคุณด้วย รอไว้กินหลังการแสดงจบแล้วจะดีกว่า
  • ถ้าคุณไม่ต้องใส่ชุดเฉพาะของตัวละครในเรื่อง ให้ใส่เสื้อผ่าที่คุณใส่แล้วสบายตัวและสบายใจ อย่าให้ตัวเองรู้สึกประหม่าอายกับภาพลักษณ์ของคุณบนเวที นอกจากนี้ อย่าใส่อะไรที่ยั่วยวนมากเกินไป และใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการแสดงของคุณ คุณคงไม่อยากให้เสื้อผ้าน้อยชิ้นเผยที่ลับของคุณให้โผล่วับๆ แวมๆ ระหว่างกำลังแสดงอยู่แน่! เลือกเสื้อผ้าที่คุณรู้สึกว่าใส่แล้วดูดี และภูมิใจที่จะใส่ เสื้อผ้าจะช่วยให้คุณมั่นใจกับรูปลักษณ์ของคุณมากขึ้น
  • เตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ การฝึกซ้อมคือกุญแจแห่งความสำเร็จ และยิ่งคุณซ้อมมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น และคุณภาพในการแบ่งเวลา การพูดจา และการแสดงของคุณก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
  • จำคิวของคุณให้แม่น! สิ่งที่นักแสดงมือใหม่ทำพลาดบ่อยที่สุดก็คือ รู้แต่บทของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าต้องพูดเมื่อไหร่ ถ้าคุณจำคิวไม่ได้ คุณอาจต้องยืนเก้อในความเงียบงันอยู่นานทีเดียว
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 63,478 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา