ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันเป็นทั้งศิลปะและเครื่องมือในการรักษามารยาทที่ดี การแนะนำตัวที่ดีทำให้คนสองคนได้เริ่มต้นบทสนทนาที่ดี และยังช่วยลดความอึดอัดหรือความกระอักกระอ่วนในการเจอกันครั้งแรกอีกด้วย เวลาที่คุณแนะนำคนสองคนให้รู้จักกัน ส่วนที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดคือการรู้ว่าควรแนะนำใครให้ใครตามสถานะและตำแหน่งรับผิดชอบ พอคุณรู้สองอย่างนี้แล้ว คุณก็จะสามารถแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันได้อย่างง่ายดาย และอาจจะถึงขั้นเริ่มต้นบทสนทนาดีๆ ในระหว่างนั้นเลยก็ได้ อ่านขั้นตอน 1 เพื่อเรียนรู้วิธีการแนะนำคนอื่นให้รู้จักกันตั้งแต่วันนี้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เริ่มตั้งแต่พื้นฐาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณอยากแนะนำคนสองคนให้รู้จักกัน คุณต้องหาจังหวะเวลาให้ดี เพราะคุณคงไม่อยากเผลอทำทุกอย่างพังตั้งแต่ยังไม่ทันได้แนะนำตัวเพราะคุณดันแนะนำตัวคนสองคนผิดหรือขัดจังหวะบทสนทนาที่กำลังไปได้สวยแค่เพื่อบอกเล่ารายละเอียดให้จบๆ ไป สิ่งที่คุณต้องรู้คือ
    • ถ้าคุณกำลังอยู่ท่ามกลางบทสนทนาที่มีคนสองคนที่ไม่รู้จักกันอยู่ด้วย พยายามแนะนำสองคนนี้ให้รู้จักกันโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็อาจจะยากนิดนึง สมมุติว่าคุณอยู่กับรูมเมตมหาวิทยาลัยที่ชื่อแอน แล้วคุณบังเอิญเจอแจ๊บเพื่อนสมัยมัธยมที่เริ่มร่ายยาวเรื่องเพื่อนคนหนึ่งของคุณกับแจ๊บ แอนที่น่าสงสารจะยืนเก้ๆ กังๆ เบื่อๆ อยู่ตรงนั้นขณะที่แจ๊บกำลังพล่ามไม่หยุด เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องหาโอกาสเปิดการแนะนำตัวเพื่อที่คุณจะได้ให้แอนเข้าไปอยู่ในบทสนทนาด้วย
    • คุณไม่ควรแนะนำตัวคนอื่นให้กับคนที่กำลังคุยเรื่องจริงจังอยู่ เช่น คุณอาจจะอยู่กับลูกค้าในงานเลี้ยงที่เกี่ยวกับงาน และคุณก็อยากแนะนำเขาให้หัวหน้ารู้จักมากๆ แม้ว่าการแนะนำลูกค้าให้หัวหน้ารู้จักจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณก็ควรเลี่ยงไปก่อนหากหัวหน้าดูท่าจะกำลังใช้สมาธิคุยกับคนอื่นอยู่ คุณควรรอจังหวะเปิดการแนะนำตัวตอนที่หัวหน้าดูจะไม่อินกับการสนทนาเท่าไหร่แล้ว เพราะการแนะนำตัวในจังหวะที่ผิดอาจทำให้คนสองคนไม่ประทับใจในตัวกันและกันเท่าที่ควร
  2. ดูว่าคนไหนมีสถานะหรือตำแหน่งรับผิดชอบทางสังคมสูงกว่า. เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณจะต้องรู้เพราะคนที่มีสถานะหรือตำแหน่งต่ำกว่าจะต้องถูกแนะนำตัวให้แก่ผู้ที่มีสถานะหรือตำแหน่งสูงกว่าเสมอ โดยทั่วไปในเชิงสถานะทางสังคม เพศถือเป็น "แต้มต่อ" และเป็นตัวกำหนดลำดับขั้นที่สูงกว่า ผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายเสมอยกเว้นว่าผู้ชายคนนั้นจะแก่กว่าผู้หญิงคนนี้มากๆ หลังจากนั้นอายุจะเป็นตัวกำหนดลำดับถัดมา คนที่อายุมากกว่าจะอยู่ในสถานะสูงกว่าคนอายุน้อย ซึ่งอาจเป็นข้อแยกแยะที่มีประโยชน์มากหากทั้งคู่เป็นเพศเดียวกัน สิ่งที่คุณต้องรู้คือ
    • แม่สามีที่อายุ 70 ปีของคุณถือว่าอาวุโสกว่าแฟนหนุ่มคนใหม่ของคุณมาก
    • อายุที่มากกว่ามากต้องมาก่อนสถานะหรือตำแหน่งส่วนใหญ่ทั้งในแง่ของมารยาทและการให้เกียรติ เพื่อนบ้านชายวัย 80 ปีของคุณมีสถานะสูงกว่าหลานสาววัย 14 ของคุณ (ตามสายตาของคนส่วนใหญ่)
    • ถ้าอย่างอื่นเท่ากันหมด คุณต้องเรียกชื่อคนที่คุณรู้จักมานานกว่าก่อน เพราะฉะนั้นแนะนำเพื่อนมัธยมต้นให้เพื่อนมัธยมปลายรู้จัก
    • สำหรับการแนะนำทางสังคม ผู้ชายมักจะถูกแนะนำให้ผู้หญิงรู้จักเพื่อแสดงการให้เกียรติ แต่เพศไม่ได้เป็นปัจจัยในบริบททางธุรกิจที่สถานะจะสำคัญกว่า
    • ญาติอยู่ในสถานะที่สูงกว่าเพื่อน
  3. ดูว่าคนไหนอยู่ในสถานะสูงกว่าหรือมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าในบริบททางธุรกิจ. ในบริบททางธุรกิจ ผู้หญิงยังคงอยู่ในสถานะที่สูงกว่า และผู้อาวุโสก็ยังอยู่ในสถานะที่สูงกว่าคนที่อายุน้อยเหมือนเดิม แต่ตำแหน่งต้องมาก่อนทั้งอายุและเพศ หมายความว่าถ้าชายหนุ่มมีตำแหน่งสูงกว่าผู้หญิง ก็ต้องแนะนำผู้หญิงให้ผู้ชายรู้จักเพราะผู้ชายอยู่ในสถานะที่สูงกว่า โดยพื้นฐานแล้วเมื่อเป็นบริบททางธุรกิจ "ตำแหน่ง" จะเป็นตัวกำหนดสถานะก่อน ตามด้วยเพศและอายุ สิ่งที่คุณต้องรู้ได้แก่
    • เจ้านายของคุณอยู่ในสถานะหรือมีอำนาจหน้าที่เหนือกว่าเพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน หรือเพื่อนสนิทของคุณ
    • เพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าต้องมาก่อนเพื่อนร่วมงานที่อายุน้อยกว่า
    • คุณควรแนะนำลูกค้าหรือผู้รับบริการให้แก่พนักงาน
    • ถ้าคุณแนะนำคนที่มีสถานะเท่ากันในโลกธุรกิจ ก็ให้แนะนำคนที่คุณไม่ค่อยรู้จักมากนักให้คนที่คุณรู้จักดีกว่า โดยที่คุณควรเอ่ยชื่อคนที่คุณรู้จักดีกว่าก่อน
  4. เอ่ยชื่อคนที่มีสถานะสูงกว่าก่อนและแนะนำคนที่มีสถานะต่ำกว่าแก่คนที่มีสถานะสูงกว่าเสมอ. อาจจะฟังดูสับสนเล็กน้อย แต่หลักๆ ก็คือคุณควรเอ่ยชื่อคนที่มีสถานะสูงกว่าก่อน แล้วค่อย "แนะนำ" อีกฝ่ายให้เขารู้จัก วิธีนี้จะทำให้คนที่มีสถานะสูงกว่าโดดเด่นในฐานะที่เป็นคนที่สำคัญมากกว่าในสถานการณ์นั้นๆ ตัวอย่างคือ
    • แนะนำเพื่อนหรือสามี/ภรรยาให้ญาติรู้จัก ญาติมีสถานะสูงกว่า : "พ่อคะ นี่แดน แฟนหนูค่ะ"
    • แนะนำเพื่อนร่วมงานที่ตำแหน่งต่ำกว่าให้เพื่อนร่วมงานที่ตำแหน่งสูงกว่า : "ท่านผู้บริหารครับ นี่คุณลูกจ้างครับ"
    • แนะนำลูกค้าให้หุ้นส่วนทางธุรกิจ : "คุณลูกค้าครับ นี่ทรัพย์ หุ้นส่วนของผมครับ"
    • แนะนำคนที่อายุน้อยกว่าให้คนที่อายุมากกว่า : "คุณอาวุโสค่ะ นี่ศรัญญา สาวน้อยค่ะ"
    • แนะนำผู้ชายให้ผู้หญิงรู้จัก : "มณีรัตน์ นี่จักรค่ะ"
    • ในบริบททางธุรกิจ ตำแหน่งต้องมาก่อนเพศ ถ้าคุณธวัชชัยเป็นผู้ชายที่มีตำแหน่งสูงกว่าคุณดรุณี คุณธวัชชัยก็จะต้องอยู่ในสถานะที่สูงกว่าเพราะว่าตำแหน่งทางธุรกิจของเขาสูงกว่า แม้ว่าคุณดรุณีจะเป็นผู้หญิงก็ตาม  : "คุณธวัชชัยคะ ดิฉันขอแนะนำคุณดรุณีค่ะ"
  5. บอกข้อมูลภูมิหลังเพื่อช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเริ่มต้นบทสนทนาได้. คุณควรทำขั้นตอนนี้ หลังจาก ที่คุณแนะนำตัวให้ทั้งสองรู้จักกันแล้วเท่านั้น ถ้าพวกเขามีเรื่องให้คุยกันเองได้มากพอก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณพยายามที่จะช่วยเกริ่นนำบทสนทนาทางธุรกิจหรือแค่อยากให้พวกเขาได้พูดคุยกันที่งานปาร์ตี้ก่อนที่คุณจะไปต่อ คุณก็สามารถเชื่อมสายใยที่จะทำให้เขาสองคนคุยกันเองได้ หรืออาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละคนเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยแล้วให้พวกเขาเชื่อมโยงกันเอง คุณสามารถเชื่อมโยงคนสองคนได้ด้วยการพูดถึงความสนใจร่วมกัน สถานที่ที่ทั้งสองฝ่ายรู้จักเป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่งคนที่ทั้งสองฝ่ายรู้จัก ตัวอย่างการเชื่อมโยงคนสองคนเข้าด้วยกันก็เช่น
    • "อภิญญา คุณเคยเจอโฬมหรือยัง คุณทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือของเจน ออสเจนระหว่างเดินเล่นในทุ่งโล่งเหมือนกันเลย"
    • "แม่คะ นี่สายไหมเพื่อนหนูค่ะ เขาสอนโยคะอยู่ที่โรงเรียนที่แม่ไปเรียนน่ะค่ะ"
    • "คุณจรัญครับ นี่คุณสามารถครับ คุณสามารถเคยช่วยผมปิดงบการเงินมาก่อน ถ้าไม่มีคุณจรัญคอยช่วยนี่เราคงไม่มีทางปิดงบได้เลยนะครับ"
    • "มนัญญา จะแนะนำมนูญ ชานน เพื่อนบ้านของฉันให้รู้จัก มนูญเนี่ยเขาเป็นนักเขียนที่ได้ตีพิมพ์ผลงานเลยนะ ส่วนมนัญญาเองก็เพิ่งจะลงเรียนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ค่ะ"
    • "อุ๋มอิ๋ม เธอเคยเจอรักษ์หรือยังนะ จริงๆ แล้วรักษ์เขาก็ทำงานกับจ๊อบรูมเมตเธอนั่นแหละ จ๊อบเป็นคนที่เจ๋งสุดๆ ไปเลยเนอะ คืนนี้เขาน่าจะมาด้วย…"
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ฝึกปรือมารยาท

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การแนะนำที่เป็นทางการส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับที่ทำงาน แต่ก็อาจเกิดขึ้นในงานสังคมที่เป็นทางการหรือหากคุณอยู่กับผู้ทรงเกียรติได้เช่นกัน ถ้าคุณแนะนำคนสองคนในบริบทที่เป็นทางการ คุณควรเรียกชื่อจริงและนามสกุลของทั้งสองฝ่าย และใช้วลี "ดิฉันขอแนะนำ" "ดิฉันอยากจะแนะนำ" หรือ "คุณเคยเจอ..." บางคนอาจมองว่าคุณไม่ควรใช้คำว่า "แนะนำ" เพราะอาจก่อให้เกิดความสับสนหรืออาจดูตรงไปตรงมาเกินไป แต่ก็แล้วแต่คุณจะเลือก สิ่งที่คุณควรทำได้แก่
    • เอ่ยชื่อคนที่มีสถานะหรืออำนาจหน้าที่สูงกว่าก่อน
    • เรียกทั้งชื่อจริงและนามสกุล รวมทั้งยศ เช่น "ดร./ท่าน" เช่น "ดร. จักรพงศ์ ดิฉันขอแนะนำศริญญา สามัคคีค่ะ ดร. จักรพงศ์เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของดิฉันเอง ส่วนศริญญาก็กำลังเรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะค่ะ"
    • กล่าวถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องขณะแนะนำตัวทั้งสองฝ่าย อาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนที่คุณแนะนำตัวให้ก็ได้ เช่น คุณอาจจะพูดว่า "คุณบารมีค่ะ ดิฉันขอแนะนำมนต์ณัฐ เจริญกิจค่ะ คุณบารมีเป็นเจ้านายของดิฉัน ส่วนมนต์ณัฐเป็นเพื่อนร่วมงานของดิฉันค่ะ"
  2. ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการนัก เช่น งานบาร์บีคิวในสวนหลังบ้าน คุณสามารถแนะนำให้คนสองคนรู้จักกันผ่านการเรียกชื่อได้อย่างง่ายดายโดยการพูดว่า "ภัทร นี่ไอซ์" และคุณยังสามารถเชื่อมโยงคนสองคนแบบสบายๆ กว่านี้ด้วยการพูดว่า "ฉันอยากให้คุณเจอ...จะตายอยู่แล้ว" ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ คุณไม่ต้องกังวลมากนักว่าจะพูดอะไรบ้าง แต่เป็นเรื่องของการทำให้คนสองคนคุยกันมากกว่า
    • การเรียกชื่อเล่นเหมาะกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น
  3. ในกรณีนี้คุณจะต้องใช้เวลาแนะนำตัวผู้ที่มาใหม่ให้แต่ละคนในกลุ่มได้รู้จักสักหน่อย เว้นแต่ว่าจะเป็นกลุ่มกันเองเล็กๆ ที่แค่แนะนำทั่วไปก็พอแล้วและมันก็ไม่ได้เสียเวลาหรือขัดจังหวะที่จะแนะนำชื่อแต่ละคนในกลุ่มขณะที่ทั้งกลุ่มกำลังสนใจคุณ
    • สำหรับกลุ่มใหญ่ที่เป็นทางการ ให้แนะนำผู้ที่มาใหม่กับทั้งกลุ่มก่อน จากนั้นพาผู้ที่มาใหม่ไปหาคนในกลุ่มแต่ละคนและแนะนำด้วยชื่อ "ขนิษฐา นี่คุณกฤตภาส เจ้านายของดิฉันค่ะ ลัลนา นี่คุณกฤตภาส เจ้านายของดิฉันค่ะ" และอื่นๆ แนะนำตัวผู้ที่มาใหม่ให้คนในกลุ่มได้รู้จักในลักษณะนี้ต่อไป
    • แม้ว่าคุณอาจจะคิดว่ามันตลกๆ หรือง่ายกว่าหากจะพูดว่า "ขนบพร นี่คือทุกคน ทุกคน นี่คือขนบพร" แต่มันไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเริ่มต้นบทสนทนากันได้เลย นอกจากนี้การพูดว่า "ทุกคน" ก็หยาบคายด้วยเพราะมันเหมือนว่าคุณคิดว่ามันไม่สำคัญที่ขนบพรจะต้องรู้จักแต่ละคน แน่นอนว่าคุณต้องใช้วิจารณญาณด้วย ถ้าคุณอยู่ที่งานปาร์ตี้ที่เสียงดังมากและขนบพรเพิ่งจะมา การแนะนำเธอกับคนใหม่ๆ 12 โดยทันทีก็อาจจะมากไป เพราะฉะนั้นให้ดึงขนบพรเข้าไปในวงสนทนาและแนะนำเธอแก่คนอื่นๆ ครั้งละ 2-3 คนจะดีกว่า
  4. ทั้งในกรณีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ คุณไม่จำเป็นต้องแนะนำตัวกลับกันซ้ำอีกครั้ง เพราะทั้งคู่รู้แน่ชัดอยู่แล้วว่าใครเป็นใคร การพูดชื่อซ้ำหรือการแนะนำตัวกลับกันอีกครั้งอาจดูซ้ำซากนิดๆ และจะกลายเป็นว่าคุณทำผิดมารยาททางสังคมในเรื่องที่ไม่น่าผิดด้วย
  5. เราทุกคนต่างเคยเจอเหตุการณ์นี้ ตอนที่เราพยายามแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันแต่เราดันลืมชื่อฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราไป มี 2 วิธีที่คุณสามารถใช้แก้สถานการณ์ได้
    • ขอโทษอย่างสุภาพแล้วพูดว่า "ดิฉันต้องขอโทษนะคะ ไม่ทราบว่าคุณช่วยบอกชื่อคุณอีกครั้งได้ไหมคะ"
    • พยายามเจ้าเล่ห์สักหน่อย ลองพูดว่า "คุณสองคนเคยเจอกันหรือยังคะ" จากนั้นรอให้ทั้งสองฝ่ายแนะนำตัวกันเอง นี่อาจไม่ใช่แผนการที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สามารถช่วยคุณในสถานการณ์แบบนั้นได้ โดยเฉพาะหากคุณลืมชื่อคนที่คุณเคยเจอมาหลายครั้งแล้ว!
  6. กฎกำปั้นทุบดินคือ คุณควรแนะนำตัวคนสองคนด้วยคำที่คุณใช้เรียกพวกเขาตามปกติ เช่น ถ้าคุณสนิทกับอาจารย์ญาดา อภิบาลบำรุง อดีตอาจารย์ของคุณมาก คุณก็อาจจะแนะนำอาจารย์ให้แฟนคุณรู้จักโดยเรียกเธอว่า "ครูดา" ถ้าปกติแล้วคุณเรียกแบบนั้น แต่ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทางการมากกว่า โดยที่คนๆ นี้ไม่ได้อนุญาตให้คุณเรียกชื่อเขาหรือเธอด้วยชื่อเฉยๆ และปกติคุณก็เรียกเขาว่า "ดร." หรือ "คุณ" อยู่แล้ว ก็ให้แนะนำตัวโดยการเรียกตามนั้น
    • หากไม่แน่ใจ ให้เลือกแนะนำตัวแบบเป็นทางการไว้ก่อน เพราะการให้เจ้านายพูดว่า "เรียกผมว่าบดินทร์เฉยๆ ก็ได้ ไม่ต้องเรียกคุณหรอก" นั้นดีกว่าการที่เจ้านายจะไม่พอใจเมื่อคุณเรียกเขาว่า "บดินทร์" เฉยๆ แทนที่จะเรียกว่า "คุณบดินทร์"
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณควรตอบรับการแนะนำตัวแบบธรรมดาๆ เช่น "สวัสดีครับ" หรือ "ยินดีที่ได้พบค่ะ" หรือ "นิภาเล่าเรื่องคุณให้ผมฟังเยอะเลยครับ" อย่าใช้คำพูดเยินยอหรือภาษาสละสลวยที่อาจดูไม่จริงใจหรือเชย Peggy Post กล่าวไว้ว่า "คำเยินยอที่เกินจริงมักทำให้คนเบือนหน้าหนี" [1]
  • ถ้าคุณอยากเป็นเหมือน Emily Post กูรูด้านมารยาทสังคมแล้วล่ะก็ คุณไม่ควรแนะนำคนสองคนให้รู้จักกันในที่สาธารณะถ้าคุณไม่มั่นใจ 100% ว่าเขาสองคนอยากรู้จักกัน ถ้าคุณอยู่ที่งานพบปะใกล้ชิดหรืองานปาร์ตี้ นั่นก็เรื่องนึง แต่ถ้าสมมุติว่าคุณไปงานเปิดพิพิธภัณฑ์ และเจ้านายของคุณกับคณิน เพื่อนบ้านของคุณก็ไปที่นั่นทั้งคู่ คุณ ไม่ ควรแนะนำสองคนนี้ให้รู้จักกันยกเว้นว่าคุณคิดว่าเจ้านายอยากจะรู้จักคณินผู้อาวุโสคนนี้จริงๆ ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้เป็นความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องแนะนำให้เขารู้จักกันก็ได้ถ้าคุณไม่อยากทำ นอกจากนี้การคิดทบทวนในใจก่อนว่าจะเชื่อมโยงสองคนนี้อย่างไรก่อนแนะนำออกไปก็ช่วยได้เหมือนกัน จากนั้นคุณค่อยช่วยให้ บทสนทนา ไหลลื่นหลังจากแนะนำตัวอย่างรวบรัดไปแล้วเท่านั้น
  • วิธีการแนะนำตัวที่ควรเลี่ยงได้แก่
    • การใช้คำว่า "ควร" หรือ "ต้อง" ในการแนะนำตัว เพราะมันอาจดูเจ้ากี้เจ้าการ ก้าวก่าย และหยาบคาย เช่น อย่าพูดว่า "คุณต้องเจอ" "คุณควรรู้จักกันไว้นะ" หรือ "คุณต้องมีเรื่องคุยกันเยอะแน่เลยค่ะ" (คุณจะมารู้ดีได้อย่างไร!)
    • เช่นเดียวกันก็คือ การพูดในสิ่งที่ก่อให้เกิดการกระทำ เช่น ยกมือไหว้ ก็ถือเป็นการล้ำเส้นความสุภาพ เช่น การพูดว่า "ช่วยยกมือไหว้"
    • การใช้ "นี่คือ" เวลาแนะนำตัวอาจฟังดูเป็นกันเองไปนิดนึง และไม่ได้สื่อความสำคัญของการแนะนำตัวในโอกาสที่เป็นทางการด้วย
    • การบังคับให้คนสองคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ได้อยากรู้จักกัน อย่าทำตัวเป็นกาวประสานใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่น เพราะความต้องการที่จะไม่ถูกแนะนำตัวถือเป็นเรื่องส่วนตัวของพวกเขา
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณลืมชื่อใคร อย่าทำเป็นบ่ายเบี่ยง แค่ยอมรับว่าชื่อของคนๆ นั้น "แวบหายไปจากความทรงจำ" ชั่วคราว อ่อนน้อมเข้าไว้!
  • หัวข้อที่ควรเลี่ยงในการแนะนำตัวได้แก่ การหย่าร้าง การเสียชีวิตของคนใกล้ชิด ตกงาน ความเจ็บไข้ และอื่นๆ [2] เพราะหัวข้อแบบนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกอึดอัดและไม่แน่ใจว่าจะพูดอะไรต่อ
  • คุณต้องตระหนักว่าเมื่อเป็นเรื่องของการแนะนำตัวแล้วย่อมมีความต่างในทางวัฒนธรรม สังคม และท้องถิ่น ซึ่งแม้ว่าโดยรวมแล้วหลักการจะค่อนข้างเป็นสากล แต่คุณก็ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมหากคุณต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย และเช่นเดียวกันการแนะนำตัวในสถานการณ์ทางธุรกิจกับทางสังคมนั้น ข้อปฏิบัติบางอย่างที่ใช้กับสถานการณ์หนึ่งก็อาจใช้กับอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • ความรู้เรื่องสถานะหรืออำนาจหน้าที่
  • ความรู้เรื่องความสนใจร่วมกันระหว่างสองฝ่าย

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Peggy Post, Excuse me, but I was next , p. 36, (2006), ISBN 978-0-06-088916-6
  2. Peggy Post, Excuse me, but I was next , p. 36, (2006), ISBN 978-0-06-088916-6
  3. Erin Bried, How to sew a button and other nifty things your grandmother knew , pp. 264-265, (2009), ISBN 978-0-345-51875-0 - research source
  4. http://www.artofmanliness.com/2010/08/10/how-to-make-introductions-like-a-gentleman/
  5. http://www.rightattitudes.com/2007/11/03/etiquette-protocol-introducing-people/
  6. http://ambertheblack.com/how-to-make-an-introduction/
  7. http://www.theartofdoingstuff.com/how-to-make-an-old-fashioned-introductionaccording-to-emily-post/

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 76,993 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา