ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

แท็บเล็ตแอนดรอยด์ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยคุณภาพและความสามารถที่ได้รับการยอมรับไม่น้อยกว่าไอแพดซึ่งเป็นผู้นำตลาด อีกทั้งในบางการใช้งาน แท็บเล็ตแอนดรอยด์ยังทำได้ดีกว่าไอแพดด้วย จึงทำให้หลายคนหันมาเลือกใช้แท็บเล็ตแอนดรอยด์มากขึ้น ทั้งนี้บางคนที่ไม่เคยใช้มาก่อนก็อาจสับสนงุนงงกับการตั้งค่าต่างๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ยากเลย เพียงล็อกอินด้วยแอคเคาท์กูเกิล แค่นี้ก็เริ่มใช้งานได้แล้ว ส่วนการตั้งค่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรนั้น อ่านจากเนื้อหาด้านล่างนี้ได้เลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 5:

แกะกล่องแล้วชาร์จแบต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อได้แท็บเล็ตมาใหม่ ไม่ใช่แกะกล่องแล้วนำเครื่องไปใช้เลย คุณควรตรวจเช็คอุปกรณ์และเอกสารต่างๆ ที่ใส่มาด้วยว่าครบถ้วนหรือเสียหายหรือไม่
    • ถ้าเป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง สิ่งที่บรรจุอยู่ในกล่องควรประกอบด้วย สายยูเอสบี หัวชาร์จ คู่มือการใช้งาน ใบรับประกัน และตัวแท็บเล็ต
    • คุณควรเช็คและอ่านคู่มือการใช้งานคร่าวๆ เพื่อศึกษาและทำความรู้จักกับอุปกรณ์รวมถึงฟังก์ชันพื้นฐานต่างๆ ก่อนใช้งาน
  2. แม้ว่าแท็บเล็ตที่เพิ่งแกะออกมาจากกล่องจะมีแบตพร้อมใช้งานอยู่แล้ว แต่คุณก็ควรชาร์จมันให้เต็มก่อนนำมาใช้เป็นครั้งแรก
    • คุณสามารถชาร์จแท็บเล็ตได้โดยการนำสายยูเอสบีมาต่อกับหัวชาร์จ หรือนำสายยูเอสบีไปเสียบที่พอร์ตยูเอสบีของคอมพิวเตอร์ จากนั้นนำด้านที่เป็นไมโครยูเอสบีไปเสียบกับแท็บเล็ต ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ด้านล่างของแท็บเล็ต ทั้งนี้การชาร์จผ่านหัวชาร์จจะทำให้แบตเต็มเร็วกว่าการชาร์จผ่านพอร์ตยูเอสบี
    • ถ้าไม่แน่ใจว่าสายไหนคือสายชาร์จ ก็ศึกษาจากคู่มือการใช้งานได้เลย
  3. เมื่อชาร์จแบตจนเต็มแล้ว ให้คุณเปิดเครื่องโดยกดที่ปุ่ม “เปิด/ปิดเครื่อง” (Power) ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที หรือกดค้างไว้กระทั่งมีภาพหรือข้อความปรากฏขึ้นมา
    • แท็บเล็ตแอนดรอยด์โดยทั่วไปจะมีปุ่มกดบนเครื่องสองปุ่ม ไม่อยู่ด้านบนก็ด้านขวาของตัวเครื่อง โดยปุ่มที่ยาวจะเป็นปุ่มปรับระดับเสียง ส่วนปุ่มที่สั้นกว่าจะเป็นปุ่มเปิด/ปิดหรือพักเครื่อง (Power/Sleep)
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 5:

การตั้งค่าเบื้องต้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณเปิดเครื่องเป็นครั้งแรก คุณต้องตั้งค่าเบื้องต้นของแท็บเล็ตตามแต่ละขั้นตอนก่อน ซึ่งขั้นแรกหลังเปิดเครื่องคือการเลือกภาษา โดยภาษาที่ให้เลือกจะมีอยู่มากมาย คุณเพียงใช้นิ้วเลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอภาษาที่ต้องการ หรือกดตรงเมนูเพื่อเลือกภาษาก็ได้ (การเลือกภาษาขึ้นอยู่กับรุ่นของแท็บเล็ตและเวอร์ชันของแอนดรอยด์)
    • กดปุ่ม “ถัดไป” (Next) เมื่อคุณเลือกได้แล้ว
    • จำไว้ว่า วิธีการตั้งค่าของแท็บเล็ตแต่ละเครื่องมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่นของแท็บเล็ต รวมถึงเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ กล่าวคือ แท็บเล็ตคนละรุ่นหรือคนละยี่ห้อ อาจจะมีการตั้งค่าไม่เหมือนกันก็ได้
  2. หลังจากเลือกภาษาเสร็จแล้ว หน้าจอจะมีหน้าลิสต์ของไวไฟที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงขึ้นมา ให้คุณเลือกไวไฟที่ต้องการเชื่อมต่อ ก่อนไปยังขั้นตอนถัดไป แต่ถ้าไวไฟที่ต้องการใช้ไม่ปรากฏขึ้นมา ให้เดินเข้าไปใกล้ๆ เร้าเตอร์หรือจุดปล่อยไวไฟ จากนั้นกดปุ่ม “รีเฟรซ” (Refresh List) บนหน้าจอ ไวไฟที่คุณต้องการเลือกก็จะปรากฏขึ้นมา
    • กดเลือกไวไฟที่คุณต้องการเชื่อมต่อ แต่ถ้าไวไฟนั้นตั้งค่าความปลอดภัยไว้ เพื่อไม่ให้คนอื่นแอบมาใช้งาน มันก็จะให้ใส่รหัสผ่านก่อนเชื่อมต่อ คุณต้องใส่รหัสผ่านโดยกดบนคีย์บอร์ดที่ปรากฏขึ้นมา
    • เมื่อใส่รหัสผ่านเรียบร้อยแล้ว ให้คุณกดปุ่ม “ดำเนินการต่อ” (Continue) เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
    • ควรศึกษาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
  3. โดยปกติแล้วเครื่องจะตั้งวันเดือนปีและเวลาให้อัตโนมัติ ถึงกระนั้นคุณก็สามารถตั้งเองได้ ถ้าวันเวลาที่เครื่องกำหนดมาให้ไม่ถูกต้อง เมื่อตั้งเสร็จแล้วก็กดปุ่ม “ถัดไป” เพื่อดำเนินการต่อ
  4. หลังจากตั้งวันเวลา คุณจะได้อ่านเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ ในการใช้แท็บเล็ต โดยผู้ผลิตจะแจ้งให้ทราบว่า คุณสามารถใช้แท็บเล็ตนี้ทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่ได้บ้าง ถ้าคุณยอมรับข้อตกลงก็ให้กดปุ่ม “ถัดไป” เพื่อดำเนินการต่อ
  5. เนื่องจากแอนดรอยด์เป็นของกูเกิล ดังนั้นการใช้งานบางแอป เช่น กูเกิลเพลย์ (Google Play) จีเมล์ (Gmail) ฯลฯ จึงต้องใช้แอคเคาท์ของกูเกิลในการล็อกอิน โดยในขั้นตอนนี้ เครื่องจะให้คุณลงชื่อเข้าใช้ด้วยแอคเคาท์กูเกิลหรือสร้างแอคเคาท์ใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้กระบวนการลงชื่อเข้าใช้อาจต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง
    • คุณสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปก่อนก็ได้ แต่คุณก็จะใช้งานได้บางแอปหรือบางฟังก์ชันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการใช้แอปที่เชื่อมต่อกับกูเกิล คุณก็สามารถสร้างแอคเคาท์กูเกิลขึ้นมาผ่านแท็บเล็ตนั้น หรือผ่านหน้าเว็บกูเกิลในคอมพิวเตอร์ก็ได้
    • แท็บเล็ตบางรุ่นอย่างซัมซุงกาแล็กซี (Samsung Galaxy) จะให้คุณลงชื่อเข้าใช้ด้วยแอคเคาท์ของซัมซุงด้วย เพื่อให้คุณเข้าถึงบริการต่างๆ ของผู้ผลิต เช่น การสำรองข้อมูล (backup) เป็นต้น ทั้งนี้การสร้างแอคเคาท์เพื่อลงชื่อเข้าใช้บริการเหล่านั้น ไม่เสียค่าบริการใดๆ เหมือนแอคเคาท์ของกูเกิล
    • ถ้าคุณมีจีเมล์ กูเกิลพลัส หรือแอคเคาท์ของยูทูปแล้ว แสดงว่าคุณมีแอคเคาท์กูเกิลแล้วเรียบร้อย เพราะทั้งสามบริการนั้นเป็นของกูเกิลทั้งหมด
  6. หลังจากลงชื่อเข้าใช้เสร็จแล้ว เครื่องจะให้คุณตั้งค่าการสำรองข้อมูลและการเรียกคืนข้อมูล (backup and restore) คุณสามารถเรียกคืนข้อมูลที่เคยตั้งค่าไว้ที่อื่นมาใช้ในแท็บเล็ตเครื่องใหม่นี้ได้ด้วย ฟังก์ชันนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่มีมือถือหรือแท็บเล็ตแอนดรอยด์หลายเครื่อง นอกจากนี้คุณยังสามารถสำรองข้อมูลที่อยู่ในแท็บเล็ตเครื่องนี้ไว้ในกูเกิลแอคเคาท์ได้ด้วย เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการเรียกคืนหรือถ่ายโอนข้อมูลในอนาคต
  7. ขั้นตอนถัดมาคือการตั้งค่าโลเคชั่นหรือตำแหน่งบนแผนที่ ซึ่งการเปิดใช้งานฟังก์ชันที่หาโลเคชั่นด้วยไวไฟ จะทำให้แอปที่ต้องใช้โลเคชั่นสามารถระบุตำแหน่งของคุณได้ด้วยไวไฟที่กำลังเชื่อมต่อ นอกจากนี้คุณยังสามารถเปิดจีพีเอส (GPS) เพื่อให้การระบุตำแหน่งนั้นแม่นยำขึ้นด้วย การเปิดใช้โลเคชั่นนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับแอปที่ใช้นำทางอย่างกูเกิลแมพ (Google Maps)
  8. แท็บเล็ตบางรุ่นมาพร้อมบริการอื่นนอกเหนือจากของกูเกิลด้วย ซึ่งคุณก็ต้องลงชื่อเข้าใช้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น แท็บเล็ตซัมซุงกาแล็กซีที่ส่วนใหญ่จะมีแอปดรอปบ็อกซ์ (Dropbox) ติดมาพร้อมเครื่อง คุณต้องลงชื่อเข้าใช้หรือสร้างแอคเคาท์ใหม่ขึ้นมาก่อนใช้งาน ส่วนแท็บเล็ตรุ่นอื่นก็จะมีแอปที่มาพร้อมกับเครื่องแตกต่างกันไป ซึ่งคุณจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ตามต้องการ
  9. โดยทั่วไปขั้นตอนสุดท้ายของการตั้งค่าเบื้องต้นคือการตั้งชื่อแท็บเล็ต โดยชื่อนี้จะปรากฏขึ้นมาเมื่อแท็บเล็ตของคุณกำลังเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือกำลังออนไลน์อยู่
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 5:

สร้างความคุ้นเคยกับหน้าอินเตอร์เฟซ (interface)

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โฮมสกรีนคือหน้าหลักของแท็บเล็ต ซึ่งประกอบด้วยแอปและวิดเจ็ต (widget) ต่างๆ (วิดเจ็ต คือ หน้าแอปที่แสดงข้อมูลบางส่วนบนหน้าจอ ทำให้คุณไม่ต้องเปิดแอปเพื่อดูข้อมูล เช่น วิดเจ็ตพยากรณ์อากาศ นาฬิกา ฯลฯ) ทั้งนี้คุณสามารถสลับหน้าโฮมสกรีนไปมาได้โดยการปัดซ้ายหรือขวาบนหน้าจอ
  2. บนหน้าโฮมสกรีนอาจเต็มไปด้วยแอปจำนวนมาก คุณสามารถย้ายแอปเหล่านั้นได้โดยการกดไอคอนของแอปค้างไว้สักพัก กระทั่งมันขยับไปตามนิ้ว จากนั้นก็ย้ายไปยังตำแหน่งที่ต้องการ และถ้าคุณต้องการเพิ่มแอปในหน้าโฮมสกรีน ให้คุณกดปุ่ม “แอปพลิเคชัน” (Apps) เพื่อเปิดหน้าที่รวมแอปไว้ทั้งหมด (App Drawer) แล้วกดแอปที่คุณต้องการค้างสักพัก จนมันขยับไปตามนิ้ว จากนั้นย้ายมันไปยังหน้าโฮมสกรีน
    • ส่วนการลบแอปบนหน้าโฮมสกรีนนั้นสามารถทำได้โดยกดไอคอนของแอปค้างไว้สักพัก กระทั่งมันขยับไปตามนิ้ว จากนั้นก็ลากมันไปยังถังขยะหรือเครื่องหมายกากบาทที่อยู่ด้านบนของจอ วิธีนี้เป็นการลบแอปออกจากหน้าโฮมสกรีน ไม่ได้ถอนการติดตั้ง (uninstall)
  3. กดที่ไอคอนเซ็ตติง (Settings) หรือการตั้งค่าบนหน้าโฮมสกรีนหรือหน้ารวมแอปเพื่อเปิดหน้าการตั้งค่าขึ้นมา คุณสามารถตั้งค่าหรือปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ที่ตั้งไว้ในแท็บเล็ตได้ในหน้านี้
  4. กดตรงแถบกูเกิลเสิร์ชที่อยู่ด้านบนเพื่อเปิดฟังก์ชันการค้นหาของกูเกิล ถ้าคุณอยากค้นหาอะไรก็เพียงแค่พิมพ์ลงบนคีย์บอร์ดที่ปรากฏบนหน้าจอ แล้วมันก็จะค้นหาข้อมูลในแท็บเล็ตของคุณ รวมถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับข้อความที่คุณพิมพ์ลงไป เหมือนในหน้าเว็บกูเกิล
  5. คุณสามารถเปิดใช้งานแอปใดก็ตามที่ติดตั้งไว้โดยการกดที่ไอคอนของแอปนั้น ทั้งนี้คุณสามารถเปิดแอปหลายแอปได้ในเวลาเดียวกันด้วย โดยการสลับไปมาระหว่างแอปที่เปิดอยู่ทำได้โดยการกดปุ่มมัลติทาส์ก (Multitask) จากนั้นทุกแอปที่เปิดอยู่จะปรากฏขึ้นมา ซึ่งทำให้คุณสามารถสลับการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
  6. กดที่ว่างตรงหน้าโฮมสกรีนค้างไว้สักพัก กดเลือก “วิดเจ็ต” เพื่อเปิดหน้ารวมวิดเจ็ตขึ้นมา จากนั้นกดวิดเจ็ตที่ต้องการค้างไว้ แล้วลากไปวางไว้หน้าโฮมสกรีน ทั้งนี้วิดเจ็ตของแต่ละแอปจะมีขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของข้อมูลที่แสดงผล
    • คุณสามารถเพิ่มวิดเจ็ตได้โดยการเลือกหาจากกูเกิลเพลย์สโตร์ (Google Play Store) ซึ่งมีให้เลือกมากมายนับไม่ถ้วน โดยแต่ละวิดเจ็ตจะมีฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานมาให้ พร้อมแสดงข้อมูลคร่าวๆ บนหน้าจอโดยที่คุณไม่ต้องเปิดเข้าไปดูในแอปเลย
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 5:

การใช้งานแอปและฟังก์ชันทั่วไปในแท็บเล็ต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณลงชื่อเข้าใช้ด้วยแอคเคาท์กูเกิล แอคเคาท์ของคุณก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในแอปจีเมลโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงสามารถเปิดแอปดังกล่าวเพื่อเช็คเมลได้เลย และถ้ามีหลายเมล์หรือหลายแอคเคาท์ คุณก็สามารถเพิ่มแอคเคาท์เข้าไปในแอปได้ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถเช็คเมลจากหลายแอคเคาท์ได้ในที่เดียว
    • ปัจจุบันแอปจีเมลถูกใช้เป็นแอปหลักสำหรับเช็คอีเมลบนแอนดรอยด์ แต่คุณก็สามารถเลือกแอปอื่นมาใช้เช็คอีเมลได้เช่นกัน
  2. ลากนิ้วจากริมจอด้านล่างขึ้นมาด้านบนเพื่อเปิดกูเกิลเซิร์จ คุณสามารถค้นหาข้อมูลได้โดยการกรอกสิ่งที่ต้องการหาในแถบด้านบน จากนั้นข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาด้านล่าง โดยแสดงผลอยู่ในรูปของการ์ดตามแบบฉบับของกูเกิล
  3. แท็บเล็ตแต่ละรุ่นหรือยี่ห้อจะมีเบราว์เซอร์หลักแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต อาจเป็นแอป “อินเตอร์เน็ต” “เบราว์เซอร์” หรือ “โครม” (Chrome) ก็ได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเบราว์เซอร์ที่ใช้เปิดเว็บเหมือนกัน เช่นเดียวกับเว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้บนคอมพิวเตอร์ เพียงพิมพ์แอดเดรส (address) ของเว็บไซต์ในแถบด้านบน แค่นี้เว็บไซต์ดังกล่าวก็จะปรากฏขึ้นมาแล้ว
    • ถ้าคุณต้องการเข้าหลายเว็บในครั้งเดียว ให้กดปุ่มที่อยู่ด้านบนขวาในหน้าแอปเพื่อเปิดแท็บใหม่ เมื่อแท็บใหม่ปรากฏขึ้น ให้คุณกดปุ่มด้านบนขวาอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ตามจำนวนที่คุณต้องการ
  4. ถ้าคุณมีเพลงในแท็บเล็ต แอปเพลย์มิวสิค (Play Music) จะรวมเพลงไว้ในแอป เพื่อให้คุณสามารถค้นหาและฟังได้อย่างสะดวก โดยแอปเพลย์มิวสิคนี้จะอยู่ในหน้ารวมแอปเหมือนกับแอปอื่นๆ ซึ่งคุณสามารถเปิดโดยกดตรงไอคอนของแอปนั้นได้เลย
    • เมื่ออยู่ในหน้าแอปเพลย์มิวสิค คุณจะสังเกตเห็นว่ามันมีหน้าตาเหมือนกับแอปเพลย์สโตร์เลย โดยด้านบนจะเป็นส่วนที่ใช้ค้นหาและปุ่มเมนู ถัดลงมาจะเป็นลิสต์อัลบั้มเพลงที่อยู่ในเครื่อง ซึ่งแต่ละอัลบั้มจะแสดงผลอยู่ในรูปของการ์ดเช่นเดียวกัน
    • กดตรงการ์ดเพื่อเปิดลิสต์รายชื่อเพลงในอัลบั้ม หรือกดตรงจุดสามจุดที่เรียงตามแนวตั้งเพื่อเพิ่มอัลบั้มนี้เข้าไปในเพลย์ลิสต์ (playlist) หรือเพื่อเปิดฟังเพลงในอัลบั้มนี้
    • แอ็บเพลย์มิวสิคสามารถเล่นเพลงอะไรก็ได้ที่ลงไว้ในแท็บเล็ต รวมถึงเพลงที่ซื้อไว้ในกูเกิลเพลย์สโตร์ด้วย และถ้าคุณจ่ายค่าบริการรายเดือน คุณก็จะสามารถฟังเพลงผ่านกูเกิลมิวสิคแบบไม่จำกัดจำนวน (unlimited) ได้เช่นเดียวกับสปอติฟี พรีเมียม (Spotify Premium)
    • ถ้าคุณไม่ชอบแอปเพลย์มิวสิค คุณสามารถดาวโหลดแอปสตรีมมิงเพลง (music-streaming) อื่นๆ ได้ เช่น สปอติฟี (Spotify) แพนโดรา (Pandora) แรปโซดี (Rhapsody) เป็นต้น
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 5:

การติดตั้งแอปใหม่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยปกติไอคอนของแอปกูเกิลเพลย์สโตร์จะอยู่ในหน้าโฮมสกรีนอยู่แล้ว โดยมีรูปร่างเหมือนถุงช็อปปิง แอปนี้จะเป็นเสมือนสโตร์ที่รวบรวมทั้งแอป เพลง หนังสือ หนัง ฯลฯ ไว้ด้วยกัน ซึ่งคุณสามารถดาวโหลดมาไว้ในแท็บเล็ตได้ ทั้งนี้โดยทั่วไปเมื่อเปิดกูเกิลเพลย์สโตร์ หมวดของแอปจะขึ้นมาเป็นหมวดแรก
  2. เมื่อเปิดกูเกิลเพลย์สโตร์ คุณจะเห็นแอปและเกมที่โดดเด่นหรือได้รับความนิยมขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ คุณสามารถเลือกดูแอปหรือเกมไหนก็ได้ตามใจชอบ
  3. คุณสามารถเลือกดูแอปฟรีที่ได้รับความนิยม (Top Free) แอปเสียเงินที่ได้รับความนิยม (Top Paid) แอปที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล (Top Grossing (all-time)) ฯลฯ การดูแอปที่ได้รับความนิยมเหล่านี้จะทำให้คุณรู้ว่าแอปไหนที่คนส่วนใหญ่เขาใช้กัน
  4. ใช้แถบค้นหาที่อยู่ด้านบนในการค้นหาแอปที่ต้องการ โดยแอปที่คุณต้องการจะขึ้นมาทันทีที่คุณพิมพ์ลงไป ถ้ามันมีอยู่ในสโตร์
  5. เมื่อหาแอปที่ต้องการได้แล้ว คุณสามารถดูความคิดเห็นของผู้ใช้ได้ว่าพวกเขาชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ถ้าเห็นว่ามันดีจริง ก็ตัดสินใจซื้อเลย (ถ้าเป็นแอปที่ต้องเสียเงิน) หรือติดตั้งมันลงแท็บเล็ตได้เลย (ถ้าเป็นแอปที่ไม่ต้องเสียเงิน) ซึ่งเมื่อดาวโหลดและติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว แอปดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในหน้ารวมแอปและหน้าโฮมสกรีน
    • ถ้าคุณต้องการติดตั้งแอปที่ต้องเสียเงิน คุณต้องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตที่เชื่อมกับกูเกิลแอคเคาท์ หรือไม่ก็ใช้กูเกิลเพลย์กิฟต์การ์ด (Google Play gift card) ในการซื้อแอป
  6. ในสโตร์มีแอปเป็นหมื่นเป็นแสนแอปให้คุณได้เลือก ดังนั้นบางคนอาจจะเลือกไม่ถูกว่าจะติดตั้งแอปไหนดี เพราะกลัวว่าจะเป็นแอปที่หลอกให้ดาวโหลดเพื่อแอบดูข้อมูลของเรา อย่างไรก็ตามมีหลายแอปที่มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งทุกคนควรติดตั้งไว้ โดยเฉพาะคนที่เริ่มใช้เป็นครั้งแรก
    • ไฟล์เมเนเจอร์ (File manager) หรือแอปจัดการไฟล์ - ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เปิดให้คุณเข้าถึงและจัดการระบบได้มากกว่าไอโอเอส (iOS) ซึ่งอาจทำให้คุณงุนงงว่าไฟล์ไหนอยู่ตรงไหน ดังนั้นจึงควรติดตั้งแอปที่ใช้จัดการไฟล์ต่างๆ เพื่อที่จะได้เห็นตำแหน่งของไฟล์ รวมถึงสามารถย้าย คัดลอก และลบไฟล์ในแท็บเล็ตได้ง่ายขึ้น ซึ่งแอป “อีเอส ไฟล์ เมเนเจอร์” (ES File Manager) ก็เป็นหนึ่งในแอปที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีความสามารถในการจัดการไฟล์ได้อย่างดีเยี่ยม
    • วิดีโอสตรีมมิง (Video streaming) หรือบริการดูวิดีโอออนไลน์ - แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการดูหนังหรือซีรีส์ระหว่างเดินทาง ดังนั้นจึงต้องมีแอปที่ใช้สำหรับดูวิดีโอไว้รองรับ การใช้บริการสตรีมมิงส่วนใหญ่ต้องสมัครสมาชิกหรือเสียเงินก่อนถึงจะดูได้ แต่ก็แลกมาด้วยความสะดวก กล่าวคือคุณสามารถดูหนังหรือซีรีส์ผ่านอุปกรณ์ใดก็ได้ที่มี ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ โดยผู้ให้บริการสตรีมมิงวิดีโอแบบที่ว่านี้ก็เช่นเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ฮูลู (Hulu) และผู้ให้บริการรายอื่นอีกมากมาย
    • คลาวด์สโตเรจ (Cloud storage) หรือบริการพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ - เนื่องจากปัจจุบันหลายคนมักเก็บงานต่างๆ รวมถึงรูปภาพไว้บน “คลาวด์” หรืออินเตอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมีแอปคลาวด์ไว้บริหารจัดการข้อมูลเหล่านั้น ส่งผลมีการใช้แอปคลาวด์แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากคุณใช้แท็บเล็ตแอนดรอยด์ คุณก็น่าจะใช้กูเกิลไดร์ฟ (Google Drive) เพราะเป็นของกูเกิลเหมือนกัน โดยกูเกิลไดร์ฟจะให้พื้นที่ในคลาวด์ 15 GB อีกทั้งยังให้คุณใช้กูเกิลด็อก (Google Docs) ชีท (Sheets) และพรีเซ็นเตชัน (Presentations) ฟรีอีกด้วย นอกจากกูเกิลไดร์ฟแล้ว ดรอปบ็อกซ์ (Dropbox) ก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะเป็นคลาวด์ที่ทำให้คุณสามารถจัดการไฟล์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับอย่างสูงด้วย
    • เว็บเบราว์เซอร์ - แม้แท็บเล็ตจะมีเว็บเบราว์เซอร์อย่าง “อินเตอร์เน็ต” หรือ “เบราว์เซอร์” ติดมากับเครื่องแล้ว แต่คุณก็สามารถติดตั้งเว็บเบราว์เซอร์ที่มีประสิทธิภาพและความสามารถมากกว่านั้นได้ กูเกิลโครม (Google Chrome) คือทางเลือกที่ดีเลย เพราะมันมีฟีเจอร์ครบครัน คุณสามารถซิงค์บุ๊คมาร์ค ล็อกอิน และพาสเวิร์ดต่างๆ จากเว็บเบราว์เซอร์เวอร์ชันเดสก์ท็อปมายังเวอร์ชันแท็บเล็ตได้ นอกจากนี้ยังมีไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) ที่สามารถซิงค์ข้อมูลได้เช่นกัน ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ
    • แมสเซจจิง (Messaging) หรือบริการรับส่งข้อความออนไลน์ - แท็บเล็ตส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งเอสเอ็มเอส (SMS) ได้ เนื่องจากไม่มีช่องใส่ซิมหรือส่วนที่รับสัญญาณโทรศัพท์ แต่คุณก็สามารถส่งข้อความไปไหนหรือแชทกับใครก็ได้ผ่านแอป โดยแอปแชทที่ได้รับนิยมก็เช่น สไกป์ (Skype) วอทแอพ (WhatsApp) สแนปแชท (Snapchat) กูเกิลแฮงเอาท์ (Google Hangouts) ซึ่งล้วนมีให้ดาวโหลดในกูเกิลเพลย์สโตร์ทั้งหมด
    โฆษณา


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 22,425 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา