ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การติดเชื้อที่รูเจาะหูเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เพิ่งเจาะหูมาใหม่ๆ แต่หากคุณหมั่นทำความสะอาดรูเจาะหูวันละ 2 ครั้งเป็นประจำทุกวัน แผลติดเชื้อที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ก็สามารถหายดีเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ใช้สำลีก้อนหรือก้านสำลีจุ่มในน้ำเกลือหรือสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียแล้วนำไปเช็ดทำความสะอาดบริเวณรูเจาะหู จากนั้นซับให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดอเนกประสงค์ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในการทำความสะอาดรูเจาะหู เนื่องจากสารเหล่านี้อาจขัดขวางกระบวนการฟื้นฟูของการติดเชื้อได้ และหากการติดเชื้อลุกลามมากขึ้น ยังคงไม่ทุเลาลงหลังผ่านไป 2 วัน หรือเริ่มมีไข้สูง คุณควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที นอกจากนี้คุณควรล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสรูเจาะหูและป้องกันการเกิดการติดเชื้อซ้ำโดยการหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำและฆ่าเชื้อโรคบนโทรศัพท์มือถือของคุณเป็นประจำ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ทำความสะอาดรูเจาะหูด้วยตัวเองที่บ้าน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสรูเจาะหูโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรูเจาะหูที่เพิ่งเจาะใหม่หรือที่กำลังติดเชื้อ โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียและน้ำอุ่น พยายามหลีกเลี่ยงการจับต่างหูเล่นไปมาและสัมผัสเฉพาะเมื่อคุณต้องการทำความสะอาดเท่านั้น [1]
  2. หากเพิ่งเจาะหูมาใหม่ๆ คุณควรสวมต่างหูไว้โดยไม่ถอดออกอย่างน้อย 6 สัปดาห์แม้จะเกิดการติดเชื้อที่รูเจาะหู และแม้ว่าคุณควรหมุนหรือขยับต่างหูบ้างหลังเพิ่งเจาะหูมาใหม่ๆ แต่หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการหมุนหรือขยับต่างหูเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ [2]
    • หากการติดเชื้อไม่มีทีท่าว่าจะหายดีหรือเกิดขึ้นนานกว่า 6 เดือน จึงถอดต่างหูออกพร้อมรักษาการติดเชื้อที่เกิดขึ้น
  3. เช็ดทำความสะอาดรูเจาะหูด้วยสำลีจุ่มน้ำเกลือหรือสบู่. จุ่มสำลีก้อนหรือก้านสำลีในน้ำเกลือหรือสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียและนำไปเช็ดทำความสะอาดตรงบริเวณรูเจาะหูที่เกิดการติดเชื้อ จากนั้นซับให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดอเนกประสงค์ [3]
    • ทางร้านเจาะหูอาจจัดเตรียมน้ำเกลือสำหรับทำความสะอาดรูเจาะหูให้กับคุณหลังการเจาะหูเสร็จ นอกจากนี้คุณยังสามารถหาซื้อน้ำเกลือแบบสำเร็จรูปหรือจะทำน้ำเกลือใช้เองก็ได้เช่นกันโดยผสมเกลือ 2 ช้อนชาเข้ากับน้ำอุ่นประมาณ 1 ลิตร
    • หากทำความสะอาดด้วยสบู่ ควรเลือกใช้สบู่สูตรปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์
    • ทำความสะอาดรูเจาะหูที่ติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง โดยคุณสามารถใช้ช่วงเวลาระหว่างนี้ที่ต่างหูยังคงชุ่มไปด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสบู่อยู่ในการหมุนหรือขยับต่างหูไปมา
  4. หลังทำความสะอาดรูเจาะหูและเช็ดจนแห้งแล้ว ให้คุณทายาปฏิชีวนะเพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูของแผล บีบยาลงบนสำลีในปริมาณเล็กน้อยและทาบางๆ เคลือบไว้ตรงบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ [4]
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาหากมีของเหลวไหลซึมออกจากแผลติดเชื้อ [5]
  5. หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์. การใช้แอลกอฮอล์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะทำให้ผิวบริเวณที่เกิดการติดเชื้อแห้งยิ่งขึ้น ทั้งยังฆ่าเซลล์ต่างๆ ที่มีความสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวจนอาจทำให้อาการติดเชื้อแย่ลงได้ หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับแผลติดเชื้อ รวมถึงเช็คให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ที่คุณเลือกใช้เป็นสูตรปราศจากแอลกอฮอล์ [6]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เข้ารับการรักษาทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ปรึกษาแพทย์หากการติดเชื้อยังคงไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2 วัน. เมื่อเริ่มทำความสะอาดรูเจาะหูที่เกิดการติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง คุณจะสามารถสังเกตเห็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าอาการกำลังทุเลาลงหลังผ่านไป 2 วัน เช่น รอยแดงหรือบวมที่เล็กลง อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อยังคงไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม คุณควรนัดพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ที่คลินิกใกล้บ้านทันที [7]
  2. ไปพบแพทย์หากการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นหรือเริ่มมีไข้สูง. คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงวันแรกๆ และไปพบแพทย์ทันทีหากการติดเชื้อเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ หรือหากคุณมีไข้สูง เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นและอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ [8]
  3. ให้แพทย์ตรวจดูรูเจาะหูบริเวณกระดูกอ่อนที่ติดเชื้อ. ควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากการติดเชื้อเกิดขึ้นที่รูเจาะหูที่กระดูกอ่อนหรือบริเวณด้านบนใบหู อย่านิ่งเฉยหรือปล่อยทิ้งไว้และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจแผลติดเชื้อโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการติดเชื้อที่รูเจาะหูบริเวณกระดูกอ่อนนั้นมีความเสี่ยงกว่าปกติที่อาการจะบานปลายจนนำไปสู่ภาวะผิดปกติในระยะยาว เช่น Cauliflower ear หรือภาวะที่ใบหูผิดรูปจากการห่อตัวคล้ายดอกกะหล่ำ ซึ่งส่งผลให้บริเวณกระดูกอ่อนมีลักษณะที่ผิดรูปไปจากเดิม [9]
  4. เมื่อคุณเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ แพทย์ของคุณอาจทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเพาะเชื้อ ซึ่งการเพาะเชื้อจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุประเภทของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้ [10]
    • ลองสอบถามแพทย์ว่าคุณควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่และยาปฏิชีวนะประเภทใดที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการรักษาการติดเชื้อในกรณีของคุณ
    • หลีกเลี่ยงการชำระล้างหรือทำความสะอาดบริเวณรูเจาะหูอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนพบแพทย์ เนื่องจากแพทย์จะต้องเก็บตัวอย่างตรงบริเวณที่เกิดการติดเชื้อเพื่อทำการวินิจฉัยอาการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ อาจส่งผลให้ผลตรวจเกิดความผิดพลาดได้
  5. อาการแดง บวม คัน หรือสัญญาณการติดเชื้ออื่นๆ อาจมีสาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้เช่นกัน ดังนั้นหากผลการเพาะเชื้อออกมาเป็นผลลบ ลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง [11]
    • หากไม่เคยเจาะหูมาก่อน คุณอาจพบว่าคุณมีอาการแพ้โลหะ โดยคุณสามารถป้องกันการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ได้ด้วยการสวมต่างหูที่ปราศจากนิกเกิล เนื่องจากนิกเกิลเป็นโลหะที่มักเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
    • แพทย์ของคุณอาจส่งตัวคุณให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้สำหรับการทดสอบแบบละเอียดเพื่อระบุสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่อร่างกายของคุณ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ป้องกันการเกิดการติดเชื้อซ้ำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหลังเพิ่งเจาะหูมาใหม่ๆ. งดว่ายน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการเจาะหู [12] พยายามหลีกเลี่ยงการลงสระว่ายน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือทะเลในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวและทำความสะอาดรูเจาะหูด้วยน้ำเกลือทุกครั้งหลังการอาบน้ำ [13]
    • นอกจากนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในระหว่างการรักษาการติดเชื้อที่รูเจาะหูด้วยเช่นกัน
  2. หากคุณมีผมยาว ให้คุณรวบผมไปด้านหลังเพื่อไม่ให้เส้นผมสัมผัสถูกรูเจาะหูที่เพิ่งเจาะใหม่หรือที่กำลังติดเชื้อ รวมถึงหมั่นสระผมให้บ่อยครั้งกว่าปกติ [14]
    • ระมัดระวังไม่ให้สเปรย์หรือเจลจัดแต่งทรงผมเข้าไปอุดตันในรูเจาะหูหรือหวีเกี่ยวถูกต่างหูในขณะหวีผม
  3. ฆ่าเชื้อโรคบนโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกวัน. โทรศัพท์มือถือที่คุณใช้อยู่นั้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ คุณจึงควรหมั่นฆ่าเชื้อโรคบนโทรศัพท์มือถืออยู่บ่อยครั้งแม้ว่ารูเจาะหูของคุณจะไม่ได้เกิดการติดเชื้อใดๆ โดยถอดเคสโทรศัพท์มือถือออกและเช็ดทำความสะอาดทั้งเคสและตัวเครื่องด้วยแผ่นเช็ดทำความสะอาดหรือผ้าขนหนูฉีดน้ำยาทำความสะอาด [15]
    • อย่าลืมฆ่าเชื้อโรคบนโทรศัพท์เครื่องอื่นๆ ที่คุณใช้ด้วยเช่นกัน
    • คุณอาจใช้วิธีเปิดเสียงออกลำโพงแทนเมื่อมีสายเรียกเข้า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนการสัมผัสระหว่างโทรศัพท์มือถือกับหูของคุณ
  4. นอนหลับโดยไม่สวมต่างหูเมื่อรูเจาะหูเริ่มเกิดเป็นรูถาวรแล้ว. ในช่วงที่เพิ่งเจาะหูมาใหม่ๆ อย่าเพิ่งถอดต่างหูคู่แรกออกในช่วง 6 สัปดาห์แรกและสวมต่างหูอยู่ตลอดเวลานาน 6 เดือน หลังเวลาผ่านไป 6 เดือน รูเจาะหูของคุณจะแห้งสนิทและเริ่มเกิดเป็นรูถาวร และเมื่อรูเจาะหูของคุณเกิดเป็นรูถาวรแล้ว พยายามถอดต่างหูออกในช่วงเวลากลางคืนเพื่อให้รูเจาะหูได้สัมผัสอากาศและป้องกันการเกิดการติดเชื้อ [16]
  5. ยิ่งร้านเจาะหูดูสะอาดมากเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงที่รูเจาะหูใหม่ของคุณจะเกิดการติดเชื้อก็จะยิ่งลดน้อยลง ลองหาอ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับร้านเจาะหูก่อนเข้ารับบริการและเช็คให้แน่ใจว่าร้านเจาะหูร้านนั้นได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และเมื่อคุณเข้ารับบริการเจาะหูที่ร้าน อย่าลืมสังเกตดูว่าพนักงานของร้านเจาะหูสวมถุงมือยางหรือไม่รวมถึงลองสอบถามดูว่าทางร้านมีเครื่องมือสำหรับฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ [17]
    • หลีกเลี่ยงการเข้ารับการเจาะหูจากร้านตามตลาดนัดกลางคืนหรือขณะอยู่ต่างประเทศในระหว่างการท่องเที่ยว
    • ไม่ควรขอให้เพื่อนของคุณช่วยเจาะหูกันเองที่บ้าน เนื่องจากคุณอาจไม่สามารถฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม
    โฆษณา

คำเตือน

  • แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อได้ผ่านการเจาะหูด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ [18] อาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ เลือดออก รอยฟกช้ำ อาการคันที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ผิวและตาเหลืองผิดปกติ และอาการบวมที่ขา [19]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,017 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา