ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การสังเกตการแสดงออกทางสีหน้าของคนเพื่อจับโกหกอาจช่วยคุณให้รอดตัวจากการเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หรืออาจช่วยให้คุณเลือกฟังเสียงหัวใจตัวเองแล้วสานสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหน้าตาดีก็ได้ นักวิเคราะห์พฤติกรรมในชั้นศาลใช้การจับโกหกเพื่อคัดเลือกคณะลูกขุน ตำรวจใช้วิธีนี้ระหว่างสอบสวน แม้แต่ผู้พิพากษาก็ใช้เทคนิคพวกนี้เพื่อตัดสินคดีเช่นเดียวกัน การจับโกหก คุณจะต้องหัดอ่านการแสดงออกทางสีหน้าและร่างกายที่คนอื่นอาจจะไม่ทันสังเกตเห็น นี่อาจต้องใช้เวลาฝึกปรือสักหน่อย แต่รับรองว่าเทคนิคอ่านใจคนนี้จะทำให้คุณต้องทึ่งแน่นอน!

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

จับโกหกจากใบหน้าและสายตา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การแสดงออกเล็กน้อยพวกนี้เป็นการแสดงออกทางสีหน้าที่จะแว่บขึ้นมาเพียงเสี้ยววินาที และจะเป็นตัวเปิดเผยอารมณ์ที่แท้จริงของคนคนนั้นภายใต้คำโกหก บางคนอาจจะจับสังเกตได้ไวโดยธรรมชาติ แต่ใครๆ ก็สามารถฝึกการสังเกตการแสดงออกเหล่านี้ได้
    • ปกติแล้ว คนโกหกจะมีการแสดงออกเล็กๆ ที่สื่อถึงความกังวล ดูได้จากคิ้วที่ขมวดและโก่งเข้าหากัน ทำให้เกิดรอยย่นสั้นๆ บนหน้าผาก
  2. คนมักจะแตะจมูกบ่อยขึ้นถ้าโกหก และจะทำเช่นนั้นน้อยลงมากเมื่อพูดจริง [1] นี่อาจเป็นเพราะการหลั่งอะดรีนาลีนในเส้นเลือดฝอยของจมูก ทำให้คันจมูก [2] [3] คนโกหกยังชอบป้องปากด้วยมือ หรือเอามือไปไว้ใกล้ปากอีกด้วย คล้ายกับจะกันคำโกหกที่ออกมา สังเกตว่าถ้าเขาเกร็งหรือเม้มปาก อาจเป็นสัญญาณของความกังวลได้ [4] [5]
  3. คุณมักจะบอกได้ว่าคนคนหนึ่งกำลังนึกหรือกุเรื่องอะไรขึ้นมาเมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของดวงตา เมื่อคนกำลังนึกรายละเอียด นัยน์ตาของเขาจะเหลือบขึ้นบน และไปทางซ้าย หากเขาถนัดขวา คนถัดขวาเวลากุเรื่องจะเหลือบมองไปทางซ้าย ในทางกลับกันคนถนัดซ้ายเวลาโกหกจะเหลือบไปทางขวา คนเรามักจะกระพริบตาเร็วขึ้นด้วยถ้ากำลังโกหก วิธีการสังเกตตาคนโกหกอีกทางคือ พวกเขามักจะขยี้ตา อาการนี้พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง [1]
    • สังเกตเปลือกตา เปลือกตาจะปิดลงนานกว่าการกระพริบตาปกติ ถ้าคนเราได้ยินหรือได้เห็นอะไรที่ไม่ถูกใจ [4] อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงข้อนี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยมาก ดังนั้น หากจะเปรียบเทียบให้แม่นยำ คุณจะต้องรู้ว่าปกติแล้วฝ่ายตรงข้ามกระพริบตาอย่างไรในสถานการณ์ที่ไม่กดดัน ถ้าใครดึงมือหรือนิ้วเข้าหาดวงตา อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการพยายาม “ปกปิด” ความจริงเช่นกัน [4]
    • ต้องระวังการใช้วิธีมองตาเพียงอย่างเดียวในการประเมินคนพูดจริงหรือโกหกด้วย การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ได้ตั้งข้อสงสัยว่า การมองไปยังทิศทางหนึ่งสามารถบอกว่าใครโกหกได้จริงหรือ [6] [7] นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าการใช้ทิศทางการมองเป็นตัวตัดสินที่ไม่น่าเชื่อถือนัก ถ้าดูตามสถิติ
  4. อย่าใช้การมองตาหรือการหลบตาเป็นเครื่องตัดสินเพียงอย่างเดียว. ตรงข้ามกับสิ่งที่คนมักจะเชื่อกัน จริงๆ แล้วคนโกหกไม่ได้หลบตาเสมอไป [1] ตามปกติแล้วสิ่งมีชีวิตอาจเบี่ยงสายตาไปมองสิ่งที่อยู่นิ่งเพื่อช่วยให้มีสมาธิและทวนความจำ ในขณะที่คนโกหกอาจจงใจมองตาตรงๆ ได้เพื่อทำให้ดูจริงใจมากขึ้น การมองตาระหว่างโกหกสามารถฝึกกันได้ เพื่อที่จะเอาชนะความกระวนกระวายใจ และ “พิสูจน์” ว่าตัวเองกำลังพูดความจริงอยู่
    • อันที่จริงแล้ว มีคนพิสูจน์ว่าคนโกหกมีแนวโน้มที่จะมองตา “เพิ่มมากขึ้น” เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อที่มีมานานว่าการมองหรือไม่มองตาสามารถเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ [4] ดังนั้นจึงสรุปได้แน่ชัดว่า การสังเกตการมองตาเป็นเพียงอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ประกอบการสังเกตความกังวลเกี่ยวกับคำถามที่ตอบยากเท่านั้น [4]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

จับโกหกผ่านเสียงโต้ตอบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เสียงของคนเราสามารถเป็นตัวบ่งบอกการโกหกที่ดีได้ คนเราอาจจะพูดเร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าปกติในทันที เป็นไปได้ว่าความเครียดอาจทำให้เสียงสูงขึ้น หรือสั่น การพูดตะกุกตะกักหรือติดอ่างก็อาจบ่งชี้ถึงการโกหกได้ [8]
  2. ลองดูว่าถ้าคนคนหนึ่งบอกอะไรกับคุณเยอะเกินไปรึเปล่า ตัวอย่างที่เป็นไปได้ เช่น “แม่ฉันน่ะอยู่ในฝรั่งเศสนะเธอ แหม หอไอเฟลนี่สวยเนอะ ใครจะไม่ชอบ ที่นั่นนะสะอาดมากเลย” การให้รายละเอียดมากเกินอาจแสดงถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดในการชวนให้คุณเชื่อในสิ่งที่เขาพูด
  3. จังหวะจะโคนและระยะเวลามักจะแปลกๆ ไปถ้าคนกำลังโกหก ถ้าไม่เป็นเพราะผู้ต้องสงสัยได้ฝึกซ้อมตอบ (หรืออาจคาดเดาไว้ว่าจะต้องถูกสอบสวน) ก็เป็นเพราะเขาร่ายยาวไปเรื่อย เพื่อพูดอะไรก็ได้ไม่ให้เกิดความเงียบ
    • ถ้าคุณถามไปแล้วฝ่ายตรงข้ามตอบกลับมาทันทีทันใด เป็นไปได้ว่าเขากำลังโกหกอยู่ เพราะคนโกหกอาจได้ซ้อมบทพูดมาก่อน หรือคิดคำตอบเผื่อเอาตัวรอดไว้แล้ว
    • สัญญาณอีกอย่างคือการเก็บงำรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาไว้ เช่นพูดว่า “ฉันไปทำงานตอนตีห้า แล้วพอกลับบ้านตอนห้าโมงเย็น เขาก็ตายแล้ว” นี่เป็นตัวอย่างคำพูดกะล่อน ผู้พูดหลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นอย่างหน้าตาเฉย
  4. คนที่พูดความจริงจะไม่ค่อยรู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาโต้ตอบเพื่อปกป้องตัวเองเท่าไหร่ ก็นะ เพราะเขาพูดความจริง แต่กับคนที่ไม่พูดจริง เขาจะรู้สึกว่าต้องชดเชยที่โกหก บางทีก็ด้วยการก้าวร้าว เปลี่ยนเรื่อง หรือถ่วงเวลา
    • คนที่พูดความจริงมักจะให้รายละเอียดตอนตอบมากกว่าเพื่อไขข้องสงสัยในเรื่องที่ตนเองกำลังเล่า ในขณะที่คนโกหกที่ไม่พร้อมจะเปิดเผยนักก็จะพูดวนไปวนมาในสิ่งที่เคยบอกไปแล้ว [5]
    • คอยฟังการตอบล่าช้าเล็กๆ น้อยๆ คำตอบที่จริงใจมักออกมาจากความจำโดยเร็ว ผู้ที่โกหกจำต้องคิดทบทวนเร็วๆ ในใจว่าเคยพูดอะไรไปแล้วบ้าง จะได้หลีกเลี่ยงความไม่คงเส้นคงวา และเพื่อกุเรื่องใหม่ๆ ขึ้น ควรระวังว่าหากคนเหลือมองด้านบนเพื่อที่ทวนความจำ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกำลังโกหกอยู่เสมอไป แต่อาจเป็นแค่สัญชาตญาณโดยธรรมชาติก็ได้
  5. การแสดงออกผ่านคำพูดจะบอกใบ้ว่าคนคนหนึ่งกำลังโกหกหรือไม่ คำใบ้บอกสัญญาณโกหกเหล่านี้ประกอบด้วย:
    • ซ้ำคำพูดเดิมๆ ของตัวเองตอนตอบคำถาม.
    • ใช้กลวิธีถ่วงเวลา เช่น ขอให้ทวนคำถามใหม่อีกรอบ [4] กลวิธีถ่วงเวลาแบบอื่นรวมไปถึง การชื่นชมคำถาม บอกว่าคำตอบไม่สามารถเป็นคำตอบขาว-ดำ ใช่-ไม่ใช่ หรือตอบกลับแบบตาต่อตาว่า “ก็ขึ้นอยู่กับว่า ก. หมายถึงอะไร” หรือ “ไม่รู้ว่าเธอไปเอาข้อมูลนี้มาจากไหนกัน” [4]
    • หลีกเลี่ยงการย่อคำ เช่นการพูดเน้นว่า “ฉันไม่ได้ทำ” แทนที่จะพูดเพียงว่า “เปล่า” หรือ “ไม่” คนโกหกมักจะพยายามที่จะทำให้คำพูดชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ [4]
    • พูดงงๆ ฟังไม่รู้เรื่อง คนโกหกมักจะหยุดพูดกลางคัน เริ่มพูดใหม่ แล้วจบประโยคไม่ได้ [5]
    • ใช้มุกตลก และ/หรือ คำประชดประชันเพื่อหลีกเลี่ยงหัวข้อสนทนา
    • ใช้คำพูดทำนองว่า “ถ้าว่ากันตามตรง” “พูดตรงๆ นะ” “ให้พูดจริงๆ แบบไม่มีอะไรผิดบังเลยนะ” “ฉันถูกเลี้ยงดูปลูกฝังให้ไม่โกหก” ฯลฯ อาจเป็นสัญญาณบอกการหลอกลวง [4]
    • ตอบด้วยคำปฏิเสธหรือคำยืนยันที่เร็วเกินไป เช่นถูกถามว่า “นี่คุณไม่ได้ตั้งใจล้างหม้อให้สะอาดใช่ไหม” แล้วตอบว่า “ไม่ ฉันไม่ได้ล้างหม้อแบบส่งๆ นะ” เพื่อพยายามเลี่ยงให้ไม่ดูเหมือนกับตอบช้าไป [4]
  6. ถ้าคนที่คุณสงสัยใช้คำเดิมพูดซ้ำไปมา นั่นอาจจะเป็นการโกหก เพราะเขามักจะจำประโยคหรือคำพูดที่ฟังดูน่าเชื่อถือ พอถูกถามให้อธิบายใหม่อีกครั้ง คนโกหกเลยมักจะใช้ประโยคที่ดู “น่าเชื่อถือ” นั้นซ้ำอีกครั้ง
  7. คนโกหกหัวใสมักข้ามไปพูดประโยคอื่นทั้งที่ยังพูดไม่จบ พยายามจะเบนความสนใจให้ไม่เกี่ยวกับตนเอง ด้วยการขัดจังหวะที่สิ่งตัวเองพูดอยู่ไปพูดอย่างอื่นแทน บางคนอาจเปลี่ยนเรื่องโดยใช้วิธีเนียนๆ เช่น “ฉันนะกำลังจะ... เออนี่ เธอไปตัดผมทรงใหม่เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาใช่รึเปล่า”
    • ระวังคำชมจากฝ่ายตรงข้ามให้มาก คนโกหกรู้ว่าคนฟังบ้ายอ และอาจใช้คำชมเป็นทางออกจากการโดนซักไซ้ ให้ระวังคำชมที่อยู่ดีๆ ก็โผล่ขึ้นมา
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

จับโกหกจากภาษากายที่ผิดปกติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนเรามักเหงื่อออกมากขึ้นถ้ากำลังโกหก [9] การวัดปริมาณเหงื่อนั้นเป็นวิธีการที่เครื่องจับเท็จ (ที่เห็นกันบ่อยๆ ในหนัง) ตรวจจับการโกหก [10] แต่ก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ การดูเหงื่อเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นวิธีสังเกตการโกหกที่น่าเชื่อถือเสมอไป บางคนจะเหงื่อออกมากขึ้นถ้ารู้สึกเครียด อาย หรือมีโรคที่ทำให้เหงื่อออกมากขึ้น จึงต้องใช้วิธีนี้ประกอบกับการสังเกตกลุ่มอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ตัวสั่น หน้าแดง กลืนน้ำลายยาก
  2. คนที่พยักหน้าหรือส่ายหัวในทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองกำลังพูดอยู่อาจกำลังส่งสัญญาณโกหกอยู่ อาการแบบนี้เรียกว่า “ความไม่สัมพันธ์กัน”
    • ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งอาจบอกว่าเขาทำอะไรสักอย่าง เช่น “ฉันล้างหม้อทุกใบสะอาดเอี่ยมอ่องแล้ว”แต่ก็ส่ายหัวไปด้วย อาจเปิดเผยว่าเขาแค่ถูๆ ไปอย่างนั้น ไม่ได้ขัดหม้อให้สะอาดจริง ข้อผิดพลาดที่อาจทำโดยไม่รู้ตัวนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก เว้นแต่ว่าคนคนนั้นจะได้รับการฝึกมาอย่างดี เพราะว่าการตอบสนองทางกายมักเป็นสิ่งที่ซื่อตรงเสมอ [1] [4]
    • คนโกหกอาจลังเลก่อนที่จะพยักหน้าให้คำตอบก็ได้ แต่คนที่ซื่อสัตย์จะพยักหน้าเพื่อยืนยันคำตอบหรือคำพูดของคน “ในทันที” ที่ให้คำตอบ ดังนั้นเมื่อคนกำลังจะโกหก การพยักหน้าอาจตามมาทีหลัง [1]
  3. อีกสัญญาณของการโกหกคือ คนโกหกจะอยู่ไม่ค่อยนิ่ง ไม่ว่ากับร่างกายตัวเองหรือกับสิ่งของรอบตัวก็ตาม อาการกระสับกระส่ายแบบนี้เป็นผลของพลังงานความเครียดที่มาจากความกลัวการโดนจับได้ เพื่อระบายพลังงานความเครียด พวกเขาจึงมักจะอยู่ไม่สุขกับเก้าอี้ ผ้าเช็ดหน้า หรือร่างกายตัวเอง
  4. คนเราจะเลียนแบบกริยาอาการของคู่สนทนาตามธรรมชาติ มันเป็นวิธีแสดงออกมิตรภาพและความสนใจ เมื่อโกหก คนจึงเลียนแบบท่าทางน้อยลง เพราะคนโกหกจะมัวแต่จดจ่อกับการสร้างความจริงอีกชุดหนึ่งให้คนฟัง ตัวอย่างการเลียนแบบท่าทางที่ล้มเหลวบางอย่างนี้อาจะเป็นสัญญาณส่อพิรุธ:
    • การเอนตัวออกห่าง เมื่อคนพูดความจริงหรือไม่มีอะไรต้องปิดบัง เขามักจะโน้มตัวเข้าหาผู้ฟัง ในทางตรงข้าม คนโกหกมีความเป็นไปได้ว่าจะเอนตัวไปข้างหลังมากกว่า เป็นสัญญาณว่าไม่ต้องการบอกรายละเอียดอะไรมากเกินจำเป็น [4] การเอนตัวออกห่างยังบอกถึงความเกลียดชัง และความเบื่อหน่ายด้วย อาการนี้บอกว่าคนคนหนึ่งต้องการจะปลีกตัวออกจากสถานการณ์ที่กำลังเจออยู่
    • สำหรับคนพูดจริง ศีรษะหรือร่างกายจะเคลื่อนไหวเลียนแบบ เพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง คนที่พยายามหลอกลวงผู้อื่นอาจลังเลที่จะเลียนแบบท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของศีรษะ แสดงถึงความพยายามปกปิด คุณอาจสังเกตเห็นการขยับมือเปลี่ยนท่าทางหรือหันไปยังอีกทิศทางที่ต่างกันโดยเจตนา
  5. ระหว่างโกหก คนจะชอบพยายามทำให้คอชุ่มชื่นโดยกลืนน้ำลายหรือกระแอมบ่อยๆ การโกหกทำให้อะดรีนาลีนในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตน้ำลายมากขึ้นในทีแรก และผลิตน้อยลงอย่างมากในภายหลัง ในขณะที่น้ำลายมากขึ้น เขาอาจจะกลืนลงคอ แต่เมื่อร่างกายผลิตน้ำลายน้อยลง เขาอาจจะเปลี่ยนไปกระแอมแทน
  6. คนโกหกจะหายใจเร็วขึ้น ลักษณะการหายใจมักเป็นการหายใจสั้นๆ หลายครั้ง ตามด้วยการหายใจลึกๆ 1 ครั้ง [4] ปากอาจแห้ง (ทำให้กระแอมบ่อยขึ้น) สาเหตุก็คือพวกเขากำลังทำให้ร่างกายได้รับความเครียดเช่นเคย ทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และปอดต้องการอากาศมากขึ้น
  7. คอยดูมือ แขน และขาไว้ ในสถานการณ์ที่ไม่เครียด คนเรามักจะปล่อยตัวตามสบาย ออกท่าทางเคลื่อนไหวมือและแขนเยอะ และอาจจะกางขาสบายๆ แต่ในกรณีของคนโกหก ร่างกายส่วนต่างๆ เหล่านี้จะเคลื่อนไหวอย่างจำกัด แข็งทื่อ และจงใจ [4] เขาอาจจะจับใบหน้า หู หรือหลังคอ อาจจะกอดอก ไขว้ขา มือเคลื่อนไหวน้อยมาก เป็นสัญญาณบอกว่าไม่อยากเปิดเผยข้อมูล
    • คนโกหกมักเลี่ยงการเคลื่อนไหวมือแบบที่เราคิดว่าคนปกติทำกันในขณะพูดคุย ด้วยความระมักระวังตัว คนโกหกส่วนใหญ่จะเลี่ยงการชี้นิ้ว เปิดฝ่ามือออกให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น เคาะนิ้ว (การจรดปลายนิ้วเข้าหากันให้คล้ายรูปสามเหลี่ยมเชื่อมโยงกับการพูดในสิ่งที่คิด) ฯลฯ [4]
    • ดูข้อนิ้ว คนโกหกที่ทำตัวนิ่งๆ อาจเกาะขอบเก้าอี้หรือกำสิ่งของในมือจนข้อนิ้วขาวโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ [4]
    • การจัดเสื้อผ้าหน้าผมก็เป็นสัญญาณโกหกที่พบได้บ่อย เช่นคนที่เล่นผม จัดเนกไท หรือขยับปลายแขนเสื้อเชิ้ตไปมา [5] [11]
    • ข้อควรระวังสองข้อ คือ
      • คนโกหกอาจจงใจนั่งงอตัวเพื่อให้ดู “สบายๆ” [4] การหาวและแสดงท่าทางเบื่อหน่ายอาจเป็นสัญญาณของคนที่พยายามจะแสดงท่าทางปกติในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อที่จะปกปิดการหลอกลวงได้ แค่เพียงเพราะพวกเขาดูผ่อนคลายไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่ได้โกหกอยู่
      • ให้จำไว้ว่า สัญญาณเหล่านี้อาจเป็นเพียงสัญญาณของความเครียดอย่างเดียว ไม่ใช่สัญญาณของการโกหก ในอีกทางหนึ่ง คู่สนทนาที่กำลังโกหกก็ไม่จำเป็นต้องดูเครียดเสมอไป
    โฆษณา


วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

จับโกหกผ่านการสอบสวน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แม้ว่าจะสามารถอ่านคนไม่ซื่อสัตย์และโกหกได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเราจะมองคนผิดได้เช่นกัน สัญญาณบางอย่างอาจทำให้คนคนหนึ่งดูเหมือนว่ากำลังโกหกอยู่ทั้งๆ ที่ “สัญญาณ” เหล่านั้นอาจเป็นผลจากความอับอาย ความเคอะเขิน หรือความรู้สึกด้อยกว่า คนที่เครียดก็อาจจะถูกเข้าใจผิดได้ง่ายว่ากำลังโกหกอยู่ เนื่องจากการแสดงออกของความเครียดมักจะเหมือนกับการแสดงออกของคนโกหก ด้วยเหตุนี้ การจะจับโกหกได้นั้น ที่สำคัญคือเราจะต้องสังเกตสัญญาณ “หลายๆ อย่าง” ของพฤติกรรมและการโต้ตอบ เพราะไม่มีสัญญาณอะไรที่สามารถบ่งบอกได้ว่า “นี่แหละใช่เลย!” โกหกแน่ๆ [4]
  2. เมื่อคุณกำลังประเมินภาษากาย การโต้ตอบทางคำพูด และสัญญาณอื่นที่บอกการโกหก เช่น [1]
    • เขาดูเครียดเกินกว่าปกติตลอดเวลาอยู่แล้วรึเปล่า ไม่ใช่แค่เครียดเพราะสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนั้น
    • อาจเกี่ยวกับปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ต่างออกไป บางครั้งพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมหนึ่งอาจจะดูมีพิรุธไม่ซื่อสัตย์สำหรับอีกวัฒนธรรมก็ได้
    • คุณเข้าข้าง หรือ มีอคติกับเขาอยู่ก่อนแล้วรึเปล่า คุณ “อยาก” จะให้เขาโกหกใช่รึเปล่า ระวังอย่าตกหลุมพรางแบบนี้เข้าล่ะ
    • คนคนนี้เคยมีประวัติโกหกรึเปล่า เขาเคยทำมาก่อนไหม
    • คุณมีแรงจูงใจหรือเหตุผลที่ฟังขึ้นในการสงสัยว่าใครคนหนึ่งกำลังโกหกรึเปล่า
    • จริงๆ แล้วคุณอ่านคนโกหกเป็นไหม คุณได้พิจารณาปัจจัยทั้งหมดรวมกันอย่างถี่ถ้วนแล้วรึยัง หรือคุณไม่ได้เจาะจงมองแค่สัญญาณที่เป็นไปได้แค่หนึ่งหรือสองอย่างใช่ไหม
  3. ให้เวลากับการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่คุณที่คิดว่าโกหก และสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย. ข้อนี้รวมไปถึงการไม่แสดงออกว่าคุณกำลังสงสัยเขา และพยายามเลียนแบบภาษากาย รวมไปถึงจังหวะการพูดของ เมื่อกำลังสอบสวน ให้แสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจ อย่าทำตัวจองหอง การปฏิบัติตัวตามนี้จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามระวังตัวน้อยลง และช่วยให้คุณจับสัญญาณโกหกได้ชัดเจนขึ้น
  4. บรรทัดฐานที่ว่า หมายถึง พฤติกรรมของคนคนหนึ่งในขณะที่เขาไม่ได้โกหก มันจะช่วยบอกคุณได้ว่าเขากำลังทำตัวแปลกไปจากปกติรึเปล่า เริ่มจากการทำความรู้จักเขาถ้าคุณไม่รู้จัก แล้วสานต่อจากตรงนั้น เพราะคนเรามักตอบคำถามที่เกี่ยวกับตนเองอย่างตรงไปตรงมา สำหรับคนที่คุณรู้จักอยู่แล้ว การหาบรรทัดฐานอาจหมายรวมไปถึงการถามบางอย่างที่คุณอาจจะรู้คำตอบอยู่แล้ว
  5. บ่อยครั้งที่คนโกหกมักจะเล่าเรื่องจริง แต่จงใจไม่ตอบคำถามที่คุณถาม ถ้าเขาตอบคำถามว่า “คุณเคยตบตีภรรยามาไหม” ด้วยคำตอบอย่างเช่น “ผมรักภรรยามาก ผมจะทำอย่างนั้นกับเธอทำไม” ในทางเทคนิคแล้ว ผู้ต้องสงสัยอาจจะกำลังพูดความจริง แต่กำลังเลี่ยงตอบคำถามที่คุณถามไป นี่อาจเป็นตัวบอกใบ้ว่าเขากำลังโกหกหรือปิดบังบางอย่างจากคุณอยู่
  6. ขอให้ฝ่ายตรงข้ามเล่าเรื่องให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง. ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าเขากำลังพูดความจริงอยู่รึเปล่า ให้เขาเล่ารายละเอียดให้คุณฟังอีก “หลายๆ ” ครั้ง การจำรายละเอียดเรื่องโกหกนั้นยากทีเดียว ในขณะที่กำลังเล่าเรื่องที่กุขึ้นอยู่ คนโกหกอาจเผลอเล่าบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกัน ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง หรืออาจเผลอหลุดสัญญาณโกหกบางอย่างออกมาก็ได้
    • ขอให้เขาลองเล่าเรื่องย้อนหลัง [5] เพราะมันทำได้ยากมาก โดยเฉพาะถ้าต้องการเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน แม้แต่คนโกหกที่ชำนาญมากยังมองว่าการเล่าเรื่องย้อนหลังนั้นทำให้เนียนยาก
  7. ถ้าคนๆ นั้นกำลังโกหก ไม่ช้าเขาก็จะรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ถ้าเขากำลังพูดความจริง เขามักจะโกรธหรือเพียงแค่หงุดหงิด (เม้มปาก คิ้วกดต่ำลง เปลือกตาบนเกร็งและหลุบต่ำลงเพื่อจ้องมอง)
  8. เป็นการยากสำหรับคนโกหกที่จะเลี่ยงไม่เปิดปากเพื่อทำลายความเงียบที่คุณสร้างขึ้น [4] เขาจะอยากให้คุณเชื่อเรื่องที่เขากุขึ้น แต่ความเงียบจะไม่ตอบสนองให้เขารู้ว่าตกลงแล้วคุณเชื่อหรือไม่เชื่อเขากันแน่ หากคุณใจเย็นและใช้ความเงียบเข้าสู้ คนโกหกหลายคนมักจะพยายามพูดไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เงียบ ด้วยการแต่งแต้มรายละเอียดหรืออาจจะเผลอหลุดปากพูดอะไรออกมาทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ถามด้วยซ้ำ!
    • คนโกหกมักจะพยายามดูว่าคุณเชื่อสิ่งที่เขาพูดหรือไม่ [5] ถ้าคุณไม่แสดงออกอาการบางอย่างให้เขาเห็น เขาอาจจะรู้สึกอึดอัดได้
    • ถ้าคุณเป็นผู้ฟังที่ดี คุณจะเลี่ยงการขัดจังหวะ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ดีอยู่แล้วในการปล่อยให้คนโกหกบอกเล่าเรื่องราว ถ้าคุณมีแนวโน้มชอบพูดแทรก พยายามฝึกทักษะนี้ไว้ ไม่เพียงแต่มักจะช่วยจับโกหก แต่ยังทำให้คุณเป็นผู้ฟังที่ดีในสถานการณ์ทั่วๆ ไปอีกด้วย
  9. ถ้าทำได้ คุณควรจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องหลังในเรื่องที่คนโกหกกำลังพูดอยู่ คนที่โกหกเก่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงไม่ควรพูดคุยกับคนที่สามารถคอนเฟิร์มหรือปฏิเสธเรื่องนั้นๆ ได้ ข้อมูลพวกนั้นอาจเป็นคำโกหกเสียเอง ดังนั้นจึงสำคัญมากที่คุณจะเอาชนะความลังเลและลุกขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคนที่คุณสงสัย ข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ก็ควรจะถูกตรวจสอบ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ให้แน่ใจก่อนว่าคนคนหนึ่งกำลังโกหกจริงๆ ก่อนที่จะกล่าวหาเขา! คุณคงไม่อยากทำลายมิตรภาพหรือความสัมพันธ์โดยไร้เหตุผล
  • พฤติกรรมของคนโกหกบางประการด้านบนอาจสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่ไม่ได้โกหกก็ได้ ผู้คนที่รู้สึกเครียด อาย กลัวง่าย รู้สึกผิดด้วยเหตุผลอื่นๆ ฯลฯ อาจแสดงอาการกดดันและชวนสงสัยในขณะที่ถูกสอบสวนหรือถูกกดดัน คนประเภทนี้อาจลุกขึ้นมาแก้ตัวได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกับคนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความยุติธรรม นี่อาจจะดูเหมือนว่าพวกเขากำลังโกหก แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะพวกเขากำลังรู้สึกตกใจหรืออับอายที่ต้องตกเป็นเป้าสนใจอย่างไม่คาดคิด
  • คนบางคนอาจโกหกจนชำนาญหรือกระทั่งโกหกเป็นอาชีพ เขาอาจจะกุเรื่องมานับครั้งไม่ถ้วนจนเรื่องที่เล่าดูน่าเชื่อถือมาก เพราะระบุวัน เดือน ปี และเวลาได้อย่างแม่นยำ ในความจริงแล้ว ความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปทีละน้อยทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องอีกครั้ง ดังนั้นการสร้างเรื่องขึ้นมาหลอกตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก บางครั้งคุณอาจแค่ต้องยอมรับว่าคุณไม่สามารถจับโกหกได้ทุกครั้งเสมอไป
  • คนโกหกอาจใช้วัตถุใกล้ตัวช่วยเสริมแต่งรายละเอียดคำโกหก เช่น ถ้าในห้องมีปากกาวางอยู่บนโต๊ะ เขาอาจจะเพิ่มปากกาลงไปในเรื่องเล่าด้วย นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณคำโกหก
  • สำหรับกรณีของคนโรคจิตที่อาจจะโกหกมาทั้งชีวิตและปรับเปลี่ยนความจริงให้เป็นดั่งใจ แทนที่คุณจะพยายามจับผิดคนเหล่านี้ คุณควรจะระวังตัวไม่ให้เข้าไปพัวพันกับเรื่องโกหกของพวกเขาก่อนจะดีกว่า คนบางคนก็ไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่นเลย และจะไม่ลังเลที่จะโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่างจะทำร้ายใครแค่ไหนก็ตาม
  • บางคนอาจขึ้นชื่อว่าขี้โกหก ให้เก็บเอาไว้ในใจคุณ แต่อย่าให้เรื่องนี้ชี้นำความคิด คนเราเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ความพยายามที่จะกลับตัวกลับใจอาจถูกทำลายลงได้ถ้าขาดความเชื่อมั่นในตัวคนคนหนึ่งเพราะสิ่งที่เขาเคยทำในอดีต กิตติศัพท์ในอดีตไม่ใช่ทุกอย่าง เช่นเดียวกับเรื่องการโกหก คุณจะต้องดูบริบทรอบตัวโดยกว้าง เป็นกรณีไป ให้คิดด้วยว่า บางทีอาจมีคนอื่นถือโอกาสใช้กิตติศัพท์ทางลบของคนคนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และให้คนอื่นรับผิดแทนก็เป็นได้
  • เมื่อคนคนหนึ่งโกหก เขาจะเริ่มพูดติดขัดหรืออยู่ไม่สุข และพยายามที่จะทำทุกอย่างให้คุณเชื่อ เช่นร้องไห้หรืออ้อนวอน หรืออาจจะพยายามมองตาคุณ ให้ระวังพฤติกรรมเหล่านี้
  • คนโกหกจะประหยัดถ้อยคำ ถ้าคุณถามว่า “เธอทำอย่างนั้นรึเปล่า” เขาอาจจะตอบแค่ ใช่ หรือ ไม่ ให้ระมัดระวัง ถามเพิ่มด้วยว่า “เธอทำหม้อแตกรึเปล่า” “เธอทำได้ยังไง” เพื่อเค้นให้ความจริงออกมา
  • โบท๊อกซ์หรือศัลยกรรมพลาสติกอื่นๆ อาจขัดขวางหรือทำให้การจับโกหกผิดไป เป็นการยากที่คนคนหนึ่งจะแสดงออกให้ชัดเจนเมื่อใบหน้าแข็งตึงอยู่กับที่จากการศัลยกรรมความงาม
  • ให้ระวังการคล้อยตามไปเรื่อยๆ คนโกหกที่ไม่คล่องนักอาจจะแกล้งทำเป็นเออออกับสิ่งที่คุณพูด ดังนั้นให้พยายามเลี่ยงการชี้นำเขา เช่น “หลังจากนั้นคุณก็ตื่นแล้วฝันก็จบลงน่ะเหรอ
  • ถ้าคุณพูดว่า “ฉันไม่เชื่อเธอ” หรือ “นั่นฟังดูไม่จริงเลยนะ” คนโกหกอาจโกรธหรือขึ้นเสียงได้ พยายามใช้วิธีพูดแบบประนีประนอมมากกว่าการกล่าวหาหรือใช้ถ้อยคำรุนแรง


โฆษณา

คำเตือน

  • ระวังอย่าประเมินความซื่อสัตย์ของคนอื่นบ่อยเกินไปนัก ถ้าคุณคอยจับโกหกคนอื่นตลอดเวลา พวกเขาอาจจะหลีกห่างเพราะกลัวคุณซักไซ้ก็ได้ การก้าวร้าวและสงสัยทุกคนตลอดเวลาไม่ใช่การระวังตัว แต่เป็นสัญญาณของความหมกมุ่นในการไม่ไว้ใจคนอื่น.
  • บางคนที่มีความบกพร่องในการพัฒนาเช่นคนที่เป็นออทิสติกหรือโรคแอสเพอร์เกอร์อาจไม่ชอบมองตา หรือไม่มองเลย ลักษณะนี้เป็นสัญญาณของความผิดปกติ ไม่ใช่สัญญาณการโกหก
  • ระวังคนที่ชอบจ้องตา เขาอาจจะฝึกตัวเองให้ทำแบบนั้นเพื่อทำให้คู่สนทนาอึดอัด หรือเขาอาจจะแค่คิดว่าการมองตาคู่สนทนาคือการปฏิบัติตนที่สุภาพตามมารยาทก็ได้!
  • คนบางคนก็คอแห้งและอาจกลืนน้ำลายตามธรรมชาติหรือกระแอมบ่อยขึ้น
  • จำไว้ว่าบางวัฒนธรรมถือว่าการจ้องตาเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ อาจเป็นเหตุว่าทำไมคนคนหนึ่งอาจลังเลที่จะมองตาคุณไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ คนที่ผ่านครอบครัวหรือความสัมพันธ์ที่มีปัญหา หรือผ่านความรุนแรง และถูกทำให้อ่อนน้อมเพื่ออยู่รอดปลอดภัย ฯลฯ อาจจะเลี่ยงการมองตา เพราะทำจนเคยชินหรือเพราะขาดความมั่นใจในตนเอง คนขี้อายหรือคนที่กดดันเมื่อเข้าสังคมอาจมีภาษากายที่เหมือนกับคนโกหก (เช่น เลี่ยงการมองตา ไม่ชอบอยู่กับคนอื่น วิตกกังวล ฯลฯ) ดังนั้นก่อนที่จะด่วนสรุปและลงโทษผู้บริสุทธิ์ ให้ตัดสินจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดว่าเขาเป็นตามตำราจับโกหก
  • คนที่เป็นโรคสองบุคลิกอาจพูดเร็วขึ้นมากขณะอยู่ในช่วงอารมณ์ “ก้าวร้าว”
  • การฝืนยิ้มอาจเป็นเพียงความยายามที่จะทำตัวสุภาพ อย่าถือสา ถ้าบางคนแกล้งยิ้มให้คุณ อาจะเป็นเพียงเพราะเขาต้องการทำให้คุณประทับใจ ให้คุณค่าคุณ หรือเคารพคุณ
  • ภาษากายเป็นเพียงสัญญาณอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อย่าลงโทษผู้อื่นเพียงเพราะคุณตัดสินเขาจากภาษากายหรือสัญญาณต่างๆ หาหลักฐานที่แน่ชัดก่อนจะสรุปความ ยิ่งไปกว่านั้น อย่าเปลี่ยนการค้นหาความจริงไปเป็นสถานการณ์ประเภท “ถ้าฉันไม่เอาจริงจะต้องโดนต้มเหมือนคนโง่แน่ๆ ” ให้ทิ้งความรู้สึกชอบธรรมส่วนตัวและหาข้อเท็จจริง แรงจูงใจ หรือผลกระทบในวงกว้าง คุณมีสิทธิที่จะรู้สึกถูกทรยศหรือรู้สึกเจ็บปวดถ้าคนบางคนโกหกและสร้างความเสียหายให้กับคุณ แต่การ “ต้องการ” ให้เขาโกหกเพราะว่ามันจะลงล็อคกับอคติของคุณนั้นจะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจของคุณแย่ลง
  • คนหูหนวกหรือมีปัญหาทางการได้ยินอาจต้องมองตาคุณแทนการมองปากเวลาพูดคุยกัน เพื่อที่จะอ่านปากและเข้าใจคุณได้ดีขึ้น
  • การศึกษาพบว่าควรสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่อาจโกหกด้วยภาษาแม่ของเขา เนื่องจากถึงแม้ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศก็ยังอาจจะไม่แสดงปฏิกิริยาแบบเดียวกัน (ในภาษาพูดเช่นเดียวกับภาษากาย) หากสืบสวนเขาในภาษาที่ร่ำเรียนมาภายหลัง
  • บางคนอาจดูลุกลี้ลุกลนหากอยากจะเข้าห้องน้ำ หรือ เมื่อร้อน/หนาวเกินไป
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 51,481 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา