ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการปวดหัวไมเกรน ว่ากันว่าเป็นลักษณะการปวดหัวที่เจ็บปวดทรมานที่สุด ใครเป็นทีนี่คิดอะไรไม่ออกบอกไม่ถูก อย่าว่าแต่ทำงานหรือนอนพักเลย แค่หายใจเฉยๆ ก็แทบไม่ไหว เราอยากให้คุณลองกดจุด (acupressure) ด้วยตัวเองดู หรือจะไปหาผู้เชี่ยวชาญก็ได้ ถ้าเบื่อจะกินยาแล้ว การกดจุดนี่แหละจะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนให้คุณเอง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 5:

กดจุดที่หน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. แต่ละจุดที่ต้องกดก็จะมีชื่อแตกต่างกันไป เป็นชื่อที่เรียกกันมาแต่โบราณ กับอีกแบบคือชื่อสมัยใหม่ที่เพิ่งมี ซึ่งอย่างหลังจะเป็นตัวอักษรผสมกับตัวเลข อย่าง Third Eye Point ก็เรียกว่า GV 24.5 เป็นจุดที่กดแล้วช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและแน่นหน้า จุดนี้จะอยู่ที่หว่างคิ้ว เป็นจุดที่เชื่อมสันจมูกกับหน้าผากนั่นเอง [1]
    • ค่อยๆ กดลงไปที่จุดนี้ให้ลึก แล้วค้างไว้ 1 นาที จะกดลงไปตรงๆ หรือนวดวนก็ได้ ลองดูว่าแบบไหนได้ผลสำหรับคุณที่สุด
  2. Drilling Bamboo บางทีก็เรียก Bright Lights Points หรือ B2 เป็นจุดที่กดแล้วแก้อาการปวดหัวที่อยู่ค่อนไปทางด้านหน้า จุดนี้จะอยู่ที่หัวตาทั้ง 2 ข้าง เหนือเปลือกตานิดหน่อย บริเวณกระดูกเบ้าตา [2]
    • ให้ใช้ปลายนิ้วชี้ 2 ข้างกดทั้ง 2 จุดพร้อมกันเป็นเวลา 1 นาที
    • หรือจะกระตุ้นทีละข้างก็ตามความชอบ แค่ทำให้ครบ 1 นาทีทั้ง 2 ข้างก็พอ
  3. Welcome Fragrance บางทีก็เรียก Welcome Perfume หรือ LI20 เป็นจุดที่กดแล้วช่วยแก้อาการปวดหัวไมเกรนและแน่นหน้าเพราะไซนัส จุดนี้จะอยู่ด้านนอกของรูจมูกทั้ง 2 ข้าง ใกล้กับด้านล่างของโหนกแก้ม [3]
    • จะกดลงไปตรงๆ ลึกๆ หรือนวดวนก็แล้วแต่ ให้ครบ 1 นาที
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 5:

กดจุดที่หัว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. Feng Chi บางทีก็เรียก GB20 หรือ Gates of Consciousness เป็นจุดที่คนนิยมกดเพื่อรักษาไมเกรน จุด GB20 จะอยู่ล่างหูพอดี วิธีหาจุดนี้คือให้หาส่วนที่กลวงๆ เป็นโพรงข้างต้นคอ แถวท้ายทอย ให้ประสานมือแล้วค่อยๆ ประคองหัว จากนั้นวางนิ้วโป้งตรงโพรงใต้ท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง [4]
    • นวดกดจุดด้วยนิ้วโป้ง ค่อยๆ กดลงไปลึกๆ ค้างไว้ 4 - 5 วินาที ถ้าหาโพรงที่ว่าเจอแล้ว จะนวดด้วยนิ้วชี้หรือนิ้วกลาง หรือข้อนิ้วก็ได้
    • ผ่อนคลาย หายใจเข้า-ออกลึกๆ ระหว่างนวดกดจุด GB20
    • คุณนวดและกดจุดนี้ไปได้นานถึง 3 นาทีเลย
  2. แถวขมับจะมีกลุ่มจุดเรียงไปตามขอบใบหู ในกะโหลกของคุณ จะอยู่ห่างจากขอบหูขึ้นไปประมาณความกว้างของนิ้วชี้ จุดแรกคือ Hairline Curve จะอยู่ตั้งแต่เหนือขอบหูขึ้นไป แต่ละจุดอย่างที่บอกว่าห่างกันประมาณความกว้างของนิ้วชี้ และโค้งเรียงกันไปตามใบหู [5]
    • กดแต่ละจุดที่ขมับทั้ง 2 ข้าง จะกดลงไปตรงๆ หรือนวดวนก็ได้ ให้ครบ 1 นาที จากนั้นกดเรียงไปทีละจุด จะเห็นผลที่สุด
    • แต่ละจุดจะเรียงกันตั้งแต่หน้าขมับไปจนถึงหลังหู ได้แก่ Hairline Curve, Valley Lead, Celestial Hub, Floating White และ Head Portal Yin
  3. จุด Wind Mansion บางทีก็เรียก GV16 กดแล้วช่วยเรื่องไมเกรน คลายเส้นยึดที่คอ และคลายเครียด จุดนี้จะอยู่กลางท้ายทอย กึ่งกลางระหว่างหู 2 ข้างกับสันหลัง ให้หาโพรงแถวท้ายทอย แล้วกดลงไปที่ตรงกลาง [6]
    • กดจุดลงไปตรงๆ ลึกๆ อย่างน้อย 1 นาทีขึ้นไป
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 5:

กดจุดตามร่างกาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. Heaven’s Pillar จะอยู่ที่คอ ต่ำลงไปเท่ากับความกว้างของ 2 นิ้วชี้ ตรงท้ายทอย ให้เลื่อนนิ้วจากท้ายทอยลงไป หรือจากจุดอื่นที่อยู่แถวโพรงที่ว่า จะเจอจุดนี้ที่แผงกล้ามเนื้อข้างสันหลัง [7]
    • จะกดจุดลงไปตรงๆ หรือนวดวนก็แล้วแต่ ให้ได้ 1 นาที
  2. He Gu บางทีก็เรียก Union Valley หรือ LI4 จะอยู่ที่มือคุณ หรือก็คือตรงพังผืดระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้นั่นเอง ให้ใช้มือซ้ายกดจุด LI4 ของมือขวา และใช้มือขวากดจุด LI4 ของมือซ้าย [8]
    • กดลงไปลึกๆ ตรงๆ ที่จุดนี้อย่างน้อย 1 นาที
  3. Bigger Rushing เป็นอีกจุดที่อยู่ตรงเท้า ระหว่างนิ้วโป้งเท้ากับนิ้วถัดไป ตรงกลางระหว่างกระดูกนิ้วเท้า 2 นิ้ว ให้เริ่มจับจากพังผืดระหว่างนิ้ว แล้วเลื่อนกลับขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว (2.5 ซม.) จนรู้สึกถึงกระดูกเท้า ก็จะเจอจุดที่ว่า [9]
    • จะกดลงไปตรงๆ หรือนวดวนก็แล้วแต่ ให้ได้ 1 นาที
    • ถ้าใช้นิ้วโป้งกดจะง่ายกว่า ช่วยกระตุ้นจุดที่ว่าได้ดี
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 5:

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกดจุด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในทางการแพทย์แผนจีนตั้งแต่โบราณมา การกดจุด (acupressure) เป็นการกดจุดต่างๆ ตามเส้น meridian 12 เส้น เส้นที่ว่าก็คือ "เส้นลมปราณ" เป็นทางผ่านของ “qi” หรือ “chi” (ชี่) คือลมปราณนั่นเอง หลักการพื้นฐานของการกดจุด ก็คือถ้ามีจุดไหนปิดกั้นจนลมปราณไหลผ่านไม่ได้หรือไม่สะดวก จะเกิดโรคตามมา เลยต้องกดจุดเพื่อแก้ไขให้ลมปราณหรือ "ชี่" ไหลเวียนได้ดีตามเดิม [10] [11] [12]
    • การกดจุดพิสูจน์แล้วว่าช่วยแก้อาการปวดหัวไมเกรนได้ มีหลายงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ
  2. เวลากดจุด ต้องใช้แรงให้เหมาะสม คือกดลงไปตรงๆ ลึกๆ เพื่อกระตุ้นจุดต่างๆ เวลากดจุดอาจรู้สึกระบมหรือเจ็บบ้าง แต่ต้องไม่เกินทน ให้นึกถึงความรู้สึกเวลาคุณไปนวดแล้วเจ็บแต่ก็สบายตัวในเวลาเดียวกัน [13]
    • จะกดจุดแรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความแข็งแรงของแต่ละคนด้วย
    • บางจุดกดแล้วตึงเกร็ง ถ้ากดจุดไหนแล้วคุณเจ็บมากจนเกินทน ให้ค่อยๆ ลดแรงกดจนรู้สึกอย่างที่บอก ว่าเจ็บแต่ก็สบายตัว
    • ตอนกดจุดอย่าให้รู้สึกต้องทนทรมาน ถ้าจุดไหนเจ็บจนไม่สบายตัวหรือถึงขั้นทนไม่ไหว แบบนี้ให้หยุดทันที [14]
  3. การกดจุดคือการออกแรงกดลงไปตามจุดต่างๆ เลยต้องกดจุดด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเขาจะใช้ "นิ้วมือ" นี่แหละนวดและกดกระตุ้นจุดต่างๆ นิ้วกลางจะเหมาะสุด เพราะยาวและแข็งแรงกว่านิ้วอื่น หรือจะใช้นิ้วโป้งแทนก็ได้ มีบางจุดเหมือนกันที่เล็กและเข้าถึงยากจนต้องใช้ปลายเล็บแทน [15]
    • หรือจะกดจุดด้วยส่วนอื่นๆ เช่น ข้อนิ้ว ข้อศอก เข่า ขา กระทั่งเท้า ก็พิจารณากันตามความเหมาะสม
    • ถ้าจะกดจุดให้ถูกต้อง ให้กดด้วยอะไรที่มนๆ ไม่มีคม สำหรับบางจุด ปลายเล็บอาจหนาเกินไป ให้ใช้ยางลบที่ก้นดินสอกดจุดเล็กๆ พวกนี้แทน หรือใช้เมล็ดอะโวคาโดและลูกกอล์ฟแทนก็ยังได้
  4. จะกดจุดเองหรือให้ผู้เชี่ยวชาญ (แพทย์แผนจีน) กดให้ก็ได้ แต่ยังไงก็ควรปรึกษาคุณหมอประจำตัว (แผนปัจจุบัน) ดูก่อน ว่าการกดจุดจะไม่ไปรบกวนการใช้ยาหรือการรักษาอื่นๆ ที่ทำอยู่
    • ถ้ากดจุดแล้วอาการดีขึ้น ก็แจ้งคุณหมอไป รวมถึงกรณีที่กดจุดแล้วไม่ได้ผลหรืออาการหนักขึ้นเช่นกัน
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 5:

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องอาการปวดหัว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อาการปวดหัวหลักๆ มี 2 ประเภทด้วยกัน คืออาการปวดศีรษะปฐมภูมิ (primary headache) หรืออาการปวดหัวทั่วไปที่ไม่ได้มาจากโรคต่างๆ และอาการปวดศีรษะทุติยภูมิ (secondary headache) หรืออาการปวดหัวที่เกิดจากโรคอื่น ถ้าปวดหัวไมเกรนจะนับเป็น primary headache นอกจากนี้อาการปวดหัวแบบแรกยังมีปวดหัวจากความเครียด (tension headache) และปวดหัวเป็นชุดๆ (cluster headache) ด้วย [16]
    • ปวดหัวแบบที่ 2 หรือ secondary headache บางทีก็เป็นเพราะโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ความดันสูงผิดปกติ อาการไข้ หรือความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMJ หรือ Temporomandibular Joint)
  2. ปกติปวดหัวไมเกรนจะปวดข้างเดียว ส่วนใหญ่ปวดแถวหน้าผากหรือขมับ มีตั้งแต่ปวดปานกลางไปจนถึงปวดมากแบบทรมาน สัญญาณบอกว่ากำลังจะปวดหัวคือระยะ aura คนที่ปวดหัวไมเกรนส่วนใหญ่จะคลื่นไส้ ไวต่อแสง กลิ่น และเสียงร่วมด้วย แถมถ้าขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปมาจะทำให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม [17]
    • aura จะเป็นอาการชั่วคราว คือรับรู้สภาพแวดล้อมผิดปกติไป เช่น ทางด้านสายตา คือเห็นแสงวูบวาบ แสงกะพริบ หรือแสงซิกแซกไปมา อีกทีคือไวต่อกลิ่น อาการอื่นๆ ก็เช่น ชาตามแขน พูดติดขัด หรือสับสน คนที่ปวดหัวไมเกรน 25% จะมีอาการระยะ aura
    • ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรนมีหลายอย่าง และต่างกันไปตามแต่ละคน แต่ที่พบบ่อยก็เช่น ไวน์แดง การอดอาหารหรือข้ามมื้อไหนไป นอกจากนี้ก็มีปัจจัยแวดล้อม เช่น แสงกะพริบวูบวาบ กลิ่นฉุน อากาศเปลี่ยน การอดนอน ปัจจัยเรื่องฮอร์โมน (ช่วงเป็นเมนส์) อาหารบางอย่าง กระทบกระเทือนที่หัวหรือทางสมอง ปวดคอ ไปจนถึงความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร
  3. จริงๆ ไม่ว่าปวดหัวแบบไหนก็ควรไปหาหมอกันไว้ก่อน ในบางเคส อาการปวดหัวของคุณอาจเป็นสัญญาณบอกภาวะฉุกเฉินก็ได้ สัญญาณอันตรายที่ห้ามมองข้ามก็เช่น [18]
    • ปวดหัวรุนแรง โดยมีไข้ และคอแข็งร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณบอกโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis)
    • ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน (thunderclap headache) เป็นสัญญาณบอกว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid hemorrhage)
    • มีอาการกดเจ็บ (tenderness) ที่ขมับ บางทีหลอดเลือดก็เต้นตุบๆ มักเกิดในผู้สูงอายุ อาการแวดล้อมอื่นๆ ก็เช่น น้ำหนักลด เป็นสัญญาณบอกโรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (giant cell arteritis)
    • ตาแดง มองแสงแล้วมีรัศมี อาจเป็นสัญญาณบอกต้อหิน (glaucoma) โดยเฉพาะถ้าปล่อยไว้นาน ไม่รักษาอย่างถูกต้อง จนเสี่ยงตาบอดถาวร
    • ปวดหัวเฉียบพลันหรือรุนแรงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือภูมิต้านทานต่ำ เช่น หลังปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
  4. อาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณบอกโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่า เพราะงั้นควรไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายให้แน่ชัด ว่าตกลงปวดหัวแบบ primary headaches หรือเพราะเกิดจากโรคอื่น ถ้าคุณมีหนึ่งในอาการต่อไปนี้ ให้รีบไปหาหมอใน 1 - 2 วัน ห้ามนิ่งนอนใจเด็ดขาด [19]
    • ปวดหัวถี่ขึ้นหรือปวดมากขึ้น
    • ปวดหัว และอายุ 50 ปีขึ้นไป
    • สายตาเปลี่ยน
    • น้ำหนักลด
  5. หลักในการรักษาโรคไมเกรน ก็คือหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวและกำจัดสาเหตุนั้น รวมถึงการบำบัดและเยียวยาความเครียด ถ้าใครเป็นหนักหน่อย คุณหมอจะจ่ายยาให้ เช่น triptans (Sumatriptna/Imatrex หรือ Zolmitriptan/Zomig), dihydroergotamine (Migranal) และยากันคลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการ [20]
    • triptans กับ dihydroergotamine ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หรือโรคความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ (uncontrolled high blood pressure) ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular) เช่น เป็นโรคอ้วน ไขมัน LDL หรือไตรกลีเซอไรด์สูง และคนที่คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน พวกนี้ใช้ได้แต่ต้องระวัง
    โฆษณา
  1. Allais, G., Rolando, S., Castagnoli Gabellari, I., Burzio, C., Airola, G., Borgogno, P., & ... Benedetto, C. (2012). Acupressure in the control of migraine-associated nausea. Neurological Sciences: Official Journal Of The Italian Neurological Society And Of The Italian Society Of Clinical Neurophysiology, 33 Suppl 1S207-S210.
  2. Wang L, Zhang X, Guo J, et al. Efficacy of acupressure for acute migraine attack: a multicenter single blinded, randomised controlled trial. Pain Med 2012;13:623–30.
  3. Kurland, H. D. (1976). Treatment of headache pain with auto-acupressure. Diseases Of The Nervous System, 37(3), 127-129
  4. http://exploreim.ucla.edu/wellness/acupressure-and-common-acupressure-points/
  5. http://www.acupressure.com/articles/Applying_pressure_to_acupressure_points.htm
  6. http://www.acupressure.com/index.htm#acupressure
  7. http://www.merckmanuals.com/home/brain-spinal-cord-and-nerve-disorders/headaches/overview-of-headache
  8. http://www.merckmanuals.com/professional/neurologic-disorders/headache/migraine
  9. http://www.merckmanuals.com/home/brain-spinal-cord-and-nerve-disorders/headaches/overview-of-headache
  10. http://www.merckmanuals.com/home/brain-spinal-cord-and-nerve-disorders/headaches/overview-of-headache
  11. http://www.merckmanuals.com/professional/neurologic-disorders/headache/migraine

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 38,309 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา