PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

การบงการคือการพยายามมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมหรือการกระทำของคนอื่นโดยตรง การบงการโดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดี เพราะคนๆ หนึ่งอาจพยายามบงการคนอื่นเพื่อให้เขาทำสิ่งที่มีคุณค่า หรืออาจจะทำให้คนๆ นั้นทำผิดกฎหมายก็ได้ แต่การบงการไม่เคยปรากฏแบบตรงๆ บ่อยครั้งมักจะเล่นกับจุดอ่อนของเรา ทำให้เราสังเกตพฤติกรรมบงการได้ยาก มุมมองด้านการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับการบงการบางครั้งก็แนบเนียนมากจนเรามองข้ามได้ง่าย ฝังอยู่ใต้ความรู้สึกความรับผิดชอบ ความรัก หรือนิสัย คุณสามารถสังเกตสัญญาณเหล่านี้ได้เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เฝ้าดูพฤติกรรม

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    สังเกตว่าอีกฝ่ายต้องการให้คุณพูดก่อนเสมอหรือไม่. คนที่ชอบบงการคนอื่นมักอยากฟังก่อนว่าคุณจะพูดอะไรเพื่อที่เขาจะได้หาจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณได้ เขาจะถามคำถามซักไซ้เพื่อที่คุณจะได้พูดความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนตัวออกมา คำถามของเขามักจะขึ้นต้นด้วย "อะไร" "ทำไม" หรือ "อย่างไร" ปฏิกิริยาและการกระทำของเขาจะมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่คุณให้เขาไป [1]
    • การที่เขาอยากให้คุณเป็นฝ่ายพูดก่อนไม่ได้เป็นพฤติกรรมบงการโดยตัวมันเอง จึงต้องพิจารณาการกระทำอื่นๆ ของคนๆ นี้ประกอบด้วย
    • คนที่ชอบบงการคนอื่นจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในการสนทนาเหล่านี้มากนัก แต่จะเน้นไปที่ตัวคุณมากกว่า
    • ถ้าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในการสนทนากับเขา ก็อาจเป็นสัญญาณของพฤติกรรมชอบบงการ
    • แม้ว่ามันอาจจะรู้สึกเหมือนว่าเขาสนใจใคร่รู้จริงๆ แต่ก็จำไว้ว่าเขาอาจมีเจตนาแอบแฝงอยู่ในคำถามเหล่านี้ ถ้าคุณพยายามทำความรู้จักกับคนๆ นี้ และ/หรือพวกเขาปฏิเสธที่จะตอบคำถามหรือเปลี่ยนหัวข้ออย่างรวดเร็ว ก็อาจจะหมายความว่าเขาไม่ได้สนใจจริงๆ
  2. 2
    สังเกตว่าคนๆ นี้ใช้เสน่ห์เพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า. บางคนอาจมีเสน่ห์โดยธรรมชาติ แต่จอมบงการจะใช้เสน่ห์เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ คนๆ นี้อาจจะชมคนอื่นก่อนจะขอร้องให้ช่วย อาจจะให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ หรือการ์ดสักใบก่อนขอร้องหรือบอกว่าเขาจะทำอะไรให้เพื่อให้อีกฝ่ายทำอะไรบางอย่าง [2]
    • เช่น เขาอาจจะทำมื้อค่ำอร่อยๆ ไว้ให้หรือพูดจาหวานหูก่อนจะขอเงินคนอื่นหรือขอให้ช่วยงานโปรเจ็กต์
    • จำไว้ว่าแม้พฤติกรรมแบบนี้โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพียงเพราะว่ามีคนมาทำอะไรดีๆ ให้คุณ
  3. 3
    มองหาพฤติกรรมข่มขู่. จอมบงการจะโน้มน้าวให้คนอื่นทำอะไรให้โดยใช้การบังคับหรือข่มขู่ พวกเขาอาจจะตะคอกใส่ วิจารณ์ หรือข่มขู่คนๆ นั้นเพื่อให้ทำอะไรบางอย่าง โดยที่เขาอาจจะเริ่มโดยการพูดว่า "ถ้าคุณไม่ทำสิ่งนี้ให้ผม ผมจะ ___" หรือ "ผมจะไม่ ___ จนกว่าคุณจะ ____" คนที่ชอบบงการคนอื่นนอกจากจะใช้วิธีนี้ในการให้อีกฝ่ายทำอะไรให้แล้ว ยังบังคับให้อีกฝ่ายเลิกทำพฤติกรรมบางอย่างได้ด้วย [3]
  4. 4
    พึงระวังการใช้ข้อเท็จจริงของคนๆ นี้. ถ้าคนๆ นี้ใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงหรือพยายามทำให้คุณหลงไปกับข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะกำลังบงการคุณอยู่ ข้อเท็จจริงอาจถูกบิดเบือนด้วยการโกหก ปิดบังข้อมูลบางส่วน พูดเกินจริง หรือหาข้อแก้ตัว นอกจากนี้บางคนอาจจะทำเหมือนว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ และโจมตีคุณด้วยข้อเท็จจริงและสถิติ เขาทำแบบนี้เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจเหนือคุณ [4] [5]
  5. 5
    สังเกตว่าอีกฝ่ายมักทำตัวน่าสงสารหรือตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอหรือไม่. คนๆ นี้อาจจะทำในสิ่งที่คุณไม่ได้ขอ จากนั้นก็ทวงบุญคุณจากคุณ เพราะเขา "ช่วยคุณ" เขาจึงคาดหวังมากขึ้นว่าคุณจะช่วยเขากลับและอาจจะบ่นหากคุณไม่ช่วย [6]
    • นอกจากนี้คนที่ชอบบงการยังอาจจะบ่นและพูดว่า "ฉันนี่มันไม่มีใครรัก/ฉันป่วย/ฉันตกเป็นเหยื่อ และอื่นๆ" เพื่อขอความเห็นใจจากคุณและขอให้คุณทำอะไรให้
  6. 6
    พิจารณาว่าความเมตตาของเขามีเงื่อนไขหรือไม่. เขาอาจจะอ่อนหวานและใจดีกับคุณเวลาคุณทำงานได้ดีพอ แต่นรกจะแตกก็ต่อเมื่อคุณกล้าทำพลาด จอมบงการประเภทนี้จะเหมือนมี 2 หน้า หน้านางฟ้าหน้าหนึ่งเมื่อเขาอยากให้คุณชอบเขา และหน้าสุดโหดเมื่อเขาอยากให้คุณกลัวเขา ทุกสิ่งทุกอย่างจะราบรื่นจนกระทั่งคุณทำไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง
    • คุณอาจจะรู้สึกใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวว่าจะทำให้เขาโกรธ
  7. 7
    สังเกตรูปแบบพฤติกรรม. เราทุกคนต่างเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมบงการเป็นครั้งคราว แต่จอมบงการจะมีพฤติกรรมแบบนี้ตลอดเวลา จอมบงการจะมีเจตนาส่วนตัวและตั้งใจฉกฉวยผลประโยชน์จากอีกฝ่ายเพื่อให้ได้อำนาจ การควบคุม และสิทธิพิเศษจากประโยชน์ของอีกฝ่าย [7] ถ้าพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นไปได้ว่าคนๆ นี้อาจเป็นจอมบงการ
    • เวลาที่คุณถูกบงการ สิทธิและความสนใจของคุณมักไม่ได้รับการตอบสนองและไม่สำคัญสำหรับคนๆ นั้น
    • รู้ว่าความพิการหรือความป่วยไข้ทางจิตใจก็อาจมีส่วน เช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะรู้สึกผิดอย่างแท้จริงแม้ในเรื่องที่ไม่มีความผิดโดยที่เขาไม่ได้มีเจตนาบงการเลย และคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็อาจจะมีปัญหากับการเช็กอีเมลอยู่บ่อยๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นจอมบงการแต่อย่างใด
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

วิเคราะห์การสื่อสารของคุณ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    สังเกตว่าคุณถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ดีพอหรือถูกตัดสินหรือเปล่า. เทคนิคทั่วไปคือหาเรื่องแล้วหัวเราะเยาะคุณเพื่อให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คนๆ นี้ก็หาเรื่องจับผิดคุณได้เสมอ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ไม่ดีพอสักอย่าง แทนที่จะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์หรือติเพื่อก่อ คนๆ นี้กลับมีแต่จะจับผิดคุณ [8]
    • วิธีนี้ยังสามารถทำได้ผ่านการพูดกระแนะกระแหนหรือมุกตลก จอมบงการอาจจะเล่นมุกเกี่ยวกับเสื้อผ้าของคุณ รถที่คุณขับ สถานที่ที่คุณทำงาน ครอบครัว รูปร่างหน้าตา หรืออะไรก็ตามแต่ แม้ว่าสิ่งที่เขาพูดจะแฝงอยู่ในรูปแบบของอารมณ์ขัน แต่ในที่นี้มุกตลกถูกใช้เพื่อกรีดแทงคุณ คุณกลายเป็นตัวตลก และมันก็ทำให้คุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเองด้วย
  2. 2
    สังเกตว่าคุณถูกเมินไหม. คนชอบบงการจะใช้ความเงียบเพื่อสร้างอำนาจ เขาอาจจะไม่สนใจเวลาคุณโทรหา ส่งข้อความ หรือส่งอีเมลไปหาเป็นเวลานาน เขาใช้วิธีนี้เพื่อให้คุณรู้สึกไม่มั่นคงหรือเพื่อลงโทษที่คุณ "ทำอะไรผิด" "การเมินใส่" ไม่เหมือนกับการต้องการเวลาเพื่อให้อารมณ์เย็นลงแล้วค่อยกลับไปคุยกันใหม่ แต่เป็นการใช้ความเงียบเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไร้อำนาจ
    • การเงียบใส่อาจถูกกระตุ้นจากการกระทำของคุณ หรือคุณอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้ ถ้าจอมบงการอยากจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่มั่นคง การตัดการสื่อสารทุกช่องทางแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยนั้นได้ผลดี
    • ถ้าคุณถามว่าทำไมถึงเงียบไป เขาอาจจะปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือบอกว่าคุณระแวงหรือคิดมากเกินเหตุ [9]
  3. 3
    รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เขาทำให้คุณรู้สึกผิด. การทำให้คุณรู้สึกผิดเป็นการพยายามทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของจอมบงการ นอกจากนี้มันยังทำให้คุณถูกอารมณ์ของอีกฝ่ายควบคุมด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความล้มเหลว หรือความสำเร็จ ความโกรธ และอารมณ์อื่นๆ สุดท้ายคุณจะรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เขาพอใจแม้ว่ามันจะไม่มีเหตุผลก็ตาม [10]
    • ก่อนที่จะทำให้คุณรู้สึกผิด คนที่ชอบบงการมักจะชอบพูดก่อนว่า "ถ้าคุณเข้าใจมากกว่านี้ คุณก็คง..." หรือ "ถ้าคุณรักฉันจริง คุณก็คง..." หรือ "ก็ในเมื่อผมยังทำแบบนี้ให้คุณเลย ทำไมคุณไม่ทำให้ผมบ้างล่ะ" (ทำให้ในสิ่งที่คุณไม่ได้ขอ)
    • ถ้าคุณเห็นด้วยในสิ่งที่ปกติแล้วคุณจะไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับสิ่งที่ทำให้คุณไม่สบายใจ ก็แปลว่าคุณอาจจะตกเป็นเหยื่อของการบงการ
  4. 4
    สังเกตว่าคุณเป็นฝ่ายขอโทษเสมอหรือเปล่า. คนชอบบงการมักจะพลิกสถานการณ์ให้คุณรู้สึกเหมือนว่าคุณทำอะไรผิด ซึ่งอาจจะกระทำโดยการกล่าวโทษในสิ่งที่คุณไม่ได้ทำหรือทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ เช่น ถ้าคุณบอกว่าคุณกับอีกฝ่ายจะไปเจอกันตอนบ่ายโมงตรง แต่คุณไปสาย 2 ชั่วโมง คุณเผชิญหน้ากับเขาแล้วเขาก็ตอบกลับมาว่า "คุณพูดถูกแล้ว ฉันมันไม่เคยทำอะไรถูกหรอก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคุณถึงคุยกับฉันอยู่ ฉันไม่สมควรมีคุณอยู่ในชีวิตของฉันด้วยซ้ำ" ตอนนี้อีกฝ่ายทำให้คุณต้องเห็นใจเขาและเปลี่ยนธรรมชาติของบทสนทนา [11]
    • นอกจากนี้คนชอบบงการยังตีความสิ่งที่คุณพูดผิดไปในทางที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องขอโทษที่พูดไปแบบนั้น
  5. 5
    พึงระวังหากอีกฝ่ายเปรียบเทียบคุณกับคนอื่นเสมอ. เพื่อให้คุณทำอะไรสักอย่าง คนๆ นี้จะบอกว่าคุณสู้คนอื่นไม่ได้หรอก นอกจากนี้เขาอาจจะบอกคุณด้วยว่าคุณจะดูโง่ถ้าคุณไม่ทำสิ่งนั้น [12] วิธีนี้คือเพื่อให้คุณรู้สึกผิดและเพื่อกดดันให้คุณทำในสิ่งที่เขาบอกให้คุณทำ [13]
    • "ใครๆ เขาก็ __" หรือ "ถ้าเธอถามเมย์ เมย์ก็ต้องทำเหมือนกันแหละ" หรือ "ใครๆ เขาก็ว่าดีทั้งนั้นแหละ ยกเว้นเธอ" ทั้งหมดนี้เพื่อให้คุณทำบางสิ่งโดยการเปรียบเทียบคุณกับคนอื่น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

รับมือกับจอมบงการ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    รู้ว่าคุณมีสิทธิ์พูดคำว่า "ไม่." คนๆ นี้จะยังคงบงการคุณต่อไปตราบใดที่คุณยังปล่อยให้เขาทำแบบนั้น คุณต้องพูดว่า "ไม่" เพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของตัวคุณเอง ส่องกระจกแล้วฝึกพูดว่า "ไม่ ฉันช่วยเหลือคุณเรื่องนั้นไม่ได้หรอก" หรือ " ไม่ แบบนี้ใช้กับฉันไม่ได้หรอก" [14] คุณต้องยืนหยัดปกป้องตัวเอง และคุณก็สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ
    • คุณไม่ควรรู้สึกผิดที่พูดคำว่า "ไม่" เพราะมันเป็นสิทธิ์ของคุณ
    • คุณสามารถปฏิเสธอย่างนุ่มนวลได้ ถ้าจอมบงการมาขอให้คุณทำอะไร ให้พูดว่า "ฉันก็อยากช่วยนะคะ แต่เดือนหน้าดิฉันจะยุ่งมากเลยค่ะ" หรือ "ขอบคุณที่ชวนนะคะ แต่ไม่ดีกว่าค่ะ"
  2. 2
    กำหนดขอบเขต. จอมบงการที่คิดว่าอะไรๆ ก็ไม่ยุติธรรมและโกรธเกี้ยวจะพยายามขอความเห็นใจจากคุณเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการมากขึ้น ในกรณีนี้จอมบงการจะใช้ความรู้สึก "สิ้นไร้ไม้ตอก" เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงิน อารมณ์ หรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ จากคุณ สังเกตทัศนคติและคำพูดประมาณว่า "ฉันก็มีแต่คุณเท่านั้น" และ "ฉันไม่มีใครให้คุยด้วยอีกแล้ว" และอื่นๆ ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้มีหน้าที่หรือไม่จำเป็นจะต้องทำตามความต้องการของคนๆ นี้เสมอไป
    • ถ้าอีกฝ่ายบอกว่า "ฉันไม่มีใครให้คุยด้วยอีกแล้ว" เรามาลองสมมุติสถานการณ์ที่ชัดเจนดีกว่า
      • "จำเมื่อวานตอนที่กุ๊กกิ๊กมาหาแล้วคุยกับเธอตลอดทั้งบ่ายได้ไหม แล้วทรายก็บอกว่าเธอจะโทรหาทรายเมื่อไหร่ก็ได้ที่เธออยากได้คนรับฟัง ฉันคุยกับเธอได้อีก 5 นาทีนะ แต่หลังจากนั้นฉันมีนัดที่ฉันยกเลิกไม่ได้"
  3. 3
    อย่าโทษตัวเอง. จอมบงการจะทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ จำไว้ว่าคุณกำลังถูกบงการเพื่อให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเองและปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณ พอคุณเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเองเมื่อไหร่ ให้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นและคอยพิจารณาความรู้สึกของตัวเอง [15]
    • ถามตัวเองว่า "คนๆ นี้ปฏิบัติกับฉันอย่างให้เกียรติหรือเปล่า" "คนๆ นี้ขอร้องและมีความคาดหวังเกี่ยวกับตัวฉันที่สมเหตุสมผลหรือเปล่า" "ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ข้างเดียวหรือเปล่า" "ฉันรู้สึกดีกับตัวเองในความสัมพันธ์นี้หรือเปล่า"
    • ถ้าคำตอบของคำถามเหล่านี้คือ "ไม่" เป็นไปได้ว่าคนที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นจอมบงการ ไม่ใช่คุณ
  4. 4
    ยืนหยัดเพื่อตัวเอง. จอมบงการมักจะโป้ปดและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ทำให้ตัวเองดูน่าดึงดูดใจ เวลาที่เจอกับการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ถามหาคำอธิบาย ให้เหตุผลไปว่าคุณจำได้ว่าข้อเท็จจริงมันไม่ใช่แบบนี้และคุณก็สงสัยเพราะอยากเข้าใจมากยิ่งขึ้น ถามคำถามธรรมดากับคนๆ นั้นว่าคุณทั้งสองคนตกลงในประเด็นนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาเชื่อว่าวิธีแบบนี้คิดขึ้นมาตอนไหน และอื่นๆ พอคุณสองคนเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ให้ถือเอาจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่ยึดตามข้อเท็จจริงที่เขาบิดเบือน เช่น
    • ถ้าอีกคนบอกว่า "เธอไม่เคยสนับสนุนฉันในระหว่างการประชุมเลย เธอเข้าประชุมก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแล้วก็ปล่อยฉันไว้กับพวกเสือสิงห์กระทิงแรดตลอดเลย"
    • คุณก็ตอบไปเลยว่า "ไม่จริงเลย ฉันเชื่อว่าเธอพร้อมที่จะพูดไอเดียของเธอให้นักลงทุนฟังอยู่แล้ว ถ้าฉันคิดว่าเธอพลาด ฉันต้องเข้าไปช่วยเธอแล้ว แต่นี่ฉันคิดว่าเธอทำได้ดีอยู่แล้วไง"
  5. 5
    ฟังเสียงของตัวเอง. คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังเสียงของตัวเองและฟังดูว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คุณรู้สึกถูกกดขี่ กดดัน ต้องทำบางสิ่งให้คนๆ นี้ทั้งที่คุณไม่อยากทำหรือเปล่า พฤติกรรมของเขาดูท่าจะมีผลกระทบกับคุณไม่จบไม่สิ้นหรือเปล่า เพราะหลังจากช่วยครั้งหนึ่งแล้ว คุณก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องช่วยและสนับสนุนต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือเปล่า คำตอบของคุณควรทำหน้าที่เป็นเหมือนแนวทางที่แท้จริงที่จะบอกได้ว่า ความสัมพันธ์ที่คุณมีกับคนๆ นี้จะเดินหน้าต่อไปทางไหน
  6. 6
    ลดความรู้สึกผิด. หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ต้องจำให้ขึ้นใจเพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ทำให้คุณต้องรู้สึกผิดก็คือคุณต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมให้เร็วที่สุด เมื่อเป็นเรื่องของการทำให้รู้สึกผิดแล้ว ถ้าหากคุณไม่รับสิ่งนั้นมันก็ต้องย้อนกลับไปที่คนเริ่ม และอย่าให้การตีความพฤติกรรมของคุณจากอีกฝ่ายมากำหนดสถานการณ์ วิธีนี้รวมถึงการพูดย้อนกลับไปว่าจอมบงการพูดอะไรบ้างและบอกพวกเขาว่าเขาไม่ให้เกียรติ ไม่นึกถึงคนอื่น ไม่มองโลกตามความเป็นจริง หรือใจร้ายแค่ไหน
    • ถ้าเขาพูดว่า "คุณไม่สนใจงานหนักๆ ที่ฉันทำให้คุณบ้างเลย" ให้ลองพูดกลับไปว่า "ทำไมผมจะไม่สนใจล่ะว่าคุณทำงานหนักเพื่อผมแค่ไหน ผมบอกคุณไปแล้วตั้งหลายครั้ง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคุณจะไม่เห็นคุณค่าเลยว่าผมสนใจขนาดไหน"
    • อย่าให้อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือคุณไปเรื่อยๆ พอจอมบงการพยายามทำให้คุณรู้สึกผิดด้วยการบอกว่ามันเขาไม่สำคัญกับคุณ อย่าไปหลงเชื่อ
  7. 7
    มุ่งเน้นความสนใจไปที่จอมบงการ. แทนที่จะปล่อยให้จอมบงการเป็นฝ่ายถามคำถามและออกคำสั่ง คุณต้องควบคุมสถานการณ์ด้วยตัวเอง เวลาที่คุณถูกถามหรือถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลหรือทำให้คุณไม่สบายใจ ให้ถามซักไซ้เขากลับไป [16]
    • ถามเขากลับไปว่า "แล้วมันยุติธรรมกับฉันไหม" "เธอคิดว่ามันสมเหตุสมผลไหม" "สิ่งนี้จะช่วย/มีประโยชน์กับฉันยังไง" "เธอคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้ฉันรู้สึกยังไง"
    • คำถามเหล่านี้อาจทำให้จอมบงการต้องถอยทัพกลับไป
  8. 8
    อย่าตัดสินใจเร็ว. จอมบงการอาจจะพยายามกดดันคุณให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วหรือสั่งให้คุณตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างรวดเร็ว แทนที่จะเลยตามเลย ให้พูดกลับไปว่า "ฉันจะกลับไปคิดดู" วิธีนี้จะทำให้คุณไม่รับปากทำในสิ่งที่คุณไม่ได้อยากทำจริงๆ หรือทำให้คุณไม่ต้องจนมุม [17]
    • ถ้าข้อเสนอนั้นจะหายไปทันทีถ้าคุณมัวเสียเวลาคิด ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะไม่ทำสิ่งนั้นหากคุณ มี เวลาคิด ถ้าอีกฝ่ายกดดันให้คุณตัดสินใจในทันที คำตอบที่ดีที่สุดคือ "ไม่ค่ะ ขอบคุณค่ะ"
  9. 9
    สร้างเครือข่ายสนับสนุน. ใส่ใจความสัมพันธ์ดีๆ และใช้เวลากับคนที่ทำให้คุณมีความสุขและมั่นใจ มองหาคนในครอบครัว เพื่อนๆ ที่ปรึกษา คนรัก และ/หรือเพื่อนในอินเทอร์เน็ต คนเหล่านี้ช่วยให้คุณสามารถรักษาสมดุลและมีความสุขกับตัวเอง อย่าปล่อยให้ตัวเองหัวเดียวกระเทียมลีบ!
  10. 10
    อยู่ให้ห่างจากจอมบงการ. ถ้าคุณคิดว่ามันยากหรืออันตรายเกินไปที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับจอมบงการคนนี้ ให้ออกห่างจากเขา ไม่ใช่หน้าที่ที่คุณจะต้องไปเปลี่ยนเขา ถ้าจอมบงการเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานที่คุณไม่สามารถเลี่ยงได้ตลอด ก็ให้มีปฏิสัมพันธ์แบบจำกัด เข้าไปคุยด้วยเมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ เท่านั้น [18]
    • จำไว้ว่าจอมบงการอาจใช้ลูกเล่นทุกอย่าง ทั้งทำให้รู้สึกผิด ไปนินทาคุณให้คนอื่น เล่นบทเหยื่อ เป็นต้น นั่นเพราะพวกเขาจระหนักว่ากำลังควบคุมคุณไม่ได้ ถ้าคุณไม่ยอมแพ้ก็จะเป็นผู้ชนะ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • การบงการสามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คนรัก ครอบครัว หรือเพื่อนก็ตาม
  • มองหารูปแบบพฤติกรรมบางอย่าง ถ้าคุณสามารถคาดการณ์ได้อย่างปลอดภัยว่าคนๆ นี้จะทำอะไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางอย่าง แปลว่าคุณน่าจะสังเกตพฤติกรรมได้ถูกทางแล้ว
  • ถ้าคุณอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการบงการ ให้ออกมาหรือไม่ก็ขอความช่วยเหลือจากคนที่รู้ว่าคุณต้องเจอกับอะไรบ้าง
โฆษณา

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,081 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา