ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

สิ่งของต่างๆ ที่เป็นพลาสติก อย่างรีโมททีวีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เป็นกล่องหรือเคสแข็งด้านนอก จะมีพลาสติกนิ่มๆ เคลือบไว้ ซึ่งจะเสื่อมสภาพกลายเป็นคราบเหนียวได้เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี บางทีพลาสติกก็เหนียวเหนอะหนะเพราะคราบสะสมจากมือคุณ หรือมีอะไรหกใส่ ไม่ก็เป็นเพราะคราบกาวของสติกเกอร์ กระทั่งคราบของกาวจริงๆ แต่ไม่ว่าพลาสติกจะเหนียวเพราะอะไร ก็ลองทำความสะอาดดูด้วยวิธีการต่างๆ แสนง่ายดายในบทความวิกิฮาวนี้ ที่ต้องใช้มีแค่อุปกรณ์ทำความสะอาดที่หาได้ในบ้าน เช่น เบคกิ้งโซดา แอลกอฮอล์ล้างแผล (isopropyl alcohol) น้ำสะอาด และน้ำยาล้างจานอ่อนๆ เท่านี้พลาสติกชิ้นนั้นก็จะสะอาดเหมือนใหม่ในพริบตา!

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ใช้ครีมเบคกิ้งโซดา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผสมเบคกิ้งโซดากับน้ำในสัดส่วนที่เท่ากัน จนเหนียวข้น. เทเบคกิ้งโซดาใส่ถ้วย แก้ว หรือภาชนะอื่น จากนั้นเติมน้ำในสัดส่วนที่เท่ากัน แล้วใช้ช้อนคนผสมจนเหนียวข้น [1]
    • จะใช้เบคกิ้งโซดากับน้ำแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขนาดของพลาสติกที่จะทำความสะอาด เช่น ถ้าเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก อย่างรีโมททีวี ให้ใช้น้ำ 1 ช้อนโต๊ะ (15 มล.) กับเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ (20 กรัม)
    • วิธีนี้ใช้ทำความสะอาดพลาสติกที่มีคราบเหนียวได้หลายชนิด เช่น เครื่องครัว หรือจานชาม รีโมททีวี กล่องพลาสติก ของเล่น และอื่นๆ ที่เป็นพลาสติกแข็ง

    คำเตือน : ห้ามทำความสะอาดอุปกรณ์บางอย่าง เช่น คีย์ของคีย์บอร์ดพลาสติก ด้วยวิธีนี้ เพราะครีมเบคกิ้งโซดาจะไหลเข้าไปข้างในได้ง่าย จนทำให้อุปกรณ์นั้นๆ เสียหาย

  2. เอาครีมเบคกิ้งโซดาป้ายนิ้ว แล้วถูคราบเหนียวที่พลาสติก. ใช้นิ้วป้ายครีมเบคกิ้งโซดามาเล็กน้อย จากนั้นใช้นิ้วถูวนให้ทั่วพลาสติกที่จะทำความสะอาด จะเพิ่มครีมก็ได้ถ้าไม่พอ ให้ทำแบบนี้จนครีมทั่วพลาสติกที่มีคราบเหนียว [2]
    • ห้ามใช้อะไรที่ขัดหยาบ เช่น ด้านสีเขียวของสก๊อตไบรท์ มาขัดถูพลาสติก เพราะจะขูดขีดเป็นรอยได้
  3. เอาผ้านุ่มสะอาดไปชุบน้ำ โดยเอาผ้ารองใต้ก๊อกน้ำที่เปิดไว้จนผ้าชุ่ม จากนั้นบิดหมาด อย่าให้ชุ่มจนน้ำหยด นำไปเช็ดครีมเบคกิ้งโซดาออกจากพลาสติกได้เลย สุดท้ายซักผ้าแล้วเช็ดซ้ำได้จนกว่าจะไม่เหลือทั้งครีมเบคกิ้งโซดาและคราบเหนียว [3]
    • ถ้าต้องทำความสะอาดอะไรที่ใส่ถ่านหรือแบตไว้ เช่น รีโมททีวี ต้องเปิดแล้วเช็ดช่องใส่ถ่านด้วย เผื่อครีมไหลเข้าไปข้างใน
    • ถ้าพลาสติกชิ้นนั้นมีร่องหรือซอกมุมที่เช็ดครีมออกมาไม่ได้ ให้ใช้อุปกรณ์อย่างไม้จิ้มฟันหรือคอตตอนบัดสอดเข้าไปข้างในแล้วเช็ดครีมออกมา
  4. วางพลาสติกชิ้นนั้นไว้ในที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก แล้วรอจนแห้งสนิทก่อนนำกลับไปใช้งาน [4]
    • ถ้าใช้ผ้าเปียกหมาดเช็ดช่องใส่ถ่านหรือแบต ก็ต้องเปิดฝาผึ่งลมไว้จนกว่าจะแห้งสนิท
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เช็ดด้วยแอลกอฮอล์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พับผ้าสะอาดเป็นสี่เหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอแค่จับถนัดมือ. หาผ้านุ่มๆ สะอาดๆ ที่ไม่กลัวเลอะมา จากนั้นพับครึ่งหรือพับสองทบ ให้ถือถนัดมือ ใช้เช็ดถูได้สะดวก [5]
    • ถ้าไม่มีผ้าเหมาะๆ ให้พับทิชชู่เช็ดปากหรือทิชชู่ซับน้ำมันหนาๆ มาใช้แทน
    • วิธีนี้ใช้เช็ดคราบกาวได้ดี ทั้งคราบกาวของสติกเกอร์ หรือคราบกาวจริงๆ
    • ถ้าจะทำความสะอาดแผ่นพลาสติกเคลือบผิวนิ่มๆ ที่เก่าจนเริ่มเหนียว ก็ต้องทำใจก่อนว่าหลังทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ พื้นผิวของวัตถุนั้นจะกลายเป็นมันวาว ต่างจากเดิมเล็กน้อย แต่ก็จะไม่ทิ้งคราบเหนียวไว้หลังลอกพลาสติกเก่าที่เคลือบออกไปแล้ว
  2. หงายผ้าขึ้นในมือข้างที่ถนัด แล้วคว่ำขวดแอลกอฮอล์กลางผ้าแบบเร็วๆ ให้ผ้าโดนแอลกอฮอล์พอเปียกหมาด จากนั้นรีบกระดกขวดกลับไปก่อนจะหกออกมามากเกินไปจนผ้าชุ่ม [6]
    • ถ้าใช้วิธีนี้ทำความสะอาดพลาสติกที่มีร่อง ซอกมุม หรือส่วนที่เสียหายง่าย เช่น คีย์บอร์ด ต้องใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์พอหมาดเล็กน้อยมากๆ แอลกอฮอล์จะได้ไม่หยดเข้าไปข้างใน ย้ำว่าต้องระวังมากๆ ให้เช็ดเฉพาะผิวหน้าพลาสติกที่ไม่เสียหายง่าย เช่น ด้านบนของคีย์ในคีย์บอร์ด
    • ที่ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลแทนได้ เพราะมี isopropyl alcohol เป็นส่วนผสม
  3. ถือพลาสติกด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด แล้วจับให้มั่น จากนั้นเช็ดแอลกอฮอล์ให้ทั่วผิวพลาสติก จะหมุนหรือกลับด้านพลาสติกไปเรื่อยๆ ด้วยก็ได้ระหว่างเช็ด เพื่อให้ทำความสะอาดได้ทั่วถึง [7]
    • ขัดขึ้นลงหรือขัดวน โดยเฉพาะจุดที่เป็นคราบเหนียวเยอะที่สุด
    • แอลกอฮอล์ระเหยเร็วมาก เลยไม่ต้องกลัวว่าจะซึม หรือต้องเช็ดให้แห้งสนิทหลังทำความสะอาด

    คำเตือน : ระวังว่าแอลกอฮอล์ทำสีหลุดลอกจากพลาสติกบางประเภทได้ ให้ทดสอบทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์แค่จุดเล็กๆ ที่ไม่เป็นที่สังเกตก่อน ว่ากัดสีด่างหรือเปล่า ถ้าปลอดภัยค่อยเริ่มใช้จริง

    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ล้างด้วยน้ำยาล้างจานผสมน้ำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผสมน้ำยาจากน้ำยาล้างจานและน้ำสะอาด เสร็จแล้วกรอกใส่ขวดเล็กๆ. บีบน้ำยาล้างจานอ่อนๆ 1 ช้อนโต๊ะ (15 มล.) ใส่ถ้วย แก้ว หรือภาชนะอื่นๆ จากนั้นเติมน้ำอุ่นแล้วใช้ช้อนคนผสมให้เข้ากันจนเกิดฟอง [8]
    • วิธีนี้เหมาะจะใช้ทำความสะอาดพลาสติกที่บอบบางหน่อย เช่น ไพ่ บัตรประชาชน หรือบัตรเครดิต ไม่ก็พลาสติกอื่นๆ ที่กลัวทำความสะอาดแล้วสีหรือเคลือบผิวจะลอก
  2. ถือผ้าในมือข้างที่ถนัด ให้นิ้วชี้ยื่นออกมาที่มุมผ้า ห่อปลายนิ้วด้วยผ้าไว้ จากนั้นเอานิ้วที่ห่อผ้าแล้วไปจุ่มน้ำยาล้างจานที่ผสมน้ำแล้วแบบเร็วๆ อย่าแช่ค้างไว้ ผ้าจะได้ไม่ชุ่มน้ำยา [9]
    • ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์จะดีที่สุด หรือจะตัดเสื้อยืดผ้าคอตตอนเก่าๆ มาทำผ้าขี้ริ้วก็ได้ แล้วใช้ทำความสะอาดในวิธีนี้ได้เลย
  3. ถือพลาสติกที่เหนียวไว้ในมือข้างที่ไม่ถนัด แล้วใช้ผ้าส่วนที่ชุบน้ำยาเปียกหมาดเช็ดให้ทั่วทั้งชิ้น จะเช็ดขึ้นลงหรือเช็ดวนก็ได้ ถ้าผ้าแห้งไป ก็จุ่มน้ำยาเพิ่มได้เล็กน้อย [10]
    • ขัดเพิ่มเติมตรงส่วนที่เหนียวเป็นพิเศษ เช่น คราบน้ำอัดลมเหนียวหนึบที่เผลอทำหก จนสะอาดเอี่ยม ไม่เหลือคราบ

    เคล็ดลับ : ถ้าจะเช็ดอะไรที่แบนๆ อย่างบัตรเครดิตหรือบัตรประชาชน ให้วางบัตรบนพื้นแข็งๆ อย่างบนโต๊ะหรือหน้าเคาน์เตอร์ แล้วกดไว้ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดได้เลย

  4. ทำความสะอาดเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดจนพลาสติกแห้งสนิท. ใช้ผ้าสะอาดนุ่มๆ อีกผืนมาเช็ดพลาสติกที่ยังเปียกหรือชื้นๆ จนแห้งสนิท อย่าพลาดตามร่องหรือซอกมุมไป เพราะอาจจะมีน้ำหยดค้างอยู่ในนั้นได้ [11]
    • จะใช้ทิชชู่เช็ดปากหรือทิชชู่ซับน้ำมันแผ่นหนาๆ แทนก็ได้ ถ้าไม่มีผ้าแห้งอีกผืน แต่ระวังว่าใช้ทิชชู่แล้วจะทิ้งฝุ่นเล็กๆ ไว้ได้
    โฆษณา

คำเตือน

  • ห้ามทำความสะอาดโดยนำพลาสติกที่มีคราบเหนียวไปใส่ในเครื่องล้างจานหรือเครื่องซักผ้าเด็ดขาด ต้องล้างทำความสะอาดด้วยมือเท่านั้น
  • แอลกอฮอล์ทำให้สีพลาสติกบางชนิดหลุดลอกได้ เพราะฉะนั้นให้ทดสอบทำความสะอาดแค่จุดเล็กๆ ก่อน ถ้าจะใช้แอลกอฮอล์
  • หลังทำความสะอาด ห้ามทำให้พลาสติกแห้งโดยใช้ไดร์เป่าผมหรืออะไรที่แผ่ความร้อนโดยตรง ให้เช็ดด้วยผ้าสะอาดหรือผึ่งลมจนแห้งเท่านั้น
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

ใช้ครีมเบคกิ้งโซดา

  • เบคกิ้งโซดา
  • น้ำสะอาด
  • ภาชนะขนาดเล็ก
  • ผ้านุ่มๆ

เช็ดด้วยแอลกอฮอล์

  • แอลกอฮอล์ล้างแผล (Isopropyl alcohol)
  • ผ้าสะอาด

ล้างด้วยน้ำยาล้างจานผสมน้ำ

  • ภาชนะขนาดเล็ก
  • น้ำสะอาด
  • น้ำยาล้างจาน
  • ผ้านุ่มๆ

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 39,680 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา