ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การรับมือกับพวกไซโคพาธอาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ก็มีวิธีที่ป้องกันไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อได้ โรคไซโคพาธเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะคือขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่สนใจกฎเกณฑ์ และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ถ้าคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่เป็นไซโคพาธได้ คุณก็ต้องรับมือกับเขาอย่างมีสติ อย่าปะทะเพราะความไม่พอใจเป็นการบอกให้รู้ว่าเขาควบคุมคุณได้ ขอความช่วยเหลือถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัย และหัดสังเกตสัญญาณที่บอกว่า เขาอาจเป็นพวกชอบทำร้ายคนอื่นทางจิตใจหรือร่างกาย

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ยุติความสัมพันธ์กับคนที่เป็นไซโคพาธ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรียกหน่วยบริการฉุกเฉินหากคุณตกอยู่ในอันตรายฉับพลัน. ขอความช่วยเหลือทันทีถ้าเขาขู่จะทำร้ายคุณ ตัวเอง หรือคนอื่น อย่าคิดว่าเขาคงไม่ทำจริง แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะไม่เคยใช้กำลังเลยก็ตาม [1]
    • คนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมไม่ได้ใช้กำลังทุกคน แต่ความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นฉับพลันและพฤติกรรมบ้าบิ่นเป็นลักษณะของภาวะนี้
    • การขู่ว่าจะฆ่าตัวตายอาจเป็นเล่ห์กลที่เขาใช้ครอบงำจิตใจของคุณ ถ้าคุณเชื่อว่าเขามีเจตนาและตั้งใจจะทำร้ายตัวเอง ให้โทรเรียกหน่วยบริการฉุกเฉิน
    • ถ้าคุณสงสัยว่าเขาขู่ฆ่าตัวตายเพื่อหวังควบคุมคุณหรือเคยขู่ว่าจะทำร้ายตัวเองมาแล้วหลายครั้ง ให้ยึดขอบเขตของคุณเป็นหลัก บอกว่าคุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของเขา และจะไม่ยอมให้เขามาควบคุมคุณด้วย [2]
  2. จำไว้ว่าคุณไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา. คนที่เป็นไซโคพาธจะถนัดบงการ หลอกลวง และโยนความผิดให้พ้นตัว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับว่าคุณไร้เดียงสาหรืออ่อนแอ เพราะฉะนั้นแทนที่จะโทษตัวเอง ให้เข้าใจว่าเขาทำแย่ๆ กับคุณและคุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา [3]
    • จุดหนึ่งที่ต้องจำไว้ให้ดีก็คือ โดยทั่วไปพวกไซโคพาธจะดูเป็นมิตรและน่าคบหาในช่วงแรก เขาอาจจะทำตัวน่ารักอยู่หลายสัปดาห์ แต่สุดท้ายแล้วคุณจะเริ่มจับสัญญาณเตือนได้ สมมุติว่าเขาหายหน้าไป 2-3 วัน พอคุณถามว่าไปไหนมา เขาก็อาจจะระเบิดใส่คุณ ขู่ว่าจะทำร้าย และบอกว่าไม่ใช่เรื่องของคุณ
    • นอกจากนี้ให้จำไว้อีกอย่างว่าไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่โดน คนที่มีแนวโน้มเป็นไซโคพาธจะไม่สนใจความเป็นอยู่ที่ดีของคนอื่น และปฏิบัติกับทุกคนที่พบเจอราวกับเป็นสิ่งของ ย้ำกับตัวเองว่าคุณไม่ใช่คนแรกที่เขาทำไม่ดีใส่
  3. เชื่อสัญชาตญาณตัวเองถ้าคุณสงสัยว่ามันอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดี. รับฟังสัญชาตญาณหากคุณรู้สึกกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรผิดเวลาอยู่ใกล้คนนี้ ถ้าการพูดคุยกับคนๆ นี้ทำให้คุณกลัวลนลาน แสดงว่าถึงเวลาต้องเดินออกมาแล้ว [4]
    • คุณอาจจะยังลังเลเพราะว่าคุณก็ชอบอยู่กับเขาเวลาที่เขาทำตัวน่ารัก แต่ลองถามตัวเองก่อนว่าเขาทำตัวน่ารักเฉพาะเวลาที่คุณทำอะไรให้เขาหรือเปล่า สมมุติว่าเขาขอให้คุณขับรถไปส่งหน่อยแล้วคุณปฏิเสธ ถ้าเขาโมโหร้ายใส่คุณ เขาก็อาจจะน่ารักกับคุณแค่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ
    • จำไว้ว่าคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกกลัวโดยสิ้นเชิง เชื่อสัญชาตญาณตัวเองถ้าคุณรู้สึกว่าคนๆ นี้ดูเหมือนจะโยนความผิดให้คุณอยู่เสมอ โกหกเป็นนิสัย เอาเปรียบคุณ จู่ๆ ก็เกรี้ยวกราด และดูเหมือนจะไม่สนใจสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณเลย
  4. เป็นที่รู้กันดีว่าคนที่เป็นไซโคพาธมักจะขยับและท้าทายขอบเขตอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ขณะที่คุณกำลังก้าวข้ามความสัมพันธ์ เรียนรู้ที่จะกำหนดและปกป้องขอบเขตของตัวเอง หาเวลาเขียนรายการอารมณ์ต่างๆ ออกมา และกำหนดขอบเขตที่จะปกป้องตัวเองไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นถูกครอบงำหรือลดความสำคัญ
    • เช่น คุณอาจจะตกแต่งบ้านใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ตัวเองเลิกเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมเข้ากับคนที่เคยบงการคุณ นอกจากนี้คุณก็อาจจะกำหนดขอบเขตว่า คุณจะไม่ย้ายมาอยู่ด้วยกันหรือเปิดบัญชีธนาคารร่วมกับคนรักใหม่จนกว่าคุณสองคนจะไปพบนักบำบัดคู่สมรสก่อนหนึ่งครั้ง [5]
    • จำไว้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธเสมอ คุณไม่ได้ติดค้างคำอธิบายกับใคร และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใจด้วย
    • คุณต้องกำหนดขอบเขตที่จะปกป้องคุณทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการเงินในอนาคต
  5. ตัดขาดการติดต่อทุกช่องทางเมื่อยุติความสัมพันธ์. วิธีรับมือกับคนที่เป็นไซโคพาธได้ดีที่สุดก็คือ การตีตัวออกห่างจากเขาและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเขา ตัดขาดกันไปเลย แล้วไม่ต้องติดต่อกันอีก แม้จะดูเป็นวิธีที่รุนแรง แต่การยุติความสัมพันธ์นั้นดีต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจและร่างกายของคุณมากที่สุด [6]
    • อย่าเข้าไปดูโปรไฟล์ของเขาในโซเชียลมีเดีย ข่มใจไม่ให้โทรหรือส่งข้อความหาเขา และอย่าทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง ถ้าเขาทำร้ายคุณทางจิตใจ คำพูด หรือการเงิน เขาก็ไม่สมควรอยู่ในชีวิตของคุณ
    • การบอกเลิกไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แต่จงเข้มแข็งและอย่ายอมแพ้ให้กับความรู้สึกผิด ตระหนักว่าคุณไม่ได้ทิ้งเขาในยามลำบาก คุณแค่ปกป้องตัวเอง
    • จำไว้ว่าคุณไม่ได้เป็นที่ปรึกษาหรือนักจิตบำบัด และคุณไม่สามารถบังคับให้เขาเปลี่ยนได้ คนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะปฏิเสธการรักษา [7]
  6. วางแผนความปลอดภัยหากคุณเชื่อว่าเขาอาจจะใช้ความรุนแรง. ถ้าคุณกังวลว่าการยุติความสัมพันธ์อาจนำไปสู่ความรุนแรง คุณอาจจะตัดขาดกับเขาทางโทรศัพท์หรืออีเมล ถ้าคุณอยู่บ้านเดียวกับเขา ขอให้ญาติหรือเพื่อนที่คุณไว้ใจช่วยพาคุณออกจากสถานการณ์นั้นอย่างปลอดภัย [8]
    • จำเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ และถ้าเป็นไปได้ให้ซื้อโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องที่เขาไม่สามารถหยิบไปดูได้ ก่อนออกจากบ้านให้รวบรวมเอกสารสำคัญ และถ้าคุณสามารถทำได้โดยไม่ตกอยู่ในอันตราย ให้โอนเงินและฝากค่าจ้างเข้าบัญชีธนาคารใหม่
    • ปั๊มกุญแจรถแล้วเอาไปซ่อนในที่ปลอดภัย
    • เตรียมตัวไปอยู่กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ถ้าคุณไม่มีเพื่อนหรือญาติที่ไว้ใจได้ในละแวกนั้นเลย คุณก็อาจจะไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว
  7. ขอเอกสารห้ามเข้าใกล้และห้ามติดต่อหากคุณกังวลเรื่องความปลอดภัย. ไปที่ศาลท้องถิ่นและบอกเจ้าหน้าที่ว่าคุณมายื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคำสั่งห้ามเข้าใกล้ และถามวิธีการยื่นคำร้อง โทรศัพท์ไปล่วงหน้าหรือตรวจสอบทางเว็บไซต์เพื่อดูว่าคุณต้องนัดหมายล่วงหน้าหรือไม่ [9]
    • ขอให้เพื่อนหรือญาติที่คุณไว้ใจไปกับคุณเพื่อเป็นกำลังใจ
    • คุณสามารถร้องทุกข์ต่ออัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดเพื่อขอคำร้องให้ศาลสั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้ได้
    • ให้ที่อยู่ที่ทำงานและที่บ้านของคนที่ทำร้ายคุณและเตรียมหลักฐานไปด้วย เช่น บิลค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่าย หรือบันทึกประจำวัน
  8. ลำพังแค่เลิกรากับใครสักคนก็ยากแล้ว แต่การออกจากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนั้นยากยิ่งกว่า ครอบครัวและเพื่อนสามารถช่วยให้คุณผ่านจุดนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นระบายความรู้สึกกับพวกเขาและใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน พวกไซโคพาธจะพยายามแยกเหยื่อให้อยู่โดดเดี่ยว แต่คนที่คุณรักสามารถช่วยให้คุณมองทุกอย่างตามความเป็นจริง และยืนยันได้ว่าการออกมาจากสถานการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว [10]
    • หรือคุณอาจจะค้นหากลุ่มสนับสนุนที่อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทำร้ายจิตใจหรือร่างกายก็ได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

รับมือกับพวกไซโคพาธที่ทำงานหรือที่โรงเรียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พวกไซโคพาธสามารถโกหก บงการ และตลบตะแลงโดยไม่รู้สึกผิดเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการและเลี่ยงความผิด อย่าเชื่อสิ่งที่เขาพูดโดยไม่สงสัย [11]
    • ลองคิดว่าทำไมเขาถึงมาเล่าเรื่อง นินทา หรืออธิบายให้คุณฟัง ถ้าทำได้ให้ตรวจสอบเรื่องราวที่เขาเล่าอีกครั้ง คุยกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน หรือไม่ก็ค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตคร่าวๆ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่เขาบอกคุณ แต่ถ้าไม่สามารถตรวจสอบอีกครั้งได้ ให้เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง
    • สมมุติว่าเขามาเล่าให้คุณฟังว่าเพื่อนร่วมงานพูดถึงคุณลับหลัง ให้ถามตัวเองว่า “แรงจูงใจของเขาคืออะไร เขาจะได้อะไร และข้อมูลนี้ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างไร เขาเอาประโยชน์ของฉันเป็นที่ตั้ง หรือพยายามจะสร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นกันแน่”
  2. ฟังหูไว้หูเวลาที่เขากล่าวชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการอวยกันสุดๆ เพราะลักษณะพื้นฐานของคนที่เป็นไซโคพาธคือมีทักษะการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม มีเสน่ห์ และฉลาดเฉลียว พูดรวมๆ ก็คือการเป็นคนน่ารักแบบผิวเผินคือเทคนิคที่จะทำให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ [12]
    • พยายามมองทะลุเสน่ห์และคำพูดประจบประแจงให้ได้ ลองนึกดูว่าเขาเป็นคนยังไงเวลาที่เขาไม่ได้ใช้เสน่ห์เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ ถามตัวเองว่า “เขาต้องการอะไรจากฉันถึงได้มาประจบฉันแบบนี้”
    • เช่น อย่าเคลิ้มถ้าเขากล่าวชมคุณเสียยกใหญ่ เสร็จแล้วก็มาขอยืมเงินหรือขอให้คุณช่วยเขา บอกเขาไปว่า "ขอโทษนะ แต่ฉันมีนโยบายส่วนตัวว่าไม่ให้เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานยืมเงิน" หรือ "ขอโทษทีนะ แต่ตอนนี้ฉันงานล้นมือ ฉันช่วยเธอทำโปรเจกต์นี้ไม่ได้หรอก"
  3. บอกให้ชัดเจนเลยว่าคุณไม่ขอยุ่งด้วยถ้าเขาพยายามขู่หรือคุกคามคุณ คนที่เป็นไซโคพาธจำเป็นต้องใช้อำนาจทางจิตวิทยาและร่างกายเหนือคนอื่น และเขาจะใช้เสน่ห์ การคุกคาม การบงการ และความรุนแรงในการรักษาอำนาจ การร่วมวงทะเลาะกับเขาอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลายและทำให้เห็นว่า การปะทะกับคุณทำให้เขารู้สึกพอใจ [13]
    • หากคุณคิดว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตราย ให้บอกครูหรือครูแนะแนวถ้าคุณยังเรียนอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน ให้แจ้งฝ่ายบุคคล หรือถ้าบริษัทไม่มีฝ่ายบุคคล ก็ให้แจ้งหัวหน้า
    • ถ้าคุณเป็นครูที่กำลังรับมือกับนักเรียนที่เอาแต่สร้างปัญหา อย่าปล่อยให้เขารอดพ้นจากกฎของโรงเรียนไปได้ แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ได้อยู่เหนือกฎระเบียบ บอกให้เขารู้ว่าผลที่ตามมาคืออะไร และขอความช่วยเหลือจากผู้บริหารเพื่อจัดการกับการละเมิดกฎขั้นร้ายแรง [14]
  4. ถ้าคุณต้องพูดคุยกับพวกไซโคพาธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามตั้งสติให้ดีที่สุด เพราะการแสดงออกว่าคุณไม่พอใจเป็นการทำให้เขารู้ว่าเขามีอำนาจเหนือคุณ ดังนั้นให้พูดกับเขาอย่างให้เกียรติและระงับความรู้สึกไม่พอใจไม่ว่าเขาจะทำให้คุณเจ็บใจแค่ไหนก็ตาม [15]
    • เช่น ถ้าเขาทำอะไรผิดและพยายามโยนความผิดให้คุณ อย่าตอบโต้โดยการตะโกนว่า “เธอโกหก! เธอต่างหากที่เป็นคนทำ!”
    • แต่ให้พูดอย่างมีสติว่า “ฉันเข้าใจนะว่าเธอเชื่อแบบนั้น” ถ้าคนที่มีอำนาจ เช่น หัวหน้าหรือครูอยู่ตรงนั้นด้วย ให้ใช้น้ำเสียงที่แสดงถึงความมีเหตุผล และยกหลักฐานที่พิสูจน์ว่าคุณไม่ผิด
  5. ถ้าคุณไม่สามารถร่วมงานหรือพูดคุยกับคนๆ นี้ได้แล้วจริงๆ ลองดูว่าคุณสามารถย้ายแผนกได้ไหม หรือถ้าจำเป็นก็ให้หางานใหม่ ถ้าคุณเริ่มจะรับมือกับสถานการณ์ในโรงเรียนไม่ไหว ให้ขอความช่วยเหลือจากครู ครูแนะแนว หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ไว้ใจได้ [16]
    • แม้ว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงคนที่มาระรานคุณ แต่มันก็ไม่สามารถทำได้เสมอไป เพราะคุณอาจจะต้องทำงานใกล้ชิดกับเขา หรือไม่เขาก็ตามรังควานคุณที่ทำงานหรือที่โรงเรียนจนได้
    • การขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีอำนาจ การเปลี่ยนงาน หรือการย้ายโรงเรียนอาจเป็นวิธีการที่สุดโต่ง แต่มาตรการเหล่านี้ก็จำเป็นหากคุณตกเป็นเป้าของการถูกทำร้ายด้วยวาจา อารมณ์ หรือร่างกาย
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

รู้สัญญาณของพวกไซโคพาธ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เกณฑ์หลักที่ระบุถึงโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมก็คือ การไม่สนใจกฎ กฎหมาย และบรรทัดฐานทางสังคมโดยทั่วไป คนที่เป็นไซโคพาธเข้าใจแนวคิดเรื่องกฎหรือกฎหมาย เพียงแต่เขาไม่เชื่อว่าตัวเองต้องปฏิบัติตามสิ่งที่สังคมเห็นว่าถูกและผิด [17]
    • จำไว้ว่าคนที่ขโมยขนมหรือฝ่าป้ายหยุดไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นไซโคพาธ เพราะการฝ่าฝืนกฎกับการไม่สนใจกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานอย่างชัดเจนอยู่เสมอโดยไม่รู้สึกผิดนั้นเป็นคนละเรื่องกัน
  2. สังเกตความทะนงตนแบบสุดโต่งหรือความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่า. การไม่สนใจกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมเกิดจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นแบบสุดโต่ง คนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมเชื่อว่าตัวเองอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของสังคม และสามารถหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของตัวเองได้ทุกครั้งหากมันทำให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ เขาจะไม่รู้สึกผิดเมื่อทำผิดกฎหมายหรือบงการคนอื่น [18]
  3. สังเกตพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นและไม่รับผิดชอบ. เนื่องจากว่าคนกลุ่มที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมจะไม่รู้สึกว่าเขาต้องปฏิบัติตามกฎ เขาจึงมีแนวโน้มที่จะทำอะไรเสี่ยงๆ และหุนหันพลันแล่น การติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องธรรมดา คนที่เป็นไซโคพาธจะไม่ค่อยคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ และอาจจะตอบโต้อย่างรวดเร็วว่า “ฉันทำแบบนั้นเพราะฉันอยากทำ” [19]
    • จำไว้ว่าการออกไปสนุกสุดเหวี่ยงยามค่ำคืนในเมืองหรือออกไปขับรถเล่นไม่ได้เป็นลักษณะของคนที่เป็นไซโคพาธ โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมเป็นกลุ่มรูปแบบพฤติกรรมที่มีความซับซ้อน มีแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการฝึกอบรมด้านจิตวิทยาอปกติและมีประสบการณ์กับโรคไซโคพาธเท่านั้นที่จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ
  4. สังเกตสัญญาณของการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติและการครอบงำทางอารมณ์. การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติก็คือ กระบวนการที่เพื่อนหรือคนรักทำให้คุณเชื่อว่า ความคิดและการรับรู้ของคุณนั้นผิด สัญญาณที่ว่าได้แก่การสงสัยในตัวเอง รู้สึกอยากขอโทษตลอดเวลา รับผิดแทนเป็นประจำ และแก้ตัวให้เพื่อนหรือคนรักอยู่เสมอ [20]
    • สัญชาตญาณอาจบอกว่ามีบางอย่างผิดปกติหรือคุณรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังจะเสียสติ ถ้าคุณเชื่อว่าเขาทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเป็นบ้าหรือถูกครอบงำทางอารมณ์ การขอความช่วยเหลือจากคนที่คุณรักหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยให้คุณกลับมามองโลกตามความเป็นจริงได้อีกครั้ง
    • พวกไซโคพาธจะครอบงำอารมณ์เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการและรักษาอำนาจเหนือผู้อื่น เพราะมันทำให้เขารู้สึกดีหรือทำเหมือนว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ [21]
  5. สภาพแวดล้อมที่เปราะบางได้แก่ สถานการณ์ใดๆ ก็ตามที่เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยวหรือกำลังมองหาความตื่นเต้นหรือคนอยู่เป็นเพื่อน เช่น สนามบินในต่างประเทศ บาร์คนโสด และเว็บไซต์หรือแอปฯ หาคู่ [22]
    • การระมัดระวังตัวเองไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรู้สึกระแวงในทุกสถานการณ์ทางสังคม แต่มันคือการสังเกตสัญญาณและรับฟังสัญชาตญาณของตัวเองมากกว่า ถ้ามีใครทำให้คุณรู้สึกไม่ดี ให้ออกจากสถานการณ์นั้นไปยังพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีแสงสว่าง
    • บอกเพื่อนว่าคุณจะไปที่ไหนก่อนไปเดตกับใคร อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้าและอย่าให้เขายืมเงินหรือเข้าถึงของมีค่า
    • ขณะที่ความสัมพันธ์ดำเนินไป ให้มองการโกหก การผิดสัญญา หรือการละเลยต่อความรับผิดชอบว่าอาจเป็นการเข้าใจผิด เริ่มสงสัยเมื่อเจอรอบ 2 และตัดสัมพันธ์เมื่อมีครั้งที่ 3 [23]
  6. เข้าใจว่าโรคไซโคพาธคือความผิดปกติ ไม่ใช่การตัดสินทางจริยธรรม. ถ้าเขาเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม พฤติกรรมของเขาก็อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ และการพูดคุยกับเขาก็อาจจะทำให้คุณเหลืออด แต่โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมหรือโรคไซโคพาธนั้นไม่ได้ “ชั่วร้าย” หรือ “เลวทราม” แต่เป็นคำที่ใช้ในวงการจิตวิทยาที่อธิบายถึงความผิดปกติด้านสุขภาพจิต [24]
    • แม้ว่าคุณจะต้องแยกแยะระหว่างคำเฉพาะในทางจิตวิทยาและการตัดสินทางจริยธรรม แต่ให้จำไว้เสมอว่าคุณไม่จำเป็นต้องคบหากับคนที่ข่มเหงหรือทำร้ายคุณ
    • ภาวะทางสุขภาพจิตไม่ได้เป็นข้ออ้างให้กับพฤติกรรมของคนอื่นได้เสมอไป แม้ว่าระดับความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองในคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมจะเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรคุณก็ไม่จำเป็นต้องทนกับการถูกรังแก
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • การรับมือกับเพื่อนหรือญาติที่ป่วยทางจิตขั้นรุนแรงไม่ใช่เรื่องง่าย นักจิตบำบัดสามารถช่วยให้คุณเข้าใจอาการป่วยและให้วิธีการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายได้ [25]
  • ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมจะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง แต่การระเบิดความก้าวร้าวและพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นเป็นลักษณะของความผิดปกติอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นคุณจึงไม่ควรมองความรุนแรงและการทำร้ายด้วยวาจาหรืออารมณ์ว่าเป็นเรื่องเล่นๆ [26]
  • ประชากร 3% อาจเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ คนที่เป็นไซโคพาธมีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพสูงกว่า และระเบิดความรุนแรงหรือความไม่อยู่กับร่องกับรอยน้อยกว่าคนที่เป็นโซซิโอพาธ [27]
โฆษณา
  1. https://www.psychologytoday.com/us/articles/199401/charming-psychopath
  2. https://www.forbes.com/sites/amymorin/2017/07/05/how-to-deal-with-a-workplace-psychopath/#688b91d76793
  3. https://www.inc.com/marla-tabaka/16-signs-you-re-working-with-a-sociopath-and-how-to-protect-yourself.html
  4. https://www.psychologytoday.com/us/articles/199401/charming-psychopath
  5. http://www.northwestms.edu/library/Library/Web/magna_wp7.pdf
  6. https://www.forbes.com/sites/amymorin/2017/07/05/how-to-deal-with-a-workplace-psychopath/#688b91d76793
  7. https://www.forbes.com/sites/amymorin/2017/07/05/how-to-deal-with-a-workplace-psychopath/#688b91d76793
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0015230/
  9. https://leb.fbi.gov/articles/featured-articles/psychopathy-an-important-forensic-concept-for-the-21st-century
  10. https://leb.fbi.gov/articles/featured-articles/psychopathy-an-important-forensic-concept-for-the-21st-century
  11. http://www.thehotline.org/2014/05/29/what-is-gaslighting/
  12. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0015230/
  13. https://www.psychologytoday.com/us/articles/199401/charming-psychopath
  14. https://www.inc.com/marla-tabaka/16-signs-you-re-working-with-a-sociopath-and-how-to-protect-yourself.html
  15. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0015230/
  16. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/antisocial-personality-disorder/diagnosis-treatment/drc-20353934
  17. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0015247/
  18. https://psychcentral.com/blog/differences-between-a-psychopath-vs-sociopath/

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,052 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา