ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
บทความวิกิฮาวนี้จะแนะนำวิธีการยกระดับความปลอดภัยให้แก่บัญชีผู้ใช้ อุปกรณ์พกพา Firewall คอมพิวเตอร์ และข้อมูลในเครือข่ายให้คุณเอง
ขั้นตอน
-
ตั้งรหัสผ่านยากๆ. รหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้ในแอพหรือเว็บต่างๆ ต้องผสมกันระหว่างตัวเลข ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็ก และอักขระพิเศษ ให้ยากต่อการคาดเดา
- อย่าใช้รหัสผ่านเดียวทุกบัญชี จะได้กระจายความเสี่ยง เผื่อบัญชีไหนถูกแฮกไป [1] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
ใช้ password manager. เอาไว้เก็บและใส่รหัสผ่านของบัญชีต่างๆ อัตโนมัติ คราวนี้อยากตั้งรหัสผ่านโหดหินแค่ไหนก็ตามสะดวก เพราะไม่ต้องมานั่งกรอกรหัสผ่านทุกครั้งไป ถึงคุณเองควรจะจำรหัสผ่านของแต่ละบัญชีไว้บ้าง แต่ password manager จะช่วยให้อุปกรณ์ของคุณปลอดภัยขึ้นอีกระดับแน่นอน
- password manager ที่คนนิยมใช้กันก็เช่น "Dashlane 4", "LastPass 4.0 Premium", "Sticky Password Premium" และ "LogMeOnce Ultimate"
- เบราว์เซอร์ส่วนใหญ่จะมี password manager ในตัว ใช้เก็บและใส่รหัสผ่านให้คุณอัตโนมัติ
-
ห้ามบอกรหัสผ่านคนอื่น. อันนี้ใครๆ ก็รู้ แต่ขอเตือนอีกครั้งเพื่อความชัวร์ ถ้าไม่ใช่คอมโรงเรียนละก็ อย่าไปเชื่อถ้าแอดมินของเว็บไหนถามรหัสผ่านของคุณเวลาขอความช่วยเหลือ [2] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- รวมถึงเจ้าหน้าที่แผนก IT และเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่วยเหลือของ Microsoft กับ Apple ด้วย
- นอกจากนี้ที่ห้ามบอกคนอื่นอีกอย่างคือ PIN หรือ passcode ของมือถือหรือแท็บเล็ต ถ้าเผลอบอกเพื่อนไป ระวังเพื่อนเผลอไปบอกคนอื่นอีกทีจะยุ่ง
- ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องบอกรหัสผ่านกับคนอื่นจริงๆ ให้รีบเปลี่ยนทันทีที่ใครคนนั้นเสร็จธุระกับบัญชีของคุณ
-
เปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ. นอกจากห้ามบอกรหัสผ่านกับใครแล้ว ยังต้องเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นประจำ อย่างน้อยทุก 6 เดือน
- อย่าใช้รหัสผ่านเดิมซ้ำสอง (เช่น รหัสผ่าน Facebook ก็ต้องเป็นคนละอันกับรหัสผ่านบัญชีธนาคาร เป็นต้น)
- ตอนเปลี่ยนรหัสผ่านต้องให้ไม่เหลือเค้าเดิม อย่าเปลี่ยนแค่บางตัวเลขหรือตัวอักษร
-
เลือกยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน. two-factor identification คือนอกจากใส่ username กับรหัสผ่านแล้ว ต้องใส่โค้ดที่ได้ทาง SMS หรือช่องทางอื่นๆ ด้วย ถึงจะล็อกอินเข้าบัญชีได้ ทำให้แฮกข้อมูลยากขึ้นอีก ถึงรู้รหัสผ่านแล้วก็เข้าถึงบัญชีไม่ได้
- เว็บดังๆ และโซเชียลมีเดียที่คนนิยมใช้กันส่วนใหญ่ จะมี two-factor authentication ให้เลือกใช้ ยังไงลองเข้า settings ของบัญชีดู ว่าจะเปิดฟีเจอร์นี้ได้ตรงไหน
- ใครมีบัญชี Google ก็ทำได้
- แอพดังๆ นอกจากส่งโค้ดทาง SMS แล้ว ยังมี Google Authenticator และ Microsoft Authenticator ให้ใช้กันด้วย
-
หลีกเลี่ยงการใช้คำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามเพื่อความปลอดภัย. เวลาตั้งคำถามเพื่อความปลอดภัย อย่าตอบด้วยคำตอบที่ถูกต้อง แฮคเกอร์สามารถหานามสกุลก่อนแต่งงานของแม่คุณหรือถนนที่คุณเกิดได้อย่างง่ายดาย ให้ตอบผิดๆ เสีย หรือเข้าท่ากว่านั้นให้ตอบแบบรหัสไปเลย โดยไม่เกี่ยวกับคำถามอย่างสิ้นเชิง
- เช่น สำหรับคำถามเพื่อความปลอดภัยที่ว่า "นามสกุลก่อนแต่งงานของแม่คุณคืออะไร?" ให้ตอบไปว่า "สัปปะรด"
- จะดีขึ้นไปอีก ถ้าคุณสุ่มเลือกตัวเลข ตัวอักษร และสัญลักษณ์มารวมกัน อย่าง "Ig690HT7@"
- คุณอาจต้องจดคำตอบสำหรับคำถามเพื่อความปลอดภัยและเก็บในที่ปลอดภัย เพื่อจะสามารถกู้บัญชีเวลาลืมคำตอบได้
- เช่น สำหรับคำถามเพื่อความปลอดภัยที่ว่า "นามสกุลก่อนแต่งงานของแม่คุณคืออะไร?" ให้ตอบไปว่า "สัปปะรด"
-
อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว (privacy policy) ให้ดี. เว็บไหนที่ให้คุณกรอกข้อมูล ต้องมี privacy policy ที่บอกรายละเอียดว่าจะเอาข้อมูลนั้นไปใช้อย่างไร และจะเอาไปเผยแพร่ต่อให้ใครหรือเปล่า [3] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- คนส่วนใหญ่จะคลิกผ่านไปโดยไม่เสียเวลาอ่าน privacy policy ก็ "ยาววววววว" ซะขนาดนั้น แต่บอกเลยว่าลองอ่านผ่านๆ ดูสักนิด อย่างน้อยก็ให้รู้ว่าเขาเอาข้อมูลเราไปทำอะไร ถือว่าทำเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
- ถ้ามีข้อมูลไหนใน privacy policy ที่คุณไม่เห็นด้วย หรือไม่สบายใจ คงต้องใช้วิจารณญาณ ว่าจะแชร์ข้อมูลให้เว็บนั้นหรือเปล่า
-
ลงชื่อออกจากบัญชีหลังใช้งานเสร็จ. แค่ปิดหน้าต่างเบราว์เซอร์บางทีก็ไม่พอ เพราะงั้นต้องคลิก (หรือแตะ) ที่ชื่อบัญชีตัวเอง แล้วเลือก Log Out (หรือบางเว็บก็เป็น Sign Out ) ทุกครั้ง เพื่อลงชื่อออกจากบัญชีนั้น ไม่ให้ข้อมูลล็อกอินของคุณค้างอยู่
-
ต้องเช็คให้ดีว่าเป็นเว็บจริง แล้วค่อยใส่รหัสผ่าน. พวก phishing scams หรือมิจฉาชีพ มักปลอมหน้าล็อกอินของโซเชียลมีเดียหรือธนาคาร วิธีนี้แหละที่คนโดนแฮกกันบ่อยๆ ถ้าอยากจับผิดเว็บปลอม ต้องรู้จักสังเกต URL ถ้าเหมือนจะใช่ (แต่ไม่ใช่) URL ของเว็บนั้น (เช่น "Faecbook" แทน "Facebook") แสดงว่ามิจฉาชีพแน่นอน [4] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ต้องล็อกอินกับเว็บจริงเท่านั้น เช่น พิมพ์ url ของเว็บ Twitter เอง แล้วค่อยล็อกอิน อย่าเข้าจากลิงค์อื่น โดยเฉพาะที่ส่งมาในอีเมล ที่สำคัญห้ามล็อกอินตามเว็บที่บอกให้กรอกข้อมูลก่อนแล้วถึงจะแชร์บทความหรือดาวน์โหลดไฟล์ได้
- แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น มหาวิทยาลัยที่ใช้อีเมลของเว็บอื่น (เช่น Gmail) ในหน้า home ของตัวเอง
โฆษณา
-
เปลี่ยน passcode ของมือถือบ่อยๆ. รหัสผ่านที่แข็งแรงแน่นหนาและการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่บ่อยๆ นี่แหละด่านแรกที่สำคัญในการป้องกันคนเข้าถึงหรือขโมยข้อมูลของคุณ
- ต้องเปลี่ยน passcode ไปเลย อย่าเปลี่ยนแค่เลขหลักเดียว
- ในมือถือส่วนใหญ่คุณเลือกใช้ "complex" หรือ "advanced" password ได้ แบบนี้จะมีตัวอักษรกับอักขระพิเศษเข้ามาผสมด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ Touch ID หรือพวกที่ใช้ลายนิ้วมือพิสูจน์ตัวตน แม้จะดูน่าปลอดภัยกว่า passcode แต่จริงแล้วมันแฮกได้ง่ายกว่าเพราะแฮคเกอร์สามารถจำลองลายนิ้่วมือของคุณด้วยพรินเตอร์ [5] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ลายนิ่้วมือก็ไม่ได้รับการคุ้มกันจากบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อที่ 5 ในขณะที่ passcodes ได้รับ [6] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
อัพเดทระบบปฏิบัติการและแอพต่างๆ เรื่อยๆ. ไม่ว่าจะแอพ Facebook ในมือถือหรือระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ ถ้ามีอัพเดทใหม่เมื่อไหร่ให้รีบทำ
- อัพเดทส่วนใหญ่จะเป็น patch ใหม่ไว้แก้บั๊กและอุดช่องโหว่เพื่อความปลอดภัย ถ้าไม่อัพเดท ไวรัสหรือแฮกเกอร์จะอาศัยช่องโหว่พวกนี้ เจาะระบบเข้ามาขโมยข้อมูลของคุณได้
- ถ้ามีตัวเลือกให้ดาวน์โหลดอัพเดททั้งหมดอัตโนมัติ ก็ใช้ฟีเจอร์นั้นเลย จะได้ไม่เสียเวลามานั่งอัพเดทที่ละอย่าง
-
ชาร์จมือถือกับพอร์ท USB ที่ปลอดภัย. ทั้งพอร์ทที่คอมและในรถ (ถ้ามี) ระวังพอร์ท USB สาธารณะ เช่น ตามร้านกาแฟ ห้าง หรือสนามบิน พวกนี้เสี่ยงข้อมูลรั่วไหลมาก
- เพราะแบบนี้นอกจากสายชาร์จแล้วคุณจึงควรนำพาวเวอร์แบงค์หรือปลั๊กไปเองด้วยเวลาเดินทาง
-
อย่า jailbreak (หรือ root) มือถือ หรือดาวน์โหลดแอพนอก store. ทั้ง iPhone และ Android จะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ bypass ผ่านไปได้ด้วยการ jailbreak (iPhone) หรือ root (Android) แต่พอทำแล้วก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้มือถือโดนแฮกข้อมูลหรือติดไวรัส ทั้งที่แต่ก่อนแทบเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้การดาวน์โหลดแอพจากแหล่งอื่นที่ไม่น่าเชื่อถือ (แอพ "side-load") ก็ทำให้อุปกรณ์คุณเสี่ยงติด malware เช่นกัน
- มือถือ Android จะมี security suite ในตัว ป้องกันไม่ให้คุณไปดาวน์โหลดแอพจากแหล่งอื่น ถ้าไปปิดตัวเลือกนี้ (ใน tab Security ของ Settings) ก็ต้องระวังเองเวลาจะไปดาวน์โหลดมาจากเว็บไหน
โฆษณา
-
เข้ารหัสฮาร์ดไดรฟ์. ถ้าเข้ารหัสฮาร์ดไดรฟ์แล้ว แฮกเกอร์จะไม่มีโอกาสเปิดดูข้อมูลในคอมเลยถึงจะเข้าถึงได้แล้วก็เถอะ ถ้าวิธีอื่นช่วยป้องกันไม่ให้ใครเจาะเข้าคอมได้ การเข้ารหัสก็เป็นการปกป้องอีกชั้นไม่ให้เขาเปิดดูข้อมูลได้
- Mac - FileVault ใช้เข้ารหัสข้อมูลใน Mac เปิดได้โดยคลิกไอคอน Apple ที่มุมซ้ายบนของหน้าจอ คลิก System Preferences คลิกไอคอน Security & Privacy คลิก tab FileVault แล้วคลิก Turn On FileVault อาจจะต้องคลิกไอคอนรูปแม่กุญแจก่อน ถึงค่อยป้อนรหัสผ่านแอดมินของ Mac [7] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- Windows - ตามค่า default Windows จะใช้ BitLocker ในการเข้ารหัสข้อมูล คุณเปิดได้โดยพิมพ์ "bitlocker" ในแถบค้นหาของ Start คลิก "Bitlocker Drive Encryption" แล้วคลิก Turn on BitLocker ถ้าเป็น Windows 10 Home จะยังใช้ BitLocker ไม่ได้ จนกว่าจะอัพเกรดเป็น Windows 10 Pro ก่อน
-
ติดตั้งอัพเดทใหม่ทันทีที่มี. นอกจากอัพเกรดแล้ว การติดตั้งอัพเดทใหม่ของระบบเรื่อยๆ ก็ช่วยให้คอมปลอดภัยยิ่งขึ้น [8] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
backup ข้อมูลบ่อยๆ. ถึงจะป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายก็ใช่จะไม่มีโอกาสที่ข้อมูลจะรั่วไหล ทั้งด้วยการแฮก หรือคอมเสียจนกู้ข้อมูลคืนไม่ได้ เพราะงั้นให้หมั่น backup ข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เสียข้อมูลไหนไป
- คุณ backup ข้อมูลเข้าเว็บในระบบ cloud ก็ได้ แต่ต้องอ่านเงื่อนไขการใช้งานดีๆ ก่อนเลือกใช้ แน่นอนว่าหลายคนเลือกที่ราคาถูก แต่จริงๆ ต้องพิจารณาเว็บที่ข้อมูลจะปลอดภัยที่สุด
- หรือใช้ external hard drive แบบเข้ารหัส backup ข้อมูลไว้ โดยกำหนดให้คอม backup อัตโนมัติทุกวัน ในช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน
-
อย่าคลิกลิงก์ที่ไม่รู้แน่ว่าคืออะไร และไม่ตอบอีเมลคนแปลกหน้า. ถ้าอยู่ๆ ได้อีเมลไม่พึงประสงค์ หรืออีเมลจากผู้ส่งที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ถือว่าเสี่ยงถูกแฮกมาก ห้ามคลิกลิงก์ไหนหรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้ส่งอีเมลนั้นเด็ดขาด
- แค่ตอบอีเมลก็เท่ากับบอกให้ผู้ส่งรู้แล้วว่าคุณยังใช้อีเมลนี้อยู่ เป็นอีเมลถูกต้อง มีเจ้าของ ถึงจะบอกว่าอีเมลไป "ด่า" แต่บอกเลยว่ามิจฉาชีพพวกนี้จะมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว คุณอาจเผลอคุยต่อไปจนเผยเรื่องส่วนตัวที่เขาใช้มาแฮกคุณได้
-
ติดตั้งหรือเปิด firewall. ทั้ง Windows และ Mac จะมี firewall ให้ใช้กันอยู่แล้ว เอาไว้ป้องกันไม่ให้ใครแฮกเข้าเครื่องคุณ แต่ปกติค่า default ของคอมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเปิด firewall ไว้
- เข้า security settings ของคอม แล้วมองหา "firewall" settings จากนั้นเปิดใช้งาน ให้แน่ใจว่าจะบล็อกการเชื่อมต่อที่คุณไม่อนุญาต
- ถ้ามีสัญญาณ Wi-Fi (wireless network) เราเตอร์ก็ต้องใช้ firewall ด้วย
-
เปิด firmware password. ถ้าคอมเปิดฟีเจอร์นี้ไว้ ผู้ใช้ก็ต้องใส่รหัสผ่านก่อนรีบูทจาก disk หรือเข้า single-user mode ซึ่งแฮกเกอร์จะข้าม firmware password นี้ไปไม่ได้ เว้นแต่มีเครื่องคอมที่คุณใช้อยู่จริงๆ จุดสำคัญคือคุณอย่าลืมรหัสผ่านนี้ซะเอง เพราะบอกเลยว่ารีเซ็ตยากมาก วิธีตั้ง firmware password ก็คือ
- Mac - รีสตาร์ท แล้วกด ⌘ Command กับ R ค้างไว้ตอนบูทเครื่อง คลิก Utilities คลิก Firmware Password Utility คลิก Turn On Firmware Password แล้วตั้งรหัสผ่าน
- Windows - รีสตาร์ท แล้วกดปุ่ม BIOS ค้างไว้ (ปกติคือ Esc , F1 , F2 , F8 , F10 หรือ Del ) ตอนคอมกำลังบูท จากนั้นกดปุ่มลูกศรเพื่อเลือกตัวเลือกรหัสผ่าน จากนั้นตั้งรหัสผ่าน
-
ปิด remote access. อาจมีเหตุให้คุณต้องเข้าใช้งานคอมจากระยะไกล หรือให้ช่างเข้าใช้งานเพื่อช่วยซ่อมคอมบ้าง แต่ปกติขอให้ปิดไว้ตามค่า default แล้วเปิดเฉพาะช่วงสั้นๆ ที่ต้องใช้จริงๆ
- ถ้าเปิด remote access ไว้ตลอด ก็เท่ากับเปิดประตูให้แฮกเกอร์เข้ามาค้นและขโมยข้อมูลตามสะดวก ยังไงอย่างงั้นเลย
-
ติดตั้งโปรแกรม antivirus ในคอม. เพราะจะคอยสแกนดักจับและกำจัดไฟล์และโปรแกรมที่อาจเป็นอันตรายได้ทันทีที่ดาวน์โหลด Windows Defender นี่แหละแนะนำสำหรับคนใช้ PC ปกติจะมาพร้อมกับ Windows 10 อยู่แล้ว ส่วน Mac แนะนำ AVG หรือ McAfee นอกจาก Gatekeeper ที่เป็นโปรแกรมตามค่า default อยู่แล้ว [9] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- นอกจากนี้ต้องเช็คให้แน่ใจว่าโปรแกรม firewall และฟังก์ชั่น Bluetooth ของคอมจะอนุญาตเฉพาะการเชื่อมต่อที่รู้จักและปลอดภัยเท่านั้น
โฆษณา
-
ต่อเน็ตเฉพาะสัญญาณที่ปลอดภัย. พูดง่ายๆ ก็คือสัญญาณเน็ตที่ต้องกรอกรหัสผ่านก่อนถึงจะเชื่อมต่อและใช้งานได้ ในบางสถานที่ (เช่น สนามบินหรือร้านกาแฟ) คุณจะได้รหัสผ่านก็ต่อเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการ
- ถ้าสัญญาณ Wi-Fi เป็นแบบไม่ต้องใส่รหัสผ่าน คอมจะบอกก่อนเชื่อมต่อ ในบางระบบปฏิบัติการจะมีเครื่องหมายตกใจขึ้นเด่นเป็นสง่าข้างชื่อสัญญาณเลย
- ถ้าต้องใช้เน็ตแต่ไม่มีสัญญาณแบบเข้ารหัส ให้เปลี่ยนรหัสผ่านต่างๆ ทันทีหลังต่อเน็ตแบบเข้ารหัส
- ถ้าที่บ้านมี Wi-Fi ต้องแน่ใจว่าเป็นแบบเข้ารหัส มีการรักษาความปลอดภัย บอกเลยว่าตอนซื้อมา เราเตอร์จะยังไม่มีการเข้ารหัส ต้องตั้งเองทีหลัง
เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ชิอาร่า คอร์ซาโรเป็นผู้จัดการทั่วไปและช่างซ่อม Mac & iOS ที่ได้ใบรับรองจาก Apple ให้กับ macVolks, Inc. ตัวแทนของ Apple ในซานฟรานซิสโก macVolks, Inc. ตั้งขึ้นในปี 1990 ได้รับการให้เครดิตจาก Better Business Bureau (BBB) ด้วยเรท A+ และเป็นส่วนหนึ่งของ the Apple Consultants Network (ACN)ผู้เชี่ยวชาญของเราเห็นด้วย: ถ้าจะให้คอมพิวเตอร์ปลอดภัย ให้แน่ใจว่าได้เชื่อมเครือข่ายที่ปลอดภัยเสมอเวลาใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เครือข่ายสาธารณะ นั่นเป๋นสาเหตุที่จะโดนล้วงข้อมูลได้มากที่สุด
-
ดาวน์โหลดโปรแกรมจาก เว็บดังที่เชื่อถือได้เท่านั้น . ห้ามดาวน์โหลดตอนที่เชื่อมต่อแบบไม่เข้ารหัสด้วย ถ้าเว็บไหนไม่มีไอคอนรูปแม่กุญแจทางซ้ายของ URL กับ "HTTPS" หน้า "www" ใน URL ก็อย่าเข้า (หรือดาวน์โหลดอะไร) เลยดีกว่า
-
รู้จักแยกเว็บปลอม. นอกจากไม่เข้าเว็บที่ไม่มี "HTTPS" กับไอคอนแม่กุญแจหน้า URL แล้ว ต้องเช็คซ้ำด้วยว่า URL ของเว็บถูกต้องหรือยัง แล้วค่อยกรอกรหัสผ่าน บางเว็บจะปลอมเป็นเว็บดังเพื่อขโมยข้อมูลล็อกอินของคุณ (ก็คือ phishing scam) คุณจับสังเกตได้ว่ามักมีตัวอักษรเกินมา (หรือขาดหายไป) มีขีดกลางระหว่างคำ หรือสัญลักษณ์พิเศษ
- เช่น เว็บปลอมของ Facebook จะใช้ URL faceboook.com แทน
- เว็บที่มีขีดกลางระหว่างชื่อเว็บแต่ละคำ (ชื่อเว็บจะอยู่ระหว่าง "www" กับ ".com") ก็น่าสงสัยเหมือนกัน
-
อย่าใช้เว็บแชร์ไฟล์. เว็บแชร์ไฟล์ส่วนใหญ่มักโฮสต์ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ แถมเต็มไปด้วยแฮกเกอร์ คุณอาจจะคิดว่าคุณกำลังดาวน์โหลดเพลงล่ามาแรงหรือหนังใหม่ชนโรง แต่จริงๆ แล้วกลายเป็นไฟล์ไวรัสหรือ malware แทน
- ไฟล์พวกนี้มักมีไวรัสหรือ malware สอดไส้อยู่แบบที่โปรแกรม anti-virus สแกนไม่เจอ และไวรัสจะยังไม่แพร่เข้าระบบคุณจนกว่าคุณจะเปิดไฟล์ต้นเหตุนั่นแหละ
-
ซื้อของออนไลน์เฉพาะเว็บที่ปลอดภัย. อย่าไปกรอกเลขบัญชีหรือเลขและรหัสบัตรเครดิตในเว็บที่ไม่มี "https://" นำหน้า "www" ใน address ตัว "s" นั่นแหละที่บอกว่าเว็บนั้นปลอดภัย ถ้าไม่มีแปลว่าเว็บนั้นไม่ได้เข้ารหัสปกป้องข้อมูลไว้
-
อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย. คุณอาจจะคิดว่าไม่เห็นเป็นไร มีแต่เพื่อนกันทั้งนั้น แต่ถ้าคิดอะไรก็โพสต์หมด คนใน Facebook รู้ทั้งเรื่องส่วนตัวและชีวิตประจำวันของคุณ ก็เท่ากับเปิดช่องให้คนมาแฮกดีๆ นี่เอง เพราะงั้นข้อมูลสำคัญหรือเรื่องส่วนตัว เก็บไว้บอกคนที่จำเป็นต้องรู้จริงๆ ดีกว่าแชร์ลงโซเชียลตลอดเวลา [10] X แหล่งข้อมูลอ้างอิงโฆษณา
เคล็ดลับ
- firewall และโปรแกรม anti-virus มีให้ดาวน์โหลดได้ในเน็ต ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน
- อย่าตั้งรหัสผ่านเหมือนกับ username หรืออีเมล
โฆษณา
คำเตือน
- สรุปแล้วถ้ากลัวใครจะแฮกหรือกลัวข้อมูลรั่วไหลเอามากๆ ในยุคสมัยที่โลกจริงแทบจะแยกกันไม่ออกกับโลกออนไลน์แบบนี้ คงมีแต่เลิกใช้เทคโนโลยีหรือเลิกใช้เน็ตไปเลยเท่านั้น
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ https://techsolidarity.org/resources/basic_security.htm
- ↑ https://answers.stanford.edu/solution/why-should-i-change-my-password
- ↑ https://us.norton.com/cybercrime-prevention
- ↑ https://home.mcafee.com/advicecenter/?id=ad_ost_tohtpyo&ctst=1
- ↑ https://nakedsecurity.sophos.com/2016/03/08/your-smartphone-fingerprint-reader-could-be-hacked-using-paper-and-ink/
- ↑ https://www.inc.com/will-yakowicz/why-biometrics-are-bad-for-your-constitutional-rights.html
- ↑ https://support.apple.com/en-us/HT204837
- ↑ https://decentsecurity.com/#/securing-your-computer/
- ↑ https://support.apple.com/en-us/HT202491
เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้
มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,511 ครั้ง
โฆษณา