ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

คุณอาจจะแสดงโชว์สุดมันส์เวลาอาบน้ำหรือขับรถคนเดียว แต่จะรู้ได้ยังไง ว่าจริงๆ แล้วคุณร้องเพลงเพราะหรือเปล่า? คุณอาจจะไม่กล้าร้องเพลงถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองเสียงดีแค่ไหน โชคดีที่คุณประเมินเสียงร้องของตัวเองได้ง่ายๆ แค่หัดฟังตัวเองให้ถูกวิธี บวกกับความเห็นอันเป็นประโยชน์ของคนอื่นๆ รอบตัว

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ประเมินตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โพรงไซนัสของคุณคือตัวการว่าทำไมเสียงของเราที่คนอื่นได้ยินถึงช่างแตกต่างกันนักกับเสียงในหัวของเราเอง แปลว่าถ้าคุณอยากรู้ว่าคนอื่นได้ยินเสียงคุณเป็นยังไง ก็ต้องอัดเสียงมาเปิดฟัง [1] นี่แหละวิธีฟังว่าเสียงคุณเพราะไหมแบบง่ายๆ เร็วๆ และไม่ต้องอายใคร
    • ไม่ต้องถึงกับใช้ไมค์หรือเครื่องอัดเสียงแพงๆ ก็รู้ได้ว่าตัวเองร้องเพลงเพราะหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทั้งหลายก็มีไมโครโฟนกับฟังก์ชั่นอัดเสียงในตัวอยู่แล้ว หรือจะใช้วิธีดั้งเดิมอย่างการอัดเสียงลงเทป หรือโบราณไปกว่านั้นอย่างการโทรไปพูดใส่เครื่องตอบรับอัตโนมัติของชาวบ้านก็ได้
    • ถ้ากลัว ไม่อยากร้องเพลงต่อหน้าคนอื่น ก็ตัดปัญหาได้ด้วยวิธีนี้เลย เพราะเราอัดเสียงเองฟังเองไง ร้องไปเลยให้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์
  2. อย่าหลงผิดคิดเอาการ audition ตามรายการประกวดต่างๆ อย่าง AF หรือ The Star ที่ร้องสดปากเปล่ามาเป็นตัวอย่าง (ร้องแบบไม่มีดนตรีประกอบน่ะ) เพราะไม่ใช่วิธีที่ดีในการทดสอบเสียงร้องของตัวเองเลย คุณควรหา backing track อย่างพวกคลิปคาราโอเกะตาม Youtube มาเป็นแนวทางว่าคุณร้องได้ตรงตามทำนอง ตามโน้ตหรือเปล่า
    • หรือจะหา MIDI ของเพลงป็อปหรือเพลงอมตะต่างๆ จากในเน็ตมาร้องก็ง่ายแถมฟรี ถึงจะไม่ใช่เพลงที่กำลังฮิตติดชาร์ต แต่อย่างน้อยก็มีอะไรให้ได้ร้องตามบ้าง ถ้าใครมีคีย์บอร์ดพวก Casio เขาก็จะมีพวกนี้แถมมาในเครื่องอยู่แล้ว หรือตามอัลบั้มและซิงเกิลต่างๆ บางทีก็มีเพลงเวอร์ชั่นที่มีแต่ดนตรีมาด้วยเหมือนกัน
  3. พอเลือกเพลงเตรียมเครื่องอัดเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็ให้หาที่ลับตาคนแล้วลองร้องเพลงดู แบบนี้จะได้ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีใครมาแอบฟังแล้ววิพากษ์วิจารณ์ เตรียมเปิดเพลงแล้วกดอัดเลย
    • ถ้ามีห้องใต้ดิน หรือโรงรถ ให้ดอดไปแอบใช้ ไม่ก็รอจนกว่าจะมีเวลาอยู่คนเดียว หรือจะแอบไปนั่งร้องแล้วอัดเสียงในรถก็ได้ไม่ว่ากัน
    • บอกก่อนว่าไม่ต้องให้เป๊ะเหมือนนักร้องอัดแผ่นเตรียมขาย นี่เราแค่จะลองทดสอบดูเท่านั้นว่าคุณร้องเพลงเป็นยังไง ผิดๆ ถูกๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณภาพเสียงดีไม่ดีก็ช่างมันเถอะ
  4. ร้องเก่งร้องดีไม่จำเป็นต้องแอดลิปลูกคอ 8 ชั้นเหมือนขุ่นแม่ Mariah Carey ถ้าทำไม่ได้เหมือนเขาก็ไม่เป็นไรไม่ต้องทำ ขอแบบเรียบๆ แต่ไม่เพี้ยนดีกว่า อย่าเพิ่งลงลูกเล่นเหาะเหินเดินอากาศอะไร แค่ร้องไปตามนั้น เอาที่เป็นธรรมชาติ ร้องแล้วสบายใจสบายคอ
  5. ถึงเวลายอมรับความจริง! พออัดเสียงเสร็จแล้วให้ทำใจก่อนกด play ฟังสิว่าคุณร้องไหลลื่นแค่ไหน เพี้ยนไหม ตรงจังหวะและตรงโน้ตหรือเปล่า
    • ฟังหลายๆ รอบ หลายๆ ที่ อย่างตอนแรกลองเปิดฟังผ่านลำโพงคอมห่วยๆ แล้วค่อยย้ายไปเปิดฟังอีกทีด้วยเครื่องเสียงในรถ สุดท้ายก็เสียบหูฟังในไอโฟนเป็นต้น บางทีเสียงที่เราฟังผ่านลำโพงเล็กๆ ถูกๆ แล้วออกมาห่วย อาจจะเป็นหนังคนละม้วนเลยก็ได้ถ้าฟังผ่านหูฟังแพงๆ ตั้งใจฟังซ้ำดูดีๆ
  6. แต่ละคนมีโทนและระดับเสียงแตกต่างกันไป เราร้องเพลงคีย์เดียวกันไม่ได้ทุกคนหรอก เหมือนกับที่ทำไมคณะนักร้องประสานเสียงถึงต้องมีนักร้องที่เสียงแตกต่างกันออกไป และในโลกนี้ก็มีเพลงเสียงสูงเสียงต่ำเต็มไปหมด ถ้าเสียงร้องที่อัดไว้ฟังดูไม่เข้าท่า อาจเป็นเพราะคุณเลือกเพลงที่ชอบ แต่ไม่ใช่เพลงที่เหมาะกับช่วงเสียงของคุณ
    • ดาวน์โหลดแอพเทียบเสียงแบบถูกๆ มาวิเคราะห์เสียงของคุณดู แล้วลองร้องด้วยเสียงธรรมดาที่ร้องง่ายสบายคอ เวลาร้องโดยไม่มีดนตรี คีย์ไหนที่คุณร้องแล้วสบายสุด? ให้เลือกคีย์นั้นเลย จำไว้ใช้ทีหลังด้วยล่ะ
    • จากนั้นให้ลองร้องเสียงต่ำและสูงที่สุดของคุณแล้วจดไว้ นับดูว่ามีกี่โน้ตระหว่างต่ำสุดไปสูงสุด แล้วคุณจะพอรู้ช่วงเสียงของคุณเอง จากนั้นจะได้เลือกเพลงที่เหมาะกับช่วงเสียงของคุณ
  7. Tone deafness หรืออาการหูเพี้ยน ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับนัก (อยาก) ร้องทีเดียว มีนะคนที่ได้ยินเสียงผิดๆ ถูกๆ จนไม่สามารถร้องตามทำนองเพลงได้ ทั้งๆ ที่นั่นเป็นทักษะที่คุณต้องมีถึงจะร้องเพลงได้ นอกจากคุณจะทดสอบด้วยการอัดเสียงแล้วเอามาเปิดฟังแล้ว ให้ไป ทดสอบอาการหูเพี้ยนออนไลน์ ได้ฟรีและรู้ผลทันที
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ลองร้องต่อหน้าคน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อะไรที่ทำได้ด้วยตัวเองคุณก็ทำไปหมดแล้ว ทั้งเลือกเพลงที่ตรงกับช่วงเสียง เรียนรู้เทคนิคในการร้อง และฝึกฝนจนจำขึ้นใจ คราวนี้ถึงเวลาทำใจกล้า ลองร้องต่อหน้าพ่อแม่พี่น้องดูเลย
    • เลือกห้องที่แสดงพลังเสียงได้เต็มที่ที่สุด ถ้าเป็นห้องกว้างๆ เพดานสูงๆ จะทำให้เสียงคุณออกมาเพราะกว่าห้องแคบๆ เพดานเตี้ยๆ แถมปูพรม
    • ถ้าเขินหรือตื่นเต้น ให้หยุดร้องก่อนแล้วเริ่มใหม่อีกครั้ง นี่ไม่ใช่รัชดาลัยเธียเตอร์ ไม่ต้องรอเป๊ะเว่อร์ อย่าตื่นเวทีไป เรื่องนั้นค่อยว่ากัน
    • พอร้องจบแล้ว ลองถามคนที่บ้านดูว่าเป็นยังไงบ้างให้บอกมาตามตรง พอเขาวิจารณ์ก็ให้ฟังหูไว้หู เชื่อเหอะว่าครอบครัวก็แบบนี้ เดี๋ยวก็ชมให้ดีใจ เดี๋ยวก็แซวจนเสียเซลฟ์ แต่ไม่ว่าจะเป็นอันไหนคุณก็จะพอได้ไอเดียบ้างแหละว่าคุณร้องโอเคหรือเปล่า ถ้ามั่นใจว่าจะไปต่อ ก็ต้องยกระดับตัวเอง
  2. มีหลายโอกาสที่คุณสามารถร้องเพลงโชว์ได้ อาจจะเป็นคืนเปิดไมค์ตามผับหรือเลาจ์ สมัครเข้าประกวดรายการร้องเพลง หรือง่ายๆ อย่างเวลาไปร้องคาราโอเกะ หาสถานที่ที่เหมาะกับคุณแล้วเตรียมตัวเตรียมใจร้องเพลงให้คนแปลกหน้าฟัง
    • ระหว่างร้องให้คอยสังเกตปฏิกิริยาของคนฟังด้วย เขาไม่เอาใจช่วยเต็มที่จนคุณมั่นใจเหมือนตอนร้องให้คนที่บ้านฟังหรอก แต่แบบนี้ก็ดี จะได้รู้กันไปเลยว่าคนเขาคิดยังไงกับเสียงคุณกันแน่ คุณเสียงดีจริงหรือเปล่า
    • ให้เพื่อนแอบเป็นสาย กระซิบถามคนข้างๆ ดูว่าคนนี้ (คุณนั่นแหละ) ร้องดีไหม แต่คนที่ตอบไปงั้นๆ ก็มี เพราะฉะนั้นอย่าถึงกับฝากอนาคตการเป็นนักร้องของคุณไว้กับคนกลุ่มนี้เท่านั้น แค่รับฟังไว้บ้าง แล้วค่อยทำขั้นตอนอื่นๆ ในการทดสอบเสียงของตัวเองต่อไป
  3. อีกวิธีที่ใช้ซาวด์เสียงคนหมู่มากได้ก็คือร้องเพลงเปิดหมวกตามสถานีรถไฟฟ้าหรือถนนคนเดิน ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ไมค์กับลำโพงเล็กๆ ด้วย คนที่เดินผ่านไปมาจะได้สนใจ จะร้องให้ฟังกันฟรีๆ หรือวางหมวก ชาม กระทั่งกล่องกีตาร์ไว้ตรงหน้าให้คนใส่เงินตอนคุณร้องเพลงก็ได้
    • ถ้าเลือกเพลงที่กำลังดัง หรือคนกำลังอิน จะเรียกแขกได้เยอะกว่า
    • ถ้าคนไม่สน แถมยังตีวงออกห่าง แสดงว่าเสียงคุณคงทรมานหูไม่น้อย คิดอีกทีอาจเป็นเพราะไอ้ลำโพงห่วยๆ นั่นก็ได้ อย่าเพิ่งถอดใจไปซะก่อน
    • อย่าตัดสินฝีมือตัวเองจากเงินที่หาได้ หรือจำนวนคนที่มามุงดู เพราะคนที่สัญจรไปมาหรือตั้งใจมาเดินซื้อของ เขาก็ไม่หยุดดูหรือสนใจพวกเปิดหมวกเสมอไป ไม่ได้แปลว่าเขามองว่าคุณร้องห่วยซะหน่อย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

พัฒนาทักษะการร้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถึงตอนนี้ คุณคงรู้แล้วว่าคุณร้องเพลงดีหรือไม่ดี แต่ก็เหมือนพวกนักกีตาร์ที่ต้องเกาคอร์ด ลองผิดลองถูกหาทำนองที่ใช่ นักร้องเองก็ต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อพัฒนาทักษะการร้องเพลงของตัวเองต่อไป พรสวรรค์มีได้ แต่ต้องมีพรแสวงด้วย จะเก่งได้ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ฝึกฝนต่อไปแล้วจะดีเอง
    • ถ้ามีคนมาบอกว่าร้องไม่เห็นเพราะเลย แต่คุณรักการร้องเพลงและพร้อมจะพัฒนา ก็ให้ฝึกต่อไป ฝึกหนักขึ้นจนกว่าจะร้องได้ดี อย่าไปเก็บมาคิดมาก แต่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่บางคนต่อให้ฝึกมากแค่ไหนก็ไม่มีทางจะร้องเพลงเพราะ ถึงตอนนี้คุณน่าจะรู้แล้วนะ ว่าตัวเองเข้าข่ายนั้นหรือเปล่า
  2. ลองเข้าคอร์สเรียนกับครูสอนร้องเพลงมืออาชีพดู คุณอาจร้องเพลงดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ พยายามเลือกครูที่จริงจังและจริงใจ เพื่อให้ได้ทั้งความรู้และความเห็นว่าคุณนั้นพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน
  3. ถ้าคุณสรุปได้ว่าคุณไม่มีพรสวรรค์ทางด้านร้องเพลง แต่ทำไงได้ใจมันรักไปแล้ว ก็แล้วจะรออะไร รีบฝึกตัวเองเข้าเร็ว ครูผู้เชี่ยวชาญเขาช่วยเคี่ยวเข็ญคุณได้เท่าที่เส้นเสียงของคุณจะอำนวยนั่นแหละ จะร้องเพลงได้อย่างมีความสุขไหมมันอยู่ที่ใจรัก ไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์เสมอไปหรอก
  4. การร่วมร้องเพลงกันเป็นหมู่คณะนี่แหละบอกได้ดีเลยว่าคุณร้องเพลงเพราะแค่ไหน เพราะจะมีผู้ควบคุมวงคอยให้คำแนะนำ รวมถึงเพื่อนสมาชิกร่วมวงด้วย ดีไม่ดีอาจมีงานแสดงเข้ามาหรือได้อัดเสียงจริงๆ จังๆ อีกต่างหาก
    • มีโอกาสร้องโซโล่เมื่อไหร่จะรออะไร เพราะจะได้ร่ำเรียนวิชากับผู้ควบคุมวงกันแบบตัวต่อตัว แถมตอนแสดงจะถูกจับตาและวิจารณ์แบบเฉพาะเจาะจงกว่าตอนร่วมกลุ่มเป็นไหนๆ
    • เลียบๆ เคียงๆ ปรึกษาวิธีพัฒนาศักยภาพการร้องจากผู้ควบคุมวง ที่สำคัญคือเปิดใจถามได้เลยว่าจริงๆ แล้วคุณมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงหรือเปล่า
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ห้ามลืมวอร์มเสียงเด็ดขาด ไม่งั้นอาจเป็นอันตรายต่อเส้นเสียงจนต้องงดร้องเพลงเป็นวันๆ!
  • พยายามร้องเพลงกับเพื่อนที่มีช่วงเสียงเดียวกัน จะได้ซึมซับเทคนิคและได้ฟังว่าคนที่ร้องเพราะร้องดีนั้นเป็นยังไง ลองเอาเทคนิคที่ได้ไปใช้ อย่าลืมอัดเสียงไว้ฟังด้วย เครื่องอัดเสียงบางตัวอาจจะไม่ค่อยเที่ยงเท่าไหร่ จนทำให้เสียงคุณออกมาเห่ยชะมัด ต้องเริ่มที่การเลือกเครื่องอัดเสียงดีๆ นี่แหละ
  • หาเพลงที่ใช่ก่อน จากนั้นฝึกร้องทั้งวันทั้งคืน แล้วค่อยขยับขยายไปร้องต่อหน้าคนกลุ่มเล็กๆ และกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าขี้อายหน่อยก็อัดคลิปตัวเองเอาลง YouTube แทนก็ได้
  • หาจนเจอว่าเพลงแนวไหนเป็นตัวคุณ แล้วถ้าหัดแต่งเพลงด้วยก็อย่ากลัวที่จะทำอะไรแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ขอแค่มีทำนองกับเนื้อเพลงหรือฮึมฮัมอะไรไป นอกนั้นคุณจะใส่อะไรก็ตามใจเลย
  • จะร้องไปใส่ earplug ไปก็ได้ แต่อย่าอุดหูแน่นเกินไปล่ะ แค่ใส่ให้พอแน่ใจว่าจะไม่หลุดออกมา และอย่างน้อยต้องพอได้ยินเสียงทำนองคลอไป หรือง่ายกว่านั้นก็คือเอานิ้วอุดหูข้างนึงซะเลย
โฆษณา

คำเตือน

  • ถนอมเสียงหน่อย อย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ
  • เตรียมตัวเตรียมใจรับเสียงวิจารณ์
  • อย่าทำตัวเองขายหน้า! ถ้าร้องเพลงยังไม่เข้าที่ ให้หลบไปฝึกก่อนจนกว่าจะพร้อม คุณคงไม่อยากขายหน้าประชาชีเพราะร้องเพลงเสียงเหมือนแมวใกล้ตายใช่ไหม!
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 134,927 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา