ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะห่วยแตกแค่ไหน หรือดีเลิศประเสริฐเพียงใด ขอแค่มีผู้ชม ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ควรค่าแก่การวิจารณ์ บทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ดีควรจะให้ความบันเทิง โน้มน้าว และให้ข้อมูลในเวลาเดียวกัน โดยแสดงความเห็นในแบบของผู้วิจารณ์โดยไม่เผยพล็อตเรื่องมากเกินไป บทวิจารณ์ที่ “ยอดเยี่ยม” ก็จัดเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งได้อย่างไม่ต้องสงสัย ลองอ่านขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อศึกษาวิธีวิเคราะห์ภาพยนตร์ วิธีคิดประเด็นหัวข้อที่น่าสนใจ และวิธีเขียนบทวิจารณ์ให้สนุกราวกับตัวภาพยนตร์เอง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ศึกษาแหล่งข้อมูล

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องที่คุณจะวิจารณ์. คุณอาจหาข้อมูลก่อนหรือหลังไปชมภาพยนตร์นั้นก็ได้ แต่ก่อนจะเขียนวิจารณ์ คุณต้องหาข้อมูลเหล่านี้ไว้แล้ว เพราะคุณจะต้องร้อยเรียงข้อมูลเหล่านั้นขณะที่คุณเขียน ข้อมูลพื้นฐานที่คุณควรรู้คือ
    • ชื่อภาพยนตร์ และปีที่ออกฉาย
    • ชื่อผู้กำกับ
    • ชื่อนักแสดงนำ
    • ประเภทของภาพยนตร์ (genre)
  2. ก่อนที่คุณจะนั่งลงเปิดภาพยนตร์ดู หาสมุดโน้ตสักเล่ม หรือแลปท็อปสักเครื่องไว้จดสิ่งต่างๆ ภาพยนตร์ทั้งเรื่องกินเวลานานโข และคุณก็อาจลืมรายละเอียดหรือประเด็นสำคัญๆ ในพล็อตเรื่องได้ง่ายๆ การจดโน้ตจะช่วยให้คุณสามารถกลับมาอ่านใหม่ได้ภายหลัง
    • จดโน้ตทุกครั้งที่มีบางสิ่งโดดเด่นสะดุดใจคุณ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเตะตาคุณในทางดีหรือทางแย่ก็ตาม เช่น เครื่องแต่งกายของตัวละคร การแต่งหน้า การออกแบบฉาก ดนตรีประกอบ ฯลฯ ลองคิดดูว่ารายละเอียดเหล่านี้เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ที่เหลือของภาพยนตร์อย่างไร และสิ่งเหล่านี้มีความหมายอย่างในบริบทการวิจารณ์ของคุณ
    • จดรูปแบบที่คุณสังเกตได้ในตอนเรื่องราวในภาพยนตร์คลี่คลาย
    • กด “หยุด” บ่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่พลาดอะไรในภาพยนตร์ และกรอย้อนดูถ้าจำเป็น
  3. วิเคราะห์กลไกของเรื่อง วิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏรวมกันในภาพยนตร์. และหลังจากที่ดู หรือในระหว่างที่ดูอยู่นั้น ถามตัวเองว่าหนังทำให้คุณรู้สึกอย่างไรบ้างในด้านต่างๆ ต่อไปนี้:
    • ทิศทาง พิจารณาตัวเลือกที่ผู้กำกับเลือกใช้ในการถ่ายทอด/ อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง ถ้าตัวหนังดำเนินเรื่องช้า และไม่มีประเด็นที่คุณคิดว่าน่าสนใจ คุณอาจโยนเรื่องนี้ให้ผู้กำกับก็ได้ ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ผู้กำกับคนเดียวกันกำกับ ลองเปรียบเทียบทั้งสองเรื่องและตัดสินใจดูว่าคุณชอบเรื่องไหนมากกว่า
    • เทคนิคการถ่ายทำ (Cinematography) ภาพยนตร์ใช้เทคนิคอะไรบ้างในการถ่าย องค์ประกอบของฉากและฉากหลังช่วยสร้างบรรยากาศหนึ่งๆ ในเรื่องอย่างไรบ้าง
    • การเขียนบท ประเมินค่าสคริปต์ ซึ่งหมายถึงทั้งบทพูดและการสร้างตัวละคร คุณรู้สึกว่าพล็อตเรื่องสร้างสรรค์และเหนือการคาดเดา หรือน่าเบื่อและอ่อนเหตุผล คำพูดของตัวละครฟังดูน่าเชื่อถือหรือไม่สำหรับคุณ
    • การตัดต่อ ตัวหนังตัดต่อตะกุกตะกัก หรือต่อเนื่องจากฉากหนึ่งสู่อีกฉากหนึ่งอย่างลื่นไหล จดโน้ตเกี่ยวกับการใช้แสง (lighting) และ การใช้เทคนิคพิเศษแวดล้อมอื่นๆ ถ้าในหนังมีการใช้กราฟิกคอมพิวเตอร์ ลองพิจารณาดูว่ากราฟิกนั้นดูสมจริง/ เหมาะสมกับส่วนอื่นๆ ที่เหลือของเรื่องหรือไม่
    • การออกแบบเครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งกายเลือกมาได้เหมาะสมกับประเภทของภาพยนตร์หรือไม่ เครื่องแต่งกายช่วยส่งเสริมบรรยากาศหรือโทนโดยรวมของเรื่อง หรือไม่เข้าที่เข้าทางกับโทนเรื่องเลย
    • การออกแบบฉาก พิจารณาว่าฉากของภาพยนตร์มีผลต่อองค์ประกอบอื่นๆของเรื่องอย่างไร ฉากเสริมสร้างประสบการณ์การดูหนังของคุณ หรือลดทอนให้แย่ลง ถ้าภาพยนตร์นั้นถ่ายทำในสถานที่จริง สถานที่ได้เลือกได้เหมาะสมหรือไม่
    • เพลงประกอบ เพลงประกอบไปด้วยกันกับฉากต่างๆ ในเรื่องหรือไม่ หนังใช้เพลงประกอบมากเกินไป หรือน้อยเกินไปหรือไม่ เพลงช่วยให้เกิดบรรยากาศลุ้นตึงเครียด ขบขัน หรือน่ารำคาญ เพลงประกอบอาจทำให้หนังเกิด หรืออาจทำให้ดับไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเพลงนั้นมีเนื้อหาหรือความเฉพาะในตัวเอง
  4. เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะดูหนังครั้งเดียวแล้วเข้าใจหนังอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะถ้าคุณกดหยุดอยู่บ่อยๆ เพื่อจดโน้ต ดูหนังอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนวิจารณ์ ใส่ใจหารายละเอียดที่คุณอาจมองข้ามไปตอนดูรอบแรก ลองดูหนังโดยโฟกัสมุมมองอื่นๆ บ้าง เช่น หากครั้งแรกคุณจดโน้ตเกี่ยวกับการแสดงได้เยอะแล้ว เมื่อดูครั้งถัดไป คุณอาจโฟกัสเรื่องเทคนิคการถ่ายทำดูบ้าง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เริ่มเขียนบทวิจารณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บนพื้นฐานการวิเคราะห์ของคุณ หลังจากที่คุณได้ศึกษาตัวหนังอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว มีความเข้าใจเชิงลึกอะไรบ้างที่คุณดึงออกมาเขียนได้โดยไม่ซ้ำใคร นึกใจความสำคัญ ที่จะเป็นแนวคิดหลักที่คุณจะอภิปรายและรองรับข้อสังเกตของคุณด้วยองค์ประกอบต่างๆ ในหนัง คุณควรแจกแจงใจความสำคัญของคุณในย่อหน้าแรกของบทวิจารณ์ การมีประโยคใจความสำคัญจะช่วยให้บทวิจารณ์ของคุณก้าวพ้นขั้นตอนการเรื่องย่อ ไปสู่การวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งนับเป็นงานศิลป์อย่างหนึ่งได้เต็มภาคภูมิ ลองถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเองเพื่อสร้างประโยคใจความสำคัญที่ดึงดูดน่าติดตามให้แก่บทวิจารณ์ของคุณ:
    • ตัวหนังสะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือประเด็นร่วมสมัยหรือไม่ ตัวหนังอาจเป็นวิธีการของผู้กำกับที่จะมีส่วนร่วมในประเด็นที่ใหญ่กว่า ลองหาวิธีเชื่อมโยงเนื้อหาของภาพยนตร์เข้ากับความเป็นจริงของโลก
    • ตัวหนังมีข้อความที่ต้องการจะสื่อสารหรือไม่ หรือหนังพยายามกระตุ้นให้ผู้ชมตอบรับหรือเกิดอารมณ์แบบหนึ่งๆ คุณอาจอภิปรายว่าหนังบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นหรือไม่
    • หนังเชื่อมโยงกับคุณในระดับส่วนตัวหรือไม่ คุณอาจเขียนบทวิจารณ์จากความรู้สึกของคุณเอง และร้อยเรียงเรื่องราวส่วนตัวของคุณลงไปเพื่อให้น่าสนใจ
  2. เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้คร่าวๆ ว่าจะได้ดูอะไรบ้างในหนังหากผู้อ่านตัดสินใจไปดูภาพยนตร์เรื่องที่คุณกำลังวิจารณ์ สรุปเรื่องย่อเพียงคร่าวๆ โดยระบุตัวละครหลัก บรรยายฉากหลัง และกล่าวถึงปมปัญหาหลัก หรือเป้าหมายหลักของเรื่อง ที่สำคัญ อย่าแหกกฎข้อสำคัญที่สุดของบทวิจารณ์ภาพยนตร์เด็ดขาด คือ อย่าเฉลยมากเกินไป อย่าทำลายอรรถรสการดูหนังของผู้อ่านของคุณ!
    • ตอนที่คุณบอกชื่อตัวละครในเรื่องย่อ ให้วงเล็บชื่อของผู้แสดงไว้ด้านหลังด้วย
    • หาที่เหมาะๆ ใส่ชื่อผู้กำกับและชื่อเต็มของหนัง
    • ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องพูดถึงข้อมูลที่อาจจะ “สปอยล์” ผู้อ่าน ให้เตือนผู้อ่านของคุณก่อน
  3. ใช้พื้นที่หลายๆ ย่อหน้าพูดถึงองค์ประกอบของหนังที่น่าสนใจซึ่งสนับสนุนใจความหลักของคุณ อภิปรายเรื่องการแสดง ทิศทาง การถ่ายทำ ฉาก และประเด็นอื่นๆ โดยใช้ประโยคที่กระชับ ชัดเจนและอ่านสนุกเพื่อให้ผู้อ่านอยากติดตาม
    • เขียนให้สื่อความหมายชัดเจนและเข้าใจง่ายเสมอ อย่าใช้ศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับการถ่ายหนังมากเกินไป ใช้ภาษาให้ชัดเจนและเข้าถึงได้ง่าย
    • แสดงทั้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของคุณ ตัวอย่างเช่น คุณอาจกล่าวว่า “ดนตรีพื้นหลังที่เป็นเพลงยุคบาโรกนั้นขัดกับฉากของเรื่องซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 20 อย่างน่ารำคาญ” การกล่าวเช่นนี้จะช่วยให้ข้อมูลมากกว่าประโยคพื้นๆ เช่น “เพลงประกอบที่เลือกมาประหลาด และไม่เหมาะกับภาพยนตร์”
  4. ใช้ตัวอย่างเพื่อสนับสนุนประเด็นของคุณให้มากๆ. ถ้าคุณกล่าวถึงตัวหนังในแง่มุมหนึ่ง ให้ยกตัวอย่างสนับสนุนประเด็นของคุณให้เห็นภาพ บรรยายว่าฉากต่างๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร นักแสดงคนหนึ่งๆ แสดงเป็นอย่างไร ใช้มุมกล้องอย่างไร และอื่นๆ คุณอาจอ้างถึงคำพูดจากเรื่องเพื่อทำให้ประเด็นของคุณชัดเจนขึ้นก็ได้ ในการทำเช่นนี้ ผู้อ่านจะรู้สึกร่วมไปกับหนัง ในขณะเดียวกัน คุณก็สามารถกล่าวถึงบทวิจารณ์หนังของคุณไปด้วยได้
  5. คุณอาจเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์เหมือนเวลาเขียนรายงานทางการที่โรงเรียนก็ได้ แต่บทวิจารณ์จะน่าสนใจกว่าถ้าคุณเขียนอย่างเป็นตัวของตัวเอง ถ้าสไตล์การเขียนของคุณเป็นแนวฉลาดชวนหัว คุณก็ควรเขียนบทวิจารณ์ด้วยแนวนั้น ถ้าคุณมักเขียนอย่างจริงจังและเร้าอารมณ์ คุณก็เขียนแนวนั้นได้เช่นกัน ให้ภาษาและแนวการเขียนของคุณสะท้อนมุมมองและตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณ จะทำให้ผู้อ่านอ่านสนุกขึ้นอีกมาก
  6. บทสรุปควรโยงกลับไปถึงใจความหลักที่ย่อหน้าแรกของคุณ และให้แนวทางคร่าวๆ ว่าผู้อ่านควรไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ บทสรุปของคุณควรดึงดูดใจและอ่านสนุกในตัวเอง เพราะมันจะเป็นส่วนปิดงานเขียนของคุณ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ขัดเกลาบทวิจารณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคุณเขียนบทวิจารณ์ร่างแรกเสร็จแล้ว อ่านทวนทั้งหมดและดูว่ามันลื่นไหลหรือไม่ และมีโครงสร้างถูกต้องหรือไม่ คุณอาจต้องย้ายบางย่อหน้าไปส่วนอื่น ลบบางประโยค หรือใส่เนื้อหาอื่นๆ ลงไปบางที่เพื่ออุดส่วนที่ติดขัด ตรวจแก้บทวิจารณ์ของคุณอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรือสอง สามครั้งถ้าเป็นไปได้ ก่อนที่คุณจะคิดว่าบทวิจารณ์นี้ผ่านการตรวจแก้จนไม่มีข้อบกพร่องแล้ว
    • ถามตัวเองว่าบทวิจารณ์ของคุณเป็นไปตามใจความสำคัญที่คุณตั้งไว้หรือไม่ บทสรุปของคุณโยงกลับไปยังประเด็นเบื้องต้นที่คุณเสนอหรือไม่
    • ลองดูว่าบทวิจารณ์ของคุณมีรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เพียงพอหรือไม่ คุณอาจต้องทบทวนและเพิ่มคำบรรยายในบางที่ เพื่อให้คนอ่านมีความเข้าใจเรื่องราวในหนังได้ดีขึ้น
    • ลองดูว่าบทวิจารณ์ของคุณน่าสนใจพอจะเป็นงานเขียนชิ้นเดี่ยวๆ ได้หรือไม่ คุณได้เสนอบางสิ่งที่ไม่เหมือนใครในการวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้หรือไม่ คนอ่านจะได้อะไรที่หาไม่ได้จากการดูหนังเพียงอย่างเดียวจากการอ่านงานเขียนของคุณ
  2. ดูให้แน่ใจว่าคุณสะกดชื่อนักแสดง และลงวันที่ต่างๆ ถูกต้อง จัดการกับฟ้อนต์ ประโยคผิด และคำที่สะกดผิดให้เรียบร้อย บทวิจารณ์ที่ผ่านการพิสูจน์อักษรมาแล้วอย่างดีนั้นดูมืออาชีพกว่าบทวิจารณ์ที่มีข้อผิดพลาดไร้สาระเต็มไปหมด
  3. โพสต์บทวิจารณ์ลงบล็อกของคุณ แชร์ในกระทู้วิจารณ์ภาพยนตร์ เอาลงเฟซบุ๊ก หรือส่งอีเมล์ไปให้เพื่อนหรือญาติของคุณ ภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในยุคสมัยของเรา และเช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ ภาพยนตร์ย่อมก่อให้เกิดประเด็นถกเถียง สร้างหนทางในการสะท้อนตัวตน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมวัฒนธรรมของเรา ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีคุณค่าควรแก่การถกเถียงวิจารณ์ ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเหลวไม่เป็นท่า หรือเป็นงานสร้างสรรค์ของอัจฉริยะขนานแท้ก็ตาม เมื่อเขียนบทวิจารณ์เสร็จแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีกับคุณ ที่ได้เสนอความเห็นอันมีคุณค่าแก่แวดวงการวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนั้น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ต้องเข้าใจว่า การที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไม่ตรงกับรสนิยมของคุณ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเขียนบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ในเชิงลบ นักวิจารณ์ที่ดีมีหน้าที่ช่วยให้ผู้อ่านได้พบกับหนังที่ผู้อ่าน “จะ” ชอบ และในเมื่อคุณไม่อาจมีรสนิยมในการดูหนังตรงกับทุกคนในสังคมได้ คุณต้องสามารถบอกได้ว่า “คนอื่น” จะชอบหนังเรื่องหนึ่งๆ หรือไม่ แม้คุณจะไม่ได้ชอบเลยก็ตาม
  • อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์เยอะๆ และพิจารณาว่าทำไมบางชิ้นจึงมีประโยชน์กว่าชิ้นอื่นๆ คุณค่าของบทวิจารณ์ไม่ได้อยู่ที่ความแม่นยำของผู้วิจารณ์ (ผู้อ่านเห็นด้วยกับผู้วิจารณ์มากแค่ไหน) แต่อยู่ที่ความมีประโยชน์ (ผู้วิจารณ์คาดเดาได้หรือไม่ว่าผู้อ่านจะชอบหนังเรื่องหนึ่งๆ)
  • ถ้าคุณไม่ชอบภาพยนตร์เรื่องหนึ่งๆ อย่าใช้ถ้อยคำรุนแรงแล้งน้ำใจ ถ้าเป็นไปได้ คุณควรเลี่ยงไม่ดูหนังที่คุณจะต้องไม่ชอบแน่ๆ
  • ดูให้แน่ใจว่าคุณไม่สปอยล์คนอ่าน!


โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 104,448 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา