ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การแต่งนิยายต้องอาศัยทั้งเวลาและความพยายาม แต่กระบวนการเขียนก็เป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขอย่างมาก เริ่มจากค่อยๆ ใช้เวลาเติมแต่งพล็อตเรื่องและตัวละคร จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคุณเขียนร่างฉบับแรกเสร็จแล้ว ให้แก้ไขและขัดเกลาผลงานจนกว่าคุณจะรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้สมบูรณ์แล้ว จากนั้นค่อยมาคิดอีกทีว่าคุณอยากตีพิมพ์ไหม!

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

สร้างโลกจินตนาการ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเขียนนิยายเป็น กระบวนการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และคุณไม่มีทางรู้ว่าความคิดดีๆ จะเข้ามาหาคุณเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นให้พกสมุดและปากกาหรืออุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับจดติดตัวไว้ตลอด คุณจะได้จดไอเดียลงไปได้ทุกที่ จดประโยค กลุ่มคำ คำเดี่ยวๆ หรือวาดลายเส้นคร่าวๆ ที่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่สมบูรณ์เอาไว้ [1]
    • แต่อย่ารอให้แรงบันดาลใจเดินเข้ามาหาคุณอย่างเดียว มองหาตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์อันยอดเยี่ยมที่ช่วยให้คุณเกิดความคิดริเริ่มของตัวเอง แรงบันดาลใจไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสืออย่างเดียว มันอาจจะเป็นรายการทีวี ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการไปชมนิทรรศการหรือแกลเลอรีศิลปะก็ได้ แรงบันดาลใจมาได้หลายรูปแบบ!
    • ลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่ทำให้คุณเกิดแรงบันดาลใจ สร้างปัญหา หรือทำให้คุณอยากรู้ ลองคิดดูว่าคุณจะสำรวจเรื่องนี้ให้รอบด้านขึ้นในนิยายได้อย่างไร
  2. นิยายบางเล่มอาจไม่สามารถจัดอยู่ในหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจน แต่การคิดถึงประเภทของนิยายที่คุณอยากเขียนก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะคุณจะได้อ่านหนังสือเด่นๆ ในหมวดหมู่นั้นเพื่อให้เข้าใจวิธีการสร้างโครงเรื่องของหนังสือประเภทนั้นๆ ได้อย่างถ่องแท้ แต่ถ้าคุณยังเลือกประเภทของนิยายที่อยากเขียนไม่ได้หรืออยากเขียนมากกว่าหนึ่งประเภท นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา อ่านเยอะๆ และถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็สร้างหมวดหมู่ใหม่ขึ้นมาเองเลย! [2]
    • นิยายในท้องตลาดแบ่งออกเป็นหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ นิยายลึกลับ นิยายเขย่าขวัญ นิยายแฟนตาซี นิยายรัก นิยายอิงประวัติศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย นิยายหลายเรื่องในหมวดหมู่เหล่านี้จะมีสูตรสำเร็จกว้างๆ และจะเขียนเป็นซีรีส์ยาว
    • ไม่ว่าคุณจะชอบหรือเลือกเขียนนิยายประเภทไหน ให้อ่านนิยายประเภทนั้นให้ได้มากที่สุด คุณจะได้เข้าใจขนบของประเภทนิยายที่กำลังเขียนมากขึ้น และรู้ว่าตัวเองจะเพิ่มเติมหรือท้าทายขนบนั้นอย่างไร
  3. แม้ว่าคุณไม่ควรคาดเดาเอาเองว่าใครจะอ่านหรือไม่อ่านงานของคุณบ้าง แต่คุณก็ควรลองนึกดูว่ากลุ่มคนที่มีโอกาสจะอ่านงานของคุณมากที่สุดคือคนกลุ่มไหน วิธีนี้จะทำให้คุณวางแผน เขียนร่างและแก้ไขผลงานโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้อ่าน [3]
    • โดยทั่วไปกลุ่มคนที่น่าจะอ่านงานของคุณจะขึ้นอยู่กับประเภทของนิยายที่คุณเขียน ลองนึกถึงนิยายเล่มดังๆ ในหมวดหมู่ที่คุณเขียนและดูว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเขียนมาให้คนกลุ่มไหนอ่าน คุณไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายเป็นคนกลุ่มเดียวกันเป๊ะๆ แต่อย่างน้อยก็ให้นึกถึงคนกลุ่มนี้เอาไว้
    • เช่น ประเภทของนิยายแฟนตาซีที่คุณเขียนมักดึงดูดใจผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นและคนอายุ 20 ต้นๆ หรือประเภทนิยายรักที่คุณเขียนน่าจะถูกใจผู้อ่านวัย 40-50 ปี แต่ก็จำไว้ด้วยว่ามันไม่ใช่หลักการกำหนดกลุ่มผู้อ่านที่ตายตัวเสมอไป!
  4. ฉากท้องเรื่องในนิยายของคุณไม่ได้อยู่แค่เมืองที่ตัวละครอาศัยอยู่ แต่คุณต้องคิดจักรวาลขึ้นมาใหม่ทั้งหมด! ฉากท้องเรื่องที่คุณสร้างขึ้นจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์และน้ำเสียงของนิยาย และจะมีผลต่อปัญหาที่ตัวละครต้องเผชิญ เวลาที่คุณร่างตัวแปรต่างๆ ในโลกที่คุณสร้างขึ้นมาใหม่ ให้ตอบคำถามต่อไปนี้ : [4]
    • มันจะมีกลิ่นอายของสถานที่ที่คุณคุ้นเคยในชีวิตจริงไหม
    • มันจะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรือในช่วงเวลาอื่น
    • มันจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้หรือสถานที่ที่คุณจินตนาการขึ้นมา
    • มันจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหรือละแวกใดละแวกหนึ่ง หรือว่าคุณจะขยายไปหลายๆ สถานที่
    • เรื่องนี้เกิดขึ้นในสังคมแบบไหน
    • เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 เดือน 1 ปี หรือหลายสิบปี
  5. ตัวละครที่สำคัญที่สุดในนิยายส่วนใหญ่ก็คือตัวเอก เพราะฉะนั้นให้ใส่รายละเอียดที่เป็นบุคลิกลักษณะและรูปแบบวิธีคิดที่น่าจดจำ ตัวเอกไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่น่าคบหาก็ได้ แต่โดยทั่วไปคนอ่านต้องรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครได้บ้างพวกเขาถึงจะอยากอ่านต่อ และจะมีตัวเอกมากกว่าหนึ่งตัวก็ได้ [5]
    • ถ้าคุณมีคู่ปรับหลักที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามและมีความขัดแย้งกับตัวเอก พวกเขาก็ต้องเป็นตัวละครที่มีหลายมิติและผู้อ่านรู้สึกเชื่อมโยงได้เช่นกัน แม้ว่าเขาจะทำหน้าที่เป็น “ตัวร้าย” ในเรื่องก็ตาม
    • ตัวละครรองอาจไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดที่สมบูรณ์เท่า แต่ก็ยังต้องมีความเป็นมนุษย์อยู่บ้าง นึกภาพตัวละครแต่ละตัวให้รอบด้านแม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ใส่รายละเอียดทั้งหมดลงไปก็ตาม
    • นักเขียนนิยายหลายคนอธิบายว่าเขามองตัวละครในฐานะคนจริงๆ โดยกำหนดสถานการณ์ขึ้นมาและถามตัวเองว่าตัวละครจะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้ และพยายามทำให้ตัวละคร "สมจริง" มากที่สุด
    • ค่อยๆ สร้างประวัติย่อของตัวละครขึ้นมาเพื่อให้คุณเพิ่มเติมรายละเอียดที่เป็นบุคลิกของตัวละครนั้นๆ ขึ้นมาได้
    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ

    Melessa Sargent

    ประธานและ CEO ของ Scriptwriters Network
    เมลิสซ่า ซาร์เจนท์เป็นประธานของ Scriptwriters Network องค์กรไม่หวังผลกำไรที่นำมืออาชีพทางงานบันเทิงมาสอนศิลปะและธุรกิจการเขียนบทโทรทัศน์ สารคดี และสื่อออนไลน์ ทางองค์กรจะนำเสนอโปรแกรมการสอน การประเมินพัฒนาการ และโอกาสแก่เหล่าสมาชิก ผ่านทางพันธมิตรกับเหล่ามืออาชีพในวงการนี้ เพื่อผลิตงานเขียนบทที่มีคุณภาพสู่วงการบันเทิง
    Melessa Sargent
    ประธานและ CEO ของ Scriptwriters Network

    ใส่จุดหักมุมลงไปในทุกสิ่งที่คุณเขียน เมเลสซา ซาร์เจนต์ ประธานและซีอีโอของ Scriptwriters Network กล่าวว่า “ตัวละครทุกตัวที่คุณสร้างขึ้นมาต้องไม่เหมือนใคร อย่าเขียนเหมือนคนอื่น ถ้าตัวละครของคุณเป็นหมอ ก็ต้องทำให้เขาแตกต่างจากหมอทั่วไปเหมือนเฮาส์ หรือดูกี้ ฮาวเซอร์ที่ไม่เหมือนคนอื่นเพราะเขาอายุน้อย ถามตัวเองว่าทำไมคนอ่านถึงอยากอ่านหรือดูเรื่องราวของหมอที่เราเขียนขึ้นมา”

  6. ปริมาณข้อมูลที่ต้องค้นคว้าจะขึ้นอยู่กับนิยายที่คุณเขียน เช่น การค้นคว้าสำหรับนิยายอิงประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามปฏิวัติก็อาจจะมากมายมหาศาลกว่าวรรณกรรมเยาวชนที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของคุณเอง แต่อย่างไรคุณก็ต้องค้นคว้าให้มากพอเพื่อให้นิยายของคุณน่าเชื่อถือไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ตาม [6]
    • แม้ว่าคุณจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในโลกอนาคตหรือมหากาพย์แฟนตาซี คุณก็ต้องค้นคว้าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และ/หรือประวัติศาสตร์เพื่อให้โลกที่คุณสร้างขึ้นมีพื้นฐานที่สมจริง
    • การเขียนเรื่องแต่งไม่ใช่สารคดีไม่ได้ทำให้คุณรอดพ้นจากข้อหา คัดลอกผลงานผู้อื่น เพราะฉะนั้นถ้าคุณได้รับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ คุณต้องใส่ไว้ในการเขียนอ้างอิงหรือกิตติกรรมประกาศด้วย
    • เช่นเดียวกับการวางแผนประเภทอื่นๆ คุณต้องเดินตรงกลางระหว่างการค้นคว้าเพียงลวกๆ กับการปล่อยให้ข้อมูลมาปิดกั้นเส้นทางจนคุณเขียนไม่ออก จงเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตัวเอง
  7. ถึงตัวละครในนิยายจะดีแต่ถ้าพล็อตไม่ได้เรื่องก็ไม่จับใจผู้อ่านส่วนใหญ่อยู่ดี แก่นเรื่องทั่วไปในการออกแบบพล็อตก็คือการสร้างปมขัดแย้ง ความตึงเครียดก่อตัวขึ้นจนกระทั่งปัญหาถึงจุดสูงสุด และจากนั้นก็จะคลี่คลายในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่านิยายจะต้องจบแบบมีความสุขเสมอไปนะ! [7]
    • หนึ่งในวิธีการสร้างพล็อตเรื่องตามแบบฉบับก็คือมีขมวดปม (สร้างรายละเอียดและความตึงเครียดในเรื่อง) ปมขัดแย้ง (วิกฤตหลักในเรื่อง) และการแก้ปม (ผลลัพธ์สุดท้ายของวิกฤต) แต่การสร้างพล็อตเรื่องก็ไม่ได้มีแค่วิธีนี้วิธีเดียว
    • นิยายของคุณไม่จำเป็นต้อง "คลาย" ปมขัดแย้งอย่างสมบูรณ์ คุณสามารถทิ้งปมบางอย่างในตอนท้ายเอาไว้ได้ ถ้าคนอ่านชอบนิยายของคุณ พวกเขาจะมีความสุขกับการคลายปมเหล่านั้นด้วยตัวเอง (ผ่านการคาดการณ์ แฟนฟิกชัน การแลกเปลี่ยนความเห็น และอื่นๆ)
  8. โดยทั่วไปนิยายมักจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองบุรุษที่ 3 (มุมมองภายนอกที่เฝ้าดูตัวละคร) หรือบุรุษที่ 1 (เสียงของ “ฉัน” จากมุมมองของตัวละคร) แต่ก็สามารถเขียนจากบุรุษที่ 2 (ที่เรียกผู้อ่านว่า “คุณ”) ได้เช่นกัน หรือจะผสมผสานหลายๆ มุมมองก็ได้ [8]
    • คุณไม่จำเป็นต้องเลือกมุมมองที่จะเล่าก่อนลงมือเขียนประโยคแรก จริงๆ แล้วคุณอาจจะเขียนบทแรกหรือแม้กระทั่งร่างฉบับแรกเสร็จแล้วถึงจะรู้ว่าควรเล่าเรื่องจากมุมมองบุรุษที่ 1 หรือ 3 ดีกว่า
    • ไม่มีกฎที่ตายตัวว่านิยายประเภทไหนต้องเล่าจากมุมมองไหนถึงจะดีที่สุด แต่ถ้าคุณเขียนนิยายพาโนรามาที่มีตัวละครมากมาย มุมมองบุรุษที่ 3 จะช่วยให้คุณเขียนตัวละครทั้งหมดออกมาได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เขียนร่างนิยาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในการเขียนร่างฉบับแรกให้เสร็จนั้น คุณต้องหาเวลาและสถานที่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการเขียน คุณอาจจะเขียนเวลาเดิมทุกเช้าหรือค่ำ เขียนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ตลอดทั้งวัน หรือเขียนติดต่อกันยาวๆ สัปดาห์ละ 3 วัน อย่ารอจนกว่าจะเกิดแรงบันดาลใจแล้วค่อยเขียน แต่ให้งานเขียนเป็นเหมือนงานที่ต้องทำจริงๆ และทำเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ [9]
    • ลองกำหนดช่วงเวลาที่จะเขียนลงในปฏิทินรายวัน ถึงตอนนั้นคุณจะไม่อยากเขียนหรือเขียนไม่ออก ก็ให้นั่งลงเขียนในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
    • สร้างพื้นที่สำหรับเขียนเพื่อให้กลายเป็นกิจวัตร หาสถานที่สบายๆ ที่คุณมีสมาธิ ลงทุนซื้อเก้าอี้ที่ไม่ทำให้ปวดหลังหลังจากนั่งเขียนไป 2-3 ชั่วโมง คุณจะต้องขลุกอยู่ตรงนี้เป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นมันจะต้องสบายและเอื้อต่อการทำงาน!
  2. แม้ว่าการเริ่มเขียนโดยมีประเภท พล็อตเรื่อง ตัวละคร และฉากท้องเรื่องไว้ในใจอยู่แล้วจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อย่าให้ตัวเองจมอยู่กับรายละเอียดต่างๆ มากเกินไป นักเขียนบางคนแค่เริ่มเขียนก็เขียนได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องวางแผนเพื่อเป็นแนวทางมากนัก เดินตามเส้นทางที่เหมาะกับสไตล์และความคิดสร้างสรรค์ของคุณ [10]
    • สำหรับนักเขียนหลายคน การวางแผนเอาไว้ก่อนทำให้เขียนได้อย่างรวดเร็วและไหลลื่น แต่สำหรับบางคนการวางแผนกลับกลายเป็นอุปสรรคที่มากีดขวางไม่ให้เริ่มลงมือเขียนได้สักที จงเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองว่าวิธีไหนเหมาะกับคุณมากที่สุด
    • แต่ถึงคุณจะชอบวางแผน ก็อย่าหมกมุ่นกับรายละเอียดทุกเม็ดขณะแต่งนิยาย เพราะถ้าคุณหมกมุ่นกับรายละเอียดมากเกินไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มเขียนร่างฉบับแรก มันอาจปิดกั้นความคิดสร้างรรค์ของตัวเองได้
  3. เขียนโครงร่าง หากคุณอยากวางแผนรายละเอียดเกี่ยวกับนิยาย. การเขียนโครงร่างเป็นวิธีที่ดีในการใส่รายละเอียดลงไปในแนวคิดและเป็นการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ให้ตัวเองทำสำเร็จไปเรื่อยๆ ในระหว่างการเขียนหนังสือทั้งเล่มที่เป็นเป้าหมายใหญ่ แต่ถ้าคุณเป็นนักเขียนประเภทที่ “นึกได้ก็เขียนเลย” โดยไม่ต้องมีรายละเอียดทั้งหมดในมือ ก็แค่ทำให้ตัวเองเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนและเขียนสิ่งที่ใช่ออกมา [11]
    • โครงร่างของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรง คุณอาจจะร่างพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวขึ้นมาคร่าวๆ หรือเขียนแผนภาพเวนน์ที่บอกให้รู้ว่า เรื่องราวของตัวละครต่างๆ จะทับซ้อนกันอย่างไร
    • โครงร่างเป็นแค่ แนวทาง ไม่ใช่ หนังสือสัญญา โครงร่างมีไว้แค่เพื่อให้คุณเริ่มลงมือเขียนได้โดยมีภาพในใจว่าเรื่องราวจะดำเนินไปทางไหน แต่เมื่อคุณเริ่มเขียนมันจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน
    • ปรับหรือเขียนโครงร่างใหม่เรื่อยๆ ตลอดช่วงเวลาที่เขียน เพราะจริงๆ แล้วบางครั้งโครงร่างก็มีประโยชน์ มากกว่า หลังจากที่คุณเขียนนิยายเสร็จไปแล้ว 1-2 ร่าง
  4. ใช้ การเขียนเชิงพรรณนา เพื่อดึงผู้อ่านเข้ามาในโลกของคุณ. ย่อหน้าหรือฉากที่บรรยายอย่างละเอียดช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละครหลักและฉากท้องเรื่องให้นิยาย เคล็ดลับก็คือใส่รายละเอียดเชิงพรรณนาลงไปให้มากพอที่จะกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่าน มากกว่าที่จะยัดเยียดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นลงไปเยอะๆ และเช่นเดียวกับแง่มุมส่วนใหญ่ของการเขียน คุณต้องฝึกฝนจึงจะเกิดความชำนาญ!
    • ฝึกเขียนย่อหน้าเชิงพรรณนาที่แนะนำตัวละครหลักแต่ละตัวและฉากท้องเรื่อง เริ่มจากการเขียนประโยคสั้นๆ จับใจคนอ่านที่เผยให้เห็นข้อเท็จจริงทั่วไปทว่าน่าสนใจเกี่ยวกับตัวละคร/ฉากท้องเรื่อง จากนั้นถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดผ่านการเขียนเชิงพรรณนาที่ช่วยให้เห็นภาพเพื่อเขียนย่อหน้านั้นให้จบ
  5. นิยายส่วนใหญ่จะใส่บทพูดระหว่างตัวละคร และคุณภาพของบทสนทนาก็มีผลต่อคุณภาพโดยรวมของงานเขียนในสายตาของผู้อ่านเป็นอย่างมาก บทสนทนาที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สมจริง หรือหวานเลี่ยนจะผลักจินตนาการของผู้อ่านออกมาจากโลกของคุณ แต่บทสนทนาที่เชื่อมโยงกับผู้อ่านและชวนติดตามจะดึงดูดผู้อ่านเข้ามาในโลกของคุณ การเขียนบทสนทนาที่ดีเป็นศิลปะที่ท้าทาย และคุณควรเริ่มจากการฟังว่าคนอื่นเขาพูดกันอย่างไร
    • ฟังเวลาคนอื่นเขาคุยกันและสังเกตว่าสิ่งที่เขาพูดขับเคลื่อนการสนทนาให้ดำเนินต่อไปและลึกซึ้งหรือไม่และอย่างไร
    • ใส่รายละเอียดของตัวละครให้สมบูรณ์เพื่อให้คุณเห็นภาพตัวละครพูดบทพูดที่คุณใส่เข้าไปในปากของพวกเขา และเนื้อหากับสไตล์ของบทสนทนาก็ต้องเหมาะกับตัวละครด้วย
    • อย่าใช้บทพูดโยนข้อมูลใส่หัวผู้อ่าน แต่ให้ใช้บทพูดในการทำให้ตัวละครมีความเป็นมนุษย์ สร้างปมขัดแย้ง และดำเนินเรื่อง
  6. อย่าละเลยฉากแอ็กชันไม่ว่าคุณจะเขียนนิยายประเภทไหนก็ตาม. แน่นอนว่านิยายเขย่าขวัญต้องมีฉากแอ็กชันเยอะแน่ๆ แต่นิยายรักอ่อนหวานเองก็ต้องมีฉากแอ็กชันเหมือนกัน แค่เป็นฉากแอ็กชันคนละแบบ! สร้างฉากหรือตอนที่นำตัวละครเข้าสู่ปมขัดแย้งหรือบังคับให้เกิดการตอบโต้หลักๆ ยิ่งคุณสร้างตัวละครที่มีมิติและเชื่อมโยงกับผู้อ่านได้มากเท่าไหร่ ฉากแอ็กชันก็จะดึงความสนใจของผู้อ่านได้ง่ายขึ้น
    • คุณอาจจะร่างฉากแอ็กชันหลักๆ ขึ้นมาก่อนสัก 8-10 ฉาก จากนั้นก็เขียนนิยายส่วนที่เหลือให้สอดคล้องกับฉากแอ็กชันที่วางเอาไว้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การเขียนของคุณด้วย
    • คุณไม่จำเป็นต้องสร้างฉากแอ็กชันขึ้นมาเพื่อแค่ให้มีฉากแอ็กชัน เพราะไม่ใช่ว่านิยายทุกเรื่องจะต้องมีฉากขับรถไล่ล่า! แต่นิยายทุกเรื่องได้ประโยชน์จากช่วงเวลาสำคัญเมื่อมีการกล่าวถึงและบรรยายการกระทำที่สำคัญ
  7. เขียนร่างฉบับแรกโดยไม่ต้องกังวลว่ามันยัง “ไม่สมบูรณ์”. เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองวางแผน เขียนโครงร่าง และค้นคว้ามากพอแล้ว (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) ให้นั่งลงและเริ่มเขียนร่างนิยายฉบับแรก ไม่ต้องกังวลว่าภาษาจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบเพราะนอกจากคุณแล้วจะไม่มีใครได้อ่านร่างฉบับนี้ ร่างนิยายฉบับแรก ไม่ จำเป็นต้องเลิศ ขอแค่ให้ เสร็จ ก็พอ! [12]
    • ตั้งใจเขียนตามตารางที่คุณกำหนดไว้และเขียนร่างฉบับแรกให้เสร็จ ใครจะรู้ว่าโลกนี้มีนักเขียนเก่งๆ กี่คนที่ไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครเคยได้อ่านงานของเขา เพราะในลิ้นชักของเขามีแต่นิยายที่ยังไม่เขียนไม่จบอยู่เต็มไปหมด
    • ตั้งเป้าหมายเล็กๆ เขียนให้จบ 1 บท เขียน 2-3 หน้า หรือเขียนให้ได้ตามจำนวนคำที่กำหนดไว้ทุก 2-3 วันเพื่อให้ตัวเองมีไฟ
    • หรือคุณจะกำหนดเป้าหมายระยะยาวก็ได้ เช่น มุ่งมั่นที่จะเขียนร่างนิยายฉบับแรกให้เสร็จภายใน 1 ปีหรือแค่ 6 เดือน
    • ให้รางวัลตัวเองเรื่อยๆ เมื่อทำตามเป้าหมายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้สำเร็จ ฉลองความสำเร็จของตัวเอง แล้วก็กลับไปเขียนต่อ!
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

แก้ไขร่าง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เขียนร่างออกมาหลายๆ ฉบับจนกว่าคุณจะรู้สึกว่าไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว. คุณอาจจะโชคดีเขียนร่างแค่ 3 ฉบับก็รู้สึกว่ามันโอเคแล้ว หรือคุณอาจจะต้องเขียนออกมา 20 ฉบับถึงจะรู้สึกว่านิยายเรื่องนี้เข้าท่า หัวใจสำคัญคือการเขียนร่างไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณสามารถนำงานของคุณไปให้คนอื่นอ่านได้แล้ว [13]
    • หลังจากที่คุณเขียนร่างฉบับแรกเสร็จแล้ว ให้ทิ้งมันไว้ก่อนสัก 2-3 สัปดาห์แล้วค่อยนั่งลงอ่านด้วยสายตาของผู้อ่าน ดูว่าส่วนไหนที่ต้องอธิบายเพิ่ม ส่วนไหนที่ยาวเกินไปและน่าเบื่อ
    • ถ้าตัวคุณเองยังอ่านข้ามบางส่วนในนิยายเป็นปึกๆ คนอ่านของคุณก็คงทำอย่างนั้นเหมือนกัน คุณจะทำให้นิยายเรื่องนี้น่าอ่านมากขึ้นด้วยการตัดทอนหรือแก้ไขส่วนที่เยิ่นเย้อได้อย่างไร
    • คุณอาจจะรู้สึกว่าการเขียนร่างเป็นงานที่ไม่จบไม่สิ้นสักที แต่เดี๋ยวมันจะจบ! คิดบวกและมั่นใจเข้าไว้
  2. แก้ไขร่างฉบับที่คุณ “รู้สึกว่าโอเคแล้ว” ด้วยตนเองอย่างละเอียด. อย่าเพิ่งกังวลเรื่องการแก้ไขงานจนกว่าคุณจะได้ร่างนิยายฉบับสมบูรณ์ หลังจากนั้นให้พยายามตัดบางย่อหน้าหรือบางประโยคที่ใช้ไม่ได้ ตัดกลุ่มคำที่อ่านแล้วสะดุดหรือซ้ำซาก และแก้ไขข้อความให้ฟังดูไหลลื่นมากขึ้น โดยทั่วไปก็คือคุณต้องทำให้ร่างที่คุณ “รู้สึกว่าโอเคแล้ว” กลายเป็นร่างที่ “ดูโอเค” ด้วย! [14]
    • ถ้าคุณพิมพ์นิยายลงในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ให้ปรินต์ออกมาแล้วอ่านออกเสียง และตัดหรือแก้ไขสิ่งที่ใช้ไม่ได้
    • อย่ายึดติดกับงานเขียนของตัวเองมากเกินไป เช่น ย่อหน้าที่ร้อยเรียงออกมาอย่างดีแต่ไม่ได้ทำให้เรื่องดำเนินไปข้างหน้า ท้าทายตัวเองเพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด และจำไว้ว่าคุณอาจจะนำย่อหน้านั้นไปใช้ในนิยายเรื่องอื่นก็ได้!
  3. เริ่มจากการนำฉบับร่างให้คนที่คุณไว้ใจมากๆ อ่าน เช่น เพื่อนหรือคนที่คุณรัก คุณจะได้คุ้นเคยกับการที่มีคนอ่านงานของคุณ แต่เนื่องจากว่าการจะได้คำติชมอย่างตรงไปตรงมาจากคนที่รักคุณและอยากถนอมความรู้สึกของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คุณจึงต้องขอความคิดเห็นภายนอกจากกลุ่มคนดังต่อไปนี้ด้วย : [15]
    • ก่อตั้งกลุ่มนักเขียน ถ้าคุณรู้จักคนอื่นๆ ที่กำลังเขียนนิยายเหมือนกันสัก 2-3 คน ให้นัดเจอกันเพื่อเล่าว่าใครเขียนไปถึงไหนและขอเคล็ดลับจากพวกเขา
    • เข้าร่วมเวิร์กช็อปการเขียนที่สถาบันต่างๆ คุณจะได้ วิจารณ์งานเขียนของคนอื่น และได้รับคำวิจารณ์สำหรับงานของคุณเช่นเดียวกัน
    • สมัครเรียนต่อในคณะศิลปศาตร์หรือศิลปกรรมศาสตร์สาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สภาพแวดล้อมของสาขาเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้คุณได้แบ่งปันงานเขียนของคุณให้คนอื่นอ่าน และการกำหนดเวลาส่งงานที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณมีแรงกระตุ้นที่จะทำงานให้เสร็จด้วย
  4. หากคุณอยากตีพิมพ์ผลงาน ให้ประเมินทางเลือกต่างๆ. นักเขียนหลายคนมองนิยายเรื่องแรกในฐานะประสบการณ์การเรียนรู้ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์งานบันเทิงคดีที่แข็งแรงขึ้นได้ในอนาคต แต่ถ้าคุณมั่นใจในนิยายของตัวเองมากและอยากเห็นมันถูกตีพิมพ์ ก็มีหลายช่องทางให้คุณเลือก คุณจะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิม เผยแพร่ผลงานกับสำนักพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ หรือตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเองก็ได้ [16]
    • ถ้าคุณจะเลือกช่องทางแบบดั้งเดิม การมีตัวแทนนักเขียนไปเสนอผลงานของคุณให้สำนักพิมพ์ต่างๆ จะช่วยได้มาก โดยคุณจะต้องส่งจดหมายเพื่อนำเสนอนิยายที่คุณเขียนและเรื่องย่อของต้นฉบับ
    • บริษัทรับตีพิมพ์หนังสือให้นักเขียนนั้นมีอยู่หลายระดับ เพราะฉะนั้นก่อนเลือกบริษัทให้ขอตัวอย่างหนังสือสัก 2-3 เล่มมาดูคุณภาพของกระดาษและงานพิมพ์ก่อน
    • แต่ถ้าคุณไม่อยากเผยแพร่หนังสือของตัวเองก็ไม่เป็นไร แสดงความยินดีกับตัวเองที่ทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและเริ่มทำโปรเจกต์สร้างสรรค์ชิ้นถัดไปได้เลย!
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าคุณคิดไม่ออกว่าจะดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไรดี ลองจินตนาการว่าตัวละครตัวหนึ่งยืนอยู่ข้างหลังคุณและบอกคุณว่าในสถานการณ์นั้นเขาจะทำอย่างไร
  • เขียนเรื่องราวในแบบที่คุณอยากเขียน เพราะหนังสือทุกประเภทมีตลาดของมันอยู่แล้ว และหากนิยายของคุณเขียนออกมาได้ดีและน่าสนใจ ย่อมมีพื้นที่ให้กับเรื่องราวของคุณแน่นอน
  • อ่านหนังสือเยอะๆ (โดยเฉพาะหนังสือประเภทเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับประเภทของนิยายที่คุณเขียนในทางใดทางหนึ่ง) ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากที่คุณเขียนนิยาย
  • โดยทั่วไปไม่นานคุณจะรู้ว่าเรื่องราวที่คุณเขียนอยู่นั้นมันดึงดูดความสนใจและจินตนาการของคุณได้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกหลงใหล ให้พัฒนาแนวคิดต่างๆ ต่อไปและลองใช้วิธีการหลายๆ แบบ
  • ถ้าคุณมีปัญหากับการสร้างตัวละครให้ดูสมจริง ลองใช้วิธีนี้ พาตัวละครไปกับคุณด้วยทุกที่ เมื่อคุณไปทำงาน ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้าง หรือแม้แต่เดินอยู่บนถนน ให้จินตนาการว่าตัวละครเหล่านั้นจะทำอะไรหากพวกเขาอยู่ในจุดหรือสถานการณ์เดียวกันกับคุณ
  • ย้อนกลับไปอ่านงานของคุณอีกครั้งเรื่อยๆ ถ้าคุณเจอข้อผิดพลาดในพล็อต อย่าพยายามเปลี่ยน (ยกเว้นว่าจะเป็นข้อผิดพลาดใหญ่ๆ) แค่โน้ตข้อผิดพลาดเอาไว้และแก้ไขในขั้นตอนการตรวจแก้
  • การวางพจนานุกรมและคลังคำไว้ใกล้ๆ จะช่วยในเรื่องการสะกดคำและการบรรยาย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 103,301 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา