ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเขียนเชิงพรรณนาเป็นการบอกเล่าถึงรายละเอียดที่เราสัมผัสได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ในย่อหน้าหนึ่งๆ ที่ใช้การเขียนแบบพรรณนา ผู้เขียนต้องให้ข้อมูลที่สามารถดึงดูดทุกประสาทสัมผัส เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้มากที่สุด การเขียนเชิงพรรณนามีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในงานเขียนเชิงบันเทิงคดีและสารคดี เพื่อให้ผู้อ่านจมดิ่งลงไปยังโลกที่นักเขียนสร้างขึ้น และแม้จะไม่มีกฎเกณฑ์ยากๆ หรือทางลัดในการวางโครงสร้างของงานเขียนประเภทนี้ แต่ก็มีคำแนะนำมากมายที่ช่วยให้คุณสามารถเขียนงานเชิงพรรณนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าดึงดูด เราไปดูขั้นตอนที่ 1 เพื่อเริ่มต้นการฝึกในวันนี้กันเลยดีกว่า

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 1:

วิธีการเขียนเชิงพรรณนา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เลือกบุคคล สถานที่ และสิ่งของที่มีความสำคัญ. ก่อนที่จะเริ่มงานเขียน ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่คุณเลือกมานั้นควรค่าแก่การนำมาเขียนบรรยาย เช่น หากคุณต้องการเขียนบรรยายตัวละคร ตัวละครที่คุณเลือกต้องมีความน่าสนใจในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือหากคุณต้องการเขียนบรรยายถึงสิ่งของ สิ่งของชิ้นนั้นก็ต้องมีความหมายลึกซึ้งบางอย่างมากกว่าสิ่งของธรรมดาๆ ทั่วไป เพื่อที่คุณจะได้มีเรื่องมากพอให้เขียนถึง และหากคุณเลือกสถานที่ขึ้นมา ก็ต้องแน่ใจว่าคุณจะสามารถบรรยายสถานที่นั้นๆ ได้โดดเด่นมากพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้
    • ตัวอย่างเช่น ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ "จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น" (The Catcher in the Rye) โฮลเด้น คอลฟีลด์ได้บรรยายถึงถุงมือเบสบอลข้างหนึ่ง แม้ถุงมือจะเป็นเพียงสิ่งของธรรมดาที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่คอลฟีลด์ใช้วิธีการบรรยายที่ทำให้ถุงมือข้างนี้กลายเป็นถุงมือที่มีความหมายมาก เพราะมันเคยเป็นถุงมือของพี่ชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว ความจริงแล้ว สิ่งของทุกชิ้นที่คุณเขียนบรรยายไม่จำเป็นต้องมีภูมิหลังสวยหรู แต่หากมันมีความหมายซุกซ่อนอยู่ สิ่งนี้จะช่วยให้การบรรยายของคุณมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
    • หากคุณต้องการเลือกสถานที่มาเขียนบรรยาย อย่าเลือกแต่สถานที่ประเภทจุดเที่ยวเก่าแก่ริมชายหาด แต่ให้เลือกสถานที่ที่มีความหมายบางอย่างกับคุณ หรือกับตัวละครของคุณในกรณีที่คุณกำลังเขียนนวนิยาย เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้สถานที่ที่คุณเขียนถึงมีความน่าสนใจในอีกระดับ
  2. แนะนำบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของที่คุณกำลังเขียนบรรยาย. หากต้องการดึงดูดความสนใจจากผู้อ่าน แทนที่จะปล่อยให้พวกเขาเดาเอาเอง คุณควรทำให้เขาหรือเธอรู้ว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรให้เร็วที่สุด ด้านล่างนี้คือตัวอย่างบรรทัดเปิดในงานเขียนเชิงพรรณนา
    • ห้องใต้ดินของนาตาชาเป็นเสมือนหลุมหลบภัยของพวกเรา ฉันมีโอกาสได้ย้อนกลับไปยังสถานที่แห่งนั้นอีกครั้งในความฝัน และตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่าฉันคงนอนตายตาหลับได้แล้ว
      • ประโยคเปิดข้างต้นเป็นการแนะนำถึงสิ่งที่ผู้เขียนกำลังบรรยาย ซึ่งก็คือห้องใต้ดินของเพื่อนของผู้เล่านั่นเอง และประโยคเหล่านี้ก็ทำให้พวกเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญกับผู้เล่ามากแค่ไหน
  3. คุณสามารถเริ่มต้นการเขียนด้วยสิ่งที่ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพได้ โดยใช้ภาพที่สามารถดึงดูดความสนใจของเขาหรือเธอเพื่อแนะนำวัตถุที่คุณกำลังจะพูดถึง เนื่องจากภาพเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจได้มากที่สุด งานเขียนเชิงพรรณนาที่ดีจึงต้องพูดถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านมองเห็น การใช้คำคุณศัพท์ที่มีพลังเพื่อบรรยายฉาก เหตุการณ์ ประสบการณ์ หรือสิ่งของของคุณให้ผู้อ่านรับรู้จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพตามได้ โดยให้จำไว้ว่า แม้การใช้คำคุณศัพท์จะช่วยให้คุณสามารถบรรยายวัตถุนั้นๆ ได้อย่างเห็นภาพ แต่การใช้มากเกินไปอาจทำให้งานเขียนของคุณน่าเบื่อและไม่เป็นธรรมชาติ ด้านล่างคือตัวอย่างประโยคเริ่มต้นในการเขียนเชิงพรรณนา:
    • แม้ในวันนี้ ฉันก็ยังสามารถวาดภาพมันออกมาได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งเศษพิซซ่าชิ้นสุดท้ายที่ถูกทิ้งไว้ให้เละอยู่ใต้โต๊ะปิงปอง
      • ผู้อ่านได้เห็นภาพที่บรรยายถึงสิ่งของที่มีอยู่ในห้องใต้ดินในทันที นั่นคือ เศษพิซซ่าเก่าๆ และโต๊ะปิงปอง ซึ่งทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้ถึงความสกปรกและวุ่นวายของสถานที่แห่งนี้
  4. ลองคิดหาวิธีที่คุณสามารถบรรยายหัวข้อ ฉาก หรือเหตุการณ์นั้นๆ ให้ผู้อ่านรับรู้ได้ผ่านการบรรยายกลิ่นหรือรสชาติของสิ่งนั้นๆ งานเขียนเชิงพรรณนาที่ดีที่สุด คืองานเขียนที่สามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกราวกับว่าเขาหรือเธอได้พบเจอกับสิ่งที่กำลังอ่านอยู่จริงๆ ไม่ใช่แต่เพียงกำลังอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ดังนั้น คุณจึงควรใส่ประโยคสักหนึ่งหรือสองประโยคเพื่อบรรยายกลิ่นของวัตถุที่คุณกำลังพูดถึง และเลือกใช้คำคุณศัพท์ที่สามารถบรรยายกลิ่นได้อย่างชัดเจนเพื่อถ่ายทอดกลิ่นนั้นๆ ไปถึงผู้อ่าน ประโยคอย่างเช่น "อาหารจานนี้รสชาติดี" นั้นไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกพิเศษใดๆ ไปยังผู้อ่าน ในขณะที่ประโยคอย่าง "อาหารจานนี้รสชาติเหมือนพายแอปเปิ้ลของคุณยาย ที่ทั้งสดใหม่และยังมีฟองผุดขึ้นบริเวณขอบ ทั้งกรอบ ทั้งหวาน และรสชาติเข้มข้น" นั้นช่วยบรรยายรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารของคุณได้ แน่นอนว่าบางสิ่งที่คุณบรรยายถึงอาจไม่มีรสหรือกลิ่นที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ แต่หากมี ก็จะดีกว่านะหากคุณจะพูดถึงรสหรือกลิ่นนั้นๆ ด้วย และนี่คือส่วนถัดไปของย่อหน้าของเรา:
    • รูทเบียร์ที่หกเรี่ยราดและซอสเป็ดที่ส่องแสงประกายอยู่บนพรมขนปุยสีน้ำตาลช่วยบอกเล่าถึงค่ำคืนที่พวกเรานั่งหัวเราะคิกคักและเที่ยวโทรอำคนโน่นคนนี้เล่น ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่พวกเราวุ่นวายกันมากเกินกว่าจะมานั่งคิดว่าเราอาจต้องทำความสะอาดกันยกใหญ่ มีป๊อปคอร์นเละแบนติดอยู่ในพรมที่ไม่เคยได้รับการทำความสะอาดอย่างจริงจัง จนคุณสามารถได้กลิ่นความหวานและเนยผสมปนเปกันได้แม้ยืนอยู่ที่ระเบียงด้านหน้า
  5. บรรยายถึงความรู้สึกที่ได้รับจากเหตุการณ์หรือสิ่งของนั้นๆ. ในขณะที่เขียนต่อไปเรื่อยๆ คุณควรเขียนประโยคสักหนึ่งหรือสองประโยคเพื่อบอกเล่าว่าประสบการณ์นั้นๆ ให้ความรู้สึกอย่างไร และคุณนึกถึงอะไรในขณะที่กำลังจินตนาการว่าคุณกำลังไล่นิ้วไปบนพื้นผิวของสิ่งนั้นๆ หรือเกิดความรู้สึกเสียวซ่านขึ้นบริเวณหลังอย่างไร? คุณมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อประสบการณ์นั้นๆ? ครั้งนี้ก็เช่นกัน ให้คุณใช้คำคุณศัพท์ต่างๆ เพื่ออธิบายถึงความรู้สึกที่คุณได้รับในชั่วขณะนั้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการบรรยายทั่วๆ ไป เช่น "มันรู้สึกดี" ซึ่งไม่ได้บรรยายสิ่งใดออกมาเลย จงเลือกใช้คำที่เฉพาะเจาะจงและตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนั้นๆ ไปถึงผู้อ่าน หากคุณสามารถอธิบายได้ว่าสิ่งของหรือวัตถุชิ้นนั้นทำให้ตัวละครหนึ่งๆ รู้สึกอย่างไร นี่แหละที่จะทำให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกที่คุณต้องการสื่อได้อย่างชัดเจน และประโยคถัดไปของเราคือ:
    • ไม่มีสิ่งใดถูกลบล้างออกไปเลยแม้แต่น้อย ที่นี่จึงเป็นเหมือนความทรงจำของพวกเรา หากมีเวลาและความมุ่งมั่งมากพอ คุณสามารถค้นเจอสิ่งของเกือบทั้งหมดได้ที่นี่ ครั้งหนึ่ง เคธี่เคยค้นเจอทามาก็อตจิที่เธอได้มาตอนอนุบาล 3 จากในตู้เก็บของ อีกวันหนึ่ง นอร่าขุดค้นจนเจอกล้องแบบใช้แล้วทิ้ง กับภาพสดที่ฉันถ่ายตอนเราไปเที่ยวเกาะเอลลิสกันตอนป.1
      • โปรดสังเกตว่าในข้อความข้างต้น ผู้เล่ากำลังแสดงให้เห็นว่าห้องใต้ดินที่เธอกำลังพูดถึงไม่เคยได้รับการทำความสะอาด และในขณะเดียวกันก็ใช้รายละเอียดเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าห้องใต้ดินแห่งนี้มีความสำคัญกับเธอมาก เพราะที่นี่เป็นเหมือนกล่องที่เก็บบันทึกช่วงเวลาวัยเด็กของเธอไว้ ประโยคข้างต้นจึงสามารถสื่อถึงความรู้สึกของการได้อยู่ในห้องใต้ดินแห่งนี้ และยังมีการใช้ภาษาภาพพจน์เพื่อแต่งเติมความหมายอันลึกซึ้งให้กับสถานที่นี้อีกด้วย
  6. คุณได้ยินอะไร? มันเงียบจนน่ากลัวหรือไม่? หากได้ยินเสียงเตือนภัย ให้หลีกเลี่ยงการบรรยายในทำนองที่ว่า "ทันใดนั้นเอง ฉันก็ได้ยินเสียงเตือนดังมาก" แต่ให้บรรยายในลักษณะที่ว่า "ฉันสะดุ้งสุดตัวเมื่อจู่ๆ ก็ได้ยินเสียงเตือนดังมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ เสียงมันดังน่ากลัวจนฉันต้องเอามือปิดหน้าปิดหูไว้ ฉันคิดว่ามันเป็นสัญญาณเตือนไฟไหม้ ... " เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้อ่านจะเข้าใจถึงความรู้สึกของการได้ยิน "สัญญาณเตือนไฟไหม้" เพราะคนส่วนใหญ่เคยได้ยินเสียงดังจนน่าตกใจของสัญญาณเตือนไฟไหม้มาก่อน และนี่คือวิธีการที่เราใช้บรรยายเสียงในย่อหน้าของเรา:
    • ทีวีในห้องใต้ดินเปิดอยู่ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครเคยดูมันจริงๆ เพราะเรามัวแต่ยุ่งอยู่กับการหัวเราะกับเกมไร้สาระล่าสุดที่พวกเราเล่นกัน ทั้งเกมรัมมี่คับและการโทรอำคนโน่นคนนี้ พูดถึงคนที่พวกเราชอบ หรือคอยเงี่ยหูฟังเสียงกระดิ่งประตูที่บอกให้รู้ว่าพิซซ่าของเรามาถึงแล้ว
      • ในประโยคข้างต้น ผู้เล่าใช้การบรรยายถึงเสียงภายในห้องใต้ดิน เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของการได้อยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นจริงๆ รวมถึงบอกผู้อ่านเป็นนัยๆ ถึงสิ่งที่พวกเขาเคยทำเป็นประจำในห้องนี้
  7. ในขณะที่คุณกำลังบรรยายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณควรทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ ได้กลิ่น ได้ยิน หรือรู้สึกอย่างที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ยินเช่นนั้น เช่น หากคุณกำลังพูดถึงทนายความคนหนึ่ง อย่าบอกผู้อ่านถึงสิ่งที่พวกเขาคาดคิดว่าจะได้ยินเมื่อพูดถึงทนาย เช่น เขาใส่ชุดสูทและทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ให้เล่าถึงความรักที่เขาแอบมีให้กับอิกัวน่าสัตว์เลี้ยงของเขาแทน โดยการบรรยายของคุณต้องฟังดูแปลกใหม่และสร้างความตื่นตกใจได้ ลองไปอ่านเรื่องของเราต่อกัน:
    • พวงดอกไม้วันคริสต์มาสสีเงินที่แขวนอยู่ตรงราวบันไดเป็นเหมือนของตกแต่งที่ติดอยู่อย่างถาวร สายรุ้งประดับงานวันเกิดเส้นเดิมที่เราใช้ฉลองงานวันเกิดเล็กๆ มาแล้วถึง 3 หน ในที่สุดก็สูญเสียสีของพวกมันไป และดูเหมือนจะพากันหลุดลอกออกจากผนังด้วยความสมัครใจ
      • ประโยคข้างต้นทำให้เรารู้สึกราวกับว่าห้องใต้ดินแห่งนี้มีชีวิตและความต้องการเป็นของตัวเอง
  8. การใช้เทคนิคอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียน เพื่อให้งานเขียนของคุณออกมาสมบูรณ์แบบนั้นจะทำให้องค์ประกอบทั้งหมดในงานเขียนของคุณมีความน่าสนใจและทำให้ผู้อ่านนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้ หากคุณใส่องค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้ลงไปในงานเขียนของคุณ ผู้อ่านจะสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่คุณต้องการถ่ายทอดและเข้าใจคุณค่าของงานของคุณได้อย่างเต็มที่ คุณสามารถบรรยายบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของต่างๆ ได้โดยใช้ทั้งการบอกเล่าแบบตรงๆ หรือการพูดโดยใช้อุปมาอุปไมยหรือการเปรียบเทียบ เพื่อให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงสิ่งที่คุณกำลังพูดได้อย่างชัดเจน และนี่คือตัวอย่างการใช้ภาษาภาพพจน์:
    • อย่างที่เห็น การที่ห้องใต้ดินแห่งนี้มีทั้งโต๊ะปิงปองที่ไม่มีตาข่ายและที่นอนโล่งๆ ที่หันหน้าเข้าหาทีวี ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูเหมือนฉากถ่ายมิวสิควิดีโอเพลง "Criminal" ของฟีโอน่า แอปเปิ้ล มากกว่าจะเป็นสถานที่ให้ลูกๆ ของคุณอาศัยอยู่
      • ในประโยคข้างต้นมีการใช้อุปมาอุปไมยเพื่อเปรียบเทียบห้องใต้ดินกับมิวสิควิดีโอฉาวโฉ่ตัวหนึ่ง เพื่อเพิ่มความหมายในอีกระดับให้กับสถานที่แห่งนี้
  9. แม้คุณจะไม่จำเป็นต้องมีประโยคสรุปสวยๆ ในงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ชิ้นนี้ (ยกเว้นในกรณีที่นี่เป็นการบ้านของคุณ) คุณอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการบางอย่างเพื่อสรุปใจความให้กับย่อหน้าของคุณ เพื่อให้ผู้อ่านจดจำได้ถึงสิ่งที่คุณบรรยายไป และเพื่อทิ้งความรู้สึกบางอย่างเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของนั้นๆ ไว้ในใจของผู้อ่าน และนี่คือบทสรุปของย่อหน้าของเรา:
    • และนั่นคือสาเหตุที่มีแปรงสีฟันเพิ่มขึ้นมาอีก 3 แปรงในห้องน้ำชั้นล่าง เราทั้งสามคนสามารถใช้ชีวิตและตายที่นั่นได้เลยเชียวล่ะ
      • ในบรรทัดสุดท้ายนี้ แม้ว่าผู้เล่าจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเด็กผู้หญิงอีกสามคนเคยใช้เวลาทั้งหมดในแต่ละวันที่นั่น แต่การให้ภาพของแปรงสีฟันที่เพิ่มขึ้นมาแสดงให้เห็นว่าห้องใต้ดินแห่งนี้เคยเป็นที่หลบภัยของเด็กๆ และทำให้ผู้อ่านนึกถึงประโยคแรกของย่อหน้านี้ ประโยคเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าห้องใต้ดินแห่งนี้มีความสำคัญต่อเด็กสาวที่ "เติบโตมา" ในสถานที่แห่งนี้ โดยที่ผู้เล่าไม่จำเป็นต้องกล่าวออกมาตรงๆ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ รอบตัวคุณเสมอ และใช้อุปมาอุปไมยและการเปรียบเทียบเยอะๆ เพื่อบรรยายถึงสิ่งที่คุณเห็น ได้กลิ่น ได้รสชาติ หรือได้สัมผัส
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดอย่างเช่น “น่ารัก” “ดี” “สวย” หรือ “เจ๋ง” เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้นในใจของผู้อ่าน
  • หมั่นใช้ประโยคง่ายๆ แต่ทรงพลัง!
  • เสียงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก รสชาติและกลิ่นก็เช่นเดียวกัน คุณจึงควรใช้อุปมาอุปไมยหรือการเปรียบเทียบที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ผู้อ่านตามทันว่า "คุณกำลัง" ประสบกับอะไร อย่าทิ้งรายละเอียดใดๆ ก็ตามให้พวกเขาเดาเอง
  • จำไว้ว่า อย่าเหลือรายละเอียดใดๆ ให้ผู้อ่านจินตนาการเอาเอง โดยเฉพาะเมื่อคุณกำลังบรรยายเสียง ประโยคอย่างเช่น "สายลมอ่อนๆ กระซิบแผ่วผ่านหูของฉัน ทำให้ทุ่งหญ้าแห่งนี้ดูเงียบสงบ" ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายเสียงที่ได้ยิน
  • ใช้คำคุณศัพท์เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ เช่น: ในภายหลัง
  • คุณต้องใจเย็น พยายามปลดปล่อยจินตนาการสร้างสรรค์ของคุณ และตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณได้อธิบายรอยต่อจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งแล้ว


โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 76,657 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา