ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ตู้เย็นตามท้องตลาดในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องละลายน้ำแข็ง ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องคอยกังวลกับปัญหาน้ำแข็งเกาะตามผนังด้านในตราบใดที่ตู้เย็นของคุณทำงานตามปกติ สิ่งสำคัญคือคุณควรเปิดประตูตู้เย็นเท่าที่จำเป็นรวมถึงตรวจสอบสภาพขอบยางประตูเพื่อให้แน่ใจว่าประตูตู้เย็นปิดสนิทและอากาศภายนอกไม่สามารถไหลเข้าไปได้ นอกจากนี้คุณควรหมั่นทำความสะอาดทั่วทุกบริเวณของตู้เย็นและจัดของในตู้เย็นให้เป็นระเบียบอยู่เสมอเพื่อให้อากาศภายในตู้เย็นไหลเวียนได้ดี หากคุณสังเกตเห็นว่าน้ำแข็งเริ่มเกาะเป็นชั้นหนาตามผนังของช่องแช่เย็นหรือช่องแช่แข็ง ให้คุณปล่อยให้น้ำแข็งละลายจนหมดหรือกระเทาะน้ำแข็งให้หลุดออกทีละน้อย

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

แก้ปัญหาประตูตู้เย็นปิดไม่สนิท

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเปิดประตูตู้เย็นบ่อยๆ จะทำให้ระดับความชื้นภายในตู้เย็นเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้น้ำแข็งเริ่มเกาะเป็นชั้นหนาตามผนังด้านในได้ นอกจากนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการเปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานๆ ในระหว่างที่คุณยังคงตัดสินใจเลือกของที่อยากทานไม่ได้หรือนึกไม่ออกว่าต้องหยิบส่วนผสมใดออกมาจากตู้เย็นบ้าง ให้คุณนึกถึงรายการของที่ต้องการไว้คร่าวๆ ในหัวและหยิบของทั้งหมดออกมาจากตู้เย็นทีเดียว รวมทั้งเปิดประตูตู้เย็นเพียงครั้งละบานและหยิบของออกมาอย่างรวดเร็วก่อนปิดประตูตู้เย็นภายใน 1 นาที [1]
    • ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตั้งใจจะอบขนม ให้คุณหยิบไข่ เนย และนมออกมาจากตู้เย็นทีเดียวเพื่อที่คุณจะได้เปิดประตูตู้เย็นเพียงครั้งเดียว
    • หากคุณมักจำไม่ค่อยได้ว่ามีอะไรแช่อยู่ในตู้เย็นบ้าง ให้คุณจดรายการของที่แช่ไว้ในตู้เย็นติดไว้หน้าประตูตู้เย็น
  2. ปรับขาตั้งด้านหน้าของตู้เย็นให้สูงขึ้นเพื่อให้ประตูตู้เย็นปิดเองโดยอัตโนมัติ. หากประตูตู้เย็นมักแง้มออกหรือเปิดออกกว้างในระหว่างที่คุณกำลังลำเลียงของเข้าออก ระดับความชื้นภายในตู้เย็นก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้ง่ายจนส่งผลให้น้ำแข็งเริ่มเกาะเป็นชั้นหนาตามผนังด้านใน ลองหาคนช่วยดึงตู้เย็นให้ห่างออกจากผนังประมาณ 1 ฟุต (30 ซม.) จากนั้นวานให้ผู้ช่วยคนนี้ของคุณช่วยจับตู้เย็นเอียงไปทางผนังด้านหลังเพื่อยกขาตั้งด้านหน้าทั้งสองฝั่งขึ้นมาจากพื้น ในระหว่างนี้ให้คุณหมุนขาตั้งทวนเข็มนาฬิกาเพื่อคลายขาตั้งออกให้ยกสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย วิธีนี้จะช่วยให้ประตูตู้เย็นปิดได้โดยอัตโนมัติโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก [2]
    • หลังจากที่คุณคลายขาตั้งออกแล้ว ลองเปิดประตูตู้เย็นเพื่อดูว่าประตูปิดลงมาเองตามแรงโน้มถ่วงหรือไม่ หากประตูตู้เย็นยังคงเปิดอยู่ ให้คุณหมุนขาตั้งเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อยกให้สูงขึ้นกว่าเดิม
    • หลังปรับขาตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้คุณดันตู้เย็นกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม
  3. บานพับประตูตู้เย็นที่เริ่มหลวมจะทำให้ประตูปิดไม่สนิทซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับความชื้นภายในตู้เย็นเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้น้ำแข็งเริ่มเกาะเป็นชั้นหนาตามผนังด้านในได้ หากคุณสังเกตเห็นว่าประตูหรือสกรูเริ่มหลวม ให้คุณไขสกรูให้แน่นขึ้นโดยใช้ไขควงหมุนสกรูไปตามเข็มนาฬิกาจนสุดและไม่หมุนไปมาอีก [3]
    • สำหรับตู้เย็นบางรุ่น คุณอาจต้องถอดฝาครอบพลาสติกที่ครอบบานพับประตูตู้เย็นไว้ออกมาก่อน
  4. เช็ดขอบยางประตูให้ทั่วเพื่อขจัดคราบสกปรกให้หลุดออก. ขอบยางประตูตู้เย็นที่มีเศษอาหารหรือน้ำแข็งติดอยู่อาจทำให้ประตูตู้เย็นปิดไม่สนิทเหมือนเดิม โดยคุณสามารถทำความสะอาดขอบยางประตูตู้เย็นได้โดยใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยนเช็ดที่ขอบยางประตูไปทีละบาน รวมถึงเช็ดตามกรอบประตูให้สะอาดด้วยเช่นกันเพื่อให้แน่ใจว่าขอบยางประตูดูดติดกับกรอบประตูได้สนิท เมื่อเสร็จแล้วให้คุณใช้ผ้าแห้งซับน้ำที่เหลืออยู่ให้แห้งสนิทก่อนปิดประตูตู้เย็นให้เรียบร้อย [4]
    • ระวังอย่าให้มีคราบน้ำหลงเหลืออยู่เพราะอาจก่อตัวเป็นน้ำแข็งได้
  5. เปลี่ยนขอบยางประตูใหม่แทนอันเก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว. [5] ลองตรวจสอบสภาพของขอบยางประตูตู้เย็นทั้งช่องแช่เย็นและช่องแช่แข็ง หากพบว่าขอบยางของประตูบานใดบานหนึ่งเสื่อมสภาพลงแล้ว คุณควรเปลี่ยนขอบยางประตูอันใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าประตูตู้เย็นปิดสนิท คุณสามารถติดต่อศูนย์บริการของยี่ห้อตู้เย็นที่คุณใช้เพื่อสั่งซื้อขอบยางประตูอันใหม่ หลังจากที่ได้รับอะไหล่มาแล้ว ให้คุณถอดปลั๊กตู้เย็นออกและนำอาหารที่เน่าเสียง่ายมาแช่ไว้ในกระติกน้ำแข็ง จากนั้นถอดขอบยางประตูอันเก่าออกและเปลี่ยนอันใหม่เข้าไปแทนให้เรียบร้อย [6]
    • ตรวจสอบหมายเลขรุ่นของตู้เย็นเพื่อให้แน่ใจว่าอะไหล่ที่สั่งซื้อมาตรงกับรุ่นตู้เย็นของคุณ
    • ทดสอบขอบยางประตูที่เปลี่ยนใหม่ก่อนเริ่มเสียบปลั๊กตู้เย็นและนำอาหารกลับไปแช่ในตู้เย็นดังเดิม โดยขอบยางประตูจะต้องดูดติดกับกรอบประตูได้สนิทโดยไม่เหลือช่องว่าง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ดูแลรักษาตู้เย็นให้ทำงานเป็นปกติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ในระหว่างที่ตู้เย็นกำลังทำงาน ให้คุณลองยื่นมือเข้าไปในตู้เย็นเพื่อหาตำแหน่งของแผงทำความเย็น ซึ่งตู้เย็นโดยส่วนใหญ่มักติดตั้งแผงทำความเย็นไว้ที่ผนังด้านหลังของตู้เย็น หากคุณวางอาหารไว้ใกล้กับบริเวณแผงทำความเย็นแน่นจนเกินไป ให้คุณเคลื่อนย้ายของเหล่านี้ออกจากบริเวณดังกล่าวเพื่อเหลือช่องว่างไว้ให้อากาศภายในตู้เย็นสามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวก [7]
    • วางกล่องหรือถุงอาหารแช่แข็งขนาดใหญ่ให้ห่างจากผนังด้านข้างและด้านหลังของตู้เย็นเพื่อไม่ให้ปิดกั้นช่องระบายอากาศ
  2. อย่าแช่อาหารในช่องแช่เย็นหรือช่องแช่แข็งมากเกินไป. การแช่อาหารในตู้เย็นแน่นเกินไปจะจำกัดการไหลเวียนของอากาศภายในตู้เย็นและทำให้ไอเย็นถูกสะสมอยู่เพียงบางบริเวณจนส่งผลให้เกิดน้ำแข็งเกาะเป็นหย่อมๆ ได้ พยายามจัดวางของต่างๆ ไว้ในลิ้นชักหรือชั้นสำหรับเก็บอาหารประเภทนั้นโดยเฉพาะ เช่น เก็บผลไม้ไว้ในลิ้นชักสำหรับแช่ผักและผลไม้ เก็บเนื้อสัตว์ไว้ในลิ้นชักสำหรับแช่เนื้อสัตว์ เก็บเนยไว้ในกล่องใส่เนย และวางขวดเครื่องปรุงไว้บนชั้นวางของข้างประตูตู้เย็น รวมทั้งใช้ถาดหรือกล่องเก็บอาหารในตู้เย็นเพื่อจัดเก็บของในตู้เย็นให้เป็นระเบียบและไม่กระจายไปทั่ว [8]
    • ในแต่ละสัปดาห์ให้คุณตรวจสอบอาหารที่แช่ในตู้เย็นเพื่อดูว่าเน่าเสียหรือหมดอายุแล้วหรือไม่และโยนทิ้งลงถังขยะไปเพื่อเตรียมพื้นที่ในตู้เย็นไว้สำหรับจัดเก็บอาหารที่สดใหม่
  3. ทำความสะอาดช่องระบายอากาศทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้อากาศภายในตู้เย็นหมุนเวียนได้ดี. ช่องระบายอากาศที่สกปรกและเต็มไปด้วยสิ่งอุดตันอาจทำให้อากาศภายในตู้เย็นไหลเวียนได้ไม่ดีนักจนส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำแข็งเกาะได้ ดังนั้นในทุกๆ 6 เดือน ให้คุณถอดตะแกรงระบายอากาศที่อยู่ด้านในตู้เย็นออกมาและใช้แปรงขัดจุ่มลงไปในน้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยนก่อนนำไปขัดให้เศษฝุ่น สิ่งสกปรก หรือคราบอาหารหลุดออก จากนั้นเช็ดให้แห้งสนิทก่อนใส่กลับเข้าไปดังเดิม [9]
    • อย่าลืมถอดปลั๊กตู้เย็นออกและนำอาหารที่เน่าเสียง่ายแช่ไว้ในกระติกน้ำแข็งก่อนลงมือถอดตะแกรงระบายอากาศออก
  4. เช็ดถูด้านในตู้เย็นให้สะอาดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง. ก่อนลงมือทำความสะอาดตู้เย็นของคุณ ให้คุณลำเลียงอาหารในตู้เย็นทั้งหมดออกมาและนำอาหารที่เน่าเสียง่ายแช่ไว้ในกระติกน้ำแข็งเป็นการชั่วคราว เริ่มจากใช้กระดาษอเนกประสงค์เก็บเศษหรือคราบอาหารออกให้หมด จากนั้นจึงเช็ดทำความสะอาดชั้นวางและผนังด้านในให้ทั่วด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำสบู่อุ่นๆ และเช็ดอีกครั้งให้แห้งสนิทก่อนนำอาหารทั้งหมดกลับมาแช่ในตู้เย็นดังเดิม [10]
    • เมื่อไรก็ตามที่คุณสังเกตเห็นเศษหรือคราบอาหารเปื้อนอยู่ ให้คุณเช็ดออกโดยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข็งตัวจนเป็นผลึกแข็งได้
  5. ดูดฝุ่นแผงคอยล์ร้อนที่อยู่ด้านหลังตู้เย็นประมาณ 2 ครั้งต่อปี. [11] ก่อนอื่นให้คุณถอดปลั๊กตู้เย็นออกและนำอาหารที่เน่าเสียง่ายแช่ไว้ในกระติกน้ำแข็งให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นดึงตู้เย็นให้ห่างออกจากผนังมากพอให้คุณสามารถสอดตัวเข้าไปหลังตู้เย็นได้ง่าย ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่ประกอบหัวแปรงไว้ดูดเศษฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนแผงคอยล์ร้อนออกให้หมดก่อนดันตู้เย็นกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม [12]
    • ขยับหัวเครื่องดูดฝุ่นไปตามขดลวดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยเว้า
    • หากคุณมีสัตว์เลี้ยง คุณอาจต้องทำความสะอาดแผงคอยล์ร้อนบ่อยขึ้นเพราะอาจมีขนสัตว์เข้าไปติดอยู่ด้านหลังตู้เย็นเป็นจำนวนมาก
    • สำหรับตู้เย็นบางรุ่น แผงคอยล์ร้อนอาจติดตั้งอยู่ที่ด้านล่างหรือด้านบนตู้เย็น คุณสามารถอ่านคู่มือการใช้งานเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการเข้าถึงแผงคอยล์ร้อนที่ถูกต้อง
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

กำจัดน้ำแข็งที่เกาะเป็นชั้นหนา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตั้งอุณหภูมิช่องแช่เย็นที่ 3-4°C และช่องแช่แข็งที่ -18°C. หมุนลูกบิดปรับอุณหภูมิที่อยู่ภายในตู้เย็นให้อยู่ในตำแหน่งช่วงอุณหภูมิดังกล่าวเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในช่องแช่เย็นและช่องแช่แข็งให้เหมาะสม การตั้งอุณหภูมิของตู้เย็นอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณสามารถจัดเก็บอาหารได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำแข็งเกาะ หลีกเลี่ยงการปรับความเย็นให้ต่ำกว่าช่วงอุณหภูมิดังกล่าวเพราะอาจส่งผลให้น้ำแข็งเกาะเป็นชั้นหนาตามผนังด้านในได้ [13]
    • ตรวจสอบอุณหภูมิภายในช่องแช่เย็นและช่องแช่แข็งด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิในตู้เย็น
  2. ละลายน้ำแข็งด้วยผ้าชุบน้ำร้อน [14] . ใช้ผ้าเช็ดอเนกประสงค์หรือฟองน้ำชุบน้ำร้อนให้ชุ่ม จากนั้นนำมาวางทับไว้บนบริเวณที่มีน้ำแข็งเกาะและกดลงไปเบาๆ เพื่อให้น้ำแข็งเริ่มละลาย เมื่อผ้าหรือฟองน้ำเริ่มเย็นลง ให้คุณจุ่มลงไปในน้ำร้อนอีกครั้งก่อนนำมาวางทับไว้เพื่อละลายน้ำแข็งดังเดิม ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำแข็งละลายจนหมด [15]
    • ใช้กระดาษอเนกประสงค์หรือผ้าแห้งซับน้ำที่เหลืออยู่ให้แห้งสนิทก่อนปิดประตูตู้เย็น
  3. ใช้แปรงหรืออุปกรณ์เครื่องครัวกระเทาะน้ำแข็งที่เกาะแน่นให้หลุดออก. หากน้ำแข็งยังคงละลายไม่หมดหลังจากที่คุณวางทับด้วยผ้าชุบน้ำร้อน ให้คุณใช้แปรงที่มีขนแข็งปานกลางหรือแข็งมากขัดไปมาจนกระทั่งน้ำแข็งที่เกาะแน่นหลุดออก หรือจะลองใช้ทัพพีไม้ที่แข็งแรงพอเคาะให้น้ำแข็งหลุดออกมาก็ได้เช่นกัน หลังจากที่น้ำแข็งหลุดออกมาแล้ว ให้คุณกวาดเศษน้ำแข็งที่ตกอยู่ใส่ไว้ในชามก่อนเททิ้งลงไปในอ่างล้างมือเพื่อรอละลาย [16]
    • หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมในการแซะน้ำแข็งให้หลุดออกเพราะอาจทำให้ผนังด้านในตู้เย็นเกิดความเสียหายได้ [17]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ตู้เย็นตามท้องตลาดในปัจจุบันถูกออกแบบมาให้สามารถละลายน้ำแข็งได้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม สำหรับตู้เย็นรุ่นเก่ากว่าอาจยังคงต้องคอย ละลายน้ำแข็ง เป็นระยะๆ [18]
  • หากตู้เย็นใหม่ของคุณที่คงอยู่ภายในระยะเวลารับประกันเกิดปัญหาขัดข้องใดๆ ให้คุณติดต่อศูนย์บริการเพื่อนัดหมายขอรับบริการซ่อมแซม [19]
โฆษณา
  1. https://www.self.com/story/how-to-clean-your-freezer
  2. Aaron Beth. ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า. การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ. 14 กรกฎาคม 2020.
  3. https://www.washingtonpost.com/lifestyle/home/take-care-of-your-fridge-and-it-might-last-longer/2018/08/20/e8381364-9f42-11e8-8e87-c869fe70a721_story.html
  4. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/are-you-storing-food-safely
  5. Aaron Beth. ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า. การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ. 14 กรกฎาคม 2020.
  6. https://www.self.com/story/how-to-clean-your-freezer
  7. https://www.self.com/story/how-to-clean-your-freezer
  8. Aaron Beth. ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า. การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ. 14 กรกฎาคม 2020.
  9. Aaron Beth. ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า. การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ. 14 กรกฎาคม 2020.
  10. https://www.self.com/story/how-to-clean-your-freezer

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 19,747 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา