ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การพูดในที่สาธารณะสามารถทำให้หลายๆ คนหวาดหวั่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ พูดอวยพรเพื่อนในงานแต่ง หรือการตอบคำถามหน้าชั้นเรียนก็ตาม โชคยังดีที่คุณสามารถทำให้การพูดในที่สาธารณะ เป็นเรื่องน่ากังวลน้อยลง ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านล่างนี้ มันไม่ถึงกับขนาดจะทำให้คุณหลงรักการพูดในที่สาธารณะหรอก แต่อย่างน้อย ก็ช่วยไม่ให้คุณสำลักออกมา เวลาต้องพูดต่อหน้าคนฟังจำนวนมาก

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เตรียมการพูด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. องค์ประกอบหนึ่งของการทำตัวเองให้เป็นนักพูดที่น่าติดตามและวางตัวสบายได้นั้น คือ การรู้สึกและรู้จริงในสิ่งที่พูด การขาดความเข้าใจในเรื่องที่คุณพูด จะทำให้คุณรู้สึกกังวลและไม่แน่ใจ ซึ่งความรู้สึกนั้นจะถ่ายทอดไปยังคนฟัง
    • การเตรียมตัวคือหัวใจสำคัญ ให้เวลาตัวเองในขั้นตอนวางแผน เพื่อให้แน่ใจว่าการพูดของคุณจะเป็นธรรมชาติและมีความต่อเนื่อง คุณยังควรรู้ด้วยว่าท่าทางการพูดของคุณเป็นอย่างไร จากนั้น ก็พยายามนำเสนอคุณลักษณะด้านบวก ในขณะที่พยายามแสดงด้านลบให้น้อยที่สุด
    • แม้ว่าการพูดในที่สาธารณะ จะไม่ต่างกับการตอบคำถามหน้าชั้นเรียน แต่คุณก็จำเป็นจะต้องรู้ให้จริงในสิ่งที่พูด ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกและปรากฏตัวอย่างมีความมั่นใจ ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง
  2. แม้ว่าการพูดในที่สาธารณะนั้น จะไม่ใช่การวิ่งแข่ง แต่มีบางสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อเตรียมร่างกายให้เหมาะสม มันไม่ใช่แค่การรู้ว่าไม่ควรโยกตัวหรือเทน้ำหนักไปมาระหว่างขาสองข้าง (แค่บังคับนิ้วเท้าให้นิ่ง ก็แก้ไขเรื่องนี้ได้แล้ว) แต่ยังรวมถึงวิธีการหายใจ การนำเสนอ และตรวจสอบการพูดให้เหมาะสม
    • พูดจากกระบังลม มันจะช่วยให้คุณพูดเสียงดังฟังชัด และคนฟังก็จะได้ยินคุณชัดเจนโดยไม่ดูเหมือนคุณตะโกนหรือบีบเสียง ลองฝึกด้วยการยืนตัวตรงและเอามือวางทาบหน้าท้อง หายใจเข้าและออก แต่ละครั้งนับหนึ่งถึงห้า สลับกับหนึ่งถึงสิบ คุณจะเริ่มรู้สึกว่าหน้าท้องผ่อนคลายลง และจะเหมาะมากเวลาที่พูดหรือหายใจจากภาวะดังกล่าว
    • ปรับโทนเสียงของคุณ นึกให้ออกว่าเสียงของคุณมีความแหลมสูงหรือทุ้มลึกเกินไป หรือกระทั่งมีแต่สุนัขเท่านั้นที่สามารถได้ยิน พยายามผ่อนคลาย และยืนสบายๆ (แต่ตัวตรง) และหายใจอย่างเหมาะสม จะช่วยให้คุณค้นหาระดับเสียงที่ฟังสบายและน่าฟังมากขึ้นได้
    • หลีกเลี่ยงการหายใจจากลำคอหรือหน้าอกช่วงบน เพราะท่าทางทั้งสองแบบนี้สามารถทำให้คุณกังวลและเกร็งลำคอมากขึ้น ผลที่ได้คือ คุณจะเหมือนพูดบีบเสียงและไม่น่าฟัง
    • การเคี้ยวหมากฝรั่งไม่กี่นาทีก่อนขึ้นพูดจะช่วยเพิ่มกระแสเลือดไหลเวียนสู่สมอง ทำให้มีสมาธิเพ่งได้ง่ายขึ้น ให้เลือกแบบไร้น้ำตาลเพื่อที่น้ำตาลในเลือดจะได้ไม่พุ่งปรี๊ด และให้แน่ใจว่าได้คายทิ้งก่อนจะขึ้นพูด [1]
  3. คนเราจะพูดเร็วกว่าเดิม หากพูดแบบสนทนากันทั่วไป แต่การพูดแบบนั้นไม่เหมาะสมในการพูดในที่สาธารณะ เพราะคนฟังต้องการจะฟังคุณพูดให้ทันและยังต้องการเวลาในการคิดตามสิ่งที่คุณพูดด้วย
    • พยายามพูดช้าลงและรอบคอบมากขึ้นกว่าการสนทนาทั่วไป จงทำให้แน่ใจว่า คุณมีการหยุดในช่วงเปลี่ยนหัวข้อ หรือในช่วงเน้นหัวข้อสำคัญ เพื่อให้คนฟังได้ทำความเข้าใจและทบทวนสิ่งที่คุณพูด
    • ฝึกการแปรเสียงและการออกเสียง การแปรเสียง คือ เน้นการออกเสียงบางตัวเพื่อให้คนฟังไม่สับสน โดยเฉพาะเสียงเหล่านี้: บ ป ด ท/ธ พ/ภ ค ข เป็นต้น ส่วนการออกเสียง คุณจำเป็นต้องแน่ใจว่าออกเสียงถูกต้องทุกคำ และอย่าลืมฝีกฝนคำที่ออกเสียงยากด้วย
    • อย่าใช้คำว่า “เอ่อ…” หรือคำในลักษณะเดียวกัน เช่น “คือแบบ…” ซึ่งอาจจะฟังดูโอเคในการสนทนาทั่วไป แต่ในการพูดในที่สาธารณะ มันจะทำให้คุณดูเหมือนไม่แน่ใจในสิ่งที่กำลังจะพูด
  4. การรู้ลักษณะโวหาร หรือถ้อยคำและลีลาการพูดของตนเองนั้น ก็สำคัญพอๆ กับการรู้ในเรื่องที่คุณกำลังจะพูด ลักษณะโวหารก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนั้น คุณควรเลือกให้เหมาะกับตัวเอง
    • การจะกำหนดถ้อยคำและชั้นเชิงการพูดต่างๆ คุณต้องมีกระดาษโน้ตหรืออะไรบางอย่างจดไว้ หรือจะใช้จำเอาก็ได้ ถ้าคุณถนัดแบบนั้น (หากความจำคุณแย่ ก็อย่าลอง)
    • คุณไม่จำเป็นต้องเขียนสิ่งที่จะพูดลงไปทุกตัวอักษร (เปิดช่องให้มีการพูดสดบ้าง) แม้ว่าคุณอาจจะเขียนบอกตัวเองไว้ว่า “หยุดหลังจากพูดประโยคนี้จบ” หรือ “พักหายใจตรงช่วงนี้” เพื่อที่จะทำได้โดยไม่ลืม
  5. แม้ว่าคุณจะไม่จำเป็นต้องจดจำถ้อยคำหรือลีลาการพูดให้ได้ทั้งหมด แต่หากทำได้ มันก็จะช่วยให้คุณดูมั่นใจและผ่อนคลายในเรื่องที่พูด แต่คุณต้องแน่ใจว่ามีเวลามากพอในการจำ [2]
    • เขียนโวหารของคุณทั้งหมดออกมาซ้ำแล้วซ้ำอีก วิธีนี้จะช่วยให้คุณจำโวหารได้ ยิ่งเขียนมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยจำได้ง่ายขึ้น หลังจากที่คุณเขียนออกมาหลายๆ ครั้งแล้ว ลองทดสอบตัวเองดูว่าจำได้มากน้อยเพียงใด หากมีช่วงใดที่คุณยังจำไม่ค่อยได้ ก็แค่เขียนช่วงนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป
    • แตกย่อยโวหารออกเป็นส่วนเล็กๆ และจดจำทีละส่วน การจดจำโวหารทั้งหมดเป็นส่วนเดียวเลย จะยากกว่าแบบนี้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือจำแบบเป็นส่วนๆ (เริ่มจากหัวข้อย่อยแต่ละข้อ และค่อยเปลี่ยนไปจำหัวข้อใหญ่บ้าง อย่างละสามหัวข้อ)
    • ฝึกพูดเวลาเดินอยู่ในบ้าน เริ่มตั้งแต่ประตูบ้านก็ลองพูดช่วงเกริ่นนำ ย้ายไปอีกห้องเมื่อเริ่มพูดถึงใจความสำคัญ เดินไปทั่วบ้านโดยการพูดไปเรื่อยๆ แล้วทำซ้ำ การย้ายห้องจะช่วยเตือนคุณว่าไปถึงบทพูดช่วงไหน ช่วยให้จำบทได้ดีขึ้น
    • ใช้เทคนิคโลซาย แตกย่อยโวหารทั้งหมดอกเป็นย่อหน้าหรือข้อย่อย ใช้จินตภาพนึกภาพเพื่อเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อย่อย (แบบเดียวกับที่คุณนึกถึงภาพห้างสรรพสินค้าชั้นนำในไทย ทุกครั้งที่นึกถึงแหล่งขายสินค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) จากนั้น กำหนดสถานที่ขึ้นชื่อของพวกมันแต่ละข้อ (เช่น หากพูดถึงเดอะมอลล์ ก็นึกถึงสยามพารากอน หากนึกถึงเซ็นทรัล ก็นึกถึงเซ็นทรัลเวิลด์) จากนั้นนึกภาพว่า คุณกำลังเดินทางท่องไปยังสถานที่เหล่านี้ หากคุณมีหลายประเด็นที่จะพูดถึงแต่ละหัวข้อย่อย ก็รวมหัวข้อย่อยเหล่านั้นไว้ตามสถานที่ต่างๆ เกี่ยวข้องกับมัน (เช่น ประเด็นที่ว่าเคยเกิดเหตุไฟไหม้ ก็นึกถึงเซ็นทรัล ส่วนประเด็นที่ว่า เคยดำเนินธุรกิจอาบอบนวดมาก่อน ก็นึกถึงเดอะมอลล์)
  6. คุณจำเป็นต้องรู้จักว่ากำลังจะพูดให้ใครฟัง เพราะการพูดของคุณอาจจะน่าฟังสำหรับกลุ่มหนึ่ง แต่อาจน่าหงุดหงิดหรือน่าเบื่อต่ออีกกลุ่มหนึ่ง เช่น คุณอาจต้องพูดอย่างเป็นทางการเมื่อนำเสนอโอกาสทางธุรกิจ แต่คุณไม่ควรพูดอย่างเป็นทางการเวลาไปพูดกับเด็กนักเรียน:
    • ก่อนจะขึ้นพูด ถ้าเป็นไปได้ให้ลองสัมภาษณ์คนที่จะอยู่ในงานสัก 3-5 คน นี่จะยิ่งได้ผลถ้าคุณกำลังจะพูดให้กลุ่มคนฟังเฉพาะทาง ลองถามดูว่าพวกเขามีศัพท์เฉพาะหรือคำที่กำลังฮิตในวงการหรือในกลุ่มที่จะเป็นผู้ฟังของคุณหรือไม่
    • อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ช่วยให้บรรยากาศระหว่างคุณกับคนฟังเป็นกันเองมากขึ้น มีมุกบางอย่างที่คุณสามรถใช้ได้ในการพูดในที่สาธารณะส่วนใหญ่ (แต่ไม่ทั้งหมด) มันจึงเป็นเรื่องที่ดีหากคุณปล่อยมุกเล็กน้อยในตอนเริ่มต้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายและแสดงความมั่นใจให้เห็น การเล่าเรื่องตลกที่มาจากสถานการณ์จริง ก็เป็นการใช้มุกหรืออารมณ์ที่เหมาะสม
    • กำหนดสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอสู่คนฟัง คุณจะบอกเล่าข้อมูลใหม่ๆ หรือว่าจะนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ หรือว่าต้องการที่จะโน้มน้าวให้พวกทำบางสิ่ง สิ่งนี้จะช่วยให้คุณโฟกัสไปที่การพูดประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการจะนำเสนอ
  7. สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากคุณต้องการพูดในที่สาธารณะอย่างราบรื่น การรู้เรื่องที่คุณจะพูดและสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอ ยังไม่เพียงพอ คุณยังต้องพูดมาบ่อยพอที่จะรู้สึกสบายๆ เวลาพูด มันเหมือนกับการใส่รองเท้าใหม่ ในครั้งแรกที่คุณใส่ มันอาจจะทุลักทุเลหน่อย แต่พอผ่านไปสักพัก มันก็จะใส่สบายและพอดี [3]
    • พยายามไปเยี่ยมสถานที่ๆ จะพูดและฝึกซ้อมพูดที่นั่น การมีความคุ้นเคยกับสถานที่ จะช่วยให้คุณมั่นใจมากขึ้น
    • อัดคลิปตอนที่ตนเองฝึกพูดเอาไว้ เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง แม้ว่าคุณอาจจะไม่อยากดูตัวเองในคลิปวิดีโอ แต่มันเป็นวิธีที่ดีในการหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง คุณจะได้เห็นว่าอาการประหม่าทางกายของตนเองมีอะไรบ้าง (เช่น ยืนโยกเยก หรือชอบเอามือสางผม) จากนั้น คุณก็จะแก้ไขให้ดีขึ้นหรือกำจัดจุดอ่อนดังกล่าวได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ขัดเกลาคำพูด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โวหาร 3 แบบ คือ เน้นสาระ เน้นโน้มน้าว และเน้นบันเทิง แม้ว่าการพูดทั่วไปมักจะผสมผสานกัน แต่โวหารแต่ละแบบก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ต่างกันไป [4]
    • จุดประสงค์หลักของโวหารเน้นสาระ คือ ให้ข้อมูล รายละเอียด และกรณีศึกษา แม้ว่าคุณอาจจะมีการโน้มน้าวกลุ่มคนฟังด้วย แต่โดยรวมแล้วมันเป็นการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงมากกว่า
    • โวหารเน้นโน้มน้าว เกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวใจกลุ่มคนฟัง คุณอาจจะนำเสนอข้อเท็จจริงด้วย แต่ก็ไม่ลืมที่จะแสดงอารมณ์และตรรกะ รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวเข้าในการพูด
    • จุดประสงค์ของโวหารเน้นบันเทิง คือ การทำให้ผู้ฟังพึงพอใจ แต่ก็ย่อมมีการสอดแทรกโวหารที่มีสาระหรือข้อเท็จจริงในบางแง่มุม (เช่น การพูดในงานแต่ง หรือพูดเมื่อรับรางวัลบางอย่าง)
  2. หลีกเลี่ยงการเกริ่นนำสุนทรพจน์แบบเรื่อยเปื่อย. คุณอาจจะเคยได้ยินการกล่าวสุนทรพจน์ ในแบบที่เริ่มต้นว่า “ตอนที่ผมได้รับการร้องขอให้ขึ้นมาพูดในงานนี้ ผมคิดกับตัวเองว่าจะพูดเรื่องอะไรดี…” จงอย่าพูดแบบนั้น มันเป็นหนึ่งในลักษณะการเกริ่นนำที่น่าเบื่อที่สุด มันมักจะอ้อมค้อมและพูดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้พูดไปอย่างเรื่อยเปื่อย และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ฟังดูน่าสนใจเหมือนที่คนพูดคิดเลย
    • จงเริ่มการพูดด้วยการเกริ่นถึงประเด็นหลัก และหัวข้อใหญ่ที่คุณเตรียมไว้สนับสนุนหรือเสริมแต่งประเด็นหลัก สัก 3 หัวข้อหรือมากกว่านั้น คนฟังมักจะจดจำช่วงเกริ่นนำและปิดท้ายของการพูด ได้มากกว่าช่วงอื่นๆ
    • ตั้งเป้าว่าจะสร้างความสัมพันธ์กับคนฟังและเอ่ยถึงพวกเขาในช่วงเกริ่นนำ จำไว้ว่าการพูดนั้นก็เพื่อประโยชน์ของคนฟัง ไม่ใช่ของตัวคุณเอง
    • จงเกริ่นนำด้วยวิธีที่เรียกความสนใจจากคนฟังได้ทันควัน ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อมูลหรือสถิติที่น่าประหลาดใจ หรือถามคำถาม และพูดหักมุมจากความคาดหมายของพวกเขา
  3. หากต้องการหลีกเลี่ยงการพูดน้ำท่วมทุ่ง คุณจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างและรูปแบบที่ชัดเจน จำไว้ว่า คุณต้องไม่โยนข้อเท็จจริงหรือแนวคิดใส่คนฟังมากจนพวกเขารับไม่ไหว [5]
    • เตรียมประเด็นหลักไว้แค่เรื่องเดียวพอ ถามตัวเองว่าต้องการสื่ออะไรกับคนฟังมากที่สุด คุณต้องการให้พวกได้อะไรจากการฟัง ทำไมพวกเขาจึงควรคล้อยตามคุณ เช่น หากคุณต้องการจะให้โอวาทในประเด็นกระแสทางวรรณกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ลองทบทวนว่าทำไมคนฟังจึงควรสนใจ คุณไม่ควรเอาแต่ยัดเยียดข้อเท็จจริงให้พวกเขา
    • คุณจำเป็นต้องพูดหลายหัวข้อเพื่อสนับสนุนประเด็นที่คุณต้องการ จำนวน 3 หัวข้อเหมาะสมที่สุด เช่น หากประเด็นของคุณ คือ วรรณกรรมสำหรับเยาวชนในระดับชาติ กำลังแตกแขนงออกไปมากมาย คุณควรพูดหัวข้อแรกในเรื่องกระแสเกิดใหม่ หัวข้อที่สองในเรื่องความเห็นของสาธารณชนต่อกระแสเกิดใหม่ และหัวข้อที่สามในเรื่องความสำคัญของการที่เราควรมีวรรณกรรมทางเลือกสำหรับเยาวชน
  4. ภาษามีความสำคัญอย่างเหลือเชื่อในงานเขียนและในการพูด คุณควรจะหลีกเลี่ยงการใช้คำเวิ่นเว้อหรือฟุ่มเฟือยมากเกินไป เพราะไม่ว่าคนฟังของคุณจะฉลาดแค่ไหน พวกเขาจะหมดความสนใจอย่างรวดเร็ว หากคุณเอาแต่ทุ่มพจนานุกรมใส่พวกเขา
    • ใช้คำขยายกริยาและคำขยายนามแบบจับใจ คุณจะต้องทำให้การพูดและคนฟังรู้สึกมีชีวิตชีวา เช่น แทนที่จะพูดว่า “วรรณกรรมเยาวชนนำเสนอมุมมองหลากหลายมากมาย” เปลี่ยนเป็น “วรรณกรรมเยาวชนนำเสนอขีดจำกัดใหม่ของความตื่นเต้นและมุมมองอันหลากหลาย”:
    • อย่างไรก็ตาม หลีกเลี่ยงการใช้คำขยายกิริยาหรือคำขยายนามที่ถูกใช้จนเฝือแล้ว ทางที่ดีใช้คำกิริยาที่หนักแน่นตรงตัว ดีกว่าใช้คำขยายกิริยามาอธิบายคำกิริยาจนรกรุงรัง เช่น ใช้คำว่าปั่น ดีกว่า “ถีบจักรยานเร็วๆ” เวลาใช้คำขยายคำนาม ให้แน่ใจว่ามันช่วยเสริมคำนามนั้น ถ้าพูดว่าผิวของชายคนนั้นยับย่นเหมือนแผ่นหนังย่อมสะกดคนฟังได้กว่าแค่บอกว่าชายคนนั้นแก่
    • ใช้ภาพพจน์ที่ทำให้คนฟังนั่งไม่ติดและให้ความสนใจ วินสตัน เชอร์ชิล ใช้คำว่า “ม่านเหล็ก” ในการบรรยายภาพความลึกลับของสหภาพโซเวียตในอดีต พยายามหาภาพพจน์เปรียบเปรยให้ตราตรึงในจิตใจของคนฟัง (คำว่า “ประเทศหลังม่านเหล็ก” ถูกนำมาใช้ต่อกันจนติดปาก เวลาพูดถึงรัสเซียในช่วงนั้น)
    • การกล่าวย้ำก็เป็นอีกวิธีที่ดีในการย้ำให้คนฟังเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่คุณพูด (เหมือนกรณีที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “ฉันมีความฝัน…”) มันจะช่วยตอกย้ำประเด็นและแนวคิดหลักให้คนฟังได้จดจำ
  5. คุณต้องพูดให้คนฟังตามทันและจดจำได้เมื่อพูดจบ ไม่เพียงแต่ต้องมีการใช้ภาพพจน์น่าทึ่งและข้อเท็จจริงอันน่าประหลาดใจ แต่การพูดของคุณยังควรเรียบง่ายและตรงประเด็นด้วย หากคุณเอาแต่ชักแม่น้ำทั้งห้า ก่อนที่จะมาเข้าเรื่อง คนฟังของคุณจะหนีไปเสียก่อน
    • ใช้ประโยคและวลีสั้นๆ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบอันมหาศาลได้ เช่น วลีที่ว่า “ห้ามเด็ดขาด” มันทั้งสั้นและได้ใจความ รวมถึงฟังดูมีพลังมาก
    • จำไว้ว่าคุณควรพูดประโยคที่มีความยาวหลากหลาย แทนที่จะใช้แต่ประโยคสั้นๆ การพูดจะไหลลื่นกว่าถ้ามันมีความหลากหลาย อาจใช้ประโยคเรื่อยเปื่อยให้เป็นประโยชน์ถ้ามีจุดหมาย เช่น ใช้แสดงสถานการณ์ตึงเครียดที่คุณกำลังเผชิญ
    • คุณยังอาจใช้คำคมสั้นๆ และเต็มไปมนต์ขลัง ผู้มีชื่อเสียงหลายคนได้พูดข้อความอันน่าขบขันหรือมีพลังในตัวเอง เอาไว้ในข้อความเพียงไม่กี่คำ คุณอาจจะคิดขึ้นมาเองหรือหยิบยกคำคมที่มีอยู่มาพูดก็ได้ เช่น คำพูดจากพุทธวจนะที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

พูดในที่สาธารณะ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนส่วนใหญ่มักจะเกิดความกังวลก่อนที่จะต้องเริ่มพูดในที่สาธารณะ ก็ได้แต่หวังว่าคุณเองจะเตรียมตัวอย่างดี และรู้วิธีพูดของตัวเองให้ถ่องแท้ โชคยังดีที่ยังพอมีวิธีรับมือกับความกังวลมาแนะนำให้คุณด้วย [6]
    • ก่อนที่จะเริ่มขึ้นไปพูด พยายามบีบแน่นๆ และปล่อยมือ สลับกันไปหลายๆ รอบ เพื่อรับมือกับอะดรีนาลีนที่สูบฉีด สูดลมหายใจลึกๆ 3 ครั้ง จะเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมร่างกายและทำให้หายใจอย่างเหมาะสมเวลากำลังพูด
    • ยืนอย่างมั่นใจในท่าทางผ่อนคลายและตัวตรง โดยให้เท้ากางออกประมาณช่วงกว้างของหัวไหล่ ภาษากายแบบนี้เป็นการหลอกสมองว่าคุณกำลังมั่นใจและยังทำให้พูดได้ง่ายขึ้นด้วย
  2. จงยิ้มให้พวกเขาขณะที่พวกเขาเดินเข้ามาในสถานที่พูด (หากคุณถึงก่อน) หรือยิ้มเวลาเดินขึ้นเวทีอยู่ต่อหน้าพวกเขา จะช่วยให้คุณดูมั่นใจมากขึ้นและเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศระหว่างคุณและผู้ฟัง [7]
    • จงยิ้มแม้ในขณะที่คุณกำลังตื่นตระหนก ซึ่งจะช่วยให้สมองของคุณเข้าใจไปว่า คุณกำลังมั่นใจและผ่อนคลาย
  3. การพูดในที่สาธารณะ ในแบบใดก็แล้วแต่ ย่อมขึ้นอยู่กับการแสดงลีลาท่าทางของคุณทั้งนั้น คุณจะทำให้การพูดดูน่าสนใจหรือน่าเบื่อ ก็อยู่ที่ว่าคุณมีลีลาการพูดอย่างไร คุณจำเป็นต้องแสดงเป็นอีกคน เวลาที่พูดบนเวที [8]
    • เล่าเรื่องราว ส่วนหนึ่งของการแสดงนั้น คือ การกล่าวหรือการพูดราวกับว่าคุณกำลังเล่าเรื่องให้อีกคนฟัง คนเราชอบที่จะฟังเรื่องราวต่างๆ และมันจะช่วยเชื่อมต่อระหว่างคุณและผู้ฟังด้วย ต่อให้เล่าเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงก็ตาม ทำไมคนฟังจึงควรจะสนใจหัวข้อที่คุณพูด อะไรคือประเด็น [9]
    • พยายามรักษาสมดุลระหว่างการพูดตามที่ซ้อมและการด้นสดๆ คนฟังไม่อยากที่จะมานั่งดูคุณก้มหน้าอ่านโพยหรอก คุณจึงควรที่จะเปิดช่องให้ตัวเองได้พูดต่อยอดหัวข้อ โดยไม่ต้องใช้โพยบ้าง และจะได้มีโอกาสเล่าเรื่องประกอบให้น่าสนใจด้วย
    • ใช้มือประกอบท่าทางการพูด คุณคงไม่อยากแกว่งแขนอย่างบ้าคลั่งบนเวที แต่ก็คงไม่อยากดูเหมือนท่อนไม้ทื่อๆ เวลาพูดเช่นกัน ดังนั้น พยายามใช้ท่าทางประกอบแต่พอดีขณะพูด
    • ใช้ระดับเสียงให้หลากหลายขณะที่พูด คนฟังของคุณจะหลับเป็นตายหลังจากพูดไปได้แค่ 10 วินาที หากคุณเอาแต่พูดด้วยเสียงโมโนโทน พยายามพูดให้หัวข้อคุณดูน่าตื่นเต้นและแสดงมันออกมาทางน้ำเสียงของคุณ
  4. จงทำให้แน่ใจว่า คุณเอากลุ่มคนฟังอยู่หมัด ซึ่งหมายถึงการดึงความสนใจ ให้พวกเขาฟังตลอด ไม่ว่าคุณจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้พูดที่น่าสนใจ มากกว่าหัวข้อที่น่าสนใจ [10]
    • มองไปทางคนฟัง ลองนึกภาพแบ่งกลุ่มคนฟังออกเป็นกลุ่มย่อย และมองตาใครสักคนในแต่ละกลุ่ม สลับเวียนกันไปตลอดการพูด
    • ถามคำถามคนฟังบ้างในขณะที่พูด คุณอาจจะเริ่มแต่ละหัวข้อในการพูดด้วยการยิงคำถาม เพื่อให้พวกเขาพยายามนึกคำตอบ ก่อนที่จะนำเสนอข้อมูลใดๆ จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการพูดของคุณด้วย
  5. หนึ่งในเรื่องที่คนส่วนใหญ่ทำพลาดมากที่สุด ในการพูดในที่สาธารณะ คือ การพูดเร็วเกินไป การพูดในการสนทนามักจะเร็วกว่าการพูดบนเวทีหลายเท่า แต่หากคุณรู้สึกว่าตนเองกำลังพูดช้าเกินไป แสดงว่ามันอาจจะกำลังพอดีแล้ว
    • จิบน้ำเสียบ้าง หากคุณรู้สึกว่ากำลังเร่งการพูดมากเกินไป มันจะช่วยให้คนฟังมีโอกาสตามคุณทัน และยังช่วยให้คุณมีเวลาผ่อนคลายลงด้วย
    • หากคุณมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวร่วมฟังอยู่ด้วย ลองเตี๊ยมการส่งสัญญาณเตือนกันไว้ ให้พวกเขาคอยบอกเวลาที่คุณกำลังพูดเร็วเกินไป และเหลือบไปมองพวกเขานานๆ ครั้ง เพื่อจะได้มั่นใจว่าคุณกำลังมาถูกทางหรือยัง
  6. คนเรามักจะจดจำเฉพาะช่วงเกริ่นและช่วงปิดท้ายการพูด ส่วนระหว่างกลางนั้นจำไม่ค่อยได้เท่าไร ด้วยเหตุนี้ คุณจงทำให้แน่ใจว่า คุณกล่าวปิดท้ายได้อย่างน่าจดจำ
    • ให้แน่ใจว่า คนฟังของคุณเข้าใจแล้วว่าทำไมประเด็นที่คุณพูดจึงสำคัญ และเพราะอะไรพวกเขาจึงควรมีข้อมูลเกี่ยวกับมัน หากเป็นไปได้ จงปิดท้ายด้วยการฝากการบ้านให้พวกเขาทำ เช่น หากคุณพูดเกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของการมีวิชาศิลปะในโรงเรียน คุณอาจจะจบท้ายด้วยการฝากให้พวกเขาลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่พอจะทำได้ เกี่ยวกับการที่วิชาศิลปะกำลังถูกเขี่ยออกจากหลักสูตร:
    • ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่สื่อประเด็นหลักของคุณ ขอย้ำว่าคนเราชอบฟังเรื่องเล่า ดังนั้น จงเล่าเปรยๆ ว่า ข้อมูลที่คุณเพิ่งพูดไป ได้เคยช่วยเหลือใครบางคนไว้อย่างไร หรือการที่ไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว มีผลเสียอย่างไร รวมถึงเรื่องที่สื่อเป็นการเฉพาะว่า มันเกี่ยวข้องกับคนฟังของคุณอย่างไร (คนเรามักสนใจสิ่งที่กระทบต่อตนเองมากกว่า)
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ฟังหรือดูคลิปการพูดของนักพูดในที่สาธารณะที่ยิ่งใหญ่ และพยายามวิเคราะห์หาลักษณะที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
  • อย่าอายในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ดีโมเธนีส นักเล่าเรื่องที่เป็นตำนานมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ยังสามารถเอาชนะอุปสรรคจากอาการพูดติดอ่างของตนเองได้ นักพูดที่ดีย่อมสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้
  • พยายามเอาคนที่คุณรู้จักบางคน ไปนั่งปะปนในกลุ่มผู้ฟังด้วย หากเป็นคนที่เคยมาฟังคุณซ้อมพูดในที่สาธารณะ ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คุณผ่อนคลายและคุ้นเคยมากขึ้น
  • เวลาที่คุณถามคำถามแก่คนฟัง เพื่อให้พวกเขาหันมาสนใจ พยายามถามคำถามที่พวกเขาตอบได้ง่ายๆ แล้วจึงค่อยอธิบายต่อยอดด้วยการสอดแทรกความคิดหรือความเห็นของคุณลงไป
  • ลองฝึกพูดในที่สาธารณะหน้ากระจก
  • เวลาพูด จงทำให้แน่ใจว่า คุณมองทุกคนในกลุ่มคนฟัง อย่าปล่อยให้มืออยู่ไม่สุข เพราะจะทำให้คุณดูประหม่า หากต้องการพูดในที่สาธารณะให้ได้ดี ก็ต้องรู้จักเตรียมตัวล่วงหน้า
โฆษณา

คำเตือน

  • ระวังเรื่องการกินก่อนขึ้นพูดในที่สาธารณะด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารจากนมหรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ล้วนทำให้การพูดยากขึ้น เพราะจะมีเสมหะเกิดขึ้นในลำคอคุณ และอาหารที่มีกลิ่นแรง (เช่น กระเทียมและปลา) ก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้กลิ่นอบอวลไปถึงคนฟังจนพวกเขาอึดอัด
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 74,063 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา