ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

แม้จะสร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจให้กับคุณอยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดมักไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ในรายที่ได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก บาดแผลที่ดูไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แท้จริงแล้วอาจมีอาการที่รุนแรงกว่าที่คิด เช่น กระดูกนิ้วเท้าร้าวหรืออาการเคล็ดขัดยอกของเส้นเอ็น และเนื่องจากอาการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อย่างโรคข้อเข่าเสื่อมได้ การทำความเข้าใจในการวินิจฉัย (และการรักษา) การบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดทั้งที่ไม่มีอาการผิดปกติและที่มีอาการรุนแรงจึงนับเป็นความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลที่เป็นประโยชน์ต่อคุณอย่างยิ่ง [1]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

รักษาการบาดเจ็บในเบื้องต้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตรวจสอบอาการของนิ้วเท้าทันทีเมื่อได้รับบาดเจ็บ. ขั้นตอนแรกในการรักษาแผลที่นิ้วเท้าจากการสะดุดคือการตรวจสอบดูว่าการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ค่อยๆ ถอดรองเท้าและถุงเท้าของเท้าข้างที่ได้รับบาดเจ็บออกอย่างระมัดระวังและลองตรวจสอบอาการของนิ้วเท้าโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น (อาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสักคน) ลองสังเกตดูอาการบาดเจ็บดังต่อไปนี้:
    • นิ้วเท้าดู “คดงอ” หรือ “ผิดรูป”
    • มีเลือดออก
    • เล็บเท้าแตกหรือหลุดออก
    • มีรอยฟกช้ำ
    • มีอาการบวมอย่างรุนแรงและ/หรือผิวหนังเปลี่ยนสี
    • การดูแลรักษาการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าอาจมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามอาการที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ซึ่งคุณสามารถดูคำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมได้ที่ด้านล่าง
    • หากคุณรู้สึกเจ็บจนถอดรองเท้าหรือถุงเท้าออกไม่ไหว นั่นแสดงว่านิ้วเท้าและ/หรือเท้าของคุณอาจมีการร้าวของกระดูกหรืออาการเคล็ดขัดยอกได้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่เป็นอันตราย แต่คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
  2. หากคุณสังเกตเห็นแผลเปิดเกิดขึ้นบนนิ้วเท้าไม่ว่าจะเป็นแผลตัด แผลถลอก หรือเล็บฉีก คุณควรรีบทำความสะอาดแผลทันทีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เริ่มจากล้างนิ้วเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่นอย่างเบามือและใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษอเนกประสงค์ค่อยๆ ซับให้แห้ง จากนั้นทายาต้านเชื้อแบคทีเรียลงบนแผลเล็กน้อยก่อนปิดทับด้วยผ้าพันแผลสะอาด
  3. โดยส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดมักมาพร้อมกับอาการบวมเล็กน้อยซึ่งอาจส่งผลให้นิ้วเท้าของคุณดูผิดแปลก ขยับได้ยาก หรือไวต่อความรู้สึกเจ็บมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ต้องห่วง คุณสามารถลดอาการบวมได้ง่ายๆ ด้วยการประคบเย็น ซึ่งการประคบเย็นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้เจลเก็บความเย็น ถุงน้ำแข็ง หรือแม้แต่ถุงบรรจุผักแช่แข็งที่ยังไม่เปิดออกก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
    • ไม่ว่าคุณจะประคบเย็นด้วยอุปกรณ์ชิ้นใด ให้คุณห่อไว้ด้วยผ้าขนหนูหรือเศษผ้าก่อนนำมาใช้ประคบบนผิวหนัง จำไว้ว่าห้ามประคบน้ำแข็งบนผิวหนังโดยตรงโดยเด็ดขาด เนื่องจากการปล่อยให้ความเย็นสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงเป็นเวลานานจะทำลายผิวหนังจนส่งผลให้อาการบาดเจ็บแย่ลงได้ [3]
    • ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ คุณควรหมั่นประคบด้วยน้ำแข็งทุกๆ ชั่วโมงนานครั้งละ 20 นาทีในช่วงที่ยังไม่ได้เข้านอน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นประคบเย็นเพียง 2-3 ครั้งต่อวันจนกระทั่งอาการเจ็บปวดบรรเทาลง
    • ลองดูบทความ ประคบเย็น เพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการประคบเย็น
  4. แม้แต่การเดินในระหว่างการทำกิจกรรมระหว่างวันก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บได้เมื่อนิ้วเท้าของคุณได้รับบาดเจ็บจากการสะดุด ดังนั้นเพื่อลดอาการเจ็บปวดและบวมที่เกิดขึ้น ให้คุณลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในระหว่างการเดินหรือยืน โดยทิ้งน้ำหนักตัวลงไปเพียงบางส่วนเพื่อให้คุณทรงตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากการทิ้งน้ำหนักตัว “ทั้งหมด” ลงไปบนส้นเท้าอาจทำให้คุณเดินด้วยท่วงท่าที่ดูไม่คล่องแคล่วและก่อให้เกิดอาการปวดได้เมื่อเวลาผ่านไป พยายามอย่าให้เกิดแรงกดทับบนนิ้วเท้ามากนักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาในระหว่างที่คุณเดินไปมา
    • เมื่ออาการบวมบนนิ้วเท้าเริ่มดีขึ้น คุณสามารถใช้แผ่นรองบางๆ (เช่น แผ่นเจลรองพื้นรองเท้า) วางรองไว้เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดในระหว่างการเดิน
    • หากอาการเจ็บปวดที่นิ้วเท้ายังคงไม่บรรเทาลงหลังผ่านไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง คุณอาจจำเป็นต้องหยุดพักจากการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างการเล่นกีฬาไปสักพักจนกระทั่งไม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นอีก
  5. ควรแน่ใจว่ารองเท้าที่สวมมีพื้นที่ตรงบริเวณหน้าเท้าเหลือมากพอ. การสวมรองเท้าที่รัดแน่นอาจทำให้นิ้วเท้าที่มีอาการเจ็บปวดและบวมเกิดการระคายเคืองมากขึ้นไปอีก ดังนั้นหากเป็นไปได้คุณจึงควรเลือกสวมรองเท้าที่หลวมและสวมใส่สบายหลังได้รับบาดเจ็บเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดทับบนนิ้วเท้ามากนัก หรือหากคุณไม่มีรองเท้าคู่อื่นสำหรับสลับสับเปลี่ยน ให้คุณใช้วิธีคลายเชือกผูกรองเท้าให้หลวมขึ้นแทน
    • พยายามเลือกสวมรองเท้าแบบเปิดหน้าเท้า เช่น รองเท้าแตะรัดส้นหรือรองเท้าแตะหูหนีบ ซึ่งรองเท้าประเภทนี้ไม่เพียงไม่ก่อให้เกิดแรงกดทับที่ด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณสามารถทำการประคบเย็น เปลี่ยนผ้าพันแผล หรืออื่นๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  6. บรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นยืดเยื้อด้วยยาสามัญประจำบ้าน. หากอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่นิ้วเท้ายังคงเกิดขึ้นยืดเยื้อ การทานยาแก้ปวดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของคุณได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยาแก้ปวดที่นิยมใช้โดยทั่วไปได้แก่ พาราเซตามอล (Paracetamol) (หรืออีกชื่อหนึ่งคืออะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen)) และยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) ซึ่งยาแก้ปวดทั้งสองประเภทมีวางจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อตามร้านขายยาหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป [4]
    • รับประทานยาตามปริมาณที่แนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพราะแม้แต่ยาสามัญประจำบ้านก็สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เมื่อใช้เกินขนาด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็ก
  7. ใช้ผ้าพันแผลพันนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บติดไว้กับนิ้วที่อยู่ข้างกันเพื่อดามนิ้วดังกล่าวไม่ให้ขยับเคลื่อนไหวไปมาได้ คุณสามารถใช้สำลีชิ้นเล็กๆ สอดคั่นไว้ระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองนิ้วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้นมากจนเกินไป
    • หมั่นเปลี่ยนสำลีเป็นประจำทุกวัน
  8. ยกนิ้วเท้าเฉพาะข้างที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้น. อีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดอาการบวมได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการยกนิ้วเท้าข้างที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงในขณะที่คุณนั่งหรือพักผ่อน ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจลองใช้หมอนวางซ้อนกันหลายใบสำหรับรองใต้เท้าไว้ในระหว่างที่เอนตัวลงนอน การยกนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดอาการบวมให้สูงเหนือส่วนอื่นๆ ของร่างกายเป็นการทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังตำแหน่งดังกล่าวได้ยากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เลือดค่อยๆ ไหลเวียนออกจากบริเวณที่เกิดอาการบวมและช่วยลดอาการบวมลงได้ เนื่องจากคุณไม่สามารถยกเท้าขึ้นสูงในระหว่างการยืนหรือเดินได้ คุณจึงควรใช้เวลาในช่วงที่คุณนั่งหรือเอนตัวลงนอนเป็นเวลานานๆ ในการยกนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้น
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

คอยสังเกตสัญญาณผิดปกติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เฝ้าระวังการเกิดอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นยืดเยื้อหรืออาการอักเสบ. ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทนำ การบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดโดยส่วนใหญ่มักไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ด้วยเหตุนี้สัญญาณที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าการบาดเจ็บของคุณมีความรุนแรงมากกว่าที่คิดคือการที่มันไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในทันทีทันใด จำไว้ว่าอาการเจ็บปวดที่ยังคงไม่ทุเลาลงหลังเวลาผ่านไปนานเท่ากับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูแผลฟกช้ำทั่วไปมักเป็นสัญญาณของปัญหาอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ หมั่นเฝ้าระวังสัญญาณผิดปกติต่างๆ เหล่านี้: [5]
    • อาการเจ็บปวดไม่ลดลงภายใน 1-2 ชั่วโมง
    • อาการเจ็บปวดกลับมาทุกครั้งที่เกิดแรงกดทับบนนิ้วเท้า
    • มีอาการบวมและ/หรืออาการอักเสบจนไม่สามารถเดินหรือสวมรองเท้าได้สะดวกนักเป็นระยะเวลาหนึ่ง
    • ผิวหนังเปลี่ยนสีดูคล้ายกับเกิดรอยฟกช้ำยังคงไม่หายไปหลังผ่านไปช่วงระยะหนึ่ง
  2. การบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดที่มีอาการรุนแรงมักก่อให้เกิดการหักของกระดูกนิ้วเท้าได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการตรวจเอกซ์เรย์และใส่เฝือกแข็งหรือเฝือกอ่อนสำหรับเท้า สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะกระดูกหักได้แก่: [6]
    • ได้ยินเสียง “แกรก” หรือ “เปาะ” ตอนได้รับบาดเจ็บ
    • นิ้วเท้าดู “คดงอ” “บิดเบี้ยว” หรือ “งองุ้ม”
    • ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บได้
    • อาการเจ็บปวด อักเสบ และฟกช้ำคงอยู่เป็นระยะเวลานาน
    • จำไว้ว่าภาวะกระดูกหักที่นิ้วเท้าโดยส่วนใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินของผู้ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นการเดินได้ตามปกติจึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเกิดการหักของกระดูกนิ้วเท้าของคุณหรือไม่
  3. สังเกตสัญญาณของภาวะเลือดคั่ง (มีเลือดออกที่ใต้เล็บ). อีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเมื่อนิ้วเท้าได้รับบาดเจ็บจากการสะดุดคือการมีเลือดคั่งอยู่บริเวณใต้เล็บเท้า ซึ่งแรงกดทับระหว่างเลือดที่คั่งอยู่และใต้เล็บสามารถนำไปสู่การเกิดอาการอักเสบและอาการบวมที่ยืดเยื้อจนส่งผลให้บาดแผลใช้เวลาในการฟื้นฟูนานกว่าปกติและรู้สึกเจ็บที่บริเวณบาดแผลมากขึ้น ในกรณีนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยการเจาะรูเล็กๆ บนเล็บเพื่อระบายเอาเลือดออกและลดแรงกดทับบริเวณใต้เล็บ ซึ่งทางการแพทย์เรียกกระบวนการนี้ว่า Nail trephination [7]
  4. การได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจนบางส่วนหรือทั้งหมดของเล็บหลุดออกจากฐานเล็บสามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงได้ แม้ว่าการรักษาด้วยตัวเองที่บ้านอาจสามารถทำได้ในบางกรณี แต่การตัดสินใจไปพบแพทย์จะช่วยให้คุณได้รับการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวด ดูแลบาดแผล และป้องกันการติดเชื้อด้วยวิธีที่เหมาะสมซึ่งคุณอาจไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
    • นอกจากนี้หากการบาดเจ็บมีความรุนแรงจนถึงขั้นที่เล็บเกิดการแตกหัก จำไว้ว่านิ้วเท้าของคุณอาจมีโอกาสเกิดการหักของกระดูกหรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
  5. โดยส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดมักหายดีเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่คุณควรคอยเฝ้าระวังสัญญาณต่างๆ ของการติดเชื้ออยู่เสมอ ดังนั้นหากคุณสังเกตเห็นอาการเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น รอยแดง อาการบวม อาการชา อาการเสียวแปลบ หรือไข้สูง คุณควรไปพบแพทย์โดยทันที
  6. ปรึกษาแพทย์หากอาการบาดเจ็บเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น. ตัดสินใจไปพบแพทย์หากคุณพบอาการผิดปกติต่างๆ ที่กล่าวไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะกระดูกหัก ภาวะเลือดคั่ง และการแตกหักของเล็บ เนื่องจากแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซ์เรย์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้แพทย์และพยาบาลยังสามารถให้คำแนะนำกับคุณในการดูแลบาดแผลในระหว่างการฟื้นฟูของบาดแผลได้อีกด้วย อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จำไว้ว่าการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดโดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากคุณกังวลว่าอาการบาดเจ็บของคุณเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น อย่าลังเลที่จะนัดหมายแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอมากกว่าที่จะทำตามคำแนะนำที่คุณพบในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นหากสิ่งที่แพทย์ของคุณแนะนำมีความขัดแย้งกับข้อมูลในบทความนี้ คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ของคุณเป็นหลัก
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • สาเหตุที่ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าการบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการสะดุดมีอาการที่รุนแรงมากน้อยเพียงใดเป็นเพราะเท้าของคุณประกอบด้วยปลายประสาทที่ไวต่อการกระตุ้นจำนวนมาก กล่าวคือแม้แต่อาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยที่เท้าก็สามารถทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดในระดับรุนแรงได้ ดังนั้นการตรวจเช็คสัญญาณของอาการบาดเจ็บหลังที่รุนแรงหลังเกิดการสะดุดที่นิ้วเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
  • หลังเกิดการสะดุดที่นิ้วเท้า ให้คุณหยุดพักจากกิจกรรมที่กำลังทำสักครู่แม้คุณจะคิดว่าการบาดเจ็บของคุณไม่มีอาการที่รุนแรง เพราะอาการบวมที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เผลอสะดุดที่นิ้วเท้าเดิมอีกครั้งได้ง่ายๆ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 1,844 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา