ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การนอนคว่ำนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและเป็นสาเหตุทั่วไปของอาการปวดบั้นเอว ปวดต้นคอ ปวดหัวไหล่และปวดศีรษะ [1] เหตุผลที่คนเราชอบนอนคว่ำจนติดเป็นนิสัยนั้นยังไม่ได้รับการศึกษามากพอจะเข้าใจได้ แต่มันอาจจะเกี่ยวข้องกับการทำร่างกายให้อบอุ่น รู้สึกเหมือนได้รับการปกป้องดีกว่า หรือเป็นไปได้ว่าอาจเชื่อมโยงกับลักษณะบุคลิกของคุณ [2] [3] การเลิกนอนคว่ำแล้วเปลี่ยนมาเป็นนอนตะแคงหรือนอนหงายเวลาอยู่บนเตียงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นประโยชน์ต่อกระดูกสันหลังและส่วนอื่นๆ ของร่างกายคุณเป็นอย่างยิ่ง

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

ค่อยๆ เปลี่ยนจากการนอนคว่ำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าใจว่าการนอนคว่ำส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร. ปัญหาหลักของการนอนคว่ำคือมันสร้างท่านอนที่ผิดธรรมชาติต่อกระดูกสันหลังของคุณ [4] มันจะทำให้บริเวณบั้นเอวถูกยืดออกมามากเกินไป จนมีผลสร้างความระคายเคืองแก่ข้อต่อเล็กๆ ของกระดูกสันหลัง และยังมีการบิดลำคอมากเกินไปจากการที่คุณจำต้องเอียงศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อที่จะหายใจ การบิดคอเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงและเกิดข้อต่ออักเสบเบาๆ ได้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการปวดเวียนศีรษะและคลื่นไส้ การนอนคว่ำหน้ายังก่อแรงกดไปที่ขากรรไกรมากขึ้นและมักทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ยิ่งไปกว่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่มักยกแขนขึ้นเหนือศีรษะเวลานอนคว่ำ ข้อต่อตรงไหล่จึงถูกเกร็งไว้มากขึ้น ถ้าหากปัญหาใดปัญหาหนึ่งในที่นี้เกิดขึ้นกับคุณ นั่นแสดงว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนท่านอนแล้ว
    • จากการศึกษาผู้หญิงอายุระหว่าง 20-44 ปี พบว่า 48% นอนหงาย (supine) เป็นหลัก 41% นอนตะแคง (fetal) และ 11% นอนคว่ำ(prone) [5]
    • ไม่ควรให้ทารกนอนคว่ำเพราะมันเชื่อมโยงกับโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome - SIDS) [6]
    • การนอนหงายหรือนอนตะแคงส่งผลดีต่อท่าทางบุคลิกภาพมากกว่า
  2. การเปลี่ยนท่านอนที่ติดจนเป็นนิสัยแล้วนั้นเป็นเรื่องยากเพราะคุณไม่ได้มีสติ (ตื่น) ระหว่างช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม พอคุณเริ่มเชื่อมผลด้านลบ (อย่างเช่น ปวดหลัง) กับการนอนคว่ำแล้ว ความตั้งใจจะเปลี่ยนท่านอนอาจเริ่มฝังตัวเข้าไปในส่วนจิตใต้สำนึก ซึ่งจะยังทำงานแม้ในขณะนอนหลับ เพื่อช่วยให้กระบวนการนี้ได้ผลดีขึ้น ให้ใช้การพูดบวกกับตัวเอง (positive affirmations) ก่อนเวลาเข้านอน การพูดบวกกับตัวเองนั้นคือการชี้ทางที่ดีหรือตอกย้ำตนเอง (พูดความคิดออกมาดังๆ) ซ้ำหลายๆ ครั้ง [7] [8] แนวคิดคือขับแรงปรารถนาในตอนมีสติของคุณให้เข้าไปในจิตใต้สำนึก
    • เริ่มโดยการพูดหรือคิดว่า “คืนนี้ฉันจะนอนตะแคง (หรือนอนหงาย) เพราะมันดีต่อร่างกาย” อย่างน้อย 10 หน
    • ด้วยการพูดบวกกับตัวเองนั้นต้องการจะให้มันส่งผลกระทบต่อจิตใต้สำนึก ดังนั้นทางที่ดีอย่าใช้คำพูดในเชิงลบ เช่น “คืนนี้ฉันจะไม่นอนคว่ำ” ให้ทำคำพูดตรงกับความต้องการและอยู่ในรูปคำเชิงบวก
    • การพูดย้ำนี้ได้ช่วยคนมากมายเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จไปหมดเสียทุกคนหรือทุกสถานการณ์
    • แต่ละครั้งที่คุณตื่นขึ้นมาโดยอยู่ในท่านอนคว่ำ ให้เปลี่ยนเป็นท่าที่ถูกต้องแทนที่จะนอนหลับต่อ
  3. หมอนกายภาพบำบัดทำมาเพื่อรักษารูปทรงโค้งของลำคอให้เป็นไปตามธรรมชาติ และมักจะทำมาจากโฟมทรงโค้งมน [9] หมอนกายภาพบำบัดจะทำให้ลำคอและศีรษะรู้สึกดีเวลานอนหงายหรือนอนตะแคง แต่อาจรู้สึกแย่หรือไม่สบายกายเวลานอนคว่ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น หมอนกายภาพบำบัดจึงอาจทำหน้าที่เสมือนตัวขัดขวางไม่ให้นอนคว่ำ และสนับสนุนให้นอนในท่าที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า
    • หมอนกายภาพบำบัดสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ เช่นเดียวกับตามคลีนิกแพทย์ไคโรแพรคติคและนักกายภาพบำบัด
    • ซื้อหมอนที่มีรูปทรงโค้งมนหนุนรับกับลำคออย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่หมอนแบนราบทั่วไป จำไว้ว่าคุณกำลังพยายามทำให้มันไม่สะดวกสบายถ้าจะใช้นอนคว่ำ
  4. ถ้าคุณแต่งงานแล้วหรือมีคนนอนข้างกาย ขอความช่วยเหลือระหว่างกลางคืนหากเขาตื่นขึ้นมาแล้วสังเกตเห็นคุณกำลังนอนคว่ำ ให้เขาช่วยดันคุณเบาๆ เพื่อจะได้กลิ้งไปนอนหงายหรือนอนตะแคง จะหัวเราะไม่ค่อยออกก็ตรงที่คนข้างกายอาจหลับได้สนิทกว่าในตอนที่คุณนอนคว่ำ เพราะท่านี้จะช่วยลดหรือป้องกันการนอนกรนได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ข้อเดียวของมัน [10]
    • ผู้คนที่นอนคว่ำ (โดยเฉพาะทารก) มักจะตอบสนองต่อเสียงได้น้อยกว่า ขยับตัวน้อยกว่า และมีระยะเวลาของการหยุดหายใจในระหว่างหลับสูงขึ้น [11]
    • การนอนคว่ำช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากอวัยวะภายใน ดังนั้นท่านอนนี้จึงเก็บกักความร้อนได้ดีกว่าในตอนกลางคืน ตรงกันข้าม ท่านอนหงายจะทำให้ตัวคุณเย็นลงได้ง่ายกว่า
  5. การสะกดจิตใช้คำสั่งจำเพาะเพื่อส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในระหว่างที่เขาตกอยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือที่เรียกกันว่า อยู่ในภวังค์ (trance) [12] บุคคลที่ตกอยู่ในสภาวะผ่อนคลายอย่างลึกจะมีการตอบสนองต่อคำแนะนำและจินตนาการแปลกไปจากปกติ เมื่อเป็นเช่นนั้น หากคุณเปลี่ยนนิสัยท่านอนได้ยากแล้ว ให้หานักสะกดจิตที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมาลองสะกดคุณดู การสะกดจิตมีประวัติที่ดีในการหยุดยั้งพฤติกรรมด้านลบอื่นๆ เป็นต้นว่าการสูบบุหรี่หรือการติดสุรา ฉะนั้นการใช้มันเปลี่ยนท่านอนคว่ำก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
    • หากคุณรู้สึกเป็นกังวลหรือไม่มั่นใจต่อการถูกสะกดจิต ก็ขอให้หมอสะกดจิตบันทึกภาพวิดีโอการรักษา พวกเขายังอาจทำเสียงสั่งจิตใต้สำนึกในรูปแบบ MP3 หรือซีดี ให้คุณนำกลับไปฟังที่บ้านด้วยก็ได้
    • อีกทางเลือกก็ให้หาเพื่อนไปด้วยและให้คอยจับตาดูในระหว่างที่คุณตกอยู่ใต้การสะกดจิต
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

เปลี่ยนเป็นนอนท่าอื่น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนจะตัดสินใจว่าอยากเปลี่ยนไปนอนท่าไหนให้ติดเป็นนิสัย ลองคิดถึงว่าคุณอาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายไหม เช่น ถ้าเคยรับการผ่าตัดหลังมา การนอนตะแคงเป็นท่าที่สะดวกที่สุด ยิ่งกว่านั้น การนอนตะแคงอาจเป็นท่าที่ดีกว่าหากคุณมีประวัติของการนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ [13] ในทางตรงข้าม ถ้าคุณได้รับบาดเจ็บตรงหัวไหล่เรื้อรังจากการเล่นกีฬา การนอนหงายจะเป็นท่าที่ดีที่สุด
    • คนส่วนใหญ่พบว่าฟูกแน่นๆ ซัพพอร์ทร่างกายได้ดีที่สุดและก่อปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหรือกระดูกน้อยที่สุด ในทางตรงข้าม มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะรู้สึกสบายกายเวลาใช้ฟูกนุ่มๆหรือเตียงน้ำ ลองคิดถึงการลงทุนในฟูกแน่นแข็งคุณภาพสูง
    • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงเป็นดีที่สุด จากวานวิจัยแนะนำว่าการนอนตะแคงไปทางด้านซ้ายจะเพิ่มระดับการไหลเวียนโลหิตไปยังลูกน้อยที่กำลังพัฒนาตัว [14]
  2. ในแง่ของเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อ (ด้านการทำงาน) การนอนตะแคงมีประโยชน์สูงสุดเพราะมันรักษาแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในระนาบปกติ มันสามารถบรรเทาอาการปวดคอ (หมอนต้องมีขนาดเหมาะสมเป็นเบื้องต้น) กับอาการปวดบั้นเอว ลดการเกิดกรดไหลย้อน ช่วยป้องกันการกรน และช่วยลดภาระการอุ้มครรภ์ [15] อย่างไรก็ตาม มองในแง่ของความงามแล้ว การนอนตะแคงจะทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและเต้านมหย่อนคล้อย เนื่องจากมันจะถูกบีบทับเล็กน้อย
    • หากจะนอนตะแคง ให้เลือกหมอนที่พอเหมาะรับพอดีระหว่างปลายหัวไหล่กับด้านข้างของศีรษะ เมื่อเป็นเช่นนั้น หมอนหนาจึงเหมาะสำหรับคนที่ช่วงไหล่กว้างและหมอนบางจึงเหมาะกับคนช่วงไหล่แคบหมอนที่มีความหนาเหมาะสมจะช่วยให้ลำคอเป็นแนวระนาบเดียวและช่วยป้องกันการตึงเครียดหรือโรคปวดคอร่วมกับปวดศีรษะซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระดูกคอส่วนบน
    • เพื่อช่วยให้นอนตะแคงได้ง่ายขึ้น ลองหาหมอนข้างมานอนกอด ซึ่งจะช่วยทดแทนความรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัยที่ได้จากท่านอนคว่ำ
    • ทุกคนที่นอนตะแคงควรใช้หมอนรองระหว่างขาเพื่อรักษาแนวระนาบของกระดูกเชิงกราน [16]
  3. การนอนหงายจะดีต่อกระดูกสันหลังเมื่อเทียบกับการนอนคว่ำ โดยเฉพาะสำหรับลำคอ แต่จำต้องเอาใจใส่หน่อยหากคุณมีประวัติการปวดบั้นเอว เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้ลองหาหมอนใบเล็กมารองใต้หัวเข่าเพื่อไม่ให้น้ำหนักกดทับกระดูกสันหลังส่วนปลายมากเกินไป การนอนหงายยังดีต่อการลดกรดไหลย้อน เกิดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าน้อยที่สุด (ไม่มีอะไรมากดทับหรือบีบให้ใบหน้ายับย่น) และคงสภาพของเต้านมได้เพราะมีการรองรับน้ำหนักของเต้าเอาไว้ [17] ในอีกด้านหนึ่ง การนอนหงายจะทำให้กรนง่ายขึ้น เพราะมันทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในลำคอหดตัวลงมาบีบหลอดลม
    • ถ้าแผ่นหลังรู้สึกขัดยอกจากท่านอนหงาย ให้ใช้หมอนใบเล็ก (รูปทรงลิ่มจะได้ผลที่สุด) หรือม้วนผ้าห่มมารองตรงบั้นเอวและทิ้งไว้เช่นนั้นตลอดคืน [18]
    • เมื่อศีรษะถูกยกสูงกว่าระดับท้อง ก็จะไม่ค่อยเกิดกรดไหลย้อนเพราะกรดในกระเพาะอาหารยากจะไหลทวนแรงดึงดูดขึ้นมาได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาช่วยในการนอนหลับ เนื่องจากมันมีผลกระทบมากมายและมีอันตรายต่อสุขภาพ
  • ออกกำลังยืดเหยียดในตอนเช้า เพราะมันจะช่วยให้ร่างกายกลับมาสู่ท่าธรรมชาติและลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อได้
  • การนอนหลับในท่าตะแคงคู้ตัวนั้นอาจไปจำกัดการหายใจทางกระบังลม ควรหลีกเลี่ยงเวลาที่จะนอนตะแคง [19]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 11,941 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา