ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เวลาข้อมือหัก เหมารวมถึงกระดูกปลากแขนด้านนิ้วหัวแม่มือ (distal radius) และ/หรือกระดูกปลายแขนด้านนิ้วก้อย (ulna) ไปจนถึงกระดูกส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วนในข้อมือด้วย (carpal bones หรือกระดูกข้อมือ) ถือเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยๆ [1] จริงๆ แล้วกระดูกส่วน radius นี่แหละที่หักบ่อยที่สุดในบรรดากระดูกส่วนอื่นของแขนเลย อย่างผลสำรวจของทางอเมริกาเองก็ชี้ว่า 1 ใน 10 ของอาการกระดูกหักที่พบ ก็คือหักที่ distal radius นี่แหละ [2] ข้อมือมักหักตอนคุณล้มหรือถูกอะไรบางอย่างกระแทก คนกลุ่มที่เสี่ยงข้อมือหักกว่าชาวบ้าน ก็คือพวกนักกีฬา โดยเฉพาะถ้าเล่นกีฬาชนิดที่ต้องกระแทกกระทั้นกัน ส่วนอีกกลุ่มก็คือคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ช่วงที่ได้รับการรักษาแล้วและต้องพักฟื้นหลังกระดูกหัก คุณจะต้องใส่เฝือกหรือเฝือกอ่อนไว้จนกว่าข้อมือจะหายดี บทความวิกิฮาวนี้จะแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเพิ่มเติมเมื่อกระดูกหักให้คุณเอง

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

หาหมอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าข้อมือหักก็แน่นอนว่าต้องให้คุณหมอตรวจรักษา ข้อมือถึงจะหายและกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ถ้าไม่รู้สึกปวดเท่าไหร่ ก็รอจนนัดหมอประจำตัวได้ไม่เป็นไร [3] แต่ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ แปลว่าคุณต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วนเลย [4]
    • ปวดหรือบวมมาก
    • ข้อมือ มือ หรือนิ้วชา
    • ข้อมือดูบิดผิดรูป เช่น โค้งงอ
    • กระดูกหักแบบเปิด หรือ open fracture (คือมีกระดูกทิ่มทะลุออกมาให้เห็นนอกผิวหนัง)
    • นิ้วซีดขาว
  2. ปกติถ้าข้อมือคุณหัก คุณหมอจะใส่เฝือกอ่อนให้ คือเป็นชิ้นพลาสติกแข็งๆ หรือไฟเบอร์กลาส ไม่ก็โลหะ โดยประกบแล้วใช้ผ้าพันแผลพันยึดไว้หรือใช้ที่พยุงข้อมือ [5] คุณต้องใส่เฝือกอ่อนแบบนี้ไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ จนกว่าข้อมือจะบวมน้อยลง [6]
    • พอผ่านไปประมาณ 2 - 3 วันหรือ 1 อาทิตย์ และข้อมือหายบวมในช่วงแรกๆ แล้ว ก็จะเปลี่ยนมาใส่เฝือกที่ทำจากปูนปลาสเตอร์หรือไฟเบอร์กลาสแทน [7]
    • บางเคสก็ต้องเปลี่ยนเฝือกอีกรอบ ถ้า 2 - 3 อาทิตย์ผ่านไปแล้วข้อมือหายบวม ลดขนาดลงไปอีก จนเฝือกแรกเริ่มหลวม [8] [9]
  3. ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ข้อมือที่หักมักหายดีใน 6 - 8 อาทิตย์ แต่ก็แปลว่าระหว่างนั้นคุณต้องใส่เฝือกไว้ที่ข้อมือตลอด [10]
    • ระหว่างนั้นคุณหมอจะนัดเอกซเรย์เรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมือกำลังรักษาตัวเอง อาการดีขึ้น
  4. พอถอดเฝือกแล้ว คุณหมออาจจะโอนเคสต่อไปยังนักกายภาพบำบัด เพื่อทำการบำบัดรักษาให้ข้อมือคุณกลับมามีแรงและขยับเขยื้อนได้เต็มองศาตามเดิม หลังบาดเจ็บและพักฟื้นมาระยะหนึ่ง [11]
    • ถ้าดูแล้วคุณไม่จำเป็นต้องพบนักกายภาพบำบัด คุณหมอจะแนะนำท่าบริหารให้ไปทำเองที่บ้าน ก็ต้องมีวินัย ทำตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะจะช่วยคืนสภาพข้อมือให้กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนปกติแน่นอน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

บรรเทาอาการปวดบวม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ให้ยกข้อมือสูง เหนือระดับหัวใจ จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้ สำคัญมากว่าต้องยกข้อมือสูงแบบนี้อย่างน้อย 48 - 72 ชั่วโมงหลังใส่เฝือก แต่บางเคสคุณหมอก็อาจแนะนำให้ยกข้อมือสูงนานกว่านั้น [12]
    • บางทีก็ต้องยกข้อมือสูงทั้งตอนนอนและระหว่างวัน แบบนั้นให้หาหมอนมาหนุนรองข้อมือไว้ จะสะดวกและสบายขึ้น
  2. ประคบน้ำแข็งที่ข้อมือช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดบวม แต่อย่าให้เฝือกเปียกตอนประคบน้ำแข็งล่ะ [13]
    • ให้เอาน้ำแข็งใส่ถุงซิปล็อคแล้วรูดปิดให้สนิท ถ้าน้ำแข็งละลายจะได้ไม่รั่วหรือไหลออกมา จากนั้นห่อถุงซิปล็อคด้วยผ้าขนหนู ป้องกันน้ำและความชื้นที่อาจทำให้เฝือกเปียกได้ตอนประคบ
    • บ้านใครมีอาหารหรือผักแช่แข็ง ก็อาจจะใช้ถุงแช่แข็งนั้นประคบเย็นแทนน้ำแข็งก็ได้ ถ้าเป็นถุงผัก ต้องเลือกที่ข้างในชิ้นเล็กๆ ขนาดเท่าๆ กัน เช่น ข้าวโพด หรือถั่วลันเตา (ที่สำคัญคืออย่าเอาไปกินต่อหลังใช้ประคบแทนน้ำแข็งหรือเจลเย็นแล้ว) [14]
    • ประคบเย็นที่ข้อมือประมาณ 15 - 20 นาที ทุก 2 - 3 ชั่วโมง โดยประคบเย็นในช่วง 2 - 3 วันแรก หรือนานเท่าที่คุณหมอแนะนำ [15]
    • อาจจะสะดวกกว่า ถ้าประคบเย็นด้วยเจลแพ็คสำเร็จรูป เพราะแค่แช่ช่องฟรีซก็เอากลับมาใช้ใหม่ได้ทันที ไม่ต้องกลัวละลายเลอะเทอะหรือน้ำรั่วใส่เฝือก ปกติคุณหาซื้อเจลแพ็คได้ตามร้านขายยาและอุปกรณ์การแพทย์ทั่วไป
  3. อาการปวดข้อมือส่วนใหญ่แก้ได้โดยซื้อยาแก้ปวดกินเอง [16] แต่จะปรึกษาคุณหมอก่อนก็ได้ ว่าอาการของคุณเหมาะกับยาแก้ปวดชนิดไหน เพราะบางทีจะไปต้านกันกับยาที่คุณใช้อยู่หรือส่งผลต่อโรคประจำตัวของคุณ บางทีคุณหมออาจแนะนำให้กินยาไอบูโพรเฟนร่วมกับอะเซตามิโนเฟน/พาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดและลดบวมในเวลาเดียวกัน เป็นตัวยาที่ถ้ากินควบคู่กันไปจะเสริมฤทธิ์กัน ดีกว่ากินแยกตัวใดตัวหนึ่ง [17]
    • ไอบูโพรเฟนเป็นยา NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) คือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดไข้ลดบวมได้ โดยไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายหลั่งสาร prostaglandins ยา NSAIDs ชนิดอื่นก็เช่น นาพรอกเซน โซเดียม และแอสไพริน แต่ถ้าเป็นแอสไพรินจะออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดนานกว่ายา NSAIDs ตัวอื่นๆ [18]
    • ถ้าคุณมีภาวะเลือดออกผิดปกติ หอบหืด โลหิตจาง หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณหมอจะไม่แนะนำให้กินยาแอสไพริน เพราะยาแอสไพรินมักออกฤทธิ์ต้านกันกับยาตัวอื่นๆ หรือกระทบต่อโรคประจำตัวของคุณได้ [19]
    • ถ้าจะให้เด็กกินยาแก้ปวด ต้องเลือกยาของเด็กโดยเฉพาะ และให้ยาโดยคำนึงถึงอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก [20] ซึ่งก็ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกินยาแอสไพรินอยู่ดี
    • ยาอะเซตามิโนเฟนกินแล้วก็เสี่ยงอันตรายต่อตับได้ เพราะงั้นต้องกินในปริมาณตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด [21]
    • ห้ามซื้อยาแก้ปวดกินเองติดต่อกันนานเกิน 10 วัน (ถ้าเป็นเด็กก็แค่ 5 วัน) เว้นแต่คุณหมอแนะนำ ถ้ายังปวดไม่หายหลังผ่านไปตั้ง 10 วัน ให้รีบไปหาหมอ [22]
  4. สำคัญมากว่าต้องคอยบริหารข้อต่างๆ ที่โผล่พ้นเฝือกออกมา เช่น ข้อศอกและนิ้วมือ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงได้ทั่วถึง [23] แบบนี้จะช่วยให้ข้อมือที่หักหายเร็ว และไม่ยึดตึง กลับมาขยับได้ตามปกติเร็วขึ้น [24]
    • ถ้าขยับข้อศอกหรือนิ้วมือแล้วรู้สึกปวด ให้รีบไปหาหมอ
  5. แน่นอนว่าต้องมีบ้างที่รู้สึกคันยิบๆ ตรงผิวหนังใต้เฝือก จนอยากเกาใจจะขาด แต่บอกเลยว่าอย่า! เพราะจะเป็นอันตรายทั้งต่อผิวหนังข้างใต้และตัวเฝือกเอง ย้ำกันตรงนี้เลยว่าห้ามเอาอะไรเขี่ยหรือแหย่เข้าไปในเฝือกเด็ดขาด [25]
    • ให้ยกเฝือกสูง หรือใช้ไดร์เป่าผม เป่าลม “เบาๆ” หรือ “ลมเย็น” เข้าไปแทน [26]
    • ที่ห้ามเลยคืออย่าโรยแป้งเข้าไปในเฝือก เพราะถ้าสุดท้ายแป้งแก้คันไปติดอยู่ในเฝือก รับรองระคายเคืองกว่าเดิมแน่นอน [27]
  6. ถ้าขอบของเฝือกเสียดสีจนระคายผิว ก็ลองแปะพลาสเตอร์ moleskin ดู จะเป็นเหมือนผ้านุ่มๆ มีกาวที่ด้านหลัง ใช้แปะที่ผิวได้โดยตรง โดยเฉพาะส่วนที่ขอบเฝือกเสียดสีกับเนื้อของคุณ คุณหาซื้อ moleskin ได้ตามร้านขายยาทั่วไป [28]
    • ให้ติด moleskin ตรงผิวที่สะอาดและแห้งสนิทแล้ว ถ้าพลาสเตอร์เริ่มสกปรกหรือไม่ค่อยเหนียว ติดไม่อยู่แล้ว ก็เปลี่ยนแผ่นใหม่ได้เลย
    • ถ้าขอบเฝือกเริ่มคมบาดผิว ให้ใช้ตะไบเล็บมาตะไบลบคมของขอบเฝือก อย่าไปแกะ ตัด หรือฉีกส่วนใดส่วนหนึ่งของเฝือกออกมาเองเด็ดขาด
  7. ปกติถ้าดูแลรักษาถูกวิธีแล้วและไม่มีอะไรผิดพลาด ข้อมือที่หักจะดีขึ้นใน 2 - 3 อาทิตย์ แต่ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ให้รีบไปหาหมอทันที [29]
    • มือหรือนิ้วรู้สึกชาหรือยิบๆ ซ่าๆ
    • นิ้วม่วง เย็น หรือซีด
    • ส่วนที่ใส่เฝือกไว้รู้สึกปวดหรือบวมเพิ่มขึ้น
    • ผิวบริเวณที่เสียดสีกับขอบเฝือกเป็นแผลเปิดหรือระคายเคือง
    • เฝือกแตกหรือมีบางจุดนิ่ม ยุบตัวลง
    • เฝือกเปียก แน่นเกิน หรือหลวมเกิน
    • เฝือกเริ่มส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือคันใต้เฝือกไม่หาย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

ใช้ชีวิตประจำวัน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เฝือกส่วนใหญ่จะทำจากปูนปลาสเตอร์ เพราะงั้นโดนน้ำแล้วเสียหายง่ายมาก ถ้าเฝือกเปียกแล้วก็เสี่ยงราขึ้นข้างในได้ ทั้งราดำและราขาว รวมถึงเสี่ยงเกิดแผลเปื่อยใต้เฝือกด้วย เพราะงั้นต้องระวังมากๆ อย่าให้เฝือกเปียกเด็ดขาด [30]
    • ตอนอาบน้ำฝักบัวหรือแช่น้ำในอ่าง ให้ห่อเฝือกด้วยถุงพลาสติกหนาๆ (เช่น ถุงดำ) แล้วติดเทปยึดไว้ พยายามชูเฝือกไว้นอกฝักบัวหรืออ่างอาบน้ำ จะได้ไม่เสี่ยงทำเฝือกเปียก
    • ห่อเฝือกด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหัว น้ำจะได้ไม่ไหลซึมเข้าไปในเฝือก
    • เดี๋ยวนี้มีถุงคลุมเฝือกกันน้ำขายด้วย จะให้คุณหมอสั่งให้หรือหาซื้อเองตามร้านขายอุปกรณ์การแพทย์ก็ได้
  2. ถ้าเผลอทำเฝือกเปียกต้องรีบเช็ดให้แห้งทันที. ถ้าสุดท้ายแล้วเฝือกเปียกจนได้ ก็ให้รีบซับให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัว จากนั้นใช้ไดร์เป่าด้วยลม “เบาๆ” หรือ “ลมเย็น” ประมาณ 15 - 30 นาที [31]
    • ถ้าเฝือกยังเปียกหรือเริ่มนิ่มหลังเช็ดและเป่าแห้งแล้ว ให้รีบไปหาหมอ เพราะอาจจะต้องใส่เฝือกอันใหม่
  3. ถ้านิ้วของมือข้างที่ใส่เฝือกรู้สึกเย็นๆ แสดงว่าเลือดอาจจะไหลเวียนไปเลี้ยงไม่สะดวกนัก (หรืออากาศในบ้านอาจจะเย็นไปหน่อย) ให้สวมถุงเท้าแล้วยกข้อมือสูง จะช่วยให้นิ้วอุ่นขึ้นได้ [32]
    • กระดิกนิ้วไปมาก็ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้เช่นกัน
  4. ตอนใส่เฝือกอยู่ ถ้าต้องมานั่งใส่เสื้อผ้าที่มีตะขอ ซิป หรือกระดุม คงลำบากแน่นอน หรือถ้าเสื้อผ้ารัดรูป พอดีตัว หรือแขนยาวแนบเนื้อ ก็คงใส่ไม่สบายแน่นอน เพราะติดเฝือกทั้งตอนใส่และตอนถอด
    • ให้เลือกเสื้อผ้าที่หลวม เป็นผ้ายืด อย่างกางเกงหรือกระโปรงที่เอวเป็นยางยืด ก็ใส่และถอดได้สะดวกรวดเร็ว ใส่มือเดียวได้สบายเพราะไม่ต้องใช้สองมือติดตะขอหรือกระดุม
    • ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือเสื้อเชิ้ตแขนกุดก็สะดวกดี
    • ใช้แขนข้างที่ปกติดีเอาแขนเสื้อคลุมเฝือกแล้วดึงสวมช้าๆ พยายามให้แขนข้างที่ใส่เฝือกขยับเขยื้อนน้อยที่สุด
    • ถ้าหนาวให้ใช้ผ้าคลุมไหล่หรือผ้าห่มแทนเสื้อกันหนาวหรือเสื้อแจ็คเกต เพราะอย่างหลังใส่ยากกว่าเยอะ เสื้อคลุมแบบ cape หรือ poncho หนาๆ ก็ใส่ง่ายกว่าเสื้อโค้ทเยอะเลย
    • ถ้าติดขัด ทำอะไรไม่สะดวกตรงไหน อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
  5. ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา แล้วเกิดข้อมือหักขึ้นมา โดยเฉพาะข้างที่ถนัดและใช้เขียนหนังสือ ก็ต้องขออนุญาตอาจารย์ผู้สอน ให้เพื่อนหรือใครช่วยจดเลคเชอร์แทน จนกว่าข้อมือจะหายดีและคุณกลับมาเขียนหนังสือได้ตามปกติอีกครั้ง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของเมืองนอก เขาจะมีศูนย์ให้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการด้วย
    • ถ้าเขียนด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดได้ หรือลองหัดเขียนดูแล้วได้ผล ก็จะช่วยได้มาก แต่ส่วนใหญ่จะแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะของแบบนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝน
    • ถ้าบังเอิญข้อมือหักข้างที่คุณไม่ถนัดอยู่แล้ว ก็ให้หาอะไรหนักๆ เช่น หนังสือปกแข็งเล่มหนาๆ หรือที่ทับกระดาษ มาทับสมุดหรือกระดาษที่คุณกำลังเขียนไว้ และพยายามใช้มือข้างที่บาดเจ็บให้น้อยที่สุด
  6. ใช้มืออีกข้างไปก่อน . พยายามทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น แปรงฟันและกินอาหาร ด้วยมือข้างที่ไม่ได้ใส่เฝือกข้างเดียว มือข้างที่บาดเจ็บจะได้พัก ช่วยลดการอักเสบได้ดี
    • ห้ามถือหรือยกอะไรด้วยมือข้างที่บาดเจ็บ เพราะจะทำให้บาดเจ็บซ้ำ ทีนี้ก็หายช้ากว่าเดิมเข้าไปอีก
  7. ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่ข้อมือหักข้างที่ถนัด ถือเป็นเรื่องที่อันตรายทั้งต่อตัวคุณและคนรอบข้าง ถ้าขับรถโดยที่มือข้างหนึ่งใส่เฝือกอยู่ ส่วนใหญ่คุณหมอจะสั่งงดขับรถอยู่แล้วระหว่างพักฟื้น [33] [34]
    • จริงๆ แล้วการขับรถโดยที่ข้อมือใส่เฝือกไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของวิจารณญาณมากกว่า ต้องพิจารณาเอาเองว่าสภาพร่างกายของคุณพร้อมขับรถหรือเปล่า และจะทำให้ตัวเองและคนอื่นตกอยู่ในอันตรายไหม [35]
    • นอกจากรถแล้ว ก็ต้องงดใช้เครื่องจักรต่างๆ เช่นกัน โดยเฉพาะที่ต้องใช้สองมือบังคับเวลาใช้งาน
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ดูแลตัวเองช่วงพักฟื้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตอนถอดเฝือกออกแล้ว ผิวข้างในจะแห้งน่าดู บางทีก็บวมด้วย
    • ถอดเฝือกออกแล้วจะสังเกตเห็นว่าผิวตัวเองแห้งหรือถึงขั้นลอก กล้ามเนื้อก็ลีบเล็กลงกว่าตอนก่อนใส่เฝือก ซึ่งก็ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ถ้าดูแลดีๆ เดี๋ยวก็คืนสภาพเดิมเอง [36]
    • ให้แช่แขน/ข้อมือในน้ำอุ่นประมาณ 5 - 10 นาที แล้วค่อยๆ ซับให้แห้งด้วยผ้าขนหนู [37]
    • ทาครีมมอยส์เจอไรเซอร์บำรุงให้ผิวบริเวณข้อมือและแขนนุ่มชุ่มชื้น
    • บรรเทาอาการบวมโดยกินยาไอบูโพรเฟนหรือแอสไพรินตามหมอสั่ง
  2. ค่อยๆ กลับมาทำกิจวัตรประจำวันตามปกติตามขั้นตอนที่คุณหมอหรือนักกายภาพบำบัดแนะนำ. แน่นอนว่าต้องใช้เวลา กว่าจะกลับมาขยับเขยื้อนและทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องแคล่วตามเดิม ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ถึงจะกลับมาออกกำลังกายเบาๆ อย่างว่ายน้ำ หรือคาร์ดิโอได้ ส่วนกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักๆ อย่างการเล่นกีฬา ต้องรอไปก่อนสัก 3 - 6 เดือน [38]
    • ดูแลข้อมือดีๆ อย่าให้บาดเจ็บเพิ่มเติม ถ้าใส่ brace หรืออุปกรณ์พยุงข้อมือก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้
  3. แค่ถอดเฝือกออกไม่ได้แปลว่าข้อมือคุณหายดี ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปถึงจะหายสนิท โดยเฉพาะคนที่ข้อมือหักรุนแรง [39]
    • หลังจากข้อมือหัก ถึงผ่านไปนานหลายเดือนหรือหลายปี บางทีก็อาจจะยังรู้สึกปวดหรือข้อยึดตึงขึ้นมาได้ [40] [41]
    • จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอายุและความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย ถ้าเป็นเด็กและวัยรุ่นจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่เยอะเลย ส่วนผู้สูงอายุและคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) หรือโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) จะหายช้ากว่า หรือบางทีก็ไม่หายสนิทกลับมาสมบูรณ์ตามเดิม [42]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • พยายามยกแขนสูงเหนือระดับหัวใจในช่วงที่ปวดมากๆ เพราะเลือดและของเหลวในร่างกายไหลจะกลับไปที่หัวใจ ช่วยบรรเทาปวดลดบวมได้บ้าง
  • ตอนนอนให้หาอะไรมารองพยุงข้อมือไว้ อาจจะนอนหงายแล้วใช้หมอนรองข้อมือไว้ก็ได้
  • ถ้าจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินช่วงที่ข้อมือใส่เฝือก ให้สอบถามความเป็นไปได้กับสายการบินก่อน เพราะบางทีคุณก็อาจจะยังขึ้นเครื่องไม่ได้ ในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงหลังใส่เฝือก [43]
  • ใครอยากให้เพื่อนเขียนเฝือกที่ข้อมือก็ได้ แต่ให้ใช้ปากกามาร์กเกอร์แบบกันน้ำและลบไม่ได้ หมึกจะได้ไม่เลอะเทอะเปรอะเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอน [44]
  • ถ้ามีปัญหา เปิดขวดหรือขวดโหลไม่ถนัด ให้ใช้ต้นขา เข่า หรือเท้าหนีบขวด/ขวดโหลไว้ แล้วใช้มือข้างที่ปกติดีหมุนเปิดแทน
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าข้อมือหักก็ต้องหาหมอแน่นอน เพราะถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จะมีผลข้างเคียงอันตรายได้
โฆษณา
  1. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/colles-fracture
  2. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00412
  3. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  4. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  5. http://www.nhs.uk/conditions/broken-arm/Pages/Introduction.aspx
  6. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/colles-fracture?page=2
  7. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/colles-fracture?page=2
  8. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00412
  9. http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=14648&page=2
  10. http://www.drugs.com/aspirin.html
  11. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-3852/non-aspirin-pain-relief-oral/details
  12. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-3852/non-aspirin-pain-relief-oral/details
  13. http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=14648&page=3
  14. http://www.nhs.uk/chq/Pages/2543.aspx?CategoryID=72&SubCategoryID=721
  15. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  16. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  17. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  18. http://www.nhs.uk/chq/Pages/2543.aspx?CategoryID=72&SubCategoryID=721
  19. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  20. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  21. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  22. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  23. http://www.dartmouth-hitchcock.org/documents/cast_care_tips.pdf
  24. http://well.blogs.nytimes.com/2013/12/03/when-is-it-safe-to-drive-after-breaking-a-bone/?_r=0
  25. http://newsroom.aaos.org/media-resources/Press-releases/is-it-safe-to-drive-with-my-arm-in-a-cast-frequently-asked-questions.tekprint
  26. http://www.aaos.org/news/aaosnow/may14/clinical1.asp
  27. http://kidshealth.org/teen/safety/first_aid/casts.html#
  28. http://www.ouh.nhs.uk/patient-guide/leaflets/files%5C121210wrist.pdf
  29. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00412
  30. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/colles-fracture?page=2
  31. http://www.assh.org/handcare/hand-arm-injuries/wrist-fractures
  32. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00412
  33. http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00412
  34. http://www.nhs.uk/chq/Pages/2373.aspx
  35. http://kidshealth.org/teen/safety/first_aid/casts.html#

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 26,506 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา