ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เวลาที่เรานึกถึงคำว่า “คิดบวก” หลายคนอาจนึกถึง “ความสุข” อย่างไรก็ดี การมีความสุขยังไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องเชิงบวกที่มีอยู่ ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยให้คุณมองโลกในแง่บวก แม้ว่าคุณอาจกำลังเศร้า โมโห หรือมีปัญหาใดๆ อยู่ก็ตาม [1] ผลการศึกษาระบุว่า คนเรามีพลังมากมายในการ เลือก ที่จะคิด และรู้สึกในเชิงบวก [2] ที่จริงแล้ว อารมณ์ของเราจะเข้าไปปรับเปลี่ยนสภาวะของร่างกายถึงในระดับเซลล์เลยด้วยซ้ำ [3] ประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตเรา มักเป็นผลพวงจากการมองโลกและวิธีตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว โชคยังดี ที่เราไม่จำเป็นต้องเก็บกดหรือกำจัดอารมณ์เชิงลบออกไปก็ได้ ขอเพียงมองสถานการณ์เหล่านั้นและตอบสนองให้ต่างไปจากเดิมก็พอ [4] แล้วคุณจะพบว่า คุณสามารถมีชีวิตในเชิงบวกได้ ด้วยการฝึกฝน อดทน และใช้ความพยายาม

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เริ่มจากตัวคุณเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองได้เลย หากคุณไม่สามารถ (หรือไม่ยอม) ค้นสาเหตุของปัญหา จงยอมรับก่อนว่า คุณมีความคิดและความรู้สึกเชิงลบอยู่ และรู้สึกไม่พอใจกับวิธีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวอย่างที่เป็นอยู่ นั่นจึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ [5]
    • พยายามอย่าตัดสินความคิดและความรู้สึกของตนเอง จำไว้ว่า ความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้ดีหรือเลวในตัวมันเอง มันก็เป็นแค่ความคิดและความรู้สึกหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่คุณควบคุมได้ ก็คือวิธีการตอบสนองต่อมันเท่านั้น
    • จงยอมรับแง่มุมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ของตนเอง เช่น หากคุณเป็นคนประเภทชอบเก็บงำ และต้องการเวลาส่วนตัวมากๆ เพื่อ “ชาร์จแบต” ให้ตัวเอง การฝืนใจให้ตนเองเป็นคนประเภทเปิดเผยและออกสังคมบ่อยๆ อาจจะทให้คุณเหนื่อยและไร้ความสุขก็ได้ ดังนั้น จงยอมรับตนเองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อนั้น คุณจึงจะรู้สึกเป็นอิสระในการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นคนในเชิงบวกได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
  2. เป้าหมายทำให้เรามีมุมมองต่อชีวิตเป็นบวกมากขึ้น ผลการศึกษาระบุว่า การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้คุณรู้สึกมีความหวังและมั่นใจขึ้นมาทันที ต่อให้คุณยังไม่ได้บรรลุเป้าหมายเดี๋ยวนั้นเลยก็ตาม [6] การตั้งเป้าหมายที่มีความหมายเป็นการส่วนตัว และสอดคล้องกับค่านิยมของตนเองนั้น จะช่วยให้คุณบรรลุผลและก้าวต่อไปในชีวิต [7]
    • เริ่มตั้งเป้าจากจุดเล็กๆ อย่าเพิ่งเล็งไปถึงดวงจันทร์ การเดินช้าๆ แต่ว่ามั่นคง ย่อมได้ชัยชนะในที่สุด พยายามตั้งเป้าหมายแบบเจาะจง อย่างการตั้งเป้าว่า “จะเป็นคนที่คิดบวกมากขึ้น” ก็เป็นตัวอย่างที่ดี แต่มันฟังดูเป็นเรื่องใหญ่จนไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหนดี ดังนั้น คุณควรแตกมันออกเป็นเป้าหมายย่อยอย่างเช่น “นั่งสมาธิสัปดาห์ละสองครั้ง” หรือ “ส่งยิ้มให้คนแปลกหน้าวันละครั้ง” เป็นต้น [8]
    • ตั้งเป้าหมายโดยใช้คำเชิงบวก ผลการศึกษาระบุว่า คุณจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในเป้าหมาย หากใช้คำในเชิงบวกเขียนมัน พูดง่ายๆ คือ เขียนให้เหมือนกับว่าเป้าหมายเป็นสิ่งที่คุณอยากวิ่ง เข้าหา ไม่ใช่วิ่ง หนี เช่น การตั้งเป้าว่า “หยุดกินอาหารขยะ” จะถือว่าเป็นเป้าหมายที่ไร้ประโยชน์ เพราะมันเกิดจากความรู้สึกผิดและละอาย ตรงข้ามกับเป้าหมายว่า “กินผักและผลไม้สดวันละสามเวลา” อย่างนี้จึงถือว่าเจาะจงและสร้างสรรค์ [9]
    • วางเป้าหมายโดยเน้นที่การกระทำของตนเอง จำไว้ว่า คุณไม่สามารถควบคุมใครได้หรอก หากคุณตั้งเป้าโดยเอาคนอื่นมาเป็นบรรทัดฐาน คุณอาจจะรู้สึกแย่ได้ถ้าทำไม่สำเร็จ ดังนั้น จงตั้งเป้าหมายโดยเน้นไปสู่สิ่งที่ คุณ ควบคุมได้ นั่น คือ การลงมือทำของตนเอง [10]
  3. บางแหล่งอาจเรียกกันว่า เมตตาภาวนา หรือ “การเจริญจิตเมตตา” ซึ่งเป็นการกรรมฐานแบบหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล [11] มันเป็นการสอนให้คุณแผ่ขยายความรักแบบเดียวกับที่คุณมีให้คนในครอบครัว ออกไปสู่ทั่วทั้งโลกและจักรวาล และมีการศึกษาพบว่า กรรมฐานแบบนี้จะช่วยให้จิตใจคุณสงบมั่นคงภายใน เพิ่มแรงใจให้คุณฮึดสู้ในยามล้มเหลวได้ รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ในชีวิตคุณให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ [12] [13] ขอแค่คุณฝึกกรรมฐานแบบนี้วันละเพียงห้านาที ก็จะเห็นผลลัพธ์อันน่าอัศจรรย์แล้ว [14]
    • มีหลายสำนักปฏิบัติธรรมที่เปิดสอนการเจริญเมตตาจิต หรือคุณอาจจะหาฟังบทพูดนำแผ่เมตตาได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เว็บลานธรรม [15] และเว็บธรรมจักร [16] เป็นต้น
    • กลับกลายเป็นว่า การแผ่เมตตา ช่วยให้คุณมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้จริงๆ ผลการศึกษาระบุว่า การแผ่เมตตาช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ โดยให้เหตุผลว่า การรูจักมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น อาจส่งผลให้ความเมตตากรุณานั้น กลับคืนมาสู่จิตใจเราเอง [17]
  4. ผลการศึกษาระบุว่า ที่จริงแล้วมันมีสูตรคล้ายคณิตศาสตร์ในการที่เราต้องการจะเป็นคนที่รู้สึกเชิงบวกตลอดเวลา: ความรู้สึกเชิงบวกกับความรู้สึกเชิงลบ ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 จะช่วยให้จิตใจสมดุลมากขึ้น [18] การจดบันทึกประจำวัน จะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของอารมณ์ตนเองทั้งหมดในแต่ละวัน จึงสามารถที่จะมองหาจุดที่ต้องการแก้ไขได้ มันยังช่วยให้คุณสามารถโฟกัสไปที่อารมณ์บวกมากขึ้น จึงสามารถจะจดจำมันไว้ใช้ได้ในภายหลัง [19]
    • การจดบันทึกประจำวัน ควรเป็นมากกว่าการบันทึกเรื่องราวหรือสิ่งที่คุณไม่ชอบ ผลการศึกษาระบุว่า การบันทึกหรือจดจ่ออยู่แต่กับเรื่องเชิงลบ ทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะดึงดูดมันให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะยิ่งทำให้คุณเป็นรู้สึกเชิงลบเข้าไปใหญ่ [20]
    • ดังนั้น พยายามเขียนสิ่งที่คุณรู้สึกลงไป อย่าไปตัดสินว่ามันดีหรือร้าย เช่น ประสบการณ์อันเลวร้ายอาจเป็นแบบนี้ “วันนี้ฉันรู้สึกเจ็บปวด เพราะเพื่อนร่วมงานมาเยาะเย้ยว่าฉันอ้วน”
    • จากนั้น พยายามคิดถึงการตอบสนองของคุณ ตอนนั้นคุณตอบสนองอย่างไร และต่อจากนี้ไปล่ะ เมื่อมองเห็นจากไกลๆ เช่นนี้แล้ว จะตอบสนองอย่างไร เช่น “ตอนนั้น ฉันรู้สึกแย่มากและรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า แต่ตอนนี้เมื่อย้อนคิดกลับไปแล้ว เพื่อนคนนั้นก็ชอบปากเสียไปทั่วแหละ คนอื่นจะมาตัดสินฉันไม่ได้ ฉันเท่านั้นที่ตัดสินตนเองได้”
    • พยายามคิดว่า คุณจะใช้ประสบการณ์นี้ในการเรียนรู้ให้กับตนเองได้อย่างไร คุณจะนำมันมาพัฒนาตนเองให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร คุณจะทำอย่างไรหากมันเกิดขึ้นอีก เช่น “ครั้งต่อไป หากมีใครมาพูดจาทำร้ายใจฉันอีก ฉันจะจำไว้ว่า การตัดสินจากคนอื่นไม่สามารถกำหนดความเป็นตัวฉันได้ ฉันจะบอกกับคนๆ นั้นด้วยว่า คำพูดของเขามันช่างใจร้ายและทำให้ฉันเจ็บปวด เพื่อที่ฉันจะได้ระลึกอยู่เสมอว่า ความรู้สึกของฉันมีความสำคัญ”
    • จำไว้ว่า คุณควรนำเรื่องดีๆ ไปบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัวด้วย ใช้เวลาสักพักในการจดบันทึกน้ำใจที่คุณได้รับจากคนแปลกหน้า บรรยายความงดงามของดวงอาทิตย์ และการพูดคุยกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณ “เก็บบันทึก” ความรู้สึกไว้ในความทรงจำ เพื่อจะได้ระลึกถึงมันอีกครั้ง เว้นเสียแต่ว่าคุณจะจดจ่อกับมัน มันจะลอยผ่านคุณไปดั่งสายลม
  5. การนึกขอบคุณสิ่งต่างๆ เป็นมากกว่าแค่ ความรู้สึก แต่มันคือ การกระทำ ผลการศึกษาระบุว่า การนึกขอบคุณสิ่งต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง [21] มันสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคุณได้แทบจะในทันที และยิ่งทำมากเท่าไร ผลดีก็มากขึ้นเท่านั้น [22] การนึกขอบคุณสิ่งต่างๆ จะช่วยให้คุณมีความรู้สึกเชิงบวก และพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณกับผู้อื่นให้ยิ่งขึ้น รวมถึงมีความเมตตากรุณาและความสุขมากขึ้นด้วย [23] [24] [25]
    • บางคนอาจจะเกิดมามีคุณลักษณะ “เป็นคนรู้จักบุญคุณ” มากกว่าคนอื่น หรือรู้สึกซาบซึ้งในสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ดี คุณย่อมสามารถพัฒนาทัศนคติในการรู้สึกขอบคุณสิ่งต่างๆ ให้มากขึ้นได้ ไม่ว่าคุณจะมีนิสัยดังกล่าวติดตัวมาน้อยเพียงใดก็ตาม [26]
    • ในสถานการณ์และความสัมพันธ์ทั่วๆ ไป อย่าคาดหวังดังกับว่าคุณคู่ควรได้รับบางสิ่งจากมัน แต่ก็ ไม่ได้ หมายความว่า คุณควรเชื่อว่าตนเองไร้ค่าคู่ควรกับสิ่งใดๆ และก็ไม่ได้หมายความว่าคุณสมควรถูกกระทำย่ำยีหรือหมิ่นประมาท มันแค่หมายความว่า คุณควรจะมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ โดยปราศจากความรู้สึกว่า ผลลัพธ์ การกระทำ หรือผลประโยชน์อย่างที่ตนเองคาดหวังนั้น เป็นของตาย [27]
    • แบ่งปันความซาบซึ้งใจกับผู้อื่น การแชร์ความรู้สึกดังกล่าวกับผู้อื่น จะช่วย “ฝัง” ความรู้สึกเหล่านั้นลงในความทรงจำของคุณ และยังช่วยให้คนรอบข้างที่คุณแบ่งปัน พลอยรู้สึกดีตามไปด้วย [28] ลองดูว่า คุณมีเพื่อนที่พอจะเป็น “คู่หูนักขอบคุณ” กับคุณได้ไหม เพื่อที่จะชวนเขาหรือเธอมาแบ่งปันความรู้สึกขอบคุณในสิ่งต่างๆ ร่วมกันทุกวันเลย [29]
    • พยายามจดจำเรื่องราวเชิงบวกเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน คุณอาจจดบันทึกลงในสมุดส่วนตัว ถ่ายเป็นภาพเก็บไว้ในอินสตาแกรม หรือแชร์ประสบการณ์ผ่านทวิตเตอร์ก็ได้ วิธีไหนก็ตามที่ช่วยให้คุณตระหนักและจดจำเรื่องราวเล็กน้อยที่น่าซึ้งใจเหล่านั้นได้ เช่น เรื่องที่คุณทำขนมออกมาได้อร่อย หรือบังเอิญรถโล่งถนนไม่ติดเหมือนเคย รวมถึงเรื่องที่เพื่อนชมเชยเสื้อผ้าที่คุณใส่ บันทึกมันไว้ให้หมด มันจะสั่งสมอย่างรวดเร็ว [30]
    • เติมสีสันให้เรื่องราวดีๆ เหล่านี้ คนเรามักจะมีนิสัยไม่ดีในการจดจำแต่เรื่องแย่ๆ และปล่อยให้เรื่องดีๆ ผ่านไปเฉยๆ เวลาที่คุณกำลังจดบันทึกเรื่องราวดีๆ ในชีวิตนั้น พยายามใช้เวลาสักพักในการนึกถึงมันอย่างจดจ่อ พยายาม “รื้อฟื้นมัน” ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในความทรงจำ เช่น หากคุณพบเห็นดอกไม้สวยงามตามรายทางขณะที่กำลังเดินเล่นอยู่ ลองพยายามหยุดและบอกตนเองว่า “นี่คือช่วงเวลาที่งดงาม และฉันอยากจะดื่มด่ำกับมันเพื่อจดจำให้มากที่สุดว่าฉันซาบซึ้งเพียงใด” พยายามเก็บภาพไว้ในจิตใจ เพื่อช่วยให้คุณนึกถึงมันได้ทุกครั้งที่เจอเรื่องแย่ๆ หรือประสบการณ์ไม่ดี [31]
  6. การยืนยันในเชิงบวกกับตนเองนั้น อาจฟังดูเลี่ยนๆ แต่ผลการศึกษาระบุว่า มันส่งผลถึงระดับรากฐานของจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดการก่อตัวเป็นกลุ่มปมประสาทของ “ความคิดเชิงบวก” จำไว้ว่า สมองของคุณมีนิสัยชอบทางลัด ซึ่งมันมักจะชอบเส้นทางที่ใช้บ่อยที่สุด หากคุณทำการกล่าวยืนยันเชิงบวกกับตนเองให้เป็นนิสัย สมองของคุณก็จะเห็นเรื่องเหล่านั้นเป็น “เรื่องธรรมดา” [32] การคุยกับตัวเองด้วยความคิดเชิงบวกและการกล่าวยืนยันกับตนเองด้วยความคิดเชิงบวก ช่วยเพิ่มระดับภูมิต้านทานในร่างกายและเสริมสร้างพลังในการรับมือกับปัญหาด้วย [33]
    • จงเลือกคำกล่าวเชิงบวกที่มีความหมายเป็นการส่วนตัว คุณอาจใช้คำพูดเชิงบวกที่กล่าวแสดงความเมตตาต่อร่างกาย จิตใจ และตัวคุณเอง หรือเพื่อเตือนตนเองถึงสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ จงทำสิ่งใดก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกดีและสงบอยู่ภายใน
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจพูดในทำนองว่า “ร่างกายของฉันแข็งแรงและจิตใจของฉันงดงาม” หรือ “วันนี้ฉันจะเป็นคนอ่อนโยนให้มากที่สุด” หรือ “วันนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้ากำลังเข้าข้างฉัน”
    • หากคุณรู้สึกกล่าวเชิงบวกในเรื่องใดลำบาก พยายามเน้นไปที่การค้นหาเรื่องเชิงบวกเกี่ยวกับด้านนั้นของชีวิตคุณให้เจอ เช่น หากคุณมีปัญหาเรื่องรูปลักษณ์ตนเอง ลองกล่าวว่า “ฉันเป็นคนสวยและแข็งแกร่ง” หรือ “ฉันสามารถเรียนรู้ที่จะรักตนเองเหมือนรักผู้อื่น” หรือ “ฉันคู่ควรแก่การได้รับความรักและเคารพจากผู้อื่น”
  7. ในปี 1970 มีผลการศึกษาระบุว่า ในบรรดาคนที่เคยถูกล็อตเตอรี่ แม้ว่าจะเป็นความโชคดีที่คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าเป็นเรื่องบวกที่สุดในชีวิต แต่พวกเขากลับไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ถูกล็อตเตอรี่ เพราะมันเป็นเรื่องของ การปรับตัวด้านความสุข กล่าวคือ คนเรามักมี “บรรทัดฐาน” ที่เรายึดถือทุกครั้งเมื่อเกิดเรื่องดีหรือร้ายขึ้นก็ตาม [34] อย่างไรก็ดี แม้ว่าคุณอาจเป็นคนมีบรรทัดฐานดังกล่าวค่อนข้างต่ำ แต่คุณก็สามารถที่จะบ่มเพาะความรู้สึกเชิงบวกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความนับถือตนเอง ความพอใจในคุณภาพชีวิต รวมถึงคุณภาพความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย [35] [36]
    • การมองโลกในแง่บวก เป็นวิธีการตีความหมายต่อสิ่งต่างๆ ในโลก ขอบคุณความยืดหยุ่นของสมองมนุษย์ที่ทำให้เราสามารถตีความโลกนี้ได้หลายแบบ [37] ส่วนการมองโลกแง่ร้ายนั้น เป็นการตีความโลกนี้อย่างคับแคบและฝังใจ: “ทุกอย่างไม่ยุติธรรม” “ฉันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้เลย” “ชีวิตฉันมันแย่เพราะความผิดของฉันเอง” ฯลฯ การมองโลกแง่ดีจะมีความยืดหยุ่นและอยู่ในขอบเขตมากกว่า [38]
    • ตัวอย่างเช่น การมองโลกแง่ร้ายย่อมคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่คุณต้องแสดงกีตาร์โซโลต่อหน้าคนดูในสัปดาห์หน้า และบอกคุณว่า “ฉันยิ่งห่วยเรื่องกีตาร์อยู่ด้วย ฉันต้องหน้าแตกบนเวทีแน่ๆ ดังนั้น เอาเวลาไปเล่นเกมส์ดีกว่าฝึกซ้อม” ข้อความดังกล่าวเหมาเอาว่า ฝีมือกีตาร์ของคุณมันเกิดขึ้นเองและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แทนที่จะมองว่าสามารถฝึกซ้อมให้เก่งขึ้นได้ แถมมันยังเป็นการตำหนิตนเองแบบเหมารวม “ฉันห่วยเรื่องกีตาร์” ทำอย่างกับว่ามันเป็นความซวยของคุณและไม่ใช่เรื่องที่ปรับปรุงกันได้ การมองโลกในแง่ร้ายเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า คุณไม่ฝึกกีตาร์ต่อไป เพราะมันไร้ประโยชน์ หรือคุณอาจจะรู้สึกผิดที่ทำเรื่องบางอย่างได้ไม่ดีพอ ซึ่งมุมมองทั้งสองต่างก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น
    • การมองโลกในแง่ดีในสถานการณ์ดังกล่าวนั้น จะออกมาเป็นอย่างนี้ “การแสดงสดบนเวทีในสัปดาห์หน้า ฉันรู้สึกว่าตนเองยังไม่พร้อมสำหรับมัน แต่ฉันจะฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันจนกว่าจะถึงวันงาน และทำมันอย่างดีที่สุดก็พอ ฉันทำได้เพียงแค่นั้นแหละ แต่อย่างน้อยฉันก็มั่นใจว่า หากฝึกซ้อมมากพอก็มีโอกาสแสดงได้ประสบผลสำเร็จ” การมองโลกในแง่ดี ไม่ได้บอกว่าอุปสรรคและเรื่องแย่ๆ ไม่มีทางเกิดขึ้น มันแค่บอกให้มองในอีกมุมหนึ่งเท่านั้น
    • มีความแตกต่างอย่างมาก ระหว่างการมองโลกในแง่ดีจริงๆ กับการมองโลกในแง่ดีอย่างมืดบอด วิธีการมองโลกแบบหลังนั้น จะส่งสาส์นบอกคุณว่า คุณสามารถหัดเล่นกีตาร์แค่วันเดียวแล้วก็เที่ยวไปแสดงสดได้ทั่วโลกเลย ซึ่งมันไม่เป็นความจริง และความคาดหวังเช่นนั้นจะยิ่งทำให้คุณผิดหวัง ส่วนการมองโลกในแง่ดีจริงๆ นั้น จะยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และบอกให้คุณเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ ดังนั้น มันจะคาดหวังให้คุณฝึกซ้อมอย่างหนักสักหลายปี แม้ว่าเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว คุณอาจจะล้มเหลวในเส้นทางนี้ก็ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ทำในสิ่งที่พอทำได้ทั้งหมดเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายแล้ว [39]
  8. เรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนมุมมองของประสบการณ์เชิงลบ. สิ่งที่คนเรามักทำผิดพลาดก็คือ การพยายามหลีกเลี่ยงหรือเมินเฉยต่อประสบการณ์เชิงลบ ซึ่งอาจจะดูเข้าท่าในบางโอกาส เพราะมันก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่เรา อย่างไรก็ดี การพยายามเพิกเฉยหรือเก็บกดประสบการณ์ดังกล่าว จะทำลายศักยภาพของคุณในการรับมือกับมัน [40] ดังนั้น คุณควรหาวิธีปรับเปลี่ยนมุมมองของประสบการณ์เชิงลบ หาสิ่งที่คุณสามารถเรียนรู้จากมัน และมองมันในมุมที่ต่างออกไป
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณได้ฟังมิชกิน อิงกาเวล พูดในงาน TED Talk ปี 2012 ถึงเรื่องราวที่เขาคิดค้นเทคโนโลยีช่วยเหลือสตรีตั้งครรภ์ในชนบทของอินเดีย เขาเล่าว่า เขาล้มเหลวในการทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ถึง 32 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ผ่านไป เขาต้องพบกับความท้าทายในการมองความผิดพลาดดังกล่าว่า เป็นการล้มเหลวและควรจะล้มเลิกไป อย่างไรก็ตาม เขาเลือกที่จะใช้ประสบการณ์ดังกล่าวมาเป็นบทเรียนสอนตัวเอง และในที่สุดเขาก็สามารถคิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งนำไปช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะตั้งครรภ์ในสตรีชาวอินเดียลงได้ถึง 50% [41]
    • ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งของ ดร. วิกเตอร์ แฟรงค์ ซึ่งถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันนาซี ระหว่างฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งในตอนนั้น เขาเลือกที่จะมองสถานการณ์ในแบบของตนเองว่า “ทุกอย่างสามารถถูกพรากไปจากมนุษย์เราได้ ยกเว้นเรื่องเดียว ซึ่งถือเป็นอิสระขั้นสุดท้ายในการเป็นมนุษย์ นั่นก็คือ อิสรภาพในการเลือกที่จะมองโลกในสถานการณ์ต่างๆ ตามวิถีทางของตนเอง” [42]
    • แทนที่จะปล่อยให้ตัวคุณตอบสนองต่อสถานการณ์และความท้าทายเชิงลบ ด้วยความคิดเชิงลบแบบทันทีทันใด พยายามหยุดคิดและตรึกตรองเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า มันผิดพลาดตรงไหนกันแน่ มีอะไรต้องสูญเสียไปบ้าง คุณสามารถเรียนอะไรจากเหตุการณ์นี้ได้บ้างเพื่อที่จะทำแตกต่างออกไปในคราวหน้า ประสบการณ์ดังกล่าวสอนให้คุณอ่อนโยน มีน้ำใจ เข้มแข็ง และฉลาดมากขึ้นหรือเปล่า พยายามใช้เวลาสักพักในการทบทวนประสบการณ์ แทนที่มองมันด้วยความคิดเชิงลบไปโดยปริยาย จะช่วยให้คุณฝึกปรับเปลี่ยนมุมมองได้ง่ายขึ้น
  9. กายและใจของคนเรามีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง หากคุณรู้สึกว่าการมีความคิดเชิงบวกเป็นเรื่องยาก นั่นอาจเป็นเพราะร่างกายของคุณ กำลังขวางทางคุณอยู่ นักจิตวิทยาสังคมอย่าง เอมี่ คัดดี้ แสดงให้ว่า ท่าทางของคุณสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนความเครียดในร่างกายได้ด้วย [43] ดังนั้น พยายามยืนหลังตรง อกผายไหล่ผึ่ง มองไปข้างหน้า วางตัวให้สบายๆ ซึ่งเป็นภาษากายที่เรียกว่า “ท่าอันทรงพลัง” ซึ่งสามารถช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจและมีอารมณ์ในเชิงบวกได้จริงๆ [44] [45]
    • ยิ้มเข้าไว้ ผลการศึกษาระบุว่า เมื่อคุณยิ้ม ไม่ว่าคุณจะมีความสุขอยู่หรือไม่ก็ตาม สมองจะไปปรับเปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น [46] ยิ่งได้ผลมากขึ้น หากคุณ ยิ้มแบบสุนัขดัชชุนด์ ที่ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณรอบปากและดวงตา คนที่ยิ้มในช่วงที่พักฟื้นจากอาการป่วย มักมีรายงานว่า มีความเจ็บปวดน้อยกว่าคนที่ไม่ยิ้ม [47]
    • แต่งตัวในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง เพราะมันจะส่งผลต่อความรู้สึกของคุณ ผลการศึกษาระบุว่า คนที่ใส่เสื้อโค้ทแบบนักทดลอง จะทำผลงานทางวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่าคนที่ไม่สวมชุดดังกล่าว แม้ว่าอย่างอื่นจะเหมือนกันหมด ยกเว้นแต่เสื้อโค้ทก็ตาม [48] ดังนั้น หาเสื้อที่คุณสวมแล้วรู้สึกดีกับตนเองมาใส่ ไม่ว่าคนรอบข้างจะมองชุดดังกล่าวว่ายังไงก็ตาม และอย่ายึดติดกับขนาดของเสื้อผ้าอยู่เพียงไซส์เดียว มันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและแหล่งผลิตด้วย ไซส์ S ของร้านนี้ อาจกลายเป็นไซส์ M ของอีกร้านหนึ่งก็ได้ [49] [50] จำไว้ว่า ไม่มีไซส์ใดจะมากำหนดคุณค่าของคุณใด
  10. เมื่อคุณออกกำลังกาย ร่างกายคุณจะปลดปล่อยสารเอ็นดอร์ฟีน ซึ่งทรงอานุภาพและทำให้ร่างกายคุณรู้สึกดีโดยธรรมชาติ [51] การออกกำลังกายสามารถช่วยให้คุณต่อสู้กับความกังวลและอาการซึมเศร้าได้ด้วย ผลการศึกษาระบุว่า การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและพอดีๆ จะช่วยให้คุณเกิดความรู้สึกสงบและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น [52]
  11. หากคุณต้องการความสำเร็จมากกว่าเดิม จงเน้นไปที่การใคร่ครวญความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหมด หากคุณต้องการความรักมากขึ้น ก็เน้นไปที่การใคร่ครวญถึงคนที่ห่วงใยคุณอยู่แล้วและความรักที่คุณมีต่อพวกเขาอย่างเปี่ยมล้น หากคุณอยากมีสุขภาพดีกว่านี้ ก็คิดถึงความสมบูรณ์ของสุขภาพที่เป็นอยู่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในเรื่องอื่นด้วย
  12. คนเราทุกคนมักจะต้องรับมือกับเรื่องที่ดูเหมือนมีความสำคัญตลอดเวลา แต่ที่จริงมันอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ก็ได้ หากเราฉุกคิดสักนิดและปรับเปลี่ยนมุมมองให้เหมาะสม ผลการศึกษาระบุว่า เรื่องทางวัตถุบางอย่างที่สร้างความรู้สึกแย่ให้คุณ อาจจะไม่ได้มีผลต่อความสุขของคุณเลยก็ได้ [56] ที่จริงแล้ว การจดจ่ออยู่กับบางเรื่อง มักเป็นวิธีการชดเชยความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองต่างหาก [57] ผลการศึกษาระบุว่า คนเราจำเป็นต้องมีปัจจัยพื้นฐานห้าประการนี้ เพื่อที่จะรู้สึกเบิกบานในชีวิต: [58]
    • อารมณ์เชิงบวก
    • ความสนใจ (กิจกรรมที่ทำให้เราจดจ่อและดื่มด่ำอยู่กับมันได้)
    • ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
    • ความหมายในการมีชีวิตอยู่
    • ความสำเร็จ
    • จำไว้ว่า สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา คุณสามารถกำหนดเองได้ อย่าไปสนใจคำจำกัดความของคำว่า “ความหมายในการมีชีวิตอยู่” หรือ “ความสำเร็จ” ในแบบของคนอื่น หากคุณไม่หาคำจำกัดความ ในวิถีชีวิตและการกระทำของตนเอง คุณก็ไม่สามารถรู้สึกดีกับมันได้หรอก วัตถุเงินทองและชื่อเสียง ไม่ได้ ทำให้คุณมีความสุขจริงๆ หรอก
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

รายล้อมตนเองด้วยปัจจัยเชิงบวก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การกระทำและความคิดของคนเรามีแรงดึงดูดเหมือนแม่เหล็ก ต่อให้เราหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหา มันก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม หรือเลวร้ายลงด้วยซ้ำ แต่หากเรายิ่งคิดเชิงบวก เราก็ยิ่งจะมองหาจนเจอหนทางปฏิบัติและบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนรางวัลของเรา ที่จริงแล้ว ความคิดเชิงบวกยังสามารถเพิ่มระดับภูมคุ้มกันในร่างกายได้ด้วย [59]
  2. มันฟังดูง่ายนะ แต่บางครั้งก็ทำยาก คุณอาจมีชีวิตที่ยุ่งตลอดเวลา ดังนั้น พยายามจัดสรรเวลาทำในสิ่งที่ทำให้ตนเองมีความสุขบ้าง:
    • ฟังเพลงหรือดนตรีที่คุณชื่นชอบ
    • อ่านบ้าง การอ่านเป็นประโยชน์ต่อคุณ และอาจสอนให้คุณเห็นใจผู้อื่นด้วย [60] และหากคุณชอบอ่านประเภทสารคดี มันก็จะช่วยให้คุณเปิดโลกและมีมุมมองกว้างขึ้น
    • การแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา ผ่านทางงานเขียน วาดภาพ ระบายสี ฯลฯ
    • กีฬา งานอดิเรก ฯลฯ
    • ทำให้ตัวเองรู้สึกทึ่ง ผลการศึกษาระบุว่า ความรู้สึกอัศจรรย์ใจและตกตะลึง ที่คุณมีขึ้นจากการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มองภาพศิลปะอันล้ำลึก หรือฟังเพลงคลาสสิกอันอลังการ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและจิตคุณอย่างมาก ดังนั้น จัดสรรเวลามาทำกิจกรรมดังกล่าวให้มากเท่าที่จะทำได้ [61]
  3. จงนึกขอบคุณต่อผู้คนรอบตัว ที่พร้อมอยู่เคียงข้างคุณในทุกสถานการณ์ พยายามขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเพื่อให้คุณรู้สึกดีมากขึ้น ซึ่งคุณอาจมีโอกาสช่วยพวกเขาบ้างด้วย มิตรแท้ย่อมช่วยพาเราผ่านพ้นเรื่องร้ายและดีไปได้เสมอ [62]
    • ผลการศึกษาระบุว่า คนที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่มีค่านิยมและมุมมองเดียวกันบ่อยๆ มักจะมีความสุขและมีความคิดเชิงบวกในชีวิต มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่กับเพื่อน [63]
    • การปฏิสัมพันธ์กับคนที่คุณรัก จะช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองปลดปล่อยสารโดปามีน ที่ช่วยให้คุณรู้สึกดี และสารเซราโทนิน ซึ่งช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย การใช้เวลากับเพื่อนฝูงและคนที่คุณรัก สามารถช่วยให้มีอารมณ์ในเชิงบวกได้ถึงระดับเคมีในร่างกายเชียวนะ [64]
    • คุณยังอาจขอให้เพื่อนและคนที่คุณรัก มาร่วมเป็นคู่หูนักขอบคุณชีวิตกับคุณได้ด้วย หากคุณให้ความใส่ใจกับการแบ่งปันสิ่งตนเองรู้สึกซาบซึ้งใจ ลองนึกดูว่าความรู้สึกเชิงบวกที่คุณช่วยกันพัฒนาขึ้นมา มันจะมากขึ้นแค่ไหน
  4. ความกรุณา คือ การทำในสิ่งที่เมตตาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่าคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความคิดและความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น เพราะผลการศึกษาระบุว่า เวลาที่คนเราทำการกุศล พวกเขามักจะมีความสุขเท่าๆ กับเวลาที่พวกเขาหาเงินจำนวนนั้นให้กับตัวเอง [65] จงนึกหาทางช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือชุมชนก็ตาม จงพยายามฝึกมีความกรุณา เพราะมันไม่ได้ดีต่อพวกเขาเท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพคุณเองด้วย [66]
    • คนที่เหมือนกันมากดึงดูดกัน หากเราทำดีเพื่อใครสักคน โดยเฉพาะหากไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า โอกาสที่คนๆ นั้นจะตอบแทนมีสูงมาก แม้ว่าอาจจะไม่ได้ตอบแทนคุณโดยตรง แต่ให้แก่คนอื่นก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว มันย่อมจะส่งผลดีกลับมาหาเรา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่เรียกกันว่าผลกรรมนั่นเอง ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่มีผลการศึกษาระบุว่า หลักการทำดีต่อๆ กันไป จนกลับคืนมาหาเรานั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง [67]
    • ลองไปติวหนังสือ อาสาสมัคร หรือช่วยกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ
    • ให้คนที่เดือดร้อนเรื่องเงินยืมสักเล็กน้อย ในบางประเทศที่ยากจน เงินทุนเพียงแค่ไม่กี่บาท ก็อาจส่งผลให้พวกเขานำไปตั้งตัวและมีหน้าที่การงานหาเลี้ยงตนเองได้แล้ว และเงินที่คุณให้กู้ยืมในปริมาณเล็กน้อย มีโอกาสมากกว่า 95% ที่จะได้รับคืน [68]
    • พยายามมอบของขวัญเล็กน้อยให้คนรอบข้าง แม้แต่คนแปลกหน้า คุณอาจซื้อกาแฟให้คนที่ต่อแถวเดียวกับคุณอยู่ก็ได้ ให้ของขวัญที่คุณทำด้วยตนเองจากใจแก่เพื่อนของคุณ การมอบของขวัญส่งผลกระตุ้นโดปามีนในสมองของคุณ ที่จริงแล้ว คุณอาจจะรู้สึกถึงความสุขที่เกิดขึ้นได้มากมายกว่าคนที่ได้รับของขวัญจากคุณเสียอีก [69]
  5. หาคำคมในเชิงบวกเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์หรือเสื้อผ้า. เวลาที่คุณมีความลังเลหรือรู้สึกต้องการคำชี้แนะนำทางจากใคร จงหยิบคำคมเหล่านั้นขึ้นมาอ่าน โดยคุณอาจใช้คำคมของบุคคลเหล่านี้เป็นตัวอย่าง: [70]
    • ”มันน่าอัศจรรย์เพียงใด ที่ได้ตระหนักว่า คนเราไม่จำเป็นต้องรอแม้แต่วินาทีเดียว ในการเริ่มลงมือช่วยเหลือสังคม” ― แอน แฟรงค์
    • ”คนมองโลกในแง่ดี อ้างว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกที่ดีที่สุดแล้ว ซึ่งคนที่มองโลกในแง่ร้าย กลัวว่ามันจะเป็นจริง” ― เจมส์ บรานช์ คาเบล
    • ”การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล คือ เรื่องที่ว่า คนเราสามารถเปลี่ยนอนาคตของตนเองได้ เพียงแค่เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเท่านั้น” ― โอปรา วินฟรีย์
    • หากคุณได้ยินเสียงในหัวพร่ำบอกคุณว่า “คุณไม่สามารถวาดภาพระบายสีได้” คุณควรจะลงมือวาดภาพระบายสีโดยไม่ต้องใส่ใจมัน เดี๋ยวมันก็เงียบเอง” ― วินเซนต์ แวน โก๊ะห์
  6. เรื่องที่มักเข้าใจผิดกันก็คือ คนเราต้องไปหานักบำบัดหรือนักให้คำปรึกษา ก็ต่อเมื่อเกิดความผิดพลาดบางอย่างขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่ลองคิดก่อนว่า คุณยังไปหาหมอฟันเพื่อทำความสะอาดช่องปากได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ฟันผุเลย คุณไปตรวจร่างกายประจำปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ป่วยอะไรเลย ดังนั้น การไปพบนักบำบัด คุณย่อมได้ประโยชน์จากเทคนิคป้องกันปัญหาต่างๆ [71] และหากคุณต้องการมีความคิดและความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น นักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษา ก็จะสามารถช่วยให้คุณสังเกตเห็นรูปแบบความคิดและความรู้สึกเชิงลบ เพื่อที่จะหาทางสอดแทรกความคิดและความรู้สึกเชิงบวกเข้าไปแทนได้ [72]
    • คุณอาจจะปรึกษาจิตแพทย์หรือหมอทั่วไปว่า ควรพบนักบำบัดท่านใดดี หรือหาข้อมูลเองจากกรมสุขภาพจิต และหากคุณมีประกันสุขภาพ ก็ควรลองปรึกษากับทางบริษัทประกันดูก่อนด้วย
    • ทางเลือกในการบำบัดราคาถูกย่อมีอยู่บ้าง ลองหาข้อมูลจากหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ อาสาสมัคร หรือหาข้อมูลด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ทก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

หลีกเลี่ยงปัจจัยในเชิงลบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. มนุษย์เรามีภาวะอ่อนไหวต่อการถูกกระทบอารมณ์มาก นั่นหมายความว่า บรรยากาศรอบๆ ตัวเรา ย่อมส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเรา [73] จงออกห่างจากพฤติกรรมและเรื่องราวเชิงลบ เพื่อที่สิ่งเหล่านั้นจะได้ไม่มาเล่นงานคุณ
    • เลือกคบเพื่อนให้ฉลาดหน่อย บรรดาคนที่เราคบหาและใช้เวลาด้วย สามารถส่งผลเชิงลึกต่อมุมมองของเราได้ ไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือลบก็ตาม หากคุณมีเพื่อนที่มักมองโลกแง่ร้ายเสมอ ลองหาทางช่วยเขาฝึกการมองในแง่บวก พยายามกระตุ้นให้พวกเขาฝึกหาวิธีมองโลกแง่บวกด้วยตนเองด้วย แต่หากพวกเขายังคงดื้อด้านมีความคิดและความรู้สึกเชิงลบอยู่ ก็พยายามปลีกตัวออกมาเพื่อประโยชน์สุขของคุณเอง
    • ทำแต่สิ่งที่คุณรู้สึกสบายใจ หากคุณไม่รู้สึกเช่นนั้น คุณก็ย่อมรู้สึกผิด ใจไม่ดี และมีความกังวลเวลากระทำเรื่องดังกล่าว ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีขึ้นในชีวิตคุณเลย การรู้จักพูดว่า “ไม่” ในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ จะช่วยให้คุณเข้มแข็งและมีความผ่อนคลายใจกับตัวเอง [74] นี่เป็นเรื่องจริงทั้งในด้านความรัก ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน [75] [76]
  2. มันง่ายที่จะถูกพัดพาเข้าสู่โหมด “ออโต้” หรือการมีความคิดเชิงลบติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะเกี่ยวกับตนเอง เรามักจะเป็นนักวิจารณ์ที่โหดร้ายที่สุดของตัวเอง ดังนั้น เวลาที่คุณเผชิญหน้าความคิดเชิงลบ จงท้าทายมันสักหน่อย [77] พยายามเปลี่ยนมันเป็นความคิดเชิงบวก หรือหาเหตุผลมาหักล้างความคิดเชิงลบดังกล่าว ผ่านไปไม่นานนัก มันจะกลายมาเป็นนิสัยด้านบวก ซึ่งจะสร้างความแตกต่างมากมายให้กับทักษะการคิดบวกของคุณ จงพูดว่า "ฉันทำได้" ให้มากกว่า "ฉันทำไม่ได้" จำไว้ว่า ทุกเรื่องสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นความคิดเชิงบวกได้ ขอแค่อย่าย่อท้อในการตั้งใจฝึกฝน [78] [79] [80]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณรู้สึกโมโหและฟิวส์ขาดใส่เพื่อน การตอบสนองทางความคิดของคุณอาจจะเป็น “ฉันนี่แย่จริงๆ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดบิดเบือน” คือการใช้คำอธิบายแบบเหมารวมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่เฉพาะหน้า ซึ่งรังแต่จะทำให้คุณรู้สึกผิด แทนที่จะได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง
    • ดังนั้น จงรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองและพิจารณาให้ดีว่าจะตอบสนองอย่างไร เช่น “ฉันฟิวส์ขาดใส่เพื่อน ซึ่งอาจจะทำให้เธอเสียใจ ฉันทำผิดไปแล้ว แต่จะขอโทษเธอ นอกจากนี้ คราวหน้าฉันจะขอเวลาปลีกตัวไปก่อน เวลาที่เกิดการถกเถียงกันอีก” การคิดแบบนี้ไม่ได้เหมารวมทันทีว่า คุณเป็นคน “นิสัยแย่” แต่เป็นเพียงคนที่ทำพลาดและเรียนรู้จากมัน
    • หากคุณพบว่า คุณมักมีความคิดเชิงลบกับตนเอง (หรือผู้อื่น) จงพยายามหาสิ่งด้านบวกของคุณออกมาสามข้อ เพื่อมาหักล้างความคิดเชิงลบข้อเดียวที่เกิดขึ้นนั้น เช่น หากคุณมีความคิดเกิดขึ้นว่า ตนเอง “โง่” จงท้าทายความคิดดังกล่าวด้วยความคิดเชิงบวกสามข้อทันที เช่น “ฉันกำลังเกิดความคิดว่าตนเองโง่ แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน ฉันทำโปรเจ็คงานสำเร็จลงได้ และฉันเคยแก้ปัญหายากๆ มาแล้วในอดีต ฉันเป็นคนมีความสามารถซึ่งบังเอิญกำลังประสบปัญหาบางอย่างในตอนนี้”
    • ต่อให้เราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เราก็ยังได้ประสบการณ์อันล้ำค่า ประสบการณ์มักจะมีค่ามากกว่าวัตถุใดๆ เพราะวัตถุต่างๆ ย่อมสูญสลายได้ตามกาลเวลา แต่ประสบการณ์จะติดตัวเราและทำให้เติบโตไปตลอดชีวิต
    • ในแต่ละสถานการณ์ ย่อมมีด้านบวกและด้านลบ เรา ต้องเลือกเองว่า จะเลือกมองด้านไหน เราสามารถเลือกที่จะจับผิดตัวเองเวลาที่กำลังมีความคิดเชิงลบ และพยายามทดแทนด้วยความคิดเชิงบวก
    • มันเปล่าประโยชน์ที่จะกลุ้มใจไปกับเรื่องแย่ๆ หลายด้านของชีวิตมัก "ไม่ยุติธรรม" เพราะชีวิตคนเรา มันย่อมเป็นไป "เช่นนั้นเอง" หากเรายอมเสียพลังงานและความสุขไปกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็รังแต่จะเกิดความทุกข์ใจมากขึ้น
  3. หากคุณพบว่าตนเองมักขาดความสุข หงุดหงิด หรือรู้สึกในแง่ลบแบบเรื้อรังมานาน คุณอาจกำลังมีปมในอดีตที่ต้องสะสาง ควรจะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการกับความเจ็บปวดที่เคยประสบมา เช่น การถูกทารุณในอดีต ความเครียดรุมเร้า ภัยธรรมชาติ ความเศร้าและความสูญเสียบางอย่าง ฯลฯ [81]
    • มองหาผู้เชี่ยวชาญในการรักษาทางจิตที่ได้รับใบอนุญาต โดยเฉพาะผู้ที่มีความชำนาญการด้านบำบัดความเจ็บปวดในอดีตเป็นพิเศษ การเยียวยาจิตใจตนเองกับนักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษา อาจจะลำบากใจหรือเจ็บปวดอยู่สักหน่อย แต่คุณจะกลายมาเป็นคนที่เข้มแข็งและมีความคิดและความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้นในที่สุด [82]
  4. ขอยกคำพูดของแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ มาให้พิจารณาว่า “สิ่งเดียวที่เราควรจะกลัว ก็คือเจ้าความกลัวนั่นเอง” เราต้องล้มเหลวและทำผิดพลาดบ้าง แต่วิธีที่เราลุกขึ้นมายืนหยัดต่างหากที่สำคัญกว่า หากเราคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จ แต่ไม่กลัวที่จะล้มเหลว เราย่อมมีโอกาสมากกว่า ในการที่จะเกิดความคิดเชิงบวกไปตลอดเส้นทาง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เมื่อคุณรู้สึกเหมือนกำลังจะฟิวส์ขาด สูดลมหายใจลึกๆ นับถึงสิบ ดื่มน้ำสักหน่อยแล้วค่อยยิ้ม แม้จะเป็นการฝืนยิ้ม ยังไงมันก็ถือเป็นรอยยิ้ม ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกดีได้ จงโฟกัสไปที่เรื่องดีๆ
  • ในทุกตอนเช้า จงมองตัวเองในกระจกและคิดเกี่ยวกับข้อดีของตนเองมาห้าประการ
  • อย่าล้มเลิก นิสัยทางบวกสามารถทดแทนนิสัยแย่ๆ ได้ด้วยการพยายามต่อไปเรื่อยๆ
  • จงสั่งสมความคิดเชิงบวกโดยมีเป้าหมายในใจ เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและผู้อื่น
  • จำไว้ว่า เราเป็นคนควบคุมความคิดตัวเราเอง หากเรากำลังมีความคิดเชิงลบ เราสามารถเปลี่ยนมันเป็นความคิดเชิงบวกเมื่อไรก็ได้
  • เก็บรวบรวมแฟ้ม 'พลังใจ' ซึ่งรวบรวมการ์ดและจดหมายอวยพรจากบรรดาเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวเอาไว้ หยิบมันออกมาอ่านเมื่อรู้สึกแย่ คนเหล่านี้รักและห่วงใยคุณ มันยากที่จะรู้สึกแย่ ในเมื่อคุณรู้ตัวเองดีว่าเป็นคนทำให้ผู้อื่นมีความสุข
  • แค่มีความคืบหน้า ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว หากคุณใส่ใจอย่างสร้างสรรค์ ต่อความเป็นไปภายในจิตใจและความคิดของตัวเอง ก็ไม่มีเป้าหมายอะไรที่คุณจะไม่ได้เห็นความก้าวหน้าบ้าง เป้าหมายที่เรายึดมั่นในใจมักมีพลังมหาศาล
  • พยายามเงียบเข้าไว้แม้ว่าคุณอาจกำลังรู้สึกโมโห ความเจ็บแค้นในใจจะกัดกร่อนจิตวิญญาณของเรา หรือพูดง่ายๆ ว่า มันรบกวนสันติสุขภายในใจเรา
  • จงให้กำลังใจผู้อื่นบ้าง มันยากที่จะมีความคิดเชิงลบ เวลาที่คุณกำลังพยายามให้กำลังใจผู้อื่น
  • เมื่อคุณอยู่ในภาวะที่ไม่อยากทำอะไร และต้องการเพียงแค่การปลอบใจเวลาที่เกิดอารมณ์เชิงลบ พยายามหาภาพในเชิงบวกมามองดู หรือเอาภาพที่สื่อถึงความสุขมาจากทางอินเตอร์เน็ตก็ได้
  • การมีเมตตาจะช่วยให้คุณหนักแน่นและมีความคิดเชิงบวกมากขึ้น
  • อย่าลงโทษตนเองไปหมดทุกเรื่อง จงมองดูว่าอะไรได้ผล และอะไรไม่ได้ผล เพื่อที่จะจำไว้ทำในครั้งต่อไป
    • จงนึกถึงสิ่งที่คุณทำให้ผู้อื่นมีความสุข หรือช่วยเหลือผู้อื่น คิดถึงเวลาที่คุณช่วยผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก การจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนดีได้นั้น คุณต้องทำดีต่อผู้อื่น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขามีความสุข แต่ยังทำให้คุณรู้สึกดีต่อตนเองด้วย
โฆษณา

คำเตือน

  • จงระวังคนที่ไม่อยากมีความคิดเชิงบวก แต่จงมองหาคำแนะนำจากคนที่คิดบวกแทน
  • คุณอาจต้องเจอคนที่ตัดสินคุณในบางเรื่องอยู่เสมอ แต่อย่าปล่อยให้อคติของพวกเขามาทำร้ายจิตใจคุณ จำไว้ว่า คนเดียวที่คุณควรเอาใจก็คือ ตัวคุณเอง
โฆษณา
  1. http://www.mindtools.com/page6.html
  2. http://www.mettainstitute.org/mettameditation.html
  3. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/are_you_getting_enough_positivity_in_your_diet
  4. https://thebuddhistcentre.com/text/loving-kindness-meditation
  5. http://greatergood.berkeley.edu/raising_happiness/post/better_than_sex_and_appropriate_for_kids
  6. http://www.larndham.org
  7. www.dhammajak.net
  8. http://news.harvard.edu/gazette/story/2012/11/meditations-positive-residual-effects/
  9. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/are_you_getting_enough_positivity_in_your_diet
  10. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/tips_for_keeping_a_gratitude_journal
  11. https://www.psychologytoday.com/blog/anger-in-the-age-entitlement/201309/the-good-and-the-bad-journaling
  12. http://greatergood.berkeley.edu/topic/gratitude/definition#why_practice
  13. https://www.psychologytoday.com/blog/hope-relationships/201409/6-ways-become-more-positive-today
  14. http://www.psy.miami.edu/faculty/mmccullough/Papers/Gratitude_CDPS_2008.pdf
  15. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1475-6811.2010.01273.x/abstract
  16. http://greatergood.berkeley.edu/pdfs/GratitudePDFs/5Watkins-GratitudeHappiness.pdf
  17. http://greatergood.berkeley.edu/pdfs/GratitudePDFs/5Watkins-GratitudeHappiness.pdf
  18. McCullough, M.E., Kilpatrick, S.D., Emmons, R.A., & Larson, D.B. (2002). Is gratitude a moral affect? Psychological Bulletin, 127, 249-266.
  19. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/10_steps_to_savoring_the_good_things_in_life
  20. https://www.psychologytoday.com/blog/hope-relationships/201409/6-ways-become-more-positive-today
  21. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/tips_for_keeping_a_gratitude_journal
  22. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/10_steps_to_savoring_the_good_things_in_life
  23. http://www.huffingtonpost.com/dr-carmen-harra/affirmations_b_3527028.html
  24. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/positive-thinking/art-20043950
  25. Brickman, P., & Campbell, D.T. (1971). Hedonic relativism and planning the good society. In M.H. Appley (Ed.), Adaptation-level theory (pp.287-302. New York: Academic Press
  26. Caprara, G.V. & Steca, P. (2005). Affective and social self-regulatory efficacy beliefs as determinants of positive thinking and happiness. European Psychologist, 10(4), pp. 275-286.
  27. Diener, E., & Diener, M. (1995). Cross cultural correlates of life satisfaction and self esteem. Journal of Personality and Social Psychology, 68, pp. 653-663.
  28. https://www.psychologytoday.com/blog/happiness-in-world/201306/how-optimism-can-be-learned
  29. http://greatergood.berkeley.edu/pdfs/GratitudePDFs/2Wood-GratitudeWell-BeingReview.pdf
  30. https://www.psychologytoday.com/blog/happiness-in-world/201306/how-optimism-can-be-learned
  31. http://www.personal.kent.edu/~dfresco/CBT_Readings/JCP_Blackledge_%26_Hayes_2001.pdf
  32. http://www.forbes.com/sites/danschawbel/2013/04/21/brene-brown-how-vulnerability-can-make-our-lives-better/
  33. http://www.brainpickings.org/2013/03/26/viktor-frankl-mans-search-for-meaning/
  34. http://www.ted.com/talks/amy_cuddy_your_body_language_shapes_who_you_are/transcript?language=en
  35. https://www.psychologytoday.com/blog/hope-relationships/201409/6-ways-become-more-positive-today
  36. http://www.ted.com/talks/amy_cuddy_your_body_language_shapes_who_you_are/transcript?language=en#t-332879
  37. https://www.psychologytoday.com/blog/hope-relationships/201409/6-ways-become-more-positive-today
  38. http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=smile-it-could-make-you-happier
  39. http://www.nytimes.com/2012/04/03/science/clothes-and-self-perception.html?_r=1
  40. http://time.com/3532014/women-clothing-sizes-history/
  41. ttp://www.nytimes.com/2011/04/25/business/25sizing.html
  42. http://www.webmd.com/depression/guide/exercise-depression
  43. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20479481
  44. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/fitness/expert-answers/exercise/faq-20057916
  45. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/yoga/art-20044733
  46. http://www.health.harvard.edu/staying-healthy/the-health-benefits-of-tai-chi
  47. http://toddkashdan.com/articles/materialism_&_well-being.pdf
  48. Reed, R. (2013). A Lacanian Ethics of Non-Personal Responsibility. Pastoral Psychology, 62(4), 515–531.
  49. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/is_happiness_overrated
  50. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/awe_boosts_health
  51. http://www.scientificamerican.com/article/novel-finding-reading-literary-fiction-improves-empathy/
  52. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/awe_boosts_health
  53. https://www.psychologytoday.com/blog/hope-relationships/201409/6-ways-become-more-positive-today
  54. http://news.discovery.com/human/religion-happiness-social-bonds.html
  55. https://www.uniiverse.com/neuroscience
  56. http://www.psychologytoday.com/blog/feeling-it/201211/the-best-kept-secret-happiness
  57. http://greatergood.berkeley.edu/topic/compassion/definition#why_practice
  58. http://www.nytimes.com/2014/03/16/opinion/sunday/the-science-of-paying-it-forward.html
  59. http://www.kiva.org/about/risk
  60. http://www.pnas.org/content/103/42/15623.abstract
  61. https://www.psychologytoday.com/blog/comfort-cravings/201401/the-10-best-quotes-the-power-positive-thinking
  62. https://well.wvu.edu/articles/why_you_should_go_to_the_counselor__even_if_youre_okay
  63. https://www.psychologytoday.com/blog/in-therapy/201403/8-more-reasons-go-therapy
  64. https://www.psychologytoday.com/blog/the-science-work/201410/faster-speeding-text-emotional-contagion-work
  65. http://www.harleytherapy.co.uk/counselling/7-ways-stronger-sense.htm
  66. http://www.huffingtonpost.com/irene-s-levine/7-tips-for-saying-no-to-a_b_828759.html
  67. http://fortune.com/2014/08/19/why-saying-no-gets-you-ahead/
  68. http://www.huffingtonpost.com/2014/09/13/positive-thinking-day-steps_n_5810744.html
  69. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/positive-thinking/art-20043950?pg=2
  70. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_self_compassion_beats_rumination
  71. http://www.personal.kent.edu/~dfresco/CBT_Readings/JCP_Blackledge_%26_Hayes_2001.pdf
  72. http://www.unh.edu/counseling-center/dealing-effects-trauma-%E2%80%93-self-help-guide
  73. Cahill, S.P., Rothbaum, B.O., Resick, P.A., & Follette, V.M. (2009). Cognitive-behavioral therapy for adults. In Effective Treatments for PTSD: Practice Guidleines from the International Society for Traumatic Stress Studies. Edna B. Foa, Terence M. Keane, Matthew J. Friedman, & Judith A. Cohen, Eds. (pp. 139-222). New York: The Guilford Press.

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 32,485 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา