ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าเราต้องจากบ้านไปเรียนหนังสือ ต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่ หรือต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศ เราอาจ “คิดถึงบ้าน” กันบ้าง อาการคิดถึงบ้านอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่อาการที่พบโดยทั่วไปคือรู้สึกกังวล หดหู่ โดดเดี่ยว หรือเหงา [1] เราอาจรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงแม้แต่หมอนใบเก่าหรือกลิ่นของบ้าน [2] อาการคิดถึงบ้านเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยในแทบทุกสถานการณ์ ฉะนั้นอย่าอายถ้าเรากำลังคิดถึงบ้านอยู่ บทความนี้มีวิธีการที่สามารถช่วยเรารับมือกับอาการคิดถึงบ้าน และเรียนรู้ที่จะชอบสภาพแวดล้อมใหม่ของเราได้

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

หาวิธีการรับมือ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การคิดถึงบ้านเกิดจากคนเราต้องการความสัมพันธ์ ความรัก และความมั่นคง ถึงแม้ชื่อจะบอกแบบนั้น แต่ความรู้สึก “คิดถึงบ้าน”อาจไม่เกี่ยวกับบ้านจริงของเราก็ได้ เวลาเราอยู่ห่างจากสิ่งใดก็ตามที่เป็นความคุ้นเคย ความมั่นคง ความสบาย และก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเรา ก็อาจทำให้เราเกิดอาการคิดถึงบ้านได้ [3] แม้แต่ผลการวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าอาการคิดถึงบ้านเป็นความเศร้าแบบหนึ่งที่เกิดจากการพรากจากความคุ้นเคยไปจนถึงการแยกทางหรือความตาย [4]
    • เราอาจมีอาการคิดถึงบ้านก่อนที่จะจากบ้านมาเสียอีก เราจะรู้สึกวิตกกังวล สูญเสียบางสิ่งบางอย่าง หรือหมกมุ่นคิดถึงแต่บ้าน “ก่อน” จากที่นั่นมาเพราะเรารู้ตัวว่ากำลังจะต้องจากสถานที่อันคุ้นเคยนี้ [5]
    • เด็กหรือเยาวชนในช่วงเริ่มวัยรุ่นมักจะรู้สึกคิดถึบ้านมากกว่าผู้ใหญ่ ถึงแม้อาการคิดถึงบ้านจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย
  2. การคิดถึงบ้านนั้นเป็นมากกว่าแค่การคิดถึง “บ้าน” อาการนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกและผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การรู้จักอาการคิดถึงบ้านช่วยเราให้รู้ว่าทำไมถึงรู้สึกแบบนั้นและได้หาทางแก้ไข [6]
    • “อาการคิดถึงบ้าน” อาการคิดถึงบ้านเป็นอาการที่เราคิดถึงบ้าน สิ่งที่คุ้นเคย และผู้คนบ่อยๆ ซึ่งมักจะเป็นการคิดถึงแต่สิ่งที่ดีๆ เราอาจรู้สึกคิดถึงบ้านมาก หรือเห็นว่าตนเองชอบเปรียบเทียบสถานการณ์ใหม่อยู่เสมอว่าไม่ดีเท่าสถานการณ์ที่ผ่านมา [7]
    • “ภาวะซึมเศร้า” คนที่มีอาการคิดถึงบ้านบ่อยครั้งจะมีภาวะซึมเศร้าเพราะคนเหล่านี้ขาดแรงสนับสนุนด้านสังคมอย่างที่เคยได้รับจากทางบ้าน เราอาจรู้สึกอีกด้วยว่าควบคุมชีวิตตนเองได้น้อยลง จึงอาจซึมเศร้าหนักขึ้น สัญญาณทั่วไปของอาการคิดถึงบ้านซึ่งก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้แก่ รู้สึกเศร้า รู้สึกสับสนงุนงง หรือรู้สึกเหมือนว่าเรา “แปลกแยก” มีพฤติกรรมถอนตัวออกจากการทำกิจกรรมทางสังคม ยอมแพ้ต่ออุปสรรคด้านการเรียนหรือการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไร้ประโยชน์หรือถูกทอดทิ้ง มีความภาคภูมิในตนเองต่ำ และแบบแผนการนอนเปลี่ยนไป การไม่ต้องการทำหรือไม่สนุกกับอะไรที่เราเคยทำเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะซึมเศร้า [8]
    • “ความวิตกกังวล” ความวิตกกังวลยังเป็นอาการสำคัญอาการหนึ่งของอาการคิดถึงบ้าน ความวิตกกังวลเพราะคิดถึงบ้านอาจทำให้เราเอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องบ้านหรือผู้คนซึ่งอยู่ที่นั่น เราอาจเอาจิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ได้อย่างลำบาก หรือรู้สึกเครียดมากโดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ เราอาจหงุดหงิด หรือ “ตะคอก”ใส่ผู้คนในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ในกรณีที่ร้ายแรงความวิตกกังวลสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอื่นๆ เช่น อาการกลัวที่โล่งหรือโรคกลัวที่ปิดทึบ [9]
    • “พฤติกรรมผิดปกติ” การรู้สึกคิดถึงบ้านทำให้เราไม่ใส่ใจกับภารกิจในชีวิตประจำวัน และเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าปกติเราไม่ใช่คนขี้โมโห แต่กลับพบว่าตนเองหงุดหงิดง่าย หรือต่อว่าผู้อื่นมากกว่าที่เคยเป็น นี้อาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังคิดถึงบ้านอยู่ เราอาจกินมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ อาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดหัว เจ็บปวด หรือป่วยบ่อยมากกว่าปกติ [10]
  3. ถึงแม้อาการคิดถึงบ้านอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่คนอายุน้อยมีอาการคิดถึงบ้านได้มากกว่า ที่เป็นแบบนี้มีเหตุผลสองข้อ
    • เด็กและวัยรุ่นโดยปกติแล้วยังไม่เป็นอิสระจากการใช้อารมณ์ความรู้สึก เด็กเจ็ดขวบไม่พร้อมเสี่ยงออกนอกบ้านเท่าเด็กวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปี
    • คนที่อายุน้อยมักจะไม่มีประสบการณ์ในชีวิตมากนัก ถ้าเราไม่เคยย้ายบ้าน ออกจากบ้านไปอยู่ค่ายพักแรม หรือเดินทางออกจากบ้านด้วยตนเองมาก่อน การออกจากบ้านสองสามครั้งแรกจะยากลำบากมาก เมื่อเรายังอายุน้อย ขาดประสบการณ์ จึงรู้สึกว่าประสบการณ์ส่วนใหญ่เป็นของแปลกใหม่
  4. การมีของจาก “บ้าน” ติดตัวไปด้วยช่วยเราลดความรู้สึกคิดถึงบ้านด้วยการให้ “ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ” สิ่งต่างๆ ที่มีค่าทางใจหรือค่านิยมทางวัฒนธรรม เช่น รูปภาพครอบครัวหรือของที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจะช่วยให้เรารู้สึกอยู่ใกล้บ้าน ถึงแม้ความจริงแล้วเราจะอยู่ห่างไกลก็ตาม [11]
    • ค่อยๆ ปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ๆ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นสำคัญต่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ถึงแม้เราจะมีของจากบ้านคอยช่วยให้ความอบอุ่นใจ แต่ต้องรู้ตัวว่าเราไม่อาจและไม่ควรอยู่กับสิ่งเก่าๆ ที่คุ้นเคย [12]
    • ของที่คุ้นเคยไม่จำเป็นต้องวัตถุจับต้องได้ ตัวอย่างเช่น ในยุคอินเตอร์เน็ตนี้ เราอาจฟังวิทยุออนไลน์จากสถานีซึ่งเราชอบฟังตอนอยู่บ้าน
  5. ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทำอะไรที่เราเคยทำตอนอยู่บ้านจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น [13] การทำกิจกรรมต่างๆ ที่คุ้นเคยช่วยให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้านได้ แม้ความจริงแล้วเราจะอยู่ไกลจากบ้านมากก็ตาม
    • กินอาหารโปรด มีเหตุผลอยู่เหมือนกันที่เราต้องกิน “อาหารที่ทำให้สบายใจ” การกินอาหารที่เคยกินตอนเป็นเด็กหรือเคยกินตอนอยู่ที่บ้านจะช่วยให้เรามีความสุข และรู้สึกมั่นคงมากขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่ [14] ลองแนะนำเมนูจานโปรดให้เพื่อนใหม่รับประทานดูเพื่อตนเองจะได้รู้สึกสบายใจและได้เพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน
    • เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้คนที่มีศาสนาหรือความเลื่อมใสศรัทธาจะรู้สึกคิดถึงบ้านน้อยลงเมื่อเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในที่ใหม่ ลองหาสถานที่ประกอบพิธีกรรมหรือทำสมาธิในต่างถิ่น หรือหาเพื่อนที่มีความเชื่อทางศาสนาเดียวกันก็ได้ [15]
    • หากิจกรรมที่คุ้นเคยทำ ถ้าเราเคยอยู่ทีมกีฬาหรือชมรมอะไรสักอย่างตอนอยู่บ้าน อย่าอายที่จะลองทำกิจกรรมเดียวกันนี้ในต่างถิ่น ลองสำรวจดูสิว่ามีกิจกรรมอะไรที่คล้ายกันนี้ในสภาพแวดล้อมใหม่หรือไม่ เราจะได้ทำสิ่งที่เรารักและพบเพื่อนใหม่ไปพร้อมกันด้วย
  6. มีเรื่องเล่ากันว่าการบอกว่ารู้สึกคิดถึงบ้านจะทำให้เกิดอาการคิดถึงบ้าน หรือทำให้คิดถึงบ้านหนักขึ้น ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่จริง [16] ในความเป็นจริงการบอกเล่าความรู้สึกและสิ่งที่ประสบนั้นช่วยให้เรารับมือกับอาการคิดถึงบ้านได้ การ “ไม่” ยอมรับรู้ความรูสึกของตนเองตะหากที่จะทำให้มีอาการคิดถึงบ้านหนักขึ้น
    • พูดคุยกับบุคคลที่เราไว้ใจ ผู้ดูแลหอพัก ครูแนะแนว ผู้ปกครอง เพื่อนสนิท หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตพร้อมรับฟังปัญหาของเรา และมักจะให้คำแนะนำดีๆ ในการรับมือกับความรู้สึกของตนเองด้วย
    • การขอความช่วยเหลือจากใครสักคนไม่ได้หมายถึงเราเป็นคน “อ่อนแอ” หรือ “โง่” การพยายามยอมรับว่าเราต้องการความช่วยเหลือนั้นเป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญและการเอาใจใส่ตนเอง ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
  7. การหมั่นจดบันทึกจะช่วยให้เรารู้ทันความคิดและได้ประมวลทุกสิ่งทีเกิดขึ้นในสภาพแวดลอมใหม่ เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นไปเรียนที่ต่างประเทศ ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เข้าค่ายช่วงฤดูร้อน การคอยจดบันทึกช่วยเราได้ติดตามความนึกคิดของตนเอง ผลวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการหมั่นจดบันทึกประสบการณ์ที่เราพบเจอและเขียนความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์เหล่านี้ออกมาช่วยให้เราคลายความรู้สึกคิดถึงบ้านได้ [17]
    • พยายามองหาด้านดีอยู่เสมอ ถึงแม้การรู้สึกเหงาและคิดถึงบ้านนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่การมองเห็นด้านดีของประสบการณ์ใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ลองนึกถึงอะไรสนุกๆ ที่ทำอยู่ หรือคิดว่าสิ่งใหม่ๆ นี้ทำให้นึกถึงอะไรดีๆ ตอนอยู่ที่บ้านบ้าง ถ้าเอาแต่จดบันทึกถึงเรื่องที่ทุกข์ใจ เราอาจยิ่งรู้สึกคิดถึงบ้านมากขึ้นไปอีก
    • ไม่ควรจดบันทึกแต่เหตุการณ์และความรู้สึกที่ไม่ดี เมื่อเราบันทึกเหตุการณ์ที่ไม่ดีลงไป จงให้เวลาตนเองคิดและเขียนลงไปว่าเพราะอะไรถึงรู้สึกแบบนั้น วิธีนี้เรียกว่า “การเขียนสะท้อนความคิด” ใช้เป็นวิธีเยียวยาจิตใจตนเองได้ [18]
  8. ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายจะทำให้สารเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมา สารเอ็นดอร์ฟินเป็นสารที่ทำให้รู้สึกดี ช่วยลดความวิตกกังวลและความหดหู่ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นผลข้างเคียงจากอาการคิดถึงบ้าน [19] จะออกกำลังกายกับผู้อื่นก็ได้ เพราะเราจะได้พบปะผู้คนและได้พบเพื่อนใหม่
    • การออกกำลังกายยังช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน อาการคิดถึงบ้านอาจแสดงออกมาพร้อมความรู้สึกไม่สบาย (ปวดหัวหรือเป็นหวัดบ่อยๆ เป็นต้น)
  9. การได้พูดคุยกับคนที่เรารักช่วยให้เรารู้สึกมีกำลังใจและใกล้ชิดกับพวกเขา นี้จะเป็นแรงผลักดันให้เราปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ [20]
    • เราต้องเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้เพื่อจะได้คลายความคิดถึงบ้านลงได้ อย่าให้ตนเองคิดถึงคนที่บ้านมากเสียจนไม่ได้เรียนรู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกนี้เองอย่างไร
    • การโทรหาเพื่อนหรือครอบครัวอาจทำให้เด็กที่ยังเล็กมากหรือคนที่จากบ้านไปไม่นานยิ่งคิดถึงบ้านได้ [21]
    • เราอาจหาเวลาเข้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อติดต่อเพื่อนและติดตามข่าวคราวของพวกเขาสักนิด วิธีนี้อาจช่วยให้รู้สึกว่าเพื่อนๆ นั้นยังอยู่ใกล้ๆ เรา แต่อย่าใช้เวลาอยู่กับเพื่อนเก่าเสียจนไม่มีเวลาหาเพื่อนใหม่
  10. ถึงแม้การติดต่อคนที่บ้านเป็นวิธีรับมือกับอาการคิดถึงบ้านที่ดี แต่ถ้าทำมากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียเช่นกัน อย่าเอาแต่คิดถึงบ้านจนไม่เป็นอันทำอะไร ถ้าเห็นว่าตนเองโทรหาแม่เป็นครั้งที่สามของวันแทนที่จะไปนั่งจิบกาแฟกับเพื่อนใหม่ ให้ลองปรับเวลาที่จะโทรหาคนในครอบครัว มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างการเอาแต่ติดต่อคนในครอบครัวและการไม่ยอมทำสิ่งที่ควรทำอยู่ตอนนี้ [22]
    • จัดเวลาโทรกลับหาทางบ้าน กำหนดจำนวนครั้งที่จะโทรไปและกำหนดเวลาว่าจะคุยกับเพื่อนและครอบครัวนานแค่ไหน เราอาจลองเขียนจดหมายและส่งทางไปรษณีย์ดูก็ได้ นี้ก็เป็นวิธีการติดต่อคนทางบ้านโดยป้องกันไม่ให้อาการคิดถึงบ้านมาขัดขวางการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เข้าหาผู้คน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การคิดถึงคนที่รักเมื่ออยู่ห่างไกลกันเป็นเรื่องธรรมดา เขียนลงไปว่าเราคิดถึงใครบ้างและพวกเขาเคยช่วยเหลือเราเรื่องใดบ้าง ความทรงจำใดที่เราประทับใจ เคยทำอะไรด้วยกันบ้าง เราชอบพวกเขาตรงไหน การหาเพื่อนที่คล้ายคลึงกับคนที่เราคิดถึงช่วยให้เรารู้สึกมีกำลังใจ และยังช่วยให้เราปรับตัวให้เข้ากับสถานที่หรือสถานการณ์ใหม่ได้
    • ลองมองหาว่าสภาพแวดล้อมใหม่นั้นมีอะไรคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อมเดิมไหม ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราพบว่าสถานการณ์ใหม่มีอะไรคล้ายคลึงกับสถานการณ์เดิมบ้าง เราจะคิดถึงบ้านลดลงเพราะเรามองเห็นอะไรดีๆ และมุ่งจดจ่อกับสิ่งที่ดีนั้นมากขึ้น [23]
  2. การพูดว่าเราต้องหาเพื่อนใหม่ให้ได้นั้นง่าย แต่การหาเพื่อนใหม่ในต่างถิ่นนั้นยาก วิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างกลุ่มเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งคือหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนที่เราไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะถ้าเราและคนคนนั้นมีความสนใจร่วมกัน ก็ยิ่งผูกมิตรกันง่ายขึ้น [24] อีกทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ ยังช่วยเราบรรเทาความรู้สึกคิดถึงบ้านด้วย
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องจากบ้านไปไกลเพื่อเรียนหนังสือ ที่มหาวิทยาลัยอาจมีชมรม กีฬา กิจกรรมต่างๆ และสโมสรนักศึกษาให้เราเข้าร่วมก็ได้ กิจกรรมต่างๆ นี้ช่วยให้เราได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คน เราอาจได้พบกับคนที่คิดถึงบ้านเหมือนกันด้วย!
    • ถ้าเราได้งานใหม่หรือต้องไปทำงานต่างถิ่น การหาเพื่อนใหม่นั้นอาจทำได้ยากกว่าเดิม ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าเราอาจหาเพื่อนใหม่ได้ยากขึ้นหลังจากเรียนจบ [25] การพบเจอกันบ่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นการเข้าร่วมกลุ่มที่สามารถพบกันได้บ่อยๆ เช่น ชมรมคนรักหนังสือหรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการน่าจะช่วยให้เราได้เพื่อนใหม่ เพราะเราจะพบผู้คนกลุ่มเดิมบ่อยๆ [26]
  3. แบ่งปันเรื่องที่ชอบเกี่ยวกับบ้านของเราให้ผู้อื่นฟัง. สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการคลายความคิดถึงบ้านคือการหาเพื่อนใหม่ให้ได้ การมีกลุ่มเครือข่ายสนับสนุนที่เข้มแข็งจะทำให้เราสามารถรับมือกับอาการคิดถึงบ้านได้ดีขึ้น [27] แบ่งปันความทรงจำดีๆ ที่มีกับบ้านของเราให้ผู้อื่นฟังจะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นและพูดถึงบ้านของเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น [28]
    • จัดงานเลี้ยงเพื่อเราจะได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารและประเพณีท้องถิ่นให้เพื่อนใหม่หรือคนรู้จักฟัง การพูดถึงอาหารจานโปรดจากฝีมือคนในครอบครัวให้ผู้อื่นฟังอาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้นไม่ว่าเรากำลังศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศหรือมหาวิทยาลัยในเมืองก็ตาม เราอาจจัดงานเลี้ยงเพื่อสอนเพื่อนให้ลองทำอาหารประจำท้องถิ่นของเรา หรือเชิญเขามาร่วมรับประทานขนมอันเป็นของขึ้นชื่อของท้องถิ่นเรา
    • ให้เพื่อนลองฟังเพลงโปรดของเรา ถ้าเราชอบฟังเพลงหนึ่งหรือสองเพลงมากเป็นพิเศษ ลองจัดการพบปะเล็กๆ เพื่อเล่นเกมกระดาษ ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน ฟังเพลงโปรดของเรา ถ้าเราชอบฟังเพลงแจ๊สเวลาอยู่บ้าน ก็เปิดเพลงแจ๊สให้ตนเองและเพื่อนฟัง ความจริงฟังเพลงไหนก็ได้ ถ้าได้ยินเพลงนั้นแล้วรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน
    • เล่าเรื่องตลกเวลาอยู่ที่บ้านให้เพื่อนฟัง ถึงแม้เราอาจรู้สึกเศร้าจนไม่อาจหัวเราะได้ แต่ก็ลองเล่าเรื่องตลกที่เกิดขึ้นเวลาอยู่ที่บ้านให้เพื่อนฟัง การพูดถึงความทรงจำสุดแสนประทับใจช่วยให้เราได้ใกล้ชิดบ้านและเพื่อนใหม่มากขึ้น
    • ถ้าเราอยู่ในต่างประเทศ ลองสอนเพื่อนให้พูดถ้อยคำสำคัญในภาษาเราสักสองสามถ้อยคำ เราอาจจะพบความสนุกเวลาสอนเพื่อน ได้ให้ความรู้เพื่อน และหยุดคิดถึงบ้านชั่วคราว
  4. การรู้สึกอาย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือไม่มั่นใจเป็นผลข้างเคียงจากอาการคิดถึงบ้านที่พบได้ทั่วไป ถ้าเราไม่เสี่ยง เราอาจพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ [29] พยายามตอบรับคำเชิญเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้เราจะไม่รู้จักคนมากนักเวลาไปไหนก็ตามในต่างถิ่น แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนตลกสนุกสนานเพื่อให้ผู้คนรอบข้างมาสนใจก็ได้! แค่รู้จักฟังคนอื่นพูดก็เป็นก้าวแรกที่ดีแล้ว
    • ถ้าเราอาย ก็ให้ตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้คือพบหรือพูดคุยกับเพื่อนใหม่สักคน เราน่าจะคุ้นเคยกับการพบปะผู้อื่นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป [30] การตั้งใจฟังเรื่องที่ผู้อื่นพูดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วที่จะสร้างมิตร
    • ถึงแม้สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถหาเพื่อนใหม่ได้ในงานเลี้ยงหรือในงานต่างๆ แต่เราก็ได้พิสูจน์แล้วว่าตนเองสามารถรับมือกับสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ไม่คุ้นเคยได้ และเพราะเหตุนั้นเราจึงมั่นใจในตนเองมากขึ้น
  5. การทำอะไรที่คุ้นชินและเดิมๆ อาจทำให้เรารู้สึกสบายใจ แต่การผลักดันตนเองให้ออกจากความเคยชินเพื่อจะได้เติบโตและเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความวิตกกังวลระดับปานกลางอันเกิดจากการพบประสบการณ์อย่างเช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ สามารถพัฒนาการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ [31] การเอาแต่ความสะดวกสบายมากเกินไปจะทำให้เราไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ [32]
    • เริ่มทีละนิด การพยายามเผชิญกับอะไรที่เรากลัวมากที่สุดอย่างทันทีทันใดอาจไม่ก่อให้เกิดผลดีนัก การพยายามเปลี่ยนมาทำอะไรที่เราไม่คุ้นเคยเลยอาจทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นช่างหนักหนาสาหัส ฉะนั้นตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่สามารถทำได้และท้าทายตนเองทีละนิด [33]
    • ลองเข้าไปนั่งกินอาหารที่ร้านใหม่ๆ ในจังหวัดที่เราเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ ขอนั่งโต๊ะเดียวกับคนแปลกหน้าที่โรงอาหาร ขอเพื่อนที่เรียนชั้นเดียวกับเราช่วยติวหนังสือให้ ชวนเพื่อนร่วมงานไปหาอะไรกินหลังเลิกงาน
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ทำความคุ้นเคยกับสถานการณ์ใหม่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การหาอะไรที่ตรงกับความต้องการของเราในสภาพแวดล้อมใหม่นั้นนอกจากจะท้าทายแล้ว ยังช่วยเราคลายความคิดถึงบ้านได้อีกด้วย [34] การทำความคุ้นเคยกับอะไรใหม่ๆ และตื่นเต้นไปกับสถานการณ์ใหม่ๆ อาจช่วยเรารู้สึกชินกับสภาพแวดล้อมใหม่มากขึ้น
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังศึกษาหรืออาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ ลองไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ พระราชวัง อาหารประจำท้องถิ่นและประเพณีต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศที่เราอาศัยอยู่ ออกไปชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และทำตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
    • เอาใจใส่วัฒนธรรมต่างถิ่น ถึงแม้เราจะแค่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่นในประเทศของตนเอง แต่เราก็อาจพบว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นแตกต่างไปจากวัฒนธรรมบ้านเกิดของเรา เรียนรู้สำนวนประจำท้องถิ่น ลองกินอาหารที่ขึ้นชื่อของที่นั่น และออกไปสำรวจแหล่งอาหารการกินของท้องถิ่นนั้น ให้คนในท้องถิ่นสอนทำกับข้าวด้วยวัตถุดิบที่หาได้จากที่นั่น เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมกับคนในท้องถิ่น การทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่แตกต่างช่วยให้เรารู้สึกว่าการอยู่ในที่ใหม่เหมือนกับการอยู่ที่บ้านมากขึ้น [35]
    • ถามคนในท้องถิ่นว่าพวกเขามักจะทำอะไรเป็นส่วนใหญ่ เราอาจได้คำแนะนำและได้ฝึกทักษะอาชีพกับคนในท้องถิ่น เช่น ทอผ้า ปั้นเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น หรือได้เข้าไปจุดชมทิวทัศน์และเห็นธรรมชาติในช่วงเวลาที่งดงามที่สุดของที่นั่น
  2. ถ้าเราต้องอยู่ต่างประเทศ การไม่สามารถพูดภาษาของประเทศนั้นได้อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก จงเรียนภาษาของประเทศนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข้าเรียน คุยกับเจ้าของภาษา และฝึกทักษะภาษาให้เชี่ยวชาญ เราจะรู้สึกมั่นใจตนเองมากขึ้นและไม่กลัวเมื่อพูดคุยกับผู้คนในต่างแดน [36]
  3. การออกจากบ้านนั้นช่วยแก้อาการคิดถึงบ้านได้บ้าง เราคงคิดถึงบ้านแน่ ถ้าเราเอาแต่ดูละครทั้งวันอยู่ในบ้าน ให้ลองออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านนานๆ จะนั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดในสวนสาธารณะแทนอ่านที่บ้าน หรือเดินเล่นกับเพื่อนแทนที่จะออกกำลังกายในห้องของตนเองก็ได้
    • ทำงานหรือทบทวนบทเรียนนอกบ้าน ลองไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟหรือห้องสมุดแทนที่จะนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน การได้พบเจอผู้คนอาจคลายเหงาให้เราได้บ้าง
  4. การหาอะไรใหม่ๆ ช่วยทำให้เราได้พบความใฝ่ฝันของตนเอง เราจะได้ทำกิจกรรมดีๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และหยุดเศร้าหรือเหงาเสียที การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ช่วยเราให้ได้ออกจากความเคยชินของตนเองอีกด้วย
    • พยายามหางานอดิเรกที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ ลองสำรวจดูสิว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างในแถบนั้น ลองเรียนศิลปะประจำท้องถิ่น เข้าโครงการฝึกทักษะต่างๆ ที่มีในท้องถิ่นนั้น ถ้าเรามีโอกาสทำความรู้จักผู้คนและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไปด้วย เราก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่มากขึ้น
  5. อย่าท้อแท้ ถ้าพยายามแล้ว แต่ยังไม่อาจทำใจชอบสภาพแวดล้อมใหม่ได้เสียที คนรอบตัวเราอาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเราผิดปกติแต่อย่างใด ความจริงแล้วคนรอบข้างเราซึ่งดูเหมือนร่าเริงสดใสอาจกำลังคิดถึงบ้านมากเหลือเกินก็เป็นได้ [37] ให้อดทนและพยายามเข้าไว้แล้วคุณจะรับมือกับมันได้แน่นอน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ลองหายใจเข้าลึกๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด บางครั้งเราเครียดมากเกินไปจนกระทั่งลืมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ ผ่านจมูกและปล่อยลมหายใจออกทางปากจนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย
  • อาการคิดถึงบ้านเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย อย่ารู้สึกแย่ที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่กลับคิดถึงบ้านเมื่อต้องมาทำงานต่างถิ่น การคิดถึงบ้านเป็นเรื่องปกติ
  • ลองระบายสีเพื่อผ่อนคลายจิตใจ เราจะได้เอาจิตใจไปจดจ่อกับเรื่องอื่น การซื้อสมุดภาพระบายสีสำหรับผู้ใหญ่มาลงสียามว่างก็เป็นทางเลือกที่ดีในการผ่อนคลายจิตใจ
  • หาสิ่งดีๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่ให้พบ ตัวอย่างเช่น เราอาจลองกินอาหารประจำท้องถิ่นที่เราไม่เคยกินมาก่อนเลย
  • ปลอบโยนให้ตนเองรู้สึกสงบ อย่าไปนึกถึงเรื่องที่ว่าเรากับครอบครัวอยู่ห่างไกลกันมาก
  • อย่างเอาแต่คิดถึงบ้านมากเกินไป ให้พยายามนึกถึงสิ่งที่เราทำสำเร็จในวันนั้นว่ามีอะไรบ้าง
  • ให้ออกไปข้างนอกสักสองนาที และค่อยกลับเข้ามาในบ้าน จากนั้นพยายามหลับพักผ่อน
  • จงเข้าหาผู้คน! โดยเฉพาะเมื่อเราต้องไปโรงเรียนวันแรก เราอาจรู้สึกว่าตนเป็นคนเดียวที่รู้สึกคิดถึงบ้าน ถ้าเราได้คุยกับเพื่อนร่วมชั้น เราอาจได้รับรู้ว่ามีคนที่รู้สึกเช่นเดียวกับเราอยู่ การพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกซึ่งกันและกันอาจเป็นการช่วยกันปรับตัวด้วยก็ได้
  • พยายามแก้ปัญหา ถ้ารู้สึกหดหู่แต่ไม่รู้สาเหตุว่าเพราะอะไร ลองคิดให้ออกว่าเรารู้สึกอย่างไรและจะรู้สึกแบบนั้นตอนไหน รู้สึกเหงาเมื่อคิดถึงเพื่อนที่อยู่ห่างไกลไหม รู้สึกหม่นหมองเมื่อดูหนังเรื่องโปรดไหม พยายามหาให้พบว่าอะไรกระตุ้นให้เรารู้สึกคิดถึงบ้าน
  • ถ้าย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ให้เรียนรู้ภาษาของประเทศนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การสื่อสารกับผู้คนในต่างแดนได้จะช่วยทำให้เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และช่วยเราให้คุ้นเคยกับคนอื่น
โฆษณา

คำเตือน

  • อาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่รุนแรงอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าเราไม่สามารถทำกิจวัตรได้ตามปกติ ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถลุกจากเตียงในตอนเช้า ไม่สนใจทำอะไรที่เราเคยชอบทำ ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตดีกว่า
  • ในกรณีที่ร้ายแรงอาการคิดถึงบ้านอาจทำให้รู้สึกหรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ [38] ได้ ถ้ามีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ให้ขอความช่วยเหลือทันที ลองโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือขอคำปรึกษาที่เว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ [39]
โฆษณา
  1. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  2. http://muse.jhu.edu/journals/csd/summary/v055/55.7.terrazas-carrillo.html
  3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22686364
  4. http://www.emeraldinsight.com/doi/abs/10.1108/QMR-06-2012-0027?journalCode=qmr
  5. http://www.emeraldinsight.com/doi/abs/10.1108/QMR-06-2012-0027?journalCode=qmr
  6. http://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/13674676.2012.696600
  7. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  8. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  9. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  10. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/depression/in-depth/depression-and-exercise/art-20046495
  11. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  12. http://pediatrics.aappublications.org/content/119/1/192.full?related-urls=yes&legid=pediatrics;119/1/192
  13. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17258804
  14. http://psycnet.apa.org/journals/ccp/73/3/555/
  15. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jora.12037/abstract
  16. http://cmapspublic2.ihmc.us/rid=1LQ8PPFHC-1ZL42KT-1L2Q/Social%20Relationships%20Across%20Lifespan.pdf
  17. http://www.fastcompany.com/3038537/how-to-make-new-friends-as-an-adult
  18. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17258804
  19. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jora.12037/abstract
  20. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22686364
  21. https://hbr.org/2013/12/get-out-of-your-comfort-zone-a-guide-for-the-terrified
  22. https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201207/can-anxiety-be-good-us
  23. https://www.psychologytoday.com/blog/confessions-techie/201101/comfort-kills
  24. https://hbr.org/2013/12/get-out-of-your-comfort-zone-a-guide-for-the-terrified
  25. http://muse.jhu.edu/journals/csd/summary/v055/55.7.terrazas-carrillo.html
  26. http://jsi.sagepub.com/content/9/4/356.short
  27. http://www.ccsenet.org/journal/index.php/ijps/article/view/18918
  28. http://www.counselling.cam.ac.uk/selfhelp/leaflets/homesickness
  29. http://www.shefayekhatam.ir/browse.php?a_id=237&sid=1&slc_lang=en
  30. https://www.suicidethai.com/web_suicide

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 30,562 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา