ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บางทีคุณอาจจะเคยถูกสามี/ภรรยานอกใจ ถูกเพื่อนรักแทงข้างหลัง หรือถูกเพื่อนร่วมงานขโมยไอเดียผลงานของคุณไป ในทางกลับกัน คุณอาจจะโกหกคนรัก แย่งหนุ่มหรือสาวที่เพื่อนหมายปอง หรือไม่ได้ช่วยเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมชั้นทำโปรเจ็กต์สำคัญ ความไว้ใจระหว่างคนสองคนคือการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถอ่อนแอต่อหน้ากันและกันได้ [1] การรักษาความไว้ใจสำคัญต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นอย่างมาก [2] การสูญเสียความไว้ใจเป็นเรื่องของคนสองคน เพราะฉะนั้นการสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ก็ต้องอาศัยความต้องการที่จะกู้ความไว้ใจที่เสียไปให้กลับคืนมาจากทั้งสองฝ่าย บทความนี้จะแนะนำสิ่งที่คุณต้องทำจากมุมมองของแต่ละฝ่าย

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ยอมรับผิด. ถ้าคุณหักหลังคนอื่น คุณต้องยอมรับผิด ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น การบอกความจริงเมื่อคุณได้ประโยชน์จากคำโกหกเป็นสิ่งสำคัญมาก [3] ถ้าคุณหักหลังใคร การยอมรับผิดด้วยตัวเองจะเป็นการบอกอีกฝ่ายว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของเขานั้นสำคัญกว่าของคุณเอง [4] การปฏิเสธมีแต่จะทำให้อีกฝ่ายไม่ไว้ใจคุณมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความจริงเปิดเผยชัดเจนแล้ว
    • ยอมรับความผิดทั้งหมด แม้ว่าจะมีความผิดบางส่วนที่คุณสามารถซ่อนไว้โดยไม่ถูกจับได้ คุณก็ควรยอมรับผิดทั้งหมดกับอีกฝ่ายอยู่ดี เพราะมีแต่การยอมรับความผิดที่คุณทำทั้งหมดเท่านั้นที่จะทำให้คุณได้รับการให้อภัยจากทุกข้อกล่าวหา
  2. 2
    ยอมรับปฏิกิริยาทางอารมณ์ของอีกฝ่าย. การยอมรับว่าคุณหักหลังใครสักคนไม่ได้ทำให้เรื่องมันง่ายขึ้นในทันที ตรงกันข้ามคุณคาดการณ์ได้เลยว่าอีกฝ่ายอาจจะระเบิดอารมณ์ใส่คุณ ไม่ว่าจะเป็นตะโกนใส่หน้า ร้องไห้ และอื่นๆ เมื่อเธอได้ยินคุณยอมรับว่าคุณหักหลังเธอ แต่จำไว้ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะก้าวต่อไปได้ก็คือการเปิดใจยอมรับทุกอย่าง
  3. 3
    ขอโทษ. วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่รู้กันอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่บางครั้งการขอโทษก็ถูกมองข้าม วิธีที่คุณพูดขอโทษเป็นตัวกำหนดว่าอีกฝ่ายจะยอมรับคำขอโทษของคุณไหม และคุณสองคนจะก้าวต่อไปได้หรือเปล่า [5]
    • เวลาขอโทษ อย่าหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของตัวเอง [6] อย่าหาว่าอีกฝ่ายเข้าใจคุณผิด (“คุณเข้าใจผิดแล้ว”) อย่าปฏิเสธความเจ็บปวดของเขา (“คุณก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไรสักหน่อย”) อย่าตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ (“ผมมีปัญหามาตั้งแต่เด็กแล้ว”)
    • วิธียอมรับผิดที่ดีที่สุดก็คือ การรับรู้ความเจ็บปวดของอีกฝ่าย บอกว่าที่ผ่านมาคุณควรจะทำอะไร และทำสิ่งนั้นในวันข้างหน้า [7]
    • ทำให้คนที่คุณหักหลังรู้ว่าคุณมาขอโทษทำไม ถ้าพวกเขารู้ว่าคุณขอโทษเพราะคุณรู้สึกผิดและละอายใจ พวกเขาก็จะน่าจะให้อภัยคุณ แต่ถ้าพวกเขาคิดว่าคุณขอโทษเพราะสงสาร พวกเขาก็ไม่น่าจะให้อภัยคุณ ความสงสารไม่เหมือนกับความรู้สึกผิดและความละอายใจตรงที่ มันไม่ได้แสดงให้เห็นว่าคุณรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ความสงสารยังสื่อว่าคนที่ทำผิดนั้นเหนือกว่าฝ่ายถูกกระทำด้วย [8]
  4. 4
    ให้อภัยตัวเอง. เมื่อคุณทำลายความไว้วางใจของใคร คุณอาจจะเสียใจมากเสียจนไม่สามารถที่จะให้อภัยตัวเองจากความผิดที่ตัวเองก่อได้ แม้ว่าการสำนึกผิดจะเป็นส่วนสำคัญของการกลับไปคืนดีกับคนที่ถูกคุณหักหลัง แต่คุณก็ต้องยอมรับและเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองเองหลังจากที่คุณเคยพยายามชดใช้ความผิดทั้งหมดแล้ว
    • จำไว้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าสิ่งที่คุณพลาดไปจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ มันก็คือสิ่งที่บอกว่าคุณก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและพยายามที่จะก้าวต่อไปสู่วันข้างหน้า
    • การยึดติดอยู่กับความผิดพลาดในอดีตเสี่ยงต่อการที่คุณจะลดทอนคุณค่าของตัวเอง เมื่อคุณเริ่มคิดถึงเรื่องนี้เมื่อไหร่ คุณก็จะทำลายแรงกระตุ้นที่จะพัฒนาตัวเอง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

เดินหน้าต่อไปหลังจากหักหลังคนอื่น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ทำชีวิตของคุณให้โปร่งใสต่ออีกฝ่าย. ทุกคนต่างต้องการที่จะควบคุมข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง [9] แต่ในช่วงนี้คุณอาจจะต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วนให้กับคนที่พยายามจะไว้ใจคุณอีกครั้ง การทำชีวิตของคุณให้โปร่งใสจะทำให้อีกฝ่ายมั่นใจในตัวคุณได้จากสายตาของเขาเองว่า คุณไม่ได้กำลังจะหักหลังเขาอีกครั้ง
    • การทำให้ชีวิตให้โปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญมากในความสัมพันธ์แบบคนรักที่ต้องแตกหักเพราะการนอกใจ ให้คนรักของคุณเข้าถึงข้อความ ข้อความแช็ตในโทรศัพท์ อีเมล และสมุดนัดได้เต็มที่โดยไม่มีปิดบังสัก 2-3 สัปดาห์หรือ 2-3 เดือนหลังจากที่คุณนอกใจ ให้เขาหรือเธอรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนและอยู่กับใครทุกครั้งที่เป็นไปได้
  2. 2
    ปล่อยให้อีกคนได้ระบาย. [10] ความรู้สึกที่หนักหน่วงเป็นเรื่องปกติหลังจากการถูกหักหลัง คนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกหักหลังจะต้องการระบายอารมณ์และความคิดของตัวเองเพื่อเยียวยาบาดแผล มันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์สำหรับคุณ แต่มันจำเป็นสำหรับอีกฝ่าย
    • สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่คุณอาจจะทำก็คือการพยายามทำให้อีกฝ่าย “หุบปาก” ตอนที่เขากำลังระบายความโกรธ การกระทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่ายสักเท่าไหร่
    • ให้อีกฝ่ายระบายได้ตามต้องการ แต่ละคนมีวิธีระบายอารมณ์ไม่เหมือนกันและใช้เวลาต่างกัน การเร่งอีกฝ่ายเป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณไม่เห็นใจอีกฝ่ายเลย
  3. 3
    ทำให้ได้อย่างที่พูด. การกระทำสำคัญกว่าคำพูด ความไว้ใจระหว่างคนสองคนคือการที่คุณเป็นคนพึ่งพาได้และเสมอต้นเสมอปลายเป็นระยะเวลานาน [11] คุณควรสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่แค่คำสัญญาหรือคำขอโทษอย่างเดียวกู้ความเชื่อใจได้แค่ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น [12] ถ้าคุณไม่สามารถซื่อสัตย์ได้ในวันข้างหน้า หรือไม่สามารถทำตามสัญญาได้ทุกข้อ คนที่ถูกคุณหักหลังก็จะไม่สามารถยอมรับได้ว่าคุณเปลี่ยนแปลงแล้วจริงๆ หรือไม่คิดว่าคุณมีค่าพอให้ไว้ใจอีกครั้ง
    • คุณไม่ควรทำผิดแบบเดิมซ้ำอีกเป็นอันขาด
  4. 4
    อดทน. คุณต้องเข้าใจว่าการสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้เวลา อดทนกับอีกฝ่าย แต่ก็พยายามต่อไปเช่นเดียวกัน
    • การสร้างความไว้วางใจอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปีขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการหักหลัง
    • อย่ากดดันให้อีกฝ่ายแสดงความไว้วางใจคุณให้มากกว่านี้
    • คุณต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ อาจจะไม่มีวันเป็นเหมือนเดิมหลังจากที่คุณหักหลังเขา แต่ถ้าคุณแสดงให้เขาเห็นว่าเขาไว้ใจคุณได้ ความเชื่อใจในระดับหนึ่งก็มักจะกลับคืนมา
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

พร้อมที่จะเชื่อใจอีกครั้ง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ประเมินสถานการณ์. ก่อนที่คุณจะสามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่หลังจากที่โดนใครหักหลังมาได้นั้น คุณควรถามตัวเองก่อนว่า คุณอยากฟื้นความสัมพันธ์นี้ขึ้นมาอีกครั้งจริงๆ หรือเปล่า ลองถามตัวเองว่า:
    • คนๆ นี้หักหลังฉันเป็นครั้งแรกหรือเปล่า
    • ฉันจะสามารถไว้ใจคนๆ นี้ได้อีกครั้งจริงๆ หรือเปล่าถ้านับจากนี้ไปเขาทำทุกอย่างได้สมบูรณ์แบบ
    • ฉันจะให้อภัยเขาได้ไหม
    • ความสัมพันธ์ที่ฉันมีกับคนๆ นี้สำคัญมากพอที่ฉันจะต้องต่อสู้เพื่อรักษามันไว้หรือเปล่า
    • นี่เป็นความผิดครั้งแรกหรือเป็นรูปแบบพฤติกรรมกันแน่
  2. 2
    พิจารณาปฏิกิริยาของอีกฝ่ายที่มีต่อสถานการณ์. พวกเขาเสียใจที่ทำร้ายคุณจริงๆ หรือว่าเสียใจที่ถูกจับได้กันแน่ พวกเขาเต็มใจที่รับฟังคุณและพยายามจะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปหรือเปล่า พวกเขาเต็มใจที่จะยอมรับผิดไหม
    • ถ้าพวกเขาไม่มีท่าทีเสียใจที่ทำคุณเจ็บปวดจริงๆ หรือไม่สนใจที่จะทำอะไรให้มันดีขึ้น ความสัมพันธ์นี้ก็อาจจะไม่ควรค่าแก่การเสียเวลาด้วย
  3. 3
    สังเกตการหลอกลวงในครั้งต่อๆ ไปด้วย. ประเมินสถานการณ์ต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่คุณกำลังสร้างความไว้ใจขึ้นมาใหม่ หลังจากผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน คุณควรจะสังเกตเห็นสัญญาณของความน่าเชื่อถือในตัวคนที่หักหลังคุณ การพยายามสังเกตว่าใครบางคนกำลังโกหกเราอยู่หรือเปล่านั้นเป็นเรื่องยาก แต่สัญญาณต่อไปนี้อาจบ่งบอกได้ว่าเขายังคงหลอกคุณอยู่: [13]
    • คนที่โกหกจะใช้เวลานานกว่าจะตอบ และจะตอบคำถามสั้นลง
    • คนที่โกหกจะเล่าเรื่องเหลื่อเชื่อและให้รายละเอียดน้อย พวกเขาจะพูดอ้อมๆ หยุดคิดบ่อย และแสดงท่าทางน้อย
    • คนโกหกจะไม่ค่อยแก้ไขคำพูดตัวเองเท่าคนที่พูดความจริง
    • คนที่โกหกมักจะตึงเครียด ซึ่งทำให้เสียงของพวกเขาสูงและพวกเขามักจะกระสับกระส่าย
  4. 4
    แสดงความรู้สึกของคุณ. ให้คนที่หักหลังคุณรู้ว่าคุณเจ็บปวดกับการกระทำของพวกเขามากแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดก็คือ บอกคนที่เขาหักหลังคุณว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเจ็บปวดกันแน่ บอกพวกเขาว่าคุณต้องการอะไรเพื่อที่จะทำให้คุณกลับมาไว้ใจพวกเขาได้อีกครั้ง
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

เดินหน้าต่อไปเมื่อถูกใครหักหลัง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    พยายามปลดปล่อยความโกรธออกไป. เมื่อคุณระบายความโกรธออกไปแล้ว ก็ให้มันจบไป หลังจากที่พูดคุยเรื่องการหักหลังกันไปแล้ว คุณต้องปล่อยให้มันเป็นแค่เรื่องในอดีต ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกเศร้าหรือโกรธในตอนนี้ ความรู้สึกนี้ก็จะไม่ได้อยู่กับคุณตลอดไป อย่ารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อมีปากเสียงกันในวันข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอีกคนเขาพยายามชดใช้ในสิ่งที่เขาทำให้คุณแล้ว
    • ถ้าคุณสังเกตว่าตัวเองยังคงยึดติดอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ ลองคิดว่าทำไมคุณถึงปล่อยมันไปจากใจไม่ได้สักที เพราะว่าคนรักของคุณเขายังทำตัวเหมือนที่เคยทรยศความไว้วางใจคุณอยู่หรือเปล่า หรือเพราะว่าปัญหาส่วนตัวของคุณเกี่ยวข้องกับอดีตที่เคยผ่านมาของคุณ
  2. 2
    ปรับเปลี่ยนความคาดหวัง. ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครตั้งใจทำร้ายคุณ แต่ก็ไม่มีใครให้ในสิ่งที่คุณต้องการได้ 100% ทุกครั้ง เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่าคุณไม่ควรคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คุณจะรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณควรไว้ใจคนๆ นี้แค่ไหน [14]
    • เป้าหมายคือการอยู่กับความเป็นจริงและไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกเหยียบย่ำ คุณอาจจะยอมรับว่าคนเราต่างก็มีพลาดกันบ้าง แต่อย่าปล่อยให้คนที่จงใจทำร้ายคุณหรือตั้งใจละเลยคุณลอยนวลไปเด็ดขาด
  3. 3
    ให้และรับความรัก. คุณต้องเต็มใจที่จะยอมรับและรักคนที่หักหลังคุณ และคุณก็ต้องยอมรับความรักที่คนๆ นั้นมอบให้คุณด้วย เมื่อคนที่หักหลังคุณพยายามแสดงความรักใคร่ ให้ยอมรับว่าการแสดงความรักใคร่นั้นมาจากความรู้สึกจริงๆ พยายามยอมรับการกระทำที่ดูจริงใจ
    โฆษณา



ข้อมูลอ้างอิง

  1. Rousseau, D. M., Sitkin, S. B., Burt, R. S., & Camerer, C. (1998). Not so different after all: A cross-discipline view of trust. Academy of management review, 23(3), 393-404.
  2. Simpson, J. A. (2007). Psychological foundations of trust. Current directions in psychological science, 16(5), 264-268.
  3. Simpson, J. A. (2007). Psychological foundations of trust. Current directions in psychological science, 16(5), 264-268.
  4. Simpson, J. A. (2007). Psychological foundations of trust. Current directions in psychological science, 16(5), 264-268.
  5. Greene, J. O., & Burleson, B. R. (Eds.). (2003). Handbook of communication and social interaction skills. Psychology Press.
  6. Greene, J. O., & Burleson, B. R. (Eds.). (2003). Handbook of communication and social interaction skills. Psychology Press.
  7. Greene, J. O., & Burleson, B. R. (Eds.). (2003). Handbook of communication and social interaction skills. Psychology Press.
  8. Hareli, S. & Eisikovits, Z. (2006). The role of communicating social emotions accompanying apologies in forgiveness. Motivation and Emotion, 30, 189-197.
  9. Petronio, S. (2013). Brief status report on communication privacy management theory. Journal of Family Communication, 13(1), 6-14.
  1. http://www.huffingtonpost.com/sheri-meyers/for-the-betrayer_b_3269327.html
  2. Simpson, J. A. (2007). Psychological foundations of trust. Current directions in psychological science, 16(5), 264-268.
  3. Schweitzer, M. E., Hershey, J. C., & Bradlow, E. T. (2006). Promises and lies: Restoring violated trust. Organizational behavior and human decision processes, 101(1), 1-19.
  4. Knapp, M., Hall, J., & Horgan, T. (2013). Nonverbal communication in human interaction. Cengage Learning.
  5. http://powertochange.com/discover/sex-love/rebuildtrust

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 6,732 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา