ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องติดต่อกับครูของลูกไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งในระหว่างปีการศึกษา มีเหตุผลร้อยแปดที่ทำให้คุณจำเป็นต้องเขียนจดหมายหาครู ตั้งแต่การแนะนำลูกให้ครูรู้จักไปจนถึงลาป่วยหรือลากิจ และแม้กระทั่งพูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ [1] ครูส่วนใหญ่ใช้อีเมล ซึ่งทำให้การโต้ตอบง่ายขึ้นและเร็วขึ้น แต่คุณก็สามารถเขียนโน้ตหรือจดหมายแบบสมัยก่อนได้เช่นกัน การเขียนอีเมลหรือจดหมายที่ผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนจะทำให้เส้นทางของการสื่อสารกับครูของลูกเปิดกว้างและชัดเจน

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ส่งอีเมลหาครูของลูก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. มีเหตุผลต่างๆ มากมายที่คุณอยากจะติดต่อกับครูของลูก อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ อย่างการแนะนำตัวไปจนถึงการพูดถึงประเด็นที่สำคัญกว่านั้น หัวข้อต่อไปนี้เป็นหัวข้อที่คุณอาจจะต้องได้เขียนถึงครู :
    • แนะนำตัวเองหลังจากที่คุณย้ายมาหรือลูกของคุณเพิ่งเข้าโรงเรียนใหม่
    • ถกปัญหา
    • ถามคำถามเกี่ยวกับการบ้านของลูกหรือความสามารถด้านการเรียนของลูก
    • ขอนัดหมายพบปะ
    • แจ้งให้ครูทราบเกี่ยวกับเงื่อนไขพิเศษ เช่น ความพิการหรือปัญหาครอบครัว
    • ขอลาป่วยหรือลากิจให้ลูก [2]
  2. รวบรวมข้อมูลที่คุณจำเป็นต้องใช้ในการเขียนอีเมลที่ละเอียดและเป็นการเป็นงานถึงครู [3] การเขียนข้อมูลที่สำคัญลงไปในอีเมลช่วยป้องกันการโต้ตอบอย่างยืดยาวและยังแสดงให้เห็นว่าคุณให้เกียรติครูและตระหนักถึงประเด็นที่กล่าวถึงอย่างจริงจัง [4]
    • ถามลูกว่าครูชื่ออะไรหรือหาชื่อครูจากเว็บไซต์ของโรงเรียน
    • เตรียมสำเนาเอกสารเพิ่มเติมให้พร้อม เช่น ถ้าลูกของคุณมีความพิการ คุณก็อาจจะต้องเตรียมสำเนาการวินิจฉัยของแพทย์และเอกสารการจัดกลุ่มตามระดับความสามารถทางการศึกษาไว้ด้วย [5]
  3. ใช้ข้อมูลที่คุณรวบรวมมาเขียนร่างอีเมลหาครูของลูก การเขียนร่างอีเมลจะทำให้คุณมีเวลาเขียนเกี่ยวกับทุกปัญหาอย่างครบถ้วน นึกถึงสิ่งที่คุณเขียนลงไป และแก้ไข [6]
    • อย่าเพิ่งเขียนที่อยู่อีเมลในช่อง “ถึง” เพื่อที่คุณจะได้ไม่บังเอิญส่งร่างฉบับแรก
    • เขียนร่างอีเมลให้กระชับและสั้นที่สุดเท่าที่ทำได้ [7]
    • รักษาน้ำเสียงของการเขียนให้เป็นกันเอง สุภาพ และเป็นการเป็นงาน [8]
    • แนะนำตัวเองสั้นๆ ด้วยชื่อของคุณและชื่อลูก และระบุเหตุผลที่คุณเขียนหาครู เช่น เขียนว่า “เรียน ครูเมษา ดิฉันชื่อธีระนันท์ ใจดี เป็นแม่ของศศินา ใจดีนะคะ ดิฉันเขียนหาครูเนื่องจากลูกของดิฉันมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตค่ะ”
    • พยายามเขียนเนื้อความในอีเมลให้อยู่ระหว่าง 1 – 3 ย่อหน้า กล่าวถึงประเด็นหรือปัญหาที่คุณต้องการ คุณอาจจะถามครูด้วยว่าคุณจะสามารถแบ่งเบาภาระของครูและช่วยลูกได้อย่างไรในลักษณะของการถามเพื่อขอคำแนะนำ
    • ลงท้ายอีเมลด้วยการขอบคุณครูสำหรับความเข้าใจและแจ้งข้อมูลการติดต่อของคุณเผื่อไว้สำหรับการคุยกันในครั้งหน้า เช่น “ขอบคุณครูมากนะคะที่เข้าใจปัญหาของศศินา ครูสามารถติดต่อดิฉันได้ที่อีเมลหรือเบอร์ 095-555-5555 ได้ตลอดเวลาเลยนะคะ ดิฉันยินดีที่จะร่วมมือกับครูในการแก้ปัญหาของศศินานะคะ”
  4. เวลาที่คุณเขียนร่างอีเมล ให้พยายามรักษาภาษาให้ฟังดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคุณอาจจะไม่พอใจได้ง่ายเมื่อเป็นเรื่องของลูกคุณ การตั้งใจรักษาน้ำเสียงในอีเมลให้ดูดีจะเป็นสร้างบทสนทนากับครูที่เปิดกว้างและมีประโยชน์อย่างแท้จริง
    • อย่าใช้ภาษากล่าวโทษกับครู
    • ใช้คำกริยา เช่น เข้าใจ ร่วมมือ และพูดคุย
    • ใช้คำวิเศษณ์ เช่น เชิงบวกและเชิงรุก
    • นำคำเหล่านี้มารวมเป็นวลี เช่น “ดิฉันเข้าใจจากศศินาว่าเธอมีปัญหาเวลาเรียนวิชาคณิต เธอกับดิฉันจึงอยากแก้ไขปัญหาในเชิงรุก และพวกเราก็อยากทราบว่าพวกเราจะสามารถร่วมมือกับครูในการช่วยให้ศศินาเรียนวิชานี้ดีขึ้นได้อย่างไรค่ะ”
  5. เด็กๆ มักจะพูดไม่คิด เพราะฉะนั้นการโกหกในจดหมายจึงอาจถูกเปิดโปงได้ง่ายจากการเผลอหลุดปากของเด็ก ซื่อสัตย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในจดหมายโดยที่ยังคงรักษาน้ำเสียงที่เป็นการเป็นงานเอาไว้ด้วย
    • พูดตรงไปตรงมา เช่น “ดิฉันต้องไปดูงานที่พิพิธภัณฑ์ จึงอยากจะพาลูกไปด้วยเพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้นอกหลักสูตร ไม่ทราบว่าครูจะแจ้งเขาและดิฉันให้ทราบได้ไหมคะว่า ก่อนกลับไปเรียนในวันศุกร์เขาจะต้องทำการบ้านอะไรให้เสร็จบ้าง”
  6. หลังจากที่คุณได้ร่างอีเมลฉบับแรกสุดแล้ว ให้เวลาตัวเองค่อยๆ คิดทบทวนเนื้อหาและน้ำเสียงอีกครั้ง จากนั้นแก้ไขตามที่จำเป็น วิธีนี้ไม่เพียงแต่ให้โอกาสคุณได้เพิ่มหรือลบข้อความเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเห็นความผิดพลาดเรื่องการสะกด วรรคตอน และหลักภาษาอีกด้วย [9]
    • ตรวจทานเพื่อให้แน่ใจว่าอีเมลฉบับที่แก้ไขแล้วนั้นมีส่วนนำ เนื้อหา และการลงท้ายอีเมลที่ซื่อสัตย์ เป็นเชิงบวกและเป็นเชิงรุกมากที่สุดเท่าที่ทำได้
    • อ่านออกเสียงอีเมลให้ตัวเองฟัง ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้หรือวลีที่อาจฟังดูเป็นการกล่าวโทษหรือเป็นเชิงลบ [10]
    • ลองขอให้เพื่อน สามี/ภรรยา หรือผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาอ่านอีเมลนี้ คนๆ นี้สามารถให้คำแนะนำที่ทำให้อีเมลฉบับนี้ชัดเจนหรือฟังดูดีมากขึ้นได้ [11]
  7. หลังจากที่คุณแก้ไขร่างอีเมลแล้ว ให้เขียนคำขึ้นต้นและคำลงท้ายที่สุภาพและเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยให้ครูเต็มใจที่จะรับฟังสิ่งที่อยู่ในอีเมลมากขึ้นและตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือ
    • เขียนคำขึ้นต้นตามที่ลูกเรียกครู เช่น “เรียน ครูเมษา”
    • อย่าใช้ชื่อเล่นของครูยกเว้นว่าคุณจะคุ้นเคยกับครูคนนี้เป็นอย่างดี และเธอก็เสนอให้คุณเรียกเธอด้วยชื่อเล่น
    • ลงท้ายด้วย “จึงเรียนมาเพื่อทราบ” นอกจากนี้คุณอาจจะเขียนด้วยว่า “ดิฉันจะรอครูติดต่อกลับมาค่ะ” ตามด้วยจึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา เพื่อให้ครูรู้ว่าคุณอยากให้เธอตอบกลับ
    • เขียนชื่อและข้อมูลติดต่อของคุณให้ครูทราบด้วย
  8. แนบเอกสารที่อธิบายถึงปัญหาตามสิ่งที่อยู่ในอีเมล วิธีนี้จะทำให้ครูมีเอกสารอ้างอิงถึงกรณีของลูกและเข้าใจปัญหามากขึ้น
    • คุณต้องแน่ใจว่าไฟล์เอกสารอยู่ในรูปแบบที่เปิดได้ง่าย
  9. คุณต้องใส่ที่อยู่อีเมลของครูก่อนจึงจะส่งอีเมลได้ เข้าไปที่เว็บไซต์ของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าคุณสะกดที่อยู่อีเมลของครูถูกต้องตามรูปแบบ
    • ส่งสำเนาถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สามี/ภรรยา หรือครูอีกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
    • ส่งสำเนาลับถึงตัวเองเพื่อให้มีอีเมลติดไว้อีกฉบับหนึ่ง และดูให้ดีว่าส่งอีเมลเรียบร้อยทุกขั้นตอน
  10. อ่านอีเมลร่างสุดท้ายอีกครั้งก่อนส่ง วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการที่คุณจะลืมเขียนข้อมูลบางอย่างลงไปหรือให้ข้อมูลผิดพลาด
  11. ครูอาจจะยุ่งและมักจะไม่มีเวลาตอบคำถามในทันทีหรืออาจจะพิจารณาจดหมายของคุณก่อน ให้เวลาครูในการตอบจดหมายสักพักก่อนจะท้วงไป [12]
    • ระบุเวลาหากคุณต้องการคำตอบภายในเวลาที่จำกัด [13]
    • ท้วงไปทางอีเมลหรือจดหมายหากคุณไม่ได้รับคำตอบจากครูภายใน 1 สัปดาห์
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

ส่งจดหมายเขียนด้วยลายมือหาครู

ดาวน์โหลดบทความ
  1. จดหมายที่เขียนด้วยลายมือจะเป็นรูปแบบการโต้ตอบที่เป็นกันเองกว่าอีเมล ในบางสถานการณ์คุณอาจจะอยากส่งจดหมายที่เขียนด้วยลายมือหาครูมากกว่า ซึ่งได้แก่กรณีของ :
    • จดหมายขอบคุณ
    • การแนะนำตัวสั้นๆ
    • จดหมายลากิจหรือลาป่วย [14]
  2. จดหมายที่คุณเขียนถึงครูจะต้องอ่านง่าย เพราะฉะนั้นลายมือของคุณจะต้องเป็นระเบียบเวลาที่คุณเขียนจดหมาย
    • ถ้าคุณลายมือไม่สวยให้เขียนช้าๆ วิธีนี้อาจจะทำให้คุณเขียนจดหมายด้วยลายมือที่อ่านง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
    • อย่าใช้ดินสอหรือปากกาที่เลอะง่าย ปากกาลูกลื่นน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
    • คุณอาจจะพิมพ์ฉบับร่างขึ้นมาก่อนแล้วค่อยลอกร่างนั้นลงจดหมายด้วยลายมือ วิธีนี้อาจช่วยให้คุณคิดได้อย่างละเอียดมากขึ้นว่าคุณอยากจะเขียนอะไรลงไป
    • หรือคุณจะพิมพ์จดหมายออกมาจากคอมพิวเตอร์และเซ็นลายมือชื่อลงไปก็ได้
  3. ถ้าคุณอยากเขียนจดหมายหาครูด้วยลายมือมากกว่า คุณสามารถทำตามขั้นตอนการเขียนอีเมลได้เลย แต่ถ้าสถานการณ์นั้นจริงจังน้อยกว่า เช่น เป็นจดหมายขอบคุณ คุณก็อาจจะไม่ต้องเขียนจดหมายหลายๆ ร่างก็ได้
    • ใช้เครื่องเขียนส่วนตัวถ้ามี ถ้าไม่มีให้ใช้กระดาษธรรมดาสะอาดๆ และไม่ยับในการเขียน
    • ลงวันที่ด้านบนของกระดาษ
    • เขียนคำขึ้นต้นใต้วันที่ เช่น “เรียน ครูเมษา”
    • เขียนองค์ประกอบส่วนต่างๆ เหมือนที่เขียนอีเมล จำไว้ว่าคุณต้องเขียนจดหมายให้สั้นและกระชับมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เช่น “เรียน ครูเมษา ดิฉันธีระนันท์ ใจดี แม่ของศศินานะคะ ดิฉันอยากจะขอบคุณครูที่ช่วยเธอในวิชาคณิต ศศินามีปัญหาเวลาเรียนวิชาคณิต และดิฉันก็ขอบคุณมากที่ครูใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปพบเธอและอธิบายปัญหาให้เธอฟังอย่างละเอียด ถ้าดิฉันสามารถช่วยครูได้ไม่ว่าเรื่องอะไร แจ้งดิฉันได้เลยนะคะ จึงเรียนมาเพื่อทราบ ธีระนันท์ ใจดี”
    • เซ็นชื่อลงท้ายจดหมาย และหากจำเป็นก็ให้พิมพ์ชื่อของคุณไว้ข้างใต้
  4. ก่อนที่จะส่งจดหมาย ให้ตรวจความเรียบร้อยก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด ไม่ได้ลืมเขียนอะไรไป ไม่มีคราบเลอะหรือส่วนที่อ่านไม่ออก
    • เขียนจดหมายใหม่ถ้าหากมีข้อผิดพลาดใหญ่ๆ
  5. คุณสามารถส่งจดหมายที่เขียนจากลายมือให้ครูของลูกได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเป็นทางการของจดหมาย หรือถ้าหากคุณอยากให้จดหมายถึงทันวันที่ที่กำหนด คุณสามารถส่งจดหมายได้ตามวิธีต่อไปนี้ :
    • ส่งไปรษณีย์ คุณต้องเขียนชื่อครูแล้วใส่ข้อมูลของโรงเรียนไว้ใต้ชื่อ
    • ส่งกับมือ ฝากจดหมายไว้ที่ออฟฟิศของโรงเรียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำจดหมายไปให้ครู
    • ฝากลูกไว้ คุณจะฝากส่งจดหมายไปกับลูกก็ได้ แต่ต้องนึกด้วยว่าเธออาจจะลืม ไม่อย่างนั้นคุณก็อาจจะหมุดจดหมายไว้ที่กระเป๋าในจุดที่ครูจะเห็น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เก็บสำเนาจดหมายไว้หากจดหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นร้ายแรง เช่น ความพิการหรือปัญหาด้านพฤติกรรม
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,643 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา