ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

นิสัยชอบพูดคำหยาบเป็นนิสัยที่ติดง่ายและแก้ยากเหมือนนิสัยแย่ ๆ อย่างอื่น บางครั้งเราก็เผลอพูดคำหยาบออกไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป มันมีวิธีแก้ ขอแค่ยอมรับแมน ๆ ว่าคุณมีปัญหาชอบพูดคำหยาบและพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองจริง ๆ บทความนี้จะบอกเคล็ดลับที่ทำให้ปากสะอาดปราศจากคำหยาบ โดยที่ไม่ต้องใช้สบู่กรอกปากเลยละ !

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ฝึกตัวเองให้เลิกพูดคำหยาบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การขอให้เพื่อนหรือคนรักช่วยทำอะไรที่มันยาก ๆ จะทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้นหรืออาจจะสนุกขึ้นด้วย หาเพื่อนสักคนมาช่วยคุณหักดิบนิสัยชอบพูดคำหยาบได้ด้วยการ :
    • คุณอาจจะชวนเพื่อนที่ชอบพูดคำหยาบมาเลิกพูดคำหยาบด้วยกัน หรือจะให้เพื่อนที่พูดเพราะมาคอยจับตาดูการพูดของคุณและเตือนคุณดี ๆ เวลาที่คุณพูดคำหยาบ
    • การที่มีคนมาช่วยสอดส่องพฤติกรรมชอบพูดคำหยาบจะทำให้คุณบังคับตัวเองไม่ให้พูดคำหยาบได้ง่ายขึ้น และจะทำให้เลิกนิสัยชอบพูดคำหยาบได้ถาวร
  2. หาว่าอะไรที่มักทำให้คุณพูดคำหยาบและหาทางหลีกเลี่ยง. แต่ละคนมีเรื่องให้อดไม่ได้ต้องพูดคำหยาบไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะพูดคำหยาบเวลารถติด บางคนอาจจะเป็นเรื่องการต่อคิวยาวในซูเปอร์มาร์เกต หรือบางคนเห็นใครตายในเรื่อง "Game of Thrones" ทีไรเป็นต้องสบถทุกที ถ้าคุณหาได้ว่าอะไรมักทำให้คุณพูดคำหยาบ คุณก็จะหาทางหลีกเลี่ยงได้ เช่น อาจจะออกจากที่ทำงานสายสักครึ่งชั่วโมงเพื่อเลี่ยงรถติด เปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์ หรือเปลี่ยนมาดูซีรี่ส์เรื่อง "Friends" แทน
    • ปลีกตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ทำให้คุณอารมณ์เสีย แล้วคุณจะยั้งปากตัวเองได้ดีขึ้น
  3. [1] โหลคำหยาบเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ช่วยให้หลายคนเลิกพูดคำหยาบมาได้นักต่อนัก โหลคำหยาบอาจจะเป็นโหลใหญ่ ๆ สักใบหรือกระปุกออมสิน (อะไรก็ได้ที่เปิดยาก ๆ) เมื่อไหร่ก็ตามที่พูดคำหยาบให้หยอดเงินลงไปหนึ่งบาท (หรือมากกว่านั้นก็ได้) คุณจะมองว่าโหลคำหยาบเป็นการลงโทษหรือเป็นรางวัลก็ได้นะ :
    • โหลคำหยาบเป็นการลงโทษเพราะทุกครั้งที่เผลอพูดคำหยาบคุณจะต้องเสียเงินหนึ่งบาท แต่จะถือว่าเป็นรางวัลด้วยก็ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่โหลเต็ม (หรือคุณเลิกพูดคำหยาบได้ถาวร) คุณก็จะมีเงินไปใช้อะไรก็ได้ จะเอาไปซื้อเสื้อผ้าใหม่หรือเอาไปบริจาคก็ได้
    • ถ้าคุณหาพรรคพวกมาช่วยกันเลิกพูดคำหยาบได้ ให้เอาโหลคำหยาบมาไว้ที่ออฟฟิศซะเลย เพราะทุกคนจะช่วยกันจับตาว่าใครพูดคำหยาบบ้างและใครแอบโกงพูดคำหยาบแล้วไม่จ่ายเงิน พอโหลเต็มก็ฉลองด้วยการเอาไปซื้อเครื่องชงกาแฟใหม่ไว้ใช้กันทั้งแผนกเลย
  4. [1] วิธีนี้เหมือนกับการใส่ปลอกคอกันเห่าสำหรับสุนัขเพื่อกำจัดพฤติกรรมที่ไม่ดี ฟังดูไม่ค่อยน่าพิสมัยแต่รับรองว่าได้ผล แค่เอาหนังยางหรือยางมัดผมวงใหญ่สวมข้อมือ เผลอพูดคำหยาบเมื่อไหร่ก็ดีดให้เต็มแรง
    • หลักการของวิธีนี้ก็คือ สมองของคุณจะเชื่อมโยงคำหยาบกับความเจ็บปวด ทำไปสักพักจิตใต้สำนึกจะทำให้คุณค่อย ๆ เลิกพูดคำหยาบไปเอง
    • ถ้าคุณจริงจังกับวิธีนี้มากละก็ ให้เพื่อน (คนที่ชอบอกชอบใจเวลาเห็นคนอื่นเจ็บปวด) มาดีดหนังยางให้เวลาที่คุณพูดคำหยาบ แค่จำให้ได้ละกันว่าคุณเป็นคนบอกให้เพื่อนช่วยเอง
  5. [1] อีกวิธีที่ช่วยให้คุณกลืนคำหยาบกลับลงคอทั้ง ๆ ที่มันจวนเจียนจะออกมาอยู่แล้วก็คือการหลอกตัวเองว่ามีคนอื่นกำลังฟังอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นคุณย่าจอมเฮี้ยบ หัวหน้า หรือลูกชายลูกสาวตัวน้อย ใครก็ได้ที่คุณจะรู้สึกผิดถ้าพูดคำหยาบต่อหน้าเขา
    • เมื่อไหร่ก็ตามที่กำลังจะพูดคำหยาบ ให้จินตนาการว่าคนที่คุณไม่อยากพูดคำหยาบด้วยยืนอยู่ข้าง ๆ และจะทำหน้าเหวอหรือตกใจสุดขีดที่ได้ยินคำนั้น มันจะช่วยให้คุณไม่หลุดพูดคำหยาบออกไป
  6. หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่น ติดนิสัยพูดคำหยาบมาจากเพลง ภาพยนตร์ หรือรายการทีวีที่มีคำหยาบ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น และคุณแค่อยากจะพูดคำหยาบให้ดูเท่เหมือนพวกนักร้องแรปเปอร์ใต้ดิน คุณต้องนึกด้วยว่าในชีวิตจริงไม่มีใครเขาใช้ภาษาแบบนั้น เปลี่ยนคลื่นวิทยุไปฟังเพลงป๊อบใส ๆ ไม่มีคำหยาบ หรืออย่างน้อยก็ฟังเวอร์ชั่นที่ผ่านการเซ็นเซอร์แล้ว
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เปลี่ยนทัศนคติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณใช้คำหยาบในบริบทที่ต่างกัน เช่น คุณอาจจะพูดคำหยาบเวลาที่คุณโกรธหรือโมโห พูดคำหยาบเพื่อเน้นสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ หรือพูดเพื่อให้มันดูตลก แต่การพูดคำหยาบก็ยังเป็นนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ในหลาย ๆ แง่ เช่น มันทำให้คุณดูโง่หรือไร้การศึกษา แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้โง่หรือไร้การศึกษาจริง ๆ ก็เถอะ และถ้าคุณเรียกใครด้วยคำหยาบซึ่ง ๆ หน้า คนอื่นก็อาจจะมองว่าคุณกำลังข่มขู่หรือระรานอีกฝ่ายนึงอยู่ และมันก็อาจจะทำให้คนฟังรู้สึกรังเกียจหรือไม่พอใจมาก ๆ ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือทำลายความสัมพันธ์กับคนที่คุณถูกใจด้วยก็ได้ [2]
    • นิสัยพูดคำหยาบของคุณอาจเป็นมาตั้งแต่เด็กถ้าคุณเติบโตมาในครอบครัวที่พูดคำหยาบ หรืออาจจะเพิ่งมาเป็นตอนวัยรุ่นที่คุณรู้สึกว่าการพูดคำหยาบทำให้คุณดูเท่ในสายตาเพื่อน ๆ
    • แต่ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไร ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมองย้อนกลับไปแล้วโทษคนอื่น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณรู้ตัวว่าปัญหาของคุณคือการพูดคำหยาบ และพยายามแก้ไขมันให้ดีที่สุด
  2. การมองโลกในแง่ดีคือสิ่งสำคัญในการช่วยเลิกนิสัยพูดคำหยาบ เพราะคนเรามักจะพูดคำหยาบก็ต่อเมื่อเรามีเรื่องให้ต้องบ่น อารมณ์เสีย หรืออาจจะมองทุกอย่างเป็นด้านลบไปเสียหมด การมองโลกในแง่ดีเป็นการกำจัดเรื่องที่ทำให้คุณคันปากอยากจะพ่นคำผรุสวาทออกไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า การฝึกมองโลกในแง่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปเวลาที่ความคิดหรืออารมณ์ในแง่ลบคุกรุ่นขึ้นมา หยุดคิดสักนิด หายใจเข้าลึก ๆ แล้วถามตัวเองว่า "มันใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ" [3]
    • เช่น ถามตัวเองว่า "ถ้าฉันไปประชุมสายสักสองสามนาที มันจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ" หรือ "มันใช่เรื่องที่ต้องโมโหจริง ๆ เหรอกับแค่หารีโมตทีวีไม่เจอแล้วต้องมาเปลี่ยนช่องตรงหน้าจอทีวีแทน" การมองสถานการณ์ต่าง ๆ ในด้านบวกจะช่วยให้คุณใจเย็นลงและเอาชนะอารมณ์ด้านลบได้
    • นอกจากนี้ คุณต้องบอกตัวเองเสมอว่าคุณเลิกพูดคำหยาบได้แน่ เพราะถ้าคุณเอาแต่มองโลกในแง่ลบ สงสัยว่าอย่างฉันเนี่ยนะจะเลิกพูดคำหยาบได้ คุณก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว บอกตัวเองว่า ถ้าคนอื่นเลิกสูบบุหรี่หรือควบคุมอาหารจนลดน้ำหนักได้หลายสิบกิโลกรัม คุณก็ต้องเลิกพูดคำหยาบถาวรได้เหมือนกัน !
  3. นิสัยพูดคำหยาบเป็นสิ่งที่ติดตัวคุณมาหลายปีจนกลายเป็นภาษาที่คุณพูดในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับนิสัยอื่น ๆ ที่บ่มเพาะมานาน คุณไม่สามารถเลิกพูดคำหยาบได้ภายในชั่วข้ามคืน การฝึกพูดคำหยาบเป็นขั้นตอนหนึ่ง คุณอาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่วัน แต่สิ่งสำคัญคือการพยายามควบคุมตัวเองให้ได้มากที่สุด บอกตัวเองเสมอว่าเพราะอะไรคุณถึงอยากเลิกพูดคำหยาบ และคิดภาพว่าคุณจะรู้สึกดีแค่ไหนที่คุณเลิกนิสัยชอบพูดคำหยาบได้
    • บอกตัวเองเสมอว่าทำไมถึงอยากเลิกพูดคำหยาบ เหตุผลของคุณอาจจะเป็นเพราะคุณไม่อยากให้คนในที่ทำงานใหม่เข้าใจว่าคุณเป็นพวกกักขฬะ หรือคุณอาจจะไม่อยากเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก ๆ ใช้เหตุผลเหล่านี้เป็นแรงผลักที่ทำให้คุณสู้ต่อไป
    • ไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะเป็นอะไร อย่าล้มเลิกความตั้งใจเด็ดขาด ฝึกควบคุมตัวเองและบอกตัวเองเสมอว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่คุณทำไม่ได้ ถ้าตั้งใจจริง !
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เปลี่ยนรูปแบบการพูด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพูดคำหยาบเล็ก ๆ น้อย ๆ นาน ๆ ครั้งยังพอรับได้ แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองพูดคำหยาบไม่หยุด ทุกประโยคมีคำหยาบตลอด นั่นแปลว่าคุณมีปัญหาเรื่องการพูดคำหยาบจริง ๆ ขั้นตอนแรกของการฝึกตัวเองไม่ให้พูดคำหยาบก็คือ สังเกตว่าตัวเองมักจะพูดคำหยาบตอนไหน มีใครที่คุณอยู่ใกล้แล้วรู้สึกอยากพูดคำหยาบเป็นพิเศษหรือเปล่า หรือคุณมักจะพูดคำหยาบในสถานการณ์ไหน คำหยาบคำไหนที่ติดปากตลอดเวลา พยายามหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมคุณถึงพูดคำหยาบ และคำหยาบนั้นมีบทบาทอย่างไรในรูปแบบการพูดของคุณ
    • พอสังเกตนิสัยชอบพูดคำหยาบของคุณดี ๆ คุณอาจจะตกใจว่าทำไมตัวเองพูดคำหยาบมากขนาดนั้น แต่ก็อย่าเพิ่งเสียใจไป การรู้ว่าตัวเองพูดคำหยาบบ่อยแค่ไหนคือขั้นแรกของการเลิกพูดคำหยาบ
    • พอคุณเริ่มสังเกตนิสัยชอบพูดคำหยาบของตัวเอง คุณจะเริ่มจับผิดคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะคุณจะได้รู้ว่าคำหยาบมันฟังดูไม่รื่นหูขนาดไหน และมันสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีได้อย่างไร
  2. เมื่อคุณหาสาเหตุใหญ่ของการพูดคำหยาบได้แล้ว คุณก็จะเริ่มรู้วิธีกำจัดคำหยาบออกไปจากประโยค เวลาที่คุณคันปากอยากจะพูดคำหยาบออกมาเฉย ๆ ไม่ได้กำลังโกรธหรือไม่ได้หลุดปาก แค่อยากจะใช้คำหยาบเพื่อสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ให้หาคำที่ฟังดูใกล้เคียงกับคำหยาบคำนั้นแต่ไม่ใช่คำหยาบแทน อาจจะเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรเดียวกันหรือเสียงสระเดียวกันที่ฟังแล้วไม่ระคายหู
    • เช่น พูดว่า "เห้" แทน "เ-ย" หรือ "เป็ด" แทน "เ-ด" ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกปัญญาอ่อนเวลาพูด แต่สักพักก็จะชิน และการพูดคำไร้สาระพวกนี้อาจจะทำให้คุณไม่อยากพูดอะไรด้านลบอีกเลยก็ได้
    • ถ้าหลุดพูดคำหยาบออกมา ให้พูดตามด้วยอีกคำที่คล้ายกันแต่ไม่หยาบทันที สักพักสมองของคุณจะเชื่อมโยงสองคำนี้เข้าด้วยกัน และคุณก็จะเลือกใช้อีกคำที่ไม่หยาบโดยอัตโนมัติ
  3. คำหยาบมักใช้เพราะ "สื่ออารมณ์ได้ดีกว่า" แต่ก็ยังเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นอยู่ดีเพราะในภาษาไทยมีคำดี ๆ มากมายที่ช่วยให้สื่ออารมณ์ได้ตรงใจและทำให้คุณดูดีมีการศึกษามากกว่าการเลือกใช้คำหยาบตั้งเยอะ การเพิ่มคลังศัพท์และใช้คำที่สื่ออารมณ์ได้ดีกว่าโดยไม่ต้องใช้คำหยาบจะทำให้คุณดูเป็นคนฉลาด น่าคบ และน่าเข้าหามากกว่าเดิมด้วย
    • เขียนรายการคำหยาบที่คุณพูดบ่อย ๆ แล้วเปิดพจนานุกรมหาคำอื่น ๆ ที่ใช้แทนกันได้ เช่น แทนที่จะพูดว่า "นัง…หรี่" ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น ก็เปลี่ยนมาใช้คำที่สื่อความได้เหมือนกันและฟังดูตลก ๆ เช่น แม่นางดอกไม้ทอง เจ้าแม่โคมเขียว [3]
    • คุณสามารถเพิ่มคลังศัพท์ได้ด้วยการอ่านหนังสือและหนังสือพิมพ์ให้มากขึ้น จดคำที่ให้ภาพความหมายชัดเจนจนคุณรู้สึกขำและพยายามใส่คำพวกนี้เข้าไปในประโยค พยายามฟังภาษาพูดของคนอื่นและจำคำหรือวลีที่คนอื่นใช้ในการสื่อสารที่ไม่ใช่คำหยาบ
    โฆษณา


เคล็ดลับ

  • เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ๆ ถ้าพวกเขาเห็นคุณพูดคำหยาบ พวกเขาจะเข้าใจว่าการพูดคำหยาบเป็นเรื่องเท่และเขาก็จะทำตามด้วย
  • ไม่ต้องกดดันตัวเองว่าห้ามพูดคำหยาบตลอดชีวิต (แต่ถ้าอยากให้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ว่ากัน) เพราะบางเหตุการณ์ในชีวิตเช่น ความเจ็บปวด ความหวาดกลัว หรือการสูญเสียก็ทำให้คนที่อ่อนโยนที่สุดสบถออกมาได้ หลัก ๆ แล้วการเลิกนิสัยพูดคำหยาบคือการเลิกสื่อความคิด พฤติกรรม และภาษาโดยใช้คำหยาบเป็นหลักเท่านั้นเอง
  • เวลาไม่พอใจแล้วอยากสบถ นับ 1-10 แล้วหายใจเข้าลึก ๆ แล้วจะไม่รู้สึกอยากพูดคำหยาบอีก
  • การฝึกควบคุมตัวเองเวลาโกรธและโมโหจะทำให้คุณไม่อยากพูดคำหยาบหรือแทบจะไม่อยากพูดเลย และทำให้คุณสงบขึ้นทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ
  • ถ้าคุณมีนิสัยติดพูดคำหยาบมากจนไม่รู้ตัวเวลาพูด ให้เพื่อนช่วยเตือนเวลาคุณพูดคำหยาบ
  • พยายามไม่พูดคำหยาบจนกว่าจะอารมณ์เย็นลง
  • คำแนะนำนี้ใช้ไม่ได้กับคนที่เป็นโรคพูดลามก (และโรคทูเร็ตต์ – อาการผิดปกติทางประสาทเกี่ยวกับการพูดที่รวมถึงการพูดคำหยาบโดยไม่รู้ตัวด้วย) และไม่สามารถควบคุมการพูดของตัวเองได้
  • งานวิจัยกล่าวว่า คนเราจะเลิกนิสัยแย่ ๆ ได้เมื่องดทำสิ่งนั้นไป 21 วัน เพราะฉะนั้นตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าฉันจะไม่พูดคำหยาบเลย 21 วัน !
โฆษณา

คำเตือน

  • การพูดคำหยาบในที่ทำงานอาจทำให้คุณถูกไล่ออกได้
  • การพูดคำหยาบในที่สาธารณะอาจทำให้คุณถูกปรับหรือจำคุกในบางประเทศ
  • การใช้คำหยาบอาจทำให้คุณโดนแบนในหลายเว็บไซต์ ตั้งแต่เว็บบอร์ดไปจนถึงเกมออนไลน์
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 48,157 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา