ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ความฝันนั้นแสนจะลึกลับ มีหลายทฤษฎีด้วยกันที่ว่าด้วยเรื่องทำไมเราถึงฝัน แต่ก็ไม่มีใครฟันธงได้ว่าแนวคิดไหนที่ถูกต้อง หรือถ้าพอบอกได้ว่าถูกต้อง จะถูกต้องมากน้อยแค่ไหนกัน [1] [2] [3] . คุณสามารถสร้างสมุดบันทึกความฝันได้ เป็นเหมือนดัชนีความฝันหรือแหล่งรวมเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์จากจิตใต้สำนึกของคุณ การจดบันทึกความฝันนั้นต้องอาศัยวินัยอยู่สักหน่อย แต่พอเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็อาจกลายเป็นข้อมูลหรือความสนใจที่มีประโยชน์ในระยะยาวได้เหมือนกัน

บันทึกความฝันเหมาะสำหรับคนที่อยากสังเกตรูปแบบซ้ำๆ ของความฝัน จดจำเหตุการณ์สำคัญที่อาจนำมาตีความได้ หรือพัฒนาตัวเองให้จดจำรายละเอียดของความฝันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจดบันทึกความฝันควรเป็นไปอย่างสนุกสนาน ให้ได้เข้าใจตัวตนของคุณมากยิ่งขึ้น ข้างล่างนี่เราอธิบายวิธีจดบันทึกความฝันอย่างง่ายๆ เอาไว้ หรือก็คือไดอารี่จิตวิญญาณของคุณยังไงล่ะ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เตรียมตัวกันก่อน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. [4] มีบันทึกฝันแบบสำเร็จรูปขายอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะเวลาทำบันทึกของคุณขึ้นมาเองทั้งสนุกและสร้างสรรค์กว่าเยอะ เวลาจะเลือกสมุดมาจดบันทึกฝัน ต้องพิจารณาตามตัวเลือกต่อไปนี้ก่อน
    • ความยาว: คุณกะจะจดฝันกันทั้งปี หรือแค่จะลองจดดูสั้นๆ เป็นพักๆ? ต้องคิดดูก่อนว่าแต่ละคืนจะจดละเอียดแค่ไหน ถ้ากะไว้คร่าวๆ ก่อนทั้งความยาวที่จะจดและระยะเวลา ก็จะได้พอรู้ว่าควรจะใช้สมุดเล่มขนาดไหนดี
    • สลับหน้าไปมาได้: ถ้าคุณอยากจัดเรียงหน้าต่างๆ ตามธีม (เช่น "ฝันเดิมๆ" หรือ "ฝันเรื่องหมา") เป็นต้น ก็คงจะสะดวกกว่าถ้าใช้สมุดสันห่วงแบบถอดหน้ากระดาษได้ ให้เลือกใช้แฟ้มที่แข็งแรงหน่อยเก็บรวบรวมแต่ละหน้าไว้ด้วยกัน
    • ปะติดเพิ่ม: สามารถเอาเศษกระดาษอื่นๆ ที่คุณจดไว้มาแปะเพิ่มได้ ถ้าอยากทำแบบนี้ต้องหาสมุดที่มีเนื้อที่เหลือเฟือพอให้คุณแปะกระดาษหรือโน้ตย่ออื่นๆ เข้ามาได้
    • ปากกามาร์กเกอร์นี่ขาดไม่ได้ ต้องใช้ปากกาสีเยอะๆ ถ้าอยากจะจดแบ่งธีมหรือหมวดหมู่การตีความตามสีที่แตกต่างกัน
    • หากระป๋อง ตะกร้า หรือกล่องอะไรมาไว้เก็บพวกปากกาสีกับบันทึกความฝันของคุณ จะได้รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียวกัน พร้อมหยิบมาใช้ได้ตลอดเวลา
    • หาปกสวยๆ มาใส่หรือจะใส่ปกกันรอยก็ได้ถ้าเป็นคนเดินทางบ่อย แต่อยากพกบันทึกความฝันไปด้วยทุกที่
  2. [5] จะจดบันทึกความฝันได้ต้องจดทันทีที่ตื่นนอน เพราะงั้นที่วางสมุดที่ดีที่สุดก็คือที่หัวเตียงคุณนั่นแหละ เพราะยิ่งควานหานานแค่ไหน ก็เสี่ยงต่อการที่คุณจะลืมความฝันของคุณมากเท่านั้น จุดวางสมุดถึงได้สำคัญมากไงล่ะ!
    • ถ้าจะเก็บสมุดกับปากกาไว้ในกระป๋องหรือตะกร้าสักอย่าง ต้องเลือกที่โยกย้ายได้ง่าย หรือยกไปเก็บในลิ้นชักหรือตามตู้สะดวกเผื่อเวลาจะทำความสะอาดห้อง ไม่ก็ตอนอยากเก็บให้พ้นสายตาคนอื่น
    • ตั้งโคมไฟหรือไฟแบบหนีบหนังสือไว้ข้างเตียงด้วยก็ดี ถ้าตื่นมากลางดึกแล้วเกิดอยากจดฝันจะได้จดได้ทันทีไม่ลืมซะก่อน
    • ถ้าคุณเลือกบันทึกความฝันด้วยการอัดเสียงลงเครื่อง MP3 หรือในมือถือ ก็ต้องวางเครื่องไว้ใกล้ๆ มือ และจัดเก็บไฟล์เสียงให้เป็นระบบระเบียบ หมั่นสำรองข้อมูลไว้บ่อยๆ วางแบตเตอรี่สำรองหรือสายชาร์จไว้ด้วยก็ดี เผื่ออัดเสียงเสร็จแล้วลืม เปิดเครื่องทิ้งไว้ทั้งคืน พอจะอัดก็เกิดแบตหมดขึ้นมา
  3. พอเขียนจบคืนนึงแล้ว ให้เขียนวันที่ของอีกคืนเตรียมไว้เลย. แบบนี้จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมหรือเสียเวลาเขียนวันที่ตอนที่ตื่นขึ้นมา จะได้จดฝันไปเลยทีเดียว บางคนชอบเขียนวันที่ของพรุ่งนี้ทันทีหลังเขียนของวันนี้จบ แต่บางคนก็เขียนตั้งแต่คืนก่อน จะได้เป็น "การเตรียมรับความฝัน" อะไรแบบนั้น
    • ถ้าคุณเป็นพวกเขียนวันที่ล่วงหน้าตั้งแต่คืนก่อน คุณอาจจะจดไว้ด้วยก็ได้ว่าคุณรู้สึกยังไง ความรู้สึกในตอนนั้นอาจส่งผลโดยตรงต่อความฝันที่จะตามมาในคืนนั้นก็ได้ ถ้าจดความรู้สึกไว้ด้วยจะได้เอาไปประกอบการตีความได้ แถมยังเป็นเหมือนตัวบอกอารมณ์สำหรับความฝันแบบ "จ๊ะเอ๋!" หรือ "ทำเอาตกอกตกใจ" ที่อยู่ๆ ก็โผล่มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ได้อีกด้วย
  4. ไม่มีวิธีไหนถูกหรือผิดในการเตรียมตัวหรือจดบันทึกความฝัน แต่คุณทำให้มันสะดวกขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยงความฝันกับการตีความเข้าด้วยกัน
    • เรียงไว้ในคอลัมน์: ถ้าแบ่งเป็นตารางเป็นคอลัมน์ไว้ในแต่ละหน้า จะได้จดฝันไว้ข้างนึง ส่วนอีกข้างนึงของหน้าไว้ใช้เขียนตีความ เขียนไว้ให้ตรงข้ามกันเป๊ะๆ เลย
    • จดฝันสำคัญที่สุด: ถ้าคุณขี้เกียจมานั่งตีตารางเป็นระบบระเบียบ ให้จดฝันไว้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยหาที่เขียนตีความทีหลังใกล้ๆ กัน เพราะที่สุดแล้วการจดความฝันนี่แหละสำคัญที่สุด และต้องใช้เนื้อที่มากที่สุด จะตีความที่ไหนยังไงนั่นไว้ทีหลัง
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

เริ่มจดบันทึกและตีความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีไหนที่ปกติทำให้คุณหลับสนิทจนฝันได้ก็ทำไปตามนั้น อาจช่วยได้ถ้าคิดเตือนตัวเองก่อนว่าเดี๋ยวตื่นมาจะจดฝันไว้นะ จิตใต้สำนึกจะได้ใส่ใจ จดจำรายละเอียดของความฝันไว้
    • จะลองหาบทความอื่นๆ เกี่ยวกับความฝันมาอ่านเพิ่มเติมจากในเน็ตก็ได้ เผื่อจะได้ไอเดียดีๆ ว่าทำยังไงให้ฝัน ควบคุมฝัน และบังคับฝันของตัวเองได้
    • ถ้าใช้เสียงปลุกเป็นสัญญาณดังบี๊บๆ หรือเป็นเสียงกระดิ่งดังซ้ำๆ จะดีกว่าใช้เสียงจากวิทยุหรือเสียงเพลง เพราะเสียงพูดหรือเสียงร้องเพลงอาจรบกวนเนื้อหาของความฝันที่คุณอุตส่าห์จำได้ แต่ถ้าคุณตื่นเองได้ไม่ต้องใช้เสียงปลุกก็จะยิ่งมีสมาธิ ได้ผลดีเข้าไปใหญ่
  2. พอตื่นปุ๊บให้รีบบันทึกความฝันปั๊บ ถ้าเป็นไปได้ให้อดทนไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปเข้าห้องน้ำจนกว่าจะจดฝันเสร็จ เพราะถ้าสติหลุดแค่นิดเดียวก็อาจลืมฝันนั้นไปเลย หรือหลงลืมเรื่องสำคัญๆ ไม่ก็พวกรายละเอียดต่างๆ ได้ พอคุณฝึกฝนจนชำนาญ คุณจะพบว่าเรื่องพวกนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป แถมจะเรียกคืนรายละเอียดต่างๆ ของความฝันได้สบายๆ อีกด้วย แต่ตอนยังเป็นมือใหม่ รีบตื่นรีบจดไว้จะดีกว่า [6]
    • จดมันทุกอย่างที่คุณจำได้ ตอนแรกๆ อาจจะยากหน่อยที่ต้องจดให้ได้มากที่สุดโดยมีความคิดอื่นๆ ตอนเพิ่งตื่นแทรกเข้ามาเรื่อยๆ แต่ถ้าคุณบันทึกฝันไปนานๆ เข้า คุณจะจดจำรายละเอียดได้มากและง่ายขึ้น อย่างตัวละครที่ปรากฏ สัญลักษณ์ สีสัน ผิวสัมผัส ความรู้สึก และการกระทำต่าง (อย่างการว่ายน้ำหรือเหาะเหินเดินอากาศ) กระทั่งปฏิสัมพันธ์ที่คุณมีต่อคนอื่นๆ สิ่งของต่างๆ และอะไรอีกมากมาย [7]
    • พยายามหาคุณลักษณะมาขยายหรืออธิบายภาพและความรู้สึกที่ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดในฝัน อย่างถ้าคุณฝันเห็นบ้านไฟไหม้ ก็ให้เขียนไปว่า "บ้านถูกไฟแดงแจ๋ไหม้แรงจนน่ากลัวแต่ก็น่าตื่นเต้น" ส่วนความรู้สึกของคุณก็คือ "กลัว แตกตื่น อยากรู้ว่าเพราะอะไร"
    • บางคนก็ชอบวาดรูปหรือใช้หลายๆ สีแยกไปตามอารมณ์หรือธีมของความฝัน (สีนี่แหละส่วนสำคัญในการตีความความฝัน) [8]
  3. ตอนจดเรื่องราวในฝันไม่ต้องปรุงแต่งให้สวยงาม แต่เน้นว่าต้องเก็บรายละเอียดให้ได้มากและไวที่สุดก่อนจะเลือนหายไป แล้วหลังจากนั้นถ้าอยากมาตีความ หรือเกลาให้เข้าท่ากว่านี้ก็ยังทัน
  4. นี่การจดบันทึกความฝันนะไม่ใช่วิ่งมาราธอน ไม่มีใครที่ไหนว่างมาจดฝันได้ทุกวันหรอก วิธีที่ดีที่สุดคือเลือกจดเฉพาะความฝันที่กระแทกใจหรือฝันที่คุณจดจำรายละเอียดได้มากกว่าเพื่อน เพราะหลังจากนั้นความจำของคุณจะไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไหร่ ที่บอกให้เลือกเฉพาะฝันที่แจ่มชัดที่สุดก็เพราะเป็นไปได้มากทีเดียวว่าฝันนั้นสะท้อนอะไรบางอย่างที่มีความหมายสำหรับคุณ
  5. ควรฝึกตั้งชื่อความฝันไว้จนเป็นนิสัย ตอนจะสรุปเนื้อหาเพื่อตั้งชื่อฝัน ให้เลือกความรู้สึกหรือธีมที่เด่นชัดที่สุด จะได้กลับมาหาฝันนั้นเจอง่ายๆ ในภายหลัง แถมยังเป็นวิธีที่ดีในการสรุปความรู้สึกที่คุณมีต่อฝันนั้นๆ ได้ด้วย
  6. ช่วงแรกๆ คุณคงยังจำรายละเอียดของฝันไม่ได้มากพอจะจดยาวเกินกว่า 2 - 3 บรรทัด แต่อย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะฝึกไปมากๆ เข้าเดี๋ยวก็จำได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปเอง เพราะฉะนั้นจุดสำคัญอยู่ที่ต้องขยันจดฝันทุกวัน ถึงบางวันจะมีฝันน่าเบื่อๆ ไม่น่าจดจำก็เถอะ ฝันพวกนั้นจริงๆ ก็มีความหมายในตัวเองนะ พอจดไปแล้วคุณอาจเห็นเองว่ามันก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์ซะทีเดียวหรอก [9]
  7. ถ้าแรกๆ คุณยังไม่อยากตีความก็ไม่ต้องทำ แค่ฝึกจดฝันไปเรื่อยๆ ก่อนเพราะจุดนั้นถือว่าสำคัญมาก แล้วตอนหลังค่อยกลับมาตีความเพิ่ม แต่ต้องไม่ลืมจดความรู้สึกที่ชัดเจนที่สุดในแต่ละฝันเอาไว้ก่อนนะ พอผ่านไปสักพักก็ค่อยเริ่มตีความ โดยอาศัยความรู้ต่างๆ ที่อ่านจากตำราต่างๆ หรือเว็บไซต์ และลางสังหรณ์ลึกๆ ของคุณเอง บางอย่างก็เห็นแล้วเตะตากว่าอย่างอื่น แต่ก็ลองตีความดูให้ทั่วๆ ล่ะ [10]
    • บางทีความหมายของฝันนั้นอาจยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งคุณฝันถึงมันอีก และระหว่างนั้นเกิดอะไรบางอย่างขึ้นในชีวิตของคุณ ก็ต้องคอยสังเกตและเชื่อมโยงกันให้ดีๆ ส่วนใหญ่เรื่องสำคัญมักจะเกิดซ้ำๆ จนคุณหาจนเจอนั่นแหละ
    • ลองศึกษารายละเอียดการตีความหรือทำนายฝันเพิ่มเติมดูจากตำราต่างๆ และในอินเทอร์เน็ต
  8. สุดท้ายแล้วคุณจะจดฝันยังไง จดไปเพื่ออะไร ก็เป็นเรื่องของคุณ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ถ้าคุณอ่านบทความนี้แล้วเคลือบแคลงสงสัยตรงไหน ใช้ได้ผลไม่ได้ผล ให้ลองเอาไปปรับใช้กับวิธีการส่วนตัวของคุณต่อไป เลือกใช้เฉพาะข้อมูลที่เข้าท่าและมีประโยชน์กับคุณมากที่สุดก็แล้วกัน [11]
  9. พยายามพกบันทึกความฝันของคุณติดตัวไปด้วยไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือพักผ่อนที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่อยากเอาเล่มจริงไปเพราะกลัวหาย ให้ย่อสรุปเป็นฉบับพกพาแล้วค่อยเอากลับมาใส่รวมไว้กับเล่มเดิม หรือจะจดใส่มือถือหรืออะไรไว้ก่อนก็ได้ เอาตามที่คุณสะดวกเลย ที่สำคัญกว่าคือต้องจดต่อไป อย่าหยุด เพราะพอเปลี่ยนที่เปลี่ยนทางแล้วอาจจุดประกายให้เกิดความฝันใหม่ๆ เปิดมุมมองที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับตัวเองขึ้นมาก็ได้ คุณคงไม่อยากพลาดโอกาสนี้ใช่ไหมล่ะ!
    • การท่องเที่ยวหรือเปลี่ยนบรรยากาศอาจนำความฝันเดิมๆ กลับมาพร้อมรายละเอียดใหม่ๆ ก็ได้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้ปัดฝุ่น เพิ่มเติมสิ่งที่เคยขาดหายไปยังไงล่ะ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้ารีบทำภารกิจอื่นๆ ในตอนเช้าอย่างการแปรงฟันหรือทำอาหารก่อนจดความฝัน ระวังจะลืมซะหมด
  • วางสมุดกับเครื่องเขียนไว้ใกล้ตัวหรือก็คือหัวเตียงนั่นแหละ แต่ละวันห้ามเปลี่ยนที่ด้วยล่ะ
  • อย่าไปเที่ยวเล่าฝันส่วนตัวให้ใครฟัง บางคนเขาก็ "อิน" กับการตีความหาความหมายหรือทำนายฝัน แต่ยังมีอีกหลายคนที่เขาจะหัวเราะเยาะเอา ไม่ก็งงว่าคุณจะเอามาเล่าเขาทำไม พยายามเก็บไว้กับตัวจะดีกว่า ถือซะว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องประสบพบเจอก็แล้วกัน
  • ถ้าระหว่างวันพอมีเวลาว่าง แล้วพกบันทึกฝันติดตัวไปด้วย ให้เว้นที่ไว้นิดหน่อยใต้ฝันที่จดไว้ จะได้ใช้วาดรูปประกอบ ยิ่งเป็นคนที่ว่างเป็นต้องขีดๆ เขียนๆ อยู่แล้วยิ่งดี และมีประโยชน์มากเวลาคุณคิดไม่ออกบอกไม่ถูกขึ้นมา
  • ใช้ไพ่ทำนายฝัน จะมีไพ่ขายเป็นสำรับ แต่ละใบมีสัญลักษณ์หรือรูปภาพอยู่ ใช้ทำนายได้ว่าฝันแบบนั้นแปลว่าอะไร บางทีอาจช่วยแนะแนวทางให้คุณได้เวลาพบเจอปัญหาอะไร
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณฝันว่าตัวเองตายอะไรประมาณนั้น อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ว่าเป็นลางร้าย เป็นไปได้มากว่าคุณกำลังเครียดจัด จนเหมือนจะตายอะไรทำนองนั้น ที่สำคัญ การตายยังหมายถึงการปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างในตัวคุณหรือในชีวิตของคุณได้ด้วย อาจเป็นสิ่งที่คุณเหนี่ยวรั้งมานาน และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องก้าวต่อไปยังชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
  • ถ้าจดไปสักพักเริ่มรู้สึกเหมือนความฝันของคุณจะ "หมดมุข" ให้ใจเย็นๆ ก่อน บางทีปัจจัยภายนอกอย่างความเครียด อาการป่วยไข้ เหล้ายาปลาปิ้ง การอดตาหลับขับตานอน กระทั่งระยะการนอนช่วง REM ถูกรบกวนก็เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น หรือว่ากันง่ายๆ ก็คือสมองของคุณอาจต้องการการพักผ่อนบ้าง หลังสร้างสรรค์สารพัดเรื่องติดต่อกันมาพักใหญ่ สรุปคืออย่าไปสนใจ พอคุณหายเครียดเมื่อไหร่เดี๋ยวฝันใหม่ๆ ก็จะกลับมาเอง
  • ถึงตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ชี้ชัดว่าความฝันของคนเรานั้นมีไปเพื่ออะไร ถึงเวลาตีความความฝันไปต่างๆ นานามันจะสนุกดี แต่ต้องมีสติให้มาก อย่าเผลอยึดถือใช้การทำนายฝันนั้นไปตัดสินใจอะไรที่สำคัญๆ ในชีวิตเด็ดขาด
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • สมุดบันทึกความฝัน
  • เครื่องเขียนตามสะดวก (ปากกาสีจะดีที่สุด)
  • โคมไฟหรือไฟสำหรับอ่านหนังสือ
  • ที่สำหรับนั่งนอน พิงให้สบาย (แล้วแต่สะดวก)

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 6,723 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา