ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการเหินน้ำเกิดขึ้นเมื่อล้อของคุณปะทะเข้ากับน้ำในปริมาณมากเกินกว่าที่จะทำให้กระจายออกได้ ทำให้ล้อสูญเสียการยึดเกาะถนนและลื่นไถลไปบนผิวน้ำ น้ำที่ปะทะเข้ามาทางด้านหน้าล้อจะทำให้เกิดชั้นน้ำใต้ล้อรถ ซึ่งลดแรงเสียดทานและทำให้ผู้ขับสูญเสียการควบคุมรถยนต์ การเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงการเหินน้ำ รวมถึงวิธีการทำให้คุณกลับมาควบคุมรถได้อีกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอันตรายเมื่อต้องพบเจอกับสภาพถนนที่เปียกลื่นอีก และถึงแม้มันจะเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจดจำให้ขึ้นใจคือการมีสติ ไม่ตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ฝึกวิธีการขับขี่เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหินน้ำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ช่วงประมาณ 10 นาทีแรกหลังจากฝนเริ่มตกนับเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เพราะช่วงที่ฝนเริ่มตกใหม่ๆ จะทำให้น้ำมันและสารอื่นๆ ที่แห้งเหือดอยู่บนพื้นถนนรวมตัวกัน และสารที่รวมตัวกันหรือน้ำมันกับน้ำบนถนนจะทำให้เกิดฟิล์มบนพื้นถนนและทำให้พื้นถนนลื่นขึ้นอีกหลายเท่า
    • ในช่วงที่ฝนเริ่มตกใหม่ๆ คุณจึงควรขับช้าลงและระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษเผื่อในกรณีที่รถคันอื่นเกิดการลื่นไถล
    • เมื่อฝนตกหนักเป็นระยะเวลานานๆ น้ำฝนจะช่วยชะล้างให้พื้นถนนสะอาดได้ในที่สุด สภาพถนนจึงอาจอันตรายน้อยลงสักหน่อยในช่วงเวลาดังกล่าว
  2. เพราะยิ่งขับเคลื่อนเร็วเท่าไร รถของคุณก็จะยิ่งรักษาการยึดเกาะได้ยากขึ้นขณะถนนเปียก หากล้อรถเคลื่อนไปบนแอ่งน้ำที่ก่อตัวขึ้นแทนที่จะขับเคลื่อนบนพื้นผิวถนน จะทำให้ล้อมีโอกาสลื่นไถลมากขึ้น และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้การลดความเร็วบนสภาพถนนเปียกเป็นสิ่งสำคัญ แม้ทัศนวิสัยการมองเห็นจะยังชัดเจนก็ตาม
    • หากพื้นถนนเปียก การขับขี่ด้วยความเร็วต่ำกว่าขีดจำกัดไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพียงแต่พยายามอย่าขับช้ากว่าสภาพการจราจรโดยรอบ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องขับขี่ด้วยความเร็ว 110 กม./ชม. บนทางหลวงในช่วงที่ฝนตกหนัก
    • การขับขี่อย่างช้าๆ ยิ่งทวีความสำคัญถ้าเห็นแอ่งน้ำก่อตัวอยู่บนพื้นถนน
  3. หลีกเลี่ยงการขับผ่านแอ่งน้ำและพื้นผิวที่มีน้ำปกคลุม. บริเวณเหล่านี้เป็นจุดที่คุณมีโอกาสเหินน้ำได้มากที่สุดเพราะล้อรถยึดเกาะถนนได้ยาก ที่สำคัญ จุดเหล่านี้อาจมองไม่เห็นได้โดยง่ายทุกครั้งไป คุณจึงควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ (และขับขี่ช้าๆ) เมื่อฝนตกหนักพอที่จะทำให้เกิดแอ่งน้ำได้
    • ส่วนใหญ่แอ่งน้ำจะเกิดขึ้นบริเวณขอบถนน จึงควรพยายามขับกลางเลนเข้าไว้ [1]
    • พยายามขับรถไปตามแนวล้อที่รถคันหน้าทิ้งร่องรอยไว้ วิธีการนี้จะช่วยลดโอกาสที่น้ำจะก่อตัวขึ้นหน้าล้อรถของคุณ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้คุณสูญเสียการควบคุมรถนั่นเอง
    • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่ปัดน้ำฝนทำงานเป็นปกติ ทัศนวิสัยที่ไม่ดีเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างที่ฝนตก เพราะเรามองเห็นแอ่งน้ำบนพื้นถนนผ่านกระจกหน้าที่มีน้ำบดบังได้ยากนั่นเอง
  4. ถ้าคุณกำลังขับขี่บนทางหลวงด้วยระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ ควรปิดการทำงานของระบบทันทีที่ฝนเริ่มตก เพราะคุณจะปรับตัวเข้ากับสภาพรอบตัวได้มากขึ้นเมื่อระบบปิดการทำงาน นอกจากนี้ในขณะที่ฝนตก คุณอาจต้องลดความเร็วลงแบบเร่งด่วน ซึ่งจะทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเท้าของคุณจ่อรอที่แป้นเบรกอยู่แล้ว และการปิดระบบยังทำให้คุณใส่ใจสภาพถนนและความเร็วรถมากขึ้นอีกด้วย
  5. เพื่อให้คุณรักษาการยึดเกาะถนนได้ง่ายขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้คุณขับเคลื่อนรถเร็วเกินไปได้อีกด้วย [2] แม้สิ่งนี้อาจไม่มีความจำเป็นหากคุณอยู่บนทางหลวง แต่ในกรณีที่อยู่บนถนนที่ขีดจำกัดความเร็วต่ำกว่านั้น การขับขี่ด้วยเกียร์ต่ำจะทำให้คุณหักเลี้ยว ณ จุดอันตรายได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังทำให้ขับขี่ลงเนินได้โดยไม่เกิดอาการเหินน้ำ
  6. ขับขี่ช้าๆ อย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการลื่นไถล และรักษาแรงในการเหยียบเบรกและคันเร่งให้อยู่ในระดับต่ำ. หากต้องเบรกรถ ให้คุณเหยียบเบรกอย่างนิ่มนวล อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รถของคุณมีระบบเบรกป้องกันล้อล็อค คุณจะสามารถเหยียบเบรกได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าคุณจะไม่ทำให้ล้อล็อค เพราะอาจทำให้รถเกิดการลื่นไถลได้
    • หลีกเลี่ยงการเร่งความเร็วหรือเบรกรถกะทันหัน รวมถึงไม่หักเลี้ยวแบบกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถถูกเหวี่ยงออกนอกเส้นทาง
    • ระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษบนเส้นทางคดเคี้ยว บังคับเลี้ยวอย่างนุ่มนวล และขับขี่ช้าๆ เพื่อความปลอดภัย
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

การทำให้รถกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อเกิดอาการเหินน้ำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อเกิดอาการเหินน้ำ แสดงว่ามีน้ำก่อตัวขึ้นบริเวณล้อเป็นจำนวนมากจนทำให้ล้อสูญเสียการยึดเกาะถนน รถของคุณอาจมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไปตามรูปแบบการขับขี่ของคุณ และขึ้นอยู่กับว่าอาการเหินน้ำเกิดขึ้นที่ล้อใดด้วยเช่นกัน
    • หากกำลังขับขี่บนทางตรง อาการเหินน้ำจะทำให้คุณรู้สึกว่าล้อสูญเสียการยึดเกาะและรถเริ่มเบี่ยงออกไปทางใดทางหนึ่ง
    • หากอาการเหินน้ำเกิดขึ้นที่ล้อขับ ค่าบนมาตรวัดความเร็วและความเร็วรอบเครื่องยนต์อาจเพิ่มสูงขึ้นเมื่อล้อเริ่มหมุนฟรี
    • หากอาการเหินน้ำเกิดขึ้นที่ล้อหน้า รถจะเริ่มลื่นไถลไปทางด้านนอกของโค้งถนน
    • หากอาการเหินน้ำเกิดขึ้นที่ล้อหลัง ส่วนท้ายรถจะเริ่มเบี่ยงไปทางด้านข้างจนเกิดการลื่นไถล
    • หากอาการเหินน้ำเกิดขึ้นกับทั้ง 4 ล้อ รถจะไถลไปด้านหน้าเป็นเส้นตรง ราวกับรถของคุณเป็นเลื่อนหิมะขนาดยักษ์
  2. ในช่วงที่รถเริ่มไถลอาจทำให้คุณตื่นตกใจได้ง่าย เพราะคุณรู้สึกว่ารถไม่อยู่ในการควบคุมและร่างกายอาจกระตุ้นให้คุณทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น แต่คุณต้องพยายามควบคุมสติและอย่าตื่นตกใจ คุณแค่ต้องรอให้การลื่นไถลหยุดลงและตั้งสติเพื่อให้คุณสามารถกลับมาควบคุมรถได้อีกครั้ง ไม่ว่ารถของคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเกิดอาการเหินน้ำ คุณสามารถนำขั้นตอนเดียวกันนี้ไปใช้เพื่อให้ควบคุมรถได้ดังเดิม
    • จำให้ขึ้นใจเลยว่า การลื่นไถลที่เกี่ยวข้องกับอาการเหินน้ำจะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีก่อนที่รถของคุณจะกลับมายึดเกาะถนนได้ดังเดิม การตั้งสติรอให้ช่วงวินาทีนั้นผ่านพ้นไปจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้
    • อย่ากระทืบเบรกหรือกระชากพวงมาลัย เพราะการทำเช่นนั้นพาลแต่จะทำให้คุณสูญเสียการควบคุมรถมากยิ่งขึ้น
  3. เพราะการเร่งความเร็วในขณะที่รถลื่นไถลอาจทำให้คุณสูญเสียการควบคุมรถและทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งขึ้นไปอีก คุณจึงไม่ควรเร่งความเร็วเพื่อให้หลุดจากการลื่นไถล แต่ให้ค่อยๆ ปล่อยคันเร่งและรอสักครู่หรือจนกว่ารถจะกลับคืนสู่สภาวะปกติก่อนที่จะเร่งความเร็วอีกครั้ง
    • ถ้าคุณกำลังเหยียบเบรกในขณะที่รถเริ่มลื่นไถล ให้ปล่อยแป้นเบรกจนกว่ารถจะหยุดไถล
    • ถ้าคุณกำลังขับขี่รถเกียร์ธรรมดา อย่าลืมปล่อยคลัตช์ด้วยเช่นกัน [3]
  4. บังคับพวงมาลัยไปในทิศทางที่ต้องการให้รถขับเคลื่อนไป. รักษาการยึดเกาะถนนและหันรถไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างระมัดระวัง เทคนิคนี้เรียกกันว่า “การควบคุมพวงมาลัยไปในทิศทางที่ต้องการมุ่งไป” ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้รถกลับมายึดเกาะถนนได้อีกครั้งหลังการลื่นไถล โดยคุณอาจต้องหักพวงมาลัยเบาๆ 2-3 ครั้งเพื่อให้รถวิ่งบนเส้นทางที่ถูกต้องในระหว่างที่รถกลับมายึดเกาะถนนได้อีกครั้ง
    • อย่าหักพวงมาลัยแรงเกินไปเพราะจะทำให้รถเลี้ยวกลับมากเกินไป และการกระชากพวงมาลัยกลับไปกลับมาอาจทำให้รถหมุนคว้างออกนอกการควบคุม คุณจึงควรจับพวงมาลัยให้มั่นคงและบังคับเลี้ยวเพียงคราวละน้อยๆ เพื่อกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง
  5. ขณะที่รถเกิดอาการเหินน้ำ อย่ากระทืบเท้าแรงๆ ลงบนแป้นเบรกโดยเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้รถของคุณกลายเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ถ้าคุณสามารถรอจนกว่าการลื่นไถลจะหยุดลงแล้วจึงเบรกได้ นั่นล่ะถึงเรียกว่าสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าจำเป็นต้องเหยียบเบรกในขณะที่เกิดการลื่นไถลจริงๆ ล่ะก็ ให้เหยียบลงไปบนแป้นเบรกเบาๆ จนกว่ารถจะยึดเกาะถนนได้ดังเดิมอีกครั้ง
    • หากมีระบบเบรกป้องกันล้อล็อค คุณจะสามารถเบรกได้ตามปกติ เพราะระบบเบรกอัตโนมัติของรถจะทำหน้าที่ควบคุมแรงเบรกให้แก่คุณ
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ดูแลรักษาล้อให้อยู่ในสภาพดีเยี่ยม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ล้อที่หัวโกร๋นหรือมีดอกยางไม่พอจะยึดเกาะถนนได้ไม่ดีนักโดยเฉพาะในยามถนนลื่น [4] การใช้ล้อที่มีดอกยางเหลือน้อยจึงทำให้รถมีโอกาสเหินน้ำมากขึ้น (รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับยางล้อ เช่น การลื่นไถลบนพื้นน้ำแข็งและยางแบน) และไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่มุมใดบนโลก คุณย่อมต้องพบเจอกับสภาพถนนเปียกเป็นระยะๆ อย่างไม่ต้องสงสัย คุณจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการดูแลยางให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ
    • ยางที่สึกหรอจะมีโอกาสเหินน้ำมากขึ้นเพราะความลึกของดอกยางอยู่ในระดับต่ำ ยางที่ดอกยางสึกหรอกว่าครึ่งหนึ่งจะเหินน้ำช้ากว่ายางเส้นใหม่ประมาณ 4.8-6.4 กม./ชม. [5]
    • ยางเส้นใหม่จะมีความลึกร่องดอกยางอยู่ที่ประมาณ 10/32" และดอกยางจะค่อยๆ สึกหรอเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อดอกยางมีความลึกเหลือแค่ 2/32" จะถือว่ายางเส้นนั้นไม่ปลอดภัยสำหรับใช้ขับขี่ต่อไป
    • คุณสามารถประเมินได้ว่ายางของคุณมีดอกยางเพียงพอหรือไม่ โดยการตรวจสอบแนวบ่งชี้ความสึกหรอบนล้อ มาตรฐานความปลอดภัยด้านยานยนต์ของสหรัฐ (Federal Motor Vehicle Safety Standards) กำหนดให้ผู้ผลิตยางรถทำแนวบ่งชี้ความสึกหรอเพื่อบ่งชี้ว่าล้อมีดอกยางเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด เมื่อไรก็ตามที่ดอกยางอยู่ในระดับเดียวกับแนวบ่งชี้ความสึกหรอนี้ แสดงว่าได้เวลาเปลี่ยนยางใหม่แล้ว
    • ลองใช้เทคนิคเหรียญเพนนีเพื่อดูว่าล้อของคุณมีดอกยางเพียงพอรึเปล่า [6] ถ้าคุณหาแนวบ่งชี้ความสึกหรอไม่เจอจริงๆ ลองเสียบเหรียญเพนนีเข้าไปในดอกยางโดยให้ศีรษะของประธานาธิบดีลินคอร์นคว่ำลง ถ้าคุณมองเห็นด้านบนสุดของศีรษะ แสดงว่าถึงเวลาเปลี่ยนยางเส้นใหม่แล้ว แต่ถ้ามีเพียงบางส่วนของศีรษะที่จมลงไปในดอกยาง แสดงว่าคุณยังพอมีเวลาสำหรับรอเปลี่ยนยาง
  2. การสับเปลี่ยนยางเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการดูแลรักษาดอกยางล้อ เพราะประเภทรถยนต์ รวมถึงรูปแบบการขับขี่ของคุณอาจทำให้ยางเส้นหนึ่งๆ สึกหรอเร็วกว่าเส้นอื่นๆ การหมั่นสับเปลี่ยนยางไปใช้กับล้ออื่นเป็นระยะๆ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ยางด้านใดด้านหนึ่งสึกหรอมากเกินไปได้ คุณอาจจะนำรถไปให้ช่างซ่อมหรือศูนย์รับซ่อมล้อตรวจสอบว่าคุณจำเป็นต้องสับเปลี่ยนยางล้อหรือไม่
    • โดยปกติเราควรจะสับเปลี่ยนยางล้อทุกๆ 4,800 กิโลเมตรโดยประมาณ แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่ายางรถของคุณเคยได้รับการสับเปลี่ยนมาแล้วรึเปล่า การสับเปลี่ยนเผื่อไว้ก่อนก็ไม่ถือว่าเป็นอันตรายแต่อย่างใด
    • รถที่ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้าจำเป็นต้องสับเปลี่ยนยางบ่อยกว่าปกติ เพราะการขับเคลื่อนรูปแบบนี้จะทำให้ระดับการสึกหรอของล้อหน้าต่างจากล้อหลัง [7]
  3. ยางที่เติมลมน้อยเกินไปอาจทำให้รถของคุณมีโอกาสเหินน้ำมากขึ้น เพราะล้อสามารถรักษาการยึดเกาะถนนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ยากขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้ล้อเบี่ยงเข้าด้านใน ซึ่งจะทำให้ศูนย์ล้อสูงขึ้นและกักน้ำได้ง่ายขึ้น [5] นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปอาจทำให้แรงดันลมยางเพิ่มขึ้นและตกลงได้ การหมั่นตรวจสอบยางรถเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรตรวจสอบแรงดันลมยางทุกๆ 2-3 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่าเติมลมยางได้อย่างเหมาะสม
    • รถแต่ละคันอาจแตกต่างกันไปเล็กน้อย เพราะฉะนั้นให้ลองศึกษาคู่มือเจ้าของรถเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการเติมลมยางรถของคุณ
    • หากจำเป็น ให้เติมลมยางตามคำแนะนำของผู้ผลิต
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • วิธีการที่ดีกว่ามากคือการป้องกันเสียตั้งแต่ต้นไม่ให้รถของคุณตกอยู่ในสถานการณ์เหินน้ำ โดยการตรวจเช็คให้แน่ใจว่ายางรถอยู่ในสภาพดีและไม่ลืมขับขี่ช้าๆ เมื่อถนนเปียก โดยมีหลักการง่ายๆ คือ ควรลดความเร็วลงอย่างน้อย 1 ใน 3 ในวันที่ฝนตกหนัก
  • ล้อของเครื่องบินสามารถเกิดอาการเหินได้เช่นเดียวกัน แต่วิธีการแก้ไขในสถานการณ์นั้นจะต่างไปจากขั้นตอนที่อธิบายไว้ในบทความนี้ เพราะเราคิดว่ายานพาหนะที่คุณขับขี่น่าจะอยู่บนพื้นดิน
  • ร่องยางควรช่วยไล่น้ำออกจากยางได้ แต่บางครั้งน้ำที่ก่อตัวขึ้นอาจสูงมากจนยางไม่สามารถกระจายน้ำออกได้ [5] อย่างไรก็ตาม การปล่อยคันเร่งจะทำให้รถเคลื่อนที่ช้าลงพอที่จะทำให้ยางยึดเกาะถนนได้ดังเดิม
โฆษณา

คำเตือน

  • ห้ามเหยียบเบรกแรงๆ ในขณะที่รถกำลังเหินน้ำแม้นี่จะเป็นสัญชาตญาณแรกที่คุณน่าจะทำก็ตาม เพราะการเหยียบเบรกแรงๆ อาจทำให้ล้อล็อค ซึ่งเสี่ยงต่อการลื่นไถลและทำให้คุณสูญเสียการควบคุมรถมากยิ่งขึ้นไปอีก
  • ห้ามใช้ระบบควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติขณะที่ฝนตกหนัก เพราะระบบของรถจะมองว่าน้ำที่ก่อตัวทำให้รถเคลื่อนที่ช้าลงและร้องขอเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
  • ระบบควบคุมการทรงตัวหรือ ESC และระบบเบรกป้องกันล้อล็อคไม่สามารถทดแทนการขับขี่ด้วยความระมัดระวังและดูแลยางล้อให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอได้ เพราะระบบ ESC จะใช้เทคนิคการเบรกล้อขั้นสูง แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการยึดเกาะถนนที่ดีอยู่ อย่างดีที่สุด ระบบนี้จะช่วยให้รถกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อความเร็วลดลงมากพอที่ล้อจะยึดเกาะถนนดังเดิมได้ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการเหินน้ำได้อยู่ดี [5]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,912 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา