ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ปะเก็นฝาสูบจะอยู่ระหว่างเสื้อสูบและฝาสูบในเครื่องยนต์สูบวี ปะเก็นฝาสูบจะทำหน้าที่เป็นซีลที่ป้องกันไม่ให้ก๊าซจากกระบวนการเผาไหม้รั่วไหลเข้าไปในทางน้ำหล่อเย็นที่ล้อมรอบกระบอกสูบแต่ละตัว ในหลายๆ กรณี ปะเก็นจะทำหน้าที่กันรั่วระหว่างทางน้ำมันเครื่องและทางน้ำหล่อเย็นเพื่อให้ของเหลวทั้งสองไม่ผสมกัน

ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบสำหรับช่างยนต์อิสระอาจมีราคาสูงเนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ฉะนั้น การทราบเหตุผลว่าทำไมคุณถึงจำเป็นต้องเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้ช่างผู้ชำนาญการที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐาน ASE ในตำแหน่ง Master Auto Technician ทำการตรวจสอบรถยนต์ของคุณเพื่อตัดสินให้แน่ชัดว่ารถยนต์ของคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบหรือไม่ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คุณเรียนรู้วิธีการติดตั้งปะเก็นฝาสูบเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ที่ควรทำหน้าที่นี้ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากเท่านั้น

  1. หาคู่มือซ่อมบำรุงสำหรับยี่ห้อและรุ่นของรถยนต์ที่คุณใช้งาน. เนื้อหาของคู่มือฉบับนี้จะประกอบด้วยการปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนพร้อมรูปภาพที่อธิบายวิธีการเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบของคุณ คู่มือฉบับนี้ยังชี้แจงเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่คุณอาจจำเป็นต้องใช้งานอีกด้วย
  2. ถ่ายน้ำมันเครื่องและน้ำหล่อเย็นทั้งหมดออกจากเครื่องยนต์. ถอดชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อกับฝาสูบออก อ้างอิงจากคู่มือซ่อมรถเพื่อดูว่ามีชิ้นส่วนใดบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ขั้นตอนนี้จะเป็นการถอดท่อร่วมไอเสีย ท่อร่วมไอดี ฝาครอบวาล์ว และสายพานขับ ในเครื่องยนต์หลายๆ ชนิด คุณจะต้องถอดสายพานเพลาลูกเบี้ยวหรือโซ่เพลาลูกเบี้ยวออกด้วย ฉะนั้น อย่าลืมศึกษาขั้นตอนการวางแนวสายพาน/โซ่เพลาลูกเบี้ยว และทำให้แน่ใจว่าคุณมองเห็นเครื่องหมายที่แสดงการจัดตำแหน่งอย่างชัดเจนแล้วก่อนทำการถอดแยกชิ้นส่วนของเพลาลูกเบี้ยว
    • จำแนกชิ้นส่วนแต่ละตัวออกเป็นพวกๆ ในขณะที่ถอดออกมา โดยการถ่ายภาพเอาไว้หรือจดชื่อชิ้นส่วนแต่ละตัวลงในกระดาษเพื่อช่วยให้คุณจำได้ว่ามีชิ้นส่วนใดอยู่ตำแหน่งใดบ้างเมื่อคุณทำเสร็จ
    • ฝาสูบจะถูกยึดให้เข้าที่ด้วยสลักเกลียวหลายตัว และเครื่องยนต์บางชนิดจะกำหนดลำดับในการถอดสลักเกลียวด้วย สลักเกลียวของฝาสูบบางชนิดจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ต่อได้และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ให้ปฏิบัติตามคู่มือและข้อกำหนดของผู้ผลิต
    • เมื่อถอดสลักเกลียวของฝาสูบออกหมดแล้ว ให้ยกฝาสูบออกจากเสื้อสูบ จากนั้นให้สังเกตข้อบกพร่องในบริเวณพื้นผิวของฝาสูบ เสื้อสูบ และปะเก็น
    • ปะเก็นจะเป็นวัสดุกันรั่วชิ้นบางๆ ที่สามารถมองเห็นได้เมื่อคุณถอดฝาสูบออก ปะเก็นอาจทำจากโลหะ วัสดุที่เปลี่ยนแปลงรูปได้ หรือทำจากวัสดุทั้งสองอย่างผสมกัน ข้อบกพร่องของชิ้นส่วนนี้อาจเกิดขึ้นจากการแตกร้าวของปะเก็น
  3. ตรวจสอบเสื้อสูบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการบิดเบี้ยวเกิดขึ้นและส่งฝาสูบไปยังโรงงานรถยนต์เพื่อทำการทดสอบแรงดัน. หากผลการทดสอบแรงดันพบว่าไม่มีรอยร้าว ก็ให้โรงงานทำการเคลือบผิวหน้าของฝาสูบให้ใหม่ ห้ามนำฝาสูบที่ไม่ได้รับการเคลือบผิวหน้าใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญและยังไม่ผ่านการตรวจสอบรอยร้าวมาติดตั้งใหม่อีกครั้งโดยเด็ดขาด
    • ตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับสลักเกลียวฝาสูบจากคู่มือซ่อมเพื่อดูว่าคุณจะต้องทำการเปลี่ยนสลักเกลียวด้วยหรือไม่เมื่อมีการเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบ สลักเกลียวบางชนิดจะต้องทำการขันแน่นตามลำดับที่กำหนดหรือที่เรียกกันว่าชนิด Torque to yield ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นตัวใหม่ทุกครั้ง
    • สำหรับมอเตอร์แบบลูกเบี้ยวเหนือสูบนั้น ต้องทำการถอดลูกเบี้ยวออกก่อนเพื่อซ่อมบำรุงฝาสูบ ปรึกษากับโรงงานที่ซ่อมบำรุงฝาสูบให้แก่คุณเพื่อดูว่าต้องถอดชิ้นส่วนใดบ้างก่อนนำไปซ่อม
  4. อย่าขูดหรือกำจัดโลหะใดๆ ออกจากทั้งสองชิ้นส่วน เนื่องจากการทำเช่นนี้อาจทำให้ปะเก็นฝาสูบไม่สามารถกันรั่วได้ ควรป้องกันสิ่งสกปรกหรือเศษตะกอนไม่ให้เข้าไปในกระบอกสูบหรือบนลูกสูบระหว่างทำความสะอาด ตรวจสอบความเสียหายบริเวณผิวด้านบนของลูกสูบและผนังกระบอกสูบที่เกิดจากการมีความร้อนสูงเกินไปหรือปัญหาจากปะเก็นฝาสูบ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผิวทั้งหมดนั้นสะอาดและแห้ง
  5. ทำความสะอาดช่องใส่สลักเกลียวที่ยึดฝาสูบเข้ากับเสื้อสูบ.
  6. ใช้สารกันรั่วสำหรับปะเก็นทุกครั้งที่ผู้ผลิตกำหนดให้ใช้งาน และใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำแหน่งที่กำหนดเท่านั้น การใช้สารกันรั่วคลาดเคลื่อนจากที่ผู้ผลิตแนะนำอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนภายในของเครื่องยนต์ ปะเก็นฝาสูบส่วนใหญ่จะทำเครื่องหมาย "top" (ด้านบน) และ "up" (หงายขึ้น) เอาไว้เพื่อให้ติดตั้งได้อย่างเหมาะสม
  7. วางฝาสูบลงบนเสื้อสูบโดยให้ปะเก็นฝาสูบอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง.
  8. ใช้ประแจวัดแรงบิดขันฝาสูบบนเสื้อสูบให้แน่น. ตรวจสอบลำดับการขันสลักเกลียวฝาสูบและจำนวนค่าแรงขันที่ต้องใช้ในแต่ละขั้นจากคู่มือซ่อมบำรุง สลักเกลียวฝาสูบบางชนิดต้องขันทั้งหมด 3 ขั้น และหมุนด้วยองศาที่กำหนดในขั้นตอนสุดท้าย
    • สำหรับฝาสูบแบบลูกเบี้ยวเหนือสูบนั้น อาจต้องทำการจัดตำแหน่งลูกเบี้ยวให้ถูกต้องก่อนติดตั้งฝาสูบ หรือติดตั้งหลังจากทำการติดตั้งฝาสูบ เพื่อป้องกันไม่ให้วาล์วสัมผัสกับลูกสูบและก่อให้เกิดการบิดงอ
  9. เปลี่ยนชิ้นส่วนเครื่องยนต์อื่นๆ ที่คุณถอดออกกลับเข้าที่.
  10. ตั้งสายพานหรือโซ่เพลาลูกเบี้ยวกลับเข้าที่ให้ถูกต้องตามเครื่องหมายแสดงตำแหน่งการจัดวาง โดยการหมุนเพลาลูกเบี้ยวและเพลาข้อเหวี่ยงอย่างระมัดระวัง. ตรวจสอบว่าเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์แบบที่ต้องระวังวาล์วชนสูบ (Interference) หรือไม่ ถ้าเป็นเครื่องยนต์ชนิดนี้ จะมีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ในการหมุนและตั้งจังหวะการเปิดปิดวาล์วบนเพลาลูกเบี้ยวและเพลาข้อเหวี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้วาล์วเกิดความเสียหายหรือบิดงอ! หากติดตั้งเครื่องยนต์ชนิดนี้ ให้ติดตั้งจานจ่ายเพื่อตั้งจังหวะให้ตรงกับกระบอกสูบตัวแรก หากใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้ ให้ปรับระยะตั้งวาล์วตามค่าที่กำหนด
  11. เติมน้ำมันเครื่องใหม่ลงในเครื่องยนต์ เปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่อง และเติมน้ำหล่อเย็นใหม่ที่กำหนดจากโรงงานลงในระบบหล่อเย็น. เมื่อคุณสตาร์ทเครื่องยนต์ ควรปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานที่รอบเดินเบาโดยเปิดตัวทำความร้อนให้สุดไปพร้อมๆ กัน ที่เราทำเช่นนี้ ก็เพื่อให้ระบบหล่อเย็นมีโอกาสได้ไล่ฟองอากาศออก เครื่องยนต์บางชนิดจะมีขั้นตอนการไล่อากาศในระบบหล่อเย็นที่ต่างกัน ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจก่อน
    • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์ไม่มีความร้อนสูงเกินไประหว่างที่ไล่ลมออก มิเช่นนั้น อาจเกิดความเสียหายต่อปะเก็นฝาสูบหรือฝาสูบอีกครั้ง เมื่อไล่อากาศทั้งหมดออกจากระบบหล่อเย็นแล้วและเมื่อเครื่องยนต์มีอุณหภูมิคงที่และอยู่ในช่วงอุณหภูมิปกติ ให้ทำการตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำมันเครื่องหรือน้ำหล่อเย็น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ความผิดปกติของปะเก็นฝาสูบมักมีสาเหตุมาจากการที่เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเกินไป หมั่นสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนปะเก็นฝาสูบ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยการสูญเสียอัตราการอัดในเครื่องยนต์ การผสมกันของน้ำมันเครื่องและน้ำหล่อเย็น การลดลงของน้ำหล่อเย็น และการลดลงของน้ำมันเครื่อง ซึ่งสองสาเหตุสุดท้ายอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อเครื่องยนต์หากยังคงปล่อยให้ปัญหาเกิดต่อไป อีกทั้งยังอาจทำให้เครื่องยนต์บกพร่องทั้งระบบอีกด้วย การลดลงของน้ำหล่อเย็นจะยิ่งทำให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเกินไปและอาจทำให้ฝาสูบและชิ้นส่วนขึ้นรูปอื่นๆ เกิดการบิดงอได้ การมีน้ำมันเครื่องต่ำหมายถึงการสูญเสียการหล่อลื่นสำหรับชิ้นส่วนกลไกภายในของเครื่องยนต์ ซึ่งจะเพิ่มการเสียดสีและเพิ่มการสึกหรอบนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ หากน้ำหล่อเย็นรั่วลงไปในน้ำมันเครื่อง อาจเป็นเหตุให้รองลื่นบนเพลาข้อเหวี่ยงและลูกสูบทำงานบกพร่อง
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • คู่มือซ่อมบำรุง
  • ชุดเครื่องมือช่างสำหรับยานยนต์ที่ประกอบด้วยชุดลูกบ็อกซ์ขนาด 3/8 นิ้ว
  • กล้องถ่ายรูปหรือกระดาษและดินสอ
  • ชุดปะเก็นฝาสูบ
  • สารกันรั่วสำหรับปะเก็นฝาสูบ
  • สลักเกลียวสำหรับยึดฝาสูบ (ตามความจำเป็น)
  • ประแจวัดแรงบิด
  • เครื่องมือพิเศษสำหรับลูกเบี้ยว
  • อุปกรณ์ทดสอบแรงดันในน้ำหล่อเย็น

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 35,793 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา