ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บทวิจารณ์ของบทความเป็นการวิเคราะห์เชิงภาวะวิสัยต่อบทความทางวรรณกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นย้ำตรงที่ผู้เขียนได้สนับสนุนแนวคิดหลักของบทความด้วยข้อสนับสนุนที่มีเหตุผลและเหมาะสมจากข้อเท็จจริงหรือไม่ มันเป็นเรื่องง่ายที่จะแค่สรุปประเด็นของบทความโดยปราศจากการวิเคราะห์หรือท้าทายความคิดอย่างแท้จริง บทวิจารณ์ที่ดีจะแสดงความคิดเห็นของคุณต่อบทความ โดยที่ยังให้หลักฐานมากมายสนับสนุนความคิดเห็นนั้น ในฐานะผู้วิจารณ์นั้นให้ใช้เวลาอ่านและไตร่ตรองบทความนั้นอย่างถี่ถ้วน จัดเตรียมข้อโต้แย้งและหลักฐานยืนยัน จากนั้นก็เขียนให้กระจ่างตรงจุด

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

อ่านมองหาประเด็น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อ่านบทความจนจบรอบหนึ่งก่อนเพื่อหาแนวคิดหลัก. ตอนที่อ่านบทความครั้งแรก คุณควรแค่พยายามทำความเข้าใจแนวคิดโดยรวมที่ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอ บันทึกสมมติฐานของผู้แต่งไว้
    • ใส่ใจในย่อหน้าที่เป็นการเกริ่นเริ่มต้นกับที่เป็นบทสรุป ที่ซึ่งผู้เขียนมักใส่ประเด็นหลักลงไป
  2. ทำเครื่องหมายเน้นถ้อยคำเมื่อคุณอ่านทวนอีกครั้ง. บางทีการใช้ปากกาแดงขีดส่วนที่ต้องการเน้นให้เด่นชัดขึ้นก็ช่วยได้มาก ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองระหว่างที่กำลังอ่านบทความซ้ำเป็นครั้งที่สองว่า: [1]
    • แนวคิดหลักหรือข้อถกเถียงหลักของผู้แต่งคืออะไร
    • จุดประสงค์ของผู้แต่งในการโต้แย้งสมมติฐานที่ว่าคืออะไร
    • ใครคือผู้อ่านเป้าหมาย แล้วบทความนี้ได้เข้าถึงผู้อ่านกลุ่มที่ตั้งใจไว้สำเร็จหรือเปล่า
    • ผู้แต่งมีหลักฐานสนับสนุนมากพอและเชื่อถือได้หรือไม่
    • มีจุดที่ถูกละเลยในข้อถกเถียงของผู้แต่งหรือไม่
    • ผู้แต่งได้บิดเบือนหลักฐานหรือเพิ่มอคติเข้าไปในหลักฐานหรือไม่
    • ผู้แต่งได้เข้าถึงข้อสรุปหรือเปล่า
  3. สร้างสัญลักษณ์ที่แตกต่างสำหรับการแยกแยะข้อความแต่ละส่วนที่คุณคิดว่ามันอาจจะชวนสับสน มีความสำคัญ หรือไม่ต่อเนื่อง
    • เช่น คุณอาจขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญ วงกลมข้อความที่ชวนสับสน และเขียนรูปดาวให้ท่อนที่ดูไม่ต่อเนื่อง
    • การเน้นด้วยสัญลักษณ์จะทำให้คุณเน้นส่วนสำคัญของตัวบทความได้หมดโดยเร็ว ถึงแม้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยในการทำความคุ้นเคยกับสัญลักษณ์เหล่านี้ แต่สมองมันจะใช้เวลาไม่นานในการจดจำและปรับตามทำให้คุณอ่านบทความได้เร็วกว่าการไม่ใช้สัญลักษณ์คอยกำกับอย่างมาก
  4. เขียนข้อสังเกตที่ยาวขึ้นในระหว่างการอ่านต่อเนื่อง. เพิ่มเติมจากสัญลักษณ์ใต้ข้อความแล้ว การเขียนข้อสังเกตเมื่อเกิดความคิดที่กว้างขึ้นมาในระหว่างที่อ่านก็มีประโยชน์เช่นกัน เช่น หากคุณตระหนักว่าคำอ้างของผู้แต่งนั้นสามารถถูกหักล้างได้จากการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ที่คุณเพิ่งอ่านพบมา ให้เขียนข้อสังเกตนี้ไว้ในขอบกระดาษ หรือบนกระดาษอีกแผ่น หรือในคอมพิวเตอร์เพื่อที่คุณจะย้อนกลับมาหาความคิดนี้ได้ [2]
    • อย่าโง่คิดเอาเองว่าคุณจะจดจำความคิดเหล่านี้ได้หมดในเวลาที่คุณจะเริ่มเขียนบทวิจารณ์เลย
    • ใช้เวลาที่จำเป็นเขียนข้อสังเกตของคุณไปในระหว่างที่อ่าน คุณจะยินดีที่ได้ทำมันลงไปเมื่อถึงเวลาที่ต้องรวบรวมข้อสังเกตเหล่านี้มาเขียนเป็นบทวิเคราะห์ที่สมบูรณ์
  5. เริ่มผุดความคิดเห็นกว้างๆต่อบทความดังว่า ประเมินข้อถกเถียงโดยรวมของผู้แต่งหลังจากที่คุณได้อ่านบทความนั้นสองถึงสามรอบ บันทึกปฏิกิริยาแรกที่คุณมีต่อส่วนเนื้อหา [3]
    • แจกแจงแหล่งอ้างอิงที่เป็นไปได้ของหลักฐานที่จะนำมาใช้ในบทวิจารณ์ รื้อฟื้นความทรงจำดูว่าเคยผ่านตาวรรณกรรมหรือสารคดีที่อาจมีประโยชน์สำหรับการประเมินบทความชิ้นนี้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

รวบรวมหลักฐาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตั้งคำถามว่าสารโดยรวมที่ผู้แต่งพยายามจะสื่อนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่. ทดสอบสมมติฐานของเขาและเปรียบเทียบมันกับตัวอย่างอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน [4]
    • ถึงแม้ว่าผู้แต่งจะได้ทำการวิจัยและอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญที่ควรแก่การเคารพ ก็ยังต้องวิเคราะห์สารนั้นอยู่ดีว่ามันใช้ได้จริงหรือยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริงหรือไม่
    • ตรวจสอบคำนำและบทสรุปของผู้แต่งเพื่อให้แน่ใจว่ามันมีความน่าเชื่อถือและมีองค์ประกอบครบถ้วนหรือไม่
  2. ค้นดูในบทความว่ามีตรงไหนที่ลำเอียง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม. หากผู้แต่งได้รับอะไรที่ได้ผลกลับมาจากข้อสรุปที่แสดงไว้ในบทความ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะแฝงความลำเอียงอยู่ในนั้น [5]
    • ความลำเอียงนั้นก็อย่างเช่น การละเลยหลักฐานด้านตรงข้าม ใช้หลักฐานที่ไม่เหมาะสมเพื่อสร้างบทสรุปที่แตกต่างจากความเป็นจริง หรือการนำเสนอความคิดเห็นของตนเองโดยไม่มีอะไรมารองรับแทรกในเนื้อหา ความคิดเห็นที่มีหลักฐานสนับสนุนนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าขาดหลักฐานทางวิชาการมาสนับสนุนก็สมควรที่จะต้องถูกจับผิดให้ได้
    • ความลำเอียงอาจมาในรูปแบบของอคติ สังเกตดูว่ามีอคติต่อด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ชนชั้น หรือแนวคิดทางการเมืองหรือไม่
  3. พิจารณาการตีความของผู้แต่งต่อข้อความจากแหล่งอื่น. หากผู้แต่งอ้างอิงถึงงานเขียนของผู้อื่น ให้อ่านบทความดั้งเดิมชิ้นนั้นด้วยแล้วพิจารณาดูว่าคุณเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ที่ปรากฏในบทความหรือไม่ การจะเห็นด้วยทุกประการนั้นคงไม่จำเป็นและก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่แค่ให้ดูว่าการตีความของผู้แต่งนั้นพอจะสมเหตุสมผลหรือไม่ [6]
    • สังเกตความไม่สอดคล้องกันระหว่างการตีความของคุณกับการตีความของผู้แต่งในเนื้อหาเดียวกัน ความขัดแย้งเช่นนี้อาจมีประโยชน์เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องเขียนบทวิจารณ์
    • ดูว่านักวิชาการคนอื่นว่าอย่างไร หากนักวิชาการหลายท่านที่มีปูมหลังแตกต่างกันต่างมีความคิดเห็นกับข้อความไปในทิศทางเดียวกัน ความคิดเห็นนั้นก็ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าข้อถกเถียงที่มีข้อสนับสนุนเพียงเล็กน้อย
  4. สังเกตดูว่าผู้แต่งได้ยกหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือขึ้นมาหรือไม่. ผู้แต่งได้อ้างอิงข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องจากเมื่อห้าสิบปีที่แล้วซึ่งไม่มีน้ำหนักยืนยันในหลักการอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า ถ้าผู้แต่งอ้างอิงแหล่งที่มาอันไม่น่าเชื่อถือ มันจะทำลายความน่าเชื่อถืออย่างมากของบทความนั้นๆ [7]
  5. เนื้อหาของบทความเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับบทวิจารณ์ของคุณ แต่อย่ามองข้ามรูปแบบและลูกเล่นทางการเขียนที่ผู้แต่งอาจนำมาใช้ ใส่ใจต่อการพิจารณาเลือกใช้คำและน้ำเสียงที่ใช้ของผู้แต่งตลอดทั้งบทความ ตรงนี้จะยิ่งมีประโยชน์สำหรับบทความที่ไม่ใช่เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น บทความเชิงวรรณกรรม [8]
    • ใส่ใจตรงส่วนที่โทนของผู้เขียนเปิดเผยให้เห็นว่าเขาคิดว่ามีอะไรบางอย่างที่สำคัญลึกซึ้ง
    • แง่มุมเหล่านี้ของบทความสามารถเผยให้เห็นถึงประเด็นที่ฝังอยู่ลึกขึ้นในการถกเถียงที่ใหญ่โตกว่าเดิมได้ เช่น บทความที่ถูกเขียนขึ้นด้วยน้ำเสียงเผ็ดร้อนและกระตือรือล้นจนเกินไปนั้นอาจจะมองข้ามหรือปฏิเสธหลักฐานด้านตรงข้ามในการวิเคราะห์ก็เป็นได้
    • มองหานิยามความหมายของคำที่ไม่คุ้นเคยเสมอ นิยามของคำๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยนความหมายของประโยคได้ชนิดหน้ามือไปหลังมือ โดยเฉพาะหากคำดังกล่าวมีนิยามได้หลายความหมาย ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้แต่งถึงเลือกใช้คำๆ นั้นโดยเฉพาะแทนที่จะใช้คำอื่น มันอาจเผยถึงอะไรบางอย่างในข้อถกเถียงนั้นก็ได้
  6. ตั้งคำถามกับวิธีการทำวิจัยในบทความเชิงวิทยาศาสตร์. หากจะวิจารณ์บทความที่ใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ให้แน่ใจว่าได้ประเมินวิธีการทำวิจัยเบื้องหลังการทดลองนั้นๆ ตั้งคำถามถามตัวเองอย่างเช่น: [9]
    • ผู้แต่งได้บอกรายละเอียดของวิธีการครบถ้วนหรือไม่
    • การศึกษานี้ถูกออกแบบมาโดยปราศจากข้อผิดพลาดร้ายแรงหรือเปล่า
    • ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง
    • มีการสร้างกลุ่มที่มีการควบคุมตัวแปรเพื่อนำมาเปรียบเทียบหรือไม่
    • การคำนวณเชิงสถิติทั้งหมดมีความถูกต้องหรือเปล่า
    • หน่วยงานอื่นๆ สามารถจำลองการทดลองที่ว่านี้ได้หรือไม่
    • การทดลองนี้มีความสำคัญในแวดวงการศึกษานั้นๆ หรือไม่
  7. ใช้ความรู้ของคุณที่มีอยู่ ความคิดเห็นของผู้รู้ และงานวิจัยที่คุณสามารถรวบรวมมาทั้งที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับบทความของผู้แต่ง เตรียมข้อถกเถียงเชิงประสบการณ์เพื่อสนับสนุนจุดยืนของคุณ
    • การมีหลักฐานดีๆ มากเกินไปนั้นไม่เป็นอะไรหรอก เพียงแต่การหาแหล่งอ้างอิงมากจนเกินไปนั้นบางทีอาจกลายเป็นปัญหาได้ถ้าข้อถกเถียงของคุณเริ่มซ้ำซาก ให้แน่ใจว่าแต่ละการอ้างอิงของคุณนั้นได้ให้ข้อมูลที่โดดเด่นต่อบทวิจารณ์ของคุณ
    • นอกเหนือจากนั้น อย่าใช้แหล่งอ้างอิงเยอะเสียจนกลบความคิดเห็นกับข้อโต้แย้งของคุณเองเสียหมด
  8. พึงตระหนักว่านักวิจารณ์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือเห็นต่างไปเสียทั้งหมด. จริงๆ แล้วบทวิจารณ์วรรณกรรมที่น่าสนใจที่สุดมักจะไม่ใช่อยู่ที่การไม่เห็นพ้องกับผู้แต่ง แต่มันจะใช้หลักฐานเพิ่มเติมมาสนับสนุนหรืออธิบายความคิดของผู้แต่งต่างหาก [10]
    • ดังนั้น ถ้าคุณเห็นด้วยกับผู้แต่ง ก็ให้แน่ใจว่าได้หาหลักฐานมาสนับสนุนหรืออธิบายความคิดของผู้แต่งเพื่อยืนยันในความเห็นของคุณ
    • คุณสามารถหาหลักฐานโต้แย้งความเห็นโดยที่ยังคงสนับสนุนมุมมองใดมุมมองหนึ่งว่าเป็นมุมมองที่ถูกต้องได้
    • อย่า “เห็นใจ” ผู้แต่งเพราะเข้าใจความรู้สึกของเขา แต่ก็ไม่ควรแสดงทัศนะเชิงลบมากจนเกินไปเพียงเพราะต้องการพิสูจน์ความจริงใจในการวิจารณ์ของตนเอง ควรแสดงจุดที่เห็นด้วยและที่เห็นต่างแบบพอเหมาะ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

สร้างรูปแบบบทวิจารณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คำนำควรจะยาวไม่เกินสองย่อหน้าและควรจะบอกกรอบพื้นฐานสำหรับงานวิจารณ์ของคุณ เริ่มด้วยการชี้ว่าบทความที่หยิบขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในระดับไหนและเพราะอะไร [11]
    • ให้แน่ใจว่าได้ใส่ชื่อผู้แต่ง ชื่อบทความ วารสารหรือสำนักพิมพ์ที่บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ วันที่ลงตีพิมพ์ และคำชี้แจงเรื่องจุดที่เน้นและ/หรือใจความหลักของบทความในย่อหน้าแนะนำ
    • คำนำไม่ใช่ส่วนที่จะแสดงหลักฐานสำหรับความคิดเห็นของคุณ หลักฐานจะปรากฏในย่อหน้าส่วนที่เป็นเนื้อหาของบทวิจารณ์
    • คำนำควรจะไม่อ้อมค้อมและบอกวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนไปเลยตั้งแต่ต้น การมัวแต่พล่ามหรือไม่ชี้ข้อโต้แย้งสักทีมีแต่จะไปลดความน่าเชื่อถือของคุณลง
  2. แสดงหลักฐานที่เกื้อหนุนข้อโต้แย้งของคุณไว้ในส่วนเนื้อหาของบทวิจารณ์. ย่อหน้าในส่วนเนื้อหาแต่ละย่อหน้าควรให้รายละเอียดความคิดใหม่หรืออธิบายเพิ่มเติมข้อโต้แย้งของคุณในทิศทางใหม่ [12]
    • เริ่มต้นแต่ละย่อหน้าในส่วนเนื้อหาด้วยประโยคที่สรุปเนื้อหาในย่อหน้าใหม่นี้ แต่กระนั้นก็อย่าไปรู้สึกราวกับว่าคุณต้องอัดทั้งย่อหน้าย่อลงมาให้เหลือเพียงประโยคเดียว นี่คือที่ซึ่งจะใช้เชื่อมเนื้อหาไปสู่ความคิดใหม่หรือความคิดที่ต่างออกไป
    • จบแต่ละย่อหน้าในส่วนเนื้อหาด้วยประโยคเชื่อมที่จะบอกใบ้เนื้อหาของย่อหน้าถัดไป โดยไม่ต้องระบุออกไปอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเขียนว่า "ในขณะที่ผู้แต่งอ้างว่ากรณีการมีรูปร่างอ้วนตั้งแต่เด็กนั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นูงอย่างเห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีหลักฐานของอัตราการอ้วนที่ลดน้อยลงในหลายๆ เมือง" ย่อหน้าถัดไปของคุณก็ควรจะให้ตัวอย่างของเมืองเหล่านี้ที่มีความผิดปกติดังที่คุณได้อ้างถึงเอาไว้
  3. เพิ่มความซับซ้อนให้ข้อโต้แย้งของคุณในตอนใกล้จบบทวิจารณ์. ไม่ว่าข้อโต้แย้งของคุณจะหนักแน่นขนาดไหน มันก็ยังคงมีอย่างน้อยหนึ่งหนทางที่คุณจะสามารถหักมุมตอนจบหรือยกข้อโต้แย้งขึ้นไปอีกหนึ่งระดับและแนะนำความเกี่ยวข้องที่เป็นไปได้ ทำเช่นนี้ในย่อหน้าสุดท้ายของส่วนเนื้อหาก่อนที่คุณจะทำการสรุปเพื่อทิ้งให้ผู้อ่านได้อ่านข้อโต้แย้งสุดท้ายอันน่าจดจำ
    • ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้ประโยชน์ของการโต้ข้อโต้แย้งกลับ ที่ซึ่งคุณจะทำการวิจารณ์งานวิจารณ์ของคุณและยืนยันจุดยืนของตนเองอีกครั้ง ใช้คำพูดประเภทที่ว่า “ต้องยอมรับว่า” “เป็นความจริงที่ว่า” หรือ “เราอาจคัดค้านในจุดนี้ได้ว่า” เพื่อบ่งชี้การโต้ข้อโต้แย้งกลับ จากนั้นให้ตอบข้อกังขากลับที่เป็นไปได้เหล่านี้ทั้งหมด แล้วค่อยวนกลับไปที่ข้อโต้แย้งหลักซึ่งจะยิ่งหนักแน่นขึ้นด้วยคำว่า “แต่” “กระนั้น” หรือ“อย่างไรก็ตาม” [13]
  4. นำเสนอข้อโต้แย้งของคุณในน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและในมุมภาววิสัย. หลีกเลี่ยงการเขียนแบบกระตือรือล้นอยากแสดงความเห็นหรือดูลุ่มหลงจนเกินไป เพราะการทำเช่นนี้อาจทำให้ผู้อ่านหลายคนไม่ชอบ ปล่อยให้ความตั้งใจของคุณได้ฉายออกมาในความสามารถที่คุณได้รวบรวมงานวิจัยและได้แสดงความชัดเจนออกมาอย่างได้ผลดีกว่า [14]
    • ในขณะที่การใช้คำประเภท “บทความขยะชิ้นนี้นับเป็นการดูถูกนักประวัติศาสตร์ทุกคน” อาจกระตุ้นความสนใจให้ฮือฮา ทว่า “บทความชิ้นนี้นับว่าต่ำกว่ามาตรฐานงานวิชาการในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์” น่าจะได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้อ่านมากกว่า
  5. สรุปบทวิจารณ์ของคุณโดยการสรุปข้อโต้แย้งและแนะนำข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้. จำเป็นที่คุณจะต้องสรุปประเด็นหลักที่เอ่ยมาตลอดบทความ แต่การบอกผู้อ่านด้วยว่าบทวิจารณ์ของคุณมีความหมายเช่นใดต่อบทความหลักก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน [15]
    • มีข้อเสนอแนะกว้างๆ สำหรับแวดวงการศึกษาที่ได้รับการประเมินหรือไม่ หรือว่าบทวิจารณ์ของคุณแค่ต้องการจะหักล้างงานที่สับสนของนักวิชาการท่านอื่น
    • พยายามให้ดีที่สุดในการทิ้งท้ายให้ผู้อ่านในบทสรุปโดยการใช้ภาษาประเมินความสำคัญของผลงานของคุณ: “การท้าทายข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการผู้โดดเด่นท่านนี้ไม่ใช้เรื่องง่ายหรือชวนสนุกแต่ประการใด แต่มันเป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องยอมรับว่าสมควรทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง”
    โฆษณา

คำเตือน

  • หลีกเลี่ยงการวิจารณ์ที่ยึดอยู่กับสไตล์การเขียนที่จะมีความคิดเห็นแบบ "ฉันชอบมัน" หรือ "มันเป็นงานเขียนที่แย่มาก" ให้เน้นไปที่เนื้อหาของบทความจะดีกว่า
  • หลีกเลี่ยงการสรุปบทความให้ได้ การเขียนบทวิจารณ์สั้นกระชับยังดีกว่าการพยายามจะเติมพื้นที่ว่างด้วยการสรุปแบบน่าเบื่อ
โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เขียนบทวิจารณ์ด้วยมุมมองของบุรุษที่สามและใช้กิริยาเป็นปัจจุบัน เว้นแต่สไตล์การเขียนจะต้องการเป็นแนวอื่น ให้ทบทวนข้อแนะนำด้านสไตล์ทุกครั้งก่อนลงมือเขียน
  • เขียนด้วยความมั่นใจและยืนยันในความคิดเห็นของตนเอง
  • ตรวจทานงานเขียนของคุณอย่างน้อยสองรอบทุกครั้งก่อนจะนำส่งอาจารย์ เจ้านาย หรือสำนักพิมพ์
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 76,101 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา