ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เรียงความอัตชีวประวัติจะบอกเรื่องราวที่เราได้เคยประสบมาให้ผู้อ่านได้รับรู้ สำหรับบางคนแล้วการเขียนเรียงความประเภทนี้เป็นอะไรที่ท้าทาย ตัวเราเองก็อาจมีสักวันที่ต้องมานั่งเขียนเรียงความอัตชีวประวัติเพื่อส่งครู สมัครเรียน หรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัว ไม่ว่าจะเขียนเรียงความประเภทนี้ด้วยจุดประสงค์ใด ก็สามารถใช้หลักและกลวิธีในเขียนเรียงความอัตชีวประวัติของบทความนี้ได้ ถ้าอยากรู้หลักและกลวิธีการเขียนเรียงความประเภทนี้ ก็ลองอ่านบทความนี้เพื่อจะได้เขียนเรียงความออกมาได้ง่ายขึ้น

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

วางแผนในการเขียนเรียงความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เลือกเรื่องที่เราอยากบอกเล่าผู้อ่านจริงๆ หรืออยากระบายความรู้สึกออกมา. วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเขียนเรื่องราวออกมาได้ดีคือเลือกเรื่องที่เราสนใจและอยากจะบอกเล่าออกมาจริงๆ อย่าลืมว่าเราจะต้องเขียนเรื่องราวชีวิตของเราตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เขียนเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตเรา ถ้าจะเขียนเรื่องราวชีวิตของตนเองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน เนื้อหาที่เขียนออกมาก็จะยาวมากจนสามารถทำเป็นหนังสือเล่มหนึ่งได้ ฉะนั้นเลือกเรื่องตอนใดตอนหนึ่งของชีวิตที่เราอยากเอ่ยถึงอย่างละเอียดในเรียงความจะดีกว่า [1] นี้คือตัวอย่างหัวข้อเรื่องราวในชีวิตที่สามารถนำมาเขียนเรียงความได้
    • อาจบอกเล่าความสำเร็จของตนเอง เช่น การได้รับรางวัล การได้งานทำ หรือการเรียนจบคณะที่ใฝ่ฝันไว้
    • อุปสรรคในชีวิตอย่างเช่น ปัญหาด้านการเรียน การได้รับบาดเจ็บ หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
    • ประสบการณ์สำคัญในชีวิต เช่น ค้นพบงานอดิเรก พบเพื่อนที่ดีที่สุด เข้าค่ายพักแรม หรือได้รู้จักตนเองมากขึ้น
  2. คิดสิว่าเราต้องการบรรลุจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการเขียนเรียงความอัตชีวประวัติ ทำไมเราถึงอยากบอกเล่าเรื่องราวนี้ จุดมุ่งหมายในการบอกเล่าเรื่องราวนี้คืออะไร [2]
    • ถ้ากำลังเขียนเรียงความอัตชีวประวัติเพื่อสมัครเรียนต่อ อ่านข้อกำหนดให้ดี ถ้าเรียงความนั้นต้องมีเนื้อหาหรือตอบคำถามบางอย่าง ก็ต้องเขียนเรียงความให้สอดคล้องกับข้อกำหนดนั้นด้วย
    • ถ้ากำลังเขียนเรียงความอัตชีวประวัติเพื่อส่งคุณครู ก็ต้องอ่านคำชี้แจงในการเขียนให้ดี ต้องเขียนเรียงความให้สอดคล้องกับคำชี้แจ้งนั้น หากมีข้อสงสัยใดๆ ในการเขียนเรียงความนี้ ถามคุณครู
  3. คิดสิว่าใครจะเป็นผู้อ่านเรียงความอัตชีวประวัติของเรา คำนึงถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้อ่านก่อนที่จะเริ่มเขียน คำนึงถึงสิ่งที่ผู้อ่านต้องการและคาดหวังขณะที่เขียนเรียงความอัตชีวประวัติด้วย [3]
    • ถ้ากำลังเขียนเรียงความเพื่อสมัครเรียน ลองคิดสิว่าผู้อ่านจะสนใจอยากรู้เรื่องอะไรมากที่สุด
    • ถ้ากำลังเขียนเรียงความอัตชีวประวัติส่งคุณครู ลองคิดสิว่าอาจารย์คาดหวังอะไรจากการอ่านเรียงความของเรา
  4. ก่อนที่จะเขียนเรียงความออกมา ควรใช้เวลารวบรวมความคิดและเขียนลงในกระดาษ การรวบรวมความคิดด้วยการใช้วิธีการอันได้แก่ การเขียนรายการความคิด การเขียนไปเรื่อยๆ การจัดกลุ่มความคิด และการตั้งคำถามจะช่วยให้เราได้ความคิดดีๆ มากขึ้น [4]
    • ลองใช้วิธีเขียนรายการความคิด เมื่อคิดอะไรออก ให้ลงรายการไว้ จากนั้นค่อยกลับมาดูรายการความคิดเหล่านี้ และจัดความคิดที่คล้ายกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน อาจเพิ่มรายการความคิดลงไปอีกหรือใช้วิธีอื่นเพื่อให้ได้ความคิดเพิ่มเติมก่อนลงมือเขียน [5]
    • ลองใช้วิธีเขียนไปเรื่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ สัก 10 นาที เขียนทุกอย่างที่เข้ามาในหัวและอย่าเพิ่งปรับแก้ หลังจากนั้นอ่านทบทวนสิ่งที่เขียน ใช้ปากกาเน้นข้อความหรือขีดเส้นใต้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากที่สุดในเรียงความอัตชีวประวัติ เขียนไปเรื่อยๆ อีกครั้งโดยใช้ข้อมูลที่ได้ขีดเส้นใต้ไว้แล้วเป็นจุดเริ่มต้น เราสามารถเขียนไปเรื่อยๆ ได้หลายครั้งเพื่อขัดเกลาและพัฒนาความคิดให้ดีขึ้น [6]
    • ลองใช้วิธีจัดกลุ่มความคิด เขียนคำอธิบายหัวข้อของเรียงความอัตชีวประวัติสั้นๆ ที่กลางกระดาษและวงไว้ จากนั้นลากเส้นออกมาจากวงกลมนั้นสักสามเส้นหรือมากกว่านั้นก็ได้ เขียนความคิดที่สอดคล้องกับหัวข้อที่อยู่ในวงกลมไว้ที่ปลายเส้นแต่ละเส้น ให้จัดความคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ความคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นครบแล้ว [7]
    • ลองใช้วิธีตั้งคำถาม เขียนคำถาม “ใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน ทำไม อย่างไร” ลงในกระดาษ เว้นที่ว่างไว้ข้อละสักสองสามบรรทัด จะได้มีพื้นที่ไว้เขียนคำตอบ ตอบคำถามแต่ละข้อให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ [8]
  5. พอได้ความคิดที่จะนำมาเขียนลงกระดาษแล้ว ให้จัดระเบียบความคิดโดยเขียนออกมาเป็นเค้าโครงก่อนที่จะเขียนเรียงความฉบับร่างออกมา เราจะใช้เค้าโครงมาวางแผนลำดับเนื้อหาของเรียงความทั้งหมด จะได้เพิ่มเติมความคิดได้มากขึ้น และรู้ว่าหลงลืมอะไรไปบ้างหรือเปล่า [9]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เขียนเรียงความฉบับร่าง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เขียนเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบุคคลที่หนึ่ง. เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบุคคลที่หนึ่ง (ผม ฉัน ดิฉัน ข้าพเจ้า) เมื่อกำลังเขียนเรียงความอัตชีวประวัติ เรากำลังแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้ผู้อ่านได้รับรู้ ฉะนั้นจึงต้องเขียนโดยใช้มุมมองของบุคคลที่หนึ่ง [10] [11]
    • อย่าเขียนเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบุคคลที่สอง (“คุณ”) หรือเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่าง “ฉัน”และ “คุณ” เขียนเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของบุคคลที่หนึ่ง (ผม ฉัน ดิฉัน ข้าพเจ้า) ตลอดเนื้อหาของเรียงความ
  2. เริ่มประโยคที่ทำให้ผู้อ่านสนใจและเข้าเรื่องเลย. บทนำควรจะเริ่มบอกเล่าเรื่องราวของเราทันที คิดสิว่าเราจะกล่าวอะไรบ้างเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าบทนำของเราควรประกอบด้วยอะไรบ้าง บทนำควรแสดงใจความหลักของเรียงความอัตชีวประวัติและเป็นการเกริ่นนำเพื่อเข้าเรื่องราวของเรา [12]
    • กล่าวเข้าเรื่องเลย วิธีหนึ่งที่จะเริ่มเรื่องคือเริ่มอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันที ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นตอนกลางเรื่องก็ตาม อาจเริ่มต้นเขียนว่า “ฉันกำลังยืนอยู่หน้าห้องและอ่านเรื่องที่ตนเองเขียนให้เพื่อนทั้งห้องฟัง” [13]
  3. อธิบายทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดและชัดเจน. อธิบายทุกสิ่งในเรียงความอัตชีวประวัติตนเองให้ผู้อ่านรับรู้อย่างละเอียดและชัดเจน ให้ข้อมูลบริบทและภูมิหลังที่ผู้อ่านจำเป็นต้องรู้เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหาเรียงความของเรา [14]
    • บอกอะไรสักอย่างที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนใจ ตัวอย่างเช่น เราอาจเริ่มเรื่องด้วยการกล่าวว่า “ฉันไม่เคยคาดคิดว่าตนเองจะมีความสุขได้อย่างวันนั้น” หรือ “มีหลายสิ่งเกิดขึ้นในชีวิตของฉันมากมาย แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุด” ต้องเปิดเรื่องให้เหมาะสมกับหัวข้อของเรา
    • อย่าเริ่มเรื่องด้วยการใช้ถ้อยคำที่ธรรมดาไปหรือกว้างไป อย่าเปิดเรื่องด้วยการกล่าวว่า “ตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ” การเปิดเรื่องแบบนี้ไม่ช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่าเรียงความของเราเป็นเรื่องอะไร การเปิดที่ “ธรรมดาเกินไป” ก็น่าเบื่อเช่นกัน [15]
    • อย่าเปิดเรื่องด้วยคำกล่าวอ้าง ยกเว้นว่าคำกล่าวอ้างนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีในเรียงความของเรา ถ้าเราต้องการใส่คำกล่าวอ้างสำคัญไว้ในเรียงความอัตชีวประวัติ คำกล่าวอ้างนั้นควรมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรา ควรจะกล่าวว่าถ้อยคำที่หยิบยกมานั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อเรา เมื่อยกคำกล่าวอ้างนั้นขึ้นมา [16]
  4. หลังจากเกริ่นนำเรื่องและทำให้ผู้อ่านสนใจอยากติดตามเรื่องราวแล้ว เราจะโยงเข้าสู่เรื่องราวของเรา จบด้วยประโยคที่จะทำให้ผู้อ่านอยากติดตามอ่านต่อในย่อหน้าถัดไป [17]
    • เราอาจกล่าวว่า “เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ ฉันจึงต้องเริ่มชีวิตในปีนั้นพร้อมกับเตรียมรับความท้าทายที่เข้ามาอยู่เสมอ” หรือ “ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ฉันไม่เคยคิดเลยว่าตนเองสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้” เลือกการเชื่อมโยงความที่เหมาะกับบทนำของเราและสามารถเชื่อมโยงความคิดไปสู่ย่อหน้าต่อไปได้
  5. หลังเกริ่นแนะนำเรื่องราวแล้ว เราจะต้องบอกผู้อ่านว่าเกิดอะไรขึ้น ค่อยๆ บอกไปทีละอย่าง ย่อหน้าที่สองและเนื้อหาที่ตามมานั้นจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ทิ้งท้ายอะไรไว้ในบทนำ เราต้องไม่กล่าวข้ามข้อมูลสำคัญที่ผู้อ่านต้องรู้หรืออยากรู้ไป
  6. บทสรุปควรจะเป็นอะไรที่น่าจดจำและน่าสนใจ เราควรจบเรียงความด้วยการสรุปตอนจบของเรื่องราวและข้อคิดที่ได้จากประสบการณ์นั้น [18]
    • บอกเหตุผลว่าทำไมเรื่องราวนี้ถึงสำคัญต่อเรามากและเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้ [19]
    • กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ในตอนท้ายของเรียงความด้วยการกล่าวว่าสถานการณ์ใดหรือใครสำคัญต่อเรื่องราวที่ได้เกริ่นนำไว้ [20]
    • บอกผู้อ่านว่าผลจากประสบการณ์นี้ซึ่งเราไม่คาดว่าจะได้รับคืออะไร [21]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เพิ่มพลังให้กับงานเขียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. มีรายละเอียดที่ชัดเจนและใส่บทสนทนาตามความเหมาะสม. รายละเอียดที่ชัดเจนและบทสนทนาจะช่วยให้เรื่องราวของเรามีชีวิตชีวามากขึ้น บรรยายถึงผู้คน สภาพแวดล้อมรอบตัว และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติตนเองให้ละเอียดและชัดเจน [22] [23]
    • แทนที่จะอธิบายแค่ว่าคุณครูใส่ชุดเดรสสีฟ้า อาจบรรยายเพิ่มไปว่าชุดเดรสนั้นมีสีฟ้าน้ำทะเล มีลูกไม้ประดับที่แขนเสื้อ
    • แทนที่จะบอกว่าตนเองรู้สึกว่ากลัว ให้บรรยายเพิ่มว่าตนเองมือสั่น ปวดท้อง และแขนขาอ่อนแรง
    • แทนที่จะกล่าวว่าเราพูดเรื่องสำคัญบางอย่างกับคุณครู ให้เขียนบทสนทนาระหว่างเราและคุณครูไว้ในเรียงความ
  2. ลองเล่าเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องเรียงไปตามลำดับก่อนหลัง. ความจริงการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นไปตามลำดับก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย แต่ก็มีวิธีเล่าเรื่องแบบอื่นๆ อยู่ อาจเลือกวิธีเล่าเรื่องต่อไปนี้มาสักหนึ่งแบบก็ได้ [24]
    • เล่าเรื่องไปตามลำดับก่อนหลัง ถ้าต้องการเล่าตั้งแต่เริ่มและบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    • เข้าเรื่องก่อนก็ได้ ถ้าต้องการให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวก่อนและจากนั้นค่อยกลับไปที่จุดเริ่มต้น
    • จะเริ่มที่ตอนท้ายก่อนก็ได้ ถ้าต้องการบอกผู้อ่านว่าเรื่องจบอย่างไรก่อนแล้วค่อยอธิบายว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
  3. สิ่งที่จะทำให้เขียนความเรียงอัตชีวประวัติออกมาไม่ดีคือการไม่สะท้อนตัวตนออกมาในงานเขียน เราจะต้องเขียนงานให้สะท้อนถึงประสบการณ์และตัวตนของเรา [25] [26]
    • กล้าที่จะแสดงอารมณ์ขัน ตราบเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับโทนของเรื่อง ในทางกลับกันถ้ากำลังบอกเล่าเรื่องราวที่น่าเศร้า ก็ไม่ควรแทรกถ้อยคำประชดเหน็บแหนมหรือเรื่องตลกขบขัน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เขียนให้กระชับได้ใจความ เมื่อเขียนเรียงความอัตชีวประวัติ พยายามให้ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย อย่าใส่ข้อมูลที่ไม่จำเป็นลงในเรียงความ เขียนแค่รายละเอียดสำคัญและอธิบายรายละเอียดนั้นให้ชัดเจน
  • ให้เพื่อนหรือครอบครัวอ่านงานเขียนของเรา ลองให้ผู้อ่านบอกข้อดีและข้อเสียของงานเขียนชิ้นนี้เพื่อเราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข ถ้าเราเป็นนักเรียน ลองขอให้คุณครูช่วยอ่านงานและติชมงานเขียนชิ้นนี้ดู
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 15,812 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา