ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บทความมีหลายประเภทได้แก่บทความข่าว บทความสารคดี บทความกึ่งชีวประวัติ บทความให้คำแนะนำ และอื่นๆ ถึงแม้บทความแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน การเขียนบทความทำให้เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจกับผู้อ่าน ฉะนั้นบทความนี้จึงอยากแนะนำวิธีเขียนบทความซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่รวบรวมความคิด ค้นคว้าข้อมูล เขียนและตรวจแก้งานเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ลองปฏิบัติตามกัน

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 5:

รวบรวมความคิด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทำความรู้จักประเภทของบทความที่เราต้องการเขียน. เมื่อรู้ตัวว่าต้องการเขียนหัวข้ออะไรและมุ่งเน้นประเด็นใดแล้ว ให้ลองคิดสิว่าหัวข้อและประเด็นนั้นเหมาะจะเขียนเป็นบทความประเภทใด บทความบางประเภทเหมาะสมกับหัวข้อบางหัวข้อ ฉะนั้นมาทำความรู้จักประเภทของบทความว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่า
    • บทความข่าว: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยปกติเนื้อหาจะครอบคลุมหกคำถามคือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม และอย่างไร
    • บทความสารคดี: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อมูลในแบบที่สร้างสรรค์และออกไปในทางพรรณนามากกว่าบทความข่าวซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เรื่องที่นำเสนออาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล ปรากฏการณ์ สถานที่ หรือเรื่องอื่นๆ
    • บทบรรณาธิการ : บทความประเภทนี้จะนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียนในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งหรือเรื่องซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ มีเจตนาโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหัวข้อนั้น [1]
    • บทความสาธิตวิธีการ: บทความประเภทนี้จะให้คำแนะนำและข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ
    • บทความกึ่งชีวประวัติ: บทความประเภทนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลที่นักเขียนรวบรวมจากการสัมภาษณ์และค้นคว้าภูมิหลังมาเขียนบทความ
  2. เขียนรายการหัวข้อที่น่าจะเขียนได้ เราอาจอยากเขียนเกี่ยวกับการอพยพหรืออาหารออร์แกนิก หรือศูนย์พักพิงสัตว์ใกล้บ้านเรา เราต้องทำให้หัวข้อแคบลงเพื่อจะได้เขียนออกมาเชื่อมโยงกันและสั้นกระชับ อีกทั้งเขียนได้เจาะลึกยิ่งขึ้น ผลที่ได้คือทำให้บทความของเรามีความหนักแน่นมากขึ้น ถามตนเองด้วยคำถามดังต่อไปนี้
    • เราสนใจอะไรในหัวข้อนี้
    • ประเด็นอะไรที่ผู้คนมักจะมองข้ามไป
    • เราอยากให้ผู้คนรู้อะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเขียนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เราอาจคิดว่า “ในฐานะผู้บริโภคเราต้องรู้ว่าการติดฉลากออร์แกนิกมีความสำคัญต่อบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างไร แต่เรายังไม่รู้ความสำคัญของการติดฉลากออร์แกนิกเลย”
  3. ต้องเป็นหัวข้อที่เราสามารถเขียนออกมาได้มาก เราควรมีความสนใจในหัวข้อที่เลือกเขียน ความชอบจะแสดงออกมาให้เห็นในงานเขียนและจะทำให้ผู้อ่านอยากอ่านด้วย
    • เป้าหมายในการเขียนคือถ่ายทอดเนื้อหาออกมาให้ผู้อ่านเห็นว่าประเด็นในบทความของเรานั้นน่าสนใจ
  4. ถ้าไม่คุ้นเคยกับหัวข้อของตนเองเลย (ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องเขียนหัวข้อเฉพาะทางส่งอาจารย์) เราก็ต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อนั้นก่อนลงมือเขียน
    • พิมพ์คำสำคัญพิมพ์ลงในเสิร์ชเอนจิน วิธีนี้จะช่วยนำเราไปสู่แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับหัวข้อของเรา อีกทั้งแหล่งข้อมูลเหล่านี้ยังให้แนวทางในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของหัวข้อที่จะเขียนด้วย
    • อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข้าห้องสมุด ค้นหนังสือ นิตยสาร บทความ บทสัมภาษณ์ และบทความสารคดีทางอินเตอร์เน็ตรวมทั้งข่าว บล็อก และฐานข้อมูล กล่าวคือค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทุกอย่างทั้งในรูปแบบหนังสือ (ตามห้องสมุดต่างๆ) และแบบออนไลน์
  5. เมื่อตัดสินใจเรื่องหัวข้อและทำให้หัวข้อนั้นแคบลงจนได้อะไรที่เฉพาะเจาะจงแล้ว ลองคิดสิว่าจะทำอย่างไรให้บทความนี้โดดเด่น ถ้าหากเราเขียนเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างที่คนอื่นก็เขียนด้วยเช่นกัน พยายามทำให้บทความของเรามีความพิเศษ อาจเพิ่มบทสนทนาเข้าไปในบทความด้วยก็ได้
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนเรื่องอาหารออร์แกนิก เราอาจเน้นประเด็นที่ว่าผู้ซื้อไม่มีความรู้ความเข้าใจในฉลากออร์แกนิกซึ่งติดไว้ที่บรรจุภัณฑ์ ใช้เรื่องนี้เปิดไปสู่ประเด็นหลักของเรา หรือ “ย่อหน้าสำคัญ” ซึ่งสรุปแนวคิดสำคัญหรือมุมมองของเรา
  6. ในบทความส่วนใหญ่นักเขียนจะมีประเด็นซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขียนบทความขึ้นมา จากนั้นนักเขียนจะหาหลักฐานมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง เราจะต้องมีเหตุผลหนักแน่นและน่าเชื่อถือ ถึงจะทำให้บทความของเรามีคุณภาพ หลังจากกำหนดเอกลักษณ์ของบทความตนเองแล้ว เราก็จะสามารถมุ่งเข้าสู่ประเด็นที่เราหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในบทความ
    • ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังเขียนเกี่ยวกับวิธีอ่านฉลากออร์แกนิก ประเด็นโดยรวมของเราคือประชาชนจะต้องรู้ว่ามีหลายบริษัทใช้ฉลากออร์แกนิกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงนำไปสู่การโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามความจริง ตัวอย่างอีกหัวข้ออาจเป็นการรู้ว่าใครเป็นเจ้าของช่องทางสื่อประจำท้องถิ่นนั้นสำคัญ ถ้าองค์กรสื่อธุรกิจเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เราก็อาจได้ข่าวท้องถิ่นของเราน้อยมากและไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองมากนัก
    • เขียนประเด็นให้เป็นประโยคหนึ่งประโยค ติดไว้ที่คอมพิวเตอร์หรือพื้นที่ซึ่งใช้เขียน จะช่วยให้เรายังคงจดจ่ออยู่กับประเด็นสำคัญเมื่อเริ่มลงมือเขียนบทความ
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 5:

ค้นคว้าหาข้อมูล

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ศึกษาหัวข้อและประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่. เริ่มค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่จะเขียนและประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหัวข้อนั้น ขั้นตอนนี้จะไปไกลกว่าการค้นคว้าก่อนเขียน ศึกษาประเด็นสำคัญทุกอย่าง ข้อดีและข้อเสีย คำกล่าวจากผู้เชี่ยวชาญ และอื่นๆ
    • นักเขียนที่ดีต้องรัก “การค้นคว้า” ค้นคว้าทั้งเอกสารปฐมภูมิ (ต้นฉบับ ไม่ได้รับการเผยแพร่) และเอกสารทุติยภูมิที่เกี่ยวกับหัวข้อนั้น
      • แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ อาจได้แก่บันทึกจากการรับฟังทางนิติบัญญัติ การขึ้นศาล บัญชีทรัพย์สิน ใบรับรอง และรูปภาพ แหล่งข้อมูลปฐมภูมิอื่นๆ อาจได้แก่ บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐบาลในหอจดหมายเหตุ หรือสิ่งพิมพ์พิเศษและหนังสือหายากในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย กรมธรรม์ประกันภัย รายงายการเงินของบริษัท หรือประวัติส่วนตัว
      • แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ ประกอบด้วยฐานข้อมูล หนังสือ บทคัดย่อ บทความทุกภาษา เอกสารอ้างอิง และหนังสืออ้างอิงที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่
    • เราอาจหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตหรือในห้องสมุดก็ได้ อีกทั้งยังหาข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ ดูสารคดี หรือค้นคว้าแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วย
  2. เริ่มหาหลักฐานที่จะสนับสนุนเหตุผลของเราทุกอย่าง อาจยกตัวอย่างดีๆ สักประมาณ 3-5 ตัวอย่างที่ช่วยสนับสนุนเหตุผลของเราได้
    • เขียนรายการหลักฐานและตัวอย่าง ถ้าเรามีหลักฐานสนับสนุนมาก เราก็สามารถนำหลักฐานเหล่านั้นมาเรียงลำดับตามความหนักแน่นได้
  3. เมื่อค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ต้องค้นคว้าอย่างละเอียดรอบคอบ ให้ดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญ เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล หรือเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หาข้อมูลที่ให้รายชื่อแหล่งข้อมูลอื่นๆ ด้วย เพราะข้อมูลแบบนี้จะช่วยสนับสนุนคำกล่าวอ้างใดๆ จากแหล่งข้อมูลของเรา อาจหาแหล่งข้อมูลที่ตีพิมพ์เป็นเอกสารก็ได้ แต่ก็ควรค้นคว้าด้วยความละเอียดรอบคอบเช่นกัน
    • อย่าคิดว่าแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะต้องตรวจสอบความถูกต้องจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งด้วยเพื่อจะได้มองภาพรวมออก
  4. เขียนว่าเราได้แหล่งข้อมูลมาจากที่ใด เราจะสามารถอ้างแหล่งข้อมูลนั้นได้ โดยปกติข้อมูลเอกสารอ้างอิงประกอบด้วยชื่อผู้เขียน ชื่อบทความ ปี เลขหน้า และผู้จัดพิมพ์
    • เลือกว่าจะเขียนการอ้างอิงรูปแบบไหน เราจะได้สามารถเขียนข้อมูลอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง MLA, APA และ Chicago เป็นรูปแบบการอ้างอิงที่นิยมใช้มากที่สุด
  5. อย่าคัดลองผลงานผู้อื่น . เมื่อกำลังค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พยายามเรียบเรียงข้อมูลด้วยความระมัดระวัง บางครั้งผู้คนคัดลอกข้อความลงในเอกสารเพื่อใช้เป็นโน้ตให้กับบทความของตน แต่การทำแบบนี้ก็เสี่ยงที่จะเข้าข่ายคัดลอกผลงานผู้อื่น เพราะอาจเผลอนำข้อความที่คัดลอกมาไปใส่ในงานเขียนของตนเอง ฉะนั้นระวังอย่าเผลอทำอะไรที่เป็นการเข้าข่ายคัดลอกผลงานผู้อื่น
    • อย่าคัดลอกข้อความจากแหล่งข้อมูลมาใส่ในงานเขียนของตนเอง ใช้วิธีถอดความให้เป็นภาษาของตนเองและใช้การอ้างอิงจะดีกว่า
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 5:

เขียนโครงร่าง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บทความนี้มีการกำหนดจำนวนคำไหม เราต้องเขียนให้ได้จำนวนกี่หน้า คำนึงถึงประเภทของบทความและเนื้อที่เขียน อีกทั้งคิดสิว่าต้องเขียนมากเท่าไรถึงจะครอบคลุมหัวข้อนั้นอย่างเพียงพอ
  2. คิดสิว่าใครจะเป็นคนอ่านบทความนี้ เราจะต้องคำนึงถึงระดับของผู้อ่าน ความสนใจ ความคาดหวัง และปัจจัยอื่นๆ
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังเขียนบทความให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการอ่าน น้ำเสียงและวิธีการเขียนก็จะแตกต่างไปจากการเขียนบทความให้กับนิตยสารทั่วไป
  3. ก่อนที่เราจะเริ่มเขียนอย่างจริงจัง เขียนโครงร่างของบทความขึ้นมาก่อน วิธีนี้จะช่วยให้รู้ว่าควรวางข้อมูลไว้ตรงไหน โครงร่างจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เรารู้ว่าตนเองต้องหาข้อมูลเพิ่มตรงส่วนไหนบ้าง
    • อาจร่างบทความเป็นห้าย่อหน้าก่อนก็ได้ [2] ให้ย่อหน้าแรกเป็นบทนำ ย่อหน้าอีกสามย่อหน้าเป็นเนื้อหาซึ่งสนับสนุนประเด็นที่หยิบยกมากล่าว และย่อหน้าสุดท้ายเป็นบทสรุป ตอนที่เริ่มใส่ข้อมูลลงในเค้าโครง เราอาจเห็นว่าโครงสร้างนี้ไม่เหมาะกับบทความของเราก็ได้
    • การร่างแยกเป็นห้าย่อหน้าอาจไม่เหมาะกับบทความบางประเภท ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ เราอาจต้องใช้การร่างบทความแบบอื่น
  4. หยิบยกคำกล่าวอ้างและหลักฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนถ้อยคำของเรามาใส่ในโครงร่าง. เราอาจบังเอิญพบข้อมูลที่สนับสนุนคำกล่าวของเราให้มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ ข้อมูลนี้อาจประกอบด้วยถ้อยคำที่มีผู้กล่าวไว้ หรือประโยคหนึ่งในบทความอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับบทความที่เราจะเขียน เลือกส่วนที่สำคัญที่สุดและมีการบรรยายอย่างละเอียดมาใส่ในงานเขียนของตนเอง ใส่คำกล่าวอ้างนั้นลงในเค้าโครงด้วย
    • เราต้องหยิบยกคำกล่าวมาให้ครบและใส่เครื่องหมายอัญประกาศให้กับคำพูดซึ่งเราไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง ตัวอย่างเช่น เราอาจเขียนว่าโฆษกบริษัทผลิตนม Milktoast กล่าวว่า “นมของเราติดฉลากออร์แกนิกเพราะวัวของเรากินหญ้าออร์แกนิกเท่านั้น”
    • อย่าหยิบยกคำพูดของผู้อื่นมาใส่มากเกินไป เลือกใช้เฉพาะบางคำพูดก็พอ ถ้าหยิบยกคำพูดมามากเกินไป ผู้อ่านอาจคิดว่าเรากำลังใช้คำพูดเหล่านั้นมาเป็นตัวเติมพื้นที่การเขียนแทนที่จะคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาบทความ
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 5:

เขียนบทความ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ย่อหน้าบทนำที่น่าสนใจจะดึงดูดผู้อ่านให้อยากอ่าน ผู้อ่านจะประเมินภายในสองสามประโยคแรกว่าบทความของเราคุ้มค่าที่จะอ่านให้จบหรือไม่ ฉะนั้นจึงขอแนะนำวิธีการเขียนบทนำสักสองสามวิธีดังนี้
    • บอกเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ
    • หยิบยกคำพูดที่ได้จากการสัมภาษณ์
    • เริ่มด้วยข้อมูลทางสถิติ
    • เริ่มด้วยข้อเท็จจริงของเรื่อง
  2. เมื่อเราได้เขียนโครงร่างบทความเอาไว้แล้ว ให้ใช้โครงร่างนี้ช่วยเราให้เขียนบทความออกมาได้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน โครงร่างจะช่วยให้เราจำจดว่ารายละเอียดต่างๆ เชื่อมโยงกันและกันอย่างไร รวมทั้งรู้ว่าคำพูดที่จะหยิบยกมานั้นสนับสนุนประเด็นไหน
    • อาจมีการปรับเปลี่ยนให้แตกต่างจากโครงร่างเดิมได้ตามความเหมาะสม บางครั้งเมื่อลงมือเขียน ก็อาจมีการดำเนินเนื้อหาแตกต่างไปจากโครงร่างเดิม ถ้าเห็นว่าทำให้งานเขียนออกมาดีกว่า ให้ปรับเปลี่ยนทิศทางการเขียนให้แตกต่างจากโครงร่างที่เขียนไว้
  3. อย่าคิดว่าผู้อ่านจะรู้หัวข้อที่เราเขียนมากเท่าเรา ให้ลองคิดสิว่ามีข้อมูลพื้นฐานอะไรบ้างที่ผู้อ่านต้องรู้เพื่อให้เข้าใจหัวข้อนั้น [3] เราอาจให้มีย่อหน้าข้อมูลพื้นฐานก่อนที่เข้าสู่การกล่าวถึงหลักฐานที่สนับสนุนประเด็นของเรา โดยย่อหน้าส่วนนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราเขียนบทความประเภทไหน หรือเราอาจผสานข้อมูลอรรถาธิบายนี้ไว้ในเนื้อหาของบทความก็ได้
  4. ใช้ภาษาที่คารมคมคายและเชิงพรรณนาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพของสิ่งที่เรากำลังเขียนได้อย่างชัดเจน ให้เลือกใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังและถูกต้อง
    • ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรากำลังเขียนเกี่ยวกับผู้บริโภคคนหนึ่ง คนคนนั้นตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้ออาหารติดฉลากออร์แกนิกยี่ห้อใดดี “ชาลีกำลังดูกระปุกเนยถั่วที่ชั้น คำว่า “ออร์แกนิก” และ “ธรรมชาติ” ดูเหมือนจะกระโดดเข้าใส่เขา กระปุกทุกกระปุกต่างพูดอะไรไม่เหมือนกัน เขารู้สึกว่ากระปุกพวกนั้นกำลังตะโกนว่า ”เลือกฉันเถอะ!” “ซื้อฉันสิ!” คำพูดเหล่านั้นเริ่มดังเวียนวนอยู่รอบตัวจนเขาทนไม่ไหวจึงออกจากร้านไปโดยไม่ซื้ออะไรเลย”
  5. ใช้คำเชื่อมความเชื่อมโยงความคิดแต่ละความคิดเข้าด้วยกัน บทความของเราจะมีความเกี่ยวเนื่องกัน เริ่มย่อหน้าใหม่ด้วยคำเชื่อมความที่ช่วยเชื่อมย่อหน้านั้นกับย่อหน้าก่อน
    • ตัวอย่างเช่น ใช้คำหรือวลีอย่างเช่น “อย่างไรก็ตาม” “ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ...” หรือ “ต้องพึงระลึกไว้ว่า” มาเชื่อมโยงความคิดแต่ละความคิดเข้าด้วยกัน
  6. เราต้องเขียนด้วยลีลา โครงสร้าง และน้ำเสียงที่เหมาะกับประเภทของบทความที่กำลังเขียน ประเมินผู้อ่านเพื่อจะได้รู้ว่าควรเลือกวิธีนำเสนอข้อมูลแบบไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด
    • ตัวอย่างเช่น บทความหนังสือพิมพ์จะต้องให้ข้อมูลแบบเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ จึงควรใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย บทความวิชาการต้องใช้ภาษาที่เป็นทางการมากขึ้น บทความสาธิตวิธีการอาจเขียนโดยใช้ภาษาแบบเป็นกันเอง
    • เมื่อเขียนบทความ เริ่มประโยคที่ทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านอย่าง “ต่อเนื่อง” ทุกย่อหน้า ประโยคควรมีความสั้นยาวที่หลากหลาย ถ้าทุกประโยคมีความยาวเท่ากันหมด จะทำให้ผู้อ่านเริ่ม “จับ” จังหวะการเขียนของเราได้และเผลอหลับ แต่ถ้าประโยคไม่ต่อเนื่องกันเลยและสั้น ผู้อ่านก็อาจจะคิดว่าเรากำลังเขียนโฆษณามากกว่าเขียนบทความที่ได้รับการเรียบเรียงความคิดมาอย่างดี
  7. เขียนบทสรุปที่สร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเขียนบทความแสดงความคิดเห็นเรื่องการติดฉลากอาหาร เราอาจเชิญชวนให้ผู้อ่านศึกษาการติดฉลากอาหารเพิ่มเติม
    • ถ้าเริ่มบทนำด้วยเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ หรือข้อมูลทางสถิติ ให้ลองพยายามเชื่อมโยงเข้ากับบทสรุป
    • โดยปกติบทสรุปที่ตรึงใจคนอ่านจะให้ตัวอย่างสุดท้ายที่สั้นกระชับและเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้อ่านได้มุมมองใหม่ บทสรุปควรกระตุ้นให้เกิด “หัวคิดก้าวหน้า” นำผู้อ่านไปสู่ทิศทางที่ทำให้ตนอยาก “แสวงหา”ความรู้ยิ่งขึ้น
  8. เราช่วยผู้อ่านให้เข้าใจหัวข้อชัดเจนขึ้นได้ด้วยการใส่ภาพหรือส่วนเพิ่มเติมอื่นๆ ลงในบทความ
    • ตัวอย่างเช่น เราอาจเพิ่มรูปถ่าย แผนภูมิ หรืออินโฟกราฟิกเพื่อแสดงให้เห็นประเด็นของเราบางประเด็น
    • เราอาจเน้นหรือขยายประเด็นสำคัญใส่กล่องข้อความและใส่ไว้ข้างบทความก็ได้ เขียนข้อมูลที่เราค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังเขียนเกี่ยวกับเทศกาลภาพยนตร์ อาจใส่เนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในเทศกาลไว้ในกล่องข้อความและใส่ไว้ข้างบทความ เนื้อหาโดยปกติมักจะสั้น (50-70 คำ ขึ้นอยู่กับรูปแบบสิ่งพิมพ์)
    • พึงระลึกไว้ว่าส่วนเหล่านี้เป็นแค่ส่วนเพิ่มเติม ถึงไม่มี บทความของเราก็ควรอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง งานเขียนของเราต้องเข้าใจง่าย ชัดเจน และน่าอ่านโดยไม่ต้องใช้แผนภูมิ รูปถ่าย หรือกราฟิกอื่นๆ
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 5:

ตรวจทานและแก้ไข

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หาเวลาตรวจแก้และปรับปรุงบทความ ถ้ามีเวลา ละจากงานเขียนนี้สักหนึ่งหรือสองวันก่อนตรวจแก้ เราจะได้หยุดง่วนอยู่กับงานเขียนไปสักพัก จากนั้นค่อยกลับมาดูงานด้วยสมองที่แจ่มใส
    • ดูประเด็นหลักหรือประเด็นที่เรากล่าวถึงอย่างละเอียด ทุกอย่างในบทความนี้สนับสนุนประเด็นของเราไหม มีย่อหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเปล่า ถ้ามี ก็ควรตัดออกหรือปรับเนื้อหาให้สนับสนุนประเด็นหลัก
    • ตัดข้อมูลที่ขัดแย้งในบทความหรือกล่าวถึงสิ่งที่ขัดแย้งออกไป หรือแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าข้อมูลที่ขัดแย้งนี้ไม่สำคัญต่อพวกตน
    • เขียนใหม่บางส่วนหรือเขียนใหม่ทั้งหมด ถ้าเห็นว่าจำเป็น การแก้ไขปรับปรุงเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเขียนบทความประเภทไหนก็ตาม ฉะนั้นอย่ารู้สึกว่าตนเองล้มเหลวหรือไร้ความสามารถ
  2. แม้แต่บทความที่เขียนออกมาดี ก็ยังอาจมีการใช้ไวยากรณ์และตัวสะกดผิด ฉะนั้นเราต้องตรวจสอบตัวสะกดและไวยากรณ์ รวมทั้งแก้ไขให้ถูกต้องด้วย
    • เวลาตรวจสอบไวยากรณ์และคำผิด ให้พิมพ์บทความใส่กระดาษจะดีกว่า ใช้ดินสอหรือปากกาในการตรวจไวยากรณ์และคำผิด จากนั้นกลับไปแก้ไขในคอมพิวเตอร์
  3. ฟังน้ำเสียง จังหวะ ความยาวประโยค การเชื่อมโยง ความผิดทางไวยากรณ์ และเนื้อหา รวมทั้งประเด็นที่น่าสนใจ ให้คิดว่างานเขียนของตนเองเป็นบทเพลง ลองฟังเนื้อหาที่ตนเองอ่าน แล้วประเมินคุณภาพ จุดแข็ง และจุดอ่อน
    • การอ่านออกเสียงจะช่วยให้เราสามารถเห็นความผิดพลาดทางไวยากรณ์และการเขียนของตนเอง วิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องไปรบกวนให้ผู้อื่นตรวจงานให้
  4. ลองให้เพื่อน คุณครู หรือคนที่เราไว้ใจอ่านบทความของเรา คนคนนี้เข้าใจประเด็นที่เราต้องการจะบอกไหม เขาตามเหตุผลของเราทันหรือเปล่า
    • คนที่อ่านบทความอาจเห็นข้อผิดพลาดหรือความไม่สอดคล้องที่เรามองข้ามไปก็ได้
  5. ตั้งหัวเรื่องให้เหมาะสม หัวเรื่องควรสั้นและตรงประเด็น ใช้คำไม่เกิด 10 คำ หัวเรื่องควรมุ่งเน้นการกระทำและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่อง นอกจากนี้ยังควรสะดุดตาและดึงดูดความสนใจผู้อ่าน [4] [5]
    • ถ้าต้องการถ่ายทอดข้อมูลมากกว่านี้สักหน่อย เขียนหัวเรื่องย่อ เป็นประโยคที่สองถัดจากหัวเรื่องหลัก
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ต้องให้เวลาตนเองมากพอที่จะเขียนบทความออกมาให้ดี ถ้าเราไม่เริ่มเขียนบทความตั้งแต่เนิ่นๆ เราอาจต้องประสบกับความเร่งรีบในช่วงนาทีสุดท้ายและลงเอยด้วยการเขียนบทความออกมาได้ไม่ดี
  • ถ้าอยากรู้วิธีใช้เครื่องมือวิจัยปฐมภูมิและฐานข้อมูล สามารถสืบค้นและดาวน์โหลดคู่มืิอได้ทางอินเตอร์เน็ต
  • ถ้าอยากรู้ว่าตนเองสนใจการเขียนอย่างแท้จริงหรือไม่ ลองเขียนสัก 2 ย่อหน้า โดยพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
โฆษณา

คำเตือน

  • เมื่อเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ควรได้รับค่าจ้าง ให้ตกลงเรื่องค่าจ้างไว้ล่วงหน้า ค่าจ้างโดยปกติมักจะจ่ายเป็นต่อคำหรือต่อชิ้นงาน งานเขียนของเรามีคุณค่า การเขียนโดยไม่ได้รับค่าจ้างจะทำให้นักเขียนอิสระใช้ชีวิตที่ลำบาก แต่ถ้าเราเพิ่งเริ่มต้นเขียน ลองอาสาเขียนบทความให้กับชุมชน โรงเรียน และนิตยสารดู จะได้มีผลงานและประสบการณ์
โฆษณา

เขียนบทความให้น่าสนใจ

  • เมื่อเขียนบทความ อย่าใส่ข้อมูลเพียงแค่ต้องการทำให้บทความยาวขึ้น ถ้าบทความยาวมากเกินไปจะทำให้ผู้อ่านเบื่อและเลิกสนใจได้ ฉะนั้นพยายามเสนอความคิดที่เรียบง่ายแต่แปลกแหวกแนวเพื่อให้กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายสนใจ

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 45,021 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา