PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า การเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ นั้นเป็นงานใหญ่ แต่โชคดีที่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ทำได้หากมีแนวคิดที่ดี มีจรรยาบรรณในการทำงานที่แข็งแกร่ง และมีแหล่งทรัพยากรในด้านต่างๆ ที่ดี การเริ่มต้นธุรกิจต้องอาศัยการคิดเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ของธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ ความเข้าใจด้านการเงิน และสุดท้ายคือการทำการตลาดและการเปิดตัวธุรกิจ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 6:

เริ่มจากสิ่งพื้นฐาน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. มันอาจจะเป็นสินค้าที่คุณอยากทำมาตลอด บริการที่คุณรู้สึกว่าคนต้องการ หรือมันอาจจะเป็นสิ่งที่คนอื่นยังไม่รู้ว่าพวกเขาต้องการเพราะว่ามันยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมาก็ได้!
    • การได้คนที่ฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์มาร่วมพูดคุยระดมสมองกันแบบสบายๆ ก็อาจช่วยคุณได้ เริ่มจากคำถามง่ายๆ อย่าง "เราจะทำอะไรกันดี" จุดประสงค์ในที่นี้ไม่ใช่เพื่อสร้างแผนธุรกิจ แต่เป็นการเสนอไอเดียที่เป็นไปได้ หลายไอเดียจะนำมาใช้ไม่ได้ และจะมีหลายอันที่ฟังดูธรรมดา แต่จะมี 2-3 ไอเดียที่ทำได้จริงผุดขึ้นมา
    • เวลาเลือกคอนเซ็ปต์ให้นึกถึงพรสวรรค์ ประสบการณ์ และความรู้ของคุณ ถ้าคุณมีชุดทักษะหรือพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ ลองคิดดูว่าคุณจะสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาปรับใช้กับความต้องการบางอย่างของตลาดได้อย่างไร การผสมผสานระหว่างทักษะและความรู้เข้ากับความต้องการของตลาดจะเพิ่มโอกาสที่ไอเดียธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จ
    • เช่น คุณอาจจะทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ในฐานะลูกจ้างมาหลายปี คุณอาจจะสังเกตเห็นว่า ในชุมชนของคุณมีความต้องการเกี่ยวกับงานไฟฟ้ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นพิเศษ และการนำประสบการณ์ของคุณมารวมกับความต้องการของตลาดก็จะทำให้คุณสามารถดึงดูดลูกค้าได้
  2. คุณอยากมีอิสระทางการเงิน ท้ายที่สุดแล้วคุณจะขายธุรกิจให้กับผู้ที่ประมูลสูงสุดใช่ไหม หรือว่าคุณอยากได้อะไรที่มันเล็กๆ และยั่งยืน เป็นสิ่งที่คุณชอบทำและคุณอยากมีรายได้สม่ำเสมอจากสิ่งนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ
  3. คุณสามารถคิดชื่อได้ก่อนที่จะมีไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจด้วยซ้ำไป และถ้าชื่อนั้นดี มันก็อาจจะช่วยให้คุณตีกรอบไอเดียธุรกิจของคุณได้ด้วย ขณะที่แผนการของคุณเติบโตและสิ่งต่างๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ชื่อที่เหมาะที่สุดก็อาจจะผุดขึ้นมา แต่อย่าให้มันมาขัดขวางคุณในระยะแรก คิดชื่อที่คุณจะใช้ระหว่างวางแผนและอย่าลังเลที่จะเปลี่ยนทีหลัง
    • อย่าลืมตรวจสอบก่อนเสมอว่ามีใครใช้ชื่อนี้ไปแล้วหรือยังก่อนเลือกมาตั้งชื่อ พยายามเลือกชื่อที่เรียบง่ายและจำง่าย

    เคล็ดลับ: ลองคิดถึงชื่อแบรนด์ดังๆ อย่าง "Apple" ดูสิ ชื่อเหล่านี้จำง่าย เรียบง่าย และออกเสียงง่าย

  4. คุณจะทำคนเดียวหรือจะชวนเพื่อนที่คุณไว้ใจอีกสัก 1-2 คนมาร่วมงานกับคุณด้วย วิธีนี้จะช่วยประสานพลังระหว่างการพูดคุย เพราะคนในทีมจะโยนไอเดียใส่กัน คนสองคนทำงานร่วมกันมักจะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้มากกว่าการนำสองส่วนที่แยกกันมารวมกัน
    • ลองคิดถึงเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ เช่น จอห์น เลนนอนกับพอล แม็กคาร์ตนีย์ บิลล์ เกตส์กับพอล อัลเลน สตีฟ จ็อบส์กับสตีฟ วอซเนียก และแลร์รี เพจกับเซอร์เกย์ บริน ในทุกตัวอย่างการร่วมมือกันจะดึงส่วนที่ดีที่สุดของทั้งสองคนออกมา
    • ลองคิดถึงด้านที่เป็นจุดอ่อนของคุณหรือมีความรู้ในเรื่องนั้นน้อยมาก การหาหุ้นส่วนที่สอดคล้องกับบุคลิกภาพของคุณ และสามารถเติมเต็มช่องว่างความรู้หรือทักษะได้นั้นเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้คุณแน่ใจได้ว่า ธุรกิจของคุณมีทรัพยากรที่จำเป็นต่อความสำเร็จ
  5. คุณต้องระมัดระวังเวลาเลือกคนหรือกลุ่มคนที่คุณจะร่วมสร้างธุรกิจด้วย ถึงเขาจะเป็นเพื่อนสนิทของคุณก็ไม่ได้ความว่าคุณจะดำเนินธุรกิจได้เข้าขากันดี เริ่มจากคนที่พึ่งพาได้ก่อน สิ่งที่คุณต้องพิจารณาเวลาเลือกผู้นำร่วมและคนที่จะมาสมทบได้แก่ :
    • เขาเข้ามาเสริมจุดอ่อนของคุณหรือเปล่า หรือว่าคุณสองคนมีชุดทักษะในการทำงานแบบเดียวกัน ถ้าเป็นอย่างหลัง ให้ระวังไว้ว่าคุณอาจจะได้คนมาทำงานเดียวกันเยอะเกินไป ในขณะที่งานด้านอื่นๆ ไม่มีคนสนใจ
    • คุณเห็นภาพรวมตรงกันหรือเปล่า การถกเถียงเรื่องรายละเอียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว และเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ออกมาดีด้วย แต่การเห็นภาพรวมและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของธุรกิจไม่ตรงกันอาจทำให้เกิดรอยร้าวที่ไม่สามารถสมานได้ คุณต้องแน่ใจว่าทีมสนใจสิ่งเดียวกันและเชื่อมั่นในวัตถุประสงค์มากพอๆ กับคุณ
    • ถ้าคุณจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ ให้อ่านเกี่ยวกับวิธีการมองเห็นพรสวรรค์ที่แท้จริงที่นอกเหนือไปจากใบประกาศนียบัตร วุฒิการศึกษา หรือแม้ว่าเขาจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย สิ่งที่เขาเรียนมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดมากที่สุดก็ได้ เช่น คนที่คุณสัมภาษณ์อาจเรียนจบมาทางด้านบัญชี แต่ประสบการณ์และการประเมินของคุณอาจบ่งบอกว่า เขาน่าจะเหมาะไปช่วยด้านการตลาดมากกว่า
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 6:

เขียนแผนธุรกิจ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. แผนธุรกิจช่วยให้คุณระบุได้ว่า สิ่งที่คุณคิดว่าจำเป็นต้องมีในการเปิดตัวธุรกิจนั้นมีอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม แผนธุรกิจจะสรุปหลักการของธุรกิจไว้ในเอกสารชุดเดียว และยังเป็นแผนผังให้นักลงทุน นายธนาคาร และฝ่ายที่สนใจอื่นๆ ไว้ใช้ประกอบการพิจารณาว่า พวกเขาจะช่วยเหลือคุณอย่างดีที่สุดได้อย่างไร และช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ว่า ธุรกิจของคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จไหม แผนธุรกิจของคุณควรมีองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้คร่าวๆ ในขั้นตอนด้านล่าง
  2. อธิบายธุรกิจของคุณอย่างเจาะจงมากกว่าเดิม และอธิบายว่าธุรกิจของคุณสอดคล้องกับตลาดอย่างไรในภาพรวม ถ้าธุรกิจของคุณเป็นบริษัท บริษัทจำกัด หรือกิจการเจ้าของคนเดียว ให้ระบุลงไปด้วยและอธิบายว่า ทำไมคุณถึงเลือกวิธีดำเนินการแบบนั้น บรรยายสินค้า ลักษณะเด่น และบอกว่าทำไมคนถึงจะอยากซื้อ ตอบคำถามต่อไปนี้ :
    • ว่าที่ลูกค้าของคุณคือใคร เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขาต้องการอะไร ให้คิดกลยุทธ์ทางการตลาดขึ้นมา
    • ราคาที่พวกเขาเต็มใจจะจ่ายให้กับสินค้าหรือบริการของคุณอยู่ที่เท่าไหร่ ทำไมพวกเขาถึงจะจ่ายให้กับสินค้าหรือบริการของคุณมากกว่าของคู่แข่ง
    • คู่แข่งของคุณคือใคร วิเคราะห์คู่แข่งเพื่อระบุคู่แข่งหลัก ค้นหาว่าใครที่ทำสิ่งเดียวกับที่คุณวางแผนจะทำ และพวกเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการหาข้อผิดพลาดและสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของพวกเขาล้มเหลว
  3. แผนการดำเนินงานจะอธิบายว่าคุณจะผลิตหรือส่งมอบสินค้าหรือบริการอย่างไร รวมถึงต้นทุนทั้งหมดด้วย
    • คุณจะทำสินค้าขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่คุณนำเสนอคือบริการหรือเปล่า หรือถ้ามันเป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น ซอฟต์แวร์ เป็นสินค้าที่จับต้องได้ เช่น ของเล่นหรือเครื่องปิ้งขนมปัง แล้วคุณจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร ระบุกระบวนการตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบและการประกอบไปจนถึงการผลิตสินค้า การทำบรรจุภัณฑ์ การเก็บของในคลังสินค้า และการขนส่ง คุณต้องใช้คนเพิ่มหรือเปล่า สหภาพต้องเข้ามาข้องเกี่ยวด้วยไหม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต้องพิจารณา
    • ใครจะเป็นคนนำและใครจะเป็นคนตาม อธิบายองค์กรของคุณตั้งแต่พนักงานต้อนรับขึ้นไปจนถึง CEO ว่าแต่ละคนมีบทบาทอย่างไรทั้งในแง่ของการทำงานและการเงิน การรู้โครงสร้างองค์กรจะช่วยให้คุณวางแผนต้นทุนการดำเนินงานได้ดีขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนเงินทุนที่คุณจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ขอข้อเสนอแนะ เพื่อนๆ และครอบครัวคือกลุ่มคนที่คุณสามารถสอบถามและขอข้อเสนอแนะที่ดีได้ อย่าลังเลที่จะใช้พวกเขาเป็นตัวแทนความคิดเห็นของผู้อื่น
    • ความต้องการที่จะขยายขนาดของพื้นที่ สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คาดไว้ เมื่อสต็อกสินค้าเริ่มมีจำนวนมากขึ้น สุดท้ายสินค้าก็อาจจะไปยัดอยู่ในห้องนั่งเล่น ห้องนอน และเพิงเก็บอุปกรณ์ทำสวน ลองคิดถึงการเช่าพื้นที่เก็บสินค้าหากจำเป็น
  4. แผนการดำเนินงานอธิบายว่าคุณจะผลิตสินค้าอย่างไร และแผนการตลาดจะอธิบายว่าคุณจะขายสินค้าอย่างไร เวลาที่คุณสร้างแผนการตลาด พยายามตอบคำถามว่า คุณจะทำให้ว่าที่ลูกค้ารู้จักสินค้าของคุณได้ อย่างไร
    • คุณต้องใส่ประเภทของการตลาดที่คุณจะใช้ด้วย เช่น คุณใช้โฆษณาทางวิทยุ โซเชียลมีเดีย โปรโมชั่น บิลบอร์ด เข้าร่วมงานเครือข่าย หรือว่าทั้งหมดที่กล่าวมา
    • นอกจากนี้คุณยังต้องนิยามสิ่งที่คุณต้องการสื่อในทางการตลาดด้วย พูดอีกอย่างก็คือ คุณจะพูดอะไรเพื่อโน้มน้าวให้ลูกค้าเลือกสินค้าของคุณ ในส่วนนี้คุณต้องเน้นไปที่จุดขายที่โดดเด่นหรือที่เรียกอีกอย่างว่า USP (Unique Selling Point) ส่วนนี้คือข้อได้เปรียบที่เป็นจุดเด่นของสินค้าที่ช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้ เช่น สินค้าหรือบริการของคุณอาจจะราคาต่ำกว่า รวดเร็วกว่า หรือคุณภาพดีกว่าเจ้าอื่นๆ
  5. เริ่มจากการตรวจสอบราคาของคู่แข่งก่อน รู้ว่าพวกเขาขายสินค้าเดียวกันในราคาเท่าไหร่ คุณสามารถเพิ่มอะไร (เพิ่มมูลค่า) เพื่อให้สินค้าของคุณแตกต่าง ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าของคุณน่าดึงดูดมากกว่าด้วย

    หมายเหตุ : การแข่งขันไม่ได้เป็นเรื่องของสินค้าหรือบริการโดยตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของคุณใส่ใจสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ใบประกาศนียบัตรรับรองจากองค์กรที่มีชื่อเสียง เช่น ฉลากและดาว สามารถทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า สินค้าหรือบริการของคุณสอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขามากกว่าของเจ้าที่ไม่มีประกาศนียบัตรรับรอง

  6. งบการเงินจะแปลงแผนการตลาดและการดำเนินงานเป็นตัวเลข ได้แก่ กำไรและกระแสเงินสด งบการเงินจะระบุว่าคุณต้องใช้เงินเท่าไหร่และคุณน่าจะทำเงินได้เท่าไหร่ เนื่องจากว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เปลี่ยงแปลงได้มากที่สุดในแผนงาน และอาจจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคงในระยะยาวเลยก็ว่าได้ คุณจึงควรอัปเดตงบการเงินทุกเดือนในปีแรก ทุกไตรมาสในปีที่สอง และปีละครั้งหลังจากนั้น
    • ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ช่วงแรกคุณจะหาเงินจากไหนมาบริหารธุรกิจ ธนาคาร นักลงทุนที่ชอบความเสี่ยง นักลงทุนใจดี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เงินเก็บของคุณเอง ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ เวลาที่คุณเริ่มต้นธุรกิจให้คิดถึงหลักความจริง คุณอาจจะไม่ได้ทำกำไรจากโปรเจกต์ของคุณได้ 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นคุณจำเป็นต้องมีเงินสำรองเตรียมไว้ให้เพียงพอเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ จนกว่าคุณจะพร้อมดำเนินธุรกิจเต็มตัว หนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวอย่างแน่นอนก็คือ การมีเงินทุนไม่เพียงพอ
    • ราคาที่คุณตั้งใจจะขายสินค้าหรือบริการอยู่ที่เท่าไหร่ คุณต้องใช้ต้นทุนในการผลิตเท่าไหร่ ประเมินกำไรสุทธิออกมาคร่าวๆ โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายตายตัว เช่น ค่าเช่า ค่าพลังงาน พนักงาน และอื่นๆ
  7. ส่วนแรกของแผนธุรกิจก็คือข้อมูลสรุป เมื่อคุณเขียนส่วนอื่นๆ ออกมาแล้ว ให้อธิบายคอนเซปต์ธุรกิจในภาพรวม วิธีการทำเงิน จำนวนเงินทุนที่คุณต้องใช้ สถานะในปัจจุบัน ได้แก่ สถานะทางกฎหมาย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและประวัติคร่าวๆ และสิ่งอื่นๆ ที่ทำให้ธุรกิจของคุณดูเหมือนเป็นแผนการที่น่าจะประสบความสำเร็จ
  8. เมื่อคุณวางแผนธุรกิจทั้งหมดเรียบร้อย มีเงินทุน และมีพนักงานในระดับพื้นฐานแล้ว เริ่มดำเนินธุรกิจได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งถกกับวิศวกร เขียนโค้ดและทดสอบซอฟต์แวร์ หรือหาแหล่งวัสดุพร้อมกับส่งมาที่ห้องคิดค้น (หรือที่รู้จักกันดีว่า "โรงรถ") หรือซื้อจำนวนมากและตั้งราคา กระบวนการสร้างสินค้าคือช่วงเวลาที่คุณเตรียมตัวให้พร้อมสู่ตลาด ระหว่างนี้คุณอาจจะค้นพบสิ่งต่างๆ เช่น :
    • ความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไอเดีย สินค้าของคุณอาจจะต้องเปลี่ยนสี เนื้อสัมผัส หรือขนาด บริการของคุณอาจจะต้องกว้างขึ้น แคบลง หรือมีรายละเอียดมากกว่านี้ ช่วงนี้คือช่วงเวลาที่คุณจะต้องใส่ใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการทดสอบและพัฒนาสินค้า คุณจะรู้เองโดยธรรมชาติเมื่อมีสิ่งที่จำเป็นต้องปรับเพื่อให้สินค้าดีขึ้น หรือทำให้ต่างจากสินค้าที่ดูน่าเบื่อของคู่แข่ง
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 6:

จัดการเรื่องเงิน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องอาศัยเงินทุนในการเริ่มต้น ตามปกติแล้วจะต้องมีเงินไว้สำหรับซื้อสิ่งของและอุปกรณ์ รวมไปถึงการทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้สักช่วงหนึ่งก่อนที่จะเริ่มทำกำไร ที่แรกที่คุณจะมองหาเงินทุนก็คือตัวเอง
    • คุณมีเงินลงทุนหรือเงินออมไหม ถ้ามีลองแบ่งมาส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ คุณไม่ควรนำเงินเก็บทั้งหมดไปลงทุนในธุรกิจเด็ดขาดเพราะมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว นอกจากนี้คุณก็ไม่ควรนำเงินในกองทุนสำรองฉุกเฉิน (ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้มีเงินเท่ากับรายได้ 3-6 เดือนเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน) มาลงทุนเด็ดขาด หรือเงินที่คุณจำเป็นต้องใช้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าสำหรับภาระต่างๆ
    • คุณอาจจะพิจารณาสินเชื่อบ้านแลกเงิน ถ้าคุณมีบ้าน การมองหาสินเชื่อบ้านแลกเงินก็เป็นไอเดียที่ดีเหมือนกัน เพราะตามปกติแล้วสินเชื่อเหล่านี้จะอนุมัติง่าย (เพราะมีบ้านเป็นหลักทรัพย์ที่รับรองอยู่แล้ว) และอัตราดอกเบี้ยก็มักจะต่ำกว่าด้วย
    • กู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ หากคุณเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ คุณก็สามารถกู้ยืมเงินได้ตามข้อกำหนดของสหกรณ์นั้นๆ และอัตราดอกเบี้ยมักจะถูกกว่าการกู้สินเชื่อจากธนาคาร
    • การเก็บเงินล่วงหน้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าคุณทำงาน ให้เก็บเงินเดือนบางส่วนไว้สักระยะเพื่อเป็นเงินทุนเริ่มต้น
    • ไปที่ธนาคารเพื่อสอบถามเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กหรือวงเงินสินเชื่อ เวลาที่ไปสอบถามให้ไปที่สถาบันการเงินหลายๆ แห่งเพื่อให้แน่ใจว่า คุณได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด
  2. หมั่นตรวจสอบต้นทุนดำเนินงานและปรับให้สอดคล้องกับที่คุณคาดการณ์ไว้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นว่ามีอะไรสิ้นเปลือง เช่น ค่าไฟ แพ็กเกจโทรศัพท์ เครื่องเขียน บรรจุภัณฑ์ ให้ทบทวนและประเมินว่าคุณจำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่าไหร่ และลดหรือตัดต้นทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนเริ่มต้นให้ใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์ รวมไปถึงการเช่าอุปกรณ์แทนที่จะซื้อ และใช้การแพ็กเกจเติมเงินสำหรับบริการที่ต้องใช้ในธุรกิจแทนการมัดตัวเองไว้กับสัญญาระยะยาว
  3. คุณอาจจะประมาณการไว้ว่าต้องใช้เงิน 150,000 บาทในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งก็ได้อยู่ คุณได้เงินมา 150,000 บาท ซื้อโต๊ะทำงาน ปรินเตอร์ และวัตถุดิบ จากนั้นก็เข้าเดือนที่สอง สินค้ายังอยู่ในระหว่างการผลิตและถึงเวลาต้องจ่ายค่าเช่าแล้ว ค่าจ้างพนักงานก็ต้องจ่าย และค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็ประดังประเดเข้ามาพร้อมๆ กัน เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทางออกเดียวของคุณก็น่าจะเป็นการม้วนเสื่อกลับบ้าน ถ้าเป็นไปได้พยายามหาเงินสำรองไว้เผื่อไม่มีรายได้เลย 1 ปี
  4. ในตอนเริ่มต้นให้วางแผนใช้จ่ายค่าอุปกรณ์สำนักงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้น้อยที่สุด คุณไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศบนที่ดินย่านทำเลทอง เก้าอี้สำนักงานรุ่นใหม่ล่าสุด และผลงานศิลปะแพงหูฉี่บนผนัง ห้องเล็กเท่ารูหนูที่มีที่อยู่ชัดเจนก็เพียงพอแล้วหากคุณสามารถใช้ศิลปะในการพูดชวนลูกค้าไปประชุมที่ร้านกาแฟในละแวกได้ทุกครั้ง (ออกมาพบลูกค้าที่โถง) ธุรกิจสตาร์ตอัปหลายแห่งล้มเหลวเพราะเอาเงินไปซื้อของเก๋ๆ ราคาแพงแทนที่จะเน้นไปที่ตัวธุรกิจ
  5. คุณต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ได้เงินจากผู้ว่าจ้างหรือลูกค้า คุณอาจจะใช้ Square ซึ่งเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กมากๆ เพราะใช้เอกสารน้อยและค่าธรรมเนียมไม่แพง แต่ถ้าคุณไม่สบายใจที่จะใช้เทคโนโลยีเท่าไหร่ คุณก็สามารถสอบถามเกี่ยวกับบัญชีผู้ค้าแบบดั้งเดิมได้
    • บัญชีผู้ค้าคือสัญญาภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ธนาคารของผู้ค้าได้ขยายวงเงินสินเชื่อให้ผู้ค้าที่ต้องการจะรับการทำธุรกรรมบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจากผู้ให้บริการ ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีสัญญา เราจะไม่สามารถรับการชำระเงินจากผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลักได้ แต่ Square เข้ามาเปลี่ยนในจุดนี้ เพราะฉะนั้นอย่าจำกัดตัวเองไว้กับทางเลือกนี้เท่านั้น แต่ให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย
    • Square คืออุปกรณ์รูดบัตรที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต และเปลี่ยนอุปกรณ์นั้นให้เป็นเหมือนกับเครื่องบันทึกการเก็บเงิน คุณอาจจะเคยเจออุปกรณ์นี้ในธุรกิจต่างๆ ที่คุณไปใช้บริการบ่อยๆ เพราะมันเริ่มเป็นที่นิยมในร้านกาแฟ ร้านอาหาร ซุ้มขายอาหารข้างทาง และธุรกิจอื่นๆ (สังเกตสี่เหลี่ยมจัตุรัสพลาสติกขนาดเท่าสแตมป์ที่เสียบอยู่กับแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์)
    • จำไว้ว่า PayPal 2C2P และ GM Prime Pay ต่างก็ให้บริการแบบเดียวกัน อย่าลืมศึกษาตัวเลือกทั้งหมดก่อนตัดสินใจ
    • ถ้าคุณเป็นธุรกิจออนไลน์ บริการอย่าง PayPal ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการรับชำระเงินและโอนเงิน
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 6:

ครอบคลุมด้านกฎหมาย

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. อุปสรรคมากมายรอให้คุณกระโดดข้ามขณะที่คุณเปลี่ยนจากคนทำงานทั่วไปกลายเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ทำงานหนักและรายได้น้อย อุปสรรคเหล่านั้นรวมถึงเอกสารเกี่ยวกับกฎและระเบียบกองโต ตั้งแต่ข้อตกลงของอาคาร ข้อบัญญัติขององค์กรส่วนท้องถิ่น ใบอนุญาตจากเขต ข้อกำหนดของทางจังหวัด ภาษี ค่าธรรมเนียม สัญญา หุ้น การเป็นหุ้นส่วน และอื่นๆ การมีใครสักคนที่คุณสามารถโทรหาได้เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นนอกจากจะทำให้คุณไม่ต้องว้าวุ่นใจแล้ว ยังทำให้คุณมีทรัพยากรที่จำเป็นมากที่สามารถช่วยคุณวางแผนไปสู่ความสำเร็จได้

    เคล็ดลับ : เลือกคนที่คุณรู้สึก "คลิก" และคนที่ทำให้เห็นว่าเขาหรือเธอเข้าใจธุรกิจของคุณ นอกจากนี้คุณยังต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ด้วย เพราะที่ปรึกษากฎหมายที่ขาดประสบการณ์อาจทำให้คุณเจอความยุ่งยากในด้านกฎหมาย หรือแม้แต่ต้องเสียค่าปรับและจำคุกด้วย

  2. คุณต้องมีใครสักคนที่สามารถรับผิดชอบด้านการเงินได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าคุณสามารถจัดการเรื่องบัญชีได้เอง คุณก็ยังต้องมีใครสักคนที่เข้าใจเรื่องภาษีในการดำเนินธุรกิจอยู่ดี ภาษีกับธุรกิจอาจเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะฉะนั้น (อย่างน้อย) คุณต้องมีที่ปรึกษาด้านภาษี และย้ำอีกครั้งว่าไม่ว่าพวกเขาจะจัดการเรื่องการเงินของคุณมากน้อยแค่ไหน ก็ควรต้องเป็นคนที่เชื่อใจได้
  3. คุณจะต้องตัดสินใจว่า คุณอยากดำเนินธุรกิจในรูปแบบไหนเพื่อประโยชน์ทางภาษีและหวังว่าสุดท้ายแล้วจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาด้วย คุณจะทำขั้นตอนนี้หลังจากที่คุณตัดสินใจแล้วว่า คุณต้องการเงินจากคนอื่นไม่ว่าจะในรูปแบบของกรรมสิทธิ์หุ้นส่วนหรือสินเชื่อ พร้อมกับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและบัญชี ขั้นตอนนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนสุดท้ายที่คุณต้องทำก่อนที่คุณจะใช้เงินจริงๆ หรือขอเงินจากคนอื่น คนส่วนใหญ่ก็จะคุ้นเคยกับบริษัท บริษัทจำกัด และอื่นๆ แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ส่วนใหญ่แล้ว คุณจะต้องกำหนดโครงสร้างธุรกิจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังต่อไปนี้ [1]  :
    • เจ้าของกิจการคนเดียว ถ้าคุณดำเนินธุรกิจด้วยตนเองหรือกับคู่สมรส (ไม่รวมพนักงาน)
    • หุ้นส่วนทั่วไป ถ้าคุณดำเนินธุรกิจกับหุ้นส่วน
    • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งประกอบด้วยหุ้นส่วนทั่วไปจำนวนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ และหุ้นส่วนจำกัดอีกจำนวนหนึ่งที่รับผิดชอบตามจำนวนเงินที่พวกเขาลงทุนในธุรกิจ ทุกคนแบ่งกำไรและการขาดทุนร่วมกัน
    • ห้างหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ ที่ไม่มีหุ้นส่วนคนไหนต้องรับผิดชอบต่อความประมาทเลินเล่อของหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 6:

ทำการตลาด

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. สร้างเว็บไซต์ . ถ้าคุณขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ลงมือบุกตลาด E-Commerce และจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเองหรือจ้างคนอื่นก็ได้ เว็บไซต์คือหน้าร้านของคุณ เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรที่คุณทำได้เพื่อให้คน อยาก เข้ามาดูและ อยาก อยู่ต่อไปเรื่อยๆ ให้ทำทุกอย่างเลย
    • ในอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าธุรกิจของคุณเน้นประสบการณ์ "ด้วยตนเอง" มากกว่า การตลาดแบบดั้งเดิมก็อาจสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ถ้าคุณเริ่มธุรกิจจัดสวน ให้เน้นไปที่การทำให้เพื่อนบ้านพูดกันปากต่อปากก่อนเริ่มทำเว็บไซต์
    • เวลาทำเว็บไซต์ให้จำไว้ว่า ความเรียบง่ายและความชัดเจนคือหัวใจสำคัญ การออกแบบอย่างเรียบง่ายที่อธิบายชัดเจนว่าคุณทำอะไร คุณทำอย่างไร และค่าบริการเท่าไหร่นั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อคุณทำเว็บไซต์ อย่าลืมเน้นว่าทำไมธุรกิจของคุณจึงสามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้ดีที่สุด
  2. ถ้าคุณตัดสินใจที่จะทำเว็บไซต์ เว็บไซต์ของคุณจะต้องดูเป็นมืออาชีพ การจ้างนักออกแบบอาจมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงแรก แต่เว็บไซต์ที่สวยงามและน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญ เว็บไซต์ของคุณจะต้องดูเป็นมืออาชีพและใช้งานง่าย ถ้าคุณจะให้มีการทำธุรกรรมการเงินบนเว็บไซต์ด้วย ให้ลงทุนในเรื่องของการเข้ารหัสลับเพื่อความปลอดภัย และตรวจสอบว่าบริษัทโอนเงินที่คุณเลือกนั้นน่าเชื่อถือและไว้ใจได้
  3. คุณอาจจะเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการของคุณอย่างแท้จริง แต่ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ คนอื่นก็ต้องเชื่อด้วยเหมือนกัน ถ้าคุณไม่ถนัดด้านโฆษณาและการตลาดเท่าไหร่ หรือคุณไม่ชอบนำเสนอการขายเลย ตอนนี้คือเวลาที่คุณต้องเอาชนะความรู้สึกเหล่านั้นและสวมหน้ากากนักประชาสัมพันธ์ คุณต้องคิดบทพูดขายงานสั้นๆ ที่ยอดเยี่ยมเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่า พวกเขาต้องการสินค้าหรือบริการของคุณ บทพูดนั้นจะต้องสะท้อนค่านิยม วัตถุประสงค์ และศักยภาพของสิ่งที่ธุรกิจของคุณนำเสนอ เขียนบทพูดขายงานออกมาหลายๆ แบบจนกว่าคุณจะเจออันที่คุณรู้สึกพอใจที่บอกเล่าเกี่ยวกับธุรกิจของคุณทั้งหมดและเป็นสิ่งที่คุณพร้อมจะพูดออกมา จากนั้นก็ซ้อมพูดอย่างบ้าคลั่ง!

    เคล็ดลับ: การมีนามบัตรที่ดูเตะตาและน่าสนใจก็อาจเป็นสิ่งที่สามารถทำได้แล้วแต่ลักษณะของธุรกิจ

  4. ใช้เวลาค่อยๆ สร้างภาพลักษณ์ในโซเชียลมีเดียให้ดูดี. ขั้นตอนนี้สามารถทำได้ก่อนที่ธุรกิจจะเปิดตัวเพื่อเพิ่มการรอคอย ใช้ Facebook, Google+ และ Twitter รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่คุณใช้อยู่สร้างความตื่นเต้นและกระจายข่าว คุณต้องการสร้างกระแสเพื่อให้คนเริ่มติดตามความก้าวหน้าของคุณ (อย่าลืมเลือกบัญชีธุรกิจสำหรับธุรกิจของคุณ และแยกบัญชีส่วนตัวไว้ต่างหาก ข้อความที่คุณส่งไปควรจะใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันแล้วแต่ว่าคุณส่งจากบัญชีไหน)
  5. เมื่อสินค้าของคุณทำขึ้นแล้วหรือบริการของคุณพัฒนาแล้ว และมีการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผลว่าพร้อมขายเมื่อไหร่ ให้เริ่มทำการตลาดได้เลย
    • ถ้าคุณจะโฆษณาในวารสาร พวกเขาต้องใช้สำเนาหรือภาพถ่ายอย่างน้อยล่วงหน้าสองเดือนก่อนตีพิมพ์
    • ถ้าคุณจะขายในร้านค้า ให้รับคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า และจัดสรรพื้นที่บนชั้นวางให้เรียบร้อย ถ้าคุณจะขายทางออนไลน์ ให้เตรียมเว็บไซต์ E-Commerce ไว้ให้พร้อมขาย
    • ถ้าคุณให้บริการ ให้โฆษณาในวารสารการค้าและวิชาชีพที่เหมาะสม หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
    โฆษณา
ส่วน 6
ส่วน 6 ของ 6:

เปิดตัวธุรกิจ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศหรือคลังสินค้า ถ้าคุณต้องการพื้นที่ที่ใหญ่กว่าโรงรถหรือห้องนอนแขก ก็ถึงเวลาต้องหาพื้นที่แล้ว
    • ถ้าโดยทั่วไปแล้วคุณไม่ได้ต้องการออฟฟิศนอกเหนือจากที่บ้าน แต่ต้องการพื้นที่สำหรับประชุมบ้างเป็นครั้งคราว ก็มีสถานที่มากมายที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้น แค่ค้นหาใน Google อย่างรวดเร็วว่า "เช่าห้องประชุม [เขต/จังหวัดที่คุณอยู่]" ก็จะมีตัวเลือกพื้นที่ให้เช่าต่างๆ ในละแวกขึ้นมากมาย
    • คุณต้องติดต่อเทศบาลท้องถิ่นเกี่ยวกับกฎหมายการแบ่งเขต ธุรกิจขนาดเล็กบางประเภทไม่สามารถดำเนินกิจการที่บ้านได้ และคุณต้องแน่ใจว่าธุรกิจของคุณดำเนินการอยู่ในเขตพื้นที่ที่เหมาะสม
  2. เมื่อสินค้าของคุณทำเสร็จเรียบร้อย ห่อบรรจุภัณฑ์ ใส่รหัส ใส่ข้อมูลออนไลน์ และพร้อมขาย หรือบริการของคุณทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบและพร้อมเข้าสู่ตลาดแล้ว ให้จัดงานพิเศษเพื่อเปิดตัวธุรกิจของคุณ ส่งข้อมูลสำหรับทำข่าว ประกาศให้โลกรู้ โพสต์ใน Twitter และ Facebook ให้ทุกซอกทุกมุมของตลาดได้ยินข่าวของคุณ คุณมีธุรกิจใหม่แล้ว!

    เคล็ดลับ : จัดงานเลี้ยงและเชิญคนที่สามารถกระจายข่าวให้คุณได้มาร่วมงาน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากก็ได้ แค่ซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านขายของยกโหลและให้ครอบครัวกับเพื่อนๆ มาช่วยเรื่องการจัดเลี้ยง (คุณสามารถให้สินค้าหรือบริการเป็นการตอบแทนได้)

    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • มอบคุณค่าและบริการให้แก่คนที่อาจจะมาเป็นลูกค้าของคุณเสมอ แม้ว่าตอนนี้พวกเขาจะยังไม่ใช่ลูกค้าของคุณก็ตาม เมื่อพวกเขาต้องการสินค้าของคุณขึ้นมา จริงๆ คุณต้องทำให้พวกเขาคิดถึงคุณเป็นคนแรก
  • การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตทำให้ธุรกิจออนไลน์อาจกลายเป็นหนึ่งในวิธีเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายที่สุด และมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของทุนเริ่มต้นน้อยกว่าธุรกิจที่มีหน้าร้าน
  • เรียนรู้อยู่เสมอและพร้อมปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง หาคู่คิด ที่ปรึกษา องค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท้องถิ่น กระทู้ในอินเทอร์เน็ต และวิกิเพื่อพูดคุยรายละเอียดประจำวันเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจเล็กๆ ตราบใดที่เราไม่ต้องมาเสียเวลาและพลังงานไปกับการ "แก้ปัญหาที่มีคนแก้ได้แล้ว" ในเรื่องของงานหลังบ้าน เราก็จะบริหารธุรกิจหลักของเราให้ราบรื่นและรุ่งเรืองได้ไม่ยาก
  • บริษัทที่ขายสินค้าให้ลูกค้าโดยตรงส่วนใหญ่จะใช้ทุนเริ่มต้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีหน้าร้านแบบดั้งเดิม นอกจากนี้เมื่อเทียบกับธุรกิจแบบดั้งเดิมแล้วยังถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าด้วย
  • นอกจากนี้คุณก็อาจจะขายสินค้าใน Lazada หรือ Shopee ด้วยก็ได้
  • คุณอาจจะเริ่มต้นเล็กๆ จากสินค้าแค่ 1-2 ตัวก่อน แล้วค่อยเพิ่มไอเดียดีๆ เข้าไปเรื่อยๆ ระหว่างที่คุณทำธุรกิจ!
  • อย่ากลัวที่จะทดลองราคา คุณควรกำหนดราคาต่ำสุดสำหรับสินค้าหรือบริการที่คุณจะขายเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน แต่ก็ให้ทดลองความแตกต่างระหว่างการตั้งสินค้าราคาประหยัดกับราคาสูงไว้ด้วย
  • เชื่อมั่นในตัวเองอยู่เสมอแม้ว่าเรื่องเงินจะลงเหว
  • เสี่ยง ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่เสี่ยง เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาสเสี่ยง อย่ากลัว
  • มั่นใจและทำทุกอย่างให้สุดตัว และเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ไม่ประสบความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้น
  • เมื่อคุณเปิดตัวธุรกิจ ให้เก็บคำวิจารณ์และคำชมมาต่อยอด ความคิดเห็นเหล่านี้อาจเป็นบทเรียนล้ำค่าสำหรับการเริ่มธุรกิจใหม่ และยังช่วยให้คุณพัฒนาธุรกิจไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย
โฆษณา

คำเตือน

  • ระวังคนที่บอกให้คุณจ่ายเงินก่อนจะส่งมอบธุรกิจให้คุณ การค้าขายจะเจริญรุ่งเรืองก็ต่อเมื่อ ทั้งสองฝ่าย ได้ประโยชน์ [2] เพราะฉะนั้นธุรกิจเองก็ควรจะเต็มใจจ่ายเงินที่คุณทำงานให้ (ร้านค้าแฟรนไชส์หรือธุรกิจขายบ้านอาจมีทุนเริ่มต้นที่สมเหตุสมผล แต่ทุนเริ่มต้นที่พวกเขาเรียกจากคุณในการเริ่มต้นธุรกิจก็ควรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงด้วย เพื่อให้ผู้จัดการได้เงินจากความสำเร็จของคุณ ไม่ใช่แค่ดึงคุณเข้าไป)
  • ระวังข้อเสนอทางธุรกิจที่ดูเหมือนจะให้ "อะไรบางอย่างโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย" เพราะมันอาจจะเกี่ยวข้องกับการได้อะไรจากใครบางคน ซึ่งก็มักจะเป็นคุณเอง ข้อเสนอลักษณะนี้มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน และบางข้อเสนอก็ดูน่าเชื่อถือกว่าข้อเสนออื่นๆ ตัวอย่างก็เช่นธุรกิจพีระมิด [3] และการโกงโดยหลอกให้จ่ายเงินล่วงหน้า [4]
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 33,212 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา