ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การออมเงินนั้นเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก — ว่าที่จริงทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ฉลาดถ้าเราคอยเก็บออมอยู่ตลอด แต่ส่วนใหญ่มักทำไม่ค่อยได้ การออมเงินนั้นคือสิ่งที่เป็นมากกว่าแค่การใช้เงินให้น้อยลง (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอตัวอยู่แล้ว) คนที่ออมเงินได้ดีนั้นจะต้องพิจารณาการใช้จ่ายเงินที่มีไปพร้อมๆกับการหาทางเพิ่มรายรับให้มากขึ้น ลองเริ่มเรียนรู้จากขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อที่จะตั้งเป้าหมายการออมเงินที่เป็นจริงได้ จัดการรายจ่าย และใช้เงินที่มีให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาวได้มากที่สุด

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

รับผิดชอบต่อการออมเงิน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. วิธีการออมเงินที่ง่ายที่สุดโดยไม่ใช้หมดเสียก่อนก็คือ “เก็บเงินไว้ในที่ๆ เราจะไม่มีโอกาสเอามาใช้ได้ตั้งแต่แรก” ให้จัดการแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายรับประจำเดือนและฝากไว้กับบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีสำหรับการเกษียณ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องมานั่งตัดสินใจภายหลังว่าจะต้องออมเงินและใช้จ่ายเท่าไหรดีในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังเป็นการออมเงินโดยอัตโนมัติและเราสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ได้ตามต้องการภายหลัง เมื่อเวลาผ่านไป แม้ว่าเราจะแบ่งเงินออมเพียงแค่จำนวนเล็กน้อย แต่ยอดรวมก็จะค่อยๆสะสมมากขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเอาดอกเบี้ยมาคิดรวมเข้าไปด้วย) ดังนั้นเราจึงควรเริ่มออมเงินให้เร็วที่สุดจะเป็นผลดีที่สุด
    • ในการเริ่มฝากบัญชีอัตโนมัติ ให้ติดต่อฝ่ายบัญชีของบริษัท (หรือบริษัทบัญชีที่ที่ทำงานของเราใช้บริการอยู่) ถ้าเรามีบัญชีออมทรัพย์อยู่แล้วก็สามารถให้ฝากเงินเข้าไปได้ทันที
    • ถ้าเราไม่สามารถฝากเงินแบบอัตโนมัติได้ในแต่ละเดือน (ทำธุรกิจส่วนตัวหรือรับทำงานอิสระ และมีรายรับเป็นเงินสด) ให้แยกเงินสดจากรายรับที่ได้มาจำนวนหนึ่งและฝากเข้ากับบัญชีออมทรัพย์ทุกๆเดือน”อย่างสม่ำเสมอ”
  2. หนี้บางอย่างอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นการซื้อบ้าน สำหรับเศรษฐีนั้นสามารถซื้อบ้านและจ่ายเป็นเงินสดได้เต็มจำนวนในครั้งเดียว แต่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นหนี้เพื่อกู้เงินและค่อยๆผ่อนใช้คืน อย่างไรก็ตามให้พยายามหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะการจ่ายเงินตอนซื้อครั้งแรกครั้งเดียว ย่อมถูกกว่าการผ่อน ซึ่งมีดอกเบี้ยสะสมตลอดระยะเวลาที่เราเป็นหนี้
    • ถ้าหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ไม่ได้ ให้ดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งเราจ่ายเงินดาวน์ไปมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งสามารถผ่อนคืนได้หมดเร็วขึ้น และดอกเบี้ยก็จะน้อยลงตามไปด้วย
    • แม้ว่าสถานะทางการเงินของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ธนาคารส่วนใหญ่แนะนำว่าเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนควรที่จะอยู่ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักภาษี แม้ว่ายอดการผ่อนชำระต่อเดือนที่อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 20 นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับหนี้บางจำนวน บางครั้งการผ่อนชำระร้อยละ 36 ต่อเดือนก็ถือเป็นขีดจำกัดที่ไม่ควรเกิน [1]
  3. มันจะง่ายกว่าถ้าเรามีจำนวนเงินหรือเป้าหมายการออมที่แน่นอน ให้ตั้งเป้าหมายที่เราสามารถทำได้จริงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในตัดสินใจเพื่อการออม สำหรับการออมเพื่อเป้าหมายใหญ่ๆ เช่นการซื้อบ้าน อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีหรืออาจถึงสิบปี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องคอยดูความคืบหน้าของเราเป็นระยะ โดยแค่เรามองภาพรวมกว้างๆ ก็จะสามารถเห็นว่าเราออมเงินมาได้เท่าไหร่ และเหลืออีกเท่าไหร่จึงจะถึงเป้าหมาย
    • เป้าหมายใหญ่ๆ เช่นการออมเงินเพื่อการใช้หลังเกษียณนั้นใช้เวลานานมาก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น สภาวะเศรษฐกิจอาจจะแตกต่างไปจากปัจจุบัน (เช่น เงินเฟ้อ) เราอาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาและวิเคราะห์อนาคตก่อนที่เราจะตั้งเป้าหมายการออมเงิน ตัวอย่างเช่น นักการเงินมักจะกล่าวว่า เราต้องมีเงินสำหรับใช้จ่ายต่อปียามเกษียณประมาณร้อยละ 60-85 ของรายรับต่อปีในช่วงที่เรามีรายได้สูงที่สุด เพื่อที่เราสามารถจะใช้ชีวิตด้วยความเป็นอยู่แบบเดิมต่อไปได้ [2]
  4. ตั้งเป้าหมายระยะเวลาการออมที่ท้าทาย (แต่ต้องเป็นไปได้) จะช่วยให้สร้างแรงบันดาลใจให้เรา ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองภายใน 2 ปี เราจะต้องเริ่มศึกษาราคาบ้านเฉลี่ยในบริเวณที่เราต้องการและเริ่มออมเงินดาวน์ (โดยส่วนใหญ่ เงินดาวน์มักจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของราคาบ้าน) [3]
    • จากตัวอย่างข้างบน ถ้าราคาบ้านโดยประมาณเท่ากับ 10 ล้านบาท เราจะต้องออมเงินให้ได้ 10,000,000 × 20% = 2,000,000 บาท ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายรับของเราด้วย
    • การตั้งกรอบเวลานั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะเป้าหมายการออมเงินระยะสั้น เช่น ถ้ารถของเราจะต้องซ่อมเกียร์ในเร็วๆนี้ แต่ไม่มีเงินพอ เราจะต้องรีบเก็บเงินให้ได้เร็วที่สุดก่อนที่เกียร์จะพังจนรถวิ่งไม่ได้ การมีกรอบเวลาที่ชัดเจนเช่นนี้จะช่วยให้เราออมเงินไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ
  5. ว่าที่จริงเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะตั้งเป้าหมายการออมเงิน แต่ถ้าเราไม่ได้ควบคุมรายจ่ายแล้วละก็เป็นเรื่องยากที่จะออมเงินได้สำเร็จ เพื่อให้การเงินของเราเป็นระบบระเบียบ ให้เราลองตั้งงบประมาณตั้งแต่ต้นเดือน แบ่งรายรับของเราเป็นส่วนๆเพื่อใช้กับค่าใช้จ่ายใหญ่ๆจะช่วยให้เราไม่ใช้เงินเกิน โดยแบ่งส่วนเงินของเราทันทีที่ได้รับ
    • ตัวอย่าง ถ้าเรามีรายรับเดือนละ 30,000 บาท เราอาจจะลองแบ่งรายรับได้ดังนี้:
      • ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ: 10,000 บาท
        ผ่อนชำระค่าเรียน: 3,000 บาท
        ค่าอาหาร: 5,000 บาท
        ค่าอินเตอร์เน็ต: 700 บาท
        ค่าน้ำมันรถ: 1,500 บาท
        เงินออม: 5,000 บาท
        ค่าจิปาถะ: 2,000 บาท
        ของฟุ่มเฟือยส่วนตัว: 2,800 บาท
  6. การรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำสำหรับทุกๆคนที่ต้องการจะออมเงิน แต่ถ้าเราไม่จดบันทึกค่าใช้จ่ายแล้วก็จะทำให้เราออมเงินถึงเป้าหมายได้ยาก การเราจดยอดรวมของค่าใช้จ่ายรายเดือนในแต่ละประเภทจะช่วยให้เราพบ “ปัญหา” ของการใช้เงิน จากนั้นให้เราแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามการทำอย่างนี้ต้องการความละเอียดรอบคอบอย่างมาก ขณะที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจบันทึกค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ เช่น ค่าเช่าบ้านหรือผ่อนชำระหนี้ การใส่ใจกับการจดบันทึกค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ อาจจะขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละคนด้วย
    • จะสะดวกกว่าถ้าเรามีสมุดจดเล่มเล็กๆติดตัวไว้ตลอด พยายามจดบันทึกรายจ่ายให้เป็นนิสัยและเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ (โดยเฉพาะการซื้อของใหญ่ๆ) แล้วเมื่อมีเวลา ค่อยนำมารวมกันในสมุดจดบันทึกเล่มใหญ่ หรือใส่ในโปรแกรมเช่น Microsoft Excel สำหรับเก็บบันทึกระยะยาว
    • อย่าลืมว่าทุกวันนี้ มีโปรแกรมจดบันทึกรายรับรายจ่ายมากมายที่เราสามารถดาวน์โหลดใส่โทรศัพท์มือถือได้ (ซึ่งหลายอันนั้นฟรี)
    • ถ้ามีปัญหาเรื่องการใช้เงินเกิน อย่ากลัวที่จะเก็บทุกๆใบเสร็จเมื่อจ่ายเงินออกไป และเมื่อถึงสิ้นเดือนให้เอามาแบ่งเป็นแต่ละประเภทและคิดยอดรวม แล้วเราจะตกใจว่า บางครั้งเราใช้จ่ายเกินกว่าที่จำเป็นไปมากขนาดไหน
  7. ถามหาใบเสร็จรับเงินเมื่อซื้อของด้วยตัวเอง และพิมพ์ใบเสร็จเวลาซื้อของออนไลน์ ให้แน่ใจว่าไม่ได้ถูกชาร์จเงินเกินหรือเรียกเก็บสินค้าที่คุณไม่ได้ต้องการ คุณจะแปลกใจทีเดียวที่พบว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมาก
    • ยกตัวอย่างว่าคุณไปผับกับเพื่อน แล้วคนหนึ่งสั่งมาร์การิต้าให้ทั้งกลุ่ม ให้แน่ใจว่าสุดท้ายมันไม่ได้มาลงบิลที่คุณคนเดียว การเสนอตัวออกเงินไปก่อนเพื่อให้เพื่อนคืนภายหลังนี่เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราตกระกำเอง และรับรองว่ากระเป๋าจะแห้งไปอีกนานเลย
    • อย่าหารครึ่งค่าอาหารเพียงเพราะเอาความสะดวกเข้าว่า ถ้าอาหารของคุณมีราคาเพียง ของเพื่อน ก็ไม่ควรจะไปหารครึ่ง
    • ลองคิดการโหลดแอปเพื่อให้คุณคำนวณค่าอาหารกับทิปได้สะดวกยิ่งขึ้น
  8. เงินที่เราแยกมาเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์จะสะสมรวมกับดอกเบี้ยทบต้น ยิ่งเราเริ่มออมเงินมานานเท่าไหร่ เราก็จะได้ดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ได้เปรียบถ้าเราเริ่มออมเงินเสียตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าจำนวนเงินที่แบ่งมาออมจะเพียงเล็กน้อยในช่วงวัยรุ่น ก็ให้พยายามทำต่อไป เพราะเงินที่ดูเหมือนเล็กน้อย เมื่อรวมกับดอกเบี้ยทบต้นผ่านไปนานๆก็จะสะสมและเพิ่มจำนวนเป็นหลายเท่าของเงินต้นได้
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอายุอยู่ในช่วงก่อน 30 และทำงานที่เงินเดือนไม่ได้ดีนัก แต่เราสามารถแบ่งเงินออมจนได้ครบ 10,000 บาท และนำไปฝากบัญชีฝากประจำที่มีดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีเราจะได้ดอกเบี้ยทั้งหมด 2,166.53 บาท แต่ถ้าเราฝากเงินจำนวนเท่าเดิมก่อนหน้านี้ 1 ปี เราจะได้ดอกเบี้ยเพิ่มมาถึง 500 บาทโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งถือเป็นรางวัลของการออมเงินเล็กๆแต่สำคัญมาก
  9. ในช่วงที่เรายังอายุน้อย มีกำลังและสุขภาพที่แข็งแรง การเกษียณนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องที่ห่างไกลจนแทบไม่ต้องคิดถึง แต่เมื่อถึงเวลาที่เราอายุมากขึ้นและหมดพลังเหล่านั้นแล้ว การมีเงินออมไว้ใช้อาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องคิดถึงอยู่ตลอด นอกเสียจากว่าเราจะโชคดีมีฐานะร่ำรวย การออมเงินสำหรับการเกษียณนั้นเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงเมื่อเราเริ่มมีอาชีพที่มั่นคง — ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และอย่างที่เคยกล่าวไว้ข้างบน ถึงแม้ว่าสถานะทางการเงินของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่เราควรจะวางแผนให้มีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณต่อปีประมาณร้อยละ 60-85 ของรายรับที่ได้ในปัจจุบัน เพื่อที่เราจะสามารถคงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ได้เมื่อเกษียณแล้ว
    • ให้ติดต่อบริษัทที่ทำงานเพื่อเริ่มฝากเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) การทำเช่นนี้จะเป็นการหักเงินเดือนของเราอัตโนมัติ ทำให้เราออมเงินได้ในจำนวนที่แน่นอน นอกจากนี้เงินที่ถูกหักไปยังไม่ถูกนำมาคิดภาษีเหมือนกับเงินเดือนของเรา และบริษัทส่วนใหญ่ยังจะช่วยเพิ่มเงินสมทบให้กับเราอีกด้วย โดยมักคิดเป็นร้อยละของเงินเดือน
    • กฎหมายประไทย ณ ปี 2557 กำหนดให้จำนวนเงินที่สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ต่อปีหรือ 500,000 บาท
  10. ถ้าเรามีวินัยการออมเงินและมีเงินส่วนที่เหลือ การลงทุนในหุ้นอาจจะเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ (แต่มีความเสี่ยงสูง) ก่อนที่เราจะเริ่มลงทุนในหุ้น เราต้องเข้าใจว่าเงินที่ลงทุนไปอาจจะไม่ได้กลับคืนมา โดยเฉพาะถ้าเราไม่รู้ตัวว่ากำลังลงทุนในอะไรอยู่ ดังนั้นอย่าใช้วิธีนี้เพื่อการออมเงินในระยะยาว แต่เปรียบการลงทุนในหุ้นเหมือนการพนันที่ถูกกฎหมายในจำนวนเงินที่เรายอมสูญเสียได้ คนโดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นเพื่อให้มีเงินใช้ยามเกษียณ [4]
    • สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในการลงทุนในหุ้นอย่างฉลาด ให้ศึกษาวิธีการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มเติม
  11. เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหมดกำลังใจ บางครั้งอาจจะดูไม่มีหวังหรืออาจจะดูเป็นไปไม่ได้ที่จะออมเงินให้ถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตามให้คิดว่า การเริ่มออมเงินทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเล็กน้อยเท่าไหร่ และถ้าเราเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีความมั่นคงทางการเงินเร็วขึ้นเท่านั้น
    • ถ้าเราท้อแท้กับสถานะทางการเงิน ให้ลองขอคำปรึกษาวางแผนการเงินจากหน่วยงานต่างๆ หรือธนาคาร ซึ่งส่วนมากจะให้คำปรึกษาฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาทางการเงินของเรา เราอาจจะเริ่มจากการปรึกษาฝ่ายลูกค้าบุคคลของธนาคารที่เราใช้บริการอยู่ก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีถ้าเรามีปัญหาเรื่องการออมเงิน ส่วนมากรายจ่ายที่เราเสียไปอยู่เป็นประจำมักจะเป็นสิ่งไม่จำเป็น การตัดรายการฟุ่มเฟือยออกนั้นเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงิน เพราะมันไม่ได้กระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือความสามารถในการทำงานของเรามากนัก แม้ว่าอาจจะเป็นการยากถ้าเราคิดว่าจะต้องอยู่โดยไม่ใช้รถแรงๆที่กินน้ำมันหรือเคเบิ้ลทีวี แต่เราจะประหลาดใจว่าบางครั้งเราอาจจะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นถ้าไม่มีสิ่งของเหล่านี้ รายการต่อไปนี้จะเป็นวิธีการง่ายๆที่จะช่วยให้เราตัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยออกไปได้:
    • ยกเลิกเคเบิ้ลทีวีหรืออินเตอร์เน็ตที่ไม่ค่อยได้ใช้
    • เปลี่ยนโปรโมชั่นของโทรศัพท์ไปเป็นแบบที่ประหยัดที่สุด
    • เปลี่ยนไปใช้รถที่ประหยัดน้ำมันและดูแลได้ง่ายแทนรถราคาแพงที่กินน้ำมัน
    • ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้
    • ซื้อเสื้อผ้าหรือของแต่งบ้านจากร้านขายของราคาประหยัด (Lotus, Big C หรืออื่นๆ)
  2. อาศัยอยู่ในที่ที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านมีราคาถูก. สำหรับคนทั่วไป รายจ่ายเกี่ยวกับบ้านถือเป็นรายจ่ายที่มากที่สุดของแต่ละเดือน ดังนั้นถ้าเราประหยัดเงินส่วนนี้ได้ เราจะมีเงินที่เพิ่มขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับรายจ่ายที่สำคัญอื่นๆ เช่นการออมเงินเพื่อการเกษียณ แม้ว่ามันจะไม่ง่ายนักที่จะต้องเปลี่ยนวีถีการใช้ชีวิต แต่ถ้าเรามีปัญหาเงินไม่พอใช้ อาจจะต้องลองพิจารณาในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน
    • ถ้าเราเช่าอยู่ อาจจะลองต่อรองลดค่าเช่า ซึ่งโดยทั่วเจ้าของบ้านเช่ามักจะไม่อยากรับความเสี่ยงเมื่อมีผู้เช่ารายใหม่ๆเข้ามา เราอาจจะได้ข้อตกลงเรื่องค่าเช่าที่ดีขึ้นถ้าเรามีประวัติการอยู่อาศัยที่ดี ถ้าจำเป็น เราอาจจะช่วยเจ้าของบ้านเช่าทำงานต่างๆเช่น ดูแลสวนหรือดูแลบ้าน เพื่อแลกกับค่าเช่าที่ถูกลง
    • ถ้าเราต้องผ่อนค่าบ้าน ให้ลองคุยกับเจ้าหนี้เผื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงการกู้ (Refinance) เราอาจจะได้ข้อตกลงที่ดีกว่าเดิมถ้ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และควรเลือกให้ข้อตกลงใหม่มีระยะเวลาที่สั้นที่สุด
    • เราอาจจะลองพิจารณาย้ายไปในบริเวณที่มีค่าครองชีพถูกลง เช่นอาจจะย้ายจากอยู่ใจกลางเมืองมาบริเวณชานเมือง ย้ายจากกรุงเทพมานนทบุรี เป็นต้น
  3. คนส่วนใหญ่เสียเงินไปกับของกินมากเกินจำเป็น แม้มันจะเป็นเรื่องง่ายที่จะลืมเรื่องการประหยัดเมื่อไปนั่งอยู่ในร้านอาหารหรูๆที่เราชอบ แต่ค่าอาหารนั้นสามารถเป็นรายจ่ายก้อนโตได้ถ้าหากเราไม่ควบคุม โดยทั่วไปถ้าเราซื้อของในปริมาณมากๆครั้งเดียวย่อมจะถูกกว่าแบ่งซื้อทีละน้อย — ให้ลองสมัครเป็นสมาชิกร้านค้าปลีกเช่น Macro หรือ Big C ถ้าเรามีรายจ่ายเรื่องอาหารมากๆ ให้จำไว้ว่าการซื้ออาหารเป็นมื้อๆจากร้านนั้นเป็นทางเลือกที่แพงที่สุด ดังนั้นการที่เราซื้อมาทำกินเองที่บ้านได้จะช่วยประหยัดเงินได้จำนวนมาก
    • เลือกอาหารที่มีราคาถูกและมีคุณค่าทางอาหาร มากกว่าอาการที่ผ่านกระบวนการมาแล้ว ให้ลองเลือกซื้ออาหารที่ทำสดใหม่จากร้านค้าปลีก เราอาจจะประหลาดใจว่ามันไม่ได้มีราคาแพงเลยในการที่เราจะเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า ตัวอย่างเช่น ข้าวซ้อมมือ (มีคุณค่าทางอาหารสูง) เราสามารถซื้อแบบถุงละ 5 กิโลกรัมได้ ซึ่งบางครั้งคิดแล้วตกกิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท
    • ใช้ประโยชน์จากการลดราคา ร้านค้าปลีกจำนวนมาก (โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ) มักจะมีคูปองส่วนลดและโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ พยายามติดตามและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
    • ถ้าปกติเราออกไปกินอาหารข้างนอกบ่อยๆ ให้พยายามเลิก การทำอาหารกินเองนั้นถูกกว่ามากถ้าเทียบกับอาหารจานเดียวกันที่ร้านอาหาร นอกจากนี้การทำอาหารยังช่วยฝึกทักษะที่สามารถนำไปใช้กับเพื่อน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งเป็นเสน่ห์ติดตัวที่น่าดึงดูด
  4. คนส่วนใหญ่ยอมจ่ายค่าน้ำค่าไฟโดยไม่ฉุกคิด ซึ่งจริงๆแล้วการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายประจำเดือนสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายหลายแบบ ซึ่งวิธีเหล่านี้ใครก็สามารถทำได้และไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำถ้าเราต้องการที่จะออมเงินจริงๆ ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ดีที่สุดของการทำแบบนี้คือ ลดมลภาวะทางอ้อมจากการลดการใช้พลังงาน และช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม
    • ปิดไฟถ้าไม่ได้ใช้ ไม่มีเหตุผลที่จะเปิดทิ้งไว้ถ้าเราไม่อยู่ในห้องหรือใกล้ๆบริเวณนั้น ดังนั้นจงปิดไฟ ลองติดกระดาษโน้ตเล็กๆเอาไว้ที่ประตูหากเป็นคนที่ลืมง่าย
    • พยายามงดใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความร้อนถ้าไม่จำเป็น เราสามารถลดความร้อนได้โดยเปิดหน้าต่างหรือใช้พัดลม หรือใส่เสื้อหลายๆชั้นและคลุมผ้าห่มแทนการใช้เครื่องทำความร้อนในหน้าหนาว
    • ลงทุนติดฉนวนกันความร้อนในบ้าน ถ้าเรามีเงินส่วนที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงบ้านได้ ให้เปลี่ยนฉนวนผนังบ้านที่เก่าแล้ว และใช้ฉนวนที่มีคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้ด้วยการกันอากาศร้อนหรือเย็นไหลออกจากตัวบ้าน
    • ถ้าเป็นไปได้ให้ลงทุนติดโซล่าเซลล์ การติดโซล่าเซลล์ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตให้กับตัวเอง (และสิ่งแวดล้อม) อย่างแท้จริง แม้ว่าค่าใช้จ่ายในตอนแรกอาจจะสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีนี้จะมีราคาถูกลง
  5. การเป็นเจ้าของรถยนต์ การดูแลรักษา และการใช้งานนั้นถือเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานรถบ่อยแค่ไหน ค่าน้ำมันอาจจะสูงถึงเดือนละหลายพันบาท นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าภาษีทะเบียนรถและค่าบำรุงรักษา แทนที่เราจะขับรถ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้วิธีการเดินทางที่ถูกลง (หรือฟรี) เช่น เดิน รถเมล์ หรือรถไฟฟ้า การทำแบบนี้ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดเงิน แต่อาจเป็นการออกกำลังกายและลดความเครียดจากการจราจรติดขัดได้อีกด้วย
    • ให้ลองศึกษาเส้นทางขนส่งมวลชนบริเวณใกล้เคียง ขึ้นกับว่าเราอาศัยอยู่บริเวณไหน หากอาศัยอยู่กลางใจเมืองจะมีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนจังหวัดอื่นๆอาจจะใช้รถเมล์หรือรถบัสทดแทนได้
    • ถ้าเราอาศัยอยู่ใกล้กับที่ทำงาน ให้ลองพิจารณาการเดินหรือปั่นจักรยานไปทำงาน ทั้งคู่ถือเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมสำหรับการไปทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังได้ออกกำลังกายและรับอากาศยามเช้าอีกด้วย
    • ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้รถได้ ให้ลองชวนเพื่อนที่ไปทางเดียวกันไปด้วยกัน การทำเช่นนี้จะช่วยหารเฉลี่ยค่าน้ำมันและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีเพื่อนคุยระหว่างการเดินทางไปทำงานอีกด้วย
  6. มีความสุขกับการใช้ของราคาไม่แพง (หรือของฟรี). แม้ว่าการตัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวอาจจะหมายถึงการลดสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆไป แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตเพื่อที่จะออมเงิน ให้ลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมบันเทิงไปในทางที่เราสามารถจ่ายได้โดยไม่เกินตัว ซึ่งจะช่วยให้เราพบจุดสมดุลระหว่างความสุขและการออมเงินได้ เราอาจจะประหลาดใจว่า บางครั้งเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วยเงินเพียงไม่กี่บาท
    • ให้คอยติดตามกิจกรรมต่างๆในชุมชน ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะมีปฏิทินออนไลน์ให้เราดู บ่อยครั้งกิจกรรมเหล่านี้มักจะจัดโดยหน่วยงานรัฐหรือชุมชนเองซึ่งเปิดให้เข้าร่วมได้ฟรี หรือราคาไม่แพง เช่น เข้าชมนิทรรศการศิลปะหรือสวนสัตว์ได้ฟรี หรือการแข่งขันแรลลี่ชุมชนเพื่อการกุศล
    • อ่านหนังสือ เมื่อเทียบกับการดูหนังหรือเล่นวีดีโอเกมแล้วการอ่านหนังสือมีราคาถูกกว่ามาก (โดยเฉพาะหนังสือมือสอง) หนังสือดีๆนั้นอ่านแล้วสามารถดึงดูดให้เราติดตาม และยังเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตผ่านตัวละครหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
    • สนุกกับการทำกิจกรรมที่ไม่ฟุ่มเฟือยกับเพื่อน มีสิ่งที่เราสามารถทำได้มากมายโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ เช่น การปีนเขา เล่นเกมกระดาน ดูหนังเก่าๆในโรงหนังอินดี้ เที่ยวในเมือง หรือเล่นกีฬา
  7. การติดเหล้าหรือบุหรี่มากๆนั้นทำให้การออมเงินของเราไม่สำเร็จ และที่แย่ที่สุดคือนิสัยเหล่านี้จะติดตัวเราไปจนไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ยังทำให้สุขภาพของเราแย่ในระยะยาว ให้ลดและรักษาเงินส่วนนี้ไว้ (และร่างกายของเราด้วย) ป้องกันการติดโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่แรก
    • ไม่สูบบุหรี่ ทุกวันนี้โทษของบุหรี่นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไป เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ ชัก และอีกหลายโรคที่จะตามมาจากการสูบบุหรี่ [5] ยิ่งไปกว่านั้นบุหรี่มีราคาแพง — ขึ้นอยู่กับสถานที่ บุหรี่นั้นมีราคาแพงได้ถึงซองละ 100 บาท [6]
    • อย่าดื่มเหล้ามากเกินพอดี แม้ว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยกับเพื่อนๆอาจไม่เสียหาย แต่การดื่มจนติดเป็นนิสัยจะก่อปัญหาในระยะยาว เช่น โรคตับแข็ง สภาวะจิตที่ไม่ปกติ โรคอ้วน เพ้อคลั่ง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต [7] นอกจากนี้ การดูแลคนที่ติดเหล้านั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก
    • อย่าใช้ยาเสพติด เฮโรอีน โคเคน หรือยาบ้านั้นติดได้ง่ายมาก และมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ (อาจถึงตายได้) และยังมีราคาที่แพงกว่าเหล้าและบุหรี่มาก นักดนตรีแนวคันทรี่ เวย์ล่อน เจนนิ่งส์ (Waylon Jennings) เคยยอมรับว่าเค้าเคยเสียเงินไปมากถึง 50,000 บาทต่อวันไปกับโคเคน [8]
    • ถ้าต้องการความช่วยเหลือหรือบำบัดการติดยาเสพติด อย่าลังเลที่จะติดต่อศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด โทร 1165
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ใช้เงินอย่างชาญฉลาด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. มีหลายอย่างที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ บ้าน และเสื้อผ้า ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ก่อนเสมอเวลาที่จะใช้เงิน เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถไปถึงเป้าหมายการออมเงินที่เราต้องการได้หากเราไม่มีบ้านอยู่อาศัยหรือไม่มีเงินจ่ายค่าอาหาร ดังนั้นเราจึงต้องแน่ใจว่ามีเงินจ่ายสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนอื่นหรือเก็บออม
    • อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาหาร น้ำและที่อยู่อาศัยนั้นจะเป็นสิ่งจำเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรใช้เงินกับส่วนนี้อย่างฟุ่มเฟือย ตัวอย่างเช่น การลดการออกไปกินข้าวนอกบ้านนั้นจะช่วยประหยัดรายจ่ายไปได้มาก เช่นเดียวกันกับการย้ายไปอยู่ในบริเวณที่มีค่าเช่าบ้านถูกก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้
    • ขึ้นอยู่กับว่าเราอาศัยอยู่บริเวณไหน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยนั้นสามารถทำให้เราหมดรายรับส่วนมากไปได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนใหญ่แนะนำว่าไม่ควรทำสัญญาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ต้องจ่ายเงินเกินกว่า 1 ใน 3 ของรายรับต่อเดือน [9]
  2. ขั้นต่อไปให้ออมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน. เช่นตกงาน ถ้าเราไม่มีเงินเก็บส่วนนี้ให้รีบเริ่มทันที การมีเงินจำนวนหนึ่งสำรองเอาไว้จะช่วยให้เราจัดการและเอาตัวรอดผ่านวิกฤตเช่นการตกงานได้ง่ายขึ้น หลังจากที่จ่ายค่าใช้จ่ายที่สำคัญๆครบแล้ว ควรแบ่งเงินไว้สำหรับสำรองในส่วนนี้จนกระทั่งมีเงินที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตได้ประมาณ 3-6 เดือน
    • อย่าลืมว่าค่าครองชีพในแต่ละที่นั้นไม่เท่ากัน เช่นการอาศัยอยู่ต่างจังหวัดอาจจะใช้เงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน แต่ในใจกลางกรุงเทพ เงินจำนวนนี้อาจจ่ายค่าเช่าห้องไม่พอด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าเราอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีค่าครองชีพสูง เงินสำรองของเราต้องมีจำนวนมากตามไปด้วย
    • การมีเงินสำรอง นอกจากจะช่วยให้เราไม่ลำบากเมื่อตกงานแล้ว ยังช่วยให้เรามีรายรับพิเศษ (จากดอกเบี้ย) อีกด้วย ถ้าหากเราตกงานโดยที่ไม่มีเงินสำรอง เราก็จำเป็นที่จะต้องเลือกงานแรกที่เราหาได้ แม้ว่าเงินเดือนหรือผลตอบแทนอาจจะไม่ดีก็ตาม ในทางกลับกันถ้าเรามีเงินสำรองเอาไว้จะทำให้เรามีเวลาที่จะ “เลือก” งานที่ดีกว่าได้
  3. การมีหนี้ที่ไม่ได้ควบคุมจะทำให้เราไม่สามารถออมเงินได้เลย หากเรายอมผ่อนจ่ายหนี้ในจำนวนที่น้อยๆ (ผ่อนยาวๆ) จะเท่ากับว่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากกว่าการเร่งจ่ายหนี้ให้หมดเร็วที่สุด การเร่งจ่ายหนี้ให้หมดก่อนนั้นก็ถือเป็นการประหยัดเงินในระยะยาว โดยให้เราแบ่งรายรับส่วนหนึ่งมาสมทบการจ่ายหนี้เพื่อที่จะได้ลดเงินต้นไปให้มากที่สุด มีกฎที่ใช้ได้ทั่วไปว่า จ่ายหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดให้หมดก่อนเป็นวิธีการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
    • เมื่อเราบริหารเงินให้ครอบคลุมรายจ่ายที่จำเป็นและสำรองเงินฉุกเฉินไว้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็สามารถแบ่งรายรับที่ได้มาพิเศษเพื่อไปจ่ายหนี้ได้ หรือถ้าเรายังไม่มีเงินสำรองก็อาจจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายหนี้และอีกส่วนเข้าบัญชีเงินเก็บสำรองไปพร้อมๆกันก็ได้
    • ถ้าเรามีหนี้หลายก้อนและลำบากในการผ่อนชำระ ให้ลองขอรวมหนี้เข้าเป็นก้อนเดียว ซึ่งสามารถทำได้และอาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราขอรวมหนี้แล้ว ระยะเวลาที่จะต้องผ่อนชำระอาจจะต้องยาวกว่าเดิม
    • เราอาจจะลองขอประนอมหนี้กับผู้ให้กู้เพื่อขอลดดอกเบี้ยได้ เพราะถ้าหากเราไม่สามารถผ่อนชำระได้ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ให้กู้เอง ดังนั้นการต่อรองอาจทำให้เราได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อให้เราสามารถผ่อนหนี้ได้สะดวกขึ้น
    • ให้ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากวิธีการปลดหนี้
  4. ถ้าเราสามารถเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้จำนวนหนึ่งและจ่ายหนี้ได้หมด (หรือเกือบหมด) แล้ว ก็ควรที่จะแบ่งเงินไปฝากในบัญชีออมทรัพย์ โดยเงินส่วนนี้จะต่างกันกับเงินสำรองฉุกเฉินก็คือ เราจะพยายามหลีกเลี่ยงและไม่ไปแตะเงินสำรองถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่เงินที่เราฝากบัญชีออมทรัพย์นั้นจะมีไว้เพื่อการซื้อของหรือรายจ่ายใหญ่ๆที่สำคัญๆ เช่น ซ่อมรถที่ต้องใช้ขับไปทำงาน อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรใช้เงินส่วนนี้โดยไม่จำเป็นเพื่อให้มันสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าทำได้ให้แบ่งเงินอย่างน้อยร้อยละ 10-15 จากเงินเดือนเพื่อเข้าบัญชีออมทรัพย์ในช่วงอายุ 20-30 ซึ่งเป็นอัตราที่นักการเงินส่วนใหญ่แนะนำว่าเหมาะสม [10]
    • เมื่อได้รับเงินเดือน เราย่อมมีความรู้สึกที่อยากจะซื้อของซึ่งเป็นเรื่องปกติ ให้เราแก้ไขโดยการฝากเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ทันทีที่ได้รับเงินเดือน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้เงินเดือน 20,000 บาท และเราต้องการจะออมเงินร้อยละ 10 ให้เราแบ่งเงิน 2,000 บาท ฝากทันที การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการนำเงินไปใช้โดยไม่จำเป็นและมีเงินสะสมจำนวนมากเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี
    • เป็นเรื่องที่ดีถ้าหากเราจะทำเรื่องการฝากเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ให้เป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องต่อสู้กับความอยากซื้อของเมื่อได้รับเงิน เราอาจจะเริ่มจากให้บริษัทหักบัญชีเงินเดือนให้เราและฝากธนาคาร หรืออาจจะติดต่อธนาคารเพื่อทำระบบฝากอัตโนมัติ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราสามารถออมเงินเป็นสัดส่วนที่แน่นอนจากรายรับโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร
  5. ต่อไปให้ลงทุนกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญรองลงมา. ถ้าหากเราสามารถเก็บเงินออมได้จำนวนหนึ่งแล้วมีเงินส่วนที่เหลือ อาจจะลองพิจารณาลงทุนซื้อของที่อำนวยความสะดวกต่างๆที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยในการหารายได้ หรือปรับปรุงคุณภาพชีวิตในระยะยาว แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่จำเป็นเท่าน้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย แต่ก็อาจคุ้มค่าและช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
    • ตัวอย่างเช่น การซื้อเก้าอี้ที่ออกแบบตามสรีระศาสตร์นั้นอาจจะดูไม่จำเป็นนัก แต่ถ้ามองในระยะยาวนั้นคุ้มค่าเพราะมันจะช่วยไม่ให้เราปวดหลัง (ซึ่งถ้าหากปล่อยไปจนเกิดเป็นโรคกระดูก จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก) อีกตัวอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อนเก่าๆในบ้านที่เสียบ่อย แม้ว่าเครื่องเก่าที่มีอาจจะใช้งานต่อได้ในช่วงสั้นๆ แต่การเปลี่ยนใหม่จะทำให้เราไม่ต้องเสียเงินซ่อมอยู่เป็นประจำ และช่วยประหยัดเงินได้ในระยะยาว
    • อีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนซื้อสิ่งที่ช่วยให้เราไปทำงานได้ประหยัดมากขึ้น เช่นการซื้อตั๋วโดยสารเป็นแบบรายเดือนหรือรายปี หรือซื้อเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเรา เช่นซื้อไมโครโฟนสำหรับโทรศัพท์แบบคาดหัวถ้าหากเราต้องใช้มือในการทำงานตลอดเวลา หรือการซื้อเจลที่ใส่ในรองเท้าเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพเป็นต้น
  6. การออมเงินไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้จ่ายตลอดเวลา ถ้าหากจ่ายหนี้ครบแล้ว มีเงินส่วนที่สำรองยามฉุกเฉินแล้ว และมีเงินลงทุนสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆแล้ว การจะใช้จ่ายของส่วนตัวที่ไม่จำเป็นบ้างก็ย่อมทำได้ การใช้จ่ายอย่างควบคุมกับของฟุ่มเฟือยนั้นก็ถือเป็นวิธีการให้รางวัลกับการทำงานหนักแก่ตัวเองทางหนึ่ง ดังนั้นจึงอย่ากลัวที่จะฟุ่มเฟือยบ้างในบางครั้งถ้าเรามีวินัยทางการเงิน
    • ของฟุ่มเฟือยได้แก่ ของหรือสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว (หรือเกิดน้อยมาก) ซึ่งยกตัวอย่างกว้างๆ ได้แก่ การไปร้านอาหารหรูๆ การไปเที่ยววันหยุด ซื้อรถคันใหม่ เคเบิ้ลทีวี อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ และอื่นๆ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้ามีรายรับพิเศษให้ฝากเงินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเข้าบัญชีเงินออม โดยไม่คิดรวมกับเงินที่เราตั้งใจจะฝากต่อเดือนอยู่แล้ว การทำแบบนี้จะช่วยให้เราออมเงินถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
  • แม้ว่าเราจะอยากได้ของบางอย่างมากๆ ให้ลองถามตัวเองว่าเราจำเป็นต้องมีของชิ้นนี้จริงๆหรือไม่ ซึ่งมากกว่าครึ่ง คำตอบคือไม่
  • คนส่วนใหญ่สามารถออมเงินได้เสมอไม่ว่าจะมีรายรับเท่าไหร่ การเริ่มออมเพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นการฝึกนิสัยการออมที่ดี แม้จะออมจำนวนน้อยเพียงเดือนละ 150 บาท ก็สามารถสอนเราว่าไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินหมดเสมอไป
  • ให้ประมาณรายจ่ายเกินจริง และประมาณรายรับต่ำกว่าจริงเผื่อไว้เสมอ
  • ดูแลรักษาของใช้ วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องคอยซื้อของมาเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ และอย่าเปลี่ยนโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น ถ้าแปรงสีฟันไฟฟ้าเสีย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้มันแปรงฟันไม่ได้ ให้ใช้ต่อไปและซื้ออันใหม่เมื่อพร้อมจริงๆ หรือให้ลองเช็คการรับประกันสินค้าดู
  • ให้จ่ายเงินด้วยธนบัตรและเก็บเงินทอนที่เป็นเหรียญไว้ ลองหันมาใช้กระปุกออมสินหรือขวดโหล แม้ว่าการเก็บเหรียญอาจจะดูเล็กน้อย แต่เมื่อมันสะสมมากขึ้นๆก็จะกลายเป็นเงินออมก้อนหนึ่งได้ บางธนาคารนั้นยอมแลกเหรียญให้ฟรี ซึ่งเราอาจจะขอแลกเป็นเช็คแทนเงินสดได้ถ้าหากกลัวที่จะเผลอใช้เงิน
  • ทุกครั้งที่จะซื้อของให้ลองคิดถึงเป้าหมายการออมของเรา ให้คิดว่าราคาของนั้นเทียบเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินออมที่เรามี ซึ่งบ่อยครั้งก็ช่วยให้เราตัดสินใจไม่ซื้อได้
  • ถ้าเรามีรายรับต่อเดือนเป็นจำนวนที่แน่นอนก็จะทำให้เราวางแผนใช้จ่ายเงินได้ง่าย แต่ถ้ารายรับของเรานั่นไม่คงที่หรือไม่เป็นเวลาที่แน่นอนก็จะวางแผนได้ยาก ให้ลองเขียนรายจ่ายเรียงตามลำดับความสำคัญและแบ่งเงินให้กับรายการแรกๆก่อน วางแผนอย่างระมัดระวังและให้คิดเสมอว่าอีกนานกว่าจะมีรายรับเข้ามาใหม่อีกครั้ง
  • ให้ย้ำกับตัวเอง ให้ท่องไว้เสมอจนจำขึ้นใจว่า “หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้”
  • ถ้าบังคับใจตัวเองให้ยกเลิกบัตรเครดิตไม่ได้ ให้ลองแช่แข็งมันไว้ ให้เอาบัตรใส่กล่อง เติมน้ำ และแช่ช่องแข็ง ด้วยวิธีนี้ เมื่อเราต้องการที่จะใช้บัตรก็ต้องรอจนน้ำแข็งละลายก่อนเสมอ ซึ่งระหว่างรอนั้นเราก็อาจจะคิดได้ ว่าจริงๆแล้วของที่เราอยากจะไปซื้อนั้นไม่จำเป็นเลย
  • ถ้าเราสามารถแบ่งปันของที่เรามีเช่น อาหารหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ให้ทดลองทำดู ลองแบ่งปันกับเพื่อนๆ และเมื่อเวลาผ่านไป จะพบว่าเราก็จะได้รับสิ่งเดียวกันเป็นการตอบแทน และสุดท้ายก็เป็นประโยชน์กับทุกๆคน
  • ถ้าเก็บเศษเหรียญหรือสตางค์ได้ ให้ลองหาขวดโหลมาเก็บไว้ แล้วลองดูว่ามันจะเพิ่มจำนวนได้เร็วขนาดไหน
  • ถ้ามีงานอดิเรก ให้ลองตั้งกฎการออมเงินแบบเท่าเทียม ไม่ว่างานอดิเรกของเราจะเป็น การต่อโมเดลเครื่องบิน เก็บสะสมของต่างๆ ขี่จักรยานวิบาก ดำน้ำ หรืออื่นๆ ให้ตั้งกฎเหล็กว่า เมื่อเราใช้เงินไปกับงานอดิเรกของเราเท่าไหร่ ให้เพิ่มเงินออมไปด้วยเงินจำนวนที่เท่ากันทันที เช่น ถ้าเราซื้อถุงมือขี่จักรยานคู่ใหม่ราคา 1,200 บาท ก็ให้ฝากเงินจำนวนเท่ากันเข้าบัญชีออมทรัพย์ทันที
  • มีความสุขกับความเรียบง่าย ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ทุกๆคนก็ยังมีความสุขกันได้ แค่ไม่ใช่ในแบบที่ฟุ่มเฟือย เด็กก็ยังเล่นแข่งรถของเล่นกันได้สนุก วัยรุ่นก็อาจจะไปงานประกวดเต้นรำ คนทั่วไปเล่นเกมเศรษฐี เล่นอักษรไขว้ อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ นั่งสนทนากันถึงเรื่องต่างๆ เล่นการ์ดเกม เย็บปลอกหมอน เล่นดนตรีหรือเต้นรำ กิจกรรมบางอย่างอาจจะต้องใช้จินตนาการและความคิดสักหน่อย แต่ก็ทำให้เราและทุกๆคนมีความสุขได้
  • ถ้าอยากลองออมเงินแบบจริงจัง ให้ลองใช้กฎการออมแบบเท่าเทียมแต่เพิ่มเงินเป็นสองเท่า ซึ่งจะทำให้เราออมเงินตลอดเวลาและเพิ่มจำนวนได้เร็วมาก และยังจะทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วเราใช้เงินไปกับงานอดิเรกเรามากแค่ไหน (และยิ่งเห็นได้ชัดเพราะเพิ่มเงินเป็นสองเท่า)
โฆษณา

คำเตือน

  • บางครั้งถ้าทำผิดพลาดออมเงินไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ก็อย่าโทษตัวเองและท้อแท้ ให้เริ่มเดือนต่อไปให้ดีกว่าเดิม
  • หลังจากทำงานมาเหนื่อยทั้งอาทิตย์ เราอาจจะอยากใช้เงินตามใจตัวเองสักครั้งและบอกตัวเองว่า “ให้รางวัลตัวเอง” ให้คิดไว้เสมอว่า สิ่งที่ซื้อมานั้นไม่ใช้รางวัล แต่เป็นการแลกเงินออมของเราไปกับสิ่งของ แน่นอนว่าเราสมควรได้รับรางวัลบ้าง แต่ฐานะการเงินเราเหมาะสมกับเงินที่ต้องจ่ายหรือเปล่า และถึงแม้จะไม่เหมาะสม เงินของเราก็ยังมีค่า และเราสมควรจะนำเงินของเราไปออมเพื่อให้ถึงเป้าหมาย
  • อย่าออกไปเดินห้างแบบไม่มีจุดหมายแล้วพกเงินไปด้วย จะสร้างความอยากให้เราซื้อของโดยเงินที่เราตั้งใจจะเก็บไว้ ให้ไปซื้อของเฉพาะรายการที่ตั้งใจไว้เท่านั้น
  • นอกเสียจากว่าเราจะลำบากเรื่องเงินจริงๆ (เช่นบ้านกำลังจะถูกยึด และมีลูกอีกสามคนที่หิวข้าวรออยู่) อย่าตัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเราและครอบครัว เช่น การพาสัตว์เลี้ยงไปรักษาที่คลินิกครั้งละ 2,000 บาท หรือซื้อยากันพยาธิหัวใจกล่องละ 900 บาท การตัดรายจ่ายส่วนนี้ออกไปอาจจะก่อปัญหาที่ตามมาภายหลังที่แพงกว่า (และอาจทำให้เราเสียใจภายหลังได้)
  • ถ้ากลุ่มเพื่อนของเราใช้เงินเก่ง ให้เตรียมตัวหาคำตอบให้พร้อมไว้เสมอว่า ทำไมเราถึงออกไปด้วยไม่ได้ทุกครั้งเวลาถูกชวนไปเที่ยว
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 50,679 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา