ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การถ่ายทอดประสบการณ์ของคนเราออกมาในรูปของบทประพันธ์ภาษาสวยนั้นถือเป็นศิลปะของการเขียนก็ว่าได้ การเขียนนั้นเปรียบเสมือนการถักทอปั้นแต่งเรื่องราวโดยอาศัยเทคนิคต่างๆ ในการประพันธ์ รวมถึงต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานตามแต่ละประเภทงานเขียนด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนชนิดไหนในสายการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (ตั้งแต่บทความทางวิชาการไปจนถึงการเขียนเพื่อการระดมทุนและด้านเทคนิคต่างๆ) ต่างก็ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ อย่างน้อยๆ ก็ต้องศึกษาจนจบปริญญาตรี หรือบางคนอาจศึกษาต่อถึงระดับปริญญาโทด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ อักษรศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเลยด้วยซ้ำ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

หาแรงบันดาลใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเขียนเชิงสร้างสรรค์นั้นแตกแขนงออกไปมากมาย (ทั้งนิยาย บทกวี และสารคดีเชิงสร้างสรรค์) กระทั่งประเภทพิเศษเฉพาะทาง (พวก sci-fi สืบสวนสอบสวน แนวทดลอง… และอื่นๆ อีกมากมาย) หาตัวเองให้เจอว่าอยากเขียนแนวไหน หรือง่ายกว่านั้นคือถามตัวเองว่าคุณชอบอ่านอะไร งานเขียนที่ดีที่สุดของคุณจะถือกำเนิดเกิดมาจากสิ่งที่คุณหลงใหล ในแบบที่คุณเท่านั้นจะทำได้ ถ้าคุณเขียนเรื่องที่สนใจด้วยใจรัก คนอ่านก็จะรู้สึกได้และติดใจเรื่องของคุณเอง ความสนใจใคร่รู้ส่วนตัวนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นงานเขียนและกลายมาเป็นอาวุธคู่มือของคุณในที่สุด
    • บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองให้เขียนอยู่แค่แนวเดียว นักเขียนดังๆ หลายคนเขาก็ทดลองเขียนหลายๆ แบบ ค้นหาแนวที่ใช่ไปเรื่อยๆ บางทีอาจจะเขียนนิยายตอนว่างเว้นจากงานประจำแนวสารคดี หรือสอดแทรกบทกวีไว้ในนิยายร้อยแก้วของตัวเองเป็นต้น
  2. กำหนดเวลา สถานที่ และบรรยากาศที่เหมาะกับการเขียนหนังสือ พอทำจนเป็นกิจวัตร สมองส่วนสร้างสรรค์ของคุณจะได้เคยชินกับบรรยากาศการทำงาน เรื่องที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือ…
    • เสียง: นักเขียนบางคนชอบเขียนคนเดียวเงียบๆ ในขณะที่อีกหลายคนเปิดเพลงฟังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย แต่บางคนก็ยินดีรับฟังความเห็นของคนอื่นไปพลางๆ เผื่อจะได้ไอเดียดีๆ
    • เวลา: นักเขียนบางคนจดไอเดียไว้ก่อนนอน แต่บางคนก็ชอบทำงานตอนเช้ามืด เพราะคนอื่นยังไม่ตื่นมารบกวน แต่ก็ยังมีคนที่ว่างมากไม่ได้เดี๋ยวเขียนไม่ออก เลยเลือกเขียนช่วงพักดื่มกาแฟหรือช่วงพักก่อนทำงานประจำต่อไป แต่ส่วนใหญ่นักเขียนมักปลีกวิเวกเขียนคนเดียวเงียบๆ นานๆ ไม่ก็เขียนตลอดช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
    • สถานที่: หาสถานที่ หรือห้อง กระทั่งเก้าอี้ประจำไว้สำหรับเขียนโดยเฉพาะก็ช่วยได้ สมองจะได้จดจำและเชื่อมโยงสถานที่นั้นๆ กับการสร้างสรรค์ เพื่อให้เขียนจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
  3. เรื่องไหนอ่านแล้วชอบก็อ่านซ้ำไปอีกเพื่อให้รู้ถ่องแท้ ตีให้แตกว่าทำไมถึงได้เขียนออกมาจับใจนัก อะไรคือสูตรลับ พยายามศึกษาโครงสร้างของบทกวีที่คุณโปรดปราน หรือหลักการพัฒนาตัวละครในนิยายที่คุณติดตาม ประโยคไหนที่จับคุณไว้อยู่หมัด และทำไมนักเขียนถึงได้เลือกใช้ประโยคนั้น? เป็นเพราะคำนี้หรือเปล่า?
    • อย่าจำกัดตัวเองให้อ่านอยู่แนวเดียว ยิ่งอ่านมากอ่านกว้าง ก็ยิ่งได้ประสบการณ์มากและหลากหลายขึ้นเท่านั้น บางทีคุณอาจไม่ชอบอ่านแนวแฟนตาซี แต่การที่คนอื่นเขาฮิตอ่านฮิตเขียนกันมันก็ต้องมีสาเหตุ ไม่ว่าคุณจะเลือกอ่านอะไรให้ท่องไว้ว่า “ฉันเขียนจึงต้องเรียนอ่าน ฉันอ่านเพื่อการเรียนรู้ และเปิดประตูสู่แรงบันดาลใจ”
  4. ต้องช่างสังเกต ใส่ใจกับรายละเอียดรอบๆ ตัว มองหาปริศนาที่อาจซ่อนอยู่แล้วลองไขมัน ถ้าสงสัยอะไรให้หมกมุ่นค้นหาจนกว่าจะเจอคำตอบ เห็นอะไรเพี้ยนๆ แปลกๆ ให้รีบจดบันทึก เวลาเริ่มเขียนเมื่อไหร่ นิสัยช่างสังเกตนี่แหละที่จะหาเรื่องมาให้คุณเขียนได้ไม่รู้จบ ที่สำคัญคือเรื่องของคุณจะออกมาโดนใจ เข้มข้น และสมจริงมากยิ่งขึ้น ข้างล่างคือแนวทางสำหรับนักสำรวจโลกมือใหม่อย่างคุณ
    • ไม่มีเรื่องไหนธรรมดาและน่าเบื่อ ทุกคนและทุกเรื่องก็แอบมีมุมแปลกๆ ที่ไม่คาดคิดด้วยกันทั้งนั้น
    • ปริศนาอาจอยู่ตรงหน้าคุณ ทีวีที่เปิดยังไงก็ไม่ติด นกน้อยที่ไม่ยอมบิน ลองสังเกตดูว่าสิ่งต่างๆ ทำงานยังไง เสียแล้วเป็นยังไง และเพราะอะไร
    • ใส่ใจทุกรายละเอียด ใบไม้ไม่ได้มีแค่สีเขียวนะ มีทั้งแบบใบยาว ใบบาง ก้านแข็ง และรูปร่างเหมือนโพดำเป็นต้น
  5. สังเกตเห็นอะไรหรือเกิดแรงบันดาลใจเมื่อไหร่ให้รีบจดทันที พกสมุดบันทึกไปด้วยทุกที่ นักเขียนบางคนถึงกับเย็บช่องลับไว้ในเสื้อนอกจะได้พกเศษกระดาษสำรองไว้เตรียมเขียน ใช้สมุดนี้จดไอเดีย สิ่งต่างๆ ที่คุณเห็น ได้ยิน หรืออ่านผ่านตา แล้วเอาไปเป็นวัตถุดิบต่อยอดสร้างเรื่องราว เวลาเขียนแล้วเกิดติดขัดขึ้นมาจะได้เปิดอ่านหาแรงบันดาลใจ บอกเลยว่าจดได้ทุกอย่างแบบไม่ต้องยั้งมือ เพราะคุณยังไม่ทันรู้หรอกว่าอันไหนจะใช้ได้หรือไม่ได้ ข้อมูลที่น่าบันทึกก็เช่น
    • ความฝัน: นี่แหละต้นกำเนิดเรื่องราวแปลกแหวกแนว รีบจดก่อนจะลืมล่ะ!
    • รูปภาพต่างๆ: ตัดแปะรูปถ่ายที่คุณสนใจ หรือจะขีดๆ เขียนๆ ด้วยตัวเองก็ได้
    • คำคม: คำพูดของคนอื่นที่ฟังแล้วประทับใจ ประโยคเด็ดโดนใจ กลอนสั้นๆ กระทั่งข้อความตามถุงกล้วยแขก
  6. และแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็ค่อนข้างยากเลยทีเดียว บางคนถึงกับนั่งจ้องหน้าจอมองกระดาษว่างๆ อยู่อย่างนั้น ไม่รู้จะเขียนอะไรดี นี่แหละอาการที่เขาเรียกกันว่า “writer's block” หรือ "สมองตีบตัน" แก้ได้โดยทำแบบฝึกเขียนง่ายๆ ที่จะช่วยบริหารความคิดสร้างสรรค์ แถมที่เขียนไปเล่นๆ บางอันยังเอามาต่อยอดเขียนจริงได้อีกด้วย
    • ไปในที่ที่วุ่นวาย คนเดินผ่านไปมาเยอะๆ แล้วลองจินตนาการว่าคุณกำลังถ่ายวิดีโอด้วยตาของคุณอยู่ เก็บให้หมดทุกรายละเอียด หยิบสมุดบันทึกออกมาแล้วจดทุกอย่างตามที่เห็น อย่าลืมสัมผัสต่างๆ อย่างภาพ กลิ่น เสียง รส และสัมผัสที่คุณได้แตะต้องด้วย
    • อัดเสียงด้วยก็ดีเวลาแอบฟังใครคุยกัน อย่าให้เจ้าตัวเขารู้ล่ะ! พออัดเสียงมาเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมเอาไปถอดเทปเขียนลงกระดาษล่ะ ลองปรับใช้ดู ลบบางคำออกไป หรือเปลี่ยนคำที่ใช้ ไม่ก็ใส่สีตีไข่เพิ่ม สร้างฉากหรือสถานการณ์ใหม่ตามเรื่องราวของคุณ
    • สร้างสรรค์ตัวละคร ความมุ่งหวังของตัวละครคืออะไร? ความกลัวล่ะ? แล้วมีความลับไหม? เกี่ยวข้องยังไงกับอีกตัว แล้วบ้านอยู่ที่ไหน? นามสกุลอะไร (ถ้ามี)?
  7. ในโลกนี้มีนิยายครึ่งๆ กลางๆ อยู่เป็นพันล้านเรื่อง แถมเรื่องสั้นที่ถูกทิ้งขว้างให้อีกเป็นกุรุส คุณต้องแตกต่างด้วยการตั้งเป้าให้ตัวเอง แล้วทำตามเป้าที่วางไว้ ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือเซ็งแค่ไหน ต้องหาให้เจอว่าจริงๆ แล้วคุณอยากเขียนอะไรกันแน่ ถ้ากลั้นใจเขียนไปจนสำเร็จลุล่วงได้ละก็ คุณจะมี 3 อย่างอยู่ในมือแล้วคราวนี้
    • ได้รู้กันก็ทีนี้ว่าชอบเขียนแนวไหนกันแน่
    • ทักษะอันดีในการเขียนและเล่าเรื่อง
    • ความอึด ถึก ทน จนจบงาน
  8. การแชร์ไอเดียของคุณเพื่อให้ได้ feedback ตอบกลับมานี่แหละวิธีพัฒนางานเขียนของคุณและสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี ถ้ามือใหม่อาจฟังดูน่ากลัวหน่อยๆ เพราะรู้สึกว่างานเขียนเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา แล้วก็ไม่อยากคิดถ้าเกิดมีคนหัวเราะเยาะหรือหาว่าห่วยขึ้นมา แต่บอกเลยว่าถ้ามัวแต่เก็บเงียบเขียนเองอ่านเอง นอกจากจะไม่มีใครเห็นความสามารถของคุณแล้ว คุณยังเสี่ยงสะสมนิสัยเสียในการเขียนโดยไม่รู้ตัวด้วย (อย่างการใช้คำฟุ่มเฟือย ซ้ำซ้อน หรือน้ำเน่าไปหน่อยเป็นต้น) แทนที่จะมานั่งกลัว ให้คิดซะว่าคุณอาจได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาจากคนอ่านของคุณก็ได้
  9. เป็นนักเขียนก็เหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ หรือก็คือเป็นมนุษย์เงินเดือนตอนกลางวัน แล้วกลายร่างเป็นยอดมนุษย์ เหาะเหินเดินอากาศ พิฆาตศัตรูด้วยปลายปากกากันตอนค่ำ มันก็มีอยู่เหมือนกัน นักเขียนที่ไม่ต้องหาอาชีพเสริมน่ะ แต่บอกเลยว่ายังกับงมเข็มในมหาสมุทร แต่อย่าเพิ่งเซ็งไป งานประจำไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรอก เอาเข้าจริงๆ งานหลักนี่แหละที่จะพาคุณไปถึงฝันได้ เรามีหลักในการหางานประจำสำหรับนักเขียนประมาณนี้
    • งานนั้นเงินดีไหม? งานประจำของคุณควรช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่าย จะได้เขียนอย่างสบายใจ เพราะความกังวลต่างๆ นานานี่แหละศัตรูของความคิดสร้างสรรค์เลย
    • ทำงานหลักแล้วจะมีเวลาและแรงกายแรงใจเหลือมาเขียนเรื่องได้ไหม? งานประจำควรเป็นงานที่ไม่ยากหรือหนักจนเกินไป จะได้ไม่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงจนเขียนไม่ไหว
    • ทำแล้วไม่ “ซ้ำแนว” กับงานเขียนใช่ไหม? คนเราไม่ใช่เอะอะก็จะเขียนกันตลอดเวลาทั้งงานราษฎร์งานหลวง บางทีเอาแต่เขียนไม่มีหยุดหย่อนมันก็มากเกินไป เลือกงานที่ผิดแปลกไปจากงานเดิมๆ ของคุณจะดีกว่า
    • เป็นงานที่ได้พบปะกับคนหัวสร้างสรรค์เหมือนกันหรือเปล่า? งานประจำที่ดีก็ต้องมีเพื่อนร่วมงานที่น่าสนใจด้วย คนหัวศิลป์น่ะมีอยู่ถมไป! ใช่ว่าจะจำกัดอยู่แค่นักเขียนและศิลปินซะที่ไหนล่ะ
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

แปลงแรงบันดาลใจใส่หน้ากระดาษ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไม่ได้บอกให้เอากุญแจมือไปล็อคอะไรแบบนั้น! หมายถึงให้คนอ่านดื่มด่ำไปกับเรื่องของคุณต่างหาก ให้เขาเหมือนถูกดูดเข้าไปในเรื่องราวของคุณจนต้องตะลุยอ่านต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากหยุด ประมาณว่าติดกับไปจนถึงเล่มต่อๆ ไป จะทำแบบนั้นได้ต้องใส่ใจเทคนิคเหล่านี้ซะก่อน
    • ประสาทสัมผัส เรารู้จักโลกใบนี้และมีประสบการณ์ต่างๆ ผ่านสัมผัสทั้ง 5 งานเขียนที่สมจริงจะทำดึงดูดให้ผู้อ่านดำดิ่งไปกับรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ ในเรื่องราว
    • ข้อมูลต้องแน่น ข้อมูลประเภทนี้ใช้อธิบายให้คนเข้าใจว่าเกิดอะไรในเรื่องของคุณ แทนที่จะเขียนกว้างๆ ว่า “เธอเป็นคนสวย” ต้องเจาะจงลงไปเลยว่า “ผมของเธอสีทองยาวสลวย ถักเป็นเปียทั้งสองข้าง ซึ่งเกี่ยวกระหวัดตกแต่งไว้ด้วยดอกเดซี่”
  2. ถ้าคุณเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ คุณจะเขียนได้สมจริง ลงลึก และมีรายละเอียดมากกว่า ถ้าคุณไม่รู้ตรงไหนแล้วต้องเขียน ก็รีบไปค้นข้อมูลก่อน ง่ายที่สุดก็คือ Google เอา แต่จะดีเข้าไปอีกถ้าได้ปรึกษากับคนที่เขารู้จริง ยิ่งคุณรู้จักสถานการณ์ ตัวละคร หรือฉากที่จะเขียนดีเท่าไหร่ เรื่องราวก็จะยิ่งโลดแล่นบนหน้ากระดาษอย่างสมจริงมากขึ้นเท่านั้น
  3. คุณอาจทำงานได้ดีกว่าเดิมถ้ามี “โครงเรื่องแบบเส้นตรง” หรือก็คือ จุดเริ่มต้น จุด Climax หรือปมปัญหา และสุดท้ายคือจุดคลายปม แต่จริงๆ แล้วจะเขียนวิธีไหนก็ให้เหมาะสมกับตัวคุณเอง อาจจะเลือกแบบ “In Media Res” หรือเปิดเรื่องตรงกลาง ตอนที่ทุกอย่างกำลังเข้มข้นก็ได้ หรือมี flashback ย้อนหลังให้ดูในเรื่องเป็นระยะก็แปลกดี ให้เลือกใช้โครงเรื่องตามสไตล์การดำเนินเรื่องของคุณ
  4. รวมๆ แล้วมีด้วยกัน 9 มุมมองให้เลือกใช้ 3 มุมมองที่คนนิยมใช้กันมากที่สุดคือ บุรุษที่ 1 บุรุษที่ 2 และบุรุษที่ 3 เวลาจะเลือกใช้มุมมองไหนมาเล่าเรื่อง ให้คิดพิจารณาว่าคุณอยากจะเล่าเรื่องไหนให้ผู้อ่านฟัง
    • POV บุรุษที่ 1: เล่าเรื่องด้วย "ฉัน/ผม"
      • เกี่ยวข้อง – ผู้บรรยายเป็นตัวเดินเรื่องและเล่าเรื่อง
      • แยกตัว – ผู้บรรยายไม่เล่าเรื่องของตัวเอง แต่อาจเล่าเรื่องของตัวละครหลัก
      • หลายคน (เรา) – ช่วยกันเล่า อาจจะเป็นกลุ่มตัวละครก็ได้
    • POV บุรุษที่ 2: เล่าเรื่องด้วย "คุณ"
      • กลับกัน ผู้บรรยายจะแทนตัวเขาหรือเธอเป็นผู้เขียน และอาจปิดบังความคิด ลักษณะ และความทรงจำอันเลวร้ายไว้
      • คุณ = ตัวละคร แตกต่างจากคนอื่นด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่าง
      • คุณ = ใช้พูดกับผู้อ่านโดยตรง
      • คุณ = ผู้อ่านถือเป็นตัวเดินเรื่องด้วย
    • POV บุรุษที่ 3: เล่าเรื่องด้วยชื่อตัวละคร
      • มุมมองแบบพระเจ้า – ผู้บรรยายรู้ทุกอย่างในเรื่องแบบไม่มีขีดจำกัด มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และตัดสินคนอื่นๆ ได้
      • มุมมองแบบจำกัด – POV แบบนี้จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมือนดูผ่านหน้าต่างที่เล็กลงเรื่อยๆ เพราะถูกจำกัด
      • มองผ่านความคิดและความรู้สึกของตัวละครตัวเดียว -- อย่างในเรื่อง Harry Potter เราจะได้รับรู้เฉพาะความรู้สึกนึกคิดของ Harry เองเท่านั้น
      • ผู้สังเกตการณ์ -- ผู้บรรยายเล่าสถานการณ์ แต่จะไม่ล่วงรู้อารมณ์ในจิตใจของตัวละคร
      • แอบดูบนกำแพง -- ผู้บรรยายเป็นเหมือนสายลับ คอยเฝ้าดูสถานการณ์จากไกลๆ จะไม่ได้รู้ทุกอย่างเพราะมุมมองถูกจำกัด
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ไวยากรณ์กระจุกกระจิก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เริ่มเขียนด้วยคำง่ายๆ นี่แหละปลอดภัย ถึงเราจะแนะนำให้คุณสะสมศัพท์ใหม่ไปเรื่อยๆ (เดี๋ยวค่อยว่ากัน) แต่ถ้าใช้คำหรูๆ ยากๆ มากเกินไป ระวังคนอ่านจะกลัวจนหายไปหมด จำไว้ว่าก้าวทีละน้อยค่อยๆ เดิน อย่าดันทุรังใช้คำยากเพราะฟังดูหรูดี แต่ให้เน้นใช้คำธรรมดาสามัญ คนอ่านเขาจะได้เข้าใจว่าคุณต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ อย่าให้มากไป อย่าให้น้อยไป ใช้คำแต่พอดี
  2. ประโยคนึงสั้นๆ อ่านแล้วจะเข้าใจง่ายกว่าแถมยังน่าอ่าน แต่ก็ไม่ได้ห้ามคุณสอดแทรกประโยคยาวๆ ลงไปบ้างหรอกนะ ก็แค่ประโยคสั้นๆ อ่านแล้วจบไวเข้าใจทันที ไม่ต้องคอยหยุดอ่านเป็นระยะเพราะยังค้างเติ่งอยู่ประโยคเดิม
    • ลองอ่านประโยคยาวสยองนี้ดู เรียกได้ว่ายาวระดับรางวัล ขยันเขียน กันเลยทีเดียว อ่านแล้วคงไม่มีใครสงสัยว่าทำไมถึง "แย่เข้าขั้น" ก็ศัพท์เทคนิคมาเต็ม แถมด้วยวรรคทองที่เหมือนจะสวยหรูแต่ดันชวนงง ที่สำคัญคือยาวติดอันดับนี่แหละ
      • "หากทว่า เพียงชั่วเวลาหนึ่ง เล่ห์แห่งปรารถนานั้นสามารถหยั่งถึงเพื่อประโยชน์อันดีแห่งระเบียบวินัย ไม่ช้านาน ความละอาย ข้ออ้างต่างๆ นานา ทฤษฎีวิทยาศาสตร์เทียม ความหลงงมงาย อำนาจเบื้องบนจอมปลอม และการแบ่งแยกอันล้วนแล้วแต่เกิดซ้ำไปซ้ำมา ก็จะเป็นที่ประจักษ์ในฐานะความเพียรพยายามอันไร้ค่าในการที่จะ “สร้างบรรทัดฐาน” อย่างเป็นทางการของการขัดแย้งทางวาทกรรมแห่งการแบ่งแยก ที่ได้ละเมิดคำกล่าวอ้างอันเป็นเหตุเป็นผลและรู้แจ้งเห็นจริงของแบบแผนอันที่ได้ประกาศทั่วกัน" [1]
  3. กริยานี่แหละตัวขับเคลื่อนประโยค เป็นตัวเชื่อมโยงความหมายหนึ่งไปยังอีกความหมายหนึ่ง ที่สำคัญคือกริยาช่วยให้นักเขียนสื่อความในใจออกมาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
    • ระวังกริยาเจ้าปัญหาบางตัวให้ดี อย่าง "ถูก..." หรือ "กำลัง..." เป็นต้น คำพวกนี้มีที่มาจากภาษาอังกฤษ ถึงใช้บ้างจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเยอะเกินไปก็ไม่เป็นธรรมชาติได้เหมือนกัน ให้แทนที่ด้วยกริยาที่ประธานเป็น "ผู้กระทำ" จะดีกว่า เช่น "เปิดประตู" แทน "ประตูถูกเปิด" หรือ "ฉันฟังเพลงอยู่" แทน "ฉันกำลังฟังเพลง" จะดีกว่า
    • ย้ำอีกทีว่าใช้รูปกระทำ ดีกว่ารูปถูกกระทำ
      • ประธานเป็นผู้กระทำ: "แมวเจอเจ้าของ" จะเห็นว่าแมวเป็นคนทำกริยา แมวเป็นคนเจอเจ้าของ
      • รูปถูกกระทำ: "เจ้าของถูกแมวพบเข้า" ตอนนี้แมวจะไม่ค่อยเด่นแล้ว เจ้าของเป็นคนถูกกระทำ คือถูกพบ เราไม่ได้เห็นว่าแมวไปเดินหาเจ้าของ
  4. นักเขียนมือใหม่นี่แหละตัวดี บ้าเห่อ adjective หรือคำคุณศัพท์ เราไม่ได้บอกว่าใช้ adjective แล้วผิด แต่ถ้าเอะอะก็ใช้ สุดท้ายมันจะเฝือไป ที่สำคัญคืออ่านแล้วเข้าใจยากกว่าส่วนอื่นด้วย อย่าติดนิสัยใส่ adjective นำหน้าทุกคำนามแค่เพราะอยากจะอธิบายขยายความ
    • บางที adjective ก็ถือเป็นคำฟุ่มเฟือย อย่างประโยคที่ว่า "ฉันเฝ้ามองขณะเขาหยิบหมากตัวสุดท้ายขึ้นมาแล้ววางมันลง รุกฆาตราชาในที่สุด ตอกย้ำถึงชัยชนะอันสำเร็จลุล่วงของเขา" ลองคิดดูว่ามีชัยชนะไหนที่ ไม่ถือว่าเป็น ความสำเร็จบ้าง? ตรงนี้ถือเป็นการใช้ adjective โดยสิ้นเปลืองเพราะมาขยายซ้ำซ้อน ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมกับคนอ่านเลย
    • หรือบางที adjective ที่คุณใช้อาจอ่านแล้วคลุมเครือ "เขาคือศัตรูผู้เรืองฤทธิ์" เป็นประโยคที่ทั้งเข้าใจยากและไม่น่าเอามาใช้ "เรืองฤทธิ์" แปลว่า ทรงอำนาจ ถ้าเอาคำว่า "ทรงอำนาจ" ไปใช้แทน "เรืองฤทธิ์" ซะเลย ประโยคนี้ก็คงน่าอ่านและเข้าใจง่ายขึ้นอีกเยอะ
  5. หาพจนานุกรมและคลังคำติดตัวไว้ตลอด เวลาเจอคำที่ไม่เคยเห็นจะได้เปิดหาทันใจ คุณยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนไม่ได้เต็มปากหรอกนะ ถ้าไม่รู้จักสนใจศึกษานิรุกติศาสตร์ หรือที่มาของแต่ละคำไว้บ้าง แต่ก็ขอเถอะว่าอย่าอัดคำหรูจนคนอ่านมึนงง แค่เพราะคุณรู้จักคำว่า "กเฬวราก" "อรรถปริวรรตศาสตร์" หรือ "จิตปฏิพัทธ์" ไม่ได้แปลว่าต้องร้อนวิชาเอามาใส่ในงานเขียนของคุณซะหน่อย
    • เรื่องรากศัพท์นี่แหละสำคัญ การรู้ที่มาของคำต่างๆ (โดยเฉพาะที่มาจากภาษาต่างประเทศหรือบาลีและสันสกฤต) จะช่วยให้คุณพอคาดเดาความหมายของคำที่เพิ่งเคยพบเห็นได้โดยไม่ต้องใช้พจนานุกรม เริ่มจากรากศัพท์พื้นฐานอย่าง อว- , สุ- , ปฐม- , ราช- , มหา- , และ จตุ- เป็นต้น
  6. ถ้าคุณต้องเลี้ยงตัวด้วยการเขียน พอเข้าตาจนอาจมีบ้างที่เผลอใช้คำไปส่งๆ บ่อยไปที่เวลาเราติดขัด นึกไม่ออกบอกไม่ถูก ก็เลยเขียนลวกๆ ไปด้วยคำที่ "คิดว่าดี" ไอ้วิธีแบบนี้มันจำเป็นและได้ผลดีก็ต่อเมื่อคุณพูดจาสนทนากับใครเขา แต่เรื่องใหญ่แน่ถ้าเป็นนักเขียน
    • อย่างแรกคือขาดบริบททางสังคม นักเขียนไม่สามารถชี้มือชี้ไม้ได้ และอย่าหวังพึ่งสีหน้าท่าทางประกอบการสนทนา ผู้อ่านนั้นหัวเดียวกระเทียมลีบ มีเพียงคำต่างๆ ที่คุณเลือกสรรแล้วเท่านั้นคอยนำทาง
    • อย่างที่สองคือผู้อ่านเห็นยังไงก็เข้าใจไปตามนั้น เขาไม่มานั่งสงสัยใคร่รู้ว่านักเขียนหมายความตามนั้นจริงๆ หรือมีอะไรแอบแฝง คนอ่านเขาจะเหมาไปเลยไม่ว่าคุณจะเขียนออกมาได้ดังใจหรือไม่ก็ตาม นักเขียนไม่มีโอกาสได้อธิบายขยายความคำยากๆ หรือไม่ชัดเจน ถ้าคุณตกลงใจจะใช้ไปตามนั้น ระวังใครอ่านแล้วจะสับสนละกัน
    • ด้วยเหตุนี้ ขอให้คุณพยายามหาคำที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคุณออกมาได้ดีที่สุดก็แล้วกัน ต้องรู้ก่อนว่าอยากบอกอะไรกับคนอ่าน แล้วเสาะแสวงหาคำที่สื่อความหมายได้ดังใจ ไม่ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม งานเขียนส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็เพราะดันทุรังใช้คำที่ไม่สามารถสื่อความคิดของนักเขียนได้ครบถ้วน ไม่ใช่เพราะพล็อตห่วยหรือภาษาไม่สวยอย่างที่หลายคนคิดเลย
  7. ใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบเพื่อเพิ่มอรรถรสได้ แต่ไม่บังคับ. ตัวอย่างภาพพจน์ที่ว่าก็คือ อุปลักษณ์ (metaphor) และอุปมา (simile) นั่นเอง ทั้งอุปมาและอุปลักษณ์นั้นเหมาะที่สุดเวลาคุณอยาก "เล่นใหญ่" หรือเรียกร้องความสนใจของคนอ่านมายังบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็เช่นเดียวกับการ "บอกรัก" พร่ำเพรื่อ ถ้าใช้ภาพพจน์ถี่เกินไป ก็อาจสูญเสียเสน่ห์อย่างที่ควรจะเป็นได้เหมือนกัน
  8. ถึงจะเป็นแค่ช่องว่างที่เหมือนไม่มีตัวตน แต่บอกเลยว่ามีอิทธิพลกับงานเขียนของคุณน่าดู ถ้าเว้นวรรคน้อยไป ระวังคนอ่านจะพาลไม่เข้าใจความหมายเอา อย่าง "พักดื่มน้ำ ปัสสาวะ" กับ "พักดื่มน้ำปัสสาวะ" ก็คนละเรื่องเดียวกันเลยนะ แต่ถ้าเว้นวรรคบ่อยเกินไป ก็ทำคนอ่านรำคาญได้เหมือนกัน ไม่มีใครอยากอ่านเรื่องราวด้วยเสียงของคนที่พูดๆ หยุดๆ ตะกุกตะกักหรอก
    • อัศเจรีย์ หรือ เครื่องหมายตกใจ นี่ก็อย่าใช้บ่อยเกินไป ไม่มีใครตื่นตกใจอยู่ตลอดเวลาหรอก แถมประโยคที่มีเครื่องหมายตกใจก็ไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป Elmore Leonard นักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวนชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า "ใช้อัศเจรีย์แต่พองาม ถ้าเรื่องของคุณยาว 100,000 คำ ให้จำกัดอยู่ที่ 2 - 3 ครั้งก็พอ"
    • คำไหนใช้หรือไม่ใช้ไม้ยมก ต้องดูให้ดีๆ อย่างคำว่า "ต่างๆ นานา" ห้ามใช้ "ต่างๆ นาๆ" เด็ดขาด และคำที่เป็นเสียงซ้ำแต่เป็นคำคนละชนิดหรือต่างหน้าที่กัน ก็ไม่สามารถใช้ไม้ยมกได้ เช่น "คนคนนี้" ห้ามเขียนว่า "คนๆ นี้" เป็นต้น
  9. พอศึกษากฎเกณฑ์ต่างๆ จนเชี่ยวชาญแล้ว ก็ถึงเวลาแหกกฎ. อย่ากลัวที่จะพลิกแพลงหรือเล่นกับกฎเกณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งสไตล์การเขียนเฉพาะตัว นักเขียนดังๆ เก่งๆ หลายคนก็แหกกฎไวยากรณ์ หลักภาษา หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้านอรรถศาสตร์มาแล้วจนวงการวรรณกรรมได้เติบโตอย่างทุกวันนี้ไง แต่คุณต้องเข้าใจก่อน ว่าคุณทำไป เพื่ออะไร และต้องยอมรับผลที่จะตามมา ถ้ามัวแต่กล้าๆ กลัวๆ แล้วจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนได้ยังไง?
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณต้องอยากเป็นนักเขียนด้วยใจรักอย่างแรงกล้า รู้ความชอบความสนใจของตัวเองดีว่าอยากเขียนเรื่องอะไร และขยันเขียนจนก้าวไกล ทั้งความคิดและจิตใจ แล้วคุณจะพบว่าคุณเป็นและทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคาดคิด ขอแค่เชื่อมั่นมากพอ
  • อย่าเขียนเลยถ้าคาดหวังแค่ชื่อเสียงและเงินทอง
  • เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อเรื่องของคุณผ่านการพิจารณา ถ้าบรรณาธิการอยากให้คุณปรับปรุงแก้ไขอะไรในต้นฉบับ พยายามหาจุดร่วมที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย หรือไม่ก็ปฏิเสธไป ที่ใหม่ยังมี
โฆษณา

คำเตือน

  • คุณอาจพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าจะประสบความสำเร็จ
  • อาจต้องใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิต กว่าคุณจะยืนหยัดเป็นนักเขียนแบบที่ใจคิดได้อย่างภาคภูมิ
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,999 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา