ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ตุ่มพอง มีลักษณะเป็นถุงใสบรรจุของเหลวอยู่ด้านในเกิดขึ้นบนผิวหนังส่วนบน มีสาเหตุมาจากการเสียดสีหรือแผลไหม้และมักเกิดขึ้นตามบริเวณมือและเท้า แม้ว่าตุ่มพองโดยส่วนใหญ่จะหายดีเองโดยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีใดๆ แต่สำหรับตุ่มพองที่มีขนาดใหญ่และมีอาการเจ็บอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาสักนิดในระหว่างการฟื้นฟู โชคดีที่คุณสามารถรักษาตุ่มพองขนาดใหญ่ด้วยตัวเองที่บ้านได้ด้วยวิธีการมากมายรวมถึงป้องกันการเกิดตุ่มพองซ้ำในอนาคต เริ่มจากส่วนที่ 1 สำหรับการรักษาด้วยตัวเองที่บ้าน อ่านต่อส่วนที่ 2 สำหรับการบรรเทาอาการด้วยวิธีธรรมชาติ และส่วนที่ 3 สำหรับการป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

รักษาตุ่มพองให้หายดี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ปล่อยตุ่มพองไว้ตามเดิมหากไม่มีอาการเจ็บเกิดขึ้น. ตุ่มพองโดยส่วนมักหายดีได้เองตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องเจาะระบายของเหลวออก เนื่องจากชั้นผิวหนังที่ปกคลุมตุ่มพองจะทำหน้าที่เป็นเกราะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และหลังผ่านไป 2-3 วัน ของเหลวภายในตุ่มพองจะถูกดูดซับกลับเข้าสู่ร่างกายและตุ่มพองก็จะหายดี เนื่องจากวิธีนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อน้อยลง จึงเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดในการรักษาตุ่มพองที่ไม่มีอาการเจ็บ
    • หากตุ่มพองเกิดขึ้นบนมือหรือบริเวณอื่นๆ ที่ไม่เกิดการเสียดสี คุณสามารถปล่อยตุ่มพองไว้โดยไม่จำเป็นต้องปิดแผลเพื่อเปิดแผลให้ได้รับอากาศให้หายเร็วยิ่งขึ้น แต่หากตุ่มพองเกิดขึ้นที่เท้า คุณอาจจำเป็นต้องปิดแผลด้วยผ้าก็อซหรือพลาสเตอร์ยาเพื่อป้องกันแผลไว้แต่ยังคงให้สามารถระบายอากาศได้อยู่
    • หากตุ่มพองเกิดแตกออกเอง ให้คุณระบายของเหลวออกมาจนหมดแล้วจึงทำความสะอาดและปิดแผลด้วยผ้าพันแผลจนกระทั่งหายดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ [1]
  2. แม้ว่าแพทย์จะไม่แนะนำให้เจาะตุ่มพองให้แตกออก แต่ในบางกรณีคุณอาจจำเป็นต้องเจาะตุ่มพองเพื่อระบายของเหลวออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตุ่มพองก่อให้เกิดอาการเจ็บหรืออยู่ตรงบริเวณที่กดทับมากเป็นพิเศษ อย่างเช่น นักวิ่งมืออาชีพอาจจำเป็นต้องเจาะตุ่มพองออกที่ใต้ฝ่าเท้าหากวันแข่งใกล้เข้ามา หากคุณจำเป็นต้องเจาะตุ่มพองให้แตกออก ควรปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  3. ทำความสะอาดบริเวณที่เกิดตุ่มพองด้วยสบู่และน้ำเปล่า. สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำความสะอาดผิวตรงจุดที่เกิดตุ่มพองรวมถึงบริเวณรอบๆ ด้วยสบู่และน้ำอุ่น โดยคุณสามารถเลือกใช้สบู่ชนิดใดก็ได้ แต่เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดควรเลือกใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ขั้นตอนนี้จะช่วยขจัดเหงื่อหรือสิ่งสกปรกตรงบริเวณตุ่มพองก่อนเริ่มระบายของเหลวออกในขั้นตอนต่อไป
  4. เตรียมเข็มที่แหลมคมและสะอาดและฆ่าเชื้อให้เรียบร้อยก่อนใช้งานด้วยวิธีต่างๆ อย่างการเช็ดเข็มด้วยแอลกอฮอล์ การลวกเข็มในน้ำร้อน หรือการนำเข็มไปลนไฟจนผิวเหล็กเปลี่ยนเป็นสีส้ม
  5. ใช้เข็มที่ฆ่าเชื้อแล้วเจาะไปรอบๆ ขอบตุ่มพอง จากนั้นใช้ผ้าก๊อซหรือกระดาษทิชชูสะอาดกดตุ่มพองไว้เบาๆ เพื่อให้ของเหลวระบายออกมา อย่าดึงหนังที่หลุดลอกจากตุ่มพองที่แตกแล้วออก เนื่องจากหนังส่วนนี้จะช่วยป้องกันแผลของคุณ [2]
  6. เมื่อของเหลวภายในตุ่มพองระบายออกมาจนหมดแล้ว ให้คุณทายาต้านเชื้อแบคทีเรียแล็กน้อยบนตุ่มพอง คุณสามารถเลือกใช้ยาทาต้านเชื้อที่ขายตามร้านยาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Neosporin Polymyxin B หรือ Bacitracin ยาทาต้านเชื้อมีส่วนช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียบริเวณรอบๆ ตุ่มพองและยับยั้งไม่ให้เกิดการติดเชื้อ รวมถึงยังช่วยป้องกันไม่ให้ผ้าพันแผลติดกับหนังที่หลุดลอกออกอีกด้วย [3]
  7. หลังทายาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้คุณปิดตุ่มพองด้วยผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ยาชนิดเจลเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ตุ่มพองที่เปิดอยู่ และสำหรับตุ่มพองที่เกิดขึ้นที่เท้า การปิดแผลยังช่วยให้คุณรู้สึกสบายยิ่งขึ้นในขณะที่เดินหรือวิ่ง พยายามเปลี่ยนผ้าพันแผลใหม่ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผ้าพันแผลเก่าเริ่มแฉะหรือสกปรก
  8. หลังผ่านไปแล้ว 2-3 วัน ให้คุณแกะผ้าพันแผลออกและใช้กรรไกรที่ฆ่าเชื้อแล้วตัดหนังที่หลุดลอกและตายแล้วออกไป อย่างไรก็ตาม ระมัดระวังอย่าฉีกเนื้อส่วนที่ดีออก เมื่อเสร็จแล้วให้ทำความสะอาดผิวบริเวณตุ่มพองอีกครั้ง จากนั้นจึงทายาเพิ่มและปิดด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อย โดยส่วนใหญ่แล้วตุ่มพองมักหายดีภายใน 3-7 วัน
  9. ไปพบแพทย์หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณของการติดเชื้อ. ตุ่มพองของคุณอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นแม้ว่าคุณจะป้องกันเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้คุณควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที โดยแพทย์ของคุณอาจสั่งจ่ายยาทาหรือยาทานต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อรักษาการติดเชื้อให้หายดี คุณสามารถสังเกตเห็นการติดเชื้อได้จากสัญญาณต่างๆ ได้แก่ มีรอยแดงและอาการบวมรอบๆ ตุ่มพอง มีน้ำหนอง มีริ้วแดงเกิดขึ้นบนผิวหนัง และมีไข้ [3]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

บรรเทาอาการด้วยตัวเองที่บ้าน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. น้ำมันทีทรีเป็นน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติที่มีสรรพคุณในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน จึงมีส่วนช่วยทำให้ตุ่มพองแห้งลงเร็วยิ่งขึ้น ใช้คอตตอนบัดแตะน้ำมันทีทรีเล็กน้อยบนตุ่มพองที่แตกออกวันละครั้งก่อนเปลี่ยนผ้าพันแผลใหม่ [4]
  2. การใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์วีนีการ์เป็นวิธีการบรรเทาอาการแบบดั้งเดิมสำหรับแผลเล็กน้อยต่างๆ อย่างตุ่มพอง แอปเปิ้ลไซเดอร์วีนีการ์มีสรรพคุณในการต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงส่วนช่วยในการยับยั้งไม่ให้เกิดการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์วีนีการ์มีผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง คุณจึงอาจจำเป็นต้องเจือจางแอปเปิ้ลไซเดอร์วีนีการ์กับน้ำเปล่าครึ่งหนึ่งก่อนใช้คอตตอนบัดแตะเล็กน้อยบนตุ่มพอง
  3. วุ้นของว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการบรรเทาและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับบาดแผล ว่านหางจระเข้จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการบรรเทาตุ่มพอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตุ่มพองที่แตกออกแล้วเพื่อเร่งกระบวนการฟื้นฟูของบาดแผลให้เร็วยิ่งขึ้น เริ่มจากตัดว่านหางจระเข้ออกจากต้นแล้วใช้วุ้นที่อยู่ด้านในทาตรงจุดที่เกิดตุ่มพองรวมถึงบริเวณรอบๆ จนทั่ว [5]
  4. ชาเขียวมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ ดังนั้นการแช่ส่วนที่เกิดตุ่มพองในชามหรืออ่างที่เติมน้ำชาเขียวเย็นจึงมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการบวมหรือการอักเสบบนผิวหนังรอบๆ ตุ่มพอง
  5. วิตามินอีมีส่วนช่วยในการเร่งกระบวนการฟื้นฟูและป้องกันการเกิดแผลเป็น คุณสามารถหาซื้อวิตามินอีได้ทั้งในรูปแบบน้ำมันและครีมได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต้มวิตามินอีเล็กน้อยตรงบริเวณที่เกิดตุ่มพองเป็นประจำทุกวันเพื่อให้แผลหายดีเร็วขึ้น
  6. คาร์โมไมล์มีคุณสมบัติในการช่วยผ่อนคลายและบรรเทาอาการเจ็บจากตุ่มพองที่บวม ชงชาคาร์โมไมล์แบบเข้มข้น 1 แก้วโดยแช่ใบชาทิ้งไว้นาน 5-6 นาที และเมื่อชาเริ่มเย็นลงแล้วเล็กน้อย ให้คุณใช้ผ้าสะอาดจุ่มลงไปในชาจนชุ่มและบิดน้ำออกให้หมาด จากนั้นนำไปประคบตรงบริเวณที่เกิดตุ่มพองประมาณ 10 นาทีหรือจนกระทั่งอาการเจ็บบรรเทาลง [6]
  7. เกลือเอปซอมมีส่วนช่วยทำให้ตุ่มพองที่ยังไม่แตกออกแห้งลงและกระตุ้นให้ของเหลวในตุ่มพองระบายออกมา ผสมเกลือเอปซอมในอ่างน้ำร้อนและลงแช่ให้ส่วนที่เกิดตุ่มพองสัมผัสถูกน้ำ อย่างไรก็ตามคุณควรแช่น้ำอย่างระมัดระวัง เพราะเกลือเอปซอมจะทำให้เกิดอาการปวดแสบเมื่อตุ่มพองเกิดแตกออก
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ป้องกันการเกิดตุ่มพอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตุ่มพองโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากการเสียดสีจากการสวมใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่พอดี เพราะเมื่อพื้นรองเท้าสัมผัสกับเท้าและเสียดสีกับผิวหนังไปมา ก็จะทำให้ผิวชั้นนอกเกิดการแยกตัวกับผิวชั้นในและเกิดตุ่มพองระหว่างชั้นผิวหนังขึ้นมาได้ คุณสามารถป้องกันได้ด้วยการลงทุนซื้อรองเท้าคุณภาพสูงและระบายอากาศได้ดีสักคู่
    • หากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบการวิ่ง คุณอาจไปที่ร้านขายอุปกรณ์สำหรับวิ่งโดยเฉพาะและขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มั่นใจว่ารองเท้าที่ได้มีขนาดที่พอดีกับเท้าของคุณ
  2. ถุงเท้ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการป้องกันการเกิดตุ่มพอง เนื่องจากการสวมถุงเท้าจะช่วยลดความอับชื้น (ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดตุ่มพอง) และแรงเสียดสีที่เท้า พยายามหลีกเลี่ยงการสวมถุงเท้าคอตตอนและเลือกสวมถุงเท้าไนลอนแทนซึ่งสามารถระบายอากาศได้ดีกว่า หรืออาจเลือกสวมถุงเท้าดูดซับความชื้นที่ทำจากผ้าวูลผสมซึ่งมีคุณสมบัติในการไล่ความชื้นออกไปจากเท้า [7]
    • สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งยังสามารถหาซื้อถุงเท้าสำหรับเล่นกีฬาโดยเฉพาะที่ช่วยลดแรงกระแทกในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดตุ่มพอง
  3. คุณสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับลดแรงเสียดสีและความอับชื้นที่เท้าขณะเดินหรือวิ่งได้ตามร้านขายยาทั่วไป ลองใช้แป้งสำหรับทาเท้าโรยที่ด้านในถุงเท้าก่อนสวมใส่เพื่อป้องกันการอับชื้นที่เท้า หรือเลือกใช้ครีมที่ช่วยให้สัมผัสระหว่างถุงเท้าหรือรองเท้าและผิวหนังนุ่มลื่นขึ้นและไม่เกิดการเสียดสีก็ได้เช่นกัน [7]
  4. ตุ่มพองมักเกิดขึ้นบนมือจากการทำงานที่ต้องใช้แรงมือ เช่น การใช้เครื่องมือหรือการทำสวน ซึ่งคุณสามารถป้องกันการเกิดตุ่มพองจากกิจกรรมเหล่านี้ได้โดยการสวมถุงมือในขณะทำงาน
  5. ผิวไหม้แดดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดตุ่มพอง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดตุ่มพองคือหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวถูกแดดเผาด้วยวิธีต่างๆ อย่างการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงหรือการสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อนและแขนยาว แต่หากผิวของคุณเกิดไหม้แดดขึ้นมา คุณยังสามารถป้องกันการเกิดตุ่มพองได้โดยการทามอยเจอร์ไรเซอร์ อาฟเตอร์ซัน หรือคาลาไมน์โลชั่น
  6. ตุ่มพองสามารถเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังเกิดแผลไหม้จากการสัมผัสถูกน้ำร้อน ไอน้ำ ความร้อนแห้ง หรือสารเคมี คุณจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจับของร้อน เช่น กาน้ำร้อนหรือเตาไฟ หรือเมื่อใช้สารเคมี เช่น สารฟอกขาว [1]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • พยายามอย่าดึงผิวหนังให้ฉีกขาดหรือเกาอย่างรุนแรงเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดการระคายเคือง
  • ควรมั่นใจว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นที่สัมผัสถูกตุ่มพองผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อย ไม่เช่นนั้นบริเวณที่เกิดตุ่มพองอาจเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียจากภายนอกได้
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ตุ่มพองสัมผัสถูกแสงแดดเพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มพองร้อนจนเกินไป
  • เปิดตุ่มพองให้สัมผัสกับอากาศและได้หายใจ
  • ห้ามเจาะตุ่มพองให้แตกออกโดยเด็ดขาด
  • แต้มยาแต้มสิวที่ตุ่มพอง แม้อาจจะฟังดูแปลกไปสักนิด แต่วิธีนี้ก็สามารถช่วยกำจัดตุ่มพองได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
  • ปกปิดเท้าเพื่อให้รู้สึกเจ็บที่ตุ่มพองน้อยลง
  • หากวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดใช้ไม่ได้ผล คุณควรไปพบแพทย์โดยทันทีก่อนเกิดการติดเชื้อขึ้น
  • หากคุณจำเป็นต้องเจาะตุ่มพองให้แตกออก คุณยังสามารถเจาะด้วยเข็มร้อยด้ายให้ทะลุผ่านตุ่มพองและปล่อยด้ายไว้ด้านในโดยให้ปลายทั้งสองข้างโผล่ออกมาจากรูที่เจาะไว้ วิธีนี้จะช่วยให้ของเหลวระบายออกมาและทำให้แผลแห้งลง แล้วเมื่อแผลหายดีแล้วจึงนำด้ายออกมาจากแผล ควรมั่นใจว่าทั้งเข็มและด้ายที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเรียบร้อย
โฆษณา

คำเตือน

  • หลีกเลี่ยงการเกา ฉีก หรือถูตุ่มพองเพราะอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
  • หากของเหลวที่ไหลซึมออกมาจากตุ่มพองมีสีที่ขุ่น คุณควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที จำไว้ว่าการติดเชื้อมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอแม้ตุ่มพองจะมีขนาดเล็กก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยวิตามินอีกับตุ่มพองจนกว่าแผลจะเริ่มฟื้นฟูดีขึ้น เนื่องจากวิตามินอีมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติในการรักษารอยแผลเป็น แต่ก็อาจชะลอกระบวนการฟื้นฟูของแผลให้ช้าลง
  • ตุ่มพองที่เกิดจากแผลไหม้มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ห้ามเจาะตุ่มพองที่มีเลือดให้แตกออกโดยเด็ดขาดและควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแทน
  • ลองใช้วิธีการรักษาใหม่ๆ ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ วิธีการต่างๆ ที่แนะนำในส่วน “บรรเทาอาการด้วยตัวเองที่บ้าน” นั้นเป็นวิธีที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่พิสูจน์ว่าได้ผลจริง ในกรณีที่โชคดีอาจไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้น แต่ในกรณีที่โชคร้ายอาจถึงขั้นเกิดการติดเชื้อที่ตุ่มพองได้ คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
  • เมื่อระบายของเหลวในตุ่มพองออก พยายามเจาะรูให้มีขนาดเล็กที่สุด รวมถึงทายาฆ่าเชื้อที่ตุ่มพองและฆ่าเชื้อโรคที่มือ อุปกรณ์ และตุ่มพองด้วยแอลกอฮอล์หรือเปลวไฟสีน้ำเงิน จำไว้ว่าแม้จะเกิดการติดเชื้อเพียงจุดเล็กๆ ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้
  • พยายามอย่าใช้วิธีร้อยด้ายเข้าไปในตุ่มพอง เพราะเมื่อคุณดึงด้ายออกจากตุ่มพองที่หายดีแล้ว อาจทำให้แบคทีเรียนับล้านตกค้างอยู่ที่ปากแผลและเกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้ จำไว้ว่าด้ายถูกปล่อยอยู่ด้านในตุ่มพองเป็นเวลานานหลายวัน จึงอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 2,497 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา