ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บางทีก็ตาค้างตาสว่าง ทำยังไงก็หลับไม่ลง ได้แต่พลิกตัวไปมาบนเตียง กลับหมอนแล้วก็ยังไม่วาย ถ้าคุณกำลังคิดว่าทำทุกวิถีทางแล้วแต่ก็สิ้นหวัง แบบนี้เลิกนอนไปเลยดีกว่า วันนี้คุณมาถูกบทความแล้ว ถ้าอยากให้ตัวเองเหนื่อยจนเพลียหลับไป ก็ต้องปล่อยใจ ผ่อนคลายร่างกาย นอกจากนี้อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดก็ช่วยให้หลับง่ายขึ้นเช่นกัน สรุปแล้วเมื่อจิตใจสงบ ร่างกายผ่อนคลาย ประกอบกับการกินอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ร่างกายจะรู้คิวว่าถึงเวลาหยุดและพักผ่อนแล้ว

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

สงบใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้ายึดตามตารางเดิมทุกวัน จะเหมือนตั้งโปรแกรมให้ร่างกายรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว ให้ลองเข้านอนเวลาเดิมทุกวัน และตื่นเวลาเดิมทุกเช้า เป็นเหมือนคำบอกใบ้ให้ร่างกายว่าเตรียมหยุดทุกกิจกรรม ผ่อนคลาย และพร้อมนอนหลับพักผ่อน
    • เคล็ดลับที่น่าสนใจคือค่อยๆ ปรับแสงในห้องนอนให้มืดลง การหรี่ไฟเป็นสัญญาณบอกร่างกายว่าถึงเวลานอนแล้ว เช่น พยายามอย่าให้แสงภายนอกลอดเข้ามาช่วงหัวค่ำ ในห้องนอนก็ค่อยๆ หรี่ไฟหรือปิดไฟไปซะเลย [1]
    • ทำห้องนอนให้เป็นห้องที่แสนสบาย ผ่อนคลาย บนเตียงต้องมีผ้าห่มและหมอนนุ่มๆ รวมถึงปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการนอน จะกลับหมอน จัดผ้าปู หรือเปิดพัดลมก็แล้วแต่ เอาที่สบายใจ
    • ทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย อาจจะอาบน้ำอุ่นถ้าได้ผลสำหรับคุณ หรือดื่มชาอุ่นๆ ที่ช่วยให้หลับสนิท เช่น ชาคาโมไมล์ หรือชาสูตร “sleepy-time”
  2. ถ้าเป็นคนอ่านหนังสือ โดยเฉพาะตำรา แล้วสัปหงกทุกที ก็ใช้เทคนิคนี้ให้เป็นประโยชน์ตอนจะนอนซะเลย เหมาะมากกับคนที่มักมีเรื่องกลุ้มใจในแต่ละวันจนนอนไม่หลับ เพราะการอ่านหนังสือจะทำให้เพลินจนลืมเรื่องเครียดชั่วขณะ [2]
    • เลือกหนังสืออะไรก็ได้ที่อ่านง่ายๆ หรือง่ายจนน่าเบื่อ อย่าไปปลุกสมองโดยอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิยายสยองขวัญ หรืออีกทีก็เลือกอะไรที่ยากจนชวนหลับไปเลย เช่น ตำราเล่มหนา หรือนิยายที่ดำเนินเรื่องช้าจนต้องอ้าปากหาว
  3. พอหัวถึงหมอนแล้ว ต้องแน่ใจว่าทั้งห้องมืดสนิท เพราะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการนอนให้หลับ และหลับให้สนิท ถ้ามีแสงไฟรบกวน นอกจากจะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน (melatonin) หรือ sleep hormone แล้ว ยังจะไปกระตุ้นไฮโปทาลามัส (hypothalamus) ให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและผลิตคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่ง 2 อย่างนี้จะบอกร่างกายให้หายง่วงและตื่นตัว [3]
    • ถึงจะหลับไปแล้ว แต่ถ้าเปิดไฟไว้ ก็จะหลับไม่สนิท ถ้าบังเอิญคุณเป็นคนเมือง ต้องแชร์หอพักหรือห้องกับเพื่อนที่ชอบโต้รุ่ง หรือกลัวผีกลัวความมืดจนต้องเปิดไฟทิ้งไว้ตอนนอน ก็ให้หาผ้าปิดตามาใช้ จะช่วยได้มาก หรือจะใช้ไฟกลางคืนดวงเล็กๆ แบบสลัวๆ ก็ได้ [4]
  4. พวกทีวี มือถือ หรือคอม จะคอยดึงดูดใจให้ต้องใช้จนไม่ได้นอน ใช้แล้วก็ทำสมองตื่นตัว ไม่ง่วงสักที แต่ถึงไม่มีของพวกนี้ในห้องก็ต้องห้ามใช้ก่อนเข้านอน เพราะจะแผ่แสงบางชนิด (แสงสีฟ้า) ทำให้นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท [5]
    • มีงานวิจัยหนึ่งชี้ว่า ถ้าตอนกลางคืนคุณใช้ iPad หรือแท็บเล็ตอื่นๆ ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง เมลาโทนินที่จำเป็นต่อการนอน จะลดลงถึง 22% เลยทีเดียว เพราะงั้นต้องเปลี่ยนนิสัย ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนติดสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต [6]
    • อดใจอย่าท่องเน็ตถ้ารู้ตัวว่าต้องนอนหลับพักผ่อน หน้าจอของทั้งคอม มือถือ และแท็บเล็ต จะเป็นแบบ backlit ใช้แล้วตื่นตัวแถมลดปริมาณเมลาโทนิน เลยทำให้หลับยากกว่าเดิม [7]
    • กำหนดเวลาที่จะเลิกใช้อุปกรณ์พวกนี้ในแต่ละคืน เช่น 30 นาทีก่อนนอน
    • อาจจะดาวน์โหลดโปรแกรม/แอพมาใช้ หรือเปลี่ยน setting ของบางอุปกรณ์เพื่อลดแสงสีฟ้าที่แผ่ออกมาตอนใกล้เวลานอน โดยหน้าจอจะกลายเป็นสีเหลืองหรือออกแดงแทน สบายตากว่าเวลาใช้ และไม่ไปกวนการผลิตเมลาโทนิน
  5. Ambient หรือ white noise เป็นเสียงต่ำๆ สม่ำเสมอที่ดังอยู่ในบรรยากาศ กลบเสียงอื่นโดยคุณไม่รู้ตัว white noise ที่ว่าอาจจะเป็นเพลงคลอเบาๆ "เสียงป่าฝน" หรือกระทั่งเสียงพัดลมหมุนก็ได้ ขอแค่เป็นเสียงระดับต่ำๆ [8]
    • มี white noise generator หรือโปรแกรม/เว็บเล่นเสียงบรรยากาศฟรีให้เลือกใช้กัน หรือจะหาซื้อแอพเปิดเสียง ambient มาไว้ในมือถือก็ได้ เพราะจะช่วยกลบหรือกลืนเสียงไม่พึงประสงค์อื่นๆ ทำให้หลับง่าย หลับสบายขึ้น [9]
  6. ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนชอบวิตกจริต ให้ข่มใจไล่เรื่องเครียดๆ ประจำวันออกไปจากหัว ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือเรื่องส่วนตัว อย่าเอาแต่รีรันฉายภาพปัญหาหรือการโต้เถียงซ้ำไปซ้ำมาในหัว ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนประเภทนี้ ก็ต้องลองเปิดเพลงกลบตามที่แนะนำ แล้วเพ่งสมาธิจดจ่อที่บทเพลงจนหลับไป
    • ทำใจให้สงบไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากคิดอะไรใจลอยไปเรื่อยเปื่อย เช่น ใช้เทคนิคฮิตตลอดกาลอย่างการ “นับแกะ” หรือจินตนาการภาพต่างๆ แทนคำพูด
  7. มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการทู่ซี้ทนนอนต่อไปทั้งๆ ที่นอนไม่หลับ จะทำให้ยิ่งตาแข็งกว่าเดิม เพราะสมองเริ่มเชื่อมโยงเตียงกับการตาค้าง ถ้าคุณนอนไม่หลับเกิน 20 นาที ให้ลุกจากเตียงไปหาอะไรทำสักพัก เช่น อ่านหนังสือ ถ้าเริ่มหนังตาหย่อนเมื่อไหร่ค่อยกลับมานอน [10]
    • ไม้ตายสุดท้ายคือเปลี่ยนที่ทาง ถ้านอนบนเตียงแล้วตาค้าง ก็ย้ายไปนอนตามโซฟาแทน บางทีก็ได้ผลแบบไม่น่าเชื่อ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ผ่อนคลายร่างกาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าตอนกลางวันได้ออกกำลังกาย จะช่วยให้ตอนกลางคืนหลับง่ายและหลับสบายยิ่งขึ้น จริงๆ แล้วการออกกำลังกายนี่แหละที่เกี่ยวพันกับการนอนหลับสนิทซะจนสมมติฐานเรื่องจุดประสงค์ของการนอนนั้น มาจากการสังเกตเห็นว่าการออกกำลังกายลดทอนพลังงานที่ร่างกายกักเก็บไว้อย่างไร [11] ท่องไว้ว่าอย่าออกกำลังกายภายใน 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะจะไปกระตุ้นสมองและร่างกายชั่วขณะ [12]
  2. ทำธุระให้เรียบร้อยซะก่อนเข้านอน ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายจะได้โล่ง นอนหลับง่ายกว่าเดิม และหลับสนิทตลอดคืน รวมถึงอย่าดื่มน้ำเยอะเกินไปในไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะจะทำให้ต้องลุกมาฉี่ตอนกลางดึก ถ้าจะดื่มจริงๆ หลัง 2 ทุ่มไปแค่จิบๆ ก็พอ [13]
  3. เวลานอนต้องทำให้ตัวเองรู้สึกสบาย ผ่อนคลายที่สุด ถ้าชุดนอนคับไป ก็คลายหรือถอดไปเลย ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแต่เหมารวมถึงยางมัดผม ถุงเท้า ชุดชั้นใน และอื่นๆ ที่คับจนเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เตรียมหมอนกับผ้าห่มให้พร้อมด้วย
  4. ถ้าลองสังเกตดีๆ อาจพบว่าคุณนอนผิดท่า คือเป็นท่าที่ไปกดทับหรือทำให้ร่างกายตึงเกร็ง พยายามนอนเหยียดยาว หลังราบตรง อย่าให้คอตกหรือตั้งสูง ถ้าที่นอนแข็งหรือนิ่มไปก็ต้องเปลี่ยนใหม่ อีกวิธีคือปูทับด้วยแผ่นโฟมเสริม (foam pad) หรือใช้หมอนยาวแบบ body pillow จะได้สบายที่สุด
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

กินดื่มอย่างเหมาะสม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อาหารที่มีลักษณะ soporific หรือ “sleep-inducing” ก็คืออาหารที่กินแล้วทำให้หลับง่ายหลับสบาย ตัวอย่างก็คืออาหารที่มีกรดอะมิโนทริปโตแฟน (amino acid tryptophan) ที่ช่วยเรื่องการนอน พบมากในชีส ไก่ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไข่ เต้าหู้ ปลา นม ไก่งวง ถั่วเปลือกแข็ง (nuts) ถั่วลิสง เนยถั่ว เมล็ดฟักทอง และงา เป็นต้น พยายามกินอาหารพวกนี้ โดยเฉพาะช่วงมื้อเย็น [14]
    • ถ้าอยากให้ tryptophan ยิ่งทำงานดี ก็ต้องเลือกอาหารที่อุดมคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrates) แต่โปรตีนกลางๆ หรือต่ำ อาหารแป้งๆ นี่แหละทำให้สมองยิ่งมีทริปโตแฟน แต่โปรตีนจะส่งผลตรงกันข้าม [15]
    • จัดเมนูอาหารที่ “กินแล้วหลับสบาย” โดยเน้นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและทริปโตแฟน เช่น พาสต้าใส่พาร์เมซานชีส ขนมปังพิต้าโฮลวีททาฮัมมัส/ฮุมมุส (hummus) ขนมปังปิ้งทาเนยถั่ว สลัดใส่เนื้อทูน่าเป็นก้อนๆ แล้วโรยงา กินคู่กับแครกเกอร์โฮลวีท หรือมันฝรั่งอบกับคอทเทจชีส
  2. จำกัดปริมาณอาหารที่กินช่วงเย็นไปจนถึงหัวค่ำ เพราะส่งผลถึงการนอนได้ ถ้ากินอะไรไม่หนักมาก จะช่วยให้หลับสนิทตลอดคืน แต่ถ้าเน้นอาหารมันๆ จานใหญ่ๆ จะเป็นภาระให้ระบบย่อยอาหาร จนเกิดแก๊สจนท้องไส้ปั่นป่วน นอนไม่หลับในที่สุด [16]
    • บางคนพบว่ากินอาหารที่ปรุงรสจัดๆ (เช่น ใส่พริกกับกระเทียม) แล้วนอนไม่ค่อยหลับ โดยเฉพาะคนที่มักเกิดกรดไหลย้อน [17] แบบนี้ก็ต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ว่า
  3. กาแฟและเครื่องดื่มผสมคาเฟอีนอื่นๆ แน่นอนว่าจะไปรบกวนการนอนของคุณ หลังดื่ม กาแฟจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 8 ชั่วโมง ถ้าดื่มกาแฟช่วงบ่ายๆ อาจทำให้คุณตาค้างตอนกลางคืนได้ เพราะงั้นช่วงบ่ายแก่ๆ ไปจนถึงหัวค่ำ ห้ามกินกาแฟเด็ดขาด [18]
    • แอลกอฮอล์ก็รบกวนตารางการนอนของคุณเช่นกัน ดื่มแอลกอฮอล์เมื่อไหร่มักทำให้หลับไม่สนิท หลับลึกหรือเข้าสู่โหมด Rapid Eye Movement (REM) ได้แค่ช่วงสั้นๆ เพราะงั้นถ้าใครเชื่อว่าดื่มสักแก้วสองแก้วแล้วช่วยให้หลับสนิทตอนกลางคืน จริงๆ แล้วตื่นมาจะเหนื่อยและเพลียกว่าเดิม แถมรู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม [19]
  4. หลายคนบอกดื่มชาสมุนไพรหรือนมอุ่นๆ สักแก้วแล้วช่วยให้หลับสนิทดี ซึ่งก็มีงานวิจัยรับรองด้วย ว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยเฉพาะนม มีทริปโตแฟนสูง ช่วยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารที่จำเป็นต่อการนอนหลับ เช่น เซโรโทนิน และเมลาโทนิน [20]
    • คนนิยมดื่มชาคาโมไมล์แก้นอนไม่หลับกันมาแต่โบราณ จริงๆ แล้วมีงานวิจัยไม่นานมานี้ที่ชี้ว่าคาโมไมล์ช่วยลดอาการวิตกกังวลต่างๆ และเป็นเหมือนยานอนหลับอ่อนๆ เมื่อใช้ในสัตว์ทดลอง [21] ถ้าไม่มีชาคาโมไมล์ ให้ลองดื่มชาสมุนไพรผสมคาเฟอีนอื่นๆ เช่น เลมอน ขิง หรือราสเบอร์รี่ผสมขิง
  5. ควรสงวนการใช้ยารักษาไว้ท้ายสุดเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผลจริงๆ เพราะยานอนหลับไม่ใช่ยาวิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นยาปรับพฤติกรรมเลยทำให้เสพติดได้ แถมไม่ได้ทำให้หลับลึกจนร่างกายได้ฟื้นฟูซ่อมแซมอย่างที่ควร บวกกับมีผลข้างเคียงอย่างวิงเวียน ปวดหัว มีปัญหาด้านความจำ และมีปัญหาทางพฤติกรรมอย่างการเดินละเมอ [22]
    • เก็บการใช้ยานอนหลับไว้วิธีสุดท้าย เพราะถ้าติดแล้วจะนอนหลับยากกว่าเดิม
    โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับติดต่อกันนานๆ จนน่าเป็นห่วง ต้องรีบหาหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกโรคอื่นที่อันตรายกว่า ต้องรีบรักษาโดยด่วน อย่ารอหรือมัวแต่หาสาเหตุเอง
  • อย่ากินยานอนหลับถ้ารู้ว่าต้องควบคุมหรือใช้งานเครื่องจักร เช่น รถยนต์ รถบรรทุก รถไถ รถตัก และเครื่องจักรอุตสาหกรรมอื่นๆ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 2,400 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา