ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการหมดอาลัยตายอยาก ไม่เหมือนกันกับอาการเกียจคร้านทั่วไป ผู้ที่หมดอาลัยตายอยาก มักมีอาการอย่างเช่น ขาดความมีชีวิตชีวา อารมณ์เก็บกด หมดความตื่นเต้น และเห็นกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต เป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยมักเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งยากที่จะสรุป เช่น คุณอาจทำอะไรล้มเหลวจนสิ้นหวัง หรือมักถูกผู้อื่นปฏิเสธมาโดยตลอด ทำให้รู้สึกราวกับถูกโชคชะตากลั่นแกล้ง แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใด คุณควรพยายามค้นให้พบ เพื่อวางแผนรับมือกับอาการดังกล่าว เพื่อจะได้มีชีวิตในแบบที่คุณมุ่งมาดปรารถนาต่อไป

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

วิเคราะห์พฤติกรรมตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนอื่นเลย คุณต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ก่อนว่า จะเริ่มต้นลุกขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าวของตัวเอง ซึ่งหากคุณคิดแต่เรื่องที่ทำให้เหนื่อยหน่ายหรือไร้เรี่ยวแรง ก็ควรหยุดเสียตั้งแต่บัดนี้ และปรับเปลี่ยนมันเสียใหม่ให้กลายเป็นความคิดที่มีพลัง พร้อมทั้งคอยคิดหาวิธีการเอาชนะอาการหมดอาลัยตายอยาก ที่พยายามเล่นงานคุณอยู่
    • พยายามทำกิจกรรมที่ช่วยให้คุณรู้สึกมีพลัง และเชื่อมั่นในตัวเองว่า คุณสามารถกำหนดชีวิตในแบบที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น การทำความสะอาดบ้าน ซึ่งแม้แต่กิจกรรมธรรมดาๆ เช่นนี้ ก็ยังสามารถทำให้คุณรู้สึกว่า คุณมีพลังในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตตัวเองได้
    • คุณควรตระหนักทั้งสาเหตุ อาการ และสัญญาณเตือนของภาวะหมดอาลัยตายอยาก เช่น มีอาการหมดความสนใจและขาดความกระตือรือล้นในกิจกรรมต่างๆ
  2. อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณหมดไฟ คุณมักล้มเหลวหรือถูกปฏิเสธใช่ไหม คุณผิดหวังกับการสอบหรือสมัครงานหรือเปล่า หรือจะเป็นเพียงความรู้สึกน้อยใจว่า ไม่มีใครสนใจคุณเลย และเป็นไปได้หรือไม่ ที่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางร่างกายอาจส่งผลต่อภาวะหมดอาลัยตายอยากของคุณ ลองตอบตัวเองดูสักหน่อย
    • สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งทางกาย ทางใจ หรือทางสังคม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทุกสาเหตุรวมกันก็เป็นไปได้.
    • ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเลือดสำหรับคัดกรองปัจจัยหรือสาเหตุทางกายออกไป เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล หรือโรคอื่นๆ ภาวะหมดอาลัยตายอยากเป็นกลุ่มอาการที่ประกอบขึ้นจากหลายสาเหตุซึ่งสามารถตรวจพบและรักษาได้
    • ปรึกษาแพทย์ทางเลือก ด้านธรรมชาติบำบัด เผื่อว่าจะมีปัจจัยอะไร ที่แพทย์สมัยใหม่มองข้ามไป แพทย์ทางเลือกจะใช้วิถีทางรักษาแบบองค์รวม ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมกับสิ่งที่แพทย์ทั่วไปดูแลอยู่เป็นอย่างดี เช่น แพทย์ทางเลือกจะได้รับการฝึกมาในเรื่องของความไวต่อโภชนาการบางอย่าง รวมถึงสารเคมี ซึ่งอาจส่งผลทางกายและกระทบต่ออารมณ์ของคุณ [1]
  3. หากคุณได้ยินพวกเขาพูดในลักษณะปลุกใจคุณบ่อยๆ แสดงว่าพวกเขาอาจเห็นบางอย่างผิดปกติ แม้ว่าพวกเขาอาจจะเหมาเอาว่าคุณเป็นคนขี้เกียจ ซึ่งคุณก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่อย่าเพิ่งไปโต้เถียงให้เสียเวลา เพราะอย่างน้อย พวกเขาก็ช่วยให้คุณรู้สึกเอะใจขึ้นมาได้บ้าง
    • พวกเขาอาจบ่นเพราะห่วงใยคุณก็ได้นะ
    • คุณควรจะฟังพวกเขาบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
    • การถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขี้เกียจ ค่อนข้างจะน่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเองก็มีสภาพจิตใจย่ำแย่อยู่แล้ว แต่คุณสามารถตอบกลับไปในลักษณะที่ว่า “ฉันรู้ว่าตัวเองดูเหมือนคนขี้เกียจ แต่บอกได้เลยว่า ฉันแค่กำลังรู้สึกแย่ และกำลังค้นหาสาเหตุอยู่ ฉันจะได้เริ่มกลับมาเป็นปกติเสียที ”
  4. คุณมักใช้เวลาส่วนใหญ่อย่างสันโดษ และปิดกั้นตัวเองจากคนอื่นหรือเปล่า [2] การอยู่คนเดียวมากเกินไป จะเป็นการปิดกั้นมุมมองของตัวเอง ยิ่งหากคุณกำลังมีความคิดในเชิงลบล่ะก็ มันก็มักจะวนเวียนอยู่ในหัวคุณอยู่อย่างนั้น [3]
    • ใช้เวลากับเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ตัวเองเสพติดความสันโดษ
    • พยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างตนเองและสังคมรอบข้าง
    • หากคุณรู้สึกอึดอัดเวลาเข้าสังคมใหม่ๆ ก็ไม่เป็นไร นานวันไปคุณก็จะเริ่มปรับตัวได้เอง [4]
    • ถึงแม้เราจะแนะนำให้คุณเข้าสังคม แต่หากเพื่อนกลุ่มเดิมของคุณมักทำให้รู้สึกแย่ลง ก็ขอให้เปลี่ยนไปคบหากับคนที่ทำให้คุณรู้สึกดี และใช้เวลากับพวกเขาให้มากๆ
  5. พิจารณาดูว่าคุณกำลังเปรียบตัวเองกับคนอื่นอยู่หรือเปล่า. อาการหมดอาลัยตายอยาก มักจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกไร้ค่า ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียมากกว่าเดิม หากคุณชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คุณควรพยายามให้กำลังใจตนเอง ดีกว่าทำร้ายตัวเองด้วยการแหงนมองคนที่ประสบความสำเร็จ หรือหล่อสวย หรือมีความสามารถมากกว่า
    • อย่าปล่อยให้มันมาเป็นอุปสรรคในการพยายามเข้าหาสังคม และทำในสิ่งที่คุณชอบ
    • คุณเองก็มีพรสวรรค์ มีความน่าหลงใหล และประสบความสำเร็จได้ในแบบของคุณเอง [5]
  6. พยายามนึกและจดบันทึกรายการสิ่งที่คุณเคยชอบทำ เพราะเวลาหมดอาลัยตายอยาก คนเรามักหลงลืมความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยทำไป ลองใช้เวลาสักนิด และนั่งเขียนรายการดังกล่าวออกมา จากนั้นแปะเอาไว้ข้างฝา หรือในที่ๆ คุณอ่านมันได้บ่อยๆ
    • การเล่นกีตาร์เคยเป็นกิจกรรมโปรดของคุณหรือเปล่า ลองหยิบมันมาปัดฝุ่นใหม่ดูสิ
    • คุณเคยเป็นนักอ่านตัวยง และติดตามหนังสือขายดีทุกสัปดาห์หรือเปล่า ถ้าใช่ ก็หยิบมันมาสักเล่ม ลองเปิดๆ ดูบ้างก็ยังดี
    • คุณชอบพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือเปล่า อย่าปล่อยให้พวกเขารอนานสิ โทรไปนัดเลย
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

สร้างแรงจูงใจให้ตนเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความคิดส่งผลต่อความรู้สึก หากต้องการรู้สึกดี ก็ต้องรู้จักวิธีคิด หากคุณรู้สึกว่าตัวเองคิดลบบ่อยๆ แสดงว่ายังต้องพัฒนาอีกเยอะ เริ่มแทนที่ความคิดลบด้วยการคิดบวกตั้งแต่วันนี้
    • หากคุณจับไต๋ตัวเองได้ว่า กำลังคิดเรื่องแย่ๆ อยู่ ให้ลองบอกตัวเองว่า "หยุด" จากนั้น แทนที่ความคิดดังกล่าวเสียใหม่ ด้วยถ้อยคำอย่างเช่น “ฉันกำลังเปิดรับความคิดด้านบวก และกำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น”
    • อีกตัวอย่างหนึ่ง หากคุณกำลังคิดว่า “จะพยายามไปทำไม ในเมื่อฉันก็มักล้มเหลวเป็นประจำ” ลองเปลี่ยนเป็น “ความล้มเหลวถือเป็นบทเรียน หากทำพลาดวันนี้ ฉันยังมีโอกาสลองได้อีกเรื่อยๆ”
  2. ลงมือทำบางอย่าง เพื่อเลิกดูถูกหรือหาจุดบกพร่องของตัวเอง. [6] ฉลองให้ตัวเองทุกครั้ง ที่ทำงานสำเร็จลุล่วง พยายามมองข้อดีของตัวเอง แบบเดียวกับที่คนอื่นมองคุณ
    • ตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติที่คุณมีต่อตนเอง คุณอาจกำลังกล่าวโทษตนเองแบบลอยๆ ก็ได้ ถ้าไม่เชื่อ ก็หาหลักฐานมายืนยันหน่อยสิ
    • แม้การเอาขยะไปเททิ้งจะดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่หากคุณทำมันแล้วบอกตัวเองว่า “เยี่ยมมาก!” จะเป็นการชมเชยตัวเอง และฝึกให้คุณมุ่งความสนใจไปที่เรื่องราวความสำเร็จ มากกว่าความล้มเหลว
  3. หากคุณกำลังต่อสู้กับอาการหมดอาลัยตายอยาก การกระโดดข้ามไปทำเรื่องใหญ่ๆ เลย อาจจะไม่ค่อยดีนัก พยายามเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ไปสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ คุณจะค่อยๆ กลับมาร่าเริงเหมือนเดิมเอง
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณยังแทบจะไม่มีแรงลุกจากเตียง มันคงจะไม่ดีแน่ หากคุณตั้งเป้าลงแข่งขันวิ่งมาราธอน
  4. ตัดผม ตัดเล็บ รวมถึงเสริมองค์ทรงเครื่องกันสักหน่อย ซึ่งการตัดผมธรรมดาๆ นี่ล่ะ ที่จะเป็นการท้าทายความหมดอาลัยตายอยากของตัวเอง จากนั้น คุณค่อยเริ่มปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของตัวเองต่อไป
  5. หากปกติคุณนอนเยอะเกินไป พยายามปรับใหม่ให้นอนสัก 7-8 ชั่วโมงก็พอ ผลการศึกษาพบว่า การนอนอย่างพอเหมาะพอควร จะช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น [7] การปรับเวลานอนเสียใหม่ จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเตรียมพร้อมเริ่มต้นวิถีชีวิตใหม่ๆ ด้วย
    • การนอนเอยู่บนเตียงนานๆ จะทำให้คุณง่วงซึมและหดหู่ได้ง่าย ดังนั้น พยายามตื่นนอนให้เร็วกว่าปกติสักหนึ่งหรือสองชั่วโมง
  6. ช่วงที่คุณกำลังหมดอาลัยตายอยากแบบสุดๆ อาจสามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว ก็แค่ออกไปข้างนอกและออกกำลังกายเล็กน้อย แต่หากคุณรู้สึกว่า ไม่อยากแม้แต่จะก้าวขาออกไป ให้รู้เลยว่านั่นคือสัญญาณเตือนอีกแบบหนึ่ง
    • คุณไม่จำเป็นต้องข้ามขั้นไปวิ่งระยะไกล หรือว่ายน้ำหลายร้อยเมตรทุกเช้า พยายามค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มการยืดเส้นยืดสายหรือออกแรงกล้ามเนื้อนิดหน่อย แล้วค่อยขยับไปเป็นการเดินหรือวิ่งก็ได้
    • การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายปล่อยสารเบต้า-เอ็นดอร์ฟิน เข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้คุณรู้สึกซาบซ่าน มีความสุขล้ำแบบเดียวกับนักวิ่งหลังแข่งเสร็จ แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังงาน และนอนหลับสบายขึ้นเยอะ มีแต่ได้กับได้ทั้งนั้น [8]
  7. หากคุณมีอาการหมดอาลัยตายอยากขึ้นมาเมื่อใด สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ การทานอาหารแบบไม่ถูกหลักโภชนาการที่ดี ซึ่งมีผลให้เกิดโรคอ้วน และนำไปสู่วังวนของอาการดังกล่าวนั่นเอง
    • อย่าทานอาหารแช่แข็ง อาหารจานด่วน หรืออาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการมากนัก พยายามปรับเข้าหาอาหารประเภทอุดมสารอาหารแทน
    • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกน้ำตาลขัดสี และอาหารที่มีวัตถุกันเสียทั้งหลายแหล่ ซึ่งส่งผลต่อฮอร์โมน BDNF ในร่างกายคุณ ทำให้เกิดอาการหดหู่ซึมเซาได้ง่าย [9]
    • พยายามทำอาหารรับประทานเอง โดยเน้นผักสดและสารอาหารจำพวกไฟเบอร์ และพยายามลดพวกอาหารแปรรูป นอกจากนี้ หากคุณชอบใช้ไมโครเวฟเตรียมอาหาร อาจลองเปลี่ยนเป็นวิธีย่าง อบ หรือต้มแทน จะช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม มีสีสัน และรสชาติน่ารับประทานด้วย
  8. การลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ นับเป็นวิธีการที่ดีในการพาตัวเองออกจากม่านหมอกแห่งความหดหู่ พยายามค้นหาว่า คุณอยากจะเปลี่ยนแปลงด้านใดของชีวิต ซึ่งจะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจได้มากที่สุด
  9. หากที่ทำงานปัจจุบันที่คุณทำอยู่ ทำให้คุณรู้สึกไร้คุณค่า ถูกมองข้าม และเริ่มเบื่อแล้วล่ะก็ ลองมองหางานอื่นดูสักหน่อย เพราะจุดประสงค์หลักของงานคือ การหาเลี้ยงชีพและการทำชีวิตให้มีเป้าหมาย ซึ่งบางคนอาจจะอดทนทำงานกินเงินเดือนได้ตลอดชีวิต ในขณะที่บางคนเหมาะที่จะทำงานในรูปแบบอื่นมากกว่า ดังนั้น พยายามหางานที่จะเติมเต็มคุณทางด้านจิตใจด้วยก็ดี
  10. การย้ายที่อยู่ใหม่อาจช่วยในเรื่องของการเปลี่ยนบรรยากาศได้ ยิ่งหากที่ๆ คุณอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีเพื่อนหรือสังคมที่ดี แถมยังน่าอึดอัดและไม่น่าอยู่ คุณก็ควรพิจารณาเรื่องนี้ดู แน่นอนว่า ปัญหาของคุณไม่สามารถแก้ได้ด้วยการย้ายที่อยู่ แต่มันอาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองก็ได้ [10]
  11. การทำเช่นนี้จะช่วยให้ความทุกข์ที่สั่งสมมานานมลายหายไปได้มากทีเดียว ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ดี ต้องเต็มไปด้วยการส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ชักนำให้คุณตกต่ำ แก่งแย่งชิงดี หรือชวนทะเลาะ ซึ่งคุณควรยุติความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวลง
  12. วิธีหนึ่งในออกจากภาะหมดอาลัยตายอยาก ก็คือ จัดตารางกิจวัตรประจำวันเสียใหม่ เช่น โทรนัดเพื่อนมาทานอาหารเย็นวันจันทร์ ไปออกกำลังที่ฟิตเนสเย็นวันอังคาร เดินเล่นในสวนสาธารณะเย็นวันพุธ และออกไปเยี่ยมญาติหรือพักผ่อนต่างจังหวัดในช่วงสุดสัปดาห์ เรียกว่า ยุ่งให้มากเข้าไว้ อย่าปล่อยให้ตัวเองซึมเซา
    • สังเกตช่วงเวลา "เลื่อนลอย" ของตัวเอง เพราะอาจมีบางช่วงเวลาในแต่ละวันที่คุณเกิดอาการหมดอาลัยตายอยากมากเป็นพิเศษ ซึ่งหากคุณพอที่จะรู้ช่วงเวลาที่แน่นอน ก็จะสามารถหากิจกรรมยัดใส่ลงไปในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ล่วงหน้า
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจใช้ช่วงเวลาเลื่อนลอยดังกล่าว ในการฟังดนตรีบรรเลง อ่านหนังสือสร้างแรงจูงใจ หรือนั่งสมาธิ ซึ่งสามารถช่วยปรับสมดุลของสมองได้ [12] หรืออาจพยายามหากิจกรรมหนักๆ ทำ เพื่อไม่ให้ตัวเองเลื่อนลอยเหมือนเคย
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

ลงมือปฏิบัติตามแผน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเริ่มจุดไฟให้ตัวเองใหม่อีกครั้ง อาจเริ่มด้วยการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ตั้งแต่วันนี้ หรือเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป โดยคุณสามารถเริ่มเขียนแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนลงบนกระดาษ เพื่อเป็นการจงใจกระตุ้นตัวเอง ให้รู้สึกเหมือนเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้น ก็เริ่มลงมือดำเนินตามแผนดังกล่าว
    • ตารางกิจวัตรประจำวัน จะช่วยทำหน้าที่เสมือนตัวสั่งการ ให้คุณปฏิบัติตามกิจวัตรต่างๆ โดยไม่ต้องคิดหาว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน แค่ฝากชีวิตคุณไว้กับมันก็พอ
    • ลองเริ่มจัดตารางแบบง่ายๆ เช่น: ตื่นนอนตอน 7 โมงเช้า จากนั้น อาบน้ำล้างหน้า แปรงฟัน และทานอาหารให้เสร็จภายใน 9 โมง ส่วนช่วงค่ำ ต้องเตรียมเสื้อผ้าและเอกสารไว้ให้พร้อมภายใน 4 ทุ่ม จะได้ไม่ฉุกละหุกในวันรุ่งขึ้น [13]
  2. ยึดมั่นในการปรับปรุงภาพลักษณ์และพฤติกรรมตัวเอง. การสัญญาหรือทำข้อตกลงกับตัวเอง เป็นหนึ่งในพิธีการอันทรงพลังที่สุด เพื่อแสดงความเคารพในตัวเอง หากคุณเป็นคนยึดมั่นต่อมาตรฐานและคุณธรรมประจำใจ ก็ไม่มีอะไรจะมาทำให้คุณผิดสัญญากับตัวเองได้
    • อย่าทำเป็นเล่นไป คุณต้องเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมพยานรู้เห็นด้วยยิ่งดี เพื่อรับประกันความโปร่งใส
    • การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมมีความยากลำบากเสมอ แต่มันก็คุ้มค่า
    • คุณอาจเคยทำให้ตนเองผิดหวัง ดังนั้น คุณควรป็นคนแรกที่ให้โอกาสกับตัวเองอีกครั้ง
    • หากคุณพบว่าตนเองกำลังออกนอกลู่ทาง พยายามบอกตัวเองว่า “ฉันรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินจะทำ ฉันจะลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงดูแลและเพิ่มพลังให้กับตัวเอง ฉันขอพูดตรงนี้ดังๆ เลยว่า ฉันจะยึดมั่นในสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง ฉันสัญญา”
  3. คุณกำลังทำเรื่องสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ผลลัพธ์มักจะคุ้มค่าเสมอ ขอเพียงลงมือทำตามแผนที่เขียนไว้ เก็บมันไว้ใกล้ๆ ตัว เพื่อที่จะได้หยิบออกมาทบทวนได้เสมอ อย่าลืมให้เวลาตัวเองพักและผ่อนคลายตามสมควร แต่ห้ามหันหลังกลับเด็ดขาด
  4. หาแค่กิจกรรมเดียวที่คุณจะทำมันให้สำเร็จลุล่วงไป อย่าไปพยายามเขียนนิยาย เล่นกีตาร์ หรือหัดทำอาหารในคราวเดียวกัน เอาแค่เรื่องเดียวให้สำเร็จก่อน เพราะกิจกรรมอดิเรกนอกจากจะดีต่อสุขภาพคุณแล้ว [14] ยังป้องกันไม่ให้คุณถอยหลัง หรือตกลงไปในวังวนของความหมดอาลัยตายอยากได้อีก
    • ลองหัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้น ฝึกทำอาหารสักตำรับ หรือลองจับเวลาตัวเองวิ่งร้อยเมตรดู อะไรก็ได้ที่จะทำให้คุณกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
    • หัดขี่จักรยาน ก็ย่อมต้องมีล้ม หัดทำอาหาร ย่อมต้องถูกน้ำมันลวกบ้าง แต่อย่ามัวพะวงว่าตัวเองต้องโดดเด่นไปเสียทุกเรื่อง พยายามใส่ใจที่กระบวนการเติบโตของตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองล้มลุกคลุกคลานตามสมควร มองอุปสรรคเป็นเพียงทางผ่าน ไม่ใช่ทางตัน
  5. มนุษย์ย่อมมีจุดบกพร่อง การที่คุณวางแผนเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ หากแต่เมื่อมันเกิดขึ้น คุณต้องพยายามกลับมาแก้ไขหรือทำให้ดีกว่าเดิม เพื่อพิสูจน์ตัวเอง
    • หากคุณมีการปรับปรุงแผนงานเดิม อย่าลืมเซ็นสัญญาอีกครั้ง และหาคนมาเป็นพยานรู้เห็นเช่นเดิม
    • หากพอช่วยได้ คุณอาจบอกกับตัวเองทุกเช้าว่า “วันนี้จะเป็นวันของเรา เรื่องราวเก่าๆ เอามันทิ้งไปกับเมื่อวาน”
  6. การเขียนบันทึกทั้งแผนการ เป้าหมาย และความสำเร็จ จะช่วยให้คุณเห็นพัฒนาการของตนเองอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสร้างพลวัตรขับเคลื่อนให้คุณทำสำเร็จในขั้นตอนต่อๆ ไปได้ง่ายขึ้น
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

รับมืออาการหมดอาลัยตายอยาก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ปล่อยวางอดีต . หากคุณพยายามปล่อยวางเรื่องใด แต่มันกลับคอยตามหลอกหลอนคุณ และยังส่งผลให้คุณรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก คุณอาจจำเป็นต้องขุดมันขึ้นมาสะสางก่อน ซึ่งหากคุณก้าวผ่านอารมณ์ที่ยังค้างคาเหล่านั้นไปได้ รวมถึงพยายามอยู่กับปัจจุบันทุกขณะ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว คุณจะรู้สึกได้จริงๆ เลยว่า มันกลายเป็นเพียงอดีตที่คุณทิ้งไว้ข้างหลัง
    • กำจัดความรู้สึกด้านลบที่ยังค้างคาใจ ด้วยการปรึกษาพูดคุยกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือนักบำบัด พวกเขายังจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คุณ เพื่อเอาชนะอาการหมดอาลัยตายอยากด้วย
  2. เล่าให้คนรอบข้างฟัง ถึงแผนการเปลี่ยนแปลงตัวเองของคุณ. นอกจากพวกเขาจะยินดีที่จะช่วยแล้ว คุณเองก็จะได้ถือโอกาสดังกล่าว ในการพูดยืนยันแผนการกับตัวเองไปด้วยเลย โดยคุณอาจเปรยกับพวกเขาว่า “ฉันกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และฉันจะขอบใจมากหากพวกเธอมีส่วนช่วย พวกเธอพอจะแนะนำอะไรบางอย่างจากประสบการณ์ของตัวเอง ให้ฉันฟังบ้างได้ไหม”
  3. อาการหมดอาลัยตายอยาก มักเกี่ยวพันกับปัญหาเบื้องลึกบางอย่าง เช่น ความเครียดและวิตกกังวล โรคซึมเศร้าและโรคบางอย่าง รวมถึงภาวะระบบเผาผลาญผิดปกติด้วย ทั้งนี้ หากคุณมีอาการหมดอาลัยตายอยากเป็นเวลานานๆ มันอาจลุกลามไปถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งก็คือต้นตอหรือรากเหง้าของปัญหานั่นเอง [15]
    • ปัจจัยภายนอกก็มีมากมาย อย่างเช่น การขาดความสุขในที่ทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงสถานการณ์บางอย่าง
    • หากคุณรู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมใด ที่คุณเคยชอบมันมาก่อน จงพยายามตั้งคำถามเพื่อหาต้นตอของมันให้ได้ เช่น มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร หรือมันเกิดจากการที่คุณแยกทางกับใครหรือเปล่า
    • ลองสังเกตคนรอบข้างดูด้วยสิว่า เขาหรือเธอมักชอบโดดเรียน ลางาน หรือหมดความสนใจในกิจกรรมโปรด เช่น เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี ตระเวนชิมอาหารตามห้าง หรือจู่ๆ อาจเลิกติดละครหลังข่าวขึ้นมากะทันหันหรือเปล่า?
    • คุณรู้สึกหงุดหงิด คับข้องใจ หรือละอายไหม เวลาที่อยู่ใกล้เพื่อนๆ ที่ดูมีความสุขกับชีวิต หรือว่าคุณไม่สุงสิงกับพวกเขาอยู่แล้ว?
  4. การใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง เป็นวิธีการที่จะเข้าถึงกระบวนการภายในของตนเอง [16] หากคุณพอจะรู้สาเหตุว่า ทำไมคุณถึงรู้สึกในทางลบต่อเหตุการณ์บางอย่าง หรือใครคนใดคนหนึ่ง ก็จะช่วยให้ง่ายต่อการพัฒนาตนเองมากขึ้น ซึ่งการวิคราะห์และตอบคำถามตนเองได้อย่างตรงจุด จะเป็นรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
  5. วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความนับถือตนเอง ก็คือ หยุดใช้งานโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ สักพักหนึ่ง (โดยเฉพาะเฟสบุ๊คนั่นเอง) แล้วค่อยกลับไปใช้งานใหม่ก็ได้ เพราะผลการวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างอาการซึมเศร้า กับการใช้เวลาทั้งวันเข้าไปดูภาพถ่ายต่างๆ ที่พวกเพื่อนๆ คุณแต่ละคุณ มักโพสต์ลงไปให้เห็นว่า ได้ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อย่างมีความสุข ยิ่งใช้เฟสบุ๊คเท่าไหร่ ก็ยิ่งไร้ความสุขเท่านั้น [17]
  6. หากคุณต้องการความเชื่อมั่น ก็อาจลองใช้บริการปรึกษานักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในแขนงต่างๆ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาได้เช่นกัน [18]
  7. คุณอาจมีแนวโน้มในการคิดแบบทำร้ายตัวเอง โดยเหมาเอาว่า คุณเป็นคนเดียวที่ประสบปัญหาดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า มีคนจำนวนมากที่กำลังรู้สึกหรือมีอาการแบบเดียวกับคุณอยู่ แต่บางคนก็หาทางออกได้ ด้วยการไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อตระหนักในจุดนี้แล้ว คุณเองก็ควรพาตัวเองออกไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดูบ้าง อย่าเอาแต่เก็บตัวอยู่ในห้อง
    • มองหาและรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับกลุ่มคนที่ให้กำลังใจและคำปรึกษาแก่คุณ จะช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
  8. ยิ่งก้าวไปข้างหน้า อาการของคุณก็ยิ่งจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคุณเริ่มมองชีวิตด้วยทัศนคติแบบใหม่ ความมั่นใจก็จะเพิ่มขึ้นด้วย จำเอาไว้ว่า การจะเอาชนะความหมดอาลัยตายอยากนั้น ไม่มีทางลัด แต่การค่อยๆ พัฒนาตนเองไปสู่จุดหมายอย่างสำเร็จทีละขั้น จะช่วยให้คุณแข็งแกร่งและเป็นอิสระจากมันได้ในที่สุด
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • จำไว้ว่า: คุณไม่ได้ไร้ค่า เพราะคุณค่าของคุณขึ้นอยู่กับความมั่นใจ ความสุข และการได้ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองชองคนอื่น
  • การเขียนบันทึกส่วนตัว สามารถทำได้ทุกคน นอกจากนี้ คุณอาจลองฝึกวาดภาพระบายสีด้วยก็ได้ หรือจะแต่งกลอน แต่งบทกวีก็แล้วแต่ ขอเพียงให้คุณได้แสดงความรู้สึกออกมา
  • หากคุณมีปัญหาชีวิตในวัยเด็ก ควรปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อที่จะจัดการกับความทรงจำเลวร้าย ซึ่งอาจกำลังส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคุณ
  • หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ รู้จักคิดแต่เรื่องดีๆ ทุกเช้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหดหู่ซึมเซาระหว่างวัน
  • พยายามรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัวไว้ให้ดีๆ
  • มองออกไปภายนอกบ้าง พยายามติดตามเรื่องราวต่างๆ ในสังคม เพื่อที่จะได้รู้สึกเชื่อมต่อกับโลกภายนอก
  • หากมีอาการใดๆ ที่คุณเกรงว่าจะควบคุมไม่อยู่ เช่น น้ำหนักเกินหรือลดลงผิดปกติ รวมถึงความคิดทำร้ายผู้อื่น ขอให้รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
  • มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ลองยื่นมือออกไป และพวกเขาจะคว้าไว้เอง
  • ให้รางวัลกับตัวเองเมื่อเห็นพัฒนาการบางอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าสังคมกับผู้อื่น จะได้มีแรงจูงใจพัฒนาต่อไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ
โฆษณา

คำเตือน

  • ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า หากคุณมีอาการหมดอาลัยตายอยาก จนเริ่มที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าแล้วล่ะก็ หาความช่วยเหลือ มีคนมากมายที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณ


โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 12,918 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา