ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

บุคลิกเกะกะระรานของใครทำให้คุณรู้สึกไร้ค่าหรือเปล่า คุณเข้าใจผิดคิดว่าคำพูดตลกๆ ของคนอื่นเป็นการดูถูกคุณอย่างแนบเนียนหรือไม่ การกระทำของคนอื่นโดยส่วนใหญ่แทบไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่เกี่ยวกับว่าคนๆ นี้ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบไหน รับมือกับปัญหาทางอารมณ์อย่างไร หรือปัจจัยอื่นๆ เช่นอารมณ์ ระดับพลังงาน หรือสุขภาพมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณต้องจำไว้เสมอเวลาที่คุณพบว่าคุณโทษตัวเองในหลายๆ เรื่องที่คุณควบคุมไม่ได้ ในการที่จะเลิกเก็บคำพูดของคนอื่นมาคิดมากนั้น คุณต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ในสถานการณ์รวมถึงแรงจูงใจและพื้นฐานของคนๆ นั้นด้วย การเพิ่มความมั่นใจในตนเองและการสื่อสารอย่างมีจุดยืนคือกุญแจสำคัญของการรับมือกับคำวิจารณ์ของคนอื่น

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    เขียนรายการจุดแข็งของคุณ. ความคิดเห็นและพฤติกรรมของคนอื่นก็เป็นแค่เรื่องของคนอื่น ความคิดเห็นของคนอื่นจะมีผลกับเราถ้าคุณรู้สึกแคลงใจและวางคุณค่าของตัวเองไว้ที่ความคิดเห็นและการกระทำของคนอื่น ถ้าคุณมั่นใจในความสามารถของตัวเอง พฤติกรรมหยาบคายหรือความคิดเห็นเชิงลบจะมีผลกับคุณน้อยมาก การรู้สึกภาคภูมิใจและมั่นใจในทักษะของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความคิดเห็นที่คนอื่นแสดงออกมา
    • เขียนรายการจุดแข็งและความสามารถของตัวเองเพื่อให้คุณได้นึกว่า จุดแข็งของตัวเองมีอะไรบ้าง [1]
    • เขียนรายการสิ่งต่างๆ หรือช่วงเวลาที่คุณภาคภูมิใจ ให้รางวัลตัวเองสำหรับสิ่งดีๆ เหล่านี้ นึกว่าทักษะแบบไหนที่คุณได้แสดงในช่วงที่ผ่านมา คุณจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร วิธีนี้ช่วยให้คุณสร้างความมั่นใจในตัวเองได้
  2. 2
    เขียนรายการเป้าหมาย. การมีสิ่งที่ต้องไขว่คว้าทำให้คุณรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองและความหมายของชีวิต เขียนสิ่งที่คุณอยากพัฒนาต่อไปหรือทำได้ดีกว่าเดิมลงไปในรายการ
    • ต่อไปให้ย่อยแต่ละเป้าหมายเป็นขั้นตอนย่อยๆ คุณจะเริ่มทำตามเป้าหมายได้อย่างไร สิ่งเล็กๆ ที่คุณทำตอนนี้ได้คืออะไร
  3. 3
    ลองนึกว่าคุณจะช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร. การแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่นทำให้คุณรู้สึกถึงคุณค่าและทำให้คุณรู้สึกถึงความหมายของชีวิต วิธีนี้ทำให้คุณรู้สึกถึงความมั่นใจในตัวเองอย่างแรงกล้า ลองนึกดูว่ามีสิ่งดีๆ และการแบ่งปันอะไรที่คุณสามารถมอบให้คนรอบข้างได้
    • ลองเป็นสละเวลาไปเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาล งานโรงเรียน องค์การส่งเสริมการมีมนุษยธรรมในท้องถิ่น หรือเว็บไซต์อย่าง wikiHow
  4. 4
    เตือนตัวเองว่าคุณไม่ต้องให้ใครมายืนยันคุณค่าของคุณ. ถ้าคุณอ่อนไหวเรื่องที่ว่าคนอื่นปฏิบัติต่อคุณอย่างไรมากเป็นพิเศษและคุณก็มักจะตอบโต้เกินเหตุบ่อยๆ ก็แปลว่าสัญญาณการถูกปฏิเสธในตัวคุณนั้นแรงมาก คุณกังวลว่าคุณจะทำอะไรผิดหรือเปล่าถ้าคุณสังเกตได้ถึงความไม่พอใจในรูปแบบต่างๆ และคุณก็อยากจะแก้ไข แต่คุณต้องเข้าใจว่าแค่เพราะคนๆ นั้นไม่มีความสุขเวลาอยู่กับคุณก็ไม่ได้หมายความว่าคุณทำอะไรผิด ในหลายๆ กรณีตัวเขาเองนั่นแหละที่ไม่มีความสุขกับตัวเองและคาดหวังให้คุณมาเติมช่องว่างนั้นให้ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้)
    • ลองเล่นเกมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวเองถูกปฏิเสธให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการอดทนต่อการถูกปฏิเสธอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  5. 5
    อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก. คุณจะพัฒนาความมั่นใจในตัวเองได้มากขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ถ้าคุณสังสรรค์กับคนที่ปฏิบัติต่อคุณเป็นอย่างดี
    • กำจัดคนที่เป็นพิษออกไปจากชีวิตคุณ คนพวกนี้คือคนที่ปฏิบัติต่อคุณไม่ดีหรือคนที่โยนปัญหาทุกอย่างใส่คุณโดยที่ไม่คิดจะให้สิ่งดีๆ กลับคืนบ้าง [2] [3]
  6. 6
    ดูแลร่างกายตัวเอง. ใช้เวลาดูแลตัวเองด้วยการดูแลผมเผ้าให้เรียบร้อยและแต่งตัวเพื่อให้ตัวเองดูดีที่สุด รักษาเสื้อผ้าให้สะอาดและสวมเสื้อผ้าที่พอดีตัว ทิ้งเสื้อผ้าเก่าๆ ที่ใส่ไม่ได้แล้ว ขาดรุ่งริ่ง ซีด และอื่นๆ ไปให้หมด
    • รักษาบุคลิกท่าทางให้ดีอยู่เสมอ เพราะมันทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้นได้
  7. 7
    มีเมตตา ต่อผู้อื่น. การมีเมตตาต่อผู้อื่นทำให้คนอื่นรู้สึกดี รับฟังคนอื่นอย่างแท้จริง ทำความดีโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นใคร และหาวิธีที่จะทำให้คนอื่นยิ้มได้ แล้วคุณจะเดินออกมาด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้นเล็กน้อย
  8. 8
    ยิ้ม. แล้วคุณจะประหลาดใจว่าคนอื่นมีปฏิกิริยาตอบกลับมาอย่างไร คุณไม่มีวันรู้เลยว่าในวันนั้นเขาเจออะไรมาและรอยยิ้มธรรมดาๆ ของคุณมีผลต่อเขาอย่างไร
  9. 9
    สร้างสรรค์. ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ การทำและการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาทำให้เรารู้สึกดี ความรู้สึกของการได้ถือผลงานเสร็จสมบูรณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนที่คุณสร้างเองกับมือเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก! ทำให้หัวใจรุ่มรวยและเติมเต็มหัวใจด้วยหัวใจของตัวเอง แล้วคุณจะพบว่าตัวเองสนใจสิ่งใหม่ๆ ที่จุดประกายความสนใจจากภายใน มากกว่าความสนใจจากภายนอกอย่างเงินหรือเกียรติยศ
  10. 10
    พบผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต. ถ้าคุณคิดว่าคุณตอบโต้กับคำวิจารณ์ของคนอื่นชนิดที่ว่าอ่อนไหวจนเกินไป การพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาอาจเป็นประโยชน์กับคุณ คนๆ นี้สามารถช่วยให้คุณระบุปัญหาที่ทำให้คุณอ่อนไหวมากจนเกินไป นอกจากนี้เขาอาจจะสามารถแนะนำกลยุทธ์การรับมือเวลาที่คุณมีปฏิสัมพันธ์กับคนคิดลบด้วยก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

สื่อสารอย่างมีจุดยืน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    กล้าพูด. เวลาที่คุณรู้สึกว่าอีกฝ่ายทำตัวหยาบคายหรือไม่ให้เกียรติ ให้พูดออกไปเลย เช่น ถ้าเขาเล่นมุกหยาบคายตลอดเวลา ให้เขารู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร เขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าเขาดูทำร้ายจิตใจคนอื่นหรือก้าวร้าวมากแค่ไหน และคำวิจารณ์ของเขามีผลต่อคุณอย่างไร
  2. 2
    ใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน". ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน" สื่อนัยยะว่า คุณเต็มใจที่จะรับผิดชอบความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง วิธีนี้เป็นการเน้นความสนใจไปที่ตัวคุณและความรู้สึกของคุณ เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ไม่รู้สึกเหมือนว่าคุณกำลังโจมตีเขา การสื่อสารแบบไม่ใช้ความรุนแรงอาจเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์กับคุณ
    • ประโยคที่ไม่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน": “คุณหยาบคายมากแล้วก็จงใจจะทำร้ายฉันชัดๆ!”
    • ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า"ฉัน": “ฉันเสียใจเวลาที่คุณพูดแบบนั้น”
    • ประโยคที่ไม่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน": "คุณเป็นคนที่นิสัยแย่มากเลยนะ แถมยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะสังเกตด้วยว่าไม่มีเพื่อนคนไหนเขาคบคุณอีกต่อไปแล้ว!"
    • ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า"ฉัน": “ฉันเสียใจเพราะฉันรู้สึกว่าเราไม่ได้ไปไหนมาไหนบ่อยด้วยกันเหมือนเคยอีกแล้ว และฉันก็อยากมาเจอเธอให้บ่อยกว่านี้”
  3. 3
    เริ่มพูดคุยอย่างใจเย็น. การโจมตีอีกฝ่ายมักไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่ คุณควรใจเย็นๆ และแสดงให้เห็นว่าคุณพยายามจะคุยด้วย คุณอยากจะสื่อว่าคุณรู้สึกอย่างไรมากกว่าต้องการจะต่อสู้กับอีกฝ่าย
  4. 4
    ใช้ภาษากายที่เหมาะสม. เวลาที่คุณสื่อสารอย่างมีจุดยืน ให้สังเกตว่าตัวเองมีท่าทางอย่างไร รักษาน้ำเสียงให้ราบเรียบและพูดด้วยเสียงที่ดังในระดับปกติ สบตาอยู่เสมอ รักษาสีหน้าและท่าทางของร่างกายให้ผ่อนคลาย
  5. 5
    รู้ว่าเมื่อไหร่ที่พูดไปก็ไม่ได้ผล. คนส่วนใหญ่จะมีท่าทีต่อประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ฉัน" และการพูดคุยที่สงบและไม่ก้าวร้าวเป็นอย่างดี แต่บางคนก็อาจจะไม่พอใจ เพราะฉะนั้นถ้าบทสนทนาไม่ไปไหน ก็คงถึงเวลาถอยออกมา คุณอาจจะเลือกที่จะพยายามใหม่อีกครั้งทีหลัง หรือแค่ตีตัวออกห่างจากคนๆ นั้น
  6. 6
    รู้ว่าบางคนก็ชอบทำร้ายคนอื่น. พวกเขาอาจใช้เทคนิคทำร้ายอารมณ์ของคุณ เช่น ทำให้คุณอับอาย โทษคุณทุกเรื่อง หรือไม่ให้ราคากับความรู้สึกของคุณ คุณอาจรู้สึกกลัว เหนื่อย อึดอัด หวาดกลัว หรือรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตัวเองเวลาที่อยู่กับคนๆ นี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ คนๆ นี้ถือว่า มีพิษร้ายแรง และคุณควรเลิกติดต่อด้วยทันที
    • ถ้าคุณไม่แน่ใจในสถานการณ์ หรือถ้าคุณมีภาวะ (เช่น ออทิสติก) ที่มีผลต่อการตัดสินทางสังคม ให้ขอคำแนะนำ บอกความลับกับคนที่คุณเชื่อใจ และศึกษาเรื่องการทำร้ายในอินเทอร์เน็ต
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

มองสถานการณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ประเมินสถานการณ์. บางครั้งเราก็เก็บพฤติกรรมแย่ๆ ของคนอื่นมาคิดมากแล้วก็โทษตัวเอง เช่น เด็กที่ไม่พอใจและอารมณ์เสียอาจตะโกนใส่คุณว่า “เธอทำพังหมดเลย!” เพราะว่าเลือกเค้กในงานปาร์ตี้วันเกิดเด็กอายุ 12 ขวบมาผิด คุณต้องประเมินสถานการณ์และยอมรับว่า พฤติกรรมของเด็กก่อนวัยรุ่นนั้นมักมาจากฮอร์โมน ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต หรือการที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมการโต้ตอบทางอารมณ์ได้เวลาที่เขาไม่ได้สิ่งที่เขาคาดหวังไว้ ซึ่งอาจจะแทบไม่เกี่ยวกับการเลือกเค้กหรือการเลี้ยงดูของพ่อแม่เลยก็ได้
  2. 2
    อย่าตอบโต้สถานการณ์เกินจริง. บางครั้งเราอาจจะประเมินสถานการณ์เกินจริงไปโดยอาศัยประสบการณ์ในอดีตหรือสิ่งที่เราคาดเดาเกี่ยวกับคนอื่น [4] ซึ่งทำให้เราตอบโต้สถานการณ์เกินจริงโดยที่ไม่ได้มองข้อเท็จจริงอย่างซื่อสัตย์ พยายามมองสถานการณ์จากการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน
    • อย่าด่วนสรุป
    • อย่ามองว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว ซึ่งเป็นการคิดชนิดที่ว่า “โลกจะแตกแล้วแน่ๆ” อะไรๆ มันแย่ขนาดนั้นเลยจริงๆ หรือเปล่า
    • อย่าคิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ “แน่นอน” และ “ไม่มีวัน” เป็นอย่างนั้น
  3. 3
    ขอคำอธิบายเพิ่มเติม. ถ้าคุณได้ยินคำวิจารณ์ที่คุณรู้สึกไม่พอใจหรือคิดว่ามันหยาบคาย ลองขอให้อีกฝ่ายอธิบายว่าเขาหมายความว่าอย่างไร เขาอาจจะพูดผิดโดยไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น หรือคุณอาจจะได้ยินผิดไป [5]
    • "ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยได้ไหมคะ ฉันว่าฉันไม่เข้าใจ"
    • "ฉันได้ยินไม่ถนัดน่ะค่ะ คุณพูดใหม่ได้ไหมคะ"
  4. 4
    ถ้าสงสัยให้คิดบวกไว้ก่อน. ถ้าคุณมีนิสัยชอบเก็บคำพูดคนอื่นมาคิดมาก คุณมักจะเดาว่าคนอื่นกำลังแสดงความก้าวร้าวใส่คุณโดยตรง ทั้งๆ ที่เขาอาจจะแค่พูดเล่นหรือเจอวันแย่ๆ มา มันอาจเป็นสัญชาตญาณที่สั่งให้ตอบโต้ด้วยอารมณ์ แต่ให้หยุดสักนิดก่อน บางทีมันอาจจะไม่เกี่ยวกับคุณเลยก็ได้
    • นึกถึงวันแย่ๆ ที่คุณเคยเจอมาก่อน เป็นไปได้ไหมว่าวันนี้คนๆ นี้อาจจะเจอวันแย่ๆ เหมือนที่คุณเจอวันนั้น
    • รู้ว่าเขาอาจจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดพลาด เราต่างพูดถึงสิ่งที่เราเสียดาย และนี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาเสียดายก็ได้
  5. 5
    รู้ว่าตัวเองอ่อนไหวเรื่องอะไร. คุณอาจจะมีสิ่งเร้าบางอย่างที่คุณอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ เช่น คุณอาจจะอ่อนไหวเรื่องเสื้อผ้ามากๆ เพราะแม่คุณวิจารณ์การแต่งตัวของคุณเสมอตอนคุณเด็กๆ [6]
    • เวลาที่คุณระบุสิ่งเร้าของตัวเองได้ คุณก็จะรู้ว่าบางทีคุณอาจจะเก็บคำพูดคนอื่นมาคิดมากเกินไป
    • นอกจากนี้การบอกคนอื่นว่าอะไรเป็นสิ่งเร้าก็อาจช่วยคุณได้ "ฉันขอให้คุณไม่ล้อว่าฉันเป็นแม่มดแล้วกันนะ เพราะว่าเรื่องจมูกกับใบหน้านี่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับฉัน มันก็เลยทำให้ฉันไม่พอใจนิดหน่อย"
  6. 6
    ปรับความสนใจเสียใหม่. เวลาที่คุณเก็บเอาคำพูดคนอื่นมาคิดมาก คุณเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำมาที่ความรู้สึกของคุณ ความรู้สึกเหล่านั้นอาจรุนแรงขึ้นถ้าคุณตรึงมันไว้อยู่อย่างนั้น คุณอาจจะพบว่าตัวเองซ้อมพูดสิ่งที่คุณน่าจะตอกกลับคนๆ นั้นไปถ้าทำได้ซ้ำไปซ้ำมา สิ่งนี้เรียกว่าการจมปลักกับความคิด มีกลยุทธ์มากมายที่ช่วยให้คุณหยุดจมปลักกับปัญหาได้ ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ว่านี้ก็เช่น : [7]
    • ฝึกการเจริญสติ อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งจะดึงคุณออกจากช่วงเวลาก่อนหน้าที่คุณเอาแต่จมปลักอยู่กับมัน
    • ไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศเพื่อให้ใจคุณลืมนึกถึงปัญหา
    • กำหนดเวลากังวล ให้ตัวเองกังวลถึงปัญหาได้ 20 นาที พอหมดเวลา 20 นาที ก็ให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

เข้าใจแรงจูงใจของผู้อื่น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    คำนึงถึงอารมณ์ของคนอื่น. บางคนตอบโต้ต่อบางสถานการณ์อย่างก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมแย่ๆ หลังจากเจอวันแย่ๆ มา ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ว่าใครที่บังเอิญมาเจอะเขาก็ต้องโดนเขาไม่พอใจใส่กันทุกคนและก็ไม่เกี่ยวกับคุณเลย พฤติกรรมทำร้ายคนอื่นไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกระทำ
    • เช่น เสมียนคลังสินค้าอาจจะอารมณ์ไม่ดีอยู่หรือเธออาจจะตั้งใจร้ายใส่คุณ แทนที่จะเก็บมาคิดมาก ให้เตือนตัวเองว่า “เขาอาจจะเจอวันแย่ๆ มาก็ได้แล้วก็อยากกลับบ้านจะแย่ เธออาจจะเจอลูกค้าหยาบคายใส่ตลอดวลา ไม่ต้องเก็บมาคิดมากหรอก...” คุณอาจจะพูดดีๆ กับเธอด้วยว่า “ขอให้ช่วงเย็นนี้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นนะ” แล้วยิ้มให้ คุณอาจจะทำให้เธอรู้สึกดีขึ้นนิดนึง แต่ถึงมันอาจจะไม่ได้ทำให้วันนั้นของเธอดีขึ้น คุณก็รู้ว่าตัวเองได้ทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว
  2. 2
    ดูว่าคนๆ นั้นปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร. พวกเขาอาจจะแกล้งหรือดูถูกทุกคนที่เจอ บางคนก็ไม่กินเส้นกับคนอื่นไปทั่ว ถามตัวเองว่า :
    • คนๆ นี้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร
    • คนๆ นี้ทำอย่างนี้กับทุกคนหรือเปล่า
    • เนื้อหาสิ่งที่เขาพูดคืออะไรถ้าไม่นับน้ำเสียง
  3. 3
    พิจารณาความรู้สึกไม่มั่นคงของคนๆ นั้น. เขารู้สึกว่าคุณมีดีกว่าเขาอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ตัวเองเจ๋ง แต่ให้คิดว่าทำอย่างไรคุณจึงจะช่วยให้คนๆ นี้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นได้
    • ถ้าเป็นไปได้ให้กล่าวชมเขา หรือถามเขาว่ามีอะไรอยากจะคุยด้วยหรือเปล่า
  4. 4
    พิจารณาทักษะการจัดการอารมณ์ของคนๆ นี้. จำไว้ว่าคนๆ นี้อาจมีทักษะการสื่อสารและการจัดการอารมณ์ต่ำ บางคนไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างไร คุณต้องนึกถึงข้อนี้เสนมอเพราะว่ามันจะช่วยให้คุณอดทนและเห็นใจเขาแบบเดียวกับที่คุณเห็นใจเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ได้เรียนรู้วิธีควบคุมและแสดงอารมณ์
    • นึกภาพความเป็นเด็กภายในที่แสดงออกมา เพราะคนๆ นี้ไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับปัญหาในแบบผู้ใหญ่ คุณจะอดทนและรู้สึกเห็นใจคนนี้ได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณนึกภาพเด็กวัยเรียนรู้ที่กำลังพยายามควบคุมพฤติกรรมของตัวเองอยู่
  5. 5
    พิจารณาพื้นฐานของคนๆ นั้น. บางคนก็ขาดหรือมีชุดทักษะและจารีตทางสังคมที่ต่างไปจากคุณ บางครั้งคนๆ นั้นก็อาจดูเก้ๆ กังๆ หรืออาจจะดูหยาบคายหน่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ บางคนก็มีพฤติกรรมบางอย่างและไม่รู้ว่าคนอื่นมองพฤติกรรมของเขาอย่างไร มันไม่ใช่พฤติกรรมเย็นชาหรือหยาบคายใส่คุณโดยตรง [8]
    • เช่น คนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างที่ค่อนข้างไว้ตัวหน่อยๆ อาจดูเป็นคนเย็นชาหรือไม่สุงสิงกับใครนัก
    • คนอื่นๆ เช่นคนที่เป็นออทิสติกอาจจะไม่เข้าใจสัญญาณทางสังคมหรือเสียงสูงต่ำเวลาพูด พวกเขาอาจจะดูเย็นชาหรือหยาบคายทั้งที่เขาไม่ได้ตั้งใจ
    • บางคนอาจไม่รู้ว่าพฤติกรรมการ “เล่นมุก” ของเขานั้นคนอื่นไม่ตลกด้วย
  6. 6
    ดูว่าคำวิจารณ์นั้นเป็นการติเพื่อก่อหรือไม่. การติเพื่อก่อนั้นเป็นคำแนะนำที่มีเจตนาจะช่วยคุณ ไม่ได้เป็นคำติหรือคำวิจารณ์คุณค่าในตัวคุณหรือลักษณะนิสัยของคุณ สำหรับคนที่เป็นผู้วิจารณ์นั้น การจะชี้จุดที่ยังต้องแก้ไขนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่บางครั้งเราก็ลืมที่จะพูดไปว่าคนๆ นั้นทำได้ดีสุดๆ แค่ไหนแล้ว การติเพื่อก่อควรบอกวิธีที่ชัดเจนและเจาะจงว่า ควรทำแบบไหนถึงจะดีขึ้น [9] ซึ่งตรงข้ามกับการวิจารณ์ที่ไม่ได้ติเพื่อก่อที่อาจเป็นแค่คำพูดเชิงลบที่ไม่ได้บอกวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
    • เช่น ลองนึกภาพว่าคุณทำงานช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเตรียมโปรเจ็กต์สำคัญให้หัวหน้า คุณพยายามอย่างเต็มที่และรู้สึกดีกับผลลัพธ์สุดท้าย คุณส่งงานไป หวังว่าจะได้รับคำชมอย่างที่คุณสมควรได้รับ แต่คุณกลับได้รายการสิ่งที่ต้องปรับปรุงกลับมา คุณอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว ไม่พอใจ หรือรู้สึกเหมือนหัวหน้าไม่เห็นคุณค่า คุณอาจจะมองว่าคำตินี้เป็นการวิจารณ์มากกว่าจะมองว่าเป็นความพยายามที่จริงใจของหัวหน้าที่อยากให้คุณทำงานให้ดีกว่านี้
    • คำติเพื่อวิจารณ์: “บทความนี้ทั้งชุ่ยทั้งอ้างอิงไม่ดี หัวข้อที่สองนี่พูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้” (คำวิจารณ์นี้ไม่ได้บอกวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น)
    • คำติเพื่อก่อ: “บทความที่คุณเขียนต้องมีแหล่งอ้างอิงมากกว่านี้อีกหน่อย และขยายความหัวข้อที่สอง นอกนั้นดีหมด”
    • คำติเพื่อวิจารณ์อย่างรุนแรง: “บทความนี้เขียนได้ห่วยแตกมาก”
      • การได้ยินคำวิจารณ์ที่ไม่ได้ติเพื่อก่ออาจทำให้เสียใจ แต่ให้นึกถึงทักษะการจัดการอารมณ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นของคนๆ นี้อีกครั้ง
  7. 7
    ถามคำถามเมื่อคุณได้รับคำวิจารณ์. เวลาที่คุณได้ยินคำวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้ยินการติเพื่อก่อในคำวิจารณ์นั้น ให้ถามเขาว่าเขาหมายความว่าอย่างไร วิธีนี้แสดงให้เห็นว่าคุณให้คุณค่ากับความคิดเห็นของเขา และเป็นวิธีที่ช่วยให้เขาสามารถให้คำวิจารณ์แบบติเพื่อก่อที่ชาญฉลาดได้
    • เช่น ถ้าหัวหน้าบอกว่า "บทความนี้เขียนได้ห่วยแตกมาก" คุณอาจจะถามต่อว่า "ฉันอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ค่ะว่า มีอะไรในบทความนี้ที่หัวหน้าไม่ชอบ มาช่วยกันทำให้มันดีขึ้นเถอะค่ะ"
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 21,537 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา